fbpx
Hearable Device เมื่อมือถืออยู่ในรูหู

Hearable Device เมื่อมือถืออยู่ในรูหู

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

นิทานไฮเทคที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ กิระดังได้ยินมาจาก Fast Company ว่า ราวกลางปีที่แล้ว มีบริษัทสตาร์ตอัพเทคแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Doppler Labs ได้ส่งอุปกรณ์ชนิดหนึ่งให้กับทั้งไมโครซอฟท์และแอปเปิ้ล (รวมถึงอีกหลายบริษัท) เพื่อทดลองใช้

 

คนที่ได้รับอุปกรณ์ที่ว่านี้ มีตั้งแต่บิล เกตส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร่วม ไปจนถึงซีอีโออย่างสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ส่วนในฝั่งแอปเปิ้ลก็มีเอ๊ดดี้ คิว (Eddy Cue) ซึ่งดูแลด้านอินเตอร์เน็ต และจิมมี ไอโอไวน์ (Jimmy Iovine) ที่ดูแลเรื่องหูฟัง Beats ของแอปเปิ้ล นอกจากนี้ยังส่งให้กับอเมซอน เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล และเทนเซนต์ด้วย

อุปกรณ์ที่ว่านี้คืออะไร?

มันคือหูฟังไร้สายที่เรียกว่า Here One แต่มันไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นหูฟังอย่างเดียว ทว่าสามารถกันเสียงรบกวนต่างๆ จากภายนอกได้ รวมทั้งสามารถขยายเสียงของใครบางคนที่เราต้องการให้ดังขึ้นได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก แต่ที่น่าทึ่งที่สุด ก็คือมันมีโปรแกรม ‘แปลภาษา’ คือถ้าอีกฝ่ายพูดมาเป็นภาษาสเปน เครื่องนี้ใช้เวลาครึ่งวินาทีก่อนจะแปลแล้วพูดออกมทาเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้คนที่ใช้หูฟังนี้เข้าใจได้ในทันทีว่าอีกฝ่ายพูดอะไรอยู่

Doppler’s Labs อยากจะขายเทคโนโลยีนี้ให้ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย แต่ปรากฏว่า ‘ดีลไม่ดัน’ อาจเพราะราคาสูงไปหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่สุด Doppler ก็เลยปิดตัวไป แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น เพราะ Fast Company รายงานว่า อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็มี 3 เจ้า ที่อเมซอน แอปเปิ้ล และกูเกิ้ล ที่สนใจจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา

เราเคยคุ้นกับ Wearable Device กันดีแล้วในตอนนี้ แต่ว่ากันว่าในเวลาอีกไม่นาน เราจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า Hearable Device

ซึ่งก็คือเจ้าหูฟังแสนฉลาดเหล่านี้นี่แหละครับ

คำว่า Hearable คือคำผสมระหว่าง Wearable กับ Headphone พูดง่ายๆ มันก็คือการรวมเอาคุณสมบัติแบบ Wearable Technology มาทำให้ ‘เล็ก’ ลงไปอีกขั้น ถึงขนาดเป็น Earbud หรือหูฟังจิ๋วที่เสียบเข้าไปในรูหูของเราได้นั่นแหละครับ

แม้ว่า Dopplers จะก้าวหน้าในเรื่องนี้มากถึงขั้นทำให้ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีต้องทึ่ง แต่เอาเข้าจริง คำคำนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แล้วนะครับ โดยบริษัทอย่างแอปเปิ้ล ที่ในตอนนั้นน่าจะกำลังออกแบบหูฟัง Airpod ที่เราคุ้นเคยกันดีในตอนนี้นี่แหละ

คำถามที่หลายคนอาจอยากรู้ก็คือ แล้ว Hearable Device มันทำอะไรได้บ้าง

คำตอบใหญ่ที่สุดก็คือ หูฟังพวกนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่หูฟังอีกต่อไป แต่มันจะทำหน้าที่แบบเดียวกับที่ Wearable Device ทำ นั่นก็คือการวัดค่าต่างๆ ในร่างกายของเราอย่างที่เรียกว่า Biometrics  ดังนั้น Hearable Device จึงทำอะไรๆ ได้หลายอย่างทีเดียว เช่น

-วัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ (ผ่านเส้นเลือดที่หู) อุณหภูมิร่างกาย (ซึ่งวัดค่าได้ดีกว่าคาดไว้ที่ข้อมือ) ความดันเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสัญญาณอื่นๆ อีกมาก

-ตรวจจับกิจกรรมต่างๆ อันนี้ก็เหมือนกับ Wearable Device ทั่วไป คือดูการขยับตัว การออกกำลังกายต่างๆ

-สามารถระบุตัวตนได้ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Biometric Personal Identification โดยการระบุตัวตนเจ้าของหูฟังจากคลื่นเสียง รวมไปถึงลักษณะของหู

-การแปลภาษาโดยฉับพลัน

-สามารถคัดกรองเสียงได้ ว่าจะฟังเฉพาะเสียงของใครคนใดคนหนึ่ง หรือตัดเสียงรบกวนแบบไหนออกไป

 

ฟังจากคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้แล้ว หลายคนอาจรู้สึกว่ามันมีอยู่ในมือถือของเราอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นอย่างที่ Fast Company บอกไว้ คือ The Future is Ear แล้วละก็ เราจะเปลี่ยนจากการพิมพ์มาเป็นการพูดแทน และต่อไปในอนาคต ‘หู’ และ ‘หูฟัง’ ก็จะทำอะไรๆ ได้มากกว่ามือถือ ทั้งนี้ก็เพราะหูอยู่ใกล้กับปากของเรามากกว่า มันจึง ‘เข้าใจ’ คำพูดของเราได้มากกว่า ทั้งยังทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาที่เราหลับ ไม่เหมือนกับตา

ดังนั้นเวลาที่เราทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย เช่น ขับรถ เราจึงยังสามารถพูดและฟังได้ด้วย ยิ่งถ้าเรามีเซนเซอร์ใหม่ๆ ที่ใช้งานได้ดีขึ้นและเหมาะสมกับการพูดและการฟัง อุปกรณ์ Hearable ก็จะทำอะไรๆ ได้อีกมาก เช่น มันจะรู้ว่าศีรษะของเราจะหันไปทางไหนเวลาเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายของเราได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ Hearable ก็มีความท้าทายหลายอย่าง เช่น ต้องมีขนาดเล็ก ต้องน้ำหนักเบามากๆ ต้องสอดรับกับหูของเรา และต้องมีแบตเตอรี่มากพอจะใช้ไปได้นานๆ ยังไม่นับรวมความแข็งแรงทนทานต่างๆ ด้วย แต่ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือขี้หู เพราะมันอาจมาอุดตันอุปกรณ์ Hearable ได้ รวมไปถึงปัญหาทางจิตวิทยา เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการใช้อุปกรณ์แบบนี้ทำให้เกิดอาการ ‘พูดคนเดียว’ ขึ้นมา พบว่ามีคนอเมริกันแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเองที่รู้สึกสบายอกสบายใจมากพอจะพูดคุยกับผู้ช่วยทางเสียงในที่สาธารณะได้ แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกแปลกๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ก็คือกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟัง แต่ในปี 2017 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายใหม่ที่เรียกว่า OTC Hearing Aid Law of 2017 ซึ่งจะมีผลในปี 2020 คือผ่อนคลายความเข้มงวดในการซื้อขายเครื่องช่วยฟัง ซึ่งแต่เดิมเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น แต่เมื่อมีกฎหมายนี้ออกมา เราจะสามารถซื้อขายเครื่องช่วยฟังได้โดยไม่ต้องรอแพทย์สั่ง ซึ่งจะทำให้ตลาดในด้านนี้เติบโตขึ้นมาก

แม้ตอนนี้เราอาจยังไม่มองไม่ค่อยออกว่า Hearable Device จะเข้ามาแทนที่มือถือได้อย่างไร แต่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีกำลังทดลองและสร้างสรรค์อุปกรณ์ที่ว่านี้อยู่ นั่นแปลว่าเราอาจได้เห็นและได้ลองใช้ Hearable Device กันในเร็วๆ นี้

 

และมันอาจเปลี่ยนโลกแห่งมือถือไปตลอดกาลก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save