fbpx

การกระจายอำนาจกับ ‘การเมืองเรื่องข้อมูล’

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องวิชาการ ซึ่งไม่เหมือนเรื่องการใช้ยารักษาโรคที่แม้จะมีเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยธุรกิจยา แต่ชัดเจนว่าคำว่า ‘การเมืองเรื่องข้อมูล’ มีนัยว่าเป็นการใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจเชิงนโยบาย (ที่มีผู้เกี่ยวข้องแยะ) มักไม่ตรงไปตรงมา แม้ข้อมูลจะดูเหมือนตรงไปตรงมา ไม่เหมือนข้อมูลทางเทคนิค เช่น ยาได้ผลเพียงไรหรือมีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไรดูจะชัดเจน แต่ถ้าดูกรณีวัคซีนป้องกันโควิดว่าด้วยผลข้างเคียงจนนำไปสู่การลังเล หรือแม้กระทั่งมาโต้แย้งว่าจริงๆ แล้ว ผลข้างเคียงมีมากหรือน้อยกันแน่ แล้วมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนอย่างไร จนนำไปสู่การถกเถียงว่าคนควรหรือไม่ควรได้รับวัคซีนเพราะอะไร อาจพอทำให้เห็นว่าข้อมูลทางเทคนิคที่ว่าตรงไปตรงมา ก็อาจจะมี ‘การเมือง’ อย่างน้อยก็ในสองด้านคือแหล่งข้อมูลและการตีความข้อมูล 

สิ่งที่เรียกว่าการเมืองเรื่องข้อมูลเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงและสำคัญมากในกระบวนการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ แทนที่จะสรุปง่ายๆ ว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องการเมืองย่อมขึ้นกับผู้มีอำนาจ และในเมื่อเรื่องการหาข้อมูลและการใช้ข้อมูลก็มีการเมือง อย่าไปพยายามเก็บหรือใช้ข้อมูลโดยหวังให้เกิดการตัดสินใจบนฐานความรู้ให้เสียเวลาจะดีกว่า

ความคาดหวังว่าด้วยพลังของข้อมูลและความรู้

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ตั้งใจให้เป็นกลไกในการสร้างความรู้ว่าด้วยระบบสุขภาพ ด้วยความเชื่อว่า การพัฒนานโยบายสุขภาพจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพ

อะไรคือระบบสุขภาพ? ความรู้ประเภทไหนคือความรู้ว่าด้วยระบบสุขภาพ? ความรู้แบบไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบาย?

นี่เป็นสามคำถามเชิงเทคนิคที่นักวิชาการยังถกเถียงกัน ไม่มีข้อสรุปมาจนทุกวันนี้ และคงจะเถียงกันต่อไปอีกนาน ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่เพราะระบบสุขภาพเป็นระบบซับซ้อน ดังนั้นความพยายามที่จะเข้าใจระบบสุขภาพจึงไม่ตรงไปตรงมา อาจไม่ต่างกับคำถามว่าความดีคืออะไร แม้เราจะพูดถึงความดีกันมานาน แต่ความที่มันเป็นเรื่องซับซ้อน มีพัฒนาการไปตามการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่เราคิดว่ารู้จักกันดีก็อาจเป็นเรื่องไม่ตรงไปตรงมา จนหลังๆ มีคำภาษาอังกฤษเรียกปัญหาพวกนี้ว่าเป็น ‘เจ้าตัวร้าย’ (wicked problem)

กลับมาเรื่องความรู้และการวิจัยระบบสาธารณสุขที่ริเริ่มจากองค์การอนามัยโลก พูดถึงความสำคัญของการวิจัยระบบสาธารณสุข (health systems research) ภายใต้มุมมองที่แตกต่างหลากหลายมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นราว 20 ปีมีการวิจัยที่เรียกกันว่า health care research มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 60 ในอเมริกาที่เน้นการวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลคนไข้ ในขณะที่การวิจัยที่เรียกว่า health systems research เน้นไปที่การวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายและระบบที่จะทำให้ประชากรมีสุขภาพดี ลูกค้าหลักของการวิจัยระบบสาธารณสุขจึงเป็นผู้มีอำนาจ และบทบาทด้านนโยบาย การออกแบบและจัดการระบบ ไม่ใช่ผู้ปฎิบัติงานดูแลผู้ป่วยเหมือนการวิจัย health care research

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีนโยบายว่าการวิจัยเชิงระบบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพในระยะยาว นำไปสู่การตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขดังกล่าวข้างต้น

เมื่อแรกตั้งมีคำถามในไทย (ทำนองวิตกกังวล ตามประสาวิธีคิดแบบราชการ) ว่าถ้ากระทรวงสาธารณสุขขอตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เดี๋ยวกระทรวงศึกษาขอตั้งบ้างจะทำอย่างไรดี จะไม่เกิดมาขอตั้งกันอีกหลายสถาบันหรือ แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (ที่มีฐานะเป็นกลไกรัฐที่ไม่ใช่ระบบราชการ) ไม่นับอีกด้านหนึ่งที่ควรมีมานานแล้วเช่นกัน คือสถาบันวิจัยระบบการเกษตร เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าถ้าไม่มองเชิงระบบ แต่มองเพียงเชิงเทคนิค (วิชาอะไร วิธีการเรียนการสอนแบบไหน ฯลฯ ในกรณีของการศึกษา) แต่ไม่มองถึงกลไกและระบบที่ควรมีหรือควรพัฒนาเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนวิชาสำคัญๆ หรือวิธีการเรียนการสอนที่พึงประสงค์ ผู้คนที่อยู่ในระบบก็ยากที่จะทำให้เกิดผลอย่างที่อยากเห็นได้

การวิจัยเชิงระบบจึงเป็นการวิจัยที่ทำให้เห็นโอกาสพัฒนาระบบและกลไกที่จะเอื้อหรือสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่พึงประสงค์ได้ แต่ที่แน่ๆ คือความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงระบบนั้นเป็นความรู้ที่ดิ้นได้ ไม่แน่นอนตายตัว (หรืออย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนนึกว่าเป็นความรู้ที่แน่นอนและตายตัว เถียงไม่ได้) อย่างความรู้จากการวิจัยเชิงเทคนิค

ความรู้หรือข้อมูลอาจเหมือนกัน แต่การตีความยากที่จะเหมือนกัน นั่นเป็นข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการทำงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพ โดยใช้ความรู้มาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ตั้งแต่การเกิดขึ้นของกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติที่เกิดก่อนสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขประมาณ 5 ปี

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่นักวิชาการมักไม่คิดแบบนั้นและเชื่อว่าการวิจัยหรือการหาข้อมูลอย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วการใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ มีความไม่ตรงไปตรงมาและอุดมด้วยอคติ (ไม่ใช่ในมุมของการตั้งใจไม่ดีหรือมีใจเอนเอียง แต่ในมุมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว) แยะมาก

การเมืองเรื่องข้อมูลในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการเมืองในแง่ที่พยายามเอาชนะซึ่งกันและกัน เพราะมีเป้าหมายอยู่ก่อน และทำทุกอย่างด้วยเล่ห์กล เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แต่หมายถึงการเมืองที่มาจากความหลากหลายของผู้คนที่เกี่ยวข้อง และแสดงออกมาในรูปของการปกป้องหรือยืนยันในสิ่งที่ตนเองเชื่อ เคยชินโดยไม่รู้ตัว หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการ (ไม่ใช่รู้เท่าไม่ถึงการณ์) ซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคมที่มีความหลากหลายซับซ้อน เต็มไปด้วยเรื่องที่เป็น wicked problem

สิ่งที่ทำให้เกิดการเมืองเรื่องข้อมูลมักมาจากสองปัจจัยใหญ่ คือธรรมชาติของข้อมูล (ที่มักมาจากการจัดเก็บโดยนักวิชาการ) กับการตีความของผู้ใช้ (ซึ่งมักไม่ใช่นักวิชาการที่เข้าใจเรื่องการจัดเก็บข้อมูลหรือตีความข้อมูลแบบเดียวกับนักวิชาการ) ใครสนใจไปหาหนังสือชื่อ Noise ของ Daniel Kahneman นักวิชาการรางวัลโนเบลมาอ่านได้ เพราะแม้อาชีพที่ต้องใช้ความรู้และการตัดสินใจบนฐานข้อมูลความรู้อย่างมาก เช่นผู้พิพากษาหรือแพทย์ ก็ยังมีตัวอย่างให้เห็นได้ไม่ยาก

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรรู้จัก ในศาสนาพุทธเชื่อว่าทุกคนยึดมั่น (จนเป็นโทษกับตัวเอง) ในขันธ์ 5 และหนึ่งในนั้นคือ ‘สัญญา’ ที่แปลง่ายๆ ว่าการยึดติดกับข้อสรุปที่เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งนี้ทำงานเร็วมาก เพราะมนุษย์พัฒนาความสามารถในการสรุปจากประสบการณ์จำนวนไม่น้อยเพื่อความอยู่รอด เพื่อให้ตอบโต้กับสิ่งที่พบ (โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นอันตราย) ได้รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลา ‘คิด’

Daniel Kahneman เป็นคนเสนอวิธีมองวิธีคิดว่ามนุษย์มีวิธีคิดสองระบบ (ที่มักไม่ทำงานด้วยกัน) คือระบบที่ 1 กับระบบที่ 2 หลายคนคงเคยอ่านแล้วจะไม่เสียเวลาที่ Kahneman อาจไม่ได้อธิบายแบบศาสนา ก็คือข้อสรุปที่มาจากระบบ 1 ต้องรู้จัก ปล่อยวางหรือปรับปรุง (ไม่มีทางทำให้หมดหรือหายไป) เพราะแม้จะมีประโยชน์แต่ก็มีโทษได้ และประโยชน์หรือโทษก็ขึ้นกับบริบท การตีความข้อมูลทุกเรื่อง ทุกบริบท ของทุกคน จึงขึ้นกับสัญญาของแต่ละคนจึงไม่แปลกที่ข้อมูลเดียวกันจะตีความต่างกัน

มีไหมข้อมูลที่เห็นปุ๊บจะตีความเหมือนกัน การเข้าใจที่มาหรือธรรมชาติของการตีความที่ต่างกัน บนฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นประโยชน์อย่างมาก ในกระบวนการนำข้อมูลไปสู่การใช้ประโยชน์ เพราะนั่นแปลว่าอย่างไรก็คงยากที่จะทำให้ข้อมูลที่ดีๆ (ในสายตานักวิชาการ) ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างที่นักวิชาการอยากให้เป็นไป (ตามการตีความของนักวิชาการ)

นักวิชาการอาจถามว่าแล้วจะหาข้อมูลข้อเท็จจริงไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายก็ไม่อาจหลีกพ้นการตีความของผู้ที่เกี่ยวข้องที่เต็มไปด้วยอคติและอัตตาเพื่อลดปัญหาของมุมมองที่แตกต่างกัน นักวิชาการมีความเชื่อว่าข้อมูลที่เป็นตัวเลข (เรียกเป็นภาษาวิชาการว่าข้อมูลเชิงปริมาณ) จะลด ‘ผลของการตีความ’ ได้ดีกว่าข้อมูลเชิงคุณภาพ เพราะฉะนั้นถ้าจะหลีกเลี่ยงการตีความที่ไม่เหมือนกัน ต้องพยายามหาและนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณให้มากๆ ใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพให้น้อยๆ

มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตจริง

ลองมาดูเรื่องการกระจายอำนาจทางสุขภาพที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานว่าควรกระจายหรือไม่กระจาย หรือที่อาจจะเป็นประโยชน์กว่าคือกระจายแบบไหน และที่น่าสนใจกว่าคือถ้ากระจายแบบนี้ (ช่วงแรกคือถ่ายโอน รพ.สต. ไปที่ อบต. แต่กรณีปัจจุบันคือกระจายด้วยการถ่ายโอนไปที่ อบจ.) จะดีหรือไม่หรือจะทำให้ดีได้อย่างไร

ถ้าอ่านข้อความย่อหน้าต้นโดยละเอียด จะเห็นว่ามีคำถามอยู่สองแนว แนวแรกคือทำแล้วดีหรือไม่ แนวสองคือทำอย่างไรให้ดี

จะเห็นว่าแค่ตั้งคำถามก็สะท้อนความคิดความเชื่อที่อยู่ในสัญญาของแต่ละฝ่ายที่ตั้งคำถามเสียแล้ว เมื่อเริ่มจากคำถามที่ต่างกัน การตีความข้อมูลก็ย่อมสะท้อนวิธีคิดว่าด้วยเรื่องนี้ที่แตกต่างกันด้วย แม้จะเห็นตัวเลขเดียวกันก็ตีความต่างกันได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างเช่นการพยายามหาตัวเลขด้วยการสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้น (ไม่ใช่ความเห็น แต่อาจไม่สามารถตัดเรื่องความรู้สึกได้) หลังจากมีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่ อบจ.

ถ้าเราถามว่าดีหรือไม่ดีก็ชัดเจนว่าเราถามความรู้สึก ไม่ได้ถามข้อเท็จจริง ถึงจะทำให้เป็น 5 ตัวเลือกที่สะท้อนว่าดีมากหรือดีน้อย (ในทางปฏิบัติ นักวิชาการพยายามให้คนตอบบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่เอามาให้ดู มากน้อยแค่ไหนโดยแบ่งเป็น 1-5) ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งที่เรียกว่า subjectivity ได้ ตัวเลขที่ได้จากการรวบรวมแบบนี้จึงไม่อาจก้าวข้ามสัญญาของแต่ละฝ่ายได้

ถ้าเราเปลี่ยนจากการถามคนทำงาน ไปถามประชาชนผู้รับบริการว่าสิ่งที่ได้รับดีมากหรือน้อยแค่ไหน ก็คงไม่ต่างกันในแง่ subjectivity แต่อาจอ้างได้ว่าไม่มีอคติ เหมือนไปถามเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพราะเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการตัดสินใจว่าจะโอนหรือไม่โอน (ในกรณีที่เป็นการโอนโดยสมัครใจ) หรือไม่ก็เชื่อหรือสรุปไปนานแล้วว่า อยากโอนหรือไม่อยากโอน (กรณีที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่เลือก)

ก่อนไปถึงการตีความที่แตกต่างกัน มักปรากฏการวิจารณ์คุณภาพข้อมูลว่าไม่ดีอย่างที่ควรเป็น (ไม่สะท้อนสิ่งที่อยากรู้  ไม่เป็นตัวแทนหรือหลากหลายมากพอ หรือไม่มีมาตรฐานการเก็บที่รัดกุมมากพอ ฯลฯ)

มีหลายคำอธิบาย ถึง ‘ความ(ไม่)น่าเชื่อถือ’ ของตัวเลขที่ได้มา ซึ่งข้อโต้แย้ง/ทักท้วงอาจมาจากอคติว่าด้วยแนวทางการกระจายอำนาจ หรือมาจากความยึดมั่นใน ‘มาตรฐานที่ดี’ ของการได้มาซึ่งตัวเลข เหตุผลสำคัญที่นำมาอธิบายความแตกต่างก็มาจากธรรมชาติของตัวเลขที่ไปรวบรวมกันมา แต่ถึงจะไม่ถกเถียงเรื่องความน่าเชื่อถือของตัวเลข ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีความแตกต่างในเรื่องการตีความ (ที่สะท้อนวิธีคิดว่าด้วยเรื่องนั้นๆ หรือวิธีคิดว่าด้วยชีวิตและโลกของแต่ละฝ่าย)

ตัวอย่างคลาสสิกคือเรื่องน้ำครึ่งแก้ว ที่มักนำมาเล่าให้เห็นว่าน้ำครึ่งแก้วเหมือนกัน แต่ตีความออกเชิงลบ (เหลือแค่ครึ่งเดียว) กับมองเชิงบวก (มีตั้งครึ่งหนึ่ง) คำขยายว่า ‘มีแค่’ กับ ‘มีถึง’ ที่เอามาใส่หน้าตัวเลขเดียวกัน (หรือตัวเลขคนละตัว ในข้อมูลชุดเดียวกัน) คำนำหน้าบอกความหมายได้ชัดเจน โดยไม่ต้องรอฟังตัวเลขว่ามีขนาดเท่าไร

ถ้าผลสำรวจบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ 20% ที่บอกว่าผิดหวัง (หรือพบปัญหา) กับการถ่ายโอน ฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่า ‘มีถึง 20%  หรือ 1 ใน 5’ ที่ผิดหวัง (หรือพบปัญหา) อีกฝ่ายก็จะบอกว่า ‘มีเพียง 20%’ ที่ผิดหวัง เข้าทำนองน้ำครึ่งแก้วที่ว่ามา

แต่ถ้าถามเจาะลึกถึงปัญหา (ความผิดหวัง) ที่พบ และมีหลายเรื่อง (สมมติว่า 10 เรื่อง) และคนที่บอกว่าผิดหวังส่วนใหญ่อยู่ใน 2 เรื่อง และยังกระจายไปค่อนข้างมาก สมมติว่ามีประมาณ 10% ผิดหวังกับเรื่องที่ 1 อีก 10% ผิดหวังกับเรื่องที่สอง ก็อาจสรุปใหม่ว่าแม้จะมี 20% ที่ผิดหวัง แต่ลงไปลึกๆ แล้ว มีเรื่องที่ผิดหวัง (และควรแก้ไข) อยู่ 2 เรื่อง และคนที่ผิดหวังในแต่ละเรื่องก็มี 10%

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการตีความจากตัวเลขเดียวกัน ที่อาจทำให้ตีความเพิ่มเติมหรือแตกต่าง หรือเห็นตรงกันได้มากขึ้น หากมีข้อมูลที่ละเอียดขึ้น

ข้อมูลมาจากคำถาม คำถามมาจากวิธีคิด การตีความข้อมูลจึงต้องเข้าใจความแตกต่างของคำถาม (ที่ผู้เก็บข้อมูลตั้งหรือถูกบอกให้ตั้ง) กับวิธีคิดของผู้เก็บข้อมูลและผู้ต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล แล้วทำอย่างไรได้บ้างเพื่อจัดการกับสัญญาที่นำไปสู่การมองคนละทาง ตีความข้อมูลคนละแบบ

ตอบง่ายๆ ก็ต้องตอบว่า ‘ยากส์’

ตอบให้มีกำลังใจก็บอกว่า ‘ต้องทำให้ได้’

ต้องทำให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง (ไม่ว่าจะเป็นเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ) ถูกนำมาตีความและนำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยยอมรับว่ามันจะถูกตีความจากพื้นฐาน (สัญญา) ที่แตกต่างกัน และพยายามทำให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องตัดสินใจ รู้เท่าทันฝ่ายอื่นและตัวเองเพื่อกำหนดท่าทีหรือตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ โดยเชื่อว่าไม่ว่าใครจะตีความและตัดสินใจอย่างไร ก็ไม่มีใครบอกได้ว่ามันผิดหรือถูก (ในที่สุด) แต่ที่แน่ๆ จะเกิดการตีความและตัดสินใจ นำไปสู่การกระทำที่หลากหลาย (ไม่ใช่ตัดสินใจอยู่คนเดียวโดยคนอื่นไม่ทำอะไรเลย)

ถ้าทำได้แบบนี้ ก็จะเกิดกระบวนการติดตามมาอย่างน้อย 3 อย่าง

1.มีคนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของเรื่องที่หลากหลาย และเป็นการเป็นเจ้าของอย่างเข้าใจถึงข้อจำกัดของข้อมูลและการตีความข้อมูล โดยฝ่ายต่างๆ (There is no such thing as perfect evidences and single way to interprete the evidences)

2.มีผู้นำข้อมูลและการตีความไปสู่การตัดสินใจและการลงมือทำในเรื่องนี้อย่างหลากหลาย จากข้อมูลและการตีความข้อมูล ที่มีอยู่ (Subsequent actions from using the evidences help to shape interpretation and next round of evidences generation)

3.เกิดการติดตามผลของการกระทำจากการตีความข้อมูลที่ได้ นำไปสู่การทำงานต่อเนื่องโดยการเก็บและตีความข้อมูล (จากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง) และหวังว่าจะเป็นการทำงานต่อเนื่องที่เกิดร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำบนฐานข้อมูลตัวเอง ที่เริ่มจากคำถามแบบที่ตัวเองคิดว่าควรตอบ การเก็บข้อมูลแบบที่ตัวเองเคยชินหรืออยากทำ และการตีความแบบที่ตัวเองชินในการตีความ (Iterative loops of participatory interactive learning through actions help to converge action and learning from evidences)

เพื่อให้เกิดเช่นที่กล่าวมา 3 ข้อข้างต้น จำเป็นต้องมีการออกแบบและการจัดการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ให้เกิดการรับรู้  ตีความข้อมูลที่มาจากความพยายามในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นกลาง (เท่าที่จะทำได้) แล้วสร้างพื้นที่และจัดกระบวนการ ตีความข้อมูล จนนำไปสู่การตัดสินใจลงมือทำโดยฝ่ายต่างๆ ที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องพยายามหาข้อสรุปร่วมและมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปทำเท่านั้น

พูดง่ายๆ คือพยายามให้ข้อมูลเกิดการตีความข้อมูล เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางโดยฝ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน และมีการติดตามเก็บข้อมูลเพิ่มเป็นระยะ โดยสามารถนำไปถูกใช้ประโยชน์และตีความกันต่อไปอีกหลายรอบ

ความท้าทายสำคัญอยู่ที่กลไกที่จะมาทำหน้าที่เก็บข้อมูลและสร้างกระบวนการตีความ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมที่หลากหลายแต่มีพลัง (อย่างน้อยก็เป็นกลุ่มที่สนใจ พอที่จะไปทำอะไรบางอย่างได้ ไม่ใช่กลุ่มที่มาตีความ และกดดัน หรือมอบหมายหรือรอคนอื่นมาทำอะไร แต่เพียงอย่างเดียว) และที่สำคัญคือทำอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำดีกว่าการมาถกเถียงหาข้อสรุปที่ (ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง) คิดว่าหรือเชื่อว่าดีที่สุด

แน่นอนว่าการเมืองใหญ่ก็ยังสำคัญที่สุด ถ้ากลับมาที่เรื่องการกระจายอำนาจ ไม่ว่าเราจะทำให้มีส่วนร่วมและเปิดโอกาส หรือสร้างปัจจัยเอื้อให้มีฝ่ายต่างๆ ที่หลากหลายมาร่วมกันตีความ หรือมีโอกาสลงมือกระทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าใช่ ตามการตีความของกลุ่มตนเอง สิ่งที่ผู้มีอำนาจสูงสุดสองฝ่ายในเรื่องนี้ (รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถื่น) ตีความและตัดสินใจ ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

การทำให้กลไกสองกลไกหลักที่ว่ามาเห็นข้อมูลและสามารถตีความ โดยถามหาเป้าหมายสำคัญสุดท้ายคือประโยชน์ของประชาชนเป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมาก ในความพยายามใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจภายใต้การตีความที่แตกต่าง

การเก็บข้อมูลว่าด้วยประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชน (ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ หรือมีข้อสังเกตข้อสงสัยว่าด้วยคุณภาพ และการเป็นตัวแทนของข้อมูลมากน้อยแค่ไหนอย่างไร) จึงสำคัญมากกว่าข้อมูลอีกหลายๆ ด้าน และอาจช่วยให้การถกเถียงที่เกิดจากสัญญา และการใช้อำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่งหรือแย่งกันเป็นฝ่ายถูก เพราะผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นกับสุขภาวะหรือประสบการณ์การได้รับการดูแลของประชาชน เป็นข้อมูลที่มีพลังทำให้ร่วมกันค้นหา วิธีการที่ดีกว่าเดิม อันจะนำไปสู่การคิดร่วมกันได้มากขึ้น

การเก็บข้อมูลที่เน้นกระบวนการและความเห็น/ประสบการณ์ผู้เกี่ยวข้อง จะนำไปสู่การตีความตามสัญญาได้มากกว่าการเก็บและใช้ข้อมูลที่เน้นประโยชน์สูงสุดของการกระจายอำนาจนั่นคือสุขภาวะของประชาชน ที่แม้จะเก็บยากแต่ก็น่าจะสำคัญที่สุด และคงต้องเริ่มจากการตกลงกันให้ได้ว่าอะไรคือประโยชน์หรือสุขภาวะที่ประชาชนควรได้รับและสิ่งที่ควรได้รับน่าจะเหมือนหรือแตกต่างกันในช่วงก่อนและหลังการกระจายอำนาจ/ถ่ายโอน อย่างไร

ทางออกจากการใช้ข้อมูลเพื่อบริหาร ‘ความเชื่อ-ความชอบ’ ในกระบวนการกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจภายใต้รูปแบบการถ่ายโอนหน่วยบริการจากส่วนกลางไปอยู่ในความดูแลของ อบจ. (ก่อนนี้เป็น อบต./เทศบาลตำบล) มีผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 กลุ่ม ผู้ต่างมีประสบการณ์และความรู้ (ซึ่งนำไปสู่สัญญา) ที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือในกลุ่มเดียวกันก็อาจมีผู้เกี่ยวข้องหลักที่มีสัญญาแตกต่างจากคนที่เคยอยู่ในกลุ่มเดียวกันมาก่อน 

หนึ่งคือผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุขอันได้แก่ปลัดกระทรวงกับรัฐมนตรีเป็นอย่างน้อยที่สุด และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสัญญาของผู้เล่นหลักคือปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีสาธารณสุขในบางช่วง ซึ่งมีสัญญาเกี่ยวกับเรื่องกระจายอำนาจ ไม่เหมือนกับปลัดหรือรัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่อาจจะเหมือนกันคือผลสุดท้ายที่อยากเห็นคือประโยชน์ที่เกิดกับประชาชน

กลุ่มที่สองคือ อบจ. ซึ่งก็เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขคือผู้นำแต่ละยุคก็มีสัญญาว่าด้วยเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายใหญ่ที่เหมือนกันคือประโยชน์กับประชาชน แต่อาจมีตัวชี้วัดที่ไม่เหมือนกัน คืออาจอยากเห็นผลที่เป็นรูปธรรมคือการได้รับเลือกตั้งกลับมาหรือประชาชนนิยมชมชอบว่าทำเรื่องสุขภาพได้ดี

กลุ่มที่สาม คือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต. ซึ่งชัดเจนว่ามีสัญญาที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แม้ในแง่ตัวบุคคลอาจไม่ได้เปลี่ยนมากมาย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเหมือนอีกสองกลุ่มแรก แต่เป้าหมายที่สำคัญอาจมีเพียงการได้มีระบบและสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีซึ่งก็มีมิติ และความหมายที่หลากหลายไปตามพื้นฐานของเจ้าหน้าที่แต่ละคน

กลุ่มสุดท้ายคือประชาชนผู้จะต้องใช้บริการหรือได้รับความดูแลจากระบบ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่าปฐมภูมิซึ่งย่อมอยากเห็นว่า ตนเองมีที่พึ่งทางสุขภาพที่ไว้ใจได้และพึ่งได้จริง จะเห็นได้ว่าความแตกต่างใหญ่ๆ มีทั้งสัญญาที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญกว่า คือเป้าหมายใหญ่ที่แตกต่างกัน

มองจากมุมมองว่าด้วยการเมืองเรื่องข้อมูล ย่อมหมายถึงความจำเป็นในการที่จะต้องหาข้อมูล เกี่ยวกับเป้าหมายใหญ่ของแต่ละกลุ่ม เพื่อนำมาช่วยกันตีความและหาทางทำให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายใหญ่เหล่านั้น นอกเหนือจากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามและตีความข้อมูล ไปจนถึงการลงมือทำในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าควรทำหรืออยากทำ

เราจึงควรมาร่วมกันทำให้ความรู้และข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจในด้านสุขภาพ ด้วยการเข้าใจและรู้ทันการเมืองเรื่องข้อมูลและหาทางลดความเป็นการเมืองในด้านลบ แต่ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการตีความที่ไม่เหมือนกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่การมองเห็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน (ในที่นี้คือสุขภาวะและประสบการณ์ตรงของประชาชนในการเข้าถึง หรือได้รับการดูแลโดยระบบ) เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้มีการตั้งโจทย์และหาข้อมูลเพื่อหาทางออกและวิธีการทำงานร่วมกันที่ดีกว่าเดิม แม้การตีความจะยังแตกต่างกันอยู่ แต่ก็จะค่อยๆ หาทางออกร่วมกัน ที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันจากข้อมูลหลากมิติชุดเดียวกัน โดยมีการตีความที่แตกต่างกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save