fbpx

ความจริงนโยบายสาธารณสุข โจทย์ท้าทายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง: ตอนที่ 2 บริการยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน

บทความชุดนี้ผมตั้งใจให้เผยแพร่หลังเลือกตั้ง ด้วยไม่ประสงค์ให้คนอ่านเข้าใจว่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางด้านสุขภาพของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ระดมลดแลกแจกแถมเพราะเชื่อว่าจะเป็นที่ถูกใจผู้มีสิทธิลงคะแนน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่แน่ใจว่านโยบายด้านสาธารณสุขจะมีส่วนสำคัญเพียงไรต่อการตัดสินใจลงคะแนน เป้าหมายของบทความจึงมุ่งแบ่งปันมุมมองว่าด้วยเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพไทย

เท่าที่ได้อ่านจากแผ่นป้ายหาเสียง การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และเรื่องเล่าที่ได้ยินมา โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังการสนทนาในเวทีที่จัดโดย the active ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนลงคะแนน โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลที่อย่างไรก็ต้องมีนโยบายด้านสุขภาพเสนอต่อสภาฯ หรืออยู่ในการดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เมื่อครั้งหาเสียงอาจมีนโยบายเพียงบางข้อที่จะพูดถึง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว หลายพรรคอาจมีการปรับเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นและอาจมีแนวคิดในเรื่องเดียวกันที่หลากหลายขึ้น เพราะจากเวทีสนทนา ชัดเจนว่าแม้ในเรื่องเดียวกัน แต่ว่าแต่ละพรรคก็มีแนวคิดและแนวทางไม่เหมือนกัน อาจทำให้ระบบสุขภาพในประเทศไทยมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยได้มากขึ้น

พร้อมกันนั้นก็หวังให้เป็นประโยชน์กับประชาชนเพื่อทำความรู้จักกับมิติเชิงระบบและรายละเอียดบางอย่างที่สำคัญ และอาจไม่เป็นที่รับรู้หรือเห็นความสำคัญมากนักในสังคมโดยรวม แต่มีประโยชน์และผลกระทบหากได้รับการพัฒนาในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง

ผมมีห้าเรื่องสำคัญที่จะพูดถึงในชุดบทความนี้คือ (1) ความแออัดที่โรงพยาบาล (2) บริการยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน (3) การรวมกองทุน (4) การเพิ่มสิทธิประโยชน์สารพัด และ (5) การเอาศักยภาพระบบสุขภาพมาสร้างรายได้ให้ประเทศ

อ่าน ความจริงนโยบายสาธารณสุข โจทย์ท้าทายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง: ตอนที่ 1 ความแออัดที่โรงพยาบาล

บริการยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน

การได้รับบริการที่ดียามเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ดูเหมือนไม่มีพรรคการเมืองใดให้ความสำคัญมากนัก แต่ในเวทีพูดคุยมีการพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวข้อง และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีผู้เขียนบทความพูดถึง ‘ความฝัน’ ระบบสุขภาพหลังเลือกตั้งที่อยากให้มีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีกว่าปัจจุบัน

นโยบายเกี่ยวกับบริการฉุกเฉินที่พรรคการเมืองพูดถึงในเวทีสนทนา คือการเสนอว่าปัจจุบันนี้ระบบบริการฉุกเฉินให้สิทธิประชาชนใช้บริการที่ไหนก็ได้โดยให้เวลา 72 ชั่วโมงก่อนที่จะต้องส่งกลับคืนไปยังเครือข่ายบริการที่บุคคลผู้นั้นมีสิทธิในระบบ ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะขยายจาก 72 ชั่วโมงเป็นห้าวัน

คำถามคือการยืดเวลาจาก 72 ชั่วโมงเป็นห้าวัน แก้ปัญหาตรงไหนของระบบฉุกเฉินในมุมของประชาชน

ถ้าอ้างถึงบทความที่ฝันอยากเห็นบริการฉุกเฉินที่ดีขึ้น ผู้เขียนบทความอยากให้ประชาชนที่ไม่มีเงินได้รับการดูแลกรณีฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว หรือไม่ต้องรอนัดไปนานๆ ถ้าต้องส่งต่อหลังแก้ปัญหาฉุกเฉินแล้ว  

จุดที่ต้องแก้ปัญหาอาจจะอยู่ที่คุณภาพของบริการที่ห้องฉุกเฉิน ไม่ใช่การยืดเวลาการรักษาตัวที่ไหนก็ได้  

ถ้าบอกว่าการยืดวันจาก 72 ชั่วโมงเป็นห้าวันตามเงื่อนไขของสิทธิที่มีอยู่ (ของทุกกองทุน) คือการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะประชาชนที่มีรายได้ไม่มากสามารถใช้บริการในภาคเอกชน (ที่บริการรวดเร็วกว่า ตามบทความที่ว่า) ได้ด้วยความมั่นใจ เพราะหลังห้าวันแทบไม่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือไม่ก็อาจกลับไปใช้บริการตามสิทธิได้โดยมีภาระการเงินไม่สูงแล้ว ก็อาจต้องกลับมาตั้งคำถามหลักว่าระบบปัจจุบันที่ให้สิทธิอยู่แล้ว 72 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนที่ไม่มีรายได้สูงมากไปใช้บริการเอกชนที่รวดเร็วกว่าได้มากน้อยเพียงไร (หรือส่วนใหญ่ยังไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะต้องจ่ายเพิ่มไม่น้อย)

คำถามที่น่าตั้งต่อไปคือเรามาทำให้ระบบบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐ เป็นห้องฉุกเฉินที่ให้บริการเร็วและการนัดต่อเนื่องไม่ต้องรอนานเกินไปได้หรือไม่ เพราะโจทย์ที่แท้จริงอาจเป็นคุณภาพของบริการห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐหรือไม่ และคุณภาพที่ว่าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและความรู้สึก (กังวล) ไม่ใช่เรื่องคุณภาพคนหรือเครื่องมือ

ถ้าจะให้เข้าใจดีขึ้น อาจต้องพาไปทำความเข้าใจกับ ‘ธรรมชาติของห้องฉุกเฉินกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน’ กันก่อน

คนทั่วไป (รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุข) มักเข้าใจว่าห้องฉุกเฉินมีไว้สำหรับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งแปลว่า ‘ถ้าไม่ได้รับการรักษาในเวลาอันรวดเร็วจะถึงแก่ชีวิต’

ความเจ็บป่วยที่เข้าข่ายดังกล่าวมีอยู่จริง และจำเป็นต้องมีระบบที่จะตอบสนองอย่างรวดเร็ว มีทีมงานและเครื่องมือที่มีคุณภาพ แต่ปัญหาคือถ้าดูปัญหาสุขภาพที่มาที่ห้องฉุกเฉินจะพบว่าผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยไม่ได้เป็นไปอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่สร้างความขุ่นข้องหมองใจ จนถึงระดับขัดแย้งรุนแรงที่ห้องฉุกเฉินอยู่เสมอ

ยิ่งถ้าระบบบริการหลักที่ตรวจรักษาผู้ป่วยทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ในขณะที่ห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง และความเจ็บป่วยก็เกิดขึ้น 24 ชั่วโมง นี่เป็นสถานการณ์และความยากลำบากที่คนทำงานในห้องฉุกเฉินพบเป็นปกติ อย่างน้อยก็วันละ 16 ชั่วโมงที่ห้องฉุกเฉินต้องรับหน้าคนไข้อยู่คนเดียว

ปัญหานี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก ยิ่งประเทศที่ระบบปกติ มีการนัด และเกิดคิวรอที่บ้านมาก โอกาสที่จะพบปัญหาไม่ฉุกเฉินในห้องฉุกเฉินก็ยิ่งมาก ที่ทำให้เรื่องยากไปกว่านั้นคือประชาชนไม่ได้คิดว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่แท้จริงต้องมีแต่กลุ่มที่จะตายถ้าไม่ได้รับการรักษาทันเวลาเท่านั้น แต่คืดว่าการเจ็บป่วยที่สร้างความทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหว หรือไม่อยากทน ก็ถือเป็นความเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย

ถ้าคิดตามเกณฑ์นี้ก็น่าจะต้องบอกว่าคนไข้ห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่วง 16 ชั่วโมงที่ระบบปกติปิดทำการ ส่วนใหญ่คือผู้ป่วยฉุกเฉินจริง (ในความรู้สึกของชาวบ้าน) คงมีอยู่บ้างที่มารับบริการเพราะสะดวกกับตนเอง แม้ไม่ได้สร้างความทุกข์ทรมานจนทนไม่ได้

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องลองเก็บข้อมูลปัญหาที่พบในห้องฉุกเฉินมาดูกัน เพราะระบบบริการของไทยที่เป็นอยู่ก็มีความสะดวกไม่น้อย ในแง่ที่ว่าถ้ารู้สึกเจ็บป่วยนอกเวลาทำงานของระบบปกติ พรุ่งนี้ก็สามารถไปขอรับบริการได้ ถ้าเป็นระบบที่ต้องนัดก่อน คนที่มีอาการนอกเวลาระบบปกติก็จะเริ่มกังวลมากว่าแล้วจะได้พบหมอเมื่อไหร่ อย่างไรก็ขอไปห้องฉุกเฉินไว้ก่อน

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ที่ได้ชื่อว่าเป็นกูรูด้านบริหารจัดการเคยเล่าไว้ในหนังสือที่พูดถึงเรื่องการบริหารองค์กรสาธารณะกุศล พูดถึงการไปช่วยทีมงานห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลหาพันธกิจของห้องฉุกเฉินว่าคืออะไร

ในตอนแรกแรกส่วนใหญ่ก็จะออกมาในลักษณะแบบเดิมๆ คือ ‘การทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ แต่เมื่อคุยกัน สะท้อนประสบการณ์ที่พบ ข้อสรุปที่ได้คือพันธกิจห้องฉุกเฉินคือ ‘การสร้างความมั่นใจ’ – reassurance!

อธิบายขยายความว่าผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉุกเฉินจริงแบบที่หมอพยาบาลเข้าใจ หรือตั้งใจมาดูแลในห้องฉุกเฉิน และหากจะพยายามดูแลให้รวดเร็วทันเวลา ก็จะผิดจากความจริงของห้องฉุกเฉินที่มีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือจำกัด สิ่งหนึ่งที่มักทำคือการมีระบบ triage เพื่อแยกคนไข้ที่ฉุกเฉินจริงออกมาเพื่อให้ดูแลได้ทันท่วงที แต่ก็มักปล่อยให้คนที่ไม่เข้าข่ายรอเป็นความสำคัญลำดับรอง และเมื่อได้พบหมอก็มักมีเวลาไม่มาก ความกังวลที่เป็นต้นเหตุพามาห้องฉุกเฉินก็ไม่หมดไป การดูแลคนไข้ของห้องฉุกเฉินจึงต้องมีความสามารถในการรักษาความรู้สึกของคนไข้ด้วย โดยเฉพาะความรู้สึกกลัวและกังวลว่าจะเป็นมากหรือลุกลาม ถ้าไม่รีบจัดการ

คนไข้ฉุกเฉินจริงก็มีเรื่องความรู้สึกกลัวและกังวลที่ต้องดูแล ไม่ว่าจะเป็นของคนไข้เองหรือญาติ เรื่องการดูแลที่เร็วที่สุดดีที่สุดจึงเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญแน่ๆ คือการสร้างความมั่นใจให้คนที่ฉุกเฉินจริงไม่ต้องกังวลและให้คนที่ไม่ฉุกเฉินจริง กลับบ้านด้วยความมั่นใจในการที่จะดูแลตนเอง หรือไปรับการดูแลต่อโดยบุคลากรสาธารณสุขในเวลาอันเหมาะสม

กลับมาที่ธรรมชาติของระบบการดูแลความเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการมีระบบแจ้งขอความช่วยเหลือและมีทีมไปดูแลที่บ้านพร้อมส่งไปรับการดูแลต่อให้ทันท่วงที ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนสำคัญ คือระบบรับแจ้งเหตุกับระบบการออกไปดูแลและรับผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งเดิมระบบนี้ในประเทศไทยแทบไม่มีระบบ คือต่างคนต่างช่วยตัวเอง เพื่อไปให้ถึงโรงพยาบาล จะมีก็เพียงกฎหมายที่กำหนดว่าโรงพยาบาลต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจนพ้นขีดอันตราย ห้ามปฏิเสธเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล (จนมีตัวอย่างเล่าว่าคนไข้หนักที่มาด้วยรถแท็กซี่ โรงพยาบาลจะส่งคนมาดูที่รถ ถ้าหนักก็อาจปฏิเสธ และไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะยังอยู่ในรถแท็กซี่ ไม่ได้มาถึงโรงพยาบาล)

ตั้งแต่ปี 2551 ประเทศไทยตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรถฉุกเฉินที่เชื่อมต่อกับโรงพยาบาล และมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมจ่ายค่ารถรับผู้ป่วยฉุกเฉินจากงบประมาณที่ให้ผ่านสถาบันฯ เหมือนเป็นผู้ซื้อบริการแทนประชาชน และลงทุนพัฒนาระบบดังกล่าวต่อเนื่อง จนมีระบบโทรศัพท์หมายเลขเฉพาะสี่ตัว (1669) ที่เชื่อมต่อให้สามารถแจ้งเหตุไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยรวดเร็ว และนำส่งต่อโรงพยาบาลได้โดยใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุด

การสร้างระบบให้มีรถรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินโดยต้องเล่นบทกำกับดูแลคุณภาพ นอกเหนือจากเป็นผู้จ่ายเงิน ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ต้องใช้รถส่วนตัวหรือหารถแท็กซี่ แล้วยังอาจต้องตะลอนว่าจะได้รับความกรุณาจากโรงพยาบาลที่ตัวเองเดินทางไปถึงเองหรือไม่ ก่อนหน้ามีระบบรถฉุกเฉิน เคยมีระบบแค่สอบถามว่าที่ไหนมีเตียงว่าง (โดยสมมติฐานว่าคนไข้ฉุกเฉิน อย่างไรก็ต้องอยู่โรงพยาบาล) ปรากฏว่าศูนย์วิทยุจะหนักใจมากโดยเฉพาะใน กทม. เพราะโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในเครือข่ายมักแจ้งว่าไม่มีเตียงว่าง

ที่พูดถึงเรื่องระบบรถฉุกเฉินเพื่อบอกว่าครั้งหนึ่ง pain point ของคนไข้ฉุกเฉินอยู่ที่ตรงนี้ แต่พอมีระบบแล้วก็ดูเหมือนว่าระบบที่ทำมาไม่ต่ำกว่า 15 ปียังมีเรื่องให้จัดการเพิ่มคุณภาพอีกมากมาย แต่ดูเหมือนไม่กลายเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ฝ่ายการเมืองมองเห็น ในขณะที่ระบบดังกล่าวที่เหมือนจะดี เกิดปัญหาว่าผู้ป่วยอาจถูกรับไปที่โรงพยาบาลที่ตัวเองไม่มีสิทธิ ต่อมาจึงเกิดนโยบายและระบบให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ และยังได้รับการคุ้มครองจากกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ตัวเองสังกัดอยู่ แต่ก็ได้ผลน้อย ผู้ป่วยที่ถูกรับไปโดยรถฉุกเฉินยังมีผู้ที่ถูกเรียกเก็บเงิน (โดยเฉพาะเมื่อโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเป็นโรงพยาบาลเอกชน หรือต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลเอกชนด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ) จึงมีการปรับนโยบายให้กระชับขึ้นอีก เพื่อลดโอกาสที่ผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องรับภาระการเงินในช่วงป่วยฉุกเฉิน ด้วยการกำหนดวิธีจ่ายที่เพิ่มแรงจูงใจให้โรงพยาบาลมากพอที่จะไม่เรียกเก็บจากผู้ป่วย แต่จำกัดว่าจะจ่ายให้เพียง 72 ชั่วโมง จนเป็นที่มาของนโยบายที่อยากขยายเป็นห้าวัน (120 ชั่วโมง) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยลด pain point ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้นแค่ไหนเพียงไร และเพิ่มค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายอีกเพียงไร และในที่สุดถ้าเอางบประมาณไปลงทุนพัฒนาส่วนอื่นของระบบฉุกเฉิน จะเกิดประโยชน์คุ้มค่ากว่าหรือไม่ อย่างไร

แต่ถ้ามองโดยรวม ระบบรองรับเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉิน น่าจะมีสองระบบย่อยที่สำคัญ หนึ่ง-ระบบแจ้งขอความช่วยเหลือและรับผู้ป่วยไปรับการดูแลได้ทันท่วงที สอง-ระบบห้องฉุกเฉินที่มีคุณภาพและพร้อมจะดูแลผู้ป่วยที่ฉุกเฉิน ทั้งจากมุมทางการแพทย์ และมุมผู้ป่วย อย่างที่อธิบายมาข้างต้น

ถ้าดูจากสถิติของระบบรถฉุกเฉินที่เครือข่ายครอบคลุมไม่น้อย เทียบกับสถิติผู้ป่วยที่มาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจะพบว่าผู้ป่วยที่มาที่ห้องฉุกเฉินมีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ใช้บริการ 1669 หรือเรียกรถพยาบาลไปรับ จำนวนไม่น้อยหาทางมาที่ห้องฉุกเฉินเอง ซึ่งอาจมาจากสาเหตุว่าระบบไม่เป็นที่รู้จักหรือรู้จักแต่ไม่มั่นใจ หรืออาจมาจากที่ผู้ป่วยเองก็ประเมินว่าอาการของตนอาจไม่เข้าข่ายเรียกรถมารับ แต่ก็ยังกังวล อยากไปตรวจให้แน่ใจ  

แปลว่าถ้าห้องฉุกเฉินไม่เป็นที่วางใจ หรือไม่สามารถดูแลทั้งฉุกเฉินจริงอย่างรวดเร็วและฉุกเฉินที่กังวลได้อย่างเข้าใจ คนไข้ก็อาจต้องเผชิญความยากลำบากที่จะต้องเลือกไปที่ที่ราคาแพง แม้จะไม่ค่อยมีปัญญาจ่าย หรือไม่ก็ต้องยอมทนกับระบบที่แน่นกว่าที่ควร และมองเห็นผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินด้วยความกังวลเป็น ‘สิ่งไม่พึงประสงค์’

ในขณะที่ระบบรับผู้ป่วยฉุกเฉินและให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินมากไป แม้ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน (เรียกสั้นๆ ว่าระบบ 1669 กับระบบฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง) ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ (เช่นไปถึงจุดเกิดเหตุหรือคนไข้ในเวลาไม่เกิน 8 นาที หลังได้รับผู้ป่วยก็ติดต่อประสานกับโรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยได้ โดยไม่ต้องรอให้ไปถึงโรงพยาบาลก่อน)

อีกระบบที่สมควรได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างจริงจังคือคุณภาพการทำงานที่ห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีทั้งเรื่องระบบการทำงาน (ที่สามารถสร้างความมั่นใจกับผู้ป่วยทั้งสองประเภทฉุกเฉินอย่างที่เล่ามา) กับจำนวนบุคลากร และเครื่องมือเครื่องไม้ที่ดี (ซึ่งรวมถึงระบบปรึกษาทางไกลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้โรงพยาบาลขนาดไม่ใหญ่ที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ สามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากกว่าการพยาบาลเบื้องต้น)

ขอเล่าเรื่องจริงว่าด้วยห้องฉุกเฉินที่เคยคุยกันเหมือนเรื่องตลก(ร้าย) แต่เป็นความจริง และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ แม้จะผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว

ในปี 2534 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ที่ผู้มาร่วมประชุมนับเป็นบุคคลสำคัญทางการเงินจากหลากหลายประเทศนานาชาติ รัฐบาลจัดขบวนรถแขกที่มาร่วมประชุมโดยจ้างบริษัทเอกชน บริษัทอบรมพนักงานขับรถ พร้อมคำสั่งชัดเจนว่าหากแขกเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่าเข้าไปที่โรงพยาบาลของรัฐให้ตรงไปที่โรงบาลของเอกชน

ไปที่โรงพยาบาลเอกชนจะมั่นใจว่าได้รับดูแลที่ดีและรวดเร็ว ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐ อาจต้องผ่านขั้นตอนมากมาย แถมต้องไปรอคิว เพราะเป็นที่รู้กันเรื่อง ‘วางรองเท้าเข้าคิว’ ว่าเป็นปกติที่โรงพยาบาลรัฐ

ทราบว่าประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการประชุมนี้อีกครั้งในปี 2569 ห่างจากครั้งก่อน 35 ปีพอดี ก็ได้แต่ฝันว่า  บริษัทจัดรถรับส่งแขกวีไอพีจะไม่ต้องอบรมและมีคำสั่งอย่างที่เคยให้ เพราะห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลรัฐมีคุณภาพ แยกแยะผู้ป่วยฉุกเฉินจริงและดูแลได้ทันท่วงที และไม่มีภาระเกิน ส่วนที่ไม่ฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตหรือเป็นอันตรายมากก็สามารถอธิบายชี้แจง จนสร้างความมั่นใจ คลายกังวลได้เป็นอย่างดี

พูดถึงเรื่องทำให้ห้องฉุกเฉินไม่มีภาระมากเกิน กับเรื่องทำให้โรงพยาบาลขนาดไม่ใหญ่มีระบบปรึกษาเพื่อให้ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ (ไม่ต้องรอมาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว) มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ประเทศไทยได้ทำอยู่บ้าง แต่ถ้ารัฐบาลใหม่จะทำให้ดีขึ้นจริงจัง ก็จะเป็นการเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

เรื่องแรกคือการที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ โดยมีระบบปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพริเริ่มไปสองเรื่อง คือการให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนสามารถวินิจฉัยและให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่คนไข้ที่เข้าข่ายเส้นเลือดหัวใจอุดตันหรือเส้นเลือดสมองอุดตันได้ และให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เข้าใจเพื่อแนะนำหรือส่งต่อไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แทนที่จะต้องไปโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองหรือหัวใจที่อาจยังอยู่อีกไกลมาก

การที่ชาวบ้านมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อแจ้งการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นระบบ 1669 ที่เรียกรถมารับ แต่ขอคนใกล้ๆ มาช่วยดูก่อน ก็เป็นอีกตัวอย่างเล็กๆ ที่เคยริเริ่ม จนมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งเคยมีนโยบายทีมหมอครอบครัว และมีการแจกเบอร์โทรศัพท์พร้อมชื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่นานหลังจากนั้นได้รับโทรศัพท์กลางดึกจากชาวบ้านที่อยู่ไม่ไกล รพ.สต. บอกว่าสามีมีอาการสะลึมสะลือ ไม่รู้ตัว จะให้ทำอย่างไรดี เมื่อไปถึงเห็นอาการไม่เหมือนสมองขาดเลือด ลองให้น้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นเลือดเพราะคิดว่าเป็นอย่างแรกที่ตัวเองทำได้ และถ้าได้ผลก็จะรู้ได้ในเวลาไม่นาน ถ้ายังไม่ดีขึ้น และอาจเป็นปัญหาเรื่องเส้นเลือดในสมองจึงค่อยโทรปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลต่อไป ปรากฏว่าคนไข้อาการดีขึ้น

ในเชิงระบบบอกว่าการให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องมีทั้งระบบที่ชาวบ้านโทรหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านได้  (ระบบปฐมภูมิที่เป็นเพื่อนชาวบ้าน เหมือนที่พูดถึงในเรื่องลดความแออัดในโรงพยาบาล) ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็วางใจ หรือมั่นใจว่ามีผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญให้ปรึกษาได้ (ปรึกษาแล้วไม่โดนด่า แต่ช่วยกันหาสาเหตุ และสั่งการรักษา)

เรื่องที่สอง เป็นตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่ไทยเราพยายามทำ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ ทำไปสักพักก็อยู่แค่โรงพยาบาลเดียว หรือผ่านไปก็อาจต้องหยุดทำ คือเรื่องระบบให้ข้อมูลการได้รับสารพิษ

อาจารย์สุรจิต สุนทรธรรมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยา และผันตัวมาทำเรื่องระบบการดูแลยามฉุกเฉิน เคยเล่าถึงประสบการณ์ครั้งไปอยู่ที่รัฐแห่งหนึ่งที่อเมริกา ได้ไปเห็นการสร้างเครือข่ายการให้คำปรึกษาทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองกินยาผิด กินยาเกินขนาด หรือได้รับสารพิษ  ระบบการปรึกษามีพนักงานรับโทรศัพท์ให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมง และมีเพียงไม่กี่ศูนย์สำหรับประชาชนทั่วทั้งรัฐ 

ปรากฏว่าหลังจากที่ระบบนี้เริ่มทำงาน ผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินด้วยปัญหาสงสัยว่ากินยาผิดหรือได้สารพิษลดลงไปหนึ่งในสาม เป็นการแสดงว่าการมีระบบให้คำปรึกษา ‘ที่ดี’ จะช่วยสร้างความมั่นใจ ลดการเดินทางของผู้ป่วย และลดภาระห้องฉุกเฉินพร้อมกัน เป็นการยืนยันอีกทางหนึ่งว่าผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยมาเพราะความกังวล ไม่มั่นใจ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วในประเด็นที่หนึ่ง

ทำได้แบบนี้ จะเป็นการพัฒนา ‘ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน’ ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่พัฒนาระบบรถฉุกเฉิน สิทธิค่ารักษา หรือคุณภาพห้องฉุกเฉิน อย่างที่มักจะมองเห็นกันอยู่เป็นส่วนใหญ่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save