fbpx
'พระนางราโชอาห์' กับเรื่องอ่านเล่นของ ‘ศรีบูรพา’ อันไม่คุ้นตานักอ่านปัจจุบัน

‘พระนางราโชอาห์’ กับเรื่องอ่านเล่นของ ‘ศรีบูรพา’ อันไม่คุ้นตานักอ่านปัจจุบัน

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เรื่อง

 

เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ คงไม่จำเป็นต้องแนะนำถึงความยิ่งใหญ่แห่งวงวรรณกรรมไทย  หากเขายังมีลมหายใจตราบจนวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2562  ก็จะครบรอบ ชาตกาล 114 ปีพอดี

ปรากฏข้อถกเถียงบ้างเกี่ยวกับอายุจริงๆ และปีที่ศรีบูรพาลืมตาดูโลกหนแรก  สืบเนื่องจากก่อนปีพุทธศักราช 2483 วิธีการนับขึ้นศักราชใหม่จะเริ่มต้นเมื่อ 1 เมษายน ส่วน 31 มีนาคมถือเป็นวันสิ้นปีเก่า เช่นถ้าคุณผู้อ่านเห็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2462 พอเทียบการนับศักราชแบบปัจจุบันย่อมตรงกับ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2463 แล้ว

โยงใยมากรณีกุหลาบ สายประดิษฐ์  ความที่หลักฐานหลายชิ้นระบุวันเกิดของเขาคือ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2448 จึงมีนักประวัติศาสตร์ไทยนึกสงสัยกัน เอ๊ะ! ฤากุหลาบอาจจะเกิดวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2449 รึเปล่า?

เฉกเช่นคราวหนึ่งในวาระครบรอบ 96 ปีชาตกาลของ ‘ศรีบูรพา’ เมื่อปีพุทธศักราช 2544 นักประวัติศาสตร์เยี่ยงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเคยเขียนจดหมายลงวันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2544 ไปถึงสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งคุมคอลัมน์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ เพื่อตั้งข้อสังเกตเรื่องวันเกิดของกุหลาบและอายุครบรอบ 96 ปีว่าใช่จริงๆหรือไม่ เพราะการเกิดเดือนมีนาคมย่อมอยู่ในข่ายความสับสนของวิธีนับศักราชแบบอดีตและปัจจุบันที่แตกต่างกัน ดังถ้อยความตอนหนึ่งในจดหมายของสมศักดิ์ว่า

“ถ้าศรีบูรพาเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 ดังที่พี่สุชาติเขียนจริง วันที่ 31 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะต้องเป็นวันครบรอบปีที่ 95 ของท่านครับ ไม่ใช่ 96 (ซึ่งก็คือไม่ใช่ 8 รอบนักษัตร) เหตุผลง่ายๆ คือ ก่อนปี 2484 ประเทศสยามถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่ เพราะฉะนั้น ถ้านับจากปฏิทินปัจจุบัน (ตามสากล) วันที่ 31 มีนาคม 2488 ที่ศรีบูรพาเกิดจะต้องเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2449 คือเพียง 95 ปีก่อนหน้านี้ครับ”[1]

ผมค่อนข้างกล้ายืนยันทีเดียวว่า ‘ศรีบูรพา’ เกิดวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2448 นั่นแหละครับ เพราะเคยเห็นหลักฐานชิ้นหนึ่ง ได้แก่ สมุดประจำตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองของกุหลาบ ในนั้นระบุวันเกิดตรงกับวันที่  5 เมษายน พุทธศักราช 2448 ซึ่งน่าจะเป็นการไปแจ้งเกิดล่าช้า

‘ศรีบูรพา’ สร้างสรรค์งานเขียนต่างๆ เอาไว้หลายประเภท และนักอ่านปัจจุบันมีโอกาสสัมผัสอยู่หลายชิ้น กระนั้นก็เถอะ มักแว่วยินเสียงบ่นว่าทำไมไม่ค่อยมีเอกสารชั้นต้นวรรณกรรมของนักเขียนผู้นี้ชิ้นอื่นๆ อีกนอกเหนือจากงานที่ถูกเอ่ยอ้างบ่อยๆ จนซ้ำซาก

ผมเองค้นพบงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่คนรุ่นหลังๆ ไม่รู้จักคุ้นเคยจำนวนมากมายตลอดช่วง 5 ปีล่วงผ่านมา มิหนำซ้ำ ยังแนะนำต่อบุคคลต่างๆ ที่ควรจะให้ความสนใจเสมอๆ แต่ช่างแห้งแล้งการเหลียวแลและตื่นตัว นับวันกองเอกสารงานเขียนของกุหลาบที่ผมเก็บสะสมพลันซ้อนทบสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ตระหนักว่าน่าจะต้องหยิบยกบางชิ้นงานมาบอกเล่าพร้อมวิพากษ์วิจารณ์เสียทีกระมัง

ที่ผมใคร่นำเสนอสู่สายตาคุณผู้อ่านคือ พระนางราโชอาห์   โดยบังเอิญแท้ๆ ผมเจองานเขียนชิ้นนี้ของกุหลาบราวๆ กลางปีพุทธศักราช 2557 ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เล่ม 9 ตอนที่ 12 ประจำเดือนธันวาคม พระพุทธศักราช 2468  หน้า 1181-1918  ตอนนั้น พันโทพระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) บิดาของ ป.อินทรปาลิต (นักประพันธ์เจ้าของผลงานหัสนิยาย สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน) กำลังครองตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือดังกล่าว และได้ชักชวนให้กุหลาบมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ กุหลาบเปิดเผยไว้ใน ‘บรรทึกการแต่งหนังสือ’  ประจำปีพุทธศักราช 2468 ของเขาว่า

“วันที่ ๒๙ ตุลาคม: ได้เข้าทำงานในกรมยุทธศึกษาฯ มีน่าที่เปนผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาฯ แต่มีตำแหน่งเปนเจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์ ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๓๐ บาท ได้เขียนเรื่องลงในหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาฯ ดังต่อไปนี้

  • พระนางราโชอาห์ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • รู้เล็กรู้น้อย โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์”

ความโลดแล่นบนหน้ากระดาษของ พระนางราโชอาห์  หมายถึง ‘ศรีบูรพา’ ช่วงเริ่มต้นชีวิตนักประพันธ์ แน่นอนว่าย่อมไม่เหมือนผลงานสลักสำคัญชิ้นอื่นๆ ที่เขาเขียนขึ้นภายหลังโดยเน้นถ่ายทอดประเด็นและเนื้อหาทางสังคมอย่างเข้มข้น เช่น สงครามชีวิต, ข้างหลังภาพ, แลไปข้างหน้า และ จนกว่าจะพบกันอีก  ในความเห็นของผม แม้กุหลาบจะใช้สำนวนภาษาสละสลวยเรียบเรียง พระนางราโชอาห์ จนเปล่งประกายวาบวับ ทว่าท่วงทำนองลีลาการดำเนินเรื่อง การสร้างตัวละคร รวมถึงความสมจริงยังมิแคล้วประดักประเดิด

กุหลาบเปิดย่อหน้าแรกของ พระนางราโชอาห์ ว่า

“คำปราชญ์ได้บรรทึกไว้ว่าสตรีนั้นเปนต้นขั้วแห่งความแตกร้าวระหว่างมิตร์สหาย—เปนสายชนวนชวนให้เกิดความผิดพ้องหมองใจกัน ในหมู่วงศาคณาญาติ—และเปนรากเหง้าที่ชักนำให้ความจงรักภักดีในระหว่างข้ากับเจ้า บ่าวกับนายเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างร้ายกาจ !”

 จากนั้นขยายความในย่อหน้าถัดไปเป็นเชิงชี้ทิศทางท้องเรื่อง

“กาลก่อน, ข้าพเจ้าเคยนึกยิ้มเยาะและรู้สึกหย่อนในความเลื่อมใสแห่งภาสิตสอนใจของปวงปราชญ์เหล่านี้….บางขณะถึงกับมีความรู้สึกที่จะเหยียบย่ำถ้อยคำของท่านอย่างจริงจัง กาลล่วงมา…ล่วงมา  จวบจนกระทั่งข้าพเจ้าไปผเชิญเข้าแล้วกับความรัก ความรักอันเปนมูลซึ่งประมวลมาแห่งความห้าวหาญ  ความบากบั่นมั่นมานะอดทน, ความเปนผู้มีตาบอดฯ ของบรรดาปุถุชนทั้งหลาย  ซึ่งการนี้หญิงซึ่งเปนผู้ก่อให้เกิด อาจจะใช้ความรักนั้น บั่นรอนชีพของผู้ที่หลงใหลใฝ่ฝัน  ให้พลันประสพความพินาศย่อยยับ  ไปด้วยประการใดๆ ก็ได้นั่นเอง!  อา ท่านเอ่ยคราวนี้สิข้าพเจ้าจึงสำนึกตนได้ คือสำนึกได้ภายหลังที่เหตุการณ์ได้ผ่านมากระทบกับความรู้สึกของข้าพเจ้าเข้าแล้ว ว่าถ้อยคำของปราชญ์ทุกประโยค อันได้กล่าวไว้เปนบรรทัดถานสอนใจชาวโลกทั้งมวลนั้น มิหย่อนในความจริงเลย – มีข้อควรคำนึง— ข้อควรจดจำไว้สอนใจ  เพียบพร้อมอยู่แล้วโดยบริบูรณ์ !”

น้ำเสียงข้างต้นพรั่งพรูจากตัวละครนามว่า ‘ไซรัส’  ผู้บำเพ็ญหน้าที่ยอดทหารเอกคนโปรดปรานของธิเบอริอัส มหากษัตราธิราชแห่งนครคาปรี แต่เมื่อเขายลโฉมพระนางราโชอาห์ พระราชธิดากษัตริย์ฟาโรห์แห่งไอยคุปต์ประเทศ ซึ่ง “ธิเบอริอัสมหาราชเจ้าทรงได้เธอมาในคราวที่พระองค์พรั่งพร้อมด้วยทะแกล้วทหารแห่งนครคาปรี ทรงกรีฑาทัพเสด็จยกไปย่ำยีกรุงไคโร…”  และเขา “ก็เปนผู้หนึ่งในจำนวนนักรบตัวยงที่ได้ไปเห็นแลได้ประจญกับเหตุการณ์อันแวดล้อมไปด้วยความสยดสยองในครั้งกระนั้น-ได้เห็นความแตกพ่ายกระจัดกระจายอย่างน่าอับอายในศักดินักรบของชาวไอยคุปต์-เห็นความพินาศล่มจม ตลอดจนวาระสุดท้ายของมหากษัตริย์ฟาโรห์ผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้วด้วยเดชฝีมือทะแกล้วทหารของฝ่ายเราชาวคาปรี”  ไซรัสพลันตกหลุมรักเธอทันที

ทางด้านพระเจ้าธิเบอริอัสลุ่มหลงคลั่งไคล้พระนางราโชอาห์เช่นกัน พระองค์ปรารถนาให้เจ้าหญิงไอยคุปต์เป็นราชินีคู่บัลลังก์ ทว่าเพียรเกี้ยวพาราสีอย่างไรเธอก็หาได้ยินยอมพร้อมใจ ราชานครคาปรีขุ่นเคืองหทัยจึงบัญชาคำสั่งคุมขังกักบริเวณพระธิดาฟาโรห์บนยอดหอคอยฝั่งกำแพงพระราชวัง ทหารเอกผู้ควบคุมดูแลเธอแทบทุกอิริยาบถจะใครอีกถ้ามิใช่ไซรัส  และด้วยความใกล้ชิดเลยทำให้เขา “มีโอกาสได้พิศดูพระรูปโฉมอันเอิบอาบไปด้วยความงดงามความยวนยั่วหัวใจ แต่ซูบซีดไปบ้างในคราวชะตาอับ-และยังได้สะดับน้ำเสียงอันหวานเย็นเจื้อยแจ้วจับโสตร์บ่อยๆ เข้านั้นเอง ได้บรรดาลดลจิตต์ของข้าพเจ้าให้เคลิ้มคิดไปในความสงสารเวทนาเธอเสียยิ่งนัก แลก็เพราะความสงสารเธอนั้นแหละที่น้อมนำใจให้หวนนึกไปในความรู้สึกต่างๆ ชะนิด…” 

ไซรัสมิอาจปฏิเสธการหมายปองดอกฟ้า แต่เขาเจียมตนว่าเป็นการแอบรักเธอฝ่ายเดียว

ณ ราตรีหนึ่งขณะเข้าเฝ้าพระนางราโชอาห์บนเฉลียงหอคอย เธอกำลังทอดสายตาไปยังเวิ้งอ่าวเนเปิ้ลพร้อมตรัสสุรเสียงแผ่วเบา

“ถ้าฉันเปนอิสสระแก่ตัว, ไซรัส ในค่ำคืนอันสว่างงาม ประกอบพร้อมด้วยความเยือกเย็นพอประมาณเช่นเวลานี้ จะทำให้หัวใจของฉันเบิกบานขึ้นสักปานใด ฉันมิอาจกล่าวได้เลย จริง, ตัวฉันได้ถูกนำมาประจำอยู่ที่นี่ แต่ก็ดูเหมือนว่ามีญาณชนิดหนึ่งมาคอยจี้ความรู้สึกต่างๆ ของฉันให้หวลเห็นบรรดาพิพิธภาพแห่งนครไคโร -ไคโร ซึ่งเปนเมืองเกิด, เมืองนอน, เมืองที่เต็มไปด้วยความอิสสรภาพแลสดชื่นสำหรับฉัน…”

ขัตติยนารีอียิปต์ว่าต่อไปอีก “แต่ – เหตุที่ฉันต้องจำพรากมาเสียจากทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ซึ่งเคยให้ความรื่นรมย์แก่ฉันมาแล้วอย่างนับมิถ้วนนั้น-ก็คือพระราชาของท่าน, พวกท่าน และรวมทั้งตัวท่านด้วย โอ! ไซรัส, ท่านคิดว่าฉันจะทนอยู่ในความกักขังของพระราชาของท่านสักกี่วันกี่เดือนทีเดียว? บอกเสียก็ได้ว่าวิญญาณของฉันจะติดตามไปรับใช้เสด็จพ่อของฉันยังอีกภพหนึ่งในมิช้านักดอก”

ไซรัสปลอบประโลมใจเจ้าหญิงไอยคุปต์ เขาสนับสนุนให้เธอยอมรับสถานะราชินีของธิเบอริอัสแม้จะขัดแย้งอารมณ์ลึกซึ้งของชายหนุ่ม พระนางราโชอาห์บ่ายเบี่ยง เธอยินดีทุกข์ทนเพื่อที่จะไม่ตกเป็นของผู้ชายที่ไม่ได้รู้สึกรักเยี่ยงราชานครคาปรี พร้อมตรัสถ้อยคำบันดาลความชื่นใจแก่ไซรัสทำนองว่าเขาคือมิตรสหายที่ดีที่สุดของเธอในเมืองนี้

ผันผ่านหลายวารวัน ไซรัสกับพระธิดาฟาโรห์ทบทวีความสนิทสนมแน่นแฟ้นจากการเข้าเฝ้าเนืองๆ ยอดทหารเอกเจื้อยแจ้วจำนรรจาสารพันที่ช่วยผลิบานรอยยิ้มแย้มและเสียงสรวลของเธอผู้เป็นเทพธิดาของเขา ภาพนี้แจ่มชัดในสายตาใครบางคน และก็สิ่งนี้ที่ชักนำมหาภัยร้ายกาจเกี่ยวแก่อิสรภาพและอันตรายมายังเขา

มหาอำมาตย์อีโอแบน คู่ปรับของไซรัส ทูลต่อพระเจ้าธิเบอริอัสเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างเจ้าหญิงไอยคุปต์กับยอดทหารเอก อ้างว่าดูแรนดัส ทหารรักษาการณ์ประจำหอคอยสามารถเป็นพยานได้ดี เจ้าทหารนั้นส่งเสียงเล่าว่า

“…เมื่อสองคืนที่ล่วงแล้ว ข้าพระเจ้าได้แอบย่องขึ้นบรรไดไปจนถึงชั้นสุดของหอคอย และในท่ามกลางแสงจันทร์อันสว่างจ้า ข้าพระเจ้าได้เห็นเงาชายหญิงคู่หนึ่งทางเบื้องปลายหอคอยด้านใต้ยืนประชิด…อกทั้งสองอยู่ติดกันอย่างสนิท ศีร์ษะซบเข้าหากันเปนเงารูปหล่อในระยะอันไกลซึ่งข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงใจทีเดียวว่า ต้องเปนท่านไซรัสกับพระนาง แลไม่ต้องสงสัยเลยพระเจ้าข้า……ท่านไซรัสกับพระนาง ในขณะนั้น ได้กระทำการ……”

ราชาแห่งนครคาปรีไม่ค่อยหลงเชื่อตามแผนการใส่ร้าย แต่ที่สุด พระองค์มิอาจระงับความพิโรธโกรธาและทรงลั่นสุรเสียง “เอ็งจงไปลากคออ้ายไซรัสสัตว์เนรคุณมาหาข้าเดี๋ยวนี้” ยอดทหารเอกถูกควบคุมตัวเข้าห้องขัง รอคอยการประหารชีวิตในอีก 5 วัน

แต่ละวันคืนในคุก ไซรัสถวิลหาพระนางราโชอาห์ไม่เสื่อมคลาย ล่วงเข้าคืนวันที่ 4 ซึ่งเป็นคืนเดือนหงาย แสงจันทร์แจ่มกระจ่าง ยอดทหารเอกทอดอารมณ์ไปกับทัศนียภาพที่มองลอดผ่านซี่ลูกกรงหน้าต่าง ฟังเสียงขลุ่ยไม้อ้ออย่างเคยได้ยินในเวลาเข้าเฝ้าเจ้าหญิงแห่งไคโร ฉับพลันทันใด เสียงแหลมร้องดังขึ้นฝั่งประตูพระนครด้านทิศตะวันออก แสงประกายของวัตถุสิ่งหนึ่งฉายวอบแวบไปมาพร้อมๆ เงาตะคุ่มๆ เดินอยู่สับสน สำนึกของนักรบทราบดี  “สวรรค์ — เงานี้คือคนและประกายที่กล่าวก็ฉายมาจากคมอาวุธที่เขาถือกวัดแกว่งอยู่ในมือนั้นเอง!”

ไซรัสแจ้งทหารยามประจำที่คุมขังถึงเหตุไม่ชอบมาพากลในพระนคร ทหารยามคนนั้นกลับคิดว่าชะรอยจะเป็นอุบายหลบหนีจากคุกจึงเย้ยเยาะไม่ไยดี  ยอดทหารเอกเผลอม่อยหลับไป สะดุ้งตื่นอีกทียามรุ่งสางแล้วค้นพบว่าสงครามคับขันอุบัติขึ้น กองทหารแห่งนครคาปรีกำลังรบพุ่งดุเดือดอยู่กับกองทหารจากอียิปต์ ไซรัสกระแทกตัวเปิดประตูคุกหมายออกไปช่วยเพื่อนทหารต่อสู้ข้าศึกแต่ไม่เป็นผล เขาทำได้แค่เพียงนั่งมองเหล่าทหารฝ่ายตนถูกทหารอียิปต์ใช้ดาบฟันล้มลงไม่น้อยราย สักหลายครู่ จู่ๆ มีเสียงไขกุญแจ และทหารยามคนเดิมวิ่งเลือดอาบมาหมอบฟุบหน้าประตู พร่ำบอกว่าขอให้ไซรัสไปช่วยรบศึก

กุหลาบ สายประดิษฐ์ พรรณนาการต่อสู้ฟาดฟันของไซรัสและเหล่าทหารอียิปต์หลายคนละเอียดลออกินพื้นที่หลายหน้ากระดาษ คล้องจองกับลักษณะเรื่องอ่านเล่นช่วงปลายทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 ที่นักอ่านนิยมชมชอบเรื่องมีฉาก ‘ฟันดาบ’ โดยเฉพาะช่วงปีพุทธศักราช 2467-2468 ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์พบนักเขียนทั้งหลายพยายามผลิตงานเขียนทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครต่างชาติหรือตัวละครชาวไทย ถือดาบแล้วย่อมกลายเป็นขวัญใจนักอ่าน ซึ่งตัวละครพระเอก ‘นักฟันดาบ’ มักจะเอาชนะคู่ปรปักษ์หรือศัตรูราบคาบต่อให้แห่กันมาเป็น 20 คนก็ตาม

เรื่องอ่านเล่นบางชิ้นยังตั้งชื่อเรื่องมีคำว่า ‘ดาบ’ ด้วย เช่น ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ ของ อายัณโฆษ (พุทธศักราช 2467) และ ดาบสนองเกียรติ์ ของ สุมาลี (ลงพิมพ์ใน สมานมิตรบรรเทอง ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม พระพุทธศักราช 2469)

วกกลับมาที่ พระนางราโชอาห์ ผมขอยกตัวอย่างฉาก ‘ฟันดาบ’ ตอนไซรัส ยอดทหารเอกนครคาปรี กับปอมปาตีส เจ้าชายอียิปต์ต่อสู้กันมาแสดงพอหอมปากหอมคอ

“เจ้าชายกำลังบ้าเลือดเดือดดุไม่มีอะไรปาน กระโจนเข้าแทงฟันข้าพเจ้าอย่างโหดร้าย สายตาไม่มองอะไรอื่นนอกจากจับอยู่ฉะเพาะร่างข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าถอยไปทางพระแท่น เจ้าชายก็รุกรบอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าโดดข้ามพระกายของธิเบอริอัส ซึ่งพิงขวางอยู่แทบขาพระเก้าอี้โดยฉับพลัน เพราะรู้อยู่ก่อนแล้ว แต่สัตรูของข้าพเจ้าลืมตัวโดยความทลึ่งโลดและรุกเร็วเกินไป ไม่ทันยั้ง สะดุดพระกายของพระเจ้าธิเบอริอัส ล้มคว่ำหน้าลง ข้าพเจ้าไม่รีรอ พุ่งดาบแทงสวนตามทันที เสียงดังจ๊วก! คู่ต่อสู้ของข้าพเจ้ามีเวลาบิดตัวได้สามสี่ครั้ง แล้วก็แน่นิ่งไป”

ในศึกสงครามที่ทหารอียิปต์ยกทัพมารุกรานนครคาปรีนั้น เหล่าทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายไปเหลือคณา มหาอำมาตย์อีโอแบนทิ้งชีวิตกลางสมรภูมิ ก่อนขาดใจตายในอ้อมแขนของไซรัส เขาเอ่ยปากขอโทษที่เคยใส่ร้าย ทางด้านพระเจ้าธิเบอริอัสก็ไม่รอดพ้นการปลิดชีพโดยข้าศึก ขณะลมหายใจโรยรินใกล้ๆ พระแท่นในท้องพระโรง พระองค์แสดงความสำนึกผิดที่หูเบาและขออภัยยอดทหารเอก ส่วนปอมปาตีส ลูกพี่ลูกน้องและเป็นคู่หมั้นหมายของพระนางราโชอาห์ แม้เจ้าหญิงไอยคุปต์มิได้รักเขาตอบ แต่เจ้าชายอียิปต์ยกทัพมาทวงคืนสิทธิ์ทางความรัก ช่างน่าเศร้าที่ต้องมาสิ้นชื่อต่างบ้านต่างเมือง

ท้ายเรื่อง พระนางราโชอาห์  ไซรัสได้ครองรักกับเจ้าหญิงเลอโฉมแห่งไคโร ภายหลังจากเธอรู้สึกผิดที่เสน่ห์ความงามของตนเป็นเหตุให้ธิเบอริอัสและปอมปาตีสสูญสิ้นชีวิต เพราะ “…เท่ากับฉันได้ประหารชีวิตของชายนักรบเสียถึงสองศพ…” ทว่าเมื่อยอดทหารเอกปลอบขวัญพร้อมเอื้อนเอ่ย — แลฝ่าพระบาทยังจะใคร่เด็ดวิญญาณของชายนักรบคนที่สาม ซึ่งได้มีความเสน่หาแนบแน่นอยู่ต่อฝ่าพระบาทเปนเวลาอันนานนักนั้น เสียอีกหรือ?”  ครั้นพระธิดาฟาโรห์ถามกลับและได้รับทราบว่าชายคนนั้นคือไซรัส ผู้ประพันธ์ก็ปิดบทจบลงด้วยถ้อยความ “เธอก้มพระพักตร์เพื่อส้อนจุดโลหิตสีชมภูซึ่งข้าพเจ้าเห็นอยู่ตำตา ทรงนิ่งอึ้งอยู่ แลจากพระอาการทั้งนี้ย่อมบ่งเปนคำตอบของเธอเข้ามาแนบแน่นในวงแขนโดยไว — คล้ายเปนอาการที่โผนเข้าใส่สัตรู — ซึ่งเธอก็หาได้แสดงให้เปนที่ขัดใจไม่ อา! ข้าพเจ้าได้ชนะน้ำใจของเธอแล้ว โดยพร้อมมูล!”

ลองพิจารณาผลงานชิ้นนี้ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ชวนให้ครุ่นนึกว่ามีรสชาติแปลกๆ ไปกว่าที่เคยอ่านฝีมือปรุงวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ โดย ‘ศรีบูรพา’ แทบไม่น่าเชื่อ กุหลาบในวัยหนุ่มจะเขียนเรื่องอ่านเล่นแนว ‘ฟันดาบ’ อีกทั้งอาศัยฉากต่างแดนและตัวละครต่างชาติ ผมคิดว่านี่คืออิทธิพลจากการแต่งหนังสือประกอบการชมภาพยนตร์เงียบของชาวสยามในทศวรรษ 2460 อันเป็นยุคที่นักประพันธ์ไปดูหนังแล้วกลับมาแต่งเรื่องตามจินตนาการจัดพิมพ์เป็นหนังสือขายให้ผู้ที่จะมาดูหนังทั้งหลาย ซึ่งบุคคลสำคัญผู้บุกเบิกจัดทำหนังสือประเภทนี้ ได้แก่ นาย ต. เง็กชวน

คราวหนึ่งกลางปีพุทธศักราช 2560 ในวงสนทนาร้านเป็ดย่างไม่ห่างเหินวัดดอนเมือง สุชาติ สวัสดิ์ศรีได้เสนอประเด็นชวนฉุกคิดว่าจุดสำคัญที่ทำให้งานเขียนวรรณกรรมเติบโตและขยายตัวในทศวรรษ 2460 เรื่อยมานั้น น่าจะเป็นอิทธิพลของภาพยนตร์และ ‘หนังสือภาพยนตร์’ มากกว่างานเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ที่เริ่มมีมานับแต่ทศวรรษ 2410 ผมเห็นคล้อยตามเจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ ครับ มิอาจปฏิเสธได้หรอกว่านวนิยายและ ‘ความเรียงประโลมโลก’ ย่อมเป็นหมุดหมายสำหรับวรรณกรรมยุคหลังๆ แต่ชนวนเร่งเร้าให้เกิดการประพันธ์และนักประพันธ์แพร่หลายจนนำไปสู่วิถีนักประพันธ์อาชีพ ควรอย่างยิ่งที่จะยกให้เป็นคุณูปการของสิ่งพิมพ์จำพวก ‘หนังสือภาพยนตร์’

กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นหนึ่งในคนหนุ่มแห่งทศวรรษ 2460 ที่ได้รับจ้างทำงานไปชมภาพยนตร์แล้วกลับมาแต่งเรื่องตามจินตนาการจนกลายเป็นหนังสือประกอบการดูหนังหลายๆ เล่มทีเดียว มิหนำซ้ำ ภาพยนตร์ฝรั่งที่นำเข้ามาจัดฉายในเมืองไทยสมัยนั้น ก็มีเรื่องการต่อสู้ฟันดาบและเรื่องอาณาจักรยุคอียิปต์ยุคโรมันอยู่มิใช่น้อย ครั้นเมื่อกุหลาบเริ่มประพันธ์ผลงานลงพิมพ์ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ กลิ่นอายการแต่งเรื่องจากหนังก็ยังไม่เจือจาง จึงไม่แปลกที่เขาจะ ‘เริ่มต้นที่นั่น’ ด้วยเรื่องราวเจ้าหญิงอียิปต์ ยอดทหารเอกนครคาปรี ฉากสงครามในยุโรปและเสียงดาบปะทะกัน ก่อนที่จะหันกลับมาเขียนงานสะท้อนฉากและชีวิตคนในสังคมไทยภายหลัง

อ้อ! และถ้าเชื่อว่า ‘หนังสือภาพยนตร์’  ประหนึ่งฐานแห่งการเป็นนักประพันธ์อาชีพ ก็กุหลาบ สายประดิษฐ์มิใช่ฤา? คือคนแรกๆ ที่ประกาศตนว่าจะประกอบอาชีพในงานเขียนหนังสือ

ฉะนั้น ใครที่สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ ‘ศรีบูรพา’  ถ้าละเลยการทำความรู้จัก พระนางราโชอาห์  ก็ถือว่าพลาดอย่างน่าเสียดาย!

 


 

[1] อันที่จริง เนื้อความนี้ในจดหมายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลถือว่ามีข้อชวนฉงนอยู่สองประการ ประการแรกนั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรีได้ทักท้วงและบ่งชี้ไปแล้วในคำตอบทำนองว่า “…มนุษย์นั้นไม่สมบูรณ์ไปเสียทีเดียวนัก เอาแค่จดหมายของคุณ คุณยังทำตัวเลขปีเกิดของศรีบูรพาผิดพลาดไปถึง 40 ปี เนื่องจากคงจะพิมพ์อี-เมลล์เพลินไป และรีบกดไปให้ใครต่อใครอ่าน ทั้งที่น่าจะส่งเป็น ‘จดหมายส่วนตัว’ ถึงผมโดยตรง”  ส่วนอีกข้อคือที่สมศักดิ์บอกว่า “…ก่อนปี 2484 ประเทศสยามถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่” ผมได้แจกแจงไปแล้วว่าควรจะเป็นก่อนปี 2483 เสียมากกว่า

 

อ้างอิงข้อมูลจาก :

กุหลาบ สายประดิษฐ์.  “บรรทึกการแต่งหนังสือ” ใน คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาลกุหลาบ สายประดิษฐ์. บรรณาธิการ ตรีศิลป์ บุญขจร. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงานโครงการ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), 2548

กุหลาบ สายประดิษฐ์. “พระนางราโชอาห์” ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เล่ม 9 ตอนที่ 12 (ธันวาคม 2468), หน้า 1181-1918

สิงห์สนามหลวง. “ข้อท้วงติงเกี่ยวกับ 96 ปี ศรีบูรพา” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์  12-18 (มีนาคม 2544)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save