fbpx
บ้านนี้ผีดุ โค้งนี้โคตรเฮี้ยน : บ้านผีสิงและผีตายโหงบอกอะไรเรา

บ้านนี้ผีดุ โค้งนี้โคตรเฮี้ยน : บ้านผีสิงและผีตายโหงบอกอะไรเรา

เรื่องผีที่เล่าต่อๆ กันทุกวันนี้ อาจไม่ใช่แค่สยองให้คนกลัวกันแบบส่วนตัวเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนภาวะบางอย่างของสังคมไทยสมัยใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่คุ้นเคยกับผีเป็นอย่างดี เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีหลากเวอร์ชัน หลายรูปแบบ (แม้จะแอบมีพล็อตเดิมๆ อยู่) แต่สังเกตกันไหมว่า เรื่องผีที่เล่าต่อกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด คือ เรื่องของบ้านผีสิงและผีตายโหง

สำหรับคนทั่วไปเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ก็ในเมื่อคนต้องอยู่บ้าน ต้องเดินทาง การจะมีผีประจำบ้านหรือผีตายโหง (ส่วนใหญ่ตายจากการจราจร) ก็ไม่เห็นแปลกอะไร

แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบลอยๆ นะ แต่มันสะท้อนสภาพบางอย่างของสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจทีเดียวเชียวล่ะ

แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson) อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาประจำมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University) เป็นคนที่ตั้งข้อสังเกตข้างต้น แอนดรูว์เข้ามาทำวิทยานิพนธ์ในเมืองไทยและสนใจศึกษาเรื่องผีไทยกับวิถีชิวิตประจำวันของผู้คนเป็นพิเศษ บางส่วนของวิทยานิพนธ์เขาถูกตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการในชื่อ “Progress and its Ruins: Ghosts, migrants and the uncanny in Thailand” ซึ่งทำการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีในเมืองเชียงใหม่

แอนดรูว์ตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีต ผีในสังคมไทยมักเป็นผีที่มีความสัมพันธ์ไม่ทางใดทางหนึ่งกับผู้ที่ต้องรับฟังเรื่องราวของผีตนนั้น เช่น ผีบรรพบุรุษที่มีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือผีป่า ผีชุมชน ที่มีความสัมพันธ์กับคนในชุมชน แต่เรื่องเล่าของผีในเมืองนั้นสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับคนเมืองด้วยกันเอง เช่น เรื่องผีที่เล่ากันต่อในเมืองมักเป็นเรื่องราวของผีที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน (แต่ก็พร้อมจะเอาชีวิต หรือทำอันตรายเรา) รวมถึงการที่คนคนหนึ่งโดนผีหลอกมักเป็นเรื่องส่วนบุคคล ชุมชนไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบการถูกผีหลอกของคนคนนั้น

นอกจากนี้ แอนดรูว์ยังพบว่า เรื่องเล่าของผีส่วนใหญ่ที่ถูกเล่าต่อในสังคมเมือง ส่วนใหญ่จะเป็น “ผีตายโหง” ซึ่งมีความหมายว่า “ตายไม่ดี” และสิงสู่อยู่ในที่ที่พวกเขาเสียชีวิต

เขาเสนอว่า คอนเซปต์เรื่อง “ผีตายโหง” สะท้อนให้เห็นถึงความ “หยุดนิ่ง” (stasis)

เพราะผีตายโหงนั้นเป็นผีที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิด เป็นผีที่หยุดอยู่กับการตายและวิธีตายของตัวเอง มิหนำซ้ำ ยังพาลพาเอาความคับข้องใจของตัวเองไปลงที่คนอื่นด้วย เพราะคนที่โดนผีตายโหงเล่นงานอย่างน้อยจะได้รับความโชคร้าย (พูดง่ายๆ คือ “ซวย”) อย่างหนักคือ ตายไปเป็นผีตายโหงอีกตน (และเล่นงานคนอื่นวนไป)

เรื่องราวของอาคารร้าง บ้านผีสิง ก็เป็นอีกเรื่องที่แอนดรูว์ให้ความสนใจ เขาพบว่า เรื่องเล่าบ้านร้างผีสิงมันจะทรงพลังก็ต่อเมื่อบ้านร้างนั้นตั้งอยู่ตรงที่มีความเป็นสมัยใหม่ที่สุด (เจริญที่สุด) เพราะมันเป็นจะดูสมเหตุสมผลที่สุดแล้วในการอธิบายว่าทำไมมันถึงร้าง  – มันร้างเพราะมีผีสิงไง

หลายคนก็บอกว่า แค่นี้ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย มันต้องมีอะไรมากกว่านี้สิ ใช่แล้วครับ! แอนดรูว์ไปลึกกว่านั้น เขาพบพล็อตเรื่องบ้านผีสิงนั้นมีความเฉพาะอยู่ นั่นคือ – เรื่องมักเริ่มต้นด้วยการย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่/การอาคารสร้างใหม่ – การย้าย/การสร้างนั้นจบลงด้วยความล้มเหลว – เรื่องผีปรากฏขึ้นในฐานะสาเหตุหลักของความล้มเหลว

หากการย้าย/การสร้างใหม่ หมายถึงความหวังในการเคลื่อนย้าย (mobility) ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เรื่องผีจึงมิใช่อะไรอื่นนอกจากความคับข้องใจที่ผู้คนมีต่อสภาวะสมัยใหม่

แอนดรูว์บอกว่า ไอ้เรื่องผีทำนองนี้มันจะเยอะเป็นพิเศษในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา บางคนอาจบอกว่า ช่วงที่เขาทำการศึกษาเป็นช่วงประเทศไทยอยู่ในวิกฤตการเมืองพอดี (10 ปีแล้ว เสียเวลาพวกเราจริงๆ) แต่งานของเขานั้นศึกษาย้อนครอบคลุมไปตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เลยทีเดียว

 

จริงๆ อยู่ว่า งานของนักมานุษยวิทยาอาจถูกใช้ได้อย่างจำกัด แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ชวนให้คิดอะไรต่ออีกหลายอย่าง ไม่แน่ในอนาคตอาจมีคนอธิบายก็เป็นได้ว่า ประเทศไทยที่มันไปไม่ถึงไหน เป็นเพราะมีผีสิง หรือผีตายโหงคอยรังควาน

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ Progress and its Ruins: Ghosts, Migrants, and the Uncanny in Thailand ของ Andrew Alan Johnson จาก Cultural Anthropology, May 2013

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022