สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศหลายสำนักทั้งในอเมริกาและยุโรปพาดหัวข่าวเยาวชนไทยชุมนุมประท้วงต่อต้านระบอบอำนาจนิยมด้วยการใช้สัญลักษณ์จากวรรณกรรม Harry Potter ร้องเพลงปลุกใจ Do You Hear the People Sing จากละครเวที ‘เหยื่ออธรรม’ (Les Misérables) ก่อนหน้านั้นสื่อญี่ปุ่นประโคมข่าวเด็กนักเรียนมัธยมในไทยชูตัวการ์ตูนอนิเมะ Hamtaro และแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ The Hunger Games ในการสื่อความหมาย
การชุมนุมทางการเมืองไม่ว่าในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรามักจะเห็นอิทธิพลของงานศิลปะและวรรณกรรมเป็นแรงบันดาลใจของผู้ประท้วง ทั้งเป็นตัวกระตุ้นให้แสดงออกและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อเพื่อส่ง ‘สาร’ (message) ที่ผู้ประท้วงต้องการสร้างความตื่นรู้ในหมู่ผู้คนทั้งผู้สนับสนุนและบุคคลในวงนอกที่กว้างออกไป
ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งเป็นยุคก่อนเทคโนโลยีดิจิทัล งานศิลปะและวรรณกรรมก็มีบทบาทสูงเช่นกัน เช่น วรรณกรรมของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ บทความที่เผยแพร่ในสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ งานศิลปะจากหน้าพระลาน บทกลอนฉันจึงมาหาความหมายฯ-เมื่อท้องฟ้าเป็นสีทองผ่องอำไพฯ ใบปลิวที่พิมพ์ด้วยโรเนียว และละครเวทีพระจันทร์เสี้ยว ฯลฯ มีส่วนกระตุ้นให้เกิดพลังคนหนุ่มสาวใช้ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เมื่อเทียบแล้วจะเห็นว่าในยุคดิจิทัลนี้พลังการสื่อสารกระจาย-ลงลึก-ลงล่าง-ไปไกล และเร็วกว่า ถ้าเทียบยุคบทกลอน ฉันจึงมาหาความหมาย กับ แร็พต่อต้านเผด็จการ ก็คงพอเข้าใจได้ว่านี่คงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ความรู้สึก #จะไม่ทน ที่ระบาดในกลุ่มคนรุ่น Twitter-IG-TikTok
ในเวทีชุมนุม 3 สิงหาคม ทนายอานนท์ นำภา สื่อความหมายด้วยการใส่ชุดคลุมพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ผ้าพันคอของบ้านกริฟฟินดอร์ ใช้ไม้กายสิทธิ์ชี้ไปที่ภาพโวลเดอมอร์ ตัวละครมหาวายร้ายที่มีอำนาจและพลังการทำลายล้างสูง


ภาษาพอตเตอร์เรียกตัวร้ายในนิยายว่า The Dark Lord บ้างหรือ He Who Must Not Be Named บ้าง เป็นตัวแทนของอำนาจนิยมต้องการทำลายล้างพวก ‘มักเกิล’ ที่ถือว่าเป็นพวก ‘เลือดไม่บริสุทธิ์’ ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่แท้จริงของพ่อมดแม่มด เทียบในโลกมนุษย์คือผู้นำที่ไม่มีความอดทนคนเห็นต่างและต้องการกวาดล้างผู้คนที่เห็นต่างด้วยวิธีรุนแรง (คล้ายๆ โวหารชังชาติ)
เมื่อมองย้อนไปในยุคนาซี เผด็จการฮิตเลอร์ก็ใช้แนวคิดเผ่าพันธุ์อารยันว่าเป็น master race ปลุกระดมชาวเยอรมันทำสงครามสร้างชาติอันยิ่งใหญ่ ชักชวนกันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหลายล้านคน ก็มองเห็นอาการของผู้ที่ออกมาขับไล่คนเห็นต่างที่ถูกป้ายสีว่า ‘ชังชาติ’ ก็คงคล้ายๆ กัน
เมื่อครั้งที่เจ้าชายแฮร์รี ทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับเมแกน มาร์เคิล ก็มีบางสื่อที่ตำหนิคนอังกฤษผิวขาวบางกลุ่มที่ไม่อยากให้เจ้าชายระดับสูงในราชวงศ์ไปแต่งงานกับเจ้าสาวที่เป็นเลือดผสม (mixed race) โดยเสียดสีว่า คนขาวบริสุทธิ์เหล่านี้คงรังเกียจเมแกน มาร์เคิลเพราะเธอเป็นมักเกิล
ในฉากแรกๆ ของนิยายตอนที่นักเรียนน้องใหม่พากันเดินเข้าห้องโถงใหญ่ของโรงเรียนฮอกวอตส์เพื่อแยกกลุ่มจัดเข้าหอพัก(บ้าน) ตามแนวความคิดความเชื่อและค่านิยมของเด็กแต่ละคน โดยมีหมวกคัดสรรทำหน้าที่แยกแยะให้ จะเห็นว่าแฮร์รี่ต้องการอยู่บ้านกริฟฟินดอร์ เพราะค่านิยมของบ้านนี้คือ มีความเชื่อว่าธรรมย่อมชนะอธรรม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม แต่ว่าบางครั้งความกล้านั้นถึงขั้นใจร้อนแบบบ้าบิ่น บ้านกริฟฟินดอร์ใช้สิงโต เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและใช้สีแดงทับทิม-ทอง (ดูจากผ้าพันคอ) เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่น ตั้งใจสร้างสังคมที่เป็นธรรม เข้าใจว่านี่คงเป็นสัญลักษณ์ที่ทนายอานนท์ ต้องการสื่อกับผู้สนับสนุนแนวคิด/ข้อเรียกร้องของตน
สำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 35 ปีลงมาจะเข้าใจภาษาพอตเตอร์และภาษาดิจิทัลที่เกลื่อนสื่อสังคมขณะนี้ ในขณะที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ส่วนหนึ่งคงไม่มีความอดทนพอที่จะไปถอดรหัส และพากันมองความเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ว่าเป็นเรื่องการถูกหลอกถูกชักจูง ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทย ผู้ใหญ่หลายคนมีอาการคล้ายพวก ‘climate denier’ ที่ปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนแบบประธานาธิบดีทรัมป์ที่เอ่ยปากไล่เด็กนักเรียนมัธยมสวีเดน เกรตา ธันเบิร์ก ให้กลับไปเรียนหนังสือ
นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตีพิมพ์ออกมา 7 ตอน นับตั้งแต่ปี 1997 รวมแล้วมียอดจำหน่ายกว่า 450 ล้านเล่มทั่วโลก ไม่นับส่วนที่แปลขายเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา มีการดัดแปลงทำเป็นภาพยนตร์ ละครเวที เป็นหัวข้อให้มีการจัดสัมมนาและถกเถียงกันทางวิชาการอย่างแพร่หลาย ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างยาวนานต่อคนรุ่นหนึ่งอย่างลึกซึ้ง พวกเขานำภาษาพอตเตอร์มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายๆ ส่วนของโลก บางคำกลายเป็นจินตนาการทางจริยธรรมและสโลแกนการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นมิลเลนเนียล ที่มักจะแบ่งโลกออกเป็นสองส่วน คือฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายปฏิกิริยาล้าหลัง ซึ่งมีนักวิชาการบางคนบอกว่าเป็นวิธีแบ่งที่ง่าย-โลกสวยเกินไป
อย่างไรก็ตามแกนกลาง ‘สาร’ ของวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ คือ การยอมรับความแตกต่างหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นหรือเชี้อชาติเผ่าพันธุ์ (message of tolerance and diversity) ซึ่งคงสะท้อนทัศนะการมองโลกของผู้เขียน เจ.เค. โรว์ลิง เห็นได้จากข้อความในทวิตเตอร์ของเธอ(ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่าสิบล้านคน) เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศใช้มาตราการห้ามมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกา เธอเขียนในทวิตเตอร์ทันทีว่า “Voldemort was nowhere as bad” (โวลเดอร์มอร์ยังไม่เลวขนาดนี้) เวลานั้นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเผาหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เพื่อประท้วง เจ.เค. โรว์ลิง
แก่นของสารที่วรรณกรรมชุดนี้มอบให้กับคนรุ่นหนึ่งคือจินตนาการที่ว่าธรรมย่อมชนะอธรรมในที่สุด และมีการนำเอาภาษาพอตเตอร์มาอ้างอิงบ่อยครั้งในยุคที่เกิดความแตกแยกทางการเมือง ในที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านอำนาจนิยมและระบอบฟาสซิสต์หลายแห่งในโลกตะวันตก มักจะเห็นคนชูป้าย ‘Dumbledore’s army’ ในกลุ่มผู้ประท้วงอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อครั้งที่สหราชอาณาจักรจัดรณรงค์ประชามติ Brexit (มิถุนายน 2016) เพื่อตัดสินใจว่าจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่นั้น เจ.เค. โรว์ลิงก็อยู่ในฝ่ายรณรงค์โหวตไม่ถอนตัว ผลการลงประชามติโดยรวมพบว่าฝ่ายโหวตถอนตัว ชนะไป 52 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อลงลึกไปดูตัวเลขพบว่าผู้ใช้สิทธิอายุระหว่าง 18-24 ปีโหวตไม่ถอนตัวถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นเจน X-Y-Z แสดงความเจ็บปวดที่คนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา ลงประชามติทำลายอนาคตของพวกเขา
ในปี 2005 มีกลุ่มคนหนุ่มสาวก่อตั้งมูลนิธิ The Harry Potter Alliance เพื่อรณรงค์ให้ยุติสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซูดาน หลังจากนั้นมูลนิธินี้ก็ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาคนเข้าเมือง สิทธิแรงงาน สุขภาพจิต สิทธิของความหลากหลายทางเพศ และปัญหาโลกร้อน ในเวลานั้น เอมมา วัตสัน ซึ่งแสดงเป็นเฮอร์ไมโอนี ได้รับรางวัลในฐานะผู้รณรงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
แม้กระนั้นก็ตามบางสิ่งบางประเด็นที่แฟนๆ ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ รณรงค์เคลื่อนไหวนั้นก็ไม่ได้บรรลุตามความมุ่งหวังดังอุดมการณ์ ‘ธรรมย่อมชนะอธรรม’ ตามจินตนาการในนิยายเสมอไป
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มีความซับซ้อนย้อนแย้งมากกว่าแค่ยกไม้กายสิทธิ์ แล้วเสกให้ปัญหาหายไปได้ง่ายๆ