fbpx

ฮินดูทวากับกระแสชาตินิยมฮินดูของอินเดีย ในวันที่ความหลากหลายถูกท้าทาย

“พวกเขาบอกเราว่าเราไม่สามารถเขียนข้อสอบได้ถ้าเราไม่ถอดฮิญาบออก”

Aliya Meher, นักเรียนคนหนึ่งที่ศึกษาในโรงเรียนประจำรัฐกรณาฏกะของอินเดีย

อินเดียได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่สามารถหลอมหลวมความแตกต่างหลากหลายของผู้คนต่างชาติพันธ์ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และภาษาเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน และประชาชนอินเดียผู้มีความหลากหลายเหล่านี้ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 สิ่งเหล่านี้ยังได้รับการยืนยันภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใช้มานับตั้งแต่ปี 1950 อีกด้วย นั่นส่งผลให้หลายสิบปีที่ผ่านมา อินเดียพยายามอธิบายว่า ความหลากหลายภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวถือเป็นลักษณะพิเศษของความเป็นชาตินิยมอินเดีย และก็เป็นสิ่งที่คนนอกอย่างเรารับรู้และยกย่องอินเดียเสมอมาในฐานะต้นแบบสำคัญในการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมภายใต้ระบอบรัฐ-ชาติสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในทุกวันนี้ คุณค่าและปทัสถานว่าด้วยสังคมพหุวัฒนธรรมของอินเดียกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากกลุ่มพลังทางการเมืองแบบฮินดูนิยม ที่พยายามเชิดชูคุณค่าบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะภายใต้กรอบทางศาสนาฮินดู หรือ ฮินดูทวา (Hindutva) ปรากฏการณ์นี้กำลังสั่นคลอนค่านิยมหลักของอินเดีย และนับวันมันก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น จนชนกลุ่มน้อยรับรู้ถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากลัทธินี้

สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ มันไม่ได้เป็นเพียงกระแสทางสังคมที่เกิดขึ้นลอยๆ แต่ยังได้รับแรงหนุนทางการเมือง ซึ่งทำให้กระแสขวาจัดแบบฮินดูนิยมโหมกระหน่ำรุนแรงมากยิ่งขึ้น ครั้งนี้จึงอยากถกเถียงเกี่ยวกับทางแพร่งของอินเดียในวันที่ความหลากหลายถูกท้าทายจากกระแสฮินดูนิยม

ที่มาที่ไปของลัทธิฮินดูทวา

ลัทธิฮินดูทวา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของกระแสชาตินิยมฮินดูในอินเดียปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นภายหลังชัยชนะของพรรคภารตียชนตา หรือ บีเจพี แต่ในความเป็นจริง กระแสคิดและความเชื่อลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ก่อนอินเดียได้รับเอกราชด้วยซ้ำ นักคิดคนสำคัญของลัทธิดังกล่าวคือ Vinayak Damodar Savarkar งานเขียนชิ้นสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการเคลื่อนไหวฮินดูทวาในอินเดียคืองานที่ชื่อว่า “The Essentials of Hindutva หรือ Hindutva: Who is a Hindu?” ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1923 โดยหนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายให้เห็นถึงความหมายที่สำคัญของความเป็นฮินดู ที่ไกลเกินกว่าความเชื่อและศาสนา แต่ยังเกี่ยวโยงกับการสร้างชาติและรัฐภายใต้ชาติพันธุ์หนึ่งเดียวเหนือดินแดนอินเดีย โดยมีแกนหลักสำคัญอยู่ที่ความเป็นฮินดู ซึ่งปัญหาสำคัญของแนวคิดนี้คือการแบ่งแยกกลุ่มทางศาสนาอย่างอิสลาม และคริสต์ออกจากลัทธิฮินดูทวา

แนวคิดและงานเขียนว่าด้วยฮินดูทวาของ Savarkar กลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมในอินเดีย หนึ่งในนั้นคือการถือกำเนิดของกลุ่มชาตินิยมฮินดู ‘ราษฏรียะ สวยัมเสวก สังฆ์’ (Rashtriya Swayamsevak Sangh) หรือ RSS ซึ่งเป็นองค์การภาคประชาชนที่ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 6 ล้านคน RSS มีการจัดอบรม มีการฝึกการป้องกันตัว รวมถึงการเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมฮินดู ซึ่งสมาชิกของกลุ่มมีหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ ชาวนา กรรมกร นักวิชาการ นักการเมือง ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ก็เป็นสมาชิกของ RSS เช่นเดียวกัน)

ในทางการเมือง แนวคิดฮินดูทวาได้กลายเป็นอุดมการณ์ของพรรคการเมืองอินเดีย อย่างพรรคภารตียชนสังฆ์ (Bharatiya Jana Sangh) พรรคชนตา (Janata Party) รวมถึงพรรคบีเจพีด้วย ทั้งนี้ต้องบอกว่าพรรคเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในทางการเมืองเท่าไหร่นักในช่วงแรกหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ เพราะแนวทางแบบรัฐฆราวาสนิยมของพรรคคองเกรสได้รับความนิยมมากกว่า ทำให้พรรคคองเกรสได้รับเลือกตั้งอย่างเสมอมา มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่พรรคฮินดูชาตินิยมผลัดเปลี่ยนขึ้นมามีอำนาจเช่น ในช่วงปี 1977-1980 ที่พรรคชนตาสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ อันเป็นผลมาจากความไม่พอใจของคนอินเดียที่มีต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีในช่วงที่ประกาศสภาวะฉุกเฉิน

กระทั่งช่วงปี 1998-2004 พรรคชาตินิยมฮินดูอย่างพรรคบีเจพี สามารถกลับมามีอำนาจได้ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอฏัล พิหารี วาชเปยี (Atal Bihari Vajpayee) แต่การขยายตัวของอุดมการณ์ลัทธิฮินดูทวาไม่ได้มากมายนัก เนื่องจากนโยบายของบีเจพีในช่วงนั้นมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นจุดเปลี่ยนจริงๆ ของการผงาดขึ้นของลัทธิฮินดูทวาจึงเกิดขึ้นในสมัยที่พรรคบีเจพีชนะเลือกตั้งในปี 2014 จนถึงปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี
นเรนทรา โมดี (Narendra Modi)

ในยุคนี้ อินเดียมีนโยบายทางสังคมและการเมืองมากมายภายใต้การนำของบีเจพีที่บั่นคลอนสถานะความเป็นรัฐฆราวาสนิยมที่ส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมและศาสนาของอินเดียอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการห้ามทานเนื้อวัวในรัฐที่พรรคบีเจพีเป็นรัฐบาล การปฏิรูประบบสัญชาติ การอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างวัดพระรามเหนือพื้นที่เดิมของมัสยิด การยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ และล่าสุดคือการบังคับใช้นโยบายชุดนักเรียนที่เป็นสากล โดยห้ามนักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบเข้าเรียนในรัฐกรณาฏกะ นโยบายเหล่านี้ท้าทายและคุกคามการดำรงอยู่ของชนกลุ่มน้อยในอินเดียอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มชนมุสลิม

ความขัดแย้งฮินดู-มุสลิมก่อนการมาของนเรนทรา โมดี

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่ได้หมายความว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาในอินเดียเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลพรรคบีเจพีพยายามเผยแพร่ลัทธิฮินดูทวา เพราะในความเป็นจริงแล้ว รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา โดยเฉพาะระหว่างฮินดูและมุสลิมในประเทศอินเดียปัจจุบันนี้ มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอาณานิคม ด้วยความพยายามที่จะลดทอนความเป็นปึกแผ่นของคนอินเดียในการต่อต้านการปกครองของอังกฤษ รัฐบาลบริติชราชในเวลานั้นได้ใช้นโยบายแบ่งแยกเพื่อปกครอง มุ่งเน้นแบ่งแยกชาวฮินดูและมุสลิมออกจากกันโดยให้สิทธิพิเศษบางประการต่อคนบางกลุ่ม

นโยบายเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันและสร้างความไม่พอใจระหว่างคนมุสลิมและฮินดู เริ่มจากการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นจนเกิดการแยกตัวของกลุ่มชาวมุสลิมในนาม ‘สันนิบาตรมุสลิมแห่งอินเดีย’ (All-India Muslim League) ออกจากขบวนการเคลื่อนไหวคองเกรสแห่งชาติอินเดีย และความขัดแย้งทวีขึ้นถึงขีดสุดจนเป็นที่มาของการแบ่งแยกรัฐเอกราชเป็นการเฉพาะของชาวมุสลิม นี่คือที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของประเทศอินเดียและปากีสถานในที่สุด แต่นั่นไม่ใช่จุดจบของปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม เพราะท้ายที่สุดแล้ว หลังทั้ง 2 ประเทศได้รับเอกราช ชาวฮินดูและมุสลิมจำนวนมากก็อพยพไปมาระหว่าง 2 ประเทศจำนวนมาก

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การแยกประเทศส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรม เมื่อมีการใช้ความรุนแรงระหว่างกันของคนที่นับถือศาสนาต่างกัน คนฮินดูและมุสลิมเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทั้งในอินเดียและปากีสถาน เหตุการณ์นี้กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศ และแผลนี้ก็ถูกตอกย้ำอีกครั้งภายใต้สงครามแคชเมียร์ อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าทั้งอินเดียและปากีสถานที่แบ่งแยกประเทศบนเหตุผลทางศาสนายังยืนกรานบนหลักการสำคัญในการส่งเสริมทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอินเดียที่ถือแนวทางรัฐฆราวาสนิยมอย่างมั่นคง จนถึงขั้นระบุในรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ มีชาวมุสลิมหลายคนที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศอย่างตำแหน่งประธานาธิบดี

ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งชาวฮินดูและมุสลิมต่างอยู่กันอย่างสันติ ต่างเคารพในความเชื่อของกันและกัน จนเกิดเป็นความสวยงามและจุดแข็งสำคัญของอินเดียที่คนทั่วโลกรับรู้มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เมื่อขบวนการชาตินิยมฮินดูเคลื่อนไหวให้มีการสร้างวัดพระรามในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ที่ตั้งของมัสยิด Babri คือสถานที่เกิดของพระราม กระแสฮินดูนิยมที่โหมกระหน่ำอย่างหนักในเวลานั้นนำมาซึ่งการทำลายมัสยิด Babri ในปี 1992 และเหตุการณ์นี้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมจนมีการใช้ความรุนแรงกันทั่วทั้งอินเดีย แม้เหตุการณ์จะจบลงด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับแกนนำชาวฮินดู แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลสำคัญ และถูกเปิดออกอีกครั้งในสมัยปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลรัฐอุตตรประเทศภายใต้การนำของพรรคบีเจพี อนุมัติสร้างวัดพระรามเหนือซากมัสยิดดังกล่าว

ฮินดูทวาและชาตินิยมฮินดูภายใต้การนำของโมดี: ความเสี่ยงและความท้าทาย

นับตั้งแต่พรรคบีเจพีขึ้นมาเป็นรัฐบาลสหภาพของอินเดียและรัฐต่างๆ ในปี 2014 เป็นต้นมา สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดการทำร้ายร่างกายและพรากชีวิตคนมากมายจากปัญหาเรื่องการรับประทานเนื้อวัว หรือฆ่าวัวของชาวมุสลิม การแบนเนื้อวัวกลายเป็นนโยบายที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในรัฐที่มีพรรคบีเจพีเป็นแกนนำหลัก เมื่อผนวกรวมกับกระแสความหวาดกลัวอิสลามที่กระจายตัวทั่วทั้งโลกภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ส่งผลให้การใช้ชีวิตของชาวมุสลิมในอินเดียเริ่มเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้น ในขณะที่พรรคบีเจพีไม่มีทีท่าว่าจะลดละนโยบายชาตินิยมฮินดูของตัวเองแม้แต่น้อย

ชัยชนะหลังการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2019 ผลักดันในพรรคบีเจพีทำความฝันสูงสุดของตนเองให้เป็นจริง นั่นคือการผนวกรวมรัฐจัมมูและแคชเมียร์เข้ามาสู่อ้อมอกของอินเดียอย่างสมบูรณ์ โดยยกเลิกสถานะพิเศษที่รัฐธรรมนูญเคยให้ไว้อย่างสิ้นเชิงในช่วงกลางปี กลายเป็นเป็นชนวนที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมที่อยู่ในแคชเมียร์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่อย่างมาก ตบท้ายช่วงปลายปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้แก้ไขกฎหมายสัญชาติและพัฒนาระบบลงทะเบียนประชากรซึ่งเริ่มในรัฐอัสสัมเป็นที่แรก โดยปัญหาสำคัญคือการไม่รวมคนมุสลิมให้ได้รับสัญชาติในกรณีหนีการอพยพจากปัญหาขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน (ในที่นี้หมายถึงเหตุการณ์ปัญหาในปากีสถานตะวันออก ก่อนเป็นประเทศบังคลาเทศ) เกิดเป็นการประท้วงใหญ่ทั่วทั้งอินเดีย และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนมุสลิมและฮินดูอีกครั้ง มีเหตุการณ์จราจลแม้กระทั่งในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ถูกโจมตีจากกลุ่มฮินดูชาตินิยม

และล่าสุดคือปัญหาเรื่องเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาในรัฐกรณาฏกะที่เป็นกระแสถกเถียงกันครั้งใหญ่ในสังคมอินเดียนับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อโรงเรียนแห่งหนึ่งไม่อนุญาติให้นักเรียนหญิงมุสลิมที่สวมฮิญาบเหนือชุดนักเรียนเข้าสอบ โดยโรงเรียนให้เหตุผลว่า การสวมฮิญาบผิดระเบียบเครื่องแบบของโรงเรียน ในขณะที่หลายโรงเรียนและสถานศึกษาในรัฐกรณาฏกะ มีกลุ่มชาตินิยมฮินดูจำนวนมากเข้าไปก่อกวนนักศึกษาหญิงชาวมุสลิมที่สวมฮิญาบ โดยพวกเขาตะโกนคำว่า “Jai Sriram” ใส่นักเรียนหญิงมุสลิม สร้างความกังวลอย่างมากต่อคนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็คือผลกระทบล่าสุดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของลัทธิฮินดูทวาในอินเดีย

แน่นอนว่าหากมองในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและผลประโยชน์ในการเลือกตั้ง ต้องบอกว่าพรรคบีเจพีประสบความสำเร็จอย่างมากในการขยายอุดมการณ์ชาตินิยมฮินดู จนแผ่ขยายออกไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เห็นได้จากผลการเลือกตั้งในปี 2019 ที่พรรคบีเจพีชนะอย่างถล่มทลาย แต่ในทางกลับกัน นี่คือความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะหากพรรคบีเจพีไม่สามารถคุมกระแสชาตินิยมฮินดูได้จนลุกลามบานปลายกลายเป็นความรุนแรง อินเดียอาจเผชิญกับการจราจลและฆ่ากันอีกครั้งเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชใหม่ๆ ก็เป็นได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดการประท้วงใหญ่ภายในประเทศจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคบีเจพี ซึ่งนั่นหมายถึงเสถียรภาพทางการเมือง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อินเดียกำลังเชื้อเชิญให้เข้ามาประกอบการภายในประเทศเพื่อเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นรัฐบาลชาตินิยมฮินดูอย่างบีเจพีเองยังคงมีความจำเป็นในการลดความร้อนแรงของกระแสชาตินิยมฮินดูไม่ให้ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ เพราะอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

แต่สุดท้ายแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียในวันนี้ ภายใต้กระแสลมฮินดูทวาที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงกำลังค่อยๆ เปลี่ยนจากภาพเดิมที่พวกเราคุ้นเคย และนับวันดินแดนแห่งนี้ก็จะไปไกลจากภาพเดิมๆ ที่เราเคยรู้จักมากยิ่งขึ้นอย่างที่ยากจะหวนกลับมาอีกครั้ง เพราะแม้แต่ผู้เขียนเองเวลาเอ่ยถึงสังคมพหุวัฒนธรรมของอินเดีย ก็ยังต้องหันกลับมาฉุกคิดใหม่อีกครั้งจากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของพรรคบีเจพี

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save