fbpx

ซ้าย Accelertationism และงูของ Nick Land

หลายคนเปรียบช่วงสุดท้ายของการเขียนธีสิสว่าเปรียบเหมือนสภาวะลิมโบ (limbo) เนื่องจากคุณไม่มีวันรู้ว่าคุณจะได้ส่งเล่มเมื่อไหร่ ทันตามกำหนดหรือไม่ ต้องทำเรื่องขยายเวลาการศึกษา (อีก) หรือเปล่า หรือเรียนจบแล้วชีวิตจะไปทางไหนต่อ ผู้ประสบสภาวะเช่นนี้อาศัยอยู่ในห้วงเวลาอันป็นวงกลมที่ถูกซอยออกเป็นช่วงๆ ด้วยกาแฟเฉลี่ย 6 แก้วต่อวัน

เนื่องจากทนสีหน้าซังกะตายและกลิ่นของความสิ้นหวังอันโชยมาจากนักศึกษาปริญญาเอกปีสุดท้ายแต่ละคนไม่ไหว มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์จึงต้อนนักศึกษาพวกนี้ไปรวมกันที่ชั้นบนสุดของห้องสมุดและจัดสรรคอกให้แต่ละคนพร้อมใช้กระจกกั้นระหว่างพวกเดนตายกลุ่มนี้กับผู้ใช้ห้องสมุดปกติคนอื่นๆ และเรียกบริเวณดังกล่าวว่า The Research Hive หรือเรียกสั้นๆ ว่า Hive ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาสามารถมองทะลุกระจกไปเห็นบรรดานักวิจัยเคาะแป้นพิมพ์อย่างบ้าคลั่ง บ้างก็กัดเล็บ บ้างก็เดินไปกดน้ำร้อนใส่กาแฟผงราคาถูกรอบที่ 4 ของวันทั้งที่ยังไม่เที่ยง สมาชิก Hive จึงมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจนักศึกษาคนอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจสมัครเรียนปริญญาเอก

Hive นั้นถูกตั้งชื่อเพื่อล้อกับธรรมชาติของผึ้งงานและเน้นความสำคัญของการทำงานเป็นทีมและสังคมเพื่อนร่วมงานในชีวิตทางวิชาการ เช่นเดียวกับเรื่องยากลำบากอื่นๆ

เพื่อนร่วมชะตากรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนผ่านปีสุดท้ายของการเรียนไปได้โดยที่ยังไม่เสียสติไปเสียก่อน หนึ่งในเพื่อนนักศึกษาปริญญาเอกที่ทำให้ปีสุดท้ายของการเรียนไม่โหดร้ายเกินไปมากนักคือเจมส์

อันที่จริงเจมส์ไม่ได้เป็นนักศึกษาปริญญาเอกปีสุดท้ายเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ใน Hive แต่เจมส์มีความกดดันอีกแบบ เนื่องจากครั้งแรกที่เขาเรียนปริญญาเอก เขาพลาดทุนรัฐบาลอังกฤษไปอย่างน่าเสียดายหลังได้เข้าสู่รอบสัมภาษณ์อันเป็นรอบสุดท้ายของการคัดเลือก อย่างไรก็ตาม เขาตัดสินใจเรียนปริญญาเอกแบบนอกเวลาและทำงานไปด้วยในช่วงกลางวันก่อนจะพบว่าไม่สามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

เจมส์ตัดสินใจสมัครทุนอีกรอบด้วยหัวข้อวิจัยใหม่กับคณะนิเทศศาสตร์แทนคณะมนุษย์ศาสตร์ (ภาควิชาปรัชญา) แบบเดิมและคราวนี้เขาได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน เจมส์จึงเริ่มปีแรกของการเรียนปริญญาเอกอีกครั้งพร้อมๆ กับที่ผู้เขียนกำลังอยู่ในปีสุดท้ายของการเรียน ต่างกับนักศึกษาคนอื่นๆ ใน Hive ซึ่งหน้าดำคร่ำเครียดกับดราฟต์ ‘สุดท้าย’ (ที่ไม่เคยสุดท้ายจริง) ของธีสิส เจมส์มักเปิดประตูเข้ามาพร้อมรอยยิ้มกว้างเหมือนเด็กเห็นกระบะทรายในสนามเด็กเล่นพร้อมกล่าวทักทายทุกคนด้วยพลังบวกเต็มเปี่ยมเสียจนพลังงานลบเข้มข้นของทั้งห้องปั่นป่วน

เจมส์ติดบุหรี่ไฟฟ้าพอๆ กับที่พวกเราที่เหลือคนอื่นๆ ติดกาแฟ หลังทำงานมาทั้งช่วงเช้าและเริ่มทนความเงียบของ Hive ไม่ไหว พวกเราจึงมักมีช่วงพักกลางวันสำหรับกินข้าวและพูดคุยบำบัดความเครียด เจมส์เป็นคนเดียวที่ดูเหมือนจะไม่เคยถูกการเรียนปริญญาเอกทำร้ายและมักมีเรื่องให้หัวเราะร่วนได้เสมอ เมื่อถูกถามว่าเขาไม่เคยเครียดบ้างหรืออย่างไร เจมส์มักจะตอบว่า “ฉันชอบทำวิจัย ตอนนี้ได้ทุนมาเรียนแล้วเครียดน้อยกว่าตอนเรียนพาร์ทไทม์เยอะเลย” พ่อของเจมส์ทำงานเป็นช่างก่อสร้าง (ซึ่งรายได้ค่อนข้างโอเคในอังกฤษ) และตอนที่เขายังไม่ได้ทุน เจมส์ใช้เวลาช่วงกลางวันไปรับจ๊อบตามไซต์งานกับพ่อของเขาและรับเป็นบาร์เทนเดอร์ในผับช่วงเสาร์-อาทิตย์

หลังเลิกเรียนพวกเรามักไปแวะเวียนหาที่นั่งคุยกันต่อถามผับต่างๆ เจมส์ซึ่งปกติเป็นคนง่ายๆ กับเรื่องอาหารการกินก็จะกลายเป็นคนที่มีปัญหากับสถานที่มากที่สุดขึ้นมาทันที เมื่อผู้เขียนถามว่าทำไมต้องหยุมหยิมกับเรื่องเล็กๆ อย่างร้านเหล้าด้วย เจมส์ทำหน้าแกล้งร้องไห้ก่อนจะตอบว่า “เพราะฉันแคร์น่ะ”

ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ไบรท์ตันมีผับมากมาย แน่นอนว่าไม่ใช่ผับตามความหมายที่คนไทยเข้าใจแบบที่เปิดเพลงดังๆ ไว้ให้หนุ่มสาวไปส่องคนที่พึงใจระหว่างแกล้งทำเป็นเต้น กิจกรรมแบบแรกนี้ถูกเรียกว่า clubbing ส่วนการไปผับนั้นคือการไปดื่มเบียร์อุณหภูมิห้องข้างเตาผิงพร้อมพูดคุยกับมิตรสหาย ผับหลายแห่งเสิร์ฟอาหารประเภทที่ทำให้ท้องอุ่นในวันที่ฝนตกลมแรง เช่นเชพเพิร์ดส์พาย ไส้กรอกย่างกับมันบด และฟิชแอนด์ชิปส์

ผับที่เจมส์รักที่สุดชื่อว่า The Battle of Trafalgar ซึ่งที่มาของชื่อมีความข้องเกี่ยวกับสงคราม (เช่นเดียวกันกับทุกอย่างในอังกฤษ) ผับดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สู้รบที่ทราฟัลกาซึ่งพลเรือเอกเนลสันสามารถหยุดการรุกรานของนโปเลียนแลกกับการโดนลูกปืนคาบศิลาจากเรือรบฝรั่งเศสยิงทะลุปอดและกระดูกสันหลัง ศพของเขาถูกดองด้วยเหล้าหลากชนิดบนเรือก่อนนำมาประกอบพิธีอย่างสมเกียรติที่โบสถ์ St. Paul’s ในลอนดอน

นี่เป็นสาเหตุที่หากคุณไปดื่มที่ BoT แล้วทำทีจะขอตัวกลับบ้านก่อน เพื่อนๆ ของคุณอาจประท้วงว่าคุณยังดื่มไปปริมาณไม่พอที่จะดองศพเนลสันเลย ก่อนจะเสนอความเห็นว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่เนลสัน คุณควรเลี้ยงเบียร์เพื่อนหนึ่งแก้วก่อนกลับบ้านที่ผับอีกผับหนึ่งบนถนนเส้นเดียวกันชื่อว่าผับ Lord Nelson กิจกรรมเช่นนี้เรียกว่า pub crawl (อาจแปลไทยได้ว่ากิจกรรมคลานเปลี่ยนผับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเช้า) ซึ่งแต่ละเมืองก็จะมีเส้นทางที่มีชื่อเสียงต่างกันไป เส้นทางอีกเส้นนอกไบรท์ตันที่เจมส์แนะนำคือ the Karl Marx pub crawl ซึ่งเป็นเส้นทางในลอนดอนที่มาร์กซ์เคยเดินกินเบียร์กับเพื่อนระหว่าง Oxford Street และ Hampstead Road ก่อนจะจบทริปด้วยการทะเลาะกับคนอังกฤษเรื่องความยิ่งใหญ่ของดนตรีและปรัชญาการเมืองเยอรมันและการฟาดโคมไฟริมถนนพังเพื่อระบายอารมณ์จนโดนตำรวจอังกฤษไล่กวด

เจมส์ไม่ได้รัก BoT เพราะเขาเป็นพวกชาตินิยมอังกฤษ แต่เพราะด้วยความที่เป็นผับท้องถิ่นเก่าแก่ BoT มีความเป็นชุมชนสูงมาก พนักงานที่บาร์จำเครื่องดื่มโปรดของคุณได้และหากคุณทะเล่อทะล่าไปนั่งโต๊ะขนาดเล็กใกล้เตาผิงคุณอาจจะโดนแก๊งค์คุณตาที่ชอบมาเปิดตี้ดวลหมากรุกค้อนเอาได้เพราะเป็นโต๊ะประจำของพวกแก สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้ตามผับใหม่ๆ ที่อยู่บนถนนเส้น high street ในเมืองไบรท์ตัน

พวกเราเคยคะยั้นคะยอให้เจมส์ไปนั่งผับของ Wetherspoons ซึ่งเป็นผับที่มีในทุกเมืองของอังกฤษของมหาเศรษฐีทิม มาร์ติน ผู้ซึ่งหน้าเหมือนไส้กรอกหยาบย่างและเป็นผู้สนับสนุน Brexit และพรรค UKIP อย่างเป็นทางการ เจมส์ซื้อเบียร์จากร้านสะดวกซื้อเข้าไปกินในผับดังกล่าวพร้อมยืนยันว่าจะไม่มีวันเสียเงินให้นายมาร์ตินหากไม่จำเป็น ผู้เขียนซึ่งตอนนั้นเพิ่งออกจากไทยไม่นานไม่สามารถแยกผับที่ดีออกจากผับที่ห่วย (สำหรับเจมส์) ได้ จึงถามเจมส์ว่าผับนี้ต่างจากผับดีๆ ตรงไหนในเมื่อถ้าดูจากบรรยากาศ เบียร์ เตาผิง แบบเผินๆ ก็ไม่ได้มีอะไรผิดแผกไปจากกันมาก

เจมส์อธิบายให้ฟังว่าผับในอังกฤษส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นผับแบบ Wetherspoons กล่าวคือมีบริษัทใหญ่เป็นเจ้าของและเพียงแต่ขยายสาขากระจายไปตาม high street ของแต่ละเมือง ทางตอนใต้ของอังกฤษนั้นมีบริษัท brewery ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์แบรนด์ใหญ่ๆ และที่ดินก็จะขาย franchise ผับให้ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจร้านอาหารโดยมีข้อแม้ว่าต้องขายเครื่องดื่มของบริษัทเท่านั้น (บริษัทดังกล่าวจึงได้ทั้งค่าเช่าและได้หน้าร้านขายเครื่องดื่มแบบต่างๆ ของตัวเองด้วย)

นอกจากตัวเลือกเครื่องดื่มที่จำกัดแล้วผับลักษณะดังกล่าวมักอยู่ไม่นาน ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ หากธุรกิจดำเนินไปได้ดี ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจย้ายไปเมืองที่ขนาดใหญ่ขึ้นหรือหากทำกำไรสู้ค่าเช่าอันแพงลิบลิ่วไม่ได้ก็มักจะเลิกกิจการภายใน 2-3 ปี ในขณะที่ผับอิสระแบบที่ BoT เป็นนั้นจ่ายค่าเช่าที่ให้เจ้าของที่ดินซึ่งไม่ได้ผูกมัดกับบริษัทเครื่องดื่มใดๆ จึงมีสิทธิในการเลือกจำหน่ายเหล้าเบียร์และอาหารต่างๆ อย่างเสรี คุณจึงสามารถพบกับคราฟต์เบียร์ยี่ห้อแปลกๆ และเหล้าหลากหลายแบบและอาหารตามฤดูกาลได้มากกว่า ในขณะที่ผับแบบ Wetherspoons นั้นมีเมนูที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารแช่แข็งเอามาอุ่นก่อนเสิร์ฟ (ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้วไม่ได้รสชาติต่างจากอาหารอังกฤษส่วนใหญ่มากนัก)

ผู้เขียนยังรู้สึกว่าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนอยู่ดีจึงถามเจมส์ต่อว่ามีวิธีดูแบบอื่นอีกไหมเพราะนักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเบียร์หรืออาหารอังกฤษดีนัก จึงไม่น่าจะแยกผับอิสระออกจากผับแบบ chain ได้ เจมส์ทำตาโตพร้อมป้องปากกระซิบดังๆ ว่า “Wetherspoons ไม่มีจิตวิญญาณ รู้สึกได้ใช่ไหม” ผู้เขียนมักล้อเลียนเจมส์เสมอว่าเขาเป็นคนที่เชื่อในเรื่อง ‘จิตวิญญาณ’ มากเกินกว่าจะเป็นนักวิจัยปริญญาเอกด้าน Computational Capitalism เจมส์หัวเราะก่อนจะตอบว่า “ไม่มีอะไรสปิริชวลมากไปกว่าการศึกษาก้าวต่อไปของมนุษยชาติแล้วต่างหาก”

ผู้เขียนและเจมส์เรียนปริญญาโทหลักสูตรเดียวกันคือ Social and Political Thought แต่ในขณะที่ผู้เขียนค้นพบว่าตัวเองสนใจปรัชญายุคสมัยใหม่ตอนต้นผ่านคำวิจารณ์ของพวก Frankfurt School เจมส์พบว่าเขาสนใจการกดขี่รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นจากพัฒนาการหนึ่งของทุนนิยมตอนปลายที่บางคนเรียกว่า Computational Capitalism เจมส์อายุมากกว่าพวกเรา 4-5 ปีแต่มีจิตวิญญาณของเด็กเก้าขวบ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเขากับเดวิดถึงเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เจมส์จบปริญญาตรีด้าน Sound Art ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ซึ่งทำให้เขามีสถานะเหมือนเทพเจ้าท่ามกลางมนุษย์อะนาล็อกแบบพวกเราที่มาเรียนต่อด้านปรัชญา

อย่างไรก็ตาม เจมส์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ผู้เขียนรู้จักที่ไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟน หลังจากสอบเหตุผล เจมส์ตอบแบบสั้นๆ และทีเล่นทีจริงว่า “เพราะฉันรู้มากเกินไปน่ะ ฮ่าๆ”

เจมส์สนใจแนวคิดทางการเมืองของช่วงปลายทศวรรษ 1960 และทศวรรษถัดมา ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า accelerationism อธิบายแบบหยาบที่สุด พวก accelerationist พยายามทำความเข้าใจความหมายทางการเมืองของพัฒนาการอันก้าวกระโดดของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ automation และเชื่อว่าการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ทางการเมืองแบบใหม่ๆ (พวกนี้จึงสนับสนุนความก้าวหน้าดังกล่าว) และ accelerationist บางคนได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของมาร์กซ์เกี่ยวกับเทคโลยีและอนาคตของงาน

กลุ่มวิจัยที่เป็นตำนานที่สุดของแนวคิดนี้คือกลุ่ม the Cybernetic Culture Research Unit หรือ CCRU แห่งมหาวิทยาลัยวอร์ริกอันประกอบไปด้วยบิ๊กเนมเช่น ซาดี แพลนต์ (Sadie Plant), นิก แลนด์ (Nick Land) และมาร์ก ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) ผู้ล่วงลับผู้เป็นเจ้าของ blog อันโด่งดังชื่อ K-punk และหนังสือ Capitalist Realism

ความสนใจของกลุ่ม CCRU ในขณะนั้นครอบคลุมหลากหลายประเด็น แต่โดยรวมแล้วพวกเขามองว่าโลกวิชาการโดยเฉพาะวงการปรัชญา (และปรัชญาการเมือง) มองไม่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่ไม่ได้แค่เปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แต่เปลี่ยนวิธีการทีเราปฏิสัมพันธ์กัน วิธีที่เรามองโลก และเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ทำให้ความต่างระหว่างมนุษย์และอมนุษย์นั้นคลุมเครือมากขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ ว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนความหมายของความเป็นมนุษย์ในขณะที่พวกนักปรัชญาแก่ๆ เอาแต่พล่ามเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เขียนโดยคนขาวที่ตายไปหลายร้อยปีแล้ว

เจมส์ใช้งานของนักปรัชญาหลายคนในโปรเจ็กต์ของเขาแต่คนที่เขาพูดถึงบ่อยที่สุดคือนิก แลนด์เพราะเป็นสมาชิกของ CCRU ที่ ‘เพี้ยน’ ที่สุด เจมส์บอกว่าเหตุผลที่เขาพูดถึงแลนด์บ่อยที่สุดนั้นเป็นเพราะพวกเราชาว Hive จะได้จำได้ว่าเส้นที่กั้นระหว่างความบ้าและหมกมุ่นทางวิชาการนั้นบางกว่าที่คิด

ต่างจากฟิชเชอร์ซึ่งมองว่าอาจยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้พัฒนาการของเทคโนโลยีสร้างสิ่งที่ฟิชเชอร์เรียกว่าสัจนิยมแบบทุนนิยม (Capitalist Realism) ซึ่งทำให้เราไม่สามารถจินตนาการการเมืองแบบอื่นนอกเหนือไปจากเสรีนิยม-ทุนนิยมได้ แลนด์เห็นว่าปัญหาของพวก left-accelerationist แบบฟิชเชอร์และเจมส์คือมองไม่เห็นว่าเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนตัวเองได้ (Self-propelling technology) นั้นเป็นเนื้อเดียวกันกับระบอบทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก นี่คือเหตุผลที่ปัจจุบันแลนด์เขียนงานชื่นชมรัฐบาลจีนและจีนยุคใหม่ในฐานะรัฐที่ประสบความสำเร็จในการผนวกรวมอุดมการณ์แบบมาร์กซิสม์เข้ากับระบอบทุนนิยม

“แต่นี่ยังไม่ใช่เรื่องที่เพี้ยนที่สุดของแลนด์” เจมส์เล่าต่อไปว่ากลุ่ม CCRU เคยเป็นที่เกลียดชังของภาคปรัชญาที่วอร์ริกมากไม่ใช่แค่เพราะพวกเขา ‘วิจัย’ เกี่ยวกับเรื่องแปลกๆ เช่น วัฒนธรรม cyberpunk และดนตรี jungle แต่เพราะแลนด์เคยย้ายเข้าไปอยู่ในห้องศูนย์วิจัยและตากกางเกงในบนเครื่องทำความร้อนคณะ แม้ว่าตามบันทึกทางการของมหาวิทยาลัยจะระบุว่าแลนด์ลาออก แต่เจมส์บอกว่าเขารู้จักอาจารย์ที่เคยเรียนกับแลนด์และบอกว่าเหตุผลจริงๆ เกิดจากการที่แลนด์ ‘เลื้อย’ (เจมส์ใช้คำว่า slither) ขึ้นเวทีประชุมนานาชาติ[1]

ผู้เขียนถามเจมส์ตรงๆ ว่าหากเขาเรียนจนจบปริญญาเอกในสาขานี้ สุดท้ายเขาจะกลายเป็นงูแบบแลนด์ หรือเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงแบบฟิชเชอร์ในบั้นปลายชีวิตของเขาไหม เจมส์หัวเราะร่วนก่อนตอบว่า “ในโลกทุนนิยมตอนปลายมีแต่คนเสียสติเท่านั้นแหละที่ไม่เป็นบ้าไปเสียก่อน…อีกอย่างคือ ฉันชอบเป็นผึ้งใน Hive กับพวกแกมากกว่าเป็นงูเยอะเลย”


[1] เรื่องเล่าของเจมส์ตรงกับคำบอกเล่าของนักศึกษาคนหนึ่งของ Land อย่างไรก็ตาม หลายคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นแค่ urban legend

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save