fbpx
ประวัติศาสตร์ความสุข 5 ยุค : จากยุคหินถึงยุคนี้!

ประวัติศาสตร์ความสุข 5 ยุค : จากยุคหินถึงยุคนี้!

สัจธรรมอย่างหนึ่งที่ใครๆ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ มนุษย์ทุกคนล้วนอยากมี ‘ความสุข’ กันทั้งนั้น มีคนเคยบอกด้วยว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสังคม ทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันสามารถมีความสุขได้มากกว่ามนุษย์ในยุคก่อน

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

 

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประวัติศาสตร์ความสุขบางคนบอกว่า จริงๆ แล้ว เราเปรียบเทียบได้ยาก ว่ามนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ยุคไหนมีความสุขมากกว่ากัน ส่วนหนึ่งเพราะมนุษย์เรามีแนวคิดเกี่ยวกับความสุขที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

ในยุคหนึ่ง การได้สวดมนต์ขอพรพระเจ้าอาจนับได้ว่าเป็นความสุขแล้ว (เพราะการสวดมนต์คือ ‘เทคโนโลยี’ ในการบรรเทาทุกข์แบบหนึ่ง) แต่ถ้าเป็นอีกยุค คนเราอาจต้องทำอะไรบางอย่างที่นอกเหนือจากการไปสวดมนต์เพื่อเข้าถึงความสุข

‘ความสุข’ จึงไม่ใช่สัจธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เป็น ‘สิ่งสร้าง’ ทางสังคม ที่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอดเวลา!

ความสุขยุคหิน

สังคมมนุษย์ในยุคหินมีความสัมพันธ์ที่ไม่สลับซับซ้อนเท่าไหร่ เพราะยังมีการรวมกลุ่มไม่ใหญ่นัก อาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมการเมืองแบบชนเผ่า (tribal state) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มจากหลายครอบครัวเท่านั้น  การดำรงชีวิตของคนในยุคนี้จะเป็นลักษณะการล่าสัตว์และเก็บของป่า

วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนในยุคนี้ ส่วนมากจึงเป็นการการล่าสัตว์หรือหาอาหารประทังชีวิต เมื่อมีเวลาว่างก็จะใช้ไปกับการสืบพันธุ์ หรือไม่ก็ทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการหาอาหารครั้งต่อไป

มนุษย์ในยุคนี้จะทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเยอะมาก แต่ระบบวัฒนธรรมหรือรากฐานทางปรัชญายังไม่มีการพัฒนาในระดับที่ฝังรากและแข็งแกร่ง ทำให้สามารถเชื่อได้ว่า ‘ความสุข’ น่าจะมีลักษณะที่ไม่เป็นนามธรรมหรือซับซ้อน แต่เป็นความสุขพื้นๆ ที่เกิดขึ้นได้จากการทำกิจกรรมประจำวันทั่วไป

ในสังคมยุคหิน การแบ่งแยกระหว่างศัตรูกับ ‘พวกเรา’ ที่มาจากครอบครัวหรือมีสายเลือดเดียวกัน ทำให้เชื่อได้ว่า มนุษย์ยุคหินน่าจะมีความสุขจากความรู้สึกปลอดภัยมั่นคงกับการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวเป็นหลัก

‘ความสุข’ ในยุคหินจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกตีกรอบให้อยู่ในอาณาบริเวณของครอบครัวและสายเลือดเท่านั้น

ความสุขของคนยุคหินจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งสามารถสร้างหรือเข้าถึงได้เอง

ความสุขยุคกรีก

เมื่อพัฒนามากขึ้น สังคมชนเผ่าก็กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘นครรัฐ’ (city-state)

ความสุขของคนใน ‘นครรัฐ’ จะเป็นแบบไหน?

นครรัฐเป็นรูปแบบสังคมที่ไม่ได้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มาจากสายเลือดหรือครอบครัวเดียวกันเท่านั้น แต่มาจากร้อยพ่อพันแม่ สังคมแบบนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก พอๆ กับเมืองเมืองหนึ่งเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมการเมืองประเภทนี้ก่อตัวตามเกาะแก่งและเทือกเขาในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ขนาดสังคมจึงไม่ใหญ่เกินขนาดของเกาะหรือเทือกเขาเท่าไหร่ เช่นนครรัฐเอเธนส์มีประชากรเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น โดยคนที่มีสถานะพลเมืองและสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองมีเพียง 4 หมื่นคนเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่มีสิทธิ เพราะเป็นทาส เด็ก และสตรี

ในยุคนี้ มนุษย์ได้พัฒนารูปแบบการปกครองที่ก้าวหน้าและซับซ้อนมากขึ้น เกิดสถาบันทางการเมืองต่างๆ ขึ้น เริ่มมีการใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองบ้านเมืองผ่านการเลือกตั้ง โดยให้พลเมืองเลือกผู้แทนที่มาจากพลเมืองด้วยกันขึ้นมาบริหารบ้านเมือง

นอกเหนือจากระบบการปกครองที่พัฒนาขึ้นแล้ว ความคิดความเชื่อก็พัฒนาความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น คนในยุคนี้เริ่มมีการนับถือเทพเจ้า (gods) เกิดคติความเชื่อบางประเภทที่เป็นนามธรรมมากขึ้น โดยได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า คุณธรรม (virtue) หรือหลักในการดำรงชีวิตตามกรอบของสังคมการเมืองนั้นๆ ขึ้นมา โดยเนื้อหาของคุณธรรมที่ว่านี้จะแตกต่างกันไปตามนครรัฐแต่ละแห่ง

อริสโตเติล นักปรัชญากรีก เคยบอกว่า คุณธรรมที่ว่านี้มีอิทธิพลต่อการกำหนด ‘ความสุข’ ของมนุษย์อย่างมาก โดยคุณธรรมที่ว่าประกอบไปด้วยปรีชาญาณ ความรอบคอบ ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม พูดง่ายๆ ก็คือ มนุษย์จะมีความสุขได้ ก็ต้องมี ‘คุณธรรม’ พวกนี้มานำทางเสียก่อน

แต่ที่ต้องบอกกันไว้ตรงนี้ด้วยก็คือ หลักคุณธรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อการสร้างประชากรที่สอดคล้องกับแบบแผนของสังคม (และรัฐ) อย่างหลักปรีชาญาณบอกว่า ถ้าอยากมีความสุข ก็ต้องเล่าเรียนเพื่อเพิ่มความฉลาด แล้วนำความฉลาดไปช่วยในการปกครองบ้านเมืองต่อไป

ความสุขในยุคกรีกจึงสะท้อนถึงบทบาทของประชาชนที่มีต่อรัฐอย่างมาก

ความสุขยุคจักรวรรดิโรมัน

จากนครรัฐ คราวนี้ก็พัฒนามาถึง ‘จักรวรรดิ’ แบบจักรวรรดิโรมัน

ที่จริงแล้ว แรกเริ่มเดิมที จักรวรรดิโรมันเป็นนครรัฐมาก่อน จากนั้นขยายอิทธิพลออกไปสู่นครรัฐอื่นๆ ทั้งในมิติการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และทหาร ที่สุดก็เกิดการรวมตัวกันของหลายๆ นครรัฐ ในแบบรวมศูนย์อำนาจ

แน่นอน ประชากรของจักรวรรดิย่อมมากกว่านครรัฐหลายเท่าตัว แต่เอาเข้าจริง รากฐานทางวัฒนธรรมและปรัชญาก็ยังคล้ายคลึงกัน พูดง่ายๆ คือโรมันถอดแบบวิธีคิดจากกรีกมานั่นแหละ ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงคนเชื่อว่า ‘ความสุข’ ของคนในยุคจักรวรรดิ น่าจะคล้ายคลึงกับคนในยุคกรีก คือเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเดินตามกรอบของคุณธรรม

แต่นอกจากนี้แล้วก็ยังมี ‘ความสุขมวลรวม’ อีกแบบหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ด้วย นั่นคือความสุขในแบบ ‘ความบันเทิง’ ของสังคม เพราะมีการสร้างนวัตกรรมทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา เช่นโรงละครหรือสนามประลองระหว่างคนกับคนและคนกับสัตว์อย่างโคลอสเซียม หลายคนเลยเชื่อว่า ความสุขของคนยุคนี้อาจไม่ได้เป็นไปตามกรอบคุณธรรมเสมอไป แต่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับความบันเทิงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นความสุขที่ได้จากความบันเทิง ก็ยังต้องถูกรัฐควบคุมด้วย เช่น รัฐต้องเป็นคนดูและและอนุญาตให้คนเข้าไปใช้งานโคลอสเซียม

ซึ่งเป็น ‘ความสุข’ ที่รัฐจัดหาเอาไว้ให้ประชาชน

ความสุขยุคฟิวดัล (ยุคมืด)

เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ดินแดนต่างๆ แยกตัวออกจากกัน กลายเป็นกลุ่มสังคมการเมืองย่อยๆ ที่มีกษัตริย์ครองนครปกครองอยู่ แต่ในยุคนั้น กษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเท่าไหร่ ต้องพึ่งขุนพลหรืออัศวินในการดูแลบ้านเมืองอีกต่อหนึ่ง โดยเหล่าขุนพลพวกนี้จะมีไพร่หรือทาสติดที่ดินของตนเอาไว้ดูแลที่ดินของตนเองเอาไว้ เรียกว่าระบบฟิวดัล (Feudal)

พอเป็นแบบนี้ อำนาจในยุคฟิวดัลจึงกระจัดกระจายอย่างมาก ความเป็นไปของบ้านเมืองมักขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเหล่าอัศวินเป็นหลัก ระบบเศรษฐกิจจะมีลักษณะการพึ่งพาตามแนวดิ่งสูงมาก ไพร่ทาสจะต้องทำงานให้กับเหล่าอัศวินเพื่อแลกอาหารและที่อยู่ไปวันๆ ไพร่ทาสที่อยู่ต่างสังกัดกันไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน ส่วนอัศวินก็จะแลกเปลี่ยนกับกษัตริย์ด้วยการให้ความคุ้มครอง เพื่อแลกกับความชอบธรรมในการปกครองดินดนของตนต่อไป การที่ไพร่ทาสจะได้มีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมไปสู่จุดที่สูงกว่านั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก

ที่สำคัญ บรรดาเจ้าผู้ปกครองที่ดินต่างรบราฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงดินแดน แถมศาสนายังมีอิทธิพลขึ้นมา โดยหลักคิดของศาสนาได้มาบดบังภูมิปัญญาและการใช้เชิงเหตุผล (ที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุคกรีก) ลง หลายครั้งสงครามได้เกิดขึ้นมาเพราะมีเชื้อมูลจากความขัดแย้งทางศาสนา

จึงน่าสงสัยว่า แล้ว ‘ความสุข’ ของคนในยุคนี้เป็นอย่างไร?

มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ให้ความเห็นว่า ‘ความสุข’ ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในยุคนี้หาได้ยากยิ่งนัก (สมแล้วที่เรียกว่าเป็น ‘ยุคมืด’) เพราะเต็มไปด้วยความรันทด หาความแน่นอนในชีวิตไม่ได้ วันๆ จะต้องดิ้นรนเอาตัวรอด เพราะเกิดสงครามแทบทุกที่

นักบุญโธมัส อะไควนัส นักคิดชื่อดังแห่งยุคนั้นบอกว่า ‘ความสุข’ ของคนยุคนั้นอยู่ที่การพึ่งพิงศาสนา โดยเฉพาะจากศาสนาคริสต์ โดยความสุขจริงๆ ของมนุษย์ไม่ได้อยู่บนโลก ความสุขรอมนุษย์อยู่ใน ‘โลกหน้า’ คือบนสวรรค์ต่างหาก ถ้าต้องการมีความสุขที่แท้จริง จึงต้องทำตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ปลายทางของชีวิตจึงไม่ได้อยู่บนโลก หากอยู่บนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ที่มีความสุขรออยู่

ความสุขในยุคกลางจึงรันทดหดหู่ที่สุด เพราะต้องรอไปพบบนสวรรค์หลังจากตายไปแล้ว!

ความสุขยุครัฐชาติสมัยใหม่

มนุษย์เราลองผิดลองถูกมามาก กว่าจะมาถึงสังคมการเมืองแบบปัจจุบัน คือเป็นสังคมการเมืองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern State)

รัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในราวศตวรรษที่ 18 และเป็นที่มาของลัทธิทุนนิยม โดยมีแรงหนุนของระบบสื่อสารมวลชนที่มีหนังสือพิมพ์เป็นแกนกลาง หนังสือพิมพ์ทำให้คนที่อยู่ต่างที่ต่างถิ่นได้แลกเปลี่ยนกัน รู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง เป็นครอบครัวเดียวกัน ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ความรู้สึกเดียวกันนี้แหละได้ทำให้เกิดชาติขึ้นมา

พร้อมๆ กับที่เกิดรัฐชาติ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็พัฒนาด้วย จนในที่สุดก็จับมือแต่งงานกับรัฐชาติสมัยใหม่และประชาธิปไตยในที่สุด กลายเป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีสรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก

แล้ว ‘ความสุข’ ของคนในรัฐชาติสมัยใหม่เป็นอย่างไร?

ในสหรัฐอเมริกา ก่อนปี 1920 กรอบเรื่องความสุขยังไม่ได้พัฒนาไปเท่าไหร่นัก คือยังเห็นว่าความสุขขึ้นอยู่กับโชคชะตา เป็นความหมายของ ‘ความสุข’ ที่ได้รับการส่งทอดมาจากกรอบคิดของคนยุคก่อน แต่ทุนนิยมที่แพร่สะพัดมาล่วงหน้ากว่าร้อยปี จากยุโรปจนมาถึงสหรัฐอเมริกา ทำให้มนุษย์มี ‘ความหวัง’ ในความเป็นอยู่มากขึ้น ความมั่งคั่งหรือการมีเงินทองเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสุขมากขึ้น เงินทองเลยเริ่มกลายมาเป็นเครื่องชี้วัดของความสุขมากขึ้นไปด้วย

ในคำแถลงนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อรัฐสภา ตั้งแต่ช่วง 1800-1920 มักจะมีการพูดถึง ‘ความสุข’ อยู่บ่อยครั้ง ในทำนองที่ว่ารัฐจะต้องมีหน้าที่ในทำให้เกิดการบรรลุความสุขของประชาชนของชาติ ความสุขของชาติ คือ ความสุขของประชาชน ความมั่นคงและความมั่งคั่งคือสิ่งที่จำเป็น คนเราทำมาหากินก็เพื่อสร้างความสุขแก่ตนเอง รวมทั้งสร้างความมั่งคั่งและความสุขให้แก่ประเทศด้วย

ทุนนิยมนำไปสู่การบริโภคขนานใหญ่ โดยผ่านการโฆษณา ยิ่งเมื่อได้รับการหนุนเสริมจากนวัตกรรมที่เรียกว่าทีวี ความสามารถในการโฆษณาก็ยิ่งมีพลังมากขึ้น วิธีหนึ่งที่ใช้ในการโฆษณาสินค้า คือ การเชิญดาราหรือคนที่มีบุคลิกดีๆ ตามแบบอเมริกันนิยม เข้ามาเป็น presenter แนะนำสินค้า ด้วนการทดลองใช้สินค้านั้นๆ สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อใช้สินค้านั้นแล้ว presenter จะต้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อใช้สินค้านั้นแล้ว จะเกิดความพึงพอใจและมีความสุข โดยสัญญะอย่างหนึ่งที่ใช้ในการโฆษณาก็คือ ‘การยิ้ม’

การยิ้มกลายมาเป็นสัญญะของความสุข สินค้าชนิดไหนที่ใช้แล้วยิ้ม แปลว่าคนเหล่านั้นกำลังมีความสุข

ปรากฎการณ์นี้ได้ปรับปรุงความหมายหรือกรอบคิดของความสุขมากกว่าเดิม นั่นคือ ประชาชนทั่วไปสามารถหาความสุขได้เองง่ายๆ ด้วยการไปซื้อสินค้ามาบริโภค กรอบของ ‘ความสุข’ จึงเปลี่ยนไปอย่างมาก

ความสุขในยุคหลังปี 1920 จึงเป็นความสุขที่เน้นการตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ตัดขาดจากรัฐ ตรงกันข้าม กลับทำให้เชื่อมโยงกับความต้องการของรัฐได้แนบเนียนขึ้นด้วยซ้ำ เพราะถ้ารัฐจะเติบโตแข็งแกร่งได้ ก็ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา การบริโภคกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เงินหมุนเวียน ทำให้เกิด ‘ความสุข’ ทั้งในระดับปัจเจก และเกิดความสุขขึ้นในระดับรัฐ

 

จะเห็นได้ว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความสุขของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มัน ‘ถูกให้นิยาม’ จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง รัฐ หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง

ใครบอกคุณว่า ‘ความสุข’ ของคนนั้นเหมือนกัน เป็นสากล ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นปลายทางที่มนุษย์บรรลุถึงได้ด้วยวิธีการบางอย่าง ต้องชวนเขากลับมาดู ‘ประวัติศาสตร์ความสุข’ ของมนุษย์กันเสียหน่อย

เพราะความสุขไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เราไม่ได้เป็นคนกำหนด ‘ความสุข’ ให้ตัวเราเอง

และหากสังคมของเรายังไม่หยุดเปลี่ยนแปลง รูปแบบสังคมการเมืองยังเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ความสุขของพวกเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด บางทีจากรัฐชาติสมัยใหม่ เราอาจย้อนกลับไปสู่ยุคกลาง ยุคกรีก หรือกระทั่งยุคหินก็เป็นไปได้

 

แล้ว ‘ความสุข’ ของเราจะเป็นอย่างไรกันล่ะนี่!

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความชื่อ Process of evolution of the State from the primitive times to the modern Nation State จาก Preserve Articles 

-งานวิจัยชื่อ Concepts of Happiness Across Time and Cultures จาก Personality and Social Psychology Bulletin

-บทความชื่อ Were we happier in the stone age? ของ Yuval Noah Harari 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save