fbpx
รถไฟความเร็วสูงของไทย : สิ่งที่ควรลงมือทำก่อนลงทุน

รถไฟความเร็วสูงของไทย : สิ่งที่ควรลงมือทำก่อนลงทุน

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

 

พลันที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง “มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา” ก็มีเสียงแสดงความเห็นกันอื้ออึงในหลายประเด็น

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ คำสั่งฯ นี้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจของจีนแห่งหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นบริษัทใด) ภายใน 120 วัน ในงานออกแบบรายละเอียด งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมถึงจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร โดยให้กำหนดมูลค่าโครงการโดยใช้ผลการเจรจามาเป็นกรอบในการพิจารณา และให้วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นราคากลาง โดยการทำสัญญานี้ไม่ต้องทำตามระเบียบต่างๆ ในการเสนอราคา การจัดซื้อจัดจ้าง และการพัสดุ และถ้าสัญญาดังกล่าวผ่านเจ้ากระทรวง อัยการสูงสุด และคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็ให้ลงนามในสัญญาจ้างได้เลย

อ่านคำสั่งฯ นี้แล้ว รู้สึกน่าหวั่นใจไม่น้อย แม้ว่าในคำสั่งฯ จะอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดให้เกิดโครงการโดยเร็วและมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่มีคำถามในใจอีกหลายข้อและขัดกับหลักการใช้จ่ายภาครัฐในหลายประเด็น ขอยกประเด็นการยกเว้นเรื่องข้อกำหนดวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิกไว้ไม่กล่าวถึง ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่อยากชวนตั้งข้อสังเกตอยู่ไม่น้อย อาทิเช่น

หนึ่ง คำสั่งฯ นี้กำหนดให้ดำเนินการทำสัญญาจ้าง ทั้งๆ ที่การเจรจาและการพิจารณาตัดสินใจลงทุนยังไม่เสร็จสิ้น ที่สำคัญ มีความไม่แน่ชัดในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งความคุ้มค่าด้านตัวเงินและด้านเศรษฐกิจ การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ การวางแผนเรื่องการจัดการรายได้และพื้นที่รอบข้าง อีกทั้งการดำเนินการยังไม่ผ่านขั้นตอนปกติของการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ถูกปรับเปลี่ยนมาตลอด จากรถไฟความเร็วสูงมาเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง แล้วกลับไปเป็นความเร็วสูงใหม่ หลายคนยังสับสนว่าจุดประสงค์ของรถไฟเส้นนี้คือขนคนหรือขนของกันแน่ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ผู้โดยสารมีทางเลือกอื่นๆ ในการเดินทางเป็นจำนวนมาก เช่น รถยนต์และรถโดยสารผ่านทางหลวงและมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และเครื่องบิน ทำให้มีข้อกังขาไม่น้อยเกี่ยวกับความคุ้มทุนของโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจและตัวเงิน การไม่พิจารณาโดยถ้วนถี่อาจทำให้โครงการมีโอกาสขาดทุนและเป็นภาระของรัฐในอนาคตได้

สอง คำสั่งฯ นี้ให้ดำเนินการจ้างรัฐวิสาหกิจของจีน (ซึ่งก็มิได้ระบุชื่อ) เป็นคู่สัญญา โดยมิได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอราคาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และมิได้แสดงให้เห็นเหตุผลที่เลือกรถไฟความเร็วสูงของจีน นอกจากการกล่าวอ้างถึงบันทึกความเข้าใจ มิได้มีการพิจารณาถึงต้นทุนโดยรวมเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ในการลงทุน เช่น เทคโนโลยีแบบอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยขาดทางเลือก

เรามิอาจทราบได้เลยว่า ด้วยเงินที่จะจ่ายนั้น สังคมไทยได้รับทางเลือกที่ดีที่สุด คุณภาพดีที่สุด และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ประเทศเสียหายในระยะยาวได้

สาม คำสั่งฯ นี้ให้ทำสัญญาจ้าง โดยไม่ชัดเจนว่าได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแผนเส้นทางโดยละเอียดแล้วหรือไม่ การดำเนินการสร้างรถไฟความเร็วสูงอาจมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ทำให้ไม่สามารถวางโครงการใหม่บนเส้นทางรถไฟเดิมได้ทั้งหมด อาจต้องผ่านเขตป่าหรือภูเขา การไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ถ้วนถี่อาจส่งผลให้โครงการหยุดชะงัก หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจทำให้ต้นทุนของโครงการเพิ่มสูงขึ้นได้

สี่ คำสั่งฯ นี้ระบุให้กำหนดมูลค่าและราคากลางของโครงการไว้ แต่ไม่มีการกำหนดรายละเอียดของโครงการ หากไม่มีการกำหนดสเป็กของวัสดุ มาตรฐานของระบบ และรายละเอียดที่จำเป็นอื่นๆ ไว้ในสัญญาจ้าง ก็ไม่ต่างอะไรกับการสั่งเซ็นสัญญาจ้างและระบุยอดเงินโดยไม่รู้ว่าจะได้อะไรกลับมา และมีโอกาสที่มูลค่าของโครงการจะเพิ่มสูงขึ้นโดยควบคุมไม่ได้ หรือได้ของที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่คาดหวัง

ห้า คำสั่งฯ นี้กำหนดให้เริ่มดำเนินการ โดยอาจจะยังมิได้สรุปแผนคมนาคมโดยรวมทั้งระบบ มีข่าวว่าญี่ปุ่นกำลังศึกษาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ และอาจไม่สามารถใช้ระบบร่วมกันได้ การมีหลายระบบอาจส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต และเกิดข้อกังขาเรื่องการตัดสินใจได้

หก คำสั่งฯ นี้เป็นการทำสัญญาจ้างที่ไม่มีการพิจารณาด้านผลกระทบด้านการคลัง ไม่มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อภาคการคลังที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่มีรายละเอียดการประมาณการรายได้ รายจ่าย กำไร-ขาดทุน ไม่มีแผนบริหารจัดการพื้นที่ ไม่มีการกำหนดภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบ จนอาจเป็นการสร้างภาระการคลังแบบปลายเปิดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

แม้ว่าประเทศไทยต้องการการลงทุนในโครงข่ายคมนาคม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาค และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

แต่การตัดสินใจลงทุนครั้งนี้น่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งของประเทศ โดยใช้เงินภาษีของประชาชน และเป็นการสร้างหนี้ที่จะเป็นภาระลูกหลานในอนาคต จึงต้องการกระบวนการตัดสินใจที่ละเอียดถี่ถ้วน โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ เช่น ต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการทั้งในรูปตัวเงิน และในรูปผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จากหน่วยงานที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ และต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงด้านการคลังอย่างรอบคอบ

ในสมัยก่อนนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยมีข้อเรียกร้องต่อโครงการทำนองนี้ในอดีตมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงข้อสังเกตล่าสุด เป็นเรื่องที่รัฐบาลสมควรพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้ก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ

นอกจากนั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วตัดสินใจลงทุน ก็ควรมีการเปิดประมูลอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเงินทุกบาทที่ลงทุนนั้น มีความคุ้มค่าและได้รับสิ่งที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่เราจ่ายได้ การแบ่งการเจรจารายเส้นทาง (เส้นนี้ยกให้จีน อีกเส้นยกให้ญี่ปุ่น) อาจทำให้ประเทศสูญเสียอำนาจต่อรองและต้องจ่ายแพงเกินกว่าความจำเป็น ทั้งที่ในตอนนี้ประเทศไทยมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่อยู่ในมือ สามารถใช้เป็นเครื่องต่อรองได้

การใช้มาตรา 44 เพื่อยกเว้นขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการข้ามกระบวนการตัดสินใจปกติในการใช้จ่ายภาครัฐ และการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคา ซึ่งล้วนมีไว้เพื่อคานอำนาจและเป็นกลไกตรวจสอบการทำงานของรัฐ อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต หรือทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ จนสร้างปัญหาและข้อโต้เถียงขึ้นในอนาคต

ดังนั้น ก่อนดำเนินการทำสัญญาที่จะผูกพันรัฐบาลต่อไป รัฐบาลควรลงมือทำในเรื่องเหล่านี้

  • พิจารณาในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความคุ้มค่าของโครงการด้านเศรษฐกิจ (รวมถึงการบริหารรายได้จากพื้นที่) ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงด้านการคลัง
  • พิจารณาถึงต้นทุนและผลประโยชน์จากทางเลือกอื่นๆ และเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยได้รับทางเลือกที่ดีที่สุดในวงเงินที่เราจ่ายได้
  • ดำเนินการตามขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนในโครงการของรัฐ เพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีกระบวนการกลั่นกรอง คานอำนาจ และตรวจสอบอย่างเหมาะสม
  • ควรเปิดเผยรายละเอียดของโครงการ การบริหารจัดการรายได้และพื้นที่ รวมถึงการเปิดเผยผลการวิเคราะห์และการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจและตัวเงิน เพื่อความโปร่งใสในดำเนินการ

นี่คือเงินภาษีของประชาชนและภาระของลูกหลานในอนาคต จึงต้องตอบข้อสงสัยให้ครบถ้วนก่อนลงมือดำเนินการครับ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save