fbpx

ความจริงนโยบายสาธารณสุข โจทย์ท้าทายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง: ตอนที่ 1 ความแออัดที่โรงพยาบาล

บทความนี้ผมตั้งใจให้เผยแพร่หลังเลือกตั้ง ด้วยไม่ประสงค์ให้คนอ่านเข้าใจว่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางด้านสุขภาพของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ระดมลดแลกแจกแถมเพราะเชื่อว่าจะเป็นที่ถูกใจผู้มีสิทธิลงคะแนน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่แน่ใจว่านโยบายด้านสาธารณสุขจะมีส่วนสำคัญเพียงไรต่อการตัดสินใจลงคะแนน เป้าหมายของบทความจึงมุ่งแบ่งปันมุมมองว่าด้วยเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพไทย

เท่าที่ได้อ่านจากแผ่นป้ายหาเสียง การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และเรื่องเล่าที่ได้ยินมา โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังการสนทนาในเวทีที่จัดโดย the active ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนลงคะแนน โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลที่อย่างไรก็ต้องมีนโยบายด้านสุขภาพเสนอต่อสภาฯ หรืออยู่ในการดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เมื่อครั้งหาเสียงอาจมีนโยบายเพียงบางข้อที่จะพูดถึง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว หลายพรรคอาจมีการปรับเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นและอาจมีแนวคิดในเรื่องเดียวกันที่หลากหลายขึ้น เพราะจากเวทีสนทนา ชัดเจนว่าแม้ในเรื่องเดียวกัน แต่ว่าแต่ละพรรคก็มีแนวคิดและแนวทางไม่เหมือนกัน อาจทำให้ระบบสุขภาพในประเทศไทยมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยได้มากขึ้น

พร้อมกันนั้นก็หวังให้เป็นประโยชน์กับประชาชนเพื่อทำความรู้จักกับมิติเชิงระบบและรายละเอียดบางอย่างที่สำคัญ และอาจไม่เป็นที่รับรู้หรือเห็นความสำคัญมากนักในสังคมโดยรวม แต่มีประโยชน์และผลกระทบหากได้รับการพัฒนาในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง

ผมมีห้าเรื่องสำคัญที่จะพูดถึงในบทความชุดนี้คือ (1) ความแออัดที่โรงพยาบาล (2) บริการยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน (3) การรวมกองทุน (4) การเพิ่มสิทธิประโยชน์สารพัด และ (5) การเอาศักยภาพระบบสุขภาพมาสร้างรายได้ให้ประเทศ

ความแออัดที่โรงพยาบาล

เรื่องนี้ดูจะเป็น ‘ความทุกข์’ ที่ชัดเจนของประชาชนไทยส่วนใหญ่ แม้จะมีระบบหลักประกันสุขภาพมากว่า 20 ปีแล้ว บ้างก็ว่า เพราะมีระบบหลักประกันถ้วนหน้านี่แหละ ความแออัดเลยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลใด ความแออัดและการรอนานในโรงพยาบาลเป็นโจทย์สำคัญเมื่อพูดถึงนโยบายสาธารณสุข ไม่ต่างจากเรื่องภาระหนี้สินที่อย่างไรผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ต้องเอาใจใส่เมื่อทำนโยบายเศรษฐกิจ 

มีคำอธิบายและข้อเสนอมากมายว่าด้วยปรากฏการณ์แออัดและรอนานที่เป็นปัญหาของระบบสุขภาพไทยมานาน แม้จะได้ชื่อว่าเป็นระบบสุขภาพที่ดีมากแห่งหนึ่งในโลกก็ตาม

คำอธิบายที่ว่ามีตั้งแต่ว่ามีเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นที่มีปัญหานี้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนไม่มี (ซึ่งมีส่วนจริงอยู่มากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะก็ยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่ปล่อยให้คนไข้รออยู่ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐที่มีคุณภาพและไม่ต้องรอนานก็มีอยู่เช่นกัน)

ความแออัดและคิวรอผ่าตัดยาวขึ้นหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะผู้คนมาโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะไม่ต้องจ่ายเงิน (ซึ่งก็เช่นเดียวกับข้อแรกคือมีทั้งส่วนจริงและไม่จริง)

การคมนาคมดีขึ้น ไปโรงพยาบาลสะดวกขึ้น ไม่ต้องไปแต่สถานีอนามัยใกล้บ้าน คนเลยมาแออัดที่โรงพยาบาลใหญ่มากขึ้น

ความต้องการของประชาชนเปลี่ยนไป เพราะเชื่อว่าต้องไปเจอหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้ตรวจด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ จึงจะมั่นใจได้ว่าเป็นการดูแลที่ดีที่สุด

คนเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น จึงต้องไปโรงพยาบาลบ่อยขึ้น เพราะโรคเรื้อรังเป็นแล้วไม่หาย แต่ต้องไปพบแพทย์บ่อยๆ และมักต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น

ฯลฯ

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียง ‘สาเหตุ’ ที่ ‘เชื่อกันว่า’ ทำให้โรงพยาบาลแออัดและต้องรอนาน (ไม่ว่าจะรอจนเสร็จในการไปหาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง หรือรอคิวอยู่ที่บ้าน) ส่วนวิธีการแก้ปัญหาที่เสนอกันก็คงวิเคราะห์กันไปได้อีกเยอะ ไม่ว่าจะตรงกับสาเหตุข้อไหน หรือไม่ได้มาจากสาเหตุที่ว่ามา เพราะไปอยู่ในคำอธิบายอื่นๆ หรืออาจไม่ได้คิดถึงสาเหตุที่เป็นไปได้แต่คิดถึงวิธีแก้เลย เพราะเป็นที่ทราบกันว่าวัฒนธรรมเราเป็นแบบลงมือทำมากกว่าการคิดวิเคราะห์ หรืออาจมาจากความเคยชินที่ชอบบอกคำตอบมากกว่าตั้งคำถามหรือไม่

ปัญหาเรื่องโรงพยาบาลคนแน่นอาจเห็นไม่ชัดนัก ถ้าการไปโรงพยาบาลต้องไปตามนัดเท่านั้น หรือถ้าจะ walk in ก็ไปได้แค่ห้องฉุกเฉิน แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาเรื่องความยากลำบากในการไปรับบริการที่โรงพยาบาลก็อาจไม่ต่างกัน เพราะแทนที่จะไปนั่งรอกันแน่นที่โรงพยาบาลก็แค่เปลี่ยนไปนั่งรอที่บ้าน และถ้านับเวลารอแล้วนั้น กว่าจะได้เจอหมอก็อาจนานกว่ามารอกันแน่นที่โรงพยาบาล แล้วรอไปหลายชั่วโมงกว่าจะจบกระบวนการ ถ้าทนรอที่บ้านไม่ได้ก็ไปห้องฉุกเฉิน เพราะระบบให้ทำแบบนั้น หรือไม่ก็ไปหาหมอใกล้บ้าน (ถ้ามีระบบรองรับ หรือถ้าเป็นคนอเมริกันก็ต้องบอกว่าถ้าซื้อประกันไว้) คงบอกยากว่าแบบไหนจะแก้ปัญหา ‘การรอคอย’ ของคนไข้ได้ดีกว่ากัน

คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการมีระบบนัดที่โรงพยาบาล แม้จะต้องรอนาน แต่ถ้ามีระบบห้องฉุกเฉินดีๆ ก็อาจไม่ทำให้ประชาชนพลาดโอกาสรักษา เสียชีวิตโดยไม่จำเป็น หรือโรคกำเริบจนรักษายาก

บางคนก็ว่าระบบที่ทำให้คนไม่แน่นโรงพยาบาลคือมีระบบอื่นรองรับดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนที่มีมากกว่าห้องฉุกเฉิน โดยทั่วไปก็เรียกว่าระบบปฐมภูมิ แต่บ้างก็ว่าระบบปฐมภูมิไม่ควรมี เพราะมักเป็นระบบที่ดูได้แค่ปัญหาง่ายๆ และอาจกลายเป็นตัวทำให้โรคกำเริบ ไม่เป็นธรรมกับผู้ป่วย

นี่ว่ากันเฉพาะแนวคิดใหญ่ๆ ว่าด้วยการแก้ปัญหาโรงพยาบาลแน่น คนไข้ต้องรอนาน (ไม่ว่าจะรอที่บ้านหรือรอที่โรงพยาบาล) จะขอไม่วิเคราะห์ว่าแนวคิดเหล่านี้ตรงกับสาเหตุข้อใดหรือมองข้ามสาเหตุข้อใด มีผลมากน้อยแค่ไหน แต่จะพามาดูข้อเสนอที่พูดถึงกันอยู่ในการนำเสนอนโยบายสำหรับการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา

ข้อเสนอนโยบายที่โดดเด่น คนพูดถึงกันมาก และไม่ค่อยมีใครเห็นต่างดูจะเป็นนโยบายที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างระบบที่เรียกกันทั่วไปว่าเทเลเมดิซีนหรือการดูแลทางไกล (telemedicine) ที่มีตั้งแต่การเจอหมอทางหน้าจอ (นั่งรอคิวอยู่ที่บ้านแทนการมานั่งรอที่โรงพยาบาล) รวมถึงการส่งยาไปถึงบ้าน หรือแม้กระทั่งการที่ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาทางไกลแบบทันที (แต่อาจไม่ได้คุยกับหมอ) 

ดูเหมือนรูปแบบที่เสนอกันจะเป็นผลที่มาจากประสบการณ์ช่วงโควิด ที่ทำให้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลและฝ่ายคนไข้เห็นตรงกันว่าการไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องเข้าถึงบุคลากรสาธารณสุขที่มีคุณภาพ หรือมีโรงพยาบาลที่ให้การดูแลที่บ้านได้ พร้อมกับส่งยาไปถึงบ้านด้วย และคนไข้พร้อมที่จะทำแบบนี้แม้มีอาการที่เดิมอาจคิดว่าต้องไปนอนโรงพยาบาล

ดูไปแล้วก็เป็นทิศทางหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแม้ไม่มีโควิด แต่เมื่อเราผ่านประสบการณ์การต่อสู้กับโควิด การยอมรับจากฝ่ายคนไข้และความมั่นใจจากฝ่ายผู้ให้บริการก็ดูจะมีมากขึ้น หลังจากที่มีการพูดและพยายามทำมานานแล้ว ก่อนมีโควิด โดยในระยะแรกเทเลเมดิซีนเน้นที่การใช้เพื่อปรึกษาหารือในหมู่บุคลากรที่ดูแลคนไข้ เพื่อให้พื้นที่ที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ เป็นการปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ห่างไกล ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนา สังคมก็เปลี่ยนไป ผู้คนทั่วไปคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ โดยเฉพาะมือถือในการติดต่อสื่อสารได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นใน ‘ธุรกรรมทางไกล’ และยังมีปัญญาประดิษฐ์ มาเป็นตัวเสริม ทำให้เทเลเมดิซีนกลายเป็นระบบที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยตรง ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้กันเฉพาะในหมู่บุคลากรสาธารณสุข

ตัวอย่างหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากคือตู้ผิงอันที่เริ่มต้นที่ประเทศจีน คนไข้สามารถเข้าไปบอกอาการ พูดคุย ตอบคำถามกับเครื่อง แล้วก็จะได้คำวินิจฉัยพร้อมใบสั่งยาและคำแนะนำ แต่ที่พัฒนาต่อมาเป็นระบบที่ไม่ได้ใช้เพียงตู้ แต่เน้นการใช้คน โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวเสริม อาจเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีอยู่เดิม แต่มา ‘ออกแบบ’ ให้ประสบการณ์ที่ชาวบ้านจะได้รับดูดีมากขึ้น

สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การออกแบบระบบที่สามารถผสมผสานการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนการหาเสียงเพื่อให้รู้สึกตื่นเต้น ดูน่าสนใจ (โดยอาจมีการออกแบบที่ดีอยู่เบื้องหลังหรือไม่) ก็คงเป็นเรื่องแท็กติกทางการเมือง

การออกแบบให้ระบบมีปฏิสัมพันธ์ (interface and interaction) กับผู้ป่วยหรือบุคลากรในทีมสุขภาพ) อย่างไร มีความสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เรื่องค่านิยมหรือความมั่นใจในการใช้กับเรื่องสุขภาพ (หลังจากใช้กับการซื้อของมาจนเคยชิน) ระบบกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ ไปจนถึงการออกแบบของหน่วยผู้ให้บริการว่าคนในองค์กรพร้อมจะทำหน้าที่อะไรได้แค่ไหน เพียงไร  

เคยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทเลเมดิซีนเล่าให้ฟังในยุคแรกว่าแม้การขอให้หมอเอ็กซเรย์ช่วยอ่านฟิล์มที่ส่งมาจากทางไกล และต้องอ่านผ่านจอ (ที่มีคุณภาพดี) ก็ยังเจอปัญหาเรื่องหมอบอกว่าไม่ถนัด เพราะคุ้นเคยกับการต้องจับแผ่นฟิล์มพลิกไปพลิกมา (แม้จะเป็นภาพสองมิติที่การพลิกไปมาอาจมีประโยชน์น้อยในสายตาของคนทั่วไป) นี่ไม่นับอีกเหตุผลที่มีการ ‘อ้างกันมาก’ ในเวลานั้น คือความรู้สึกที่ว่าเหมือนไม่ได้อ่านฟิล์ม เพราะไม่มีกลิ่นฟิล์มที่ผ่านการล้างมาแล้ว ซึ่งคงเป็นแค่นิยาย เมื่อคิดถึงธรรมชาติของการอ่านฟิล์มยุคปัจจุบันที่ไม่มีแผ่นให้พลิกหรือดมมากว่า 20 ปีแล้ว

การเอาเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้หรือการทำให้เกิดระบบเทเลเมดิซีนที่ดี ตอบโจทย์ผู้ป่วยที่อาจมีมากกว่าแค่การแออัดหรือรอคอยที่โรงพยาบาลนาน จึงไม่ได้มีเพียงการเอาเทคโนโลยีมาใช้ แต่หมายถึงการออกแบบระบบการ ‘รับ’ และ ‘ให้’ บริการแบบใหม่ โดยบุคลากรสาธารณสุขมีความพร้อม (ทั้งใจและความสามารถ) ประชาชนก็มีความมั่นใจ และมีกติกาที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่เหมาะสม (กติกาที่ทำให้ทำได้โดยมีความรับผิดชอบร่วมกันที่เป็นธรรม ยอมรับได้)

แต่ประเด็นที่น่าสนใจของการแก้ปัญหาเรื่องความแออัดในโรงพยาบาล คือการตั้งคำถามจากภาคประชาชนว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเดียวนั้น ใช่การแก้ปัญหาจริงหรือ? หรือควรแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรของโรงพยาบาลมากกว่าหรือไม่ เพราะจะเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่แออัดหรือต้องรอนาน แต่เป็นปัญหาของโรงพยาบาลภาครัฐ ทำให้มองได้ว่าการมีระบบเทเลเมดิซีนอาจเป็นการเพิ่มปริมาณงาน (เหมือนที่เห็นในเมืองจีน เพราะปัญหาคือยังมีความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่อาจบอกตรงๆ (unmet need) อีกมาก) สัดส่วนปริมาณงานต่อบุคลากรเพิ่มขึ้น การให้บริการก็ไม่น่าจะดีได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่กันคือเรื่องแรงจูงใจเพื่อลดการลาออก เพิ่มความสามารถในการทำงานมากกว่าเพียงในเวลาราชการ พร้อมกับการเพิ่มจำนวนบุคลากร หรือการลดการสูญเสียจากการใช้คนไม่ตรงความสามารถ เพื่อเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพการดูแล

ในฐานะคนที่เชื่อว่าอนาคตที่สำคัญของระบบบริการสาธารณสุข (ของทุกประเทศไม่ว่ารวยหรือจน) คือการเน้นที่การออกแบบและจัดการให้มีระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงได้ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงโรงพยาบาลตติยภูมิ (ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลที่ดูแลโรคยากๆ ที่สุดได้ แต่บางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ต้องมีระดับจตุรภูมิแล้ว) อดแปลกใจไม่ได้ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดชูประเด็นนี้ และภาคประชาชนเองก็ไม่มีใครถามเรื่องนี้ 

ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีความเข้าใจว่าการทำระบบเทเลเมดิซีน ต้องแปลว่าเน้นการมีระบบปฐมภูมิ แต่ถ้าอ่านจากที่ขยายความมาข้างต้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม การเชื่อในพลังของเทคโนโลยีอาจนำไปสู่การออกแบบระบบที่ไม่มีระดับ มีแต่โรงพยาบาลกับคนไข้เท่านั้น ซึ่งก็ชัดเจนว่าน่าจะเป็นจากการมองเห็น ‘ธรรมชาติของระบบสุขภาพ’ ที่แตกต่างกัน

ธรรมชาติที่ว่ามีอยู่อย่างน้อยสามประการ

ประการแรก สุขภาพที่ดี ไม่ได้มีเพียงการดูแลที่ดีเมื่อเจ็บป่วย แต่ต้องเป็นระบบที่ดูแลตั้งแต่ยังไม่เจ็บ

ประการที่สอง ความเชื่อมั่นในกันและกันของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้การดูแลสุขภาพร่วมกัน

ประการที่สาม การเน้นผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยโดยไม่แยกแยะ เป็นการสร้างระบบที่จะเกิดการสูญเปล่า กลายเป็นภาระของประเทศโดยรวม (ไม่ว่ารัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตามที)

การออกแบบระบบที่มองเห็นความสำคัญของคน และการทำให้เกิดการแบ่งบทบาทที่เหมาะสมระหว่างประชาชนกับบุคลากรสาธารณสุข และในระหว่างทีมบุคลากรสาธารณสุขด้วยกันเอง ไปจนถึงการให้โอกาสกับประชาชนที่จะมีบุคลากรสาธารณสุขเป็นที่พึ่งด่านแรกที่ไว้วางใจและเข้าใจซึ่งกันและกันได้จึงเป็นจุดสำคัญ และทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นและไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยมีจำนวนโรงพยาบาลและบุคลากรในโรงพยาบาลเป็นหลัก แต่สามารถทำได้ด้วยการออกแบบหน่วยบริการที่มีบทบาทหลากหลาย ซึ่งระบบสุขภาพไทยมองเห็นและออกแบบพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง (แต่ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว) ภายใต้แนวคิดปฐมภูมิ ที่ให้ความสำคัญกับหน่วยบริการใกล้บ้านที่ต้องเข้าถึงใจชาวบ้านโดยไม่จำเป็นและไม่ควรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค แต่ดูเหมือนเป็นพัฒนาการที่ตะกุกตะกัก และที่สำคัญคือนโยบายของพรรคการเมืองที่มองเรื่องนโยบายสุขภาพเป็นเรื่องการให้ประโยชน์เฉพาะเรื่องหรือการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน และอาจยังมีความเชื่อว่าระบบปฐมภูมิเป็นระบบที่ล้าหลัง เหมาะกับประเทศที่มีทรัพยากรน้อย การชูการสร้างความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิจะทำให้คิดว่าเป็นนโยบายถอยหลังเข้าคลอง ทั้งที่โดยแนวคิดที่พูดถึงในย่อหน้าก่อนนี้เป็นที่ยอมรับและเห็นด้วย แต่เวลาพูดเวลาทำนโยบาย ต้องไม่ใช้คำนี้ (เพราะความกลัวถูกกล่าวหาว่าล้าหลัง) แต่ต้องเน้นให้เห็นรูปธรรม

เราจึงเห็นพรรคการเมืองที่มีข้อมูลเบื้องหลังว่าเห็นความสำคัญและอยากพัฒนาระบบปฐมภูมิ พูดถึงจุดเน้นสามประการ (ในการหาเสียงครั้งนี้) คือการทำให้ รพ.สต. เป็นเหมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดแนวคิด ขึ้นอยู่กับรายละเอียด) การทำให้เกิดการทำงานที่เชื่อมต่อจาก รพ.สต. ถึงโรงพยาบาลตติยภูมิ และการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของกำลังคนระดับรากหญ้าโดยไม่เน้นคำว่าปฐมภูมิเลย แต่ในเวทีสนทนานโยบายที่ผมได้มีโอกาสฟังดูจะพูดถึงเรื่องนี้น้อย และความสนใจจากภาคประชาชนก็มีน้อย (จนอาจทำให้ฝ่ายการเมืองที่ก็ไม่กล้าพูดเต็มปากเต็มคำอยู่แล้ว สรุปว่าเป็นนโยบายที่ขายไม่ออกก็เป็นไปได้)

ถ้าจะให้บอกรูปธรรมของแนวคิดปฐมภูมิที่น่าจะเน้นและได้ใจประชาชน  น่าจะมีสองประการ

ประการแรก การสร้างหน่วยบริการใกล้บ้านที่เป็นเพื่อนคู่คิด และช่วยเปิดทางให้เข้าถึงบริการระดับตติยภูมิได้เมื่อต้องการ อย่างทันเวลา

ประการที่สอง การสร้างระบบการทำงานให้การดูแลสุขภาพของเจ้าหน้าที่ระดับใกล้บ้าน มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพ ที่ปรึกษาได้ตลอดเวลาเมื่อจำเป็น

แน่นอนว่าการออกแบบระบบและการใช้เทคโนโลยีที่พูดกันมากก็จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดทั้งสองประการนี้ แต่ที่ต้องทำคู่ไปด้วยคือระบบการบริหารจัดการกำลังคนที่ทันสมัย ไม่ติดกับวัฒนธรรม หรือกฎระเบียบของระบบราชการ ไม่เช่นนั้นความอยากเป็นเพื่อนหรือการเป็นเพื่อนคู่คิดที่ชาวบ้านไว้ใจได้ และสามารถเปิดประตูเหมือนทำให้ประชาชนทุกคนมีเส้น (อย่างเป็นระบบเสมอหน้ากัน) ก็คงถูกสกัดด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการทำเพื่อชาวบ้าน

อาจต้องช่วยกันตามดูว่าระหว่างการทำระบบได้พบกับบุคลากรสาธารณสุขที่มีความเอื้ออาทรสนใจเอาใจใส่ อยู่ใกล้และพบหน้าได้ง่าย กับการได้พบผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้ยอดเยี่ยมผ่านจอ มีเวลาให้น้อย ถามมากก็ไม่ได้ อะไรจะดีกว่ากัน ที่แน่ๆ คือถ้าไม่ต้องเลือกอย่างเดียว คำตอบคือการผสมผสานทั้งสิ่งที่เรียกว่าความเอาใจใส่กับความรู้ความสามารถที่มีมาตรฐาน และอาจเพิ่มการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ หรือการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้อย่างถูกต้องทันเวลา

การเน้นเพียงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ปัญหาความแออัดนั้นคงทำได้จริง แต่อาจไม่ตอบ pain point ที่แท้จริง ความแออัดอาจเป็นเพียงอาการแสดงออกที่ถ้าแก้ด้วยเทคโนโลยีก็เหมือนการรักษาตามอาการ

นี่ไม่นับความจริงอีกประการหนึ่งที่รู้กันมานานแต่ทำกันจริงจังน้อย คือถ้าไม่ป่วยก็ไม่ต้องมาโรงพยาบาล  

การมีบุคลากรสาธารณสุขใกล้บ้านที่วางใจได้และเป็นเพื่อนคู่คิด น่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจที่จะดูแลสุขภาพและลดการเดินทางไปใช้บริการที่ไม่จำเป็นมากกว่าการมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ แต่เต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ และยังคิดว่าคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของระบบสุขภาพคือการทำให้เข้าถึงบริการได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด สะดวกที่สุด 

โดยสรุปอยากบอกว่าโจทย์เรื่องแออัดและรอนานเป็นโจทย์สำคัญที่น่าจะช่วยกันแก้ เริ่มต้นด้วยการออกแบบและจัดการที่ดี  แล้วทำให้ระบบมีทรัพยากรและการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่ง แต่การสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานมีความสุข ทำงานได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นโจทย์ย่อยในโจทย์ใหญ่ที่ไม่ควรละเลย ที่สำคัญอย่าออกแบบให้มีแต่โรงพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญเป็นหลักในการดูแลสุขภาพประชาชนแล้วทำเทคโนโลยีเสริมแต่ตรงนั้น หรือไปถึงขั้นลดความแออัดและการรอนานที่โรงพยาบาลโดยเปลี่ยนเป็นระบบนัดที่มีคิวยาว ทำให้โรงพยาบาลไม่แน่นเพราะคนรอที่บ้าน พอมาถึงโรงพยาบาลก็ใช้เวลาไม่นานเพราะวันหนึ่งตรวจไม่กี่คน เพราะจะเป็นระบบที่สูญเปล่าเป็นอันมาก ถึงจะลดความแออัดและรอนานได้แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์คนไข้แน่นและรอนานที่เห็นกันอยู่ในโรงพยาบาลรัฐเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save