fbpx
อ่านอีกครั้งในความเงียบ : พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยจริงหรือ ?

อ่านอีกครั้งในความเงียบ : พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยจริงหรือ ?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ หรือ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงนิติศาสตร์ว่าเป็น ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ ถ้อยคำดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิใช่นักกฎหมายธรรมดาที่มีอยู่อย่างดาษดื่น หากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการวางรากฐานของระบบกฎหมายไทย

การยกย่องพระองค์ มีให้เห็นอย่างกว้างขวางทั้งในด้านของการยกย่องและการจัดงานพิธีกรรม ทุกวันที่ 7 สิงหาคม อันเป็นวันครบรอบวันสิ้นพระชนม์ มีการจัดงานวันรพีเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริก นับตั้งแต่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ของพระองค์ที่ประดิษฐานอยู่หน้ากระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มาเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ของศาลยุติธรรมในแต่ละจังหวัด หรือในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการศึกษาวิชากฎหมาย ต่างก็ได้มีการจัดงานกันเกือบทุกสถาบัน

และวันดังกล่าวก็ได้กลายเป็นเสมือนวันหยุดอย่างไม่เป็นทางการ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ปกติหากสถาบันการศึกษาใดไม่ได้เข้าร่วมหรือจัดให้มีงานพิธีกรรมดังกล่าวขึ้น

ตัวอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น คงพอเป็นภาพสะท้อนได้ว่าภาพของพระองค์เจ้ารพีฯ ในการรับรู้ของนักกฎหมายและแวดวงนิติศาสตร์ของไทย เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับกันโดยปราศจากข้อโต้แย้ง หรือการตั้งข้อสงสัยต่อความเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยของพระองค์เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนงำหลายอย่างที่ชวนให้ขบคิดกันอยู่ไม่น้อย ดังเช่น อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม อันที่จริงเพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 หรือ 44 ปี หลังจากสิ้นพระชนม์

ทำไมการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องบทบาทของพระองค์ถึงได้ทอดยาวออกมาเพียงนั้น ก่อนหน้านั้นมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่สามารถเทิดทูนพระองค์ในพื้นที่สาธารณะได้ ภาวะเช่นนี้หมายความว่าการรับรู้ถึงพระองค์เจ้ารพีฯ ก่อนหน้าระยะเวลาดังกล่าว อาจแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่ อย่างไร

หรืออันที่จริงแล้ว ความเข้าใจต่อสถานะของพระองค์เป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ขึ้นไม่นานมานี้

 

‘บิดา’ หรือ ‘บิดาบุญธรรม’ แห่งกฎหมายไทย

 

พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกๆ ที่ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรป เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมพระองค์เลือกศึกษาวิชากฎหมายที่ Christ Church College ในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2437

ภายหลังสำเร็จการศึกษาก็ได้เสด็จกลับเมืองไทย และเริ่มต้นเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการต่อมาบทบาทของพระองค์เจ้ารพีฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านกฎหมายได้กลายมาเป็นบทบาทที่ได้รับการเทิดทูนอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา อาจกล่าวได้ว่าบทบาทของพระองค์ที่มีต่อวงการกฎหมายสมัยใหม่ของไทยนั้น ปรากฏอยู่ใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ

ประการแรก การจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายและจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายอย่างเป็นระบบตามแบบของตะวันตก

ประการที่สอง งานด้านการแก้ไข ปรับปรุงและร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสภาพสังคมที่ต้องติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น

ประการที่สาม การปรับปรุงกิจการงานของศาลยุติธรรมที่เคยกระจัดกระจายไปอยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม

แม้จะเป็นที่ยอมรับว่า พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญต่องานปฏิรูประบบกฎหมายไทย แต่การเลือกเน้นย้ำถึงบทบาทของพระองค์ ก็อาจเป็นการลดทอนหรือละเลยกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านอื่นๆ ซึ่งมีผลให้การประเมินฐานะของบุคคลในทางประวัติศาสตร์เบี่ยงเบนไปจากข้อมูลที่มีอยู่

งานด้านโรงเรียนกฎหมาย อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักกฎหมายเข้าสู่ระบบราชการ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายนี้มิใช่ภารกิจที่อาจลุล่วงไปได้โดยง่าย หากต้องอาศัยความช่วยเหลืออย่างมาก โดยเฉพาะจากชาวตะวันตกที่มีประสบการณ์ดังกล่าวมาจากประเทศของตน

เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (Rolin Jacquemyns) นักกฎหมายชาวเบลเยียมซึ่งเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป เคยถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ 5 ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีกำลังคนเพียงพอในการดำเนินการดังกล่าว ต้องรอจนกระทั่งพระองค์เจ้ารพีฯ สำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ก็มีบทบาทในการช่วยจัดระเบียบการศึกษากฎหมาย และร่วมเป็นกรรมการสอบไล่ของนักเรียนโรงเรียนกฎหมายรุ่นแรกด้วย เจ้าพระยาอภัยราชาฯ จึงเป็นผู้มีส่วนต่อการให้กำเนิดโรงเรียนกฎหมายไทยในครั้งแรกอยู่ไม่น้อย

เมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่มีความสำคัญต่อโรงเรียนกฎหมาย ใน พ.ศ. 2470 ได้มีการสร้างพระรูปจำหลักของพระองค์เจ้ารพีฯ และรูปจำหลักของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ไว้คู่กัน การสร้างอนุสาวรีย์ของทั้งคู่ย่อมแสดงถึงฐานะและความสำคัญของทั้งสองที่มีต่อระบบกฎหมาย และการศึกษากฎหมายสมัยใหม่ของไทยอย่างทัดเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปัจจุบัน เจ้าพระยาอภัยราชาฯ กลับถูกลดทอนบทบาทและความสำคัญลง ฐานะของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นเสมือนหนึ่งในนักกฎหมายชาวตะวันตกจำนวนมากที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยปรับปรุงระบบกฎหมายของไทย โดยมิได้โดดเด่นแตกต่างไปจากคนอื่นๆ

ทำไมฐานะที่เคยได้รับการยกย่องถึงกับสร้างอนุสาวรีย์ไว้คู่กับพระองค์เจ้ารพีฯ กลับผันแปรไปอย่างมาก และได้ถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการสร้างพระรูปของพระองค์เจ้ารพีฯ ไว้ที่หน้ากระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. 2507 แต่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ กลับหายสาบสูญไปจากพื้นที่ความทรงจำของนักกฎหมายไทยจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

นอกจากการตั้งโรงเรียนกฎหมาย งานอีกด้านที่พระองค์เจ้าได้มีบทบาทร่วมก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย แนวทางการปฏิรูปกฎหมายของไทยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามที่ตะวันตกได้ใช้กันอยู่ การแก้ไขกฎหมายจำนวนมากจึงเกิดขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่ พ.ศ. 2440 มีการเลือกทำประมวลกฎหมายอาญาก่อนประมวลกฎหมายฉบับอื่นๆ เนื่องจากบรรดากฎหมายลักษณะต่างๆ กฎหมายอาญาเป็นประมวลกฎหมายที่ร่างได้ง่ายที่สุดและศาลสามารถเข้าใจได้ง่ายเช่นกัน

รัชกาลที่ 5 ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้มีพระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเป็นประธานร่วมกับกรรมการอื่นๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คณะกรรมการทำงานได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยได้เรียบเรียงไว้เป็นร่างกฎหมายแต่ยังมิได้ตรวจชำระ งานร่างกฎหมายได้มีความคืบหน้าต่อมาใน พ.ศ. 2447 เมื่อรัฐบาลจ้างนายยอร์ช ปาดู (Georges Padoux) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษา และรัชกาลที่ 5 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ โดยให้รับร่างกฎหมายอาญาที่คณะกรรมการร่างกฎหมายชุดก่อนได้ทำไว้ ซึ่งนายยอร์ช ปาดู ได้ยกเลิกร่างประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการชุดแรก ที่มีพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นประธาน

การกระทำของนายปาดู มีผลไม่มากก็น้อยให้พระองค์ปฏิเสธตำแหน่งประธานกรรมการร่างกฎหมายชุดใหม่นี้ ทั้งๆ ที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งควรจะรับผิดชอบในเรื่องนี้ กระทั่งต่อมาแม้ในคราวที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชั้นสูง ร่างประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พระองค์ก็ทรงหลีกเลี่ยงมิได้เข้าร่วมตรวจร่างประมวลกฎหมาย ด้วยการตามเสด็จประพาสไปยุโรปของรัชกาลที่ 5 และทรงมอบหมายหน้าที่ให้นายโตกิจิ มาเซา (Tokichi Masao) และนายเจ สจ๊วต (J. Steward Black) ที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ทำการตรวจร่างประมวลกฎหมายอาญาแทน

เพราะฉะนั้น การยกย่องบทบาทของพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย หรือแม้ในหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมฉลองวันรพี ซึ่งกล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการร่างประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก จึงเป็นการคลาดเคลื่อนไปจากข้อมูลที่ปรากฏอยู่อย่างมาก

สำหรับประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย บทบาทของพระองค์เจ้ารพีฯ นับว่ามีอยู่อย่างจำกัด หรืออาจกล่าวได้ว่ามีอยู่น้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยที่จะร่างประมวลกฎหมายอาญาตาม ‘ระบบประมวลกฎหมาย’ พระองค์เคยเสนอรัชกาลที่ 5 ให้ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law ตามอย่างประเทศอังกฤษ แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนับสนุนให้เลือกเอาระบบกฎหมายตามแบบประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเห็นว่าเป็นการง่ายที่จะเปลี่ยนกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับระบบดังกล่าว

ธาวิต สุขพานิช ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ จึงมีความเห็นว่าพระองค์เจ้ารพีฯ ควรมีฐานะเป็นเพียง ‘บิดาบุญธรรมของกฎหมายไทย’ โดยกรมพระยาดำรงฯ ต่างหากที่ควรมีฐานะเป็นบิดา (ที่แท้จริง) แห่งกฎหมายไทย

 

สัญลักษณ์เก่าในอุดมการณ์ใหม่

 

พระองค์เจ้ารพีฯ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463 (46 พรรษา) ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงพระองค์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม ซึ่งนักกฎหมายส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกและแห่งเดียวที่มีการสร้างเพื่อรำลึกถึงพระองค์ แต่ความจริงแล้วได้มีการสร้างพระรูปจำหลักของพระองค์ พร้อมกับรูปจำหลักของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ เมื่อ พ.ศ. 2470 ดังที่กล่าวไปแล้ว อันนับได้ว่า เป็นการสร้างสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงบทบาทและความสำคัญของพระองค์ต่อการปฏิรูประบบกฎหมายไทยเป็นครั้งแรก

พระรูปจำหลักนี้ตั้งแสดงไว้ในโรงเรียนกฎหมาย แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงพระองค์ในฐานะของบิดา ไม่ว่าจะ ‘บิดาแห่งโรงเรียนกฎหมาย’ หรือ ‘บิดาของกฎหมายไทย’ ไว้เลยแม้แต่แห่งเดียวในคำกล่าวเปิดงานครั้งนี้

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลให้อนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ต้องระหกระเหินไปภายใต้การแปรผันของอุดมการณ์ทางการเมือง ทางรัฐบาลได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยหลังจากนั้นทรัพย์สินของโรงเรียนกฎหมายก็ถูกโอนมายัง มธก. รวมถึงอนุสาวรีย์ทั้งสองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุสาวรีย์ทั้งสองถูกโอนมาเป็นของ มธก. ก็ไม่สามารถถูกตั้งแสดงในพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะความแตกต่างตั้งแต่รากฐานความคิดของการตั้งสถาบันการศึกษาทั้งสอง โดย มธก. ถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับการปกครองแบบใหม่ที่นำเอารัฐธรรมนูญมาเป็นหลักในการปกครอง ในขณะที่โรงเรียนกฎหมายเป็นหนึ่งในสี่โรงเรียนที่ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบราชการเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5

อนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ และเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ถูกเก็บไว้อย่างเงียบเชียบ จนกระทั่งเมื่อครบรอบ 50 ปี ของธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2527 จึงจะมีการ ‘ค้นพบ’ พระรูปและรูปศิลาจำหลักทั้งสองที่ตึกโดมของธรรมศาสตร์

ในขณะที่กระบวนการสร้างความหมายของพระองค์เจ้ารพีฯ ผ่านอนุสาวรีย์ ดูจะประสบกับความยุ่งยากอันเนื่องมาจากการผันแปรของการเมือง อุดมการณ์ และสถานที่ ดังก่อนหน้าทศวรรษ 2500 แม้จะมีการยอมรับความสำคัญของพระองค์ในฐานะผู้นำการปฏิรูประบบกฎหมายของไทย แต่การยอมรับก็ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงของนักกฎหมายเท่านั้น

หรือหากกล่าวให้ชัดเจนก็คือ เฉพาะบรรดาลูกศิษย์ที่ได้มีโอกาสเล่าเรียนกับพระองค์ในยุคแรกของโรงเรียนกฎหมาย ความเคารพของนักเรียนในโรงเรียนกฎหมายดูจะปรากฏอย่างกว้างขวาง ดังมีการกล่าวว่าลูกศิษย์ของพระองค์ต่างเทิดทูนพระองค์เป็นศาสดา คำกล่าวนี้คงไม่เกินเลยจากความจริงมากนัก ดังเมื่อเกิดกรณี ‘พญาระกา’ และพระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัชกาลที่ 5 จึงขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีผู้พิพากษาจำนวน 28 คนขอลาออกด้วย เป็นผลให้ราชการงานศาลต้องหยุดชะงักลง

การกระทำที่แสดง ‘ฤทธิ์เดชมากเอาการต่อพระมหากษัตริย์’ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างพระองค์เจ้ารพีฯ กับบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายว่า เป็นความสัมพันธ์มากกว่าฐานะของพระอาจารย์กับลูกศิษย์โดยทั่วไป ย่อมนำมาซึ่งคำถามได้ว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกศิษย์ทั้งหลายของพระองค์กล้าที่จะกระทำการแบบ ‘บ้าบิ่น’ ได้ขนาดนั้น

บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของพระองค์ต่อแวดวงนักกฎหมาย คือการปรับปรุงฐานะของผู้พิพากษาให้ดีขึ้น โดยก่อนหน้าการปฏิรูประบบกฎหมายฐานะของตุลาการตกต่ำอย่างมาก อำนาจของตุลาการมีไว้ในการแสวงหารายได้จากบุคคลที่เป็นคู่ความ มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากตำแหน่งหน้าที่ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พระองค์เจ้ารพีฯ ได้ปรับปรุงโดยทำให้ตำแหน่งตุลาการได้รับการยอมรับว่ามีฐานะที่พิเศษ โดยได้รับเงินเดือนที่สูงถึงสูงมาก หากเปรียบเทียบกับข้าราชการในส่วนอื่นๆ

ไม่เพียงเท่านั้น การให้ความใส่ใจต่อนักเรียนกฎหมาย ได้ปรากฏมาตั้งแต่ทรงสอนในโรงเรียนกฎหมาย โดย “พระองค์ทรงกรุณาห่วงใยในพวกนักเรียนกฎหมายมาก อยากจะให้ใช้วิชาชีพเป็นจริงๆ ทรงสนับสนุนในการว่าความ นักเรียนคนใดไม่มีความจะว่า ก็ให้ว่าความแทนผู้ต้องหาในเรือนจำ”

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าพระองค์ยังทำหน้าที่ในการปกป้องบรรดาเหล่าตุลาการ เมื่อเกิดการกล่าวหาที่เป็นด้านลบเกิดขึ้น เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสว่า “รพี พ่อได้ยินว่าผู้พิพากษากินเหล้ามากใช่ไหม ทำไมรพีจึงปล่อยให้เป็นเช่นนี้” ซึ่งพระองค์เจ้ารพีฯ ได้กราบบังคมทูลว่า

“ในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเลือกผู้พิพากษาก็ดี เลื่อนขั้นผู้พิพากษาก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าถือหลักในใจอยู่เพียง 2 ข้อ คือ ต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดอย่างหนึ่ง และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกอย่างหนึ่ง… ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ไปสอบสวนหรือเอาใจใส่ในกิจธุระของผู้พิพากษาแต่ละคน ใครจะกินเหล้ายังไง เที่ยวเตร่อย่างไร นอกเหนืออำนาจของเสนาบดีจะพึงบังคับบัญชา”

เรื่องเล่านี้คงเป็นที่ประทับใจนักกฎหมายไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่ามีการหยิบยกเรื่องนี้มากล่าวซ้ำอยู่หลายครั้ง แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ตาม

ความจงรักภักดีและการเทิดทูนพระองค์ ไม่เพียงปรากฏอยู่ในหมู่นักกฎหมายที่เป็นลูกศิษย์โดยตรงของพระองค์ หากยังขยายรวมไปถึงนักเรียนกฎหมายรุ่นต่อๆ มา ที่ได้ศึกษาในโรงเรียนกฎหมายแม้จะไม่ได้ศึกษากับพระองค์โดยตรง อันเป็นผลจากการเคารพนับถือที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาผ่าน ‘เรื่องเล่า’ กระนั้นก็ตาม การเชิดชูความสำคัญของพระองค์ท่านก็ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงของสถาบันตุลาการเท่านั้น

ใน พ.ศ. 2497 เนติบัณฑิตยสภาได้จัดให้มีงานเพื่อรำลึกถึงพระองค์ โดยให้คำอธิบายว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นผู้มีพระคุณต่อศาลยุติธรรมและวงการนิติศาสตร์ของไทย” ทั้งนี้ “วงการนิติศาสตร์ไทยยกย่องว่าเป็นองค์ปฐมาจารย์ของนักนิติศาสตร์ไทยสืบไป”

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จนเกือบล่วงเข้าทศวรรษ 2500 ก็ยังไม่ปรากฏการกล่าวถึงพระองค์เจ้ารพีฯ ว่าเป็น ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ แต่ประการใด สถานที่จัดงานก็อาศัยเพียงชั้น 2 ของสโมสรเนติบัณฑิตยสภา สะท้อนได้ว่าวาทกรรมของพระองค์ยังไม่ได้แผ่ขยายออกครอบคลุมวงการนิติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวาง อนึ่ง การจัดงาน ณ ที่นี้ได้ดำเนินสืบมา จนกระทั่งมีการสร้างพระรูปขึ้นที่หน้ากระทรวงยุติธรรมในภายหลัง

 

การถือกำเนิดของบิดาแห่งกฎหมายไทย

 

สถานะของพระองค์เจ้ารพีฯ เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในทศวรรษ 2500 ภายหลังจากนี้เป็นต้นไปการประกาศถึงสถานะของพระองค์ท่าน เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในธรรมศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งเป็นการสร้างวาทกรรมของพระองค์เจ้ารพีฯ ในทางสาธารณะให้บังเกิดขึ้น

สำหรับธรรมศาสตร์นั้น มีการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์และอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เช่น กรณีวันธรรมศาสตร์สามัคคี มีการจัดงานวันธรรมศาสตร์ขึ้นโดยยึดเอาวันที่ 10 ธันวาคม ด้วยการดำเนินงานของสมาคมธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยเหตุผลว่าเป็นวันที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแก่ปวงชนชาวไทย การเลือกเอาวันที่รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นหมุดหมายของวันธรรมศาสตร์ ย่อมสะท้อนว่าสมาคมธรรมศาสตร์เลือกจะนิยามความหมายของมหาวิทยาลัยเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

ในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการริเริ่มจัดงาน ‘วันรพี’ ขึ้นในธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2505 เพื่อรำลึกถึงพระองค์ สวนทางกับบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยซึ่งถูกลดทอนลง ทั้งที่การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

แม้จะดูเหมือนว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่าง ‘พระองค์เจ้ารพีฯ’ กับ ‘การศึกษากฎหมายในธรรมศาสตร์’ แต่เข้าใจว่าการสร้างและการตอกย้ำความสำคัญของพระองค์ท่านในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการนิติศาสตร์ของไทย เป็นผลมาจากข้าราชการตุลาการที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยในขณะนั้นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีระบบอาจารย์ประจำ หรือมีก็น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคณะนิติศาสตร์ที่บทบาทของตุลาการจะมีอยู่สูงในฐานะอาจารย์พิเศษ

หากดูรายชื่อของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่มีการแยกออกเป็นคณะต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2517 ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายทั้งหมด ดังนี้

– พระยานิติศาสตร์ไพศาล (ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. 2492 – 2496) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2452

– พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2496 – 2503) สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2461, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2503 – 2511) สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2460

– สัญญา ธรรมศักดิ์ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2511 – 2514) สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2471

– จิตติ ติงศภัทิย์ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2514 – 2517) สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2470

พร้อมกับการขยายตัวของพิธีกรรม ‘วันรพี’ ในธรรมศาสตร์ ได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2507 ไว้ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม

ภายหลังจากก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านสำเร็จ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่องานพิธีกรรม มีการเปลี่ยนมาจัดงาน ณ อนุสาวรีย์ของพระองค์ อันเป็นพื้นที่ที่เปิดและสามารถทำให้เกิดการเข้าร่วมของกลุ่มที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจำกัดไว้เฉพาะสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา พร้อมกันนี้ได้มีการริเริ่มการวางพวงมาลาสักการะแก่พระองค์อีกรายการหนึ่ง อันเป็นพิธีกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยทางเนติบัณฑิตยสภาได้เชิญข้าราชการ สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และบรรดาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย คือ กระทรวงยุติธรรม ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง สำนักอธิบดีผู้พิพากษา กรมอัยการ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมวางพวงมาลาและร่วมบำเพ็ญพระกุศล

งานที่ถูกจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ของพระองค์หน้ากระทรวงยุติธรรม เป็นพิธีกรรมที่มี ‘พลัง’ มากกว่างานรูปแบบเดิม ซึ่งจัดขึ้นอย่าง ‘จืดชืด’ บริเวณชั้นบนของสโมสรเนติบัณฑิตยสภามาเป็นเวลา 10 ปี การสร้างอนุสาวรีย์ทำให้การสร้างประวัติศาสตร์ใหม่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยเป็นมา เห็นได้จากการเข้าร่วมของสถาบันด้านกฎหมายที่กว้างขวางมากขึ้น อันมีผลช่วยตอกย้ำความชอบธรรมของพระองค์เจ้ารพีฯ ในฐานะ ‘บิดาของกฎหมายไทย’ ให้หนักแน่นมากขึ้น

นับจากนั้นเป็นต้นมา พิธีกรรม ณ อนุสาวรีย์ได้กลายเป็นพิธีอัน ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ที่นักกฎหมายไม่อาจละเลยได้ และยังมีการอธิบายว่าการศึกษากฎหมายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าที่ดำเนินการโดยทางภาครัฐหรือเอกชน ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมายทั้งสิ้น โดย “เนื้อแท้ของสิ่งเหล่านี้ก็คือวิญญาณของโรงเรียนกฎหมายเดิม ที่พระบิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงประทานกำเนิดไว้”

คำอธิบายข้างต้นเกิดขึ้นในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือบทบัณฑิตย์ เดือนสิงหาคม 2512 ทว่าหากย้อนหลังไปใน พ.ศ.2477 คำอธิบายในลักษณะนี้ไม่น่าจะบังเกิดขึ้นได้ หากนับเฉพาะการสร้างโครงเรื่องว่า มธก. มีที่มาจาก ‘วิญญาณของโรงเรียนกฎหมาย’ ก็ถือว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว เมื่อพิจารณาถึงรากฐานและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งที่ห่างไกลกันอย่างมาก

 

อำนาจของการสร้างความทรงจำ

 

พระองค์เจ้ารพีฯ มีบทบาทต่อการปฏิรูปกฎหมายในสังคมไทยอย่างสำคัญและโดยไม่ต้องสงสัย แต่การให้ความหมายต่อพระองค์ในฐานะของบิดาแห่งกฎหมายไทย ไม่ใช่สิ่งที่บังเกิดขึ้นและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในระดับเดียวกัน นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463

การยกย่องพระองค์ในฐานะของ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ เป็นวาทกรรมที่ผันแปรไปในแต่ละช่วงเวลา ท่ามกลางกระบวนการสร้างความหมายให้แก่พระองค์ ก็มีการลดทอนความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์หลายอย่าง พร้อมกันนั้นก็มีการเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับบทบาทของพระองค์ให้โดดเด่นขึ้นมา เป็นผลให้ภาพของพระองค์ขยายออกอย่างกว้างขวางในการปฏิรูปกฎหมายไทย

แม้ว่าบทบาทบางด้านอาจมีอยู่ไม่มากนัก แต่ก็ถูกอธิบายและให้ความสำคัญเสมือนหนึ่งว่า เป็นงานที่พระองค์มีบทบาทหลัก ดังเช่น การร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย ที่มักมีงานเขียนอธิบายสืบทอดติดต่อกันมาว่าเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์

การรื้อฟื้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในช่วงกึ่งพุทธกาล มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่เปิดโอกาสให้มีการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านต่างๆ การเกิดขึ้นของบิดาแห่งกฎหมายไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้ อันเป็นผลจากการเกาะกลุ่มและการขยายบทบาทของบุคคลที่เคยมีประสบการณ์ การรับรู้ การกล่อมเกลา ในระนาบเดียวกัน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางในสถาบันทางกฎหมายของไทยในเวลาต่อมา

ความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการยกย่องบทบาทของชนชั้นนำ ในฐานะเป็นผู้วางรากฐานความรู้ทางด้านกฎหมาย รวมถึงด้านอื่นๆ เช่น บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย บิดาแห่งการแพทย์ไทย บิดาแห่งการรถไฟไทย ฯลฯ นับได้ว่าเป็นการปรับตัวของสถาบันดั้งเดิมในสังคมไทยที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน ทำให้สถาบันยังคงบทบาทและความสำคัญอยู่ได้อย่างมีความหมาย หลังจากที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งทำให้สถาบันต้องเผชิญกับบริบททางสังคมแบบใหม่ที่มีการให้คุณค่าและความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม

การเกิดขึ้นและความสืบเนื่องของ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ นอกจากจะมิใช่ ‘ความจริงในประวัติศาสตร์’ ยังสะท้อนให้เห็นการเลือกจดจำ เน้นย้ำ ลดทอน และมองข้ามบางประเด็น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับองค์กรหรือสถาบัน อันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันมาโดยตลอด

 

หมายเหตุ

บทความชิ้นนี้เป็นเพียงบางส่วนที่งานที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ และพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือชื่อ “ความยอกย้อนในประวัติศาสตร์ของบิดาแห่งกฎหมายไทย” โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อ พ.ศ. 2546 เนื่องในโอกาสที่วันรพีเวียนมาบรรจบจึงเป็นวาระอันดีที่จะได้มีการเสนอให้ลองมีการทบทวนถึงสถานะของบิดากฎหมายไทยของนักกฎหมายอีกครั้ง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save