fbpx

ว่าด้วยรัสเซีย-สแกนดิเนเวียในประวัติศาสตร์ช่วงยาววว

ผมใคร่ขอเริ่มต้นด้วยการเห็นร่วมว่า ในระเบียบเสรีนิยมประชาธิปไตยของห้องเครื่องทุนนิยมยุคศตวรรษที่ 21 ที่ทำงานด้วยระบบตัวแทนในรัฐสภา อันมีคุณค่าทางชนชั้นของกระฎุมพีในระดับโลกเป็นโครงสร้างส่วนบนยึดโยง ทั้งกำหนดอยู่บนระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นผลพวงส่วนหนึ่งของยุคจักรวรรดินิยมยุโรป การทำสงครามทางตรงเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อระเบียบเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งความสูญเสียจากการตาย การเกิดคลื่นผู้อพยพ ฯลฯ นอกจากทางด้านที่เรียกกันว่ามนุษยธรรมแล้ว ทั้งหมดนี้คือแรงงาน ซึ่งประสิทธิภาพการผลิตถูกขัดขวางหรือทำให้หยุดลงอันเป็นผลของสงครามทางตรงนี้

เนื่องด้วยคงจะมีผู้วิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบันระหว่างรัสเซียและยูเครนอยู่มากแล้ว ผมคงขอใช้พื้นที่นี้ในการเล่าเท้าความในลักษณะประวัติศาสตร์ช่วงยาว ถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับบริเวณของโลกที่เรียกว่าสแกนดิเนเวียปัจจุบันแทน

มีนักวิชาการผู้สังเกตการณ์การคลี่คลายของประวัติศาสตร์ในยุคสหภาพโซเวียต และเสนอว่าหากจะดูปฐมกำเนิดอารยธรรมรัสเซีย ต้องพิจารณาที่ภูมิภาคสแกนดิเนเวียในส่วนที่เป็นเยอรมนิคด้วยอย่างขาดไม่ได้ และย้อนไปได้จนถึงยุคกลางโน่นทีเดียว

เส้นทางการค้าวารันเจียน เส้นสีม่วงคือเส้นแม่น้ำดนีเปอร์เชื่อมบัลติคเข้ากับกรีก จะเห็นว่าเคียฟเป็นชุมทางหนึ่ง

วิธีการมองด้วยสังคมวิทยาประวัติศาสตร์

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในระยะใกล้ จะมีข้อเสนอไปในทางที่ว่า เส้นทางการเข้าสู่สมัยใหม่ของรัสเซียนั้นเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ใช้เวลาสั้น ในรูปแบบของรัฐอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้จักรวรรดิของซาร์ต่างๆ หรือจะอยู่ในรูปแบบสหภาพโซเวียตก็ตาม

ข้อเสนอเหล่านี้จะย้อนไประบุว่า ความสำเร็จของรัสเซียในการเริ่มต้นการก้าวกระโดดนั้นมีฐานมาสักสองสามทศวรรษก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแสดงตัวชี้วัดตรงที่ปริมาณการผลิตเหล็ก การสร้างทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย และอัตราการลงทุนที่สูงขึ้น แต่ปัญหาของข้อเสนอเหล่านี้ก็อยู่ตรงที่ว่า ความก้าวหน้าเหล่านี้มันมีขนาดนิดเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจและประชากรอันมหาศาล ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีจำนวนน้อยนิดหากเปรียบเทียบกับผู้ที่อยู่ในภาคเกษตร

จึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามอยู่ครามครันว่า รูปแบบรัฐมาร์กซิสต์-เลนนินนิสต์นั้นจะเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ของรัสเซียไปทั้งมวลโดยไม่มีอะไรเป็นฐานที่พร้อมรองรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เลยหรือ

คำตอบคือมีแน่ และมีมาอย่างยาวนานด้วย แต่เราต้องไปดูที่ระดับสังคมวิทยา (หรือระดับโครงสร้างส่วนบนอันเป็นสิ่งที่มาร์กซิสต์ดั้งเดิมปฏิเสธ) และนี่เป็นที่มาของการพยายามทำความเข้าใจเส้นทางอันยาวนานนี้ก่อนอารยธรรมรัสเซียจะผงาดขึ้นมาเป็นจักรวรรดิ

วิธีการดูเส้นทางความก้าวหน้าของนักสังคมวิทยาประวัติศาสตร์จึงไปดูที่ตัวชี้วัดสองสามตัว ที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นของความก้าวหน้าคืออัตรารู้หนังสือ อายุแต่งงานของสตรี (รวมทั้งรูปแบบโครงสร้างครอบครัวของบริเวณภูมิศาสตร์นี้ ซึ่งคงจะต้องขอละเอาไว้ก่อน)

อัตรารู้หนังสือในประเทศยุโรปประมาณปี 1850 

อัตรารู้หนังสือ (literacy rate)

ชั่วขณะก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติรัสเซีย แม้อุตสาหกรรมจะเพิ่งเริ่มต้น แต่อัตราการรู้หนังสือพุ่งสูงขึ้นมาสอดรับกันแล้ว เมื่อดูอัตราการรู้หนังสือที่ต้องใช้สำหรับการเกณฑ์ทหาร (ชาย) เข้าสู่กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย จะพบว่า ก้าวกระโดดจากร้อยละ 20 ในปี 1874 ไปสู่ร้อยละ 70 ในปี 1913

หากลองดูเปรียบเทียบกับก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ได้ ว่าสัดส่วนของเหล่าผู้ชายฝรั่งเศส ที่สามารถลงนามในทะเบียนสมรสได้ ก็มีถึงร้อยละ 70 เช่นกัน ที่ต่างกันคือ อัตรารู้หนังสือในรัสเซียนั้นเกิดขึ้นทีหลัง แต่เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก กรณีบริเวณที่ราบลุ่มปารีสนั้น จากร้อยละ 30 ขึ้นไปถึง 70 ใช้เวลาเป็นร้อยปี แต่รัสเซียสมัยซาร์ใช้เวลาที่บีบสั้นลงเหลือเพียง 30 ปีในการขยายอัตรารู้หนังสือดังกล่าว

อัตรารู้หนังสือนี้มาจากที่ไหน คือมาจากโลกเยอรมนิก จากทะเลบอลติค จากโลกสแกนดิเนเวียนั่นเอง ประเด็นนี้จะชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อดูที่อายุแต่งงานของสตรี ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

แผนที่แสดงช่วงปีที่อัตราการเกิดเริ่มต่ำกว่า 30 ต่อประชากร 1,000 คนในยุโรป

ถึงตรงนี้อาจจะต้องกล่าวถึงที่มาของการแพร่กระจายของอัตรารู้หนังสือก่อนว่า หากพิจารณาพัฒนาการของประวัติศาสตร์ยุโรประยะยาวแล้ว ในช่วงปี 1500-1900 มีการ ‘ปฏิวัติ’ สามระลอกด้วยกัน ระลอกสุดท้ายเป็นการปฏิวัติที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในที่นี้จะกล่าวถึงสองระลอกแรก

ระลอกแรกเป็นการพุ่งสูงขึ้นของอัตราการรู้หนังสือ (ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11-13 โน่น) ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากการพิมพ์ และนำไปสู่การแพร่หลายของอัตราการรู้หนังสือ ซึ่งพอถึงปี 1850 มีบริเวณที่เป็นแก่นของการพัฒนานี้ ที่มีอัตราการรู้หนังสือของประชากรเกินร้อยละ 70 คือสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ ฮอลแลนด์  และสกอตแลนด์ (ไม่รวมอังกฤษ)   

การปฏิวัติระลอกที่สองเป็นเรื่องประชากร การแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นนำมาซึ่งอัตราการตายที่ต่ำลง ซึ่งมีการถกเถียงกันว่า อัตราการตายที่ต่ำลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เพราะในประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมช้าสักหน่อย เช่น สวีเดน ซึ่งยังเป็นสังคมชาวนาส่วนใหญ่ (แต่เป็นชาวนาที่อ่านออกเขียนได้) กลับมีอัตราการตายที่ต่ำลงก่อนประเทศแถวหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ อัตราการเกิดที่ต่ำลง เมื่อเราเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการรู้หนังสือและอัตราการเกิดที่ต่ำลงแล้ว เราก็จะเห็นการแพร่ขยายของสิ่งนี้ตามเส้นลำดับเวลาประวัติศาสตร์

อัตราการรู้หนังสือที่เป็นผลจากกระบวนการที่กล่าวมานี้ แพร่ขยายมาจากภูมิภาคบอลติค ซึ่งแรกนำโดยเส้นทางสันนิบาตฮันซา ต่อมาก็สวีเดน บริเวณดังกล่าวนี้เป็นบริเวณที่มีอัตรารู้หนังสือของสตรีอายุ 20-29 ปีมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งสูงที่สุดในโลก และรัสเซียทางฝั่งทะเลบอลติคนี้ก็ได้รับมรดกนี้มาด้วย

อัตราการรู้หนังสือของสตรีในชนบทของรัสเซียปี 1897 เป็นร้อยละ

อายุแต่งงานของสตรี

ปัจจัยต่อมาคือในบริเวณที่มีอัตราการรู้หนังสือสูง อายุแต่งงานของสตรีก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ถ้าดูตามเชิงภูมิศาสตร์ จะเห็นว่า รัสเซียที่อยู่ใกล้ทะเลบอลติค ก็จะมีค่าเฉลี่ยของอายุการแต่งงานสตรีสูงขึ้นตาม (โปรดดูแผนที่)

ประเด็นนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสแกนดิเนเวียฝั่งบอลติคและรัสเซียที่ย้อนไปได้ในระยะยาววว (หมายถึงยาวมาก) โดยเฉพาะเส้นทางการค้าวารันเจียน (Varangian Trade Route) ซึ่งเชื่อมชาวไวกิ้งสวีเดนเข้ากับกรีก ซึ่งบนเส้นทางดังกล่าวนี้ มีเคียฟเป็นชุมทางสำคัญ 

ในแง่มุมเช่นนี้ ภาพระยะยาวที่ระบุว่าเคียฟเป็นปฐมกาลของอารยธรรมรัสเซียนั้น จะสามารถมีภาพที่ยาววว ขึ้นไปอีกว่าปฐมกำเนิดของอารยธรรมรุซ (Rus) ย่อมมาจากเส้นทางที่เหล่าชาววารันเจียนเข้าบุกและบุกเบิกลงทางแม่น้ำดนีเปอร์ในยุคกลางได้

อายุแต่งงานของสตรีในชนบทของรัสเซียปี 1897 

อ้างอิง

– Emmanuel Todd, The Causes of Progress: Culture, Authority and Change (1987)

– Simon Franklin and Jonathan Shepard, The Emergence of Rus 750-1200 (1996)

– Kari Tarkiainen, Moskoviten (2017)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save