fbpx

‘ชาตินิยมที่มากล้น’ กับต้นทุนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อินเดียต้องแบกรับ

ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้อินเดียมีการประท้วงใหญ่เกือบทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวมุสลิม ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจที่แกนนำคนสำคัญของพรรคบีเจพีซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบันดูหมิ่นศาสดา และเป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคนี้เป็นหัวหอกสำคัญในการชูความเป็นชาตินิยมฮินดู ภายในอินเดีย เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างรอยร้าวระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอินเดียเท่านั้น แต่ยังทำให้อินเดียต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากโลกมุสลิมด้วย หลายชาติมุสลิมตัดสินใจออกมาประฌามการกระทำดังกล่าวของแกนนำพรรครัฐบาล หลายชาติเรียกทูตอินเดียเข้าไปพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อเรื่องนี้

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของอินเดียกับกลุ่มประเทศอ่าวและโลกมุสลิมตกลงอย่างหนัก ถึงขนาดที่อินเดียตัดสินใจส่งรองประธานาธิบดีเยือนกาตาร์เพื่อปรับความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มักจะพบเห็นไม่มากก็น้อยในอินเดีย ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นบุคคลสถานะใดเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่ลงรอยกันที่แฝงอยู่ลึกๆ ระหว่างชาวฮินดูบางส่วนที่มีต่อชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นรากปัญหาสำคัญที่ยังคงรอวันแก้ไข

จาก ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ สู่การก่อกำเนิด ‘อินเดีย’ และ ‘ปากีสถาน’

หลายคนอาจมองว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมนั้น มีต้นตอย้อนไปในช่วงที่จักวรรดิมุกัลเข้ามาปกครองอินเดีย เพราะนั่นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อินเดียมีผู้ปกครองเป็นชาวมุสลิม และศาสนาอิสลามได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องเล่า หรือมีเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้นที่กษัตริย์มุกัลใช้กฎทางศาสนาอย่างเคร่งครัดต่อชนต่างศาสนา เพราะหากเราศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียแล้ว กษัตริย์มุกัลอย่างพระเจ้าอักบาร์เองก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมหาราชคนสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย

พระองค์เป็นภาพสะท้อนสำคัญของระบบสังคมพหุวัฒนธรรมและศาสนาของอินเดีย เพราะแม้ว่าพระองค์จะเป็นชาวมุสลิม แต่ก็มิได้กีดกันชนชาวฮินดูให้เข้ามารับราชการภายในราชสำนักของพระองค์ หนำซ้ำพระองค์ยังนำเอาวัฒนธรรมหลายอย่างของชาวฮินดูเข้ามาภายในราชสำนักด้วยซ้ำ ฉะนั้นการมองว่ารากของปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวฮินดู-มุสลิมมีต้นตอมาจากราชวงศ์มุกัล อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงที่ว่าปัญหานี้ใหม่กว่าที่เราคิด และเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุคอาณานิคมเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงที่อังกฤษปกครองอินเดีย

การปกครองภายใต้นโยบาย ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง (Divine and Rule)‘ ที่ริเริ่มโดยอังกฤษ ถือเป็นชนวนสำคัญที่ส่งผลให้สังคมอินเดียเกิดความแตกร้าวจากประเด็นทางด้านศาสนา และกลายเป็นรอยแผลแห่งความบาดหมางระหว่างชนสองศาสนา นับแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้ชาวฮินดูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และมองว่าชาวมุสลิมได้รับอภิสิทธิ์มากจนเกินไป โดยเฉพาะในประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมจากนโยบายนี้ลุกลามกลายเป็นความเกลียดชังระหว่างกัน เกิดการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินระหว่างชนสองกลุ่มในช่วงที่อังกฤษปกครอง

และที่เลวร้ายไปกว่านั้น (ในมุมมองของอังกฤษอาจคือความสำเร็จ) นโยบายนี้นำมาซึ่งการแตกกันภายในของขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชระหว่างกลุ่มของจินนาร์และเนห์รู ที่มองการสนับสนุนอังกฤษแตกต่างกันในช่วงสงครามโลก ดังนั้นภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อนุทวีปอินเดียก็แตกออกเป็นสองประเทศสำคัญ นั่นคือ ‘อินเดีย’ และ ‘ปากีสถาน’ แม้ว่าการถือกำเนิดของทั้งสองประเทศนี้จะเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นสายปลายเหตุหลักที่ถูกหยิบยกมาเพื่อแยกแผ่นดินออกจากกันนั้นคือประเด็นทางศาสนา

การถือกำเนิดของอินเดียและปากีสถาน นำมาซึ่งการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ และยังกลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่จนถึงวันนี้คนเฒ่าคนแก่หลายคนของทั้งอินเดียและปากีสถานยังคงไม่สามารถลืมเลือนได้ เพราะมีประชากรหลายล้านคนต้องจบชีวิตลงจากการเกิดใหม่ของประเทศทั้งสองนี้ ทั้งจากความอดอยากระหว่างการอพยพ และการฆาตกรรมและสังหารหมู่ระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังใจใครหลายคนต่อมา และยังส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย แม้ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจน แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงการมีอยู่ของปัญหานี้

เหตุการณ์ 9/11 และวิกฤตมุมไบ: ผลกระทบต่อความหวาดกลัวชาวมุสลิม

ช่วงแรกหลังได้รับเอกราช อินเดียต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมตามเมืองใหญ่และเมืองตามแนวชายแดน จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ความขัดแย้งนี้ยังกลายเป็นต้นเหตุสำคัญของการสังหารมหาตมะ คานธี บิดาแห่งชาติอินเดียด้วย เพราะคานธีเลือกที่จะออกมาพูดเพื่อปกป้องชาวมุสลิมและเรียกร้องให้ชาวอินเดียทุกคนยุติความรุนแรงและความขัดแย้ง แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวของคานธีสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวฮินดูนิยมหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่ง และนั่นก็นำมาซึ่งการสังหารคานธีในที่สุด

การลอบสังหารคานธีในบ้านพักนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจต่อผู้คนทั่วทั้งอินเดีย ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม และการเสียชีวิตของคานธีนี้เองก็มีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในช่วงเวลานั้นเริ่มทุเลาลงเรื่อยๆ แม้ว่าความบาดหมางจะยังคงอยู่ก็ตาม และตลอดประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมก็มักจะโผล่ขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เรื่องราวในระดับชุมชน เมือง รัฐ ไปจนถึงระดับประเทศ แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างความขัดแย้งรุนแรงให้ลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศ ยกเว้นบางช่วงบางเหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อปัญหานี้

เหตุการณ์ทำลายมัสยิดบาบรีถือเป็นหนึ่งในชนวนใหม่ที่สร้างความแตกร้าวระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1992 เมื่อบรรดานักชาตินิยมฮินดูเคลื่อนไหวทุบทำลายมัสยิดบาบรี ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้สร้างทับอยู่บนศานสถานสำคัญของชาวฮินดู เพราะพวกเขาเชื่อว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้อาจเป็นที่ถือกำเนิดของ ‘พระราม’ ตามมหากาพย์รามายณะ สิ่งที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการจลาจลทั่วทั้งประเทศอินเดีย เกิดการทำร้ายกันระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม และคาดกันว่าความขัดแย้งที่กินเวลามากเกือบสองเดือนในขณะนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน แต่นั่นก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับการที่เหตุการณ์นี้กลายเป็นรอยแผลที่ตอกย้ำความไม่ลงรอยกันของชาวฮินดูและมุสลิมบางส่วน

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างความหวาดกลัวของชาวฮินดูที่มีต่อชาวมุสลิมคือเหตุการณ์ 9/11 และการก่อการร้ายที่เมืองมุมไบในปี 2008 เพราะทั้งสองเหตุการณ์นี้มีจุดร่วมกันคือผู้กระทำการเป็นชาวมุสลิม และถูกขยายต่อความหวาดกลัวและความเกลียดชังต่อชาวมุสลิม ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ที่เริ่มขึ้นจากบรรดาชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา ความสำเร็จของการสร้างความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิมของอเมริกานั้นส่งผลอย่างสำคัญต่ออินเดียด้วย และมันผลิตซ้ำความไม่ลงรอยกันระหว่างชนทั้งสองศาสนาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วลี ‘กลุ่มก่อการร้ายอิสลาม’ ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามการกระทำในลักษณะเดียวกันของคน ‘ฮินดู’ กลับไม่ถูกมองว่าเป็นการก่อการร้าย

ยิ่งไปกว่านั้นความขัดแย้งดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนนิยมในการเลือกตั้งอย่างแพร่หลายในช่วงตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาด้วย บางพรรคการเมืองเลือกใช้และชูประเด็นเรื่องชาตินิยมฮินดูเพื่อกอบโกยคะแนนเสียงจากชาวฮินดูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งยังออกนโยบายหลายอย่างเพื่อสนับสนุนชาวฮินดูเป็นการเฉพาะ สิ่งเหล่านี้จะไม่น่ากังวลเลย หากไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวและแนวนโยบายในลักษณะนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลกลางอินเดีย ที่นับวันจะกลายเป็นผลไม้พิษที่ค่อยๆ ทำลายสังคมอินเดีย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ก็ช่วยสะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหานั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

‘ชาตินิมที่มากเกิน’ กับต้นทุนที่อินเดียต้องแบกรับ

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดียทุกวันนี้ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมที่นับวันจะลุกลามบานปลาย และรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะจากปัญหาการออกกฎหมายสัญชาติใหม่ที่กลายเป็นการประท้วงใหญ่ในหลายรัฐ การผนวกรวมรัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ คำตัดสินของศาลสูงสุดต่อกรณีมัสยิดบาบรี หรือเหตุการณ์ล่าสุดอย่างการดูหมิ่นศาสดาของชาวมุสลิม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นคำถามใหญ่ต่อระบบสังคมพหุวัฒนธรรมและศาสนาของอินเดียอย่างมาก

เพราะต้องไม่ลืมว่าอินเดียในสายตาชาวโลก และอินเดียที่ต้องการให้ชาวโลกได้รู้จักและรับรู้นั้นคือความหลากหลายที่เป็นหนึ่งเดียว สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างความเชื่อ ต่างภาษา และวัฒนธรรม แต่ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการขึ้นมาของพรรคชาตินิยมฮินดูอย่างพรรคบีเจพีนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมากมายเกี่ยวกับแนวนโยบายทางด้านสังคมภายในประเทศอินเดีย โดยหลายปีที่ผ่านมานี้คำถามดังกล่าวดังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากในและนอกประเทศอินเดีย

บ่อยครั้งในเวทีระหว่างประเทศ อินเดียต้องเผชิญกับคำถามและแรงกดดันมากมายเกี่ยวกับประเด็นชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยภายในประเทศ อย่างล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเองก็ยังกล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยภายในอินเดียเช่นเดียวกัน ไม่ต่างไปจากที่ตอนนี้อินเดียกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากโลกมุสลิมจากการกระทำของแกนนำพรรครัฐบาลไม่กี่คนเท่านั้น

บทเรียนของอินเดียนั้นถือว่าสำคัญมาก เพราะหลายครั้งใครหลายคนมองว่าแนวนโยบายชาตินิยมไม่มีต้นทุน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมันมีต้นทุนจำนวนมากที่ต้องแบกรับ กรณีของอินเดียที่พยายามส่งเสริมชาตินิยมฮินดู แม้ในช่วงแรกจะนำมาซึ่งผลตอบรับทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดี แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าอะไรที่มากจนเกินไปหรือเกินพอดีย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์เชิงลบเช่นเดียวกัน

สำหรับอินเดียในตอนนี้ต้นทุนของนโยบาย ‘ชาตินิยมฮินดู’ คือแรงกดดันจากทั้งโลกมุสลิมและนานาชาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด ที่ไม่ใช่เป็นเพียงต้นทุนทางสังคมที่คนในอินเดียต้องแบกรับเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของอินเดียด้วย เพราะโลกมุสลิมถือเป็นตลาดนำเข้าพลังงานที่สำคัญของอินเดีย และยังเป็นตลาดส่งออกแรงงานที่สำคัญของอินเดียอีกด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save