fbpx
ตรวจ (เทรนด์) สุขภาพคนไทยในยุค COVID-19 กับ สุปรีดา อดุลยานนท์

ตรวจ (เทรนด์) สุขภาพคนไทยในยุค COVID-19 กับ สุปรีดา อดุลยานนท์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาพ

 

 

หลังจากโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี โลกของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คำว่า ‘new normal’ ได้รับการพูดถึงกันมาก ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ

อะไรคือ new normal ด้านสุขภาพของคนไทย?

ในวิกฤตครั้งนี้ เราจะดูแลสุขภาพกาย ประคับประคองสุขภาพใจ ทั้งของเราและคนใกล้ตัวได้อย่างไร?

ครอบครัวและกลุ่มคนในช่วงวัยต่างๆ ต้องเจอความท้าทายอะไรในยุคโรคเปลี่ยนโลกนี้

101 สนทนากับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพของคนไทยในวิกฤต รวมไปถึงการมองโจทย์ใหญ่อย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ และบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพของสสส. ในยุคโควิด-19

ฟังรายการ 101 One-On-One Ep.129 : COVID-19 กับ New Normal ด้านสุขภาพของคนไทย

 

 

เมื่อโควิดเข้ามา reset ชีวิตมนุษย์

 

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 สุขภาพและวิถีชีวิตของผู้คนย่อมเปลี่ยนแปลงไปมาก อาจกล่าวได้ว่า โควิด-19 เหมือนมา reset ชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก แม้เราจะเพิ่งเห็นผลกระทบของไวรัสตัวนี้ได้ราว 3 เดือน แต่ทุกคนก็ตระหนักดีว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นหนักหนาขนาดไหน เปรียบได้กับการเจอคลื่นลูกใหญ่ซัดเข้ามา เราเห็นความย่อยยับทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสุขภาพ และโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้เราเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนที่มีอยู่แต่เดิมชัดขึ้น

ไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวก สำหรับด้านลบคือ เราเห็นมนุษย์ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษา อีกประเด็นสำคัญคือ ยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่พาหะนำโรคต่างจากอดีตทั้งหมด พาหะนำไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้คือเครื่องบิน โดยเริ่มเกิดที่เมืองอู่ฮั่น เส้นทางบินจากเมืองอู่ฮั่นคือเส้นทางแพร่โรค นี่คือแพทเทิร์นใหม่ของโรคระบาด ซึ่งระบาดวิทยาก็ไม่เคยต้องรับมือกับเชื้อที่มีการเคลื่อนที่ขนาดนี้ ตัวเชื้อโควิด-19 อาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนไวรัสอีโบลา (Ebola) ตัวนั้นใครโดนคือทรุดเลย แต่ไวรัสโควิด-19 อยู่กับคนที่เดินทางในระยะทางไกลๆ ได้ นี่เลยกลายเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ (pandemic) ทั่วโลก

เมื่อเราต้องรับมือกับโรคที่เราไม่มีความรู้เก่ามาก่อน มาตรการที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่มาตรการทางการแพทย์ แต่ต้องมีมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมด้วย อย่างที่บอกว่า ไวรัสโควิด-19 สัมพันธ์กับเรื่องการเคลื่อนที่ (mobility) อย่างสูง มันเลยเป็นคลื่นใหญ่ที่ซัดกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งต้องการการจัดการจากภาครัฐอย่างมาก เพราะชุมชนย่อยๆ จัดการกับปัญหาขนาดมหึมานี้เพียงลำพังไม่ได้แน่นอน บางคนตั้งคำถามไปถึงเรื่องระบอบการเมืองเลยก็มี

แต่แน่นอน เรามองหาโอกาสในมหาวิกฤตเสมอ วิกฤตครั้งนี้ก็เป็นโอกาสให้เราได้เหมือนกัน ด้านดีๆ ของโลกเริ่มปรากฏให้เห็น เช่น สังคมที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) จะจัดการเรื่องนี้ได้ดีกว่าประเทศที่ปล่อยให้ระบบสุขภาพอยู่ในมือของระบบกึ่งเสรี หรือระบบที่เราต้องซื้อประกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พลังจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ที่ช่วยเราในวิกฤตครั้งนี้ได้มาก ดีกว่าต้นแบบอย่างระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service – NHS) ของสหราชอาณาจักรด้วยซ้ำไป ยิ่งเทียบกับสหรัฐอเมริกายิ่งชัด คนอเมริกันเป็นคนที่ไร้หลักประกันราว 30 ล้านคน ตัวเลขที่ออกมาในช่วงแรกก็บ่งบอกชัดเจนว่า 65% ของผู้เสียชีวิตเป็นคนผิวสี

อีกประเด็นคือ โลกเห็นจุดอ่อนบางอย่างของตัวเองและเตรียมจะเคลื่อนไปอยู่แล้ว เช่น ในช่วงศตวรรษที่ 20 เราพูดกันว่า โลกถูกทำร้ายและเกิดความไม่สมดุล ทำให้เกิดการพูดคุยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งมีหลายประเทศร่วมลงนาม รวมถึงไทยด้วย เราก็มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งผมขอเรียกทิศทางที่เรากำลังเดินทางไปว่า ‘บรรทัดฐานใหม่’ (new norm) ก่อนละกัน เราคิดว่ามันต้องเคลื่อนไปทิศทางนี้อยู่แล้วล่ะ แต่ก่อนหน้านี้มันไม่มีตัวเร่งเท่านั้นเอง

 

มองภาพรวม new normal ด้านสุขภาพ

 

เราต้องมีบรรทัดฐานใหม่ที่มองออกไปไกลกว่าเดิม ก่อนหน้านี้ เราต้องการการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้และยับยั้งโรคระบาด โดยเฉพาะในช่วงก่อนจะมีวัคซีน แต่ถ้ามองไปไกลกว่านั้น บรรทัดฐานใหม่ที่เกิดขึ้นน่าจะคงอยู่ต่อไป ในอนาคต เราอาจจะพูดถึงการมีร่างกายสะอาดเสมอ ลดการสัมผัส ตอนนี้ตะวันตกหันมาไหว้มากขึ้นนะครับ (หัวเราะ) หรืออาจจะเริ่มพูดถึงการดูแลความสะอาดของพื้นที่สุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเชื้อโรคตัวใหม่เกิดขึ้นได้อีกเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ มีคนบอกว่า สัก 30 ปีจะมีเชื้อโรคระบาดหนหนึ่ง พอเข้าช่วงโรคซาร์ส (SARS) ก็บอกว่าระบาดสัก 10 ปีครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้มันต่ำกว่า 10 ปีแล้ว

อย่างที่เราเห็นว่า แพทเทิร์นการระบาดเกิดถี่ขึ้น นั่นหมายถึงเราคุกคามโลกของสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างสมัยโรควัวบ้า ก็เกิดจากการที่คนเอาเครื่องในแกะไปบดให้วัวกินจนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ กรณีนี้ก็เหมือนกัน ไวรัสจะกลายพันธุ์ใหม่ไปเรื่อยๆ และจะมาคุกคามมนุษย์ ไม่มีใครคิดว่านี่คือตัวสุดท้าย ที่น่าเป็นห่วงคือ การแพร่ระบาดจะถี่กว่าเดิมมากแค่ไหน

เพราะฉะนั้น เราอาจจะกลับมาสู่วิถีเดิมที่อยู่แบบพอดี มีภูมิคุ้มกัน และดูแลตัวเองได้ เรื่องนี้ต้องถูกยกระดับมากขึ้น และประเทศต่างๆ จะสังวรเรื่องนี้มากขึ้น

 

สู้โรคระบาดด้วยการปรับตัวแบบ ไทยๆ

 

ไทยก็ถูกบีบด้วยผู้ร้ายตัวเดียวกับนานาประเทศ เราก็ปรับตัวในทำนองเดียวกับเขา คือเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แบบที่ประเทศอื่นแนะนำ แต่ส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของเรา ผมคิดว่าเป็นเรื่องการมีน้ำใจต่อกันที่โดดเด่น หรือแม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มากว่า 40 ปี ผมว่านี่เป็นเครื่องมือสำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของเราด้วย ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพของเราก็ได้พิสูจน์ตัวเองเช่นกัน

อย่างตอนที่กรุงเทพฯ ถูกปิด คนนับแสนล้านเดินทางกลับภูมิลำเนา ตอนนั้นตกใจกันมากว่า เรากำลังแพร่ (spread) เชื้อจากศูนย์กลางของโรค คือกรุงเทพฯ ที่รับจากต่างชาติเป็นหลัก แล้วกระจายไปทั่วประเทศ แต่สุดท้าย พอมองย้อนกลับไป ทุกคนมองว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะพอเราเข้าสู่ระบบสาธารณสุขระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดแล้ว มันนำไปสู่การจัดการที่ดีมาก ในกรุงเทพฯ เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่พอเป็นระดับย่อย เรามีหน่วยเล็กสุดคือ อสม. 1 คนต่อ 10 ครัวเรือน ไปจนถึงการมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ระบบอำเภอ จังหวัดต่างๆ มีโครงสร้างตรงนี้พร้อมมาก เขาล็อกอยู่หมดเลย ไม่มีการแพร่กระจายไปไหน

 

อย่า ซ่อม แต่ต้อง สร้าง สุขภาพ

 

ปรัชญาเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของเราคือ อย่าพูดถึงโรค อย่ารอให้ร่างกายเสียแล้วค่อยมา ‘ซ่อม’ สุขภาพ แต่ให้มา ‘สร้าง’ สุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรงแต่ต้นเพื่อจะได้ไม่มีโรค เราขายคอนเซปต์แบบนี้ตั้งแต่ต้น แต่ตอนหลังเราก็รู้ว่า เรื่องสุขภาพยังทำให้คนสนใจสู้เรื่องโรคไม่ได้

ตอนหลัง เรานำเรื่องสุขภาพไปพ่วงกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases – NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ที่คนไทยเป็นกันเยอะ โรคพวกนี้ไม่ได้มีต้นตอจากเชื้อโรค แต่เกิดจากวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เราผลักดันการสร้างเสริมสุขภาพ (health promotion) เกาะเกี่ยวไปกับ NCDs ตอนนั้นแทบจะเลิกยุ่งกับเชื้อโรคเลย (หัวเราะ) เพราะเราคิดว่าเราเอาอยู่ ระบบบริการทางการแพทย์ถูกสร้างมาเพื่อจัดการกับโรคติดต่อหรือเชื้อโรคทั้งหลายเป็นหลักและระบบของไทยทำงานได้ดี โควิด-19 ก็ถือเป็นการพิสูจน์ความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพไทยต่อโรคติดเชื้อได้ดีมาก แต่กับพวกโรค NCDs การแพทย์หรือการใช้ยายังเอาไม่ค่อยอยู่ เพราะต้องมีการปรับวิถีชีวิตร่วมด้วย

แต่พอเกิดโควิด-19 เราก็ตระหนักมากขึ้นว่า โครงสร้างด้านสุขภาพจะเกาะเกี่ยวไปกับโรคระบาดก็ได้ โควิด-19 เป็นเชื้อโรคใหม่ที่คนไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน คนที่ได้รับเชื้อและไม่เสียชีวิตคือคนที่มีภูมิคุ้มกันทางร่างกายแข็งแรง ส่วนคนที่เสียชีวิตเป็นคนที่มีโรคประจำตัวเดิม คือกลุ่มโรค NCDs และเป็นผู้สูงอายุด้วย พอเห็นแบบนี้ เราเลยต้องกลับมาเชื่อมกับเรื่องโรคระบาดว่า การสร้างเสริมสุขภาวะในช่วงโรคระบาดมีความสำคัญอย่างไร ทำไมทุกคนต้องมีบรรทัดฐานแบบใหม่ ชีวิตใหม่ วิถีใหม่ ที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับภัยที่เกิดขึ้น

 

บุหรี่และสุรา: โจทย์เก่า ความรู้ใหม่ ในยุคโควิด-19

 

บุหรี่และสุราเป็นโจทย์สำคัญในการทำงานอยู่แล้ว คือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ บุหรี่ก่อให้เกิดโรคมากมาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด หรือระบบทางเดินหายใจ ส่วนสุรา ก็เป็นเรื่องตับ ระบบประสาท หรือโรคต่างๆ อีกเกือบ 60 โรค ซึ่งส่วนมากจะเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ในจังหวะแบบนี้ เราก็ทำงานคล้ายเดิม แต่โยงไปหาโควิด-19 มากขึ้น เช่น ให้ความรู้ว่าบุหรี่ทำให้โรคโควิด-19 รุนแรงขึ้นได้ 14 เท่าตัว เพราะการสูบบุหรี่ทำลายระบบการหายใจอยู่แล้ว ช่วงที่เราประกาศเชิญชวนให้คนเลิกบุหรี่เลยมีคนสมัครมาเยอะมาก

ส่วนเรื่องสุราก็มีมิติทางสังคม เมื่อปีก่อน เราพยายามยื่นมติเข้าไปในกลุ่มคณะกรรมการนโยบาย เสนอให้วันที่ 13 เมษายนงดขายสุราไปเลย เพราะเป็นวันที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ มาถึงปีนี้ มีการงดขายแอลกอฮอล์และสุราหนึ่งเดือน เพื่อกันคนไปพบปะสังสรรค์หรือตั้งวงดื่มสุรากัน

อย่างไรก็ดี สุราหรือบุหรี่ถือเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย เราอาจจะทำได้แค่ควบคุมหรือมีกลไกราคาทำให้สินค้าพวกนี้แพงขึ้นมาหน่อย ขยายบริเวณห้ามสูบห้ามดื่มไปบ้าง แต่ก็เป็นแค่การควบคุม ไม่ได้ห้ามเด็ดขาดอยู่แล้ว แต่เราก็มีกระบวนการรณรงค์หรือจูงใจ เพราะสุราหรือบุหรี่เป็นยาเสพติด เราเคยสำรวจคนที่สูบบุหรี่ 70-80% บอกว่าอยากเลิกถ้าเลิกได้

เพราะฉะนั้น เราต้องมีกระบวนการประคับประคองช่วยเหลือในการเลิก หรือช่วยให้คนติดสุราเลิกแบบเป็นขั้นเป็นตอนได้ ซึ่งเรามีกระบวนการพวกนี้อยู่แล้ว ตอนนี้ คนทำงานด้านนี้ก็ออกมาเผยแพร่ให้ความรู้มากขึ้นด้วย

 

ดูแลจิต ประคองใจ ในช่วงวิกฤตโควิด-19

 

เรื่องสุขภาวะทางจิตเป็นโจทย์ใหญ่ในช่วงนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือผู้เชี่ยวชาญต่างก็ออกมาเตือนว่า อย่าห่วงแต่เรื่องทางร่างกาย แต่จิตใจของผู้คนทั่วโลกก็กำลังได้รับผลกระทบเหมือนกัน อัตราการฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นกว่าในอดีต เพราะคลื่นความทุกข์ยากโถมเข้ามาแบบกะทันหัน หลายอาชีพ เช่น นักบิน ก็มีพูดเหมือนกันว่า เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองจะลำบาก แต่จู่ๆ ก็มาตกยากทันทีแบบนี้

การเรียนรู้จะอยู่กับวิกฤตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในทางจิตวิทยา ถ้าเราพูดถึงการที่มีสิ่งใหม่คุกคามเข้ามา เช่น โรคระบาด อย่างแรก เราต้องกระตุ้นการรับรู้ก่อน เพราะการไม่รู้อะไรเลยน่ากลัว พอรู้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะรู้สึกกลัว ยังไงก็หนีไม่พ้น แต่ต้องทำอย่างไรจึงจะกลัวได้อย่างพอดี ตรงนี้ยากนะครับ กลัวน้อยไปก็เสี่ยง กลัวมากก็สร้างปัญหา ต้องกลัวแบบพอดีจึงจะนำไปสู่การเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และพยายามมองหาโอกาสในวิกฤต ตรงนี้คือสิ่งที่เราอยากให้มีพัฒนาการขึ้นไป แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า บางคนตกบันไดตั้งแต่ขั้นแรกๆ คือยอมรับไม่ได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าต่างๆ

เรื่องการฆ่าตัวตาย ผู้ที่รับผิดชอบหลักอย่างกรมสุขภาพจิตก็เข้าไปดูแลอยู่ระดับหนึ่ง แต่เราต้องยอมรับว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับมวลชน และเป็นปัญหาใหญ่ เราต้องทำการสื่อสารก่อน ให้คนมีความพอดีทางจิตอย่างที่บอก ทำให้คนไม่วิตกเกินเหตุ รู้จักปล่อยวาง หรือแม้แต่แนะนำพฤติกรรมที่ควรทำเบื้องต้น คือต้องมีกระบวนการสื่อสารทางสังคมประคับประคองคู่กันไป นอกจากนี้ เรายังต้องเข้าไปแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาโดยตรง เช่น ถ้ามีคนจำนวนมากต้องตกงานกะทันหัน เศรษฐกิจทรุดฮวบ เราก็ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุตรงนี้ ควบคู่ไปกับการประคับประคองทางจิตใจด้วย

ขณะเดียวกัน เราก็เชิญชวนให้คนมาช่วยเหลือกัน ตอนนี้ บางคนมองผู้ป่วยโควิด-19 เป็นตัวเชื้อโรค เพราะพวกเขากลัวจนเกินเหตุ หลายคนถูกรังเกียจ ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า ญาติพี่น้องก็พลอยถูกรังเกียจไปด้วย ตรงนี้ก็ต้องช่วยกันประคับประคองและเตือนสติกัน

 

 

ครอบครัว (ไทย) ในวิกฤต

 

ตอนนี้โครงสร้างครอบครัวไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างชัดขึ้น แต่เดิม เราพูดถึงครอบครัวที่ทำเกษตรกรรม มีฐานอยู่ในชนบท และมีสมาชิกบางคนเข้ามาทำงานในเมือง ตอนที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 คนยังมีชนบทให้กลับ แต่ปีนี้ดูจะน้อยลง ไม่นับว่ารัฐสร้างอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาอยู่บ้าง

อีกอย่างหนึ่ง โควิด-19 มาพร้อมกับการ lockdown ข้อดีก็เหมือนจะมีบ้าง คือได้อยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ขณะเดียวกัน การที่ต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งวันทั้งคืนก็เกิดปัญหาเหมือนกัน ในเมืองอู่ฮั่นมีสถิติชัดเจนว่า เมื่อคลาย lockdown สามีภรรยาจำนวนมากไปจดทะเบียนหย่า เพราะช่วงที่ถูกขังอยู่ในที่แคบๆ ด้วยกัน ปัญหาอะไรก็ดูจะทวีคูณขึ้นไป สถิติความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ครอบครัวยังเป็นหน่วยพื้นฐานที่ทุกคนจะกลับไปหาเวลาเกิดวิกฤต เพราะฉะนั้น ถ้ารากฐานครอบครัวแข็งแรง ก็จะเป็นที่พึ่งพิงเยียวยาได้ แต่ถ้าไม่ ก็จะเกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาเช่นกัน

 

เมื่อโควิด disrupt การศึกษา

 

มหาวิกฤตบังคับให้ทุกอย่างต้อง reset ตัวเอง แต่เป็นการชั่วคราว เพราะต่อมา เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรื่องการศึกษาหรือการเรียนรู้ก็เช่นกัน ถ้าเราดูในจีน จะเห็นว่าเขาใช้ระบบทางไกลเยอะ เพราะเขามีพื้นฐานเทคโนโลยีที่ไม่เลว ถึงจีนจะทำเรื่องการเรียนรู้ทางไกลอยู่ในขั้นต้น แต่พอเกิดโควิด-19 เขาก็ถูกเร่งให้เกิดการเรียนรู้จากบ้าน เรียนรู้ทางไกล เทคโนโลยีพวกนี้จึงบูมขึ้นอย่างมหาศาล

พอหันมามองการศึกษาไทย เราติดแหงกตรงที่โครงสร้างพื้นฐานของเราไม่ดีพอ ถ้าใช้ระบบเรียนทางไกลจะมีครอบครัวจำนวนมากที่ตกหล่น ไม่มีอุปกรณ์พื้นฐานในบ้าน พ่อแม่ก็เป็นตัวช่วยไม่ได้ จริงๆ เราพยายามทำมาทุกอย่างแล้ว แม้กระทั่งเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังดูไม่มีความหวังมากเท่าไหร่ บางที วิกฤตครั้งนี้อาจจะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอีกแบบหนึ่งก็ได้ ผมเห็นว่า ตอนนี้เขากำลังพยายามใช้ช่องฟรีทีวี 10 กว่าช่องมาทำเรื่องการศึกษากันอยู่

ส่วนในยุคหลังโควิด ผมว่าการศึกษาก็ไม่น่ากลับไปเป็นแบบเดิม จึงอาจจะต้องใช้ระบบที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน เช่น Home School ที่ตอนแรกเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ เป็นการเรียนทางเลือก ตอนนี้ก็ต้องเริ่มประยุกต์เติมสัดส่วนตรงนี้เข้ามาในการเรียนรู้ของเด็กทั่วไป โดยให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม บวกกับมีการเรียนทางไกล ซึ่งผมมองว่า น่าจะเข้ามาเพิ่มเนื้อที่ในการเรียนรู้ของเด็กได้ แต่หนึ่งประเด็นที่เราต้องคำนึงถึงด้วยคือ การเรียนทางไกลอาจจะเหมาะกับเด็กโต แต่ถ้าเป็นกลุ่มเด็กเล็กหรือเด็กประถม การเรียนทางไกลก็อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพขนาดนั้น

 

ลงทุนในเด็กเล็ก ประคับประคองผู้สูงวัย

 

ในกลุ่มเด็กเล็ก โจทย์ที่คั่งค้างและเราพยายามนำมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายคือ การลงทุนในเด็กเล็กเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แนวคิดนี้ทำให้เกิดโครงการเงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิด แต่ให้จำกัดเฉพาะในกลุ่มครอบครัวยากจน ซึ่งผลการวิจัยที่ออกมาบอกว่า เฟสแรกที่เราทำได้ผลดีมาก เงินที่ลงทุนก็ไม่ได้ไปไหน เพราะแม่ที่ได้รับเงินอุดหนุนนำเงินมาใช้กับลูกจริง และเกิดผลลัพธ์ปรากฏจริง เราเอาผลวิจัยนี้ไปขายในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา และเสนอให้ขยายขอบเขตครอบคลุมคนทั่วไปด้วย แต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือ ฐานข้อมูลของเราอาจจะไม่ได้แม่นยำเพียงพอ

เราเข้าไปขยายเรื่องเด็กเล็กจนมีหลายพรรคการเมือง ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ซื้อนโยบายนี้ แต่ตอนนี้เรื่องเด็กเล็กก็ยังไม่ได้ขยายต่อออกไป อาจจะถึงเวลาที่ต้องทวงแล้วว่า วัยเด็กเล็กเป็นวัยที่สำคัญ เป็นเหมือนวัยที่สร้างฮาร์ดแวร์ ถ้าเริ่มต้นไม่ดี จะไปสร้างซอฟต์แวร์ต่อในอนาคตก็ไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่ เราต้องรับประกันการเจริญเติบโตขั้นพื้นฐานของเขาด้วย

ส่วนเรื่องผู้สูงวัย สวัสดิการที่เรามีให้ผู้สูงวัยในช่วงที่ผ่านมา เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญและเป็นตัวประคองชีวิตผู้สูงวัยจำนวนมากด้วย พวกเขาก็พอดูแลตัวเองได้ แต่ประเด็นหนึ่งคือ เราต้องลองคิดระบบสวัสดิการของเขาโดยที่รัฐจ่ายได้ด้วย มันมีทางเลือกหลายระบบ เช่น การขยายอายุเกษียณ ในช่วงที่อายุขัยเฉลี่ยของคนเริ่มเพิ่มมากขึ้น

 

‘work from home’ ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น หรือเส้นแบ่งชีวิตที่เลือนหาย?

 

ถ้าเป็นเรื่องของคนวัยทำงาน เราเห็นการเคลื่อนของสังคมมาตามลำดับ แต่เดิม ที่ทำงานเหมือนเป็นโรงงาน มนุษย์เป็นเครื่องจักรที่ช่วยเรื่องปัจจัยการผลิต ต่อมา เราเริ่มพูดถึงปัจจัยด้านความปลอดภัย จนมาถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่หลากหลายมากไปกว่าเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ คือมีมิติด้านจิตใจและครอบครัวด้วย นั่นคือสิ่งที่เราพยายามผลักดัน ซึ่งหลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง ‘ความสุข 8 ประการ’ (Happy Eight) ที่แตกแขนงจากเรื่องความสุขและสุขภาพพื้นฐานไปไกลพอสมควร

อีกประเด็นคือ ในภาวะแบบนี้ เราเห็นคนพูดถึงเรื่อง work from home (การทำงานที่บ้าน) กันเยอะมากขึ้น ด้วยความที่คนไม่ได้มาทำงานที่หน้างานจริงๆ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นทั้งการใช้เวลา สถานที่ และการทำงาน ผมว่านี่คือ work-life balance การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ยิ่งเราเผชิญวิกฤต เรายิ่งต้องการการปรับตัวที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น แม่ที่มีลูก จะดูแลลูกในช่วงที่โรงเรียนปิดอย่างไร เพราะฉะนั้น งานกับครอบครัวต้องเชื่อมเข้าหากันมากกว่านี้ เพื่อรับมือวิกฤตนี้และวิกฤตอื่นๆ ด้วย

หัวใจสำคัญของการ work from home คือการปรับตัว พอเราต้องเปลี่ยนจากสถานที่หนึ่งมาอีกสถานที่หนึ่ง มันก็ยากที่ใครจะทำงานได้ลงตัวไปหมด เราต้องยอมรับตรงนี้นะครับ ทั้งเรื่องค่าไฟขึ้น (หัวเราะ) มีอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เพียงพอ สถานประกอบการจำนวนมากก็ไม่ได้ให้อุปกรณ์ที่จะอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้สะดวกพอ

อีกประเด็นคือ ความเหลื่อมล้ำ พอทุกคนทำงานที่บ้านแล้ว เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำของบ้านแต่ละคนฉายออกมาได้อย่างชัดเจน บางบ้านก็ทำงานที่บ้านได้สบาย ตื่นจากเตียงมามีโต๊ะทำงาน เปิดแอร์ มี wifi มีแม่บ้านคอยดูแลลูกระหว่างที่ต้องทำงาน แต่บางบ้านก็มีพื้นที่แออัดยัดเยียด ไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ ตรงนี้ก็ชัดเจนขึ้นเหมือนกัน

สุดท้ายคือ หลายคนไม่สามารถจัดการกับเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างชีวิตส่วนตัวกับบ้านได้ คนที่มีลูกเล็ก มีสัตว์เลี้ยง มีเพื่อนมีญาติ เขาจะจัดการตนเองยังไงในสิ่งแวดล้อมที่แออัด แต่ทั้งหมดนี้ คนทำงานและสถานที่ทำงานต้องปรับตัวเข้าด้วยกัน ถ้าพนักงานเจอข้อจำกัดในการปรับตัว สถานประกอบการก็ควรเข้ามาดูแลด้วย ถ้าคนทำงาน full-time ที่ออฟฟิศไม่ได้ สถานประกอบการก็ควรเข้ามาเอื้อให้เขาทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราหวังว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ประสิทธิภาพการทำงานจะไม่ได้ลดลง และหวังว่ามันจะดีขึ้นด้วยซ้ำจากความยืดหยุ่นตรงนี้ ผมคิดว่าโลกเรากำลังเรียนรู้ด้วยกัน

 

เมื่อวิกฤตทำให้ความเหลื่อมล้ำประจักษ์ชัดขึ้น

 

อย่างที่เรารู้กันว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชากรสูง โดยเฉพาะในทางสร้างเสริมสุขภาพ เรารู้ว่าจะใช้มาตรการทั่วไปกับประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มคนต่างด้าว ไม่ได้ เพราะเขาเข้าไม่ถึงเรา เราก็เข้าไม่ถึงเขา ถ้าจะใช้สื่อพื้นฐานแบบที่เราเคยใช้ พวกเขาก็คงไม่ได้ยินและไม่ได้ฟังเท่าไหร่ และมาตรการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ เขาก็ยังเข้าไม่ถึงตรงนั้น ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงมีการทำงานเฉพาะกับคนกลุ่มนี้ด้วย

อีกประเด็นที่เราเห็นคือ เมื่อเกิดโรคระบาด ชุมชนแออัดจะได้รับผลกระทบหนักมาก เราพูดว่าให้รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร แต่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องอยู่กัน 8 คนในบ้านไม่กี่ตารางเมตร หรืออย่างผู้ต้องขังที่แหกคุกในจังหวัดบุรีรัมย์ ก็เกิดจากการที่เขากลัวติดเชื้อจากการที่ต้องอยู่กันแบบแออัดมาก จึงมีนโยบายต่อไปว่า จะต้องไม่มีคุกที่นอนเบียดเสียดกันชนิดพลิกตัวแล้วเสียที่อีกต่อไปแล้ว มีการสร้างเตียงสองชั้นเพิ่ม เพื่อให้คนห่างกันมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ควรจะทำตั้งนานแล้ว ต่อให้จะมีโรคหรือไม่ก็ตาม

ตัวอย่างหนึ่งคือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่จัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก แต่เขามีกลุ่มแรงงาน 3-4 แสนคนที่อยู่กันแบบแออัด ทำให้พอมีคนหนึ่งติดเชื้อก็ลามไปติดคนอื่นต่อ จริงๆ ระบบและมาตรการต่างๆ ของสิงคโปร์ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบแล้ว แต่เขากลับมาเกิดการระบาดระลอกใหม่เพราะดูแลประชากรกลุ่มเฉพาะได้ไม่ดีพอ จะเห็นว่าในวิกฤต ปัญหาแบบนี้จะถูกขับให้ชัดขึ้นด้วย

 

ทางแพร่งระหว่าง สุขภาพ กับความเป็นส่วนตัว และ การปรับตัวเพื่อสู้โควิด-19

 

ถ้ามองเรื่องมาตรการเยียวยา กระทรวงการคลังต้องเรียนรู้ต่อไปว่า ถ้าอยากเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ หรือคนกลุ่มล่างทางสังคมจริงๆ ฐานข้อมูลปัจจุบันใช้ไม่ได้เลย แต่ต้องยกเครื่องและสร้างข้อมูลใหม่ในการรับมือกับโจทย์ใหม่ๆ เพื่อจะระบุเป้าหมายได้ถูกต้อง การสร้างฐานข้อมูลที่ว่าก็เป็นอีกโจทย์ท้าทายของสังคมไทย และยังมีโจทย์เรื่องการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเหล่านี้ตามมาอีก

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ตอนนี้เราจะเริ่มดึงข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือมาใช้สำรวจความหนาแน่นของประชากร เช่น เมื่อพูดถึงการผ่อนคลายให้เปิดสถานที่ต่างๆ เราจะใช้ระบบมือถือเพื่อวัดว่า คนเคลื่อนที่ไปยังสถานที่หนึ่งๆ มากเกินไปไหม ซึ่งก่อนหน้านี้ เราก็ขออนุญาตทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้วว่า จะติดตามคนติดเชื้อโควิด-19 จากระบบมือถือ ต่อไปก็อาจจะใช้เพื่อดูความหนาแน่นของผู้คน ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่สีเทามากขึ้นระหว่างการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กับการดูแลผลประโยชน์สาธารณะ

แต่เดิม ผมพยายามที่จะเอาข้อมูลจากมือถือมาประเมินอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนถนน เพราะเรามีแค่จำนวนผู้เสียชีวิต แต่ไม่มีอัตราการเดินทาง ซึ่งเราหาวิธีวัดไม่ได้ นอกจากใช้การตรวจจับจากการเคลื่อนที่ของมือถือ แต่ปรากฏว่าขอข้อมูลมาไม่ได้ ถึงเราจะบอกว่าไม่เอาข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม

ถ้ามองในเชิงพื้นที่ เราร่วมมือกับตำบลสุขภาวะมานาน ตำบลเหล่านี้จะมีความเข้มแข็ง ทั้งตัวผู้นำ ระบบข้อมูล การรู้ปัญหาภายในและการร่วมมือกันแก้ปัญหา ตอนที่กรุงเทพฯ ปิดกะทันหัน เราก็รีบประสานให้ตำบลเข้มแข็งปรับตัวเป็นศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดของตำบล มีมาตรการว่าคนกลับถิ่นต้องมีระบบยังไง จัดระบบยังไง หรือถ้าเขากักตัวในบ้านที่ชนบทไม่ได้ ส่วนกลางจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ระบบพวกนี้ถูกจัดตั้งอย่างเร่งด่วนโดยใช้ฐานความเข้มแข็งของชุมชน พวกเขาเป็นชุมชนเข้มแข็งมาก่อน พอโยนโจทย์ใหม่เข้าไปก็ใช้เวลาไม่นานในการปรับตัว จะเรียกว่านี่เป็นนวัตกรรมการจัดการก็ได้

เราเห็นการปรับตัวทั้งในระดับชุมชน หรือในทางการแพทย์ก็ดี ในช่วงแรกที่เครื่องมือทางการแพทย์ไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์ก็ปรับตัว หาทางใช้เครื่องช่วยหายใจเครื่องหนึ่งต่อคนไข้สองคน หรือใช้หน้ากาก N95 ให้ได้สี่ครั้ง แบบนี้ก็มีเช่นกัน อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเอาการเว้นระยะห่าง 2 เมตรไปจับหมด บางที คนไม่มีพื้นที่พอจะห่างกันได้ขนาดนั้น มันต้องมีมิติของการใช้สิ่งป้องกันเข้ามาด้วย เช่น ลิฟต์ตัวหนึ่งขึ้นได้สี่คน และให้แต่ละคนสวมหน้ากากอนามัย หันหน้าเข้าหาผนัง หรือร้านอาหารที่กำลังจะได้เปิด ก็อาจจะให้นั่งโต๊ะละคน หรือใช้ฉาก 4 อันมาประกอบกันเป็นตัวกั้น ตอนนี้มีการคิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาเยอะมาก

 

สสส. กับการเปลี่ยน ‘new normal’

 

ในวิกฤตเช่นนี้ สสส. ก็ต้องปรับตัวเหมือนกับทุกองค์กร ตั้งแต่ต้นปีมา เราขอให้ทุกคนปรับตัวและปรับงบด้วย บรรทัดฐานใหม่ของเราคือ อาจจะใช้เงินน้อยลง ซึ่งก็เป็นข้อดีนะ เพราะคนน่าจะสูบบุหรี่กับดื่มสุราลดลง ซึ่งเราก็หวังให้เป็นแบบนั้น ที่สำคัญคือ เราต้องปรับงานทั้งหมด จากเดิมที่กำลังพูดถึงเรื่องกินผักให้ถูกฤดูกาล พอโควิด-19 มาคนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะความสนใจของทุกคนอยู่ที่โควิด-19

มาถึงจุดหนึ่งเราก็เรียนรู้ อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่า สสส. ผูกโยงการสร้างเสริมสุขภาพกับวิถีสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพต่างๆ ตอนแรกเราแคมเปญแต่เรื่องพวกนี้ ต่อมา เราเริ่มขยับไปหากลุ่มโรค NCDs พอมีโรคระบาดมา แพทเทิร์นก็ไม่ได้เปลี่ยนไป คุณยังต้องเสริมสร้างสุขภาพ หาวิธีดูแลพื้นฐานของร่างกายไม่ให้ติดโรคระบาด ต้องกินอาหารดีๆ และออกกำลังกาย คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็พูดถึงเรื่องสุขภาพพื้นฐานทั้งนั้น

จริงๆ อาจเรียกได้ว่า สสส. เป็นองค์การที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนบรรทัดฐานชีวิตผู้คน (denormalization) การสร้างบรรทัดฐานใหม่เป็นอาชีพเก่าเรา เรารู้ว่าต้องทำอย่างไร และถ้าอยากให้มันขับเคลื่อนไปจะต้องใช้กระบวนการและวิธีอะไรบ้าง เช่น ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา มีการระดมความคิดเรื่องการเปิดและผ่อนคลายสถานที่ต่างๆ ซึ่งดึงเอาแต่ละสถานประกอบการมาช่วยคิด เราก็เสนอเข้าไปว่า ภาคีสุขภาพควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย รวมถึงไปช่วยรณรงค์ เฝ้าระวัง เราผลักดันภาคสังคมเข้าไปแบบนี้ เพื่อที่ถึงจุดหนึ่ง เขาจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ๆ ได้

จะเห็นว่า เราเสริมกระบวนการที่เรามีความรู้และความเชี่ยวชาญเข้าไปได้ คือทำเรื่องเก่ากับโจทย์ใหม่ หรือที่เรียกว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ นี่คือบทบาทใหม่ของ สสส. ในเรื่องวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด-19 ภายใต้ความเชี่ยวชาญเก่าที่เรามี

ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เราจะพูดถึงเรื่อง 7 วิถีชีวิตใหม่เพื่อสุขภาพที่ดี คือด้วยเชิงยุทธวิธีต้องเข้าใจก่อนว่า จู่ๆ เราจะไปชวนใคร บอกว่าให้มาที่โลกใบใหม่ด้วยกันนะ ใครจะมา แต่เราจะใช้โควิด-19 เป็นสะพาน คือบอกว่า ช่วงที่สถานที่ต่างๆ เริ่มเปิดได้ คุณต้องปรับตัวนะ ไม่เช่นนั้นจะเปิดไม่ได้ แต่เราก็รู้ว่า มันไม่ใช่การปรับตัวเฉพาะหน้า แต่ต้องปรับตัวยาวไปถึงวิถีชีวิตแบบใหม่ เช่น ‘สะอาดเสมอ’ คือสุขอนามัยร่างกายทุกอย่างต้องสะอาด เพื่อเป็นฐานป้องกันโรคต่างๆ หรือ ‘ร่างกายแข็งแรงเสมอ’ คือออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหน้ากาก เว้นระยะ อะไรทำนองนี้ และเราต้องไม่ประมาทกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีภูมิคุ้มกันในตัว พร้อมปรับตัวเสมอ และคิดบวกเพื่อรับทุกข์ต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องใช้จริงๆ ในการเผชิญหน้ากับโควิด-19 และขยายต่อไปถึงในอนาคต

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save