fbpx
เมื่อพระโอรสไดอานาและพระชายาเมแกน ชวนปฏิรูปสถาบันฯ และสื่อแทบลอยด์อังกฤษ

เมื่อพระโอรสไดอานาและพระชายาเมแกน ชวนปฏิรูปสถาบันฯ และสื่อแทบลอยด์อังกฤษ

บทสัมภาษณ์ทางทีวีของเมแกน มาร์เคิล สะใภ้ผิวสีพระองค์แรกของราชวงศ์วินด์เซอร์ และเจ้าชายแฮร์รีรัชทายาทอันดับหกแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ สร้างแรงกระเพื่อมแก่ทั้งสองฝั่งทะเลแอตแลนติกอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดเดือนมีนาคม และเป็นไปตามความคาดหมายคือปฏิกิริยาในสังคมก็แตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ เมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับจารีตและความเชื่อถือที่พวกเขาคิดว่าติดกับดักอยู่ในความล้าหลัง แต่คนรุ่นเก่าที่มีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็สวนกลับมาด้วยการท่องคาถาเดิมๆ

เสียงสะท้อนจากบทสัมภาษณ์คราวนี้ เปรียบเสมือนเสียงเรียกร้องของคนรุ่นนี้ ให้ราชวงศ์เปิดใจปฏิรูปตัวเอง โดยยอมรับการเดินหน้าของสังคมที่ไม่ยอมรับการเหยียดผิว แบ่งชนชั้น เรียกร้องให้รับรู้ความรู้สึกนึกคิดและค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่จำเจอยู่กับขนบพิธีที่นับวันมีแต่จะลิ้นมนต์ขลังไป

ถ้ามองให้ลึกถึงบริบททางประวัติศาสตร์ก็จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์เมแกนกับแฮร์รีได้เป็นอย่างดี    


ประเด็นสำคัญในบทสัมภาษณ์ทางทีวีที่มีผู้ชมเกือบ 30 ล้านคนทั่วโลก เปรียบเสมือนข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยขอให้ลดช่องว่างระหว่างเจ้ากับราษฎรที่มีความหลากหลายทางสีผิว แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมเท่ากัน ซึ่งสังคมเห็นได้จากบาดแผลที่ยังฝังลึกสืบเนื่องจากการเป็นเจ้าอาณานิคม โดยยังคงมีริ้วรอยอยู่ในโครงสร้างของเครือจักรภพจนถึงปัจจุบัน

อย่างกรณีที่ประเทศบาร์เบโดสที่เป็นสมาชิกของเครือจักรภพและมีสมเด็จพระราชินีทรงเป็นประมุขในขณะนี้ ได้ประกาศขอถอนตัวจากเครือจักรภพและกำลังจะสถาปนาระบอบการปกครองเป็นประเทศสาธารณรัฐในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ ซึ่งเป็นวันได้เอกราชจากอังกฤษครบ 55 ปี วี่แววแบบนี้ดูเหมือนกำลังจะขยายตัวออกไปในสมาชิกบางประเทศ

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของ YouGovPoll หลังเทปสัมภาษณ์ออกอากาศปรากฏว่า ผู้ตอบแบบถามในกลุ่มอายุ 18-24 ปี จำนวนเกินครึ่งสนับสนุนเมแกน มาร์เคิลและเจ้าชายแฮร์รีในประเด็นการเหยียดผิว การแบ่งชนชั้น ประเด็นสุขภาพจิตของผู้ถูกรังแก และความเลวร้ายของสื่อหัวสี (tabloid press) ไร้จรรยาบรรณของอังกฤษที่เคยทำร้ายเจ้าหญิงไดอานา แต่ในทางกลับกันผู้ตอบแบบสอบถามที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินครึ่งหนึ่ง สนับสนุนฝ่ายราชวงศ์และกล่าวหาเมแกนว่าโกหกออกทีวี ไม่เจียมตัว ในขณะที่ ‘สื่อขาใหญ่’ 2-3 คนฉวยโอกาสปั่นเรตติ้งให้ตัวเองโดยพยายามเปรียบเมแกนว่าเหมือนอริราชศัตรู ไม่รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

มีพิธีกรข่าวดังคนหนึ่งโหนเจ้าโดยการปั่นกระแสความเกลียดชังด้วยการเสี้ยมให้ประชาชนคนอังกฤษเลือกเอาว่าจะหนุนดาราหนังฮอลลีวูด หรือสมเด็จพระราชินีอังกฤษ ในทางกลับกันสื่อคุณภาพบางฉบับชี้ว่า เมแกนในฐานะพระชายาของเจ้าชายแฮร์รีเป็น ‘asset’ ของราชวงศ์วินด์เซอร์มีบทบาทช่วยเชื่อมประสานประชาชนสีผิวในแอฟริกา แคริบเบียน เอเชีย แปซิฟิกใต้ ที่ฝ่ายวังมักจะปากหวานเปรียบเหมือนสมาชิกของ ‘ครอบครัวเครือจักรภพ

นอกจากนี้ทั้งแฮร์รีและเมแกนยังมีบทบาทช่วยเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนต่างผิวพันธุ์รุ่นใหม่ในอังกฤษที่ต้องทนกับความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างของสังคมอังกฤษ เพื่อไม่ให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อการชักจูงของแก๊งอาชญากรรมและกลุ่มผู้ก่อการร้าย

สื่อหัวสีบางฉบับเลือกที่จะไม่โต้เถียง-อภิปรายในประเด็นที่เมแกนและแฮร์รีหยิบยกขึ้นมาให้ถกเถียงกัน ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อคุณภาพอยู่ตลอดเวลา แต่หันไปใช้อุบายเดิมๆ คือวิธีทำลายภาพลักษณ์ (character assassination) โดยพยายามเบี่ยงเบนข้อถกเถียงแล้วลดฐานะความเป็นมนุษย์ของคนที่กล้าพูด กล้าถาม ให้ด้อยค่าต่ำลงกว่าความเป็นมนุษย์ สร้างความสะใจให้กลุ่มผู้อ่านในซีกหนึ่งของสังคมอังกฤษ อันเป็นการสร้างความร้าวฉานเกลียดชังคนต่างสีผิว ต่างค่านิยมให้ระแวงกันมากขึ้น

โดยภาพรวมแล้วประชาชนที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าสองในสาม ยังคงต้องการให้อังกฤษรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ต่อไป เพราะไม่มีใครเชื่อว่าเมแกนกับเจ้าชายแฮร์รีมีเจตนาล้มเจ้าด้วยการตีแผ่ปัญหาภายในออกสู่สาธารณะ หากแต่ต้องการให้สังคมคิดต่อว่า สถาบันฯ จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อรักษาความเชื่อถือศรัทธาต่อสถาบันฯ และปรับค่านิยมให้เท่าทันประชาชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังมาทดแทนคนรุ่นเก่าที่ค่อยๆ โรยราไปพร้อมความเชื่อและค่านิยมแบบเดิมๆ


เนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของเมแกน มาร์เคิลและเจ้าชายแฮร์รี มี 2-3 ประเด็นที่เหมือนเสียงสะท้อนจากอดีตเมื่อย้อนหลังกลับไปกว่า 25 ปี ครั้งที่เจ้าหญิงไดอานาประทานสัมภาษณ์ออกรายการพาโนรามาของบีบีซีทีวี ซึ่งได้เขย่าความเชื่อความศรัทธาเก่าๆ ที่ว่าเมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในวังแล้วต้องอยู่ในกรอบแคบๆ หวานอมขมกลืนกับความอยุติธรรมทุกรูปแบบทั้งที่มาจากสมาชิกราชวงศ์และบรรดาอำมาตย์ที่ล้อมรอบสมเด็จพระราชินี ตลอดจนถึงเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ที่ช็อกผู้คนทั่วโลก โศกนาฏกรรมที่นำความเศร้าสลดมาให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของอังกฤษ จนกลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อราชวงศ์วินด์เซอร์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคยแข็งแกร่งมายาวนาน

ในเวลานั้นเป็นห้วงเวลาที่ความศรัทธาและความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อราชวงศ์กำลังตกต่ำถึงขั้นวิกฤต เพราะผู้คนจำนวนมากเห็นว่าเจ้าหญิงไดอานาทรงชอกช้ำเพราะถูกกระทำโดย ‘บุคคลในโครงสร้างวังหลวง’ ที่เรียกกันว่า The Firm อันประกอบด้วยคณะบุคคลผู้เคร่งจารีตขนบ ซึ่งเกาะกุมยอดปิรามิดศูนย์อำนาจของวัง โดยพยายามยกระดับความเป็นเจ้าให้สูงส่งห่างจากราษฎรเพื่อธำรงความขลังของสถาบันฯ เอาไว้ อันเป็นข้ออ้างที่ล้าหลังหมดสมัยไปแล้ว เพราะยิ่งยึดขนบ-จารีต โดยยกขึ้นเปรียบเป็นเทพเหนือมนุษย์ให้ดูขลัง แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นการถ่างช่องว่างระหว่างเจ้ากับราษฎรให้ห่างมากขึ้นอีก เพราะค่านิยมในโลกก้าวเปลี่ยนไปตามพัฒนาการของอารยะสมัยและวิทยาการ

ในช่วงสัปดาห์แห่งความคับขันเมื่อมหาชนนำช่อดอกจำนวนมหาศาลไปเรียงกองหน้าพระราชวังเคนซิงตันและบักกิงแฮม ขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ มีเสียงระงมเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีและสมาชิกราชวงศ์แปรพระราชฐานจากวังแบลมอรัลที่ประทับฤดูร้อนในสกอตแลนด์ แล้วเสด็จกลับลงมากรุงลอนดอนเพื่อรับรู้ความโศกเศร้าของประชาชน และขอให้ลดธงครึ่งเสาที่พระราชวังบักกิงแฮมเพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเจ้าหญิงไดอานา

แต่สุ้มเสียงอันเย็นชาจากวังคือไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงหมายกำหนดการเสด็จกลับหรือเปลี่ยนโบราณราชประเพณีกรณีลดธงครึ่งเสา เพราะเจ้าหญิงไดอานาในตอนนั้นทรงหย่าจากมกุฎราชกุมารแล้ว ไม่มีฐานะเป็น Her Royal Highness (HRH) อีกต่อไป

เหมือนสุมไฟในความรู้สึกของประชาชน เสียงเรียกร้องจากประชาชนหนาหูมากขึ้น ช่อดอกไม้หน้าวังทั้งสองแห่งก็ขยายพื้นที่มากขึ้น แต่ไม่มีการตอบสนองจากวังแบลมอรัลแต่อย่างไร ร้อนถึงนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของพรรคหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายในเวลานั้นต้องรุดไปสกอตแลนด์ขอเข้าเฝ้าเพื่อถวายคำปรึกษา

หลังกลับถึงลอนดอน โทนี แบลร์ให้สัมภาษณ์สื่อว่า แม้ว่าเจ้าหญิงไดอานาจะไม่มีฐานันดร HRH แต่พระองค์คือ Peoples’ Princess จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ภาพโดย Maxwell Hamilton


ไม่กี่วันต่อมาดูเหมือนมีการเปลี่ยนท่าทีเพราะสมาชิกราชวงศ์ทั้งหมดเสด็จกลับลอนดอน มีการลดธงชาติครึ่งเสาเหนือพระราชวังบักกิงแฮม สมเด็จพระราชินีทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ชื่นชมบทบาทของเจ้าหญิงไดอานาและเสด็จออกพระราชดำเนินทอดพระเนตรช่อดอกไม้หน้าพระราชวัง ทรงมีปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มาชุมนุมไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่ากระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนลดน้อยลง

คำแนะนำของโทนี แบลร์มีผลต่อการปรับทัศนคติของ The Firm ให้ยืดหยุ่น ปรับโบราณราชประเพณีช่วยรักษาความมั่นคงของสถาบันได้ในขณะที่มีสิ่งมาท้าทายความรู้สึกของประชาชนในห้วงเวลานั้น

ระหว่างการประทานสัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์ เจ้าชายแฮร์รีทรงวิตกห่วงใยว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย โดยโยงว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับพระมารดาอาจจะเกิดขึ้นกับพระชายา โดยเฉพาะมีการปั้นข่าวเท็จที่สร้างความเสียหายให้กับเมแกนทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องในสื่อหัวสี แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวสารของสำนักพระราชวังไม่สนใจที่จะออกมาโต้แย้งแก้ข่าวให้ข้อเท็จจริง กลับปล่อยให้ผู้อ่านเข้าใจผิดๆ ขณะที่หากมีข่าวเสียหายต่อสมาชิกราชวงศ์ท่านอื่น เจ้าหน้าที่วังจะรีบชี้แจงทันที คล้ายกับว่ามีบุคคลใน The Firm คอยป้อนข่าวสื่อหัวสีเพื่อทำลายพระชายาของพระองค์ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับพระมารดาในอดีต

นอกจากนี้ยังมีประโยคเด็ดของเจ้าชายแฮร์รีที่ว่า พระองค์ไม่ต้องการติดกับดักในระบบที่มีการกำหนดแข็งตายตัว ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา “Trapped within the system, like the rest of my family are. My father, my brother, they are trapped.”

ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงเห็นปัญหาในระดับกระบวนคิดและโครงสร้างของ The Firm  ที่เคยเป็นต้นธารนำไปสู่ข่าวช็อคโลกและภาวะวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันฯ ของพสกนิกรอังกฤษเมื่อ 24 ปีก่อน แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว แต่ทั้งพระบิดาและพระเชษฐาต่างก็ยังคงติดอยู่ในกับดักของระบบนี้

ดังนั้นคำถามจากแรงกระแทกของบทสัมภาษณ์ทางทีวีของเมแกนและแฮร์รีเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือ ถึงเวลาที่สถาบันฯ จะต้องปฏิรูปกระบวนคิดให้เท่าทันกับโลกสมัยใหม่หรือยัง

ดูเหมือนว่าตลอด 24 ปีที่ผ่านมาหลังพิธีพระศพเจ้าหญิงไดอานาจะมีความพยายามให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อลดช่องว่างระหว่างสถาบันฯ กับราษฎรให้น้อยลงซึ่งมองเห็นได้ในหลายรูปแบบ แต่ลึกๆ แล้วความรู้สำนึกในชาติกำเนิด การแบ่งฐานะชนชั้นระหว่างสมาชิกราชวงศ์กับสามัญชนคนธรรมดาก็ยังสัมผัสได้ แม้จะมีการลดทอนจารีตและแนวปฏิบัติหลายอย่างไปแล้วก็ตาม เพราะอคตินั้นหลบซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ยิ่งสามัญชนคนนั้นเป็นคนต่างผิวต่างพันธุ์ ดังที่มีการเปิดเผยในรายการสัมภาษณ์ประเด็นที่ว่าพระโอรสที่จะประสูติจากพระชายาและเจ้าชายแฮร์รีจะมีสีผิวดำขนาดไหน

ลองย้อนกลับไป 24 ปีในพิธีศพของเจ้าหญิงไดอานาในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ มีภาพและเสียงที่ยังคงติดหูติดตามาจนถึงปัจจุบัน เมื่อชาร์ลส์ สเปนเซอร์ พระอนุชาของเจ้าหญิงไดอานาขึ้นแท่นกล่าวคำไว้อาลัยในพิธีศพตอนหนึ่งว่า “ไดอานาเป็นสตรีปราศจากชนชั้นที่มีความสง่างามโดยธรรมชาติและพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องติดป้ายบรรดาศักดิ์เจ้าใดๆ ก็สามารถสร้างความมหัศจรรย์ในแบบของตนเองได้”    

“Someone with a natural nobility who was classless and who proved in the last year that she needed no royal title to continue to generate her particular brand of magic.”

หลังจากที่เจ้าหญิงไดอานาให้สัมภาษณ์โทรทัศน์บีบีซี เปิดเผยความรันทดของชีวิตครอบครัวในกรงทอง การถูกกลั่นแกล้งเพราะไม่ก้มศีรษะให้กับระบบโบราณที่ไม่เป็นธรรม และมือที่มองไม่เห็นใน The Firm เวลาต่อมา ปรากฏว่าสื่อแทบลอยด์ก็ตั้งหน้าตั้งตาหาวิธีทำลายเจ้าหญิงไดอานาให้หมดที่ยืนในสังคมอังกฤษ เห็นได้จากคำไว้อาลัยอีกตอนหนึ่งที่ชาร์ลส์ สเปนเซอร์พระอนุชา ได้พาดพิงถึงสื่อประเภทแทบลอยด์ว่ามีส่วนต้องรับผิดชอบต่อต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นหรือไม่   

“I don’t think she ever understood why her genuinely good intentions were sneered at by the media, why there appeared to be a permanent quest on their behalf to bring her down.”

บทเรียนจากอดีตทำให้แฮร์รีกับเมแกนรู้ว่า การที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันฯ จะต้องมีการ ‘นำความจริงออกมา’ สู่ที่สาธารณะโดยต้องเขย่า status quo เพื่อความจริงดังกล่าวจะได้ไปกระทบกับจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้นให้ยอมรับกันก่อนว่ามีปัญหาจึงจะเริ่มแก้ปัญหาได้ หมายความว่าคงต้องบาดเจ็บกันบ้าง และก็เป็นไปตามความคาดหมายสื่อแทบลอยด์ทั้งหลายเปิดฉากโจมตีไม่หยุดอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์หลังจากเทปสัมภาษณ์ออกอากาศ

พิธีกรรายการข่าวทีวีภาคเช้าชื่อดังคนหนึ่งต้องเดินออกจากห้องส่งขณะที่ยังคงออกรายการสดๆ เพราะถูกเพื่อนร่วมงานในสตูดิโอเปิดโปงพฤติกรรมกลางอากาศว่าในอดีตเคยไล่จีบเมแกนแต่เธอไม่เล่นด้วย สงสัยว่าองุ่นเปรี้ยวจึงหาทางโจมตีแบบมีอคติออกอากาศอยู่เป็นระยะๆ ตั้งแต่พิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รีเป็นต้นมา

การวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกราชวงศ์ในอังกฤษสามารถทำได้ไม่ผิด เพราะไม่มีกฎหมายความมั่นคงครอบจักรวาลห้ามไว้ ดังนั้นสิ่งที่เมแกนและแฮร์รีดำเนินการคือฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมแกนชนะคดีฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ Mail on Sunday และ Daily Mail หลังจากสู้คดีกันมาเกือบสองปีในกรณีละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและละเมิดลิขสิทธิ์

ประเด็นเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการเหยียดผิวในบทสัมภาษณ์ของเมแกน สามารถเขย่า status quo ได้ จึงมีการแถลงข่าวจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่าประเด็นนี้ทางสำนักพราชวังถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยมาก แต่เนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับคำพูดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะคลาดเคลื่อนกันไปบ้าง ดังนั้นสำนักพระราชวังจะดำเนินการตรวจสอบเป็นการภายในก่อน

เวลาต่อมาอีกสองสัปดาห์หลังจากนั้นมีรายงานข่าวอย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนว่าสำนักพระราชวังจะเปิดการทบทวนครั้งใหญ่เพื่อปรับปรุงนโยบายแนวปฏิบัติให้เท่าเทียมกันเกี่ยวกับความหลากหลายของบุคลากรต่างสีผิว ความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงแนวปฏิบัติต่อความพิการ ในแถลงการณ์กล่าวถึงบุคลากรในวังทั้งสามแห่ง คือ บักกิงแฮม เคนซิงตัน และแคลเรนซ์ เฮาส์ แต่ไม่ชัดเจนว่าบุคลากรดังกล่าวรวมไปถึงสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงหรือไม่

บีบีซีอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในวังว่า ความจริงแล้วสำนักพระราชวังมีนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางผิว ชาติพันธุ์ เพศและคนพิการอยู่แต่เดิมแล้ว ก่อนที่จะมีบทสัมภาษณ์ที่อื้อฉาวของเมแกนและเจ้าชายแฮร์รี แต่ความคืบหน้าในภาคปฏิบัติอาจจะเท่าทันตามพระประสงค์ของสมเด็จพระราชินี จึงมีประกาศนโยบายให้ทบทวนครั้งใหญ่ออกมา

หนังสือพิมพ์ Mail on Sunday รายงานว่าการปฏิรูปคราวนี้ถือว่าเป็นการทบทวนครั้งใหญ่ทีเดียว โดยจะมีการเปิดอัตราใหม่แต่งตั้งนักบริหารที่มีอำนาจเต็ม (Diversity Chief) เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลงานสำคัญนี้ เริ่มด้วยการจัดให้มีตัวแทนจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางสีผิวและชาติพันธุ์ จากกลุ่ม LGBT และจากสมาคมคนพิการ เข้ามาร่วมให้คำแนะนำ แหล่งข่าวในวังระบุว่าสำนักพระราชวังพร้อมที่จะรับฟังความเห็นที่หลากหลายและต้องการดำเนินนโยบายให้ถูกต้องสอดคล้องกับยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ยนไป

ราชวงศ์และราชสำนักในยุโรปหลายแห่งล้มหายไปตามกระแสลมแรงในประวัติศาสตร์เพราะปรับตัวเองไม่ทันกาล ที่ยังคงมั่นคงยั่งยืนมาถึงปัจจุบันเพราะมีการปฏิรูปลดประเพณีเจ้าขุนมูลนายแบ่งชนชั้นให้น้อยลงตามอาระสมัย ยกสถาบันฯ ให้พ้นจากการเมืองด้วยการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามกระแสเรียกร้องของราษฎรที่สรุปเป็นประเพณีการปกครองเป็นยุคๆ ตัวอย่างที่เห็นคือ Magna Carta ในอดีต

ส่วนยุคปัจจุบันเสียงเรียกร้องมาในรูปของคำแนะนำของโทนี แบลร์ คำไว้อาลัยในวิหารเวสต์มินสเตอร์ของชาร์ลส์ สเปนเซอร์ และหลังสุดนี้คือบทสัมภาษณ์ที่อื้อฉาวของเมแกนและเจ้าชายแฮร์รี

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save