fbpx

[ความน่าจะอ่าน] เกร็ดทางประวัติศาสตร์ในนวนิยาย ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

 

จากนวนิยาย ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนนามอุโฆษชาวโคลอมเบีย มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่สองเหตุการณ์ คือ ‘สงครามพันวัน’ (Thousand Days’ War) และ ‘การสังหารหมู่คนงานของบริษัทสหรัฐผลไม้’ (Banana Massacre) ดังนั้น เพื่อให้การอ่านนวนิยายเล่มนี้มีอรรถรสและเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของโคลอมเบียในช่วงเวลาดังกล่าวดียิ่งขึ้น ผมจะขอเล่าถึงสองเหตุการณ์นี้ผ่านมุมมองของนักสังคมศาสตร์ โดยมีรายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

 

‘สงครามพันวัน’ (Thousand DaysWar)

 

สงครามพันวันเป็นฉากหนึ่งในนวนิยาย ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ เมื่อตัวละครสำคัญอย่าง เอาเรเลียโน บวนเดีย ได้จากบ้านเกิดของเขาเพื่อเข้าร่วมรบเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายเสรีนิยม ต่อต้านรัฐบาลอนุรักษนิยมที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 1867 โดยในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โคลอมเบียต้องเผชิญกับปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงของพรรคเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ซึ่งนับตั้งแต่พรรคอนุรักษนิยมได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจ พวกเขาก็ได้ดำเนินการกำจัดฝ่ายเสรีนิยมออกไปทั้งหมด ไม่ว่าที่อยู่ในรัฐบาลหรือกองทัพ โดยอ้างว่าฝ่ายเสรีนิยมมีแผนจะโค่นล้มรัฐบาลมาโดยตลอด ส่วนฝ่ายเสรีนิยมก็กล่าวหาว่า รัฐบาลอนุรักษนิยมใช้อำนาจเผด็จการ การออกกฎหมายใดๆ ภายใต้รัฐบาลอนุรักษนิยมจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดี ซึ่งประกอบด้วยผู้ชายและเป็นคนของฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายการเลือกตั้งในปี 1886 ที่กีดกันไม่ให้ฝ่ายเสรีนิยมกลับเข้ามามีอำนาจได้เลย จากสภาพการณ์เช่นนี้เป็นที่รับรู้กันในสังคมโคลอมเบียว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าจะต้องนำมาซึ่งจุดแตกหักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ในสังคมประชาชนก็มีความคิดเห็นทางการเมืองแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างการสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม พวกที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมต้องการเห็นการกระจายอำนาจอธิปไตยสู่ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน และสนับสนุนพวกชาวนาให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าของที่ดิน ขณะที่กลุ่มอนุรักษนิยมมักเป็นกลุ่มนายทุนหรือชนชั้นสูงที่ต้องการรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ความแตกต่างทางการเมืองที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนแนวความคิดทั้งสอง นำไปสู่การแบ่งแยกชนชั้นและฝังแน่นอยู่ในประวัติศาสตร์ของโคลอมเบียมาโดยตลอด ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างที่ปะทุขึ้นในสังคมโคลอมเบียปัจจุบัน

การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอนุรักษนิยมเริ่มต้นขึ้นในปี 1895 ในดินแดนทางตอนในของประเทศ แต่ไม่ได้ขยายตัวไปถึงดินแดนชายขอบอย่างเช่นปานามา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของโคลอมเบีย การจลาจลครั้งนั้นกินเวลากว่า 90 วัน ก็ถูกรัฐบาลปราบปรามลงราบคาบ ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 1898 ฝ่ายเสรีนิยมได้ลุกฮือขึ้นอีกครั้งเพื่อพยายามช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาล แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ล้มเหลวเหมือนกับความพยายามก่อนหน้า รัฐบาลอนุรักษนิยมสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ในปีต่อมา มีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างสองขั้วทางการเมืองอีกครั้ง คราวนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ปานามา

ในวันที่ 17 ตุลาคม 1899 สงครามกลางเมืองระหว่างสองพรรคการเมืองเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ โดยรัฐบาลอนุรักษนิยมในขณะนั้นมีกำลังทหารมากกว่าพวกเสรีนิยม 2 เท่า คือมีอยู่ 75,000 คน ขณะที่กองทัพฝ่ายเสรีนิยมมีอยู่ราว ๆ 35,000 คน และยังได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของไร่กาแฟและคนงาน ซึ่งกาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลของโคลอมเบียมากกว่าร้อยละ 70 มีการรายงานการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายมากกว่า 400 ครั้ง

ในปี 1900 สงครามยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างฝ่ายต่างได้เปรียบในแต่ละช่วงเวลา แต่โดยส่วนมาก ชัยชนะมักตกอยู่ในมือของกองทัพรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยม นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นยังมีเหตุการณ์สำคัญคือ เดือนมกราคม ปี 1900 รองประธานาธิบดี José Marroquín ได้ยึดอำนาจจากประธานาธิบดี San Clemente แล้วจองจำเขาไว้จนถึงแก่อสัญกรรมในที่คุมขังในปี 1902 ส่วนกองทัพฝ่ายเสรีนิยมถูกตีพ่ายในเดือนพฤษภาคม 1900 ในการสู้รบที่เมืองท่าคาตาเฆนา ติดชายฝั่งทะเลแคริบเบียน

ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ปี 1900 รองประธานาธิบดี Jose Marroquín สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี และดำเนินการปราบปรามฝ่ายเสรีนิยมอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลของเขาประสบปัญหาอย่างหนักหน่วงในการบริหารประเทศ เนื่องจากการขาดความปรองดองกันเองในหมู่ผู้นำอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตาม กองทัพภายใต้การนำของ Jose Marroquín สามารถเอาชนะกองกำลังหลักของฝ่ายเสรีนิยมภายในเวลา 7 เดือน แต่การรบแบบกองโจรของฝ่ายเสรีนิยมก็ยังดำเนินอยู่เป็นเวลาอีกกว่าสองปีครึ่งในเขตชนบท ส่งผลต่อการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อย รัฐบาลอนุรักษนิยมก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในชนบทให้สงบลงได้ แม้จะใช้กองทัพเข้าไปปราบปรามอย่างหนักหน่วง ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างสันติสุขให้กลับคืนมาแก่ประเทศ รัฐบาลอนุรักษนิยมได้ตัดสินใจเปิดการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายเสรีนิยม โดยสัญญาว่าจะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายเสรีนิยม เปิดทางให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเสรี และปฏิรูประบบการเมืองให้เหมาะสมกับทุกภาคส่วน

ในปี 1901 การสู้รบยังคงเกิดขึ้น มีการปะทะกันครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่เมืองโคลอน การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือดต่อเนื่อง โดยส่วนมากชัยชนะตกเป็นของฝ่ายรัฐบาล ทำให้กองกำลังต่างชาติต้องเข้ามาพิทักษ์คนในคุ้มครองของตัวเองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองโคลอนหรือในปานามา เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อการดำเนินการของทางรถไฟสายปานามา และในระหว่างปี 1901 นี้เอง เป็นที่เชื่อกันว่าฝ่ายเสรีนิยมในโคลอมเบียได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลเวเนซุเอลาและรัฐบาลเอกวาดอร์ ซึ่งต่างก็มีรัฐบาลเป็นฝ่ายเสรีนิยมทั้งคู่ โดยที่ทั้งสองประเทศมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมของโคลอมเบีย และรวมตัวกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลเสรีนิยมร่วมกันของทั้งสามประเทศ เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตตอนที่โคลอมเบียได้รับเอกราชจากสเปนมาใหม่ๆ โดยทั้งเอกวาดอร์และเวเนซุเอลาต่างก็รวมกับโคลอมเบียจัดตั้งเป็นประเทศภายใต้ชื่อ Gran Colombia ขณะที่การต่อสู้ที่รุนแรงในช่วงระหว่างปี 1901-1902 เกิดขึ้นในปานามา

เมื่อถึงช่วงท้ายของสงคราม ประเทศโคลอมเบียได้รับความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง มีคนเสียชีวิตนับแสนคน เช่นเดียวกับทรัพย์สินและระบบการค้าที่ต้องพังพินาศไปพร้อมๆ กับสงคราม มีหลายหมู่บ้านหรือหลายเมืองที่ผู้ชายต้องเสียชีวิตไปในสงครามครั้งนี้เกือบทั้งหมด และสงครามครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในขณะนั้น รัฐบาลของสหรัฐอเมริกากำลังเจรจากับโคลอมเบียเพื่อจะขอสัมปทานการขุดคลองปานามา

ผลกระทบของสงครามที่ร้ายแรงยังเกิดขึ้นกับชนชั้นล่างที่ยากจน รัฐบาลอนุรักษนิยมไม่สามารถจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเหล่านี้ได้ เนื่องจากรัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดหาอาวุธเพื่อใช้ในการทำสงคราม ขณะเดียวกัน ค่าเงินเปโซของโคลอมเบียก็อ่อนค่าลงมาก รัฐบาลริบทรัพย์สินของพวกตรงข้าม ทั้งยังบังคับกู้ยืมกับประชาชน รวมถึงบังคับให้ประชาชนต้องเสียภาษีสงครามซึ่งส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรมล่มสลาย ภาคการเกษตรถูกทำลาย โรงนาถูกเผา ประชาชนต้องอพยพหนีภัยสงครามออกจากหมู่บ้านของตนเอง และผลจากการบังคับกู้ยืมกับภาษีสงครามยังได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบการเงินการธนาคาร จะเห็นได้ว่า ผลของสงครามได้ทำลายระบบเศรษฐกิจของโคลอมเบียขณะนั้นให้ย่อยยับลงเป็นอย่างมาก

ในทางการเมือง รัฐบาลอนุรักษนิยมได้พยายามรวบอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติ เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดีให้เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ ประธานาธิบดีไม่ต้องถูกถอดถอนโดยรัฐสภา และมีอำนาจพิเศษในการสั่งการหรือออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยไม่ผ่านรัฐสภา อีกทั้งประธานาธิบดียังมีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าการรัฐต่างๆ และเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายบริหารทั้งหมด และยังคงอำนาจเบ็ดเสร็จในการถอดถอนบุคคลเหล่านั้นด้วย ส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดี นี่ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสงคราม เนื่องจากฝ่ายเสรีนิยมคัดค้านการรวมศูนย์กลางอำนาจหรือเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลกลาง และฝ่ายเสรีนิยมเห็นว่า หนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวได้คือการลุกขึ้นสู้เพื่อปลดแอกจากรัฐบาลอำนาจนิยมนี้

บทบาทของคริสต์ศาสนจักรโรมันคาทอลิกก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอของความขัดแย้ง เพราะศาสนจักรเป็นพวกอนุรักษนิยม ฝ่ายเสรีนิยมเห็นว่า สิทธิพิเศษต่างๆ ที่ศาสนจักรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี การมีศาลพิเศษแยกออกไปจากศาลปกติเพื่อพิจารณาคดีความต่างหาก ถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปฏิรูป เพราะสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนโดยทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายเสรีนิยมได้ต่อต้านอย่างรุนแรงในการที่จะให้ศาสนจักรเข้ามามีอำนาจในการควบคุมระบบการศึกษาทั้งหมดของรัฐ การที่รัฐบาลยังต้องจ่ายเงินรายปีให้กับศาสนจักร รวมทั้งการที่ศาสนจักรจะเข้ามาวุ่นวายในกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวและการสมรส ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมตอบโต้ฝ่ายเสรีนิยมว่า เป็นพวกหัวรุนแรง ไม่มีศีลธรรม และจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อคุณธรรมและค่านิยมอันดีในทางคริสต์ศาสนาต่อสังคมโคลอมเบีย

กล่าวโดยสรุปคือ สงครามที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 17 ตุลาคม 1899 ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1902 เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเสรีนิยมยอมวางอาวุธทั้งหมด โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นสักขีพยาน มีการลงนามกันบนเรือรบวิสคอนซินของสหรัฐอเมริกา ถือเป็น ‘หนึ่งพันวัน’ ของสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในโคลอมเบียและคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 130,000 คน ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะล่มสลายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และทำให้โคลอมเบียไม่สามารถต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในกรณีของปานามา ปี 1903 ได้ จนสุดท้าย โคลอมเบียต้องยอมให้ปานามาประกาศอิสรภาพโดยมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง

 

‘การสังหารหมู่คนงานของบริษัทสหรัฐผลไม้’ (Banana Massacre)

 

บริษัทสหรัฐผลไม้ (The United Fruit Company) เป็นบริษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบอสตัน ก่อตั้งขี้นในปี 1870 โดย Lorenzo Dow Baker ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจโดยการนำกล้วยหอมจากจาไมก้าไปขายในสหรัฐอเมริกา ต่อมา เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น บริษัทก็ได้เข้าไปลงทุนปลูกกล้วยหอมในหลายประเทศแถบลาตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน เพื่อส่งกลับไปขายในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นจาไมก้า ฮอนดูรัส คอสตาริกา ปานามา กัวเตมาลา รวมถึงโคลอมเบีย

การสังหารหมู่คนงานของบริษัทสหรัฐผลไม้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ธันวาคม 1928 ในเมืองเซียนากา ใกล้กับเมืองซานตามาร์ตาของโคลอมเบีย การประท้วงของคนงานเพาะปลูกกล้วยหอมซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกหลักเริ่มขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1928 เมื่อคนงานได้ผละงาน เรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้น โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดประกอบด้วย

  1. ขอให้มีการทำสัญญาการจ้างงานระยะยาว
  2. ขอให้มีระบบประกันการจ้างงาน
  3. ขอให้มีการจ่ายค่าชดเชย เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน
  4. ขอให้จัดที่พักที่ถูกสุขอนามัย และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์
  5. ขอให้เพิ่มค้าจ้างรายวันสำหรับคนงานที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 100 เปโซต่อเดือน
  6. ขอให้จ่ายค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์
  7. ขอให้ยกเลิกการบังคับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านร้านค้าของบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว
  8. ขอให้ยกเลิกการจ่ายค่าจ้างเป็นคูปองแลกสินค้า และให้จ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดแทน
  9. ขอให้ปรับปรุงสถานบริการพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน
  10. ขอให้เปลี่ยนสถานภาพจากคนงานเป็นลูกจ้าง เพื่อมีสิทธิ์มีเสียงในการต่อรองกับบริษัทมากขึ้น และมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานรองรับ

แต่ทางบริษัทกลับนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้คนงานกว่า 25,000 คนไม่ยอมกลับเข้าไปทำงาน สร้างความเสียหายให้กับบริษัทเป็นอันมาก เพราะไม่มีกล้วยหอมจะส่งออก รัฐบาลของพรรคอนุรักษนิยมในขณะนั้น ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Miguel Abadía Méndez ได้ส่งกองทัพจากเมืองหลวงและจากรัฐอันติโอเกียเข้าไป สาเหตุที่ทางรัฐบาลต้องส่งกองทัพเข้าไป เนื่องสถานทูตสหรัฐอเมริกาในโคลอมเบียและตัวแทนของบริษัทสหรัฐผลไม้ได้กล่าวหาว่า คนงานเหล่านั้นมีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอเมริกันก็ขู่จะส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าบุกยึดโคลอมเบีย ถ้าโคลอมเบียไม่สามารถจัดการคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ รวมทั้งประกาศที่จะตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับโคลอมเบียด้วย ส่วนฝั่งทหารในรัฐแมกดาลีนา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเซียนากา ปฏิเสธที่จะส่งกองกำลังทหารเข้าไป เนื่องจากผู้นำกองทัพในเขตดังกล่าวมองว่า การส่งกองทัพเข้าไปจะเป็นการสร้างความรุนแรงมากกว่าการคลี่คลายปัญหา

ในตอนนั้น กองทัพได้เล็งปืนเข้าหาคนงานที่ประท้วง ก่อนจะประกาศให้เวลา 5 นาทีแก่คนงานในการสลายการชุมนุม หลังจากนั้น กองทัพก็ได้เริ่มกราดยิงเข้าใส่ประชาชน ส่งผลให้มีการล้มตายเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า มีผู้เสียชีวิตเพียง 47 คน แต่การศึกษาในเวลาต่อมาค้นพบว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 2,000 คนก็เป็นได้ ส่วนผู้เสียชีวิตก็มีการรายงานข่าวที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าถูกนำไปโยนทิ้งกลางทะเล ขณะที่บางสื่อให้ข้อมูลว่าถูกนำไปฝังในหลุมศพขนาดใหญ่

สำหรับกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งเกิดในปีเดียวกับการสังหารหมู่ครั้งนี้ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้ยินเรื่องราวดังกล่าวผ่านคุณย่าของเขา และเขาได้เขียนในนวนิยาย ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ว่ามีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ถึง 3,000 คน และศพถูกนำขึ้นรถไฟไปโยนทิ้ง ซึ่งมาร์เกซได้ให้เหตุผลว่าที่เขาใส่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนดังกล่าว เพื่อให้ดูสมน้ำสมเนื้อกับเนื้อหาในนวนิยายที่มีขนาดยาวนั่นเอง

 

 

อ่านรีวิวความน่าจะอ่าน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ โดย ‘นรา’ ได้ที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save