fbpx
หญิงบำเรอ : ประวัติศาสตร์ บาดแผล และการต่อรองบนเวทีระหว่างประเทศของเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น

หญิงบำเรอ : ประวัติศาสตร์ บาดแผล และการต่อรองบนเวทีระหว่างประเทศของเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น

สุชาดา เลี้ยงชูศักดิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

กรณีหญิงบำเรอ (comfort women) เป็นประเด็นบาดหมางทางประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมาช้านาน และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามยุติความขัดแย้งต่อประเด็นดังกล่าวผ่านการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยหญิงบำเรอ (Comfort Women Agreement) ระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2015 โดยทางญี่ปุ่นสัญญามอบเงิน 1,000 ล้านเยนเพื่อเยียวยาอดีตหญิงบำเรอที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งจะกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทางเกาหลีใต้ดำเนินการถอนรูปปั้นหญิงบำเรอที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2011 โดยภาคประชาสังคมเกาหลีใต้อย่าง ‘สมาคมชาวเกาหลีเพื่อผู้หญิงที่ถูกใช้บำเรอทหารญี่ปุ่น’ (The Korean Council for the Women Drafted for Military Sexual Slavery by Japan: the Korean Council) ออกจากหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงนามในข้อตกลงยุติความขัดแย้ง ประเด็นปัญหากลับไม่จบลงอย่างที่มุ่งหวัง เพราะนอกจากจะไม่มีการรื้อถอนรูปปั้นออกจากหน้าสถานทูตญี่ปุ่นแล้ว ทางภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ยังนำรูปปั้นหญิงบำเรออีกตัวไปตั้งหน้าสถานกงสุลญี่ปุ่นในเมืองปูซาน ด้วยมองว่าข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นโดยไม่ได้สอบถามความประสงค์ของอดีตหญิงบำเรอซึ่งเป็นผู้เคราะห์ร้าย และอดีตหญิงบำเรอรวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนก็ไม่อาจปลงใจเชื่อได้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้กล่าวขอโทษจากความรู้สึกสำนึกผิดจริงๆ

ครั้นเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีปาร์ค กึน-ฮเย หมดอำนาจลง ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่อย่างมุน แจ-อิน ก็ได้สนับสนุนการเรียกร้องประเด็นหญิงบำเรออย่างเต็มที่ ในปี 2017 เขาได้กำหนดให้วันที่ 14 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงหญิงบำเรอ (International Memorial Day for Comfort Women) และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2019 ทางภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ร่วมกับองค์กรชาวเกาหลีใต้ในซานฟรานซิสโก ได้จัดตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอขึ้นอีกแห่งหนึ่งบริเวณศาลเจ้าชินโต ที่นัมซัน (Namsan) ในกรุงโซลของเกาหลีใต้

คำถามที่น่าสนใจมีอยู่ว่า เหตุใดเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจึงไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ แม้จะมีการเจรจาหลายครั้ง มิหนำซ้ำ ความขัดแย้งยังมีแนวโน้มที่จะปะทุและลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น

 

หญิงบำเรอคือใคร

 

หญิงบำเรอ (comfort women) คือคำเรียกอย่างสุภาพที่ใช้เรียกผู้หญิงที่ถูกใช้บำเรอหรือปรนนิบัติทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงเหล่านี้มาจากดินแดนที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง นับตั้งแต่ช่วงเริ่มขยายจักรวรรดิจนถึงช่วงสงครามโลก (1905-1945) ด้วยวิธีการฉุดคร่า และอาศัยสภาวะข้าวยากหมากแพงอันเกิดจากสงครามหลอกลวงผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจนที่จำเป็นต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวว่าจะช่วยเหลือให้ได้ทำงานในโรงงาน โรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มทักษะในการหารายได้ที่มากขึ้น แต่สุดท้ายก็จะถูกส่งตัวเข้าไปใน ‘สถานีบำเรอ’ (comfort station) ที่ทางกองทัพญี่ปุ่นได้ตั้งขึ้นในประเทศอาณานิคม โดยเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นแหล่งให้ความสำราญแก่ทหารญี่ปุ่นในพื้นที่สงคราม

โดยเฉลี่ยจำนวนของผู้หญิงที่เข้ามาอยู่ในสถานีบำเรออยู่ที่ประมาณ 200,000 คน โดยมาจากเกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และพื้นที่อื่นๆ ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง ทว่าร้อยละ 80 ของผู้หญิงกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีซึ่งตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1910 จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นรับผิดชอบต่อประเด็นหญิงบำเรอทางเกาหลีใต้ จึงมีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ

 

กระแสหญิงบำเรอที่ (เคย) ถูกลืม

 

ในปี 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงพร้อมกับความปราชัยของญี่ปุ่น ดินแดนต่างๆ ที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นรวมทั้งเกาหลีต่างได้รับเอกราช ทว่ากระแสหญิงบำเรอกลับไม่ได้รับการพูดถึงและดูเหมือนจะเงียบหายไปตามกาลเวลา แม้จะมีความพยายาม ‘รื้อฟื้น’ ประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอยู่เป็นระยะ ทั้งจากฝั่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หากก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจะเป็น

อันที่จริงกระทั่งรัฐบาลเกาหลีใต้เอง ก็เลือกที่จะเพิกเฉยต่อการรื้อฟื้นประเด็นหญิงบำเรอ ด้วยภายหลังสงครามจบสิ้นรัฐบาลก็มุ่งมั่นต่อสู้คอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน อดีตหญิงบำเรอเองก็เลือกที่จะเก็บงำเรื่องราวนี้ไว้ ด้วยความอับอายและเกรงจะไม่เป็นที่ยอมรับของครอบครัวและสังคม อีกทั้งในปี 1965 รัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน มีการลงนามในสนธิสัญญาความสัมพันธ์พื้นฐาน (The Treaty on Basic Relations) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตกลงว่ารัฐบาลทั้งสองจะก่อตั้งกองทุนเพื่อเป็นการเยียวยาให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายชาวเกาหลีใต้ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ทำให้ทั้งสองรัฐบาลต่างเข้าใจกันว่าประเด็นหญิงบำเรอได้รับการแก้ไขจากสนธิสัญญา 1965 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหญิงบำเรอเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเมื่อเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย มีการเรียกร้องให้ทางญี่ปุ่นเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงบำเรอเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม รวมทั้งให้ขอโทษและชดใช้ให้แก่อดีตหญิงบำเรอที่ยังมีชีวิต และบรรจุเรื่องราวที่เกิดขึ้นลงในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น หากข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธ เมื่อทางญี่ปุ่นยืนยันว่าการจัดหาหญิงบำเรอมาสู่สถานีบำเรอนั้นดำเนินการโดยเอกชน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และทางรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

การปฏิเสธดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มนักเคลื่อนไหวกรณีหญิงบำเรอ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีนิยมที่ต่อมาได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นนี้โดยตรงอย่าง The Korean Council ขึ้นในปี 1990 และกระแสหญิงบำเรอก็เริ่มเป็นที่กล่าวขานมากขึ้นจากการปรากฏตัวของอดีตหญิงบำเรอ คิม ฮัก-ซุน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1991 โดยคิม ฮัก-ซุน ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ได้เผชิญเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในกองทัพญี่ปุ่น นับเป็นหญิงบำเรอคนแรกที่ประกาศตัวว่าเป็นหญิงบำเรอในกองทัพญี่ปุ่น พร้อมกับเรียกร้องให้ญี่ปุ่นรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำในอดีต

ในปี 1992 The Korean Council ได้จัดกิจกรรม ‘Wednesday Demonstrations’ ซึ่งเป็นการยืนชุมนุมกันที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล โดยจะจัดทุกๆ วันพุธในเวลาเที่ยงวัน กิจกรรมนี้ได้รับการบันทึกสถิติโลกว่าเป็นการชุมนุมที่ยาวนานที่สุดในเดือนมีนาคม 2002 และยังคงดำเนินเรื่อยมาจนปัจจุบัน

แม้ประเด็นหญิงบำเรอจะเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง จากการปรากฏตัวของคิม ฮัก-ซุน ในปี 1991 แต่ก็เป็นไปแบบ ‘เรื่อยๆ มาเรียงๆ’ จนกระทั่งในปี 2011 ประเด็นปัญหาดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อมีการตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็นผู้หญิงชาวเกาหลีที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล โดย The Korean Council กล่าวว่ารูปปั้นหญิงบำเรอตัวนี้ จัดตั้งขึ้นในวาระการชุมนุมครบ 1,000 ครั้งในกิจกรรม Wednesday Demonstrations และถือได้ว่ารูปปั้นตัวนี้กลายเป็นต้นแบบของรูปปั้นหญิงบำเรอที่กระจายตัวไปในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี และจีน เป็นต้น

กระแสหญิงบำเรอยิ่งปะทุหนักขึ้น เมื่อในเดือนธันวาคมปี 2015 ประธานาธิบดีปาร์ค กึน-ฮเย กับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงยุติความขัดแย้งกรณีหญิงบำเรอ ซึ่งการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเปรียบเสมือนเชื้อไฟชั้นดีที่ทำให้ประเด็นหญิงบำเรอลุกโชน มีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงดังกล่าวว่าไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของอดีตหญิงบำเรอ ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้จัดทำรูปปั้นหญิงบำเรอขึ้นมาอีกตัวหนึ่งและนำไปตั้งที่หน้าสถานกงสุลญี่ปุ่นในปูซาน ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอในอีกหลายประเทศ แม้กระทั่งพระสงฆ์นักบวชเกาหลีก็ยังออกมาประท้วงต่อการลงนามในครั้งนี้ด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง

การเรียกร้องกรณีหญิงบำเรอมีแนวโน้มว่าจะทวีความเข้มข้นเป็นเท่าตัว เมื่อนับวันหญิงบำเรอที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเริ่มมีอายุมากและค่อยๆ เสียชีวิตกันไปทีละคน จิน ซุน-มี รัฐมนตรีด้านความเสมอภาคทางเพศสถานะและครอบครัว ได้กล่าวในพิธีเปิดรูปปั้นหญิงบำเรอที่นัมซัน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2019 ว่า ในปี 2018 มีหญิงบำเรอเสียชีวิตไปถึง 8 คน เหลืออยู่เพียงแค่ 20 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ คำพูดดังกล่าวทำให้พอจะคาดคะเนได้ว่ายิ่งจำนวนหญิงบำเรอลดลงมากเท่าไร เกาหลีใต้ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ทางการญี่ปุ่นชดใช้สิ่งที่ได้กระทำกับผู้หญิงเกาหลีในช่วงสงคราม ก่อนที่หญิงบำเรอที่อีกแง่หนึ่งก็คือหลักฐานเชิงบุคคลที่ยืนยันการกระทำของญี่ปุ่นในอดีตจะเสียชีวิตจนหมดไป

รูปปั้นหญิงบำเรอ กับการเรียกร้องความรับผิดชอบจากญี่ปุ่น

 

การนำรูปปั้นหญิงบำเรอมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากญี่ปุ่น ถือว่าเป็นวิธีการที่เรียกความสนใจจากสาธารณชนและนานาประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะนับตั้งแต่รูปปั้นตัวแรกเกิดขึ้นในปี 2011 ที่เกาหลีใต้ รูปปั้นหญิงบำเรอเกาหลีใต้นี้ก็ได้กลายเป็นแม่แบบของรูปปั้นหญิงบำเรอในหลายประเทศ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเคลื่อนไหวในประเทศอื่นที่เคยอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น ในการตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนผู้หญิงชนชาติของตน เช่น รูปปั้นหญิงบำเรอในไต้หวันและรูปปั้นในฟิลิปปินส์

สิ่งที่น่าสนใจต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ สถานที่ในการจัดตั้งรูปปั้น ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ทั้งในและต่างประเทศมักจะเลือกสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ อาทิ การตั้งรูปปั้นในสวนสาธารณะเพื่อให้เป็นที่สะดุดตา และชวนให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ถึงที่มาที่ไปของรูปปั้นดังกล่าว อนึ่ง การตั้งรูปปั้นในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่แล้วประเทศที่มีการตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอมักเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่าง สหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นประเทศที่เคยมีประสบการณ์ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเหมือนกัน เช่นจีน ซึ่งมีการสร้างความร่วมมือเพื่อตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้และชาวจีนคู่กันที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2016

ในส่วนของการตั้งรูปปั้นที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ทั้งที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในปี 2011 หน้าสถานกงสุลญี่ปุ่นในปี 2015 และล่าสุด การตั้งรูปปั้นที่บริเวณศาลเจ้าชินโต ซึ่งญี่ปุ่นสร้างขึ้นในช่วงที่เกาหลีอยู่ใต้การปกครองที่นัมซันปี 2019 เมื่อพิจารณาสถานที่ตั้งทั้ง 3 แห่งนี้ จะพบว่าสถานที่ตั้งรูปปั้นดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น โดยทางภาคประชาสังคมได้ให้เหตุผลของการตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอขึ้นว่า เป็นไปเพื่อระลึกถึงอดีตหญิงบำเรอที่ถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนในช่วงสงคราม และต้องการให้รูปปั้นนี้เป็นสัญลักษณ์ของบทเรียนในประวัติศาสตร์ ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจมองได้ว่าการกระทำเช่นนี้ของภาคประชาสังคมไม่ต่างอะไรกับการสร้างความอับอายให้แก่ญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นรู้สึกกดดันและเร่งแสดงความรับผิดชอบต่ออดีตหญิงบำเรอ

 

ความจริงใจกับความเจ็บปวดที่ประเมินค่าไม่ได้

 

ถึงแม้ว่าในช่วงแรกที่กระแสการเรียกร้องบังเกิดขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกรณีหญิงบำเรอทหารในช่วงสงคราม จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งที่เกาหลีใต้มักใช้โจมตีญี่ปุ่นในระดับนานาชาติอยู่เสมอด้วยกรอบของสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี ซึ่งเป็นอุดมการณ์สากลที่นานาชาติยึดถือ ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็มิได้นิ่งดูดายต่อประเด็นปัญหาเสียทีเดียว มีความพยายามที่จะแสดงความรับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เช่นในปี 1993 ญี่ปุ่นได้มีประกาศที่รู้จักกันในชื่อ แถลงการณ์โคโน่ (Kono Statement) โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์นี้คือการตระหนักถึงความเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดหาหญิงบำเรอ และการก่อตั้งสถานีบำเรอของกองทัพทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งได้กล่าวขอโทษและสำนึกผิดจากใจจริงต่อสิ่งที่ได้กระทำให้หญิงบำเรอเกาหลีใต้ได้รับความทุกข์ทรมาน

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทางเกาหลีใต้ว่าไม่ครอบคลุมถึงการชดเชยให้แก่หญิงบำเรอ หรือแม้แต่ความคิดเห็นของสาธารณชนในญี่ปุ่นเอง ก็ยังมีบางกลุ่มที่มองว่าญี่ปุ่นควรจะแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ หากทางรัฐบาลก็ได้ออกมาชี้แจงว่าญี่ปุ่นได้ชดเชยให้แก่หญิงบำเรอไปแล้วตามสนธิสัญญาปี 1965 ซึ่งญี่ปุ่นได้มอบเงินชดเชยให้รัฐบาลเกาหลีใต้ไปกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ทางภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ก็มองว่า ปัญหาหญิงบำเรอยังไม่ได้รับการแก้ไขและไม่มีการพูดถึงในสนธิสัญญาข้างต้น

กระแสการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดใช้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 1995 มีการตั้งกองทุนเพื่อผู้หญิงแห่งเอเชีย (Asian Women’s Fund: AWF) แต่กองทุนนี้ ก็ได้รับการปฏิเสธจากหญิงบำเรอและ The Korean Council อีกเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่า AWF ไม่ได้เป็นองค์กรของภาครัฐ และเงินที่มีอยู่ในกองทุนเพื่อชดใช้ให้แก่หญิงบำเรอนี้ก็เป็นเงินที่มาจากการบริจาคของประชาชนในญี่ปุ่น ไม่ได้มาจากรัฐบาลโดยตรง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของ AWF ก็เป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งนี้ในเวลาต่อมา AWF ได้ยุติบทบาทลงในปี 2007

ภายหลัง AWF ปิดตัวลง ญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีมาตรการที่จะแก้ไขปัญหานี้อีก จนกระทั่งในปี 2015 ที่ทางรัฐบาลเกาหลีใต้และญี่ปุ่นยอมเจรจาลงนามในข้อตกลงยุติความขัดแย้งกรณีหญิงบำเรอ นักวิชาการต่างมองว่าการเจรจาที่เกิดขึ้นนี้เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหา เพื่อรักษาพันธมิตรสามฝ่ายเอาไว้รับมือกับเกาหลีเหนือที่ยังคงทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาแสนยานุภาพทางกองทัพของจีนในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ข้อตกลงยุติความขัดแย้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นสัญญาจะมอบเงินชดเชยให้แก่เกาหลีใต้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อหญิงบำเรอเป็นเงิน 1,000 ล้านเยน และทางญี่ปุ่นจะขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากใจจริง แต่สุดท้าย ดูเหมือนว่าการชดใช้ดังกล่าวจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคประชาสังคมและหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้

อัน จอม-ซุน อดีตหญิงบำเรอวัย 89 ปี กล่าวว่า เธอไม่ได้ต้องการเงินของญี่ปุ่น เพียงแต่ต้องการให้ทางญี่ปุ่นกล่าวคำขอโทษจากความสำนึกผิดจริงๆ ซึ่งจากคำกล่าวนี้ เห็นได้ชัดว่าหญิงบำเรอไม่เชื่อว่าคำขอโทษจากญี่ปุ่นจะกลั่นออกมาจากใจจริง อีกทั้งเมื่อมุน แจ-อิน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เขาได้เรียกร้องให้ทางญี่ปุ่นนำข้อตกลงดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และยังให้คำจำกัดความกรณีหญิงบำเรอว่าเป็น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’

กระแสการต่อต้านการลงนามดังกล่าวเพิ่มระดับความร้อนแรงขึ้น มีการตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอหลายแห่งทั้งในเกาหลีใต้และในต่างประเทศเพื่อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดใช้ โดยยึดความต้องการของหญิงบำเรอเป็นศูนย์กลาง แม้ว่าทางญี่ปุ่นจะยืนยันว่าปัญหาความขัดแย้งในประเด็นนี้สิ้นสุดลงจากข้อตกลงปี 2015 แล้ว ในการตั้งรูปปั้นหญิงบำเรอที่เนปาล-ฮิมาลายา พาวิเลียนปาร์ค ประเทศเยอรมนี ในปี 2017 ซึ่งถือเป็นรูปปั้นหญิงบำเรอตัวแรกที่ตั้งขึ้นในยุโรป โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของสถานกงสุลญี่ปุ่นในมิวนิก พยายามจะให้รื้อรูปปั้นดังกล่าวออก ด้วยเหตุผลว่าปัญหาหญิงบำเรอได้แก้ไขตามข้อตกลงปี 2015 แล้ว ทว่า เฮรีเบิร์ท เวิร์ธ ผู้สนับสนุนการตั้งรูปปั้น ได้ยืนยันว่าตราบใดที่ญี่ปุ่นยังไม่ยอมขอโทษและชดใช้ให้แก่เกาหลีใต้อย่างเพียงพอ รูปปั้นนี้ก็จะยังคงตั้งอยู่ต่อไป

จากคำกล่าวของเฮรีเบิร์ท เวิร์ธ คำที่น่าสนใจคือ ‘เพียงพอ’ เราจะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์วัดว่า ความจริงใจในการขอโทษและการชดใช้ของญี่ปุ่นที่มอบให้แก่เกาหลีใต้แค่ไหน จึงถือว่าเพียงพอต่อความเจ็บปวดที่หญิงบำเรอเคยถูกกระทำ เมื่อความเจ็บปวดเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และไม่อาจประเมินค่าได้ เฉกเช่นเดียวกับความจริงใจในการขอโทษของญี่ปุ่นที่ไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้เช่นกัน

ดังนั้นแล้ว การชดใช้ที่เพียงพอจึงอาจต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกของทางฝั่งเกาหลีใต้ ซึ่งหากทางภาคประชาสังคม อดีตหญิงบำเรอ และปัจเจกชนที่สนับสนุนการเรียกร้องนี้ยังรู้สึกว่า ญี่ปุ่นยังชดใช้ไม่เพียงพอและไม่จริงใจ ประเด็นหญิงบำเรอก็จะยังคงเป็นความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น การเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นหญิงบำเรอก็จะยังคงดำเนินต่อไป และการชดใช้ก็จะไม่มีที่สิ้นสุด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save