fbpx
สวัสดีปีใหม่ 1 มกราคม - มรดกคณะราษฎร

สวัสดีปีใหม่ 1 มกราคม – มรดกคณะราษฎร

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

สวัสดีปีใหม่ เป็นคำทักทายการเปลี่ยนปีทั้งพุทธศักราช (พ.ศ.) และคริสต์ศักราช (ค.ศ.) ในวันที่ 1 มกราคม

แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนปีศักราชดั้งเดิมของไทยรุ่นโบราณนานมาแล้วคือเมื่อขึ้นเดือนอ้าย กล่าวคือหลังจากเดือน 12 น้ำนองผ่านไปแล้ว เมื่อพระจันทร์เริ่มข้างขึ้น นั่นแหละครับ ฤดูกาลใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น น้ำเริ่มลดลง ฝนเริ่มห่างหาย การเก็บเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งกำลังจะมาถึง เป็นช่วงที่ข้าวและปลาอุดมสมบูรณ์ ฤดูกาลที่ลมหนาวเริ่มพัดเข้ามา

แต่ต่อมา การเปลี่ยนปีศักราชก็เคลื่อนย้ายมาเป็นเดือน 5 เมื่อเริ่มวันข้างขึ้นวันแรกของเดือน 5 ก็จะเปลี่ยนปีศักราช ซึ่งตั้งแต่ยุคสมัยล้านนาและสมัยอยุธยามา บ้านเราใช้ จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นปีนับ เวลาอ่านอดีต เมื่อเจอปี จ.ศ. แล้วต้องการทำให้เป็น พ.ศ. ก็ต้องบวกเลข 1181 เข้าไป

การเปลี่ยนปีศักราชจากข้างขึ้นวันแรกของเดือนอ้าย หรือเดือน 1 ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม (ปี 2561 ที่ผ่านมา วันแรกของเดือนอ้าย หรือขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 คือ วันที่ 8 ธันวาคม) มาเป็นข้างขึ้นวันแรกของเดือนห้านั้น (ปี 2562 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน) เป็นอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย ที่จะสัมพันธ์กับวันสงกรานต์ ถ้าเป็นอิทธิพลจีน ก็ต้องไปขึ้นปีใหม่ที่ ตรุษจีน (ปี 2562 วันตรุษจีนเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์)

แม้เปลี่ยนปีศักราชกันวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 แต่กว่าจะฉลองปีใหม่ หรือสงกรานต์ ก็ต้องคอยอีก 15 วัน เพื่อให้ข้างขึ้นเป็น 15 ค่ำ ดังนั้น วันสงกรานต์ในอดีตจึงเลื่อนไปมาตามพระจันทร์ว่าจะเต็มดวงเมื่อไหร่

 

รัตนโกสินทร์ศก 108 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เปลี่ยนปีวันที่ 1 เมษายน

 

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีการเปลี่ยนปีการนับ จากการใช้ จุลศักราช มาเป็น รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2432 คือเป็น ร.ศ.108

โดยมีการออก ‘ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2431

รัตนโกสินทร์ศก วันแรกปีแรกคือวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) หรือเพียง 3 วันหลังการ ‘ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ และอย่างสอดรับกับวันเปลี่ยนปีศักราชแบบเดิม เพราะวันนั้นก็เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ด้วยเช่นกัน

นับแต่นั้นมา รัชกาลที่ 5 ก็ทรงให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชของรัตนโกสินทร์ศก ทุกๆ ปี เป็นการยึดวันเปลี่ยนปีให้มั่นคง ไม่เคลื่อนย้ายตามพระจันทร์อีกต่อไป

โลกฝรั่งและราชการแบบฝรั่งที่ไทยรับมา จะต้องมีการวางแผนตลอดปี หากยังต้องมีวันขึ้นปีใหม่ที่ต้องคำนวณกันในแต่ละปี ย่อมไม่อาจที่จะสอดรับกับโลกอันศิวิไลซ์ได้ ทั้งรัชกาลที่ 5 ย่อมทรงตระหนักดีว่า วันเวลาที่ชัดเจนแม่นยำเป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่ ไม่อาจจะมานั่งมองข้างขึ้นข้างแรมในแบบไทยๆ ได้อีกต่อไป ดังนั้น วันเปลี่ยนปีศักราชจึงต้องทำให้เป็นวันที่ตายตัว คือ 1 เมษายน

การใช้ รัตนโกสินทร์ศก และกำกับให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราช แสดงให้เห็นถึงการหลุดออกจากความเป็นรัฐโบราณ สู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่แบบตะวันตกของสยาม

ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างเปี่ยมล้นเหนือฝ่ายศาสนา ในการกำหนดวันเดือนปีและพิธีกรรม

นอกจากนี้ ปี ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) นั้นเป็นปีแรกๆ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชอำนาจสูงมาก เนื่องจากการสิ้นไป (ทิวงคต) ของวังหน้าองค์สุดท้ายปี 2428 (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระนามแรกเริ่มคือ ยอร์ช วอชิงตัน พระราชโอรสพระปิ่นเกล้า พระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 4) ทั้งรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกระบบวังหลวงวังหน้าที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาเมื่อ 300 ปีก่อน โดยนำระบบราชวงศ์อังกฤษและในยุโรปเข้ามาแทน คือตำแหน่ง มกุฎราชกุมาร (Crown Prince) เป็นตำแหน่งสืบราชสมบัติแทน

และอีกสองปีต่อมา ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) รัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระราชอำนาจตั้งเสนาบดีทุกตำแหน่งด้วยพระองค์เอง ไม่ต้องคิดถึงการสืบทอดอำนาจของตระกูลขุนนางใหญ่ๆ ซึ่งต่อมาในทางวิชาการจะมีการเรียกปีนี้ว่าเป็นปี ‘ปฏิรูปการปกครอง’ (Government Reform) อันหมายถึงการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางที่พระราชวังหลวง (Royal Palace) ที่กรุงเทพมหานคร

กล่าวโดยสรุป การใช้ รัตนโกสินทร์ศก และ 1 เมษายน วันเปลี่ยนปีศักราช มีนัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือฝ่ายศาสนา และเหนือขุนนางและเจ้านายอื่นใดนั่นเอง ทั้งประกาศถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เริ่มต้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2325 นั้นคือ รัตนโกสินทร์ศกปีที่ 1 แต่ก็มีความเป็นฝรั่งตะวันตกแซมด้วย

 

แสวงหาความเป็นนานาชาติ และสร้างความภักดีแบบไทย พุทธศักราช 2456

 

ทว่าเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าฯ ได้ยกเลิกการใช้ รัตนโกสินทร์ศก สร้างศักราชใหม่เป็น พุทธศักราช โดยกำหนดให้ปี พ.ศ.2456 เป็นปีแรก โดยยังคงใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชเช่นเดิม

‘ประกาศวิธีการนับวัน เดือน ปี’ มีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 เท่ากับพุทธศักราช 2455 อีกเดือนกว่าต่อมา ไทยก็เริ่มเข้าสู่การใช้พุทธศักราชวันแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2456

เท่ากับว่า รัตนโกสินทร์ศก มีอายุระหว่างปี 2432-2455 เพียง 24 ปีเท่านั้น คือ ร.ศ.108-ร.ศ.131 อันมีช่วงเวลาไม่นานเลย

การอ่าน ‘ประกาศวิธีการนับวัน เดือน ปี’ (ปี 2455) และ ‘พระบรมราชาธิบายว่าด้วยการนับเวลาตามประกาศใหม่’ (ปี 2460) เห็นความหมายได้ 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องมาใช้ พุทธศักราช ได้แก่

 

1) เมื่อใช้รัตนโกสินทร์ศกแล้วมองย้อนอดีตนั้น จะเห็นความสั้นมากๆ

การใช้ รัตนโกสินทร์ศก นั้นสามารถย้อนอดีตกลับไปได้เพียงปีแรกของการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผ่านมาเพียงหนึ่งร้อยกว่าปีเท่านั้น หากจะย้อนเลยไปถึงอยุธยาหรือไกลกว่านั้น ต้องใช้คำว่า ‘ก่อนรัตนโกสินทร์ศก’

การย้อนอดีตไปได้เพียงสั้นๆ มีความหมายมากว่าชนชั้นนำที่กำลังปกครองประเทศนั้นเป็นชนชั้นนำที่ใหม่เอามากๆ ซึ่งเมื่อกล่าวให้ฝรั่งโลกตะวันตกฟัง โลกตะวันตกคงเห็นอะไรบางอย่าง

เหมือนเช่นที่ฝรั่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ 4 ถามชนชั้นนำสยามว่า ก่อนหน้ารัตนโกสินทร์คืออะไร ก่อนหน้าอยุธยาคืออะไร สุโขทัยจึงปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังในยุคนี้เอง ที่ตอนนี้ก็มีบทพิสูจน์อย่างมากมายแล้วว่า สุโขทัยไม่ใช่ราชอาณาจักรแรกในดินแดนตรงนี้ แต่เป็นอยุธยาต่างหากที่เป็นอาณาจักรแรก ก่อนหน้าอยุธยาเป็นรัฐเป็นแคว้นบ้านเล็กเมืองน้อย

ปัญหาตามมาคือเมื่อถูกถามว่าก่อนหน้าสุโขทัยคืออะไร ก็พากันสร้างเรื่องไปยังอาณาจักรน่านเจ้าในภาคเหนือของยูนนาน สร้างเรื่องจนถึงคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตที่ชายแดนจีนกับรัสเซีย ทั้งสองเรื่องนี้ก็ได้พิสูจน์กันมากแล้วว่า เป็นการมโนสร้างเรื่องอดีตคนไทยบ้านเมืองไทยกันไปเอง เพื่อลากให้ยาวๆ เป็นนิยาย ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง

 

2) การคิดแบบฝรั่ง จะทำลายวิธีคิดและความภักดีแบบไทย

เมื่อไม่สามารถใช้รัตนโกสินทร์ศกในการบอกเล่าเรื่องก่อนยุครัตนโกสินทร์ได้ ฝ่ายคนไทยที่มีความรู้หนังสือหรือชนชั้นนำก็หันไปใช้ คริสต์ศักราช (ค.ศ.) มาเป็นเครื่องมือในการอธิบายอดีต ซึ่งเมื่อใช้ คริสต์ศักราช อดีตก็จะกลายเป็นแบบฝรั่งตะวันตก คิดแบบฝรั่งตะวันตกมากยิ่งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทยคือ ปฏิทินฝรั่ง ที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3-4 ฝรั่งพิมพ์ปฏิทินฝรั่งในไทยครั้งแรกปีพ.ศ. 2385 สมัยรัชกาลที่ 3

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีการพิมพ์ปฏิทินให้เป็นภาษาไทย จากเดิมที่ไทยเคยเรียกเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ฯลฯ ก็เปลี่ยนมาเป็น แจนยูอารี แฟบยูอารี มาร์ช เอพิล ฯลฯ แล้วก็ทำให้เป็นแบบไทยๆ แปลงมาเป็น มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ฯลฯ

ทั้งนี้ ในปีแรกที่รัชกาลที่ 5 ให้ใช้ รัตนโกสินทร์ศก 108 ก็ทรงให้ใช้เดือนเรียกแบบฝรั่งที่แปลงแล้ว สำหรับใช้เป็นปฏิทินของราชการด้วย นับแต่นั้นมา ปฏิทินเดือนวันแบบฝรั่งก็กลายเป็นสิ่งที่เรารู้จัก

ด้วยเหตุนี้ รัตนโกสินทร์ศก จึงไม่อาจตอบโจทย์ในการเล่าอดีต ทั้งชนชั้นนำก็จะเปลี่ยนวิธีคิดไปตามฝรั่งตะวันตก ซึ่งการเปลี่ยนวิธีคิดย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกหลายๆ ด้านตามมา

 

3) กลับเข้าวัด เพื่อสร้างความแตกต่างจากฝรั่งและอาณานิคม

ด้านหนึ่ง รัชกาลที่ 6 ก็ทรงคำนึงถึงการเป็นนานาชาตินิยมที่ “เราจะต้องกระทำติดต่อกับนานาประเทศ” แต่อีกด้านหนึ่งก็กังวลว่าคนไทยจะเป็นฝรั่งตะวันตกมากเกินไป “ไม่ใช่เอาอย่างต่างประเทศโดยปราศจากหลักฐานหรือผิดประเพณีนิยมของไทยเรา”

แต่เมื่อยกเลิก รัตนโกสินทร์ศก และไม่กลับไปใช้ จุลศักราช แล้วจะใช้อะไรเป็นศักราชแทน

สิ่งซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับมาจากการใช้ชีวิตและเล่าเรียนในอังกฤษราวหนึ่งทศวรรษอย่างสำคัญคือ แนวคิด God, Nation, King ซึ่งนำมาสู่การสร้างเป็นเป็นวลีหรือมอตโต้ทองของไทยว่า ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ รวมทั้งสีธงชาติสามสี แดง ขาว น้ำเงิน อันเป็นสีธงชาติที่ใช้กันมากในประเทศยุโรป

เมื่อฝรั่งตะวันตกใช้ คริสต์ศักราช ซึ่งเป็นการนับศักราชตามศาสนาคริสต์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของ God, Nation, King ดังนั้น พระองค์จึงทรงนำเอา พุทธศักราช ซึ่งเป็นศาสนาหนึ่งที่สำคัญในดินแดนนี้มาเป็นสิ่งเทียบเท่า God ของฝรั่ง

ทว่าการหันมาใช้ พุทธศาสนา ไม่ได้หมายความว่า พุทธศาสนานั้นได้กลับมามีอิทธิพลเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ หากยังอยู่ภายใต้ราชูปถัมภ์เช่นเดิม แต่เป็นความพยายามสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากประเทศอาณานิคมรอบบ้าน ที่หันไปใช้ คริสต์ศักราช กันหมดในยุคสมัยนั้น ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

รัชกาลที่ 6 ยังทรงลงรายละเอียดกำกับการนับเวลาตามนาฬิกาของฝรั่งตะวันตก ดังนี้

1 นาฬิกาก่อนเที่ยง หรือ 1 นาฬิกาหลังเที่ยง ถ้า 30 นาที เรียกว่า ครึ่งนาฬิกา ก็ได้ ถ้า 15 นาที เรียกว่า 1 ภาค ก็ได้ ซึ่งหลายปีนั้นคงมีเสียงซุบซิบว่าทรงกระทำเรื่อง ‘หยุมหยิม’ แต่พระองค์อธิบายว่าวันเวลาการนับไม่ใช่เรื่องหยุมหยิม แต่เป็นเรื่องสำคัญ

ด้วยการกำหนดคำและการนับเวลาของพระองค์ เราจึงมีคำว่า นาฬิกา มาถึงทุกวันนี้ เช่นว่าเวลานี้กี่นาฬิกาแล้ว หรือท่านมีนาฬิกากี่เรือนแล้ว เป็นต้น

พุทธศักราช คือการบอกว่าไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลฝรั่งที่ใช้คริสต์ศักราช และไม่ใช่อาณานิคมของตะวันตก แต่ขณะเดียวกันก็ปรับตนเองให้เทียบเคียงเป็นวัฒนธรรมตามอย่างฝรั่งตะวันตก เพื่อไม่ให้ไทยตกขบวนการสร้างศิวิไลซ์

 

สู่โลกสากล 1 มกราคม ‘สวัสดีปีใหม่’ มรดกคณะราษฎร

 

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร คือการปฏิวัติสร้างระบอบการปกครองใหม่ของไทยตามอย่างสากล ที่เป็นกระแสทางการเมืองของโลกที่พัดแรงมาจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสมากว่าหนึ่งศตวรรษครึ่งแล้วในสมัยนั้น

การปกครองสยามที่ปรับเปลี่ยนเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์นับแต่กลางสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นการปรับเปลี่ยนระบอบการเมืองตามอย่างระบอบการปกครองของราชวงศ์ในยุโรปตะวันตกเช่นกัน เพียงแต่เลือกที่จะรับความคิดวัฒนธรรมฝรั่งตะวันตกบางอย่าง เอามาปรับเพื่อรักษาสถานภาพของชนชั้นนำ เช่นวัฒนธรรมวันเวลา เดือน ปี

ทว่าคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 แตกต่างออกไป กล่าวคือ มุ่งสร้างไทยทุกด้านให้เจริญศิวิไลซ์เท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งในประเทศตะวันตกและตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ทั้งด้านการแต่งตัว การกินอยู่หลับนอน การทำงาน

ทั้งยังมุ่งสร้างให้คนเท่ากัน หรือหลักเสมอภาค อันเป็นหนึ่งในหลักพื้นฐานของแนวคิดการเมืองประชาธิปไตยสากล

ดังนั้น แนวคิดว่าด้วยการปรับวันเปลี่ยนปีศักราชมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตามแบบตะวันตก ซึ่งนานาประเทศใช้กันทั่วโลกในขณะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ก็ทำภายใต้ความระมัดระวังต่อการถูกวิธีการแบบไทยเดิม สร้างเป็นวาทกรรมโจมตีเสียดสีว่า “เป็นฝรั่งมากเกินไป” หรือ “เดินตามก้นฝรั่ง” แม้ว่ากลุ่มชนที่ใช้วาทกรรมนี้ต่างทำให้ตนและครอบครัวเครือข่ายแปลงกลายเป็นฝรั่งไปหมดมานานแล้วก็ตาม

หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรที่มุ่งมั่นและกล้าที่จะนำในการเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของคนไทยให้เป็นแบบตะวันตกที่เจริญแล้วคือ นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเรียนรู้วัฒนธรรมฝรั่งเศสมาหลายปี

เมื่อหลวงพิบูลฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปลายปี 2481 อีกหนึ่งปีต่อมา ช่วงปลายปี 2482 หลังจากสถาปนาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กลางถนนราชดำเนินกลาง สถาปนาวันชาติ 24 มิถุนายน เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ไทย’ และสร้างเพลงชาติไทยใหม่แล้ว หลวงพิบูลฯ ก็เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเรื่องวันเปลี่ยนปีศักราชให้เป็นวันที่ 1 มกราคม

กระบวนการสร้างเพื่อให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชตามอย่างสากล แทนแบบไทยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 1 เมษายน มีขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นวันแรกปีแรก

คำอธิบายคือ นำไทยไปสู่ความเป็นสากล นานาชาตินิยม ขณะเดียวกันก็สอดรับกับการเปลี่ยนปีศักราชแบบดั้งเดิมของไทย คือขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย เพราะวันที่ 1 มกราคมได้ขยับเข้าไปใกล้ๆ กับวันดั้งเดิมโบราณมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เมื่อเราฉลองวันปีใหม่ 1 มกราคม เราจึงอยู่ภายใต้มรดกการสร้างวัฒนธรรมไทยใหม่ให้เป็นสากลของคณะราษฎร

เมื่อเรากล่าวว่า “สวัสดีปีใหม่” เราก็ใช้วัฒนธรรมของคณะราษฎร ที่ทำให้การกล่าวทักทายแบบฝรั่ง เช่น Good Morning, Good Afternoon, Good Evening, Good Night รัฐบาลหลวงพิบูลฯ ได้ทำให้เป็นคำทักทายแบบไทยอย่างเป็นทางการ คือ สวัสดีตอนเช้า สวัสดีตอนบ่าย สวัสดีตอนเย็น ราตรีสวัสดิ์

เมื่อนำ สวัสดี มาบวกกับ ปีใหม่ 1 มกราคม จึงเป็น สวัสดีปีใหม่

คณะราษฎรทำให้เราได้สวัสดีปีใหม่ 1 มกราคม จากปี 2484 มาถึงทุกวันนี้ โดย “จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ทั่วกัน” (พระราชบัญญัติปีประดิทิน 2483)

กล่าวโดยสรุป วันเปลี่ยนปีศักราช 1 มกราคม โดยคณะราษฎร ก็เพื่อสร้างชาติไทยให้มีความเป็นสากล และเพื่อสร้างประชาธิปไตยไทยตามหลักสากลนั้นเอง

 


 

อ้างอิงเบื้องต้น

“พระราชบัญญัติปีประดิทิน 2483” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 (17 กันยายน 2483), หน้า 419-422.

“ประกาศใช้บอกศักราชตามสุริยคติ” (22 กุมภาพันธ์ ร.ศ.130), “ประกาศวิธีนับวัน เดือน ปี” (21 กุมภาพันธ์ ร.ศ.

131 พ.ศ.2455), “พระบรมราชโองการ ประกาศนับเวลาในราชการ” (10 กันยายน พ.ศ.2460), “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยการนับเวลาตามประกาศใหม่” (พ.ศ.2460) ใน บุณยานุสรณ์ นายปึก นาถจำนง. 2552, หน้า 106-120.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการ ‘ส้างวัธนธัมไทยใหม่’.” ใน สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ.

บรรณาธิการ. สายธารแห่งอดีต. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 265-317.

สมหมาย จันทร์เรือง. “ศักราชกับการขึ้นปีใหม่ของไทย.” ใน Matichon Online วันที่ 3 มกราคม 2560

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save