โลกของ ‘เมียฝรั่ง’ เรื่องเล่าที่ไม่มีผู้ชายอีสาน ในสังคมที่ไม่มีอนาคต

โลกของ ‘เมียฝรั่ง’ เรื่องเล่าที่ไม่มีผู้ชายอีสาน ในสังคมที่ไม่มีอนาคต

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

25 ปีที่แล้ว ‘สมหมาย’ เป็นผู้หญิงไทยคนแรกและคนเดียวในแคว้นทุ ทางตอนเหนือของเดนมาร์ก จนถึงวันนี้มีผู้หญิงไทย 926 คนอาศัยอยู่ที่นั่น ย้ายถิ่นฐานมาด้วยการแต่งงานกับผู้ชายชาวเดนมาร์ก หลายรายได้เจอสามีผ่านการแนะนำของสมหมาย ผู้เป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการแต่งงานของชายหญิงจากต่างทวีป

Heartbound สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวการย้ายถิ่นฐานของผู้หญิงอีสานผ่านการแต่งงานกับชาวต่างชาติ กำกับโดย เยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) ผู้กำกับภาพยนตร์และซิน่า พลามเป็ก (Sine Plambech) นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์กที่ติดตามถ่ายทำสารคดีนี้อยู่นับสิบปี

ซิน่าเริ่มศึกษาเรื่องผู้หญิงไทยในภาคอีสานตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว จนมีคนแนะนำให้เธอได้รู้จักกับสมหมาย ผู้พาหญิงไทยไปแต่งงานกับชาวเดนมาร์กจนเกิดชุมชนคนไทยที่รวมตัวกันเหนียวแน่น ซิน่าได้เจอกับเยนูสและเล่าถึงเรื่องที่เธอศึกษาอยู่พร้อมโชว์ภาพถ่ายบ้านสองหลังในภาคอีสาน หลังแรกเป็นบ้านหลังใหญ่โตที่มีผู้หญิงย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวสร้างบ้าน และบ้านข้างๆ เป็นกระท่อมไม้เล็กๆ ของครอบครัวที่ไม่มีสมาชิกไปทำงานต่างประเทศ เยนูสสนใจเรื่องดังกล่าวและเริ่มทำงานร่วมกับซิน่า ก่อนที่พวกเขาจะแต่งงานกันในเวลาต่อมา

สารคดีเล่าถึงเรื่องราวของหลากชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวพันกับการแต่งงานข้ามชาติในสองชุมชน หนึ่งคือหมู่บ้านเล็กๆ ทางภาคเหนือของเดนมาร์ก และอีกหนึ่งคือหมู่บ้านในภาคอีสาน โดยมีศูนย์กลางของเรื่องคือสมหมาย

สมหมายเป็นชาวโคราชที่ไปทำงานค้าบริการที่พัทยาจนเธอได้เจอกับ ‘นีลส์’ ชาวเดนมาร์กที่มาเที่ยวประเทศไทยแบบเซ็กส์ทัวริสต์ นีลส์ตกหลุมรักสมหมาย จนแต่งงานและพาเธอย้ายไปอยู่เดนมาร์ก

หลังไปอยู่ไม่นานนัก สมหมายเริ่มชักชวนญาติพี่น้องให้ได้รู้จักและแต่งงานกับผู้ชายเดนมาร์กในชุมชน จนชื่อของเธอเป็นที่รู้จักในฐานะแม่สื่อแม่ชักผู้ช่วยเหลือให้หญิงไทยมีอนาคตที่ดีขึ้น

จุดเด่นของสารคดีเรื่องนี้คือ Heartbound ไม่ใช่แค่สารคดีเรื่องเมียฝรั่ง แต่เป็นสารคดีที่พูดถึงชีวิตมนุษย์อย่างมีมิติ โดยเฉพาะชีวิตผู้หญิงอีสานที่ถูกคาดหวังถึงความรับผิดชอบมากมาย ขณะที่สังคมปิดกั้นการเข้าถึงโอกาสต่างๆ แล้วยังกดพวกเธอไว้ภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่

นี่อาจจะเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงประเทศไทยได้เป็นจริงและสะท้อนประเด็นละเอียดอ่อนออกมาได้น่าติดตามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเล่าผ่านชีวิตคนธรรมดาที่สังคมจงใจมองไม่เห็นพวกเขา

 

 

“อยู่ๆ ไปก็รักกันเอง”

 

แม้ว่า Heartbound จะเป็นสารคดีที่พูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คน แต่เรื่องราวความรักที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่ใช่ความรักหอมหวานแบบเจ้าชายเจอเจ้าหญิงและรักกันไปตลอดกาล

หญิงสาวที่เดินทางไปเดนมาร์กผ่านการช่วยเหลือของสมหมายล้วนมีจุดมุ่งหมายชัดเจน แม้พวกเธอจะออกตัวว่าตั้งใจเดินทางเพื่อไปหางานทำในต่างประเทศ แต่เป้าประสงค์หลักคือการแต่งงานกับชาวต่างชาติ พวกเธอเดินทางไปด้วยวีซ่าท่องเที่ยว โดยการจัดการของสมหมายที่ช่วยลงประกาศหาผู้ชายที่สนใจคบหากับหญิงไทย จนถึงช่วยทำข้อตกลงระหว่างชายหญิงให้การแต่งงานลุล่วงไปด้วยดี เช่นในกรณีของ ‘แก’ หลานสาวของสมหมายที่ต้องเข้าไปอยู่ในบ้านฝ่ายชายตั้งแต่วันแรกที่เจอหน้ากัน ทั้งที่พูดกันคนละภาษา สื่อสารกันได้เพียงการจิ้มคำศัพท์ในดิกชันนารี

การแต่งงานเช่นนี้คล้ายเป็น ‘ภารกิจ’ ที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องทำเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ก่อนย้ายเข้าบ้านฝ่ายชาย ผู้หญิงในชุมชนคนไทยจะช่วยกันแนะนำถึงการปฏิบัติตัวเมื่อต้องแต่งงานกับฝรั่ง โดยเฉพาะ ‘เรื่องบนเตียง’ ที่ถือเป็นหน้าที่สำคัญในการประคับประคองให้ภารกิจนี้ลุล่วง ไม่มีเรื่องโรแมนติก ปราศจากคำหวาน มีเพียงข้อตกลงเรื่องวีซ่า ข้อบังคับเรื่องการแต่งงาน และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

“อยู่ๆ ไปก็รักกันเอง” เป็นคำแนะนำที่หญิงไทยในเดนมาร์กส่งต่อให้แก่กัน แต่ประโยคเหล่านี้ไม่ได้คลายความกังวลให้แก่ผู้ฟังเลย เช่นในวันแรกที่แกเดินทางไปอยู่ในบ้านชายแปลกหน้า สีหน้าของเธอเต็มไปด้วยความกังวลและหวาดวิตกถึงอนาคตที่คาดเดาไม่ได้

หากเป็นสถานการณ์ทั่วไปเรื่องราวเหล่านี้คงถูกตั้งคำถามว่าทำไมมนุษย์เราต้องอดทนโน้มน้าวตัวเองให้รักกับคนไม่รู้จัก แต่สำหรับสาวอีสานที่เดินทางไกลเพื่อมาแต่งงาน พวกเธอมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าต้องการชีวิตที่ดีขึ้น อันไม่ได้หมายถึงชีวิตของเธอเพียงคนเดียว แต่หมายรวมถึงชีวิตคนทั้งครอบครัว

การเดินทางมาแต่งงานของผู้หญิงอีสานจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวความรัก แต่หมายถึงชีวิต การทำงาน ความเป็นอยู่ การยกระดับทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และอนาคตที่ดีของลูกและครอบครัว

 

 

โลกที่ไม่มีผู้ชายอีสาน

 

สมหมายเล่าว่าผู้หญิงที่เธอช่วยจับคู่ให้ล้วนเป็นคนที่เดือดร้อน ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่เลิกรากับสามีคนไทย เพราะสามีกินเหล้าเมายา ทำร้ายร่างกาย มีเงินไม่พอใช้จนทะเลาะแล้วแยกทางกันในที่สุด หากเป็นคนที่มีหน้าที่การงานมั่นคง อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขเธอคงไม่ต้องยื่นมือไปช่วยเหลือ

“ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนจะตบตีผู้หญิง แต่อาจเพราะสังคมที่ป้าอยู่เป็นสังคมบ้านนอก ถ้าเป็นสังคมในเมือง คนระดับกลางมีงานดีๆ ทำอาจไม่มีปัญหาแบบนั้น แต่ในสังคมบ้านนอก หน้าที่ผู้หญิงคือดูแลบ้านเลี้ยงลูก ผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบอย่างอื่น ทำงานกลับมาบ้านก็ไปกินเหล้าเมายาได้”

สิ่งที่สมหมายเล่าไม่ได้เกินจริงไปกว่าภาพที่ปรากฏในสารคดี แม้ว่าเราไม่อาจเหมารวมได้ว่าผู้ชายอีสานทุกคนจะมีปัญหาทำร้ายร่างกายหรือไม่รับผิดชอบครอบครัว แต่ชีวิตผู้หญิงอีสานที่ปรากฏในสารคดีล้วนเป็นผลลัพธ์จากครอบครัวที่ล้มเหลว หลายคนเล่าเรื่องในอดีตของตัวเองด้วยเสียงสั่นเครือ เมื่อนึกถึงความรุนแรงที่ต้องเจอขณะอยู่ร่วมกับสามีคนไทย ทั้งการถูกทุบตี ถูกขว้างขวดเบียร์ใส่ หรือกระทั่งต้มน้ำเดือดหวังจะสาดใส่ภรรยาตัวเอง

การทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในการทะเลาะของสามีภรรยา ระหว่างนี้ฝ่ายหญิงต้องยอมอดทนเป็นกระสอบทรายเพื่อประคับประคองครอบครัว จนถึงที่สุดแล้วจึงเลิกรา

เมื่อแยกทางกันแล้วผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูลูก รวมถึงต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ของผู้หญิงเอง อันเป็นค่านิยมและความเชื่อในสังคมท้องถิ่นว่าผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลครอบครัว กลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับผู้หญิงในชนบทที่ต้องหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัว ทั้งเด็กและคนชรา ขณะที่โอกาสหาเงินมีเพียงงานในไร่นาที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

คำถามที่เกิดขึ้นตลอดการชมสารคดีคือ “ผู้ชายอีสานหายไปไหน?” เมื่อตลอดทั้งเรื่องปรากฏแต่เรื่องเล่าการดิ้นรนของผู้หญิงอีสานที่ต้องดูแลลูกและครอบครัวอยู่ฝ่ายเดียว แต่ไม่ปรากฏการพูดถึงความรับผิดชอบของฝ่ายชาย กระทั่งว่าผู้ชายไทยไม่มีตัวตนในเรื่องเล่านี้ เมื่อชายหนุ่มอีสานเพียงคนเดียวที่ปรากฏในภาพยนตร์คือหลานพิการของสมหมายที่ต้องให้แม่ของเขาดูแลอยู่บ้าน

ผู้หญิงในสารคดีที่มุ่งมั่นอยากแต่งงานกับฝรั่ง ล้วนเป็นผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตคู่อันไม่น่าจดจำกับชายไทยมา เข็ดขยาดการถูกทำร้ายร่างกาย การถูกนอกใจ ต้องอยู่ในสภาพจำยอมเพราะต้องพึ่งพาการเงินจากฝ่ายชายที่ก็หาเงินได้ไม่มากมายนัก

หนทางต่อไปที่พวกเธอมองมุ่งไปไม่ใช่การตามหาความรักที่สวยงามหรือผู้ชายในฝัน ด้วยความเข้าใจสภาพชีวิตตัวเองว่าหนทางที่เหลือคือต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเลี้ยงครอบครัวให้ได้ การยกระดับชีวิตนั้นอาจมาพร้อมการแต่งงานกับชาวต่างชาติ อันมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในหมู่บ้านว่าคนที่แต่งงานกับฝรั่งสามารถส่งเงินกลับมาสร้างบ้านหลังใหญ่โตให้พ่อแม่ได้

สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านบทสนทนาของหญิงสาวในหมู่บ้านที่พูดถึงการแต่งงานกับฝรั่งว่าต้องหา ‘ผัวแก่ๆ’ เมื่อชายหนุ่มชาวต่างชาติที่ฐานะยังไม่มั่นคงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเธอ

ความต้องการเช่นนี้สะท้อนความละโมบหรือเห็นแก่เงินของหญิงสาวเหล่านี้หรือเปล่า — เปล่าเลย

วิถีนี้เป็นหนึ่งใน ‘ทางเลือกที่เห็น’ จากชีวิตที่ไม่ได้มีทางเลือกนัก เช่นชีวิตของ ‘แสง’ หญิงสาวในหมู่บ้านของสมหมายที่หวังใช้การแต่งงานเป็นทางออกจากความยากจน รวมถึงการสร้างอนาคตให้ลูกน้อยของเธอที่เกิดจากสามีคนไทยที่เลิกรากันไป

สมหมายยังไม่สามารถจับคู่ให้แสงได้ด้วยปัญหาเรื่องอายุ แต่ความยากจนไม่ปล่อยให้แสงนอนรอโอกาสอยู่เฉยๆ ที่บ้านได้ เธอมุ่งหน้าสู่พัทยา ก้าวสู่อาชีพสาวบาร์ โดยมีจุดหมายสูงสุดคือเจอลูกค้าต่างชาติที่ชอบพอกันจนพาเธอย้ายไปต่างประเทศได้

แสงตาลุกวาวเมื่อรู้ว่าเธอจะได้ค่าตอบแทนจำนวน 2,500 บาทสำหรับการมีเซ็กส์กับคนแปลกหน้า เงินจำนวนนี้ไม่ได้เยอะเลย แต่สำหรับชีวิตในหมู่บ้านที่แทบจะหางานทำไม่ได้ งานขายบริการกลายเป็นโอกาสใหม่อันหอมหวานที่จะทำให้ลูกท้องอิ่มและมีของเล่นใหม่ๆ

เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความละโมบ’ หรือ ‘ไม่รู้จักพอ’ เช่นที่คนในสังคมตำหนิได้หรือเปล่า เมื่อชีวิตของแสงไม่ได้ตั้งต้นที่ศูนย์ แต่เริ่มมาจากติดลบและยากจะผลักดันตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตพื้นฐานเทียบเท่าคนอื่น

สมหมายเล่าว่าสมัยที่เธอไปทำงานอยู่พัทยา คนในหมู่บ้านไม่ต้อนรับเธอ ผู้ชายในหมู่บ้านมองเธออย่างดูถูกและเข้ามาเกาะแกะเธอแม้ว่าพวกเขาจะมีภรรยาอยู่แล้ว แต่เมื่อเธอย้ายไปอยู่เดนมาร์กและช่วยเหลือหญิงสาวในหมู่บ้านให้ได้ไปแต่งงาน ทำให้คนในหมู่บ้านเห็นคุณค่าเธอมากขึ้น เมื่อลูกหลานของพวกเขาส่งเงินมาช่วยจุนเจือที่บ้านได้

ทุกวันนี้หมู่บ้านของเธอเปิดกว้างมากขึ้นกับคำว่า ‘เมียฝรั่ง’ เมื่อผู้หญิงที่แต่งงานกับคนต่างชาติกลับมาช่วยสร้างวัดทำให้หมู่บ้านพัฒนาขึ้น

“พอหนังฉายที่เดนมาร์ก คนไทยดูแล้วด่าป้ากันใหญ่เลยว่าเอาประเทศตัวเองไปขาย ไปบอกว่าเป็นกะหรี่ เอาคนเต้นที่พัทยามาให้ดู ทำให้คนอื่นมองประเทศเราไม่ดี คนที่โกรธเขาบอกว่า ฉันไม่ได้มาแบบเธอ ฉันเจอกับแฟนฉันเอง เราก็ไม่ได้ว่าเขา เพราะไม่ว่าจะมาแบบไหนยังไงจุดประสงค์เราก็คือมาเพื่อความอยู่รอดไม่ต่างกัน”

 

 

ชีวิตที่ดี ไม่มีที่นี่

 

สังคมไทยส่วนหนึ่งมีภาพแง่ลบต่อ ‘เมียฝรั่ง’ ว่าเป็นผู้หญิงที่หวังตกถังข้าวสาร เกาะสามีกิน หวังไปกอบโกยทรัพย์สินของฝ่ายชายมาให้ครอบครัวตัวเอง แต่สารคดี Heartbound เข้ามาช่วยคลี่คลายภาพอีกด้านที่คนไม่นึกถึง

หญิงไทยที่แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่เดนมาร์กทุกคนต้องทำงานไม่แตกต่างจากชาวเดนมาร์กอื่นๆ ผู้ชายที่สมหมายจับคู่ให้กับสาวไทยไม่ใช่เศรษฐี แต่เป็นคนทำงานทั่วไป พนักงานบริษัท หนุ่มโรงงาน ซึ่งไม่ได้มีเงินถุงเงินถังจะปรนเปรอให้บ้านฝ่ายหญิง แต่สภาพสังคมและสวัสดิการรัฐทำให้ชีวิตคนเดนมาร์กมีความมั่นคงในการสร้างครอบครัวและเข้าถึงโอกาสการทำงาน

หญิงไทยส่วนใหญ่มักทำงานที่คนเดนมาร์กไม่นิยม เช่น งานทำความสะอาดหรืองานกะดึก แม้ไม่ใช่งานที่ทำให้ร่ำรวยแต่ก็เป็นงานที่เลี้ยงชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แตกต่างจากในประเทศไทย งานประเภทเดียวกันกลับได้ค่าตอบแทนที่ห่างไกลจากคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดี

สมหมายบอกว่าคู่รักที่เธอรู้จักส่วนมากจะแยกกระเป๋าเงินกัน ภรรยาอาจดูแลเรื่องค่าอาหารในแต่ละวันบ้าง แต่สามีจะไม่ยุ่งกับเงินเดือนภรรยาทำให้ฝ่ายหญิงเก็บเงินส่งมาช่วยครอบครัวที่ไทยได้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ครอบครัวที่ไทยหรือคนในหมู่บ้านมองว่าเป็นเมียฝรั่งแล้วโชคดี สามารถเลี้ยงทั้งครอบครัวให้สุขสบายได้ แต่แท้จริงแล้วพวกเธอเหล่านี้ทำงานหนักเพื่อหวังยกระดับชีวิตคนที่บ้าน โดยคนอื่นจะเห็นเพียงภาพการใช้จ่ายเงินเมื่อพวกเธอกลับไปที่หมู่บ้านในไทย แต่ไม่เคยเห็นภาพพวกเธอขณะทำงานหนักเลย

เรื่องเล่าจากสารคดีทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมผู้หญิงอีสานต้องดิ้นรนหาทางแต่งงานไปอยู่เมืองนอกเพื่อไปทำงานใช้แรงงานที่คนเดนมาร์กเองก็ไม่อยากทำ

สิ่งที่พวกเราค้นพบยิ่งน่าเศร้า เพราะการทำงานหนักในประเทศไทยให้ไม่ได้แม้กระทั่งคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ยิ่งสำหรับคนที่ต้องดูแลหลายชีวิตในครอบครัวแล้ว งานประเภทนี้ไม่สามารถทำให้ใช้ชีวิตได้จริง

หลังสารคดีเรื่องนี้เดินทางไปฉายหลายประเทศในยุโรป สมหมายเจอคำถามซ้ำๆ ว่า ทำไมลูกผู้หญิงต้องเป็นคนดูแลพ่อแม่และครอบครัว ทำไมลูกผู้ชายไม่ทำหน้าที่นี้

“เราตอบไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ใช่การบังคับ อีกอย่างที่ตอบไม่ได้คือทำไมประเทศไทยไม่มีสวัสดิการดูแล ขนาดโปแลนด์เขายากจนยังมีสวัสดิการเลย ไม่เหมือนบ้านเรา”

แม้สมหมายจะเสียภาษีถึง 39% แต่เธอยืนยันว่าสิ่งที่ได้กลับมานั้น ‘คุ้มค่า’ ตอนแรกที่ไปอยู่เธอไม่รู้เรื่องสวัสดิการรัฐ และตกใจเมื่อรู้ว่าเธอไม่ต้องเสียเงินสำหรับการเอาลูกเข้าโรงเรียน กระทั่งเสื้อผ้าสมุดดินสอทางโรงเรียนก็มีให้หมด รวมถึงการรักษาพยาบาลฟรี ทำให้เธอไม่ต้องเก็บเงินส่งลูกเข้าเรียนหรือเก็บเงินก้อนเผื่อเจ็บป่วย คนไทยที่ไปทำงานที่นั่นจึงมีเงินเก็บกลับบ้าน

“ที่เดนมาร์กผู้หญิงไม่ต้องง้อผัวเหมือนไทย สามีภรรยาต้องทำงานทั้งคู่ ถ้าอยู่บ้านก็ต้องทำหน้าที่ไม่ต่างกัน ทั้งทำกับข้าว เลี้ยงลูก ซักผ้า ถ้าสังคมเรามีสวัสดิการช่วยเหลือบ้าง ผู้หญิงคงไม่ต้องง้อผู้ชายขนาดนั้น พอมีสวัสดิการผู้หญิงก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าเราจะอยู่กับใครก็ได้”

สมหมายยกตัวอย่างสวัสดิการดูแลคนชรา เมื่อภาระการดูแลพ่อแม่ชราตกเป็นของลูกผู้หญิงทำให้เธอออกไปทำงานนอกบ้านไม่ได้ ต้องพึ่งพิงรายได้ของสามีจนไม่มีอำนาจต่อรองแม้จะถูกกระทำความรุนแรง เพราะไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ หากรัฐมีสวัสดิการดูแลคนชราจะทำให้คนที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้เป็นอิสระ และมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น

“อยากบอกรัฐบาลให้ดูแลเรื่องการศึกษาและสุขภาพอนามัยประชาชนให้ดีขึ้นกว่านี้ ถ้ารัฐบาลดูแลเรื่องการศึกษาของลูกและความเจ็บป่วยของพ่อแม่ได้ เงินที่เราหามาจะได้เอาไปดูแลส่วนอื่น ผู้หญิงจะได้ไม่ต้องไปดิ้นรนอดทนถึงบ้านเมืองอื่น เราไปเห็นประชาชนประเทศอื่นอยู่อย่างมีความสุข แล้วคิดว่าทำไมเราอยู่แบบนั้นไม่ได้ อยากให้ดูแลประชาชนดีกว่านี้ ไม่ให้เหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก”

คำพูดอันชัดเจนและตรงไปตรงมาของสมหมายสะท้อนความรู้สึกของหลายๆ คนที่เจอปัญหาเดียวกัน สำหรับสมหมายประเทศไทยยังคงเป็น ‘บ้าน’ ที่เธอฝันอยากกลับมาอยู่ในบั้นปลายชีวิต แต่ ‘บ้านที่อยู่ไม่ได้จริง’ คงไม่ใช่จุดหมายที่ทำให้ใครๆ อยากหวนกลับ

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save