fbpx
ศิลปะร่วมสมัย การเมืองไทย และหมุดเจ้าปัญหา กับ ธนาวิ โชติประดิษฐ

ศิลปะร่วมสมัย การเมืองไทย และหมุดเจ้าปัญหา กับ ธนาวิ โชติประดิษฐ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

ช่วง 10 กว่าปีของวิกฤตการเมืองไทย นอกจากความขัดแย้งในระดับปัจเจกแล้ว ดูเหมือนว่ารอยร้าวและการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง ยังลามไปในแวดวงต่างๆ ด้วย

ทว่าในแวดวงที่เกี่ยวกับความคิดความอ่าน ทั้งแวดวงวิชาการ หรือแวดวงศิลปะ คล้ายจะมีการปะทะกันทางความคิดมากเป็นพิเศษ

กลางเดือนพฤษภาคม 2559  หากใครยังจำกันได้ คนทำงานศิลปะกลุ่มหนึ่งเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงภัณฑารักษ์ ผู้ดูแลนิทรรศการรำลึก 39 ปีเหตุสลายการชุมนุมที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อขอให้ทบทวนการจัดแสดงงานชุด ‘มวลมหาประชาชน/Thai Uprising’ ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินที่สนับสนุนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ด้วยข้อกังขาว่าเป็นผลงานที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย นำไปสู่ ‘ดราม่า’ ขนานใหญ่ของคนในแวดวงศิลปะ

ใครบางคนวิเคราะห์ว่านี่คือเหตุการณ์ที่สร้างรอยร้าวครั้งใหญ่

ใครบางคนบอกว่านี่เป็นแค่การ ‘เปิดแผล’ ที่ถูกอำพรางเอาไว้เท่านั้น

ศิลปะ กับ การเมือง เป็นคนละเรื่องกันจริงหรือ – คือคำถามสำคัญที่ถูกยกมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังเหตุการณ์นี้

 

 

“ศิลปะเป็นการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าตัวเนื้อหาของมันจะพูดเรื่องการเมืองหรือไม่ก็ตาม” ธนาวิ โชติประดิษฐ ตอบคำถามนี้ในฐานะของคนที่คลุกคลีกับทั้งสองแวดวง

ในแวดวงวิชาการ เธอเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะร่วมสมัย สนใจประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งไทยและเทศ โดยเฉพาะแง่มุมทางการเมือง

ในแวดวงศิลปะ เธอเป็นนักวิจารณ์อิสระ ออกตัวชัดเจนว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร

จดหมายเปิดผนึกถึงภัณฑารักษ์เกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว คือผลงานที่เธอเป็นตัวตั้งตัวตี และส่งผลให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งในแง่บวกและลบ

จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร  ก่อนจะต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกันที่เนเธอร์แลนด์ และเพิ่งจบดอกเตอร์ในสาขาเดียวกันนี้มาหมาดๆ จากเบิร์คเบค มหาวิทยาลัยลอนดอน – ด้วยการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘พลังทางการเมืองของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร’

หมุดคณะราษฎร ซึ่งถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ คือหนึ่งในความสนใจของเธอ เช่นเดียวกับพระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และศิลปกรรมอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองในบริบทต่างๆ

101 ชวนเธอมานั่งคุยเรื่องศิลปะกับการเมืองไทย พร้อมวิเคราะห์-วิพากษ์ ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูด

 

I.

ศิลปะ vs การเมือง : เรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ (?)

 

ผลงานชุด ‘Thai Uprising’ โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ (ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์)

 

ในทัศนะของคุณ ศิลปะกับการเมือง สามารถแยกขาดจากกันได้หรือไม่ อย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องดูก่อนว่า เราพูดถึงการเมืองในระดับไหน ถ้าพูดถึงการเมืองในความหมายกว้างๆ อย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน มันก็ไม่จำเป็นว่างานศิลปะทุกชิ้น ทุกประเภท จะต้องสัมพันธ์กับการเมืองไปทั้งหมด เพราะงานศิลปะที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองก็มีเยอะแยะ

แต่ถ้าเราพูดในความหมายที่เฉพาะเจาะจงไปกว่านั้น ศิลปะที่สร้างกันมาทั้งหมดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันมีความเป็นการเมืองในตัวอยู่แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ศิลปะทุกชิ้นที่สร้างขึ้นมา ย่อมมีความต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง ด้วยสไตล์หรือวิธีการบางอย่าง ซึ่งแต่ละสไตล์ย่อมมีเป้าหมายต่างกันไป ทีนี้การยืนยันว่าสไตล์หรือวิธีการแบบใดแบบหนึ่งนั้น ‘เป็นศิลปะ’ ก็ถือเป็นการเมืองอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก คุณจะเห็นเลยว่ามันมีการล้มล้างทางแนวคิดกันอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าศิลปะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ เป็นผลมาจาก reaction ต่อศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่มาก่อนหน้า นั่นคือวิธีที่ประวัติศาสตร์ศิลปะดำเนินมา เราจึงเห็นการเกิดขึ้นของ ‘-ism’ ในศิลปะเต็มไปหมด ซึ่งแต่ละแนวก็มีหน้าตาที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมมันถูกขับเคลื่อนมาแบบนี้

ฉะนั้น ถ้าเรามองในความหมายนี้ คือความเปลี่ยนแปลงในโลกศิลปะเกิดจากการช่วงชิงนิยาม ความหมาย และคุณค่าของศิลปะจากมุมมองต่างๆ  ศิลปะก็เป็นการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าตัวเนื้อหาของมันจะพูดเรื่องการเมืองหรือไม่ก็ตาม

 

แต่ศิลปินบางคน บางกลุ่ม ก็มีความเชื่อว่าศิลปะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นศิลปะเพื่อศิลปะ

จริงๆ ปัญหาระหว่างศิลปะเพื่อชีวิต กับศิลปะเพื่อศิลปะ มันมีมาตั้งนานแล้ว ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าศิลปะต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง ศิลปะต้องเป็นสิ่งบริสุทธิ์เพื่อตัวศิลปะเอง ส่วนอีกฝ่ายก็บอกว่าศิลปะต้องรับใช้การเมือง ต้องยึดโยงกับการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การปะทะหรือโต้เถียงกันของความคิดสองฝั่งนี้เป็นเรื่องการเมือง แม้กระทั่งการยืนยันว่า “ฉันจะไม่เป็นการเมือง” ก็ถือว่าเป็นการเมืองอย่างหนึ่ง

การยืนยันหลักการหรือแนวคิดอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนอื่นยอมรับ มันเป็นเรื่องเชิงอำนาจ ซึ่งมีความเป็นการเมืองในตัวอยู่แล้วโดยไม่อาจปฏิเสธได้

 

แล้วถ้ามองในแง่ ‘บทบาททางการเมือง’ ของศิลปินล่ะ

อันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง ศิลปินที่ทำงานประเภทไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย วาดรูปดอกไม้ ดวงแก้ว อะไรก็แล้วแต่ เขาก็อาจมีบทบาททางการเมืองในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ได้ หมายความว่าเขาไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาท หรือแสดงออกทางการเมืองในฐานะศิลปินเสมอไป

ถามว่าคุณสามารถมีบทบาททางการเมืองจากมิติอื่นของตัวเองได้หรือไม่ ก็ย่อมได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครจะเลือกแบบไหน จะทำหรือไม่ทำ แต่เราไม่สามารถจะบังคับหรือเรียกร้องว่าทุกอาชีพจะต้องมาทำเรื่องการเมืองเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คุณจะให้สาวออฟฟิศออกไปเป็น activist กันหมด มันก็คงไม่ใช่ เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่แฟร์

แต่ทั้งนี้ ต่อกรณีเดียวกัน สมมติว่าคุณเป็นศิลปินที่ตั้งใจจะทำงานที่มีเนื้อหาเชิงการเมืองอยู่แล้ว  อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่า แล้วบทบาทของตัวคุณในฐานะศิลปิน กับงานศิลปะที่คุณทำ มันสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร

 

มองเข้ามาในประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤตทางการเมือง ตั้งแต่กลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง มาจนถึงกลุ่มสนับสนุน-ต่อต้านรัฐประหาร บ่อยครั้งที่เราเห็นศิลปินออกมาเคลื่อนไหว หรือแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านงานศิลปะ อยากให้คุณช่วยวิเคราะห์ว่าศิลปินแต่ละฝ่าย มีการใช้ศิลปะตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองยึดถือในแง่ไหนบ้าง แล้วมันส่งผลต่อสังคมไทยทุกวันนี้อย่างไร

จริงๆ แล้วตัวเองไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถพูดถึงศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทัศนศิลป์ได้ เพราะเราไม่ได้มีความรู้ในเรื่องเหล่านั้น หรือรู้จักว่าใครทำอะไรมากนัก ฉะนั้นคงพูดได้แค่ส่วนที่เป็นทัศนศิลป์เป็นหลัก

สิบปีที่ผ่านมา ถ้าใครที่ติดตามวงการศิลปะกับการเมืองไปพร้อมๆ กัน ก็คงพอเห็นว่าศิลปินด้านทัศนศิลป์ไทยโดยเฉพาะรุ่นใหญ่ๆ หรือมีชื่อเสียง และใช้งานศิลปะในการแสดงจุดยืนทางการเมือง เขาทำงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องพวกนี้ออกมาในรูปแบบไหน

เราจะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมา ศิลปินจำนวนมากทำงานสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม พูดง่ายๆ ว่าเป็นกลุ่มที่เกลียดทักษิณนั่นเอง ซึ่งเขาก็มีเหตุผลที่จะเกลียดหรือไม่ชอบ แต่สิ่งที่เขาควรตระหนักก็คือว่า วิธีการที่จะจัดการกับสิ่งที่เขาไม่ชอบนั้น ถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ เพราะวิธีการสำคัญพอๆ กับเป้าหมาย ไม่ใช่ว่า “แมวสีอะไรก็จับหนูได้”

ฉะนั้น ถ้าเป้าหมายคือการมีประชาธิปไตย หรือการไม่มีทักษิณอยู่ในการเมืองอีกต่อไป คุณก็ต้องเลือกวิธีให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่ว่าเอาวิธีอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการศิลปะก็คือ ศิลปินจำนวนมากกลับรู้สึกโอเคกับการแทรกแซงของทหารหรือขององค์กรอื่น เพียงเพราะว่าเขาเกลียดทักษิณ นั่นแปลว่าเขาไม่ได้คำนึงถึงวิธีการว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ แม้สุดท้ายผลที่ออกมาจะเป็นอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าวิธีการไม่ถูก ก็ไม่มีทางชอบธรรม

 

มีตัวอย่างชัดๆ ไหมว่า วิธีการที่ศิลปินกลุ่มนี้ใช้ ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบธรรมอย่างไร

ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ช่วงหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 มีนิทรรศการใหญ่งานหนึ่งจัดที่หอศิลป์ กทม. ใช้ชื่อว่า ‘Imagine Peace ฝันถึงสันติภาพ’

งานนั้นเป็นงานที่รวบรวมศิลปินน้อยใหญ่เอาไว้จำนวนมาก พูดถึงเรื่องสันติภาพหลังจากที่เขายิงกันตายมาหมาดๆ และยังไม่มีการชำระสะสางใดๆ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติที่ทุกคนจะมาฝันถึงสันติภาพกันโดยไม่ฉุกคิดเลยว่า เฮ้ย มันมีบางอย่างที่จะต้องสะสางก่อน

การเลือกที่จะไม่พูดถึงความขัดแย้ง โดยทำเหมือนว่ามันจะหายไปเอง แล้วมาบอกให้ปรองดองหรือรักกัน เหมือนเป็นการขายฝัน ในนิทรรศการนั้นจะมีงานจำนวนมากที่พูดเรื่องปรองดอง ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นความปรารถนาดีนะ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่โอเค ทำไมถึงไม่โอเค? ก็เพราะความปรองดองจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นก่อน

หลังจากนั้นมาพอมีเหตุการณ์เดินขบวนของ กปปส. เราก็เห็นกลุ่มศิลปิน นักออกแบบ คนทำงานโฆษณา ออกมารวมตัวกัน แล้วไปเข้าร่วมกับ กปปส. ทำงานศิลปะเพื่อระดมทุนให้แก่ กปปส. ซึ่งเป็นขบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

ทำไมถึงมองว่า กปปส. ไม่เป็นประชาธิปไตย ?

ถ้าคุณดูตามไทม์ไลน์ จะเห็นว่ากลุ่มกปปส. เริ่มต้นด้วยการประท้วงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม แต่ว่าเมื่อยิ่งลักษณ์ล้มเลิกเรื่องนิรโทษกรรมไปแล้ว ยุบสภาแล้ว ประกาศเลือกตั้งใหม่แล้ว หมายความว่าเป้าหมายคุณก็สำเร็จแล้ว แต่คุณยังคงประท้วงต่อ หมายความว่าอะไร? หมายความว่าคุณประท้วงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แปลว่าลึกๆ แล้วคุณก็ต้องการระบอบอื่นที่หาผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นคุณจะเคลมได้อย่างไรว่าขบวนการ กปปส. ที่มีศิลปะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวอยู่แม้จะมีการประกาศยุบสภาไปแล้ว เป็นขบวนการที่สนับสนุนประชาธิปไตย? นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลา เป็น fact ล้วนๆ ที่ไม่ต้องตีความอะไรด้วยซ้ำ

 

“ภายใต้เพดานที่มีอยู่นี้ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ก็คือการพยายามจะผลักเพดานให้สูงขึ้น

ไม่ใช่การพยายามทำตัวสงบเชื่องอยู่ใต้เพดาน”

 

แล้วศิลปินอีกฝั่งหนึ่งที่ออกตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตย หรือไม่เอารัฐประหาร มีการใช้ศิลปะในทางการเมืองอย่างไรบ้าง 

ถ้าพูดถึงช่วงสิบปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เรารู้สึกว่าช่วงแรกๆ ไม่มีศิลปินที่ออกมาทำงาน หรือเคลื่อนไหวในลักษณะที่ต่อต้านรัฐประหารมากนัก แต่เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้นในช่วง 4-5 ปีมานี้เอง ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่า คนที่ออกมาทำงานศิลปะที่มีเนื้อหาต้านรัฐประหาร หรือตั้งคำถามกับเผด็จการ มักเป็นศิลปินรุ่นเด็กๆ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีศิลปินรุ่นใหญ่อย่างในกลุ่มกปปส.

อย่างกรณีที่มีประเด็นเรื่องกวางจูเมื่อปีที่แล้ว ที่อาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ได้เอางานชิ้นที่อยู่ในขบวนการ ‘Art Lane’ ใน กปปส. ไปจัดแสดงที่กวางจู ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รำลึกถึงประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทหารในเกาหลีใต้ จนมีประเด็นขัดแย้งกันขึ้นมา และมีการล่ารายชื่อกันระหว่างศิลปินผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย

ถ้าเราไปดูในรายชื่อ จะเห็นเลยว่า กลุ่มศิลปินที่ลงชื่อคัดค้านว่างานของอาจารย์สุธีไม่ใช่งานที่สนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินเด็กๆ ตั้งแต่อายุสามสิบกว่าๆ ลงไป รุ่นแก่กว่านั้นก็มีบ้าง แต่ถ้าเทียบกับอีกฝั่งหนึ่งจะเห็นถึงความอาวุโสหรือความเป็นรุ่นใหญ่ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งมันบ่งบอกอะไรหลายอย่างเหมือนกัน

 

พูดได้ไหมว่าศิลปินรุ่นใหม่ๆ สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยมากกว่า

ก็มีส่วน คือศิลปินรุ่นใหม่ที่ว่า ถ้าย้อนไปสักสิบปี ก็คือคนที่อายุประมาณยี่สิบกว่าๆ หรือสิบกว่าๆ ซึ่งถือว่ายังเด็ก หมายความว่าเขามีชีวิตช่วงวัยรุ่นที่โตขึ้นมากับสภาพการเมืองที่มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เขาก็มีวิธีคิดแบบหนึ่ง ส่วนคนที่เขามาจากเจเนอเรชั่นก่อนหน้านั้น ก็จะมีวิธีคิดอีกแบบ

มันอาจเป็นเรื่องของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม ที่ส่งผลต่อวิธีคิดของคนในแต่ละรุ่น ศิลปินรุ่นใหญ่จำนวนหนึ่ง เคยผ่านเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลาฯ มา ซึ่งเราคิดว่ามันมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนกลุ่มนี้พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องความเกลียดกลัวนักการเมือง

เนื่องด้วย 14 ตุลาฯ มันเป็นการเดินขบวนเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ทหารซึ่งตอนนั้นมีบทบาทเป็นนักการเมือง ถูกมองว่าเป็นศัตรู เป็นสิ่งเลวร้าย ต้องกำจัดออกไปให้ได้ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะมีทัศนคติที่เป็นลบต่อนักการเมืองมาโดยตลอด มาจนถึงยุคของทักษิณ ซึ่งเหมือนเป็นคนที่เป็นศูนย์รวมแห่งความชั่วร้ายของนักการเมืองที่เคยมีมา ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องการเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นเรื่องตัวบุคคล แต่ในกรณีปัญหาการเมืองไทยนี้ ตัวบุคคลกับระบอบหรือสถาบันไม่ได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น

ทีนี้ปมความเกลียดนักการเมืองที่ว่า มันยังหยั่งรากอยู่ในใจของคนรุ่นก่อนๆ อย่างแน่นหนา ส่งผลให้เขาไม่ได้เชื่อในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เพราะในระบอบประชาธิปไตย คนทำหน้าที่แทนเราก็คือนักการเมืองนั่นเอง แล้วถ้าคุณไม่เชื่อว่านักการเมืองจะทำหน้าที่แทนคุณได้ และไม่เชื่อว่าคุณมีอำนาจที่จะตรวจสอบเขาได้ สุดท้ายคุณก็เรียกร้องหาระบบอื่น

อีกอย่างหนึ่งที่ 14 ตุลาฯ ทำให้เกิดขึ้น ก็คือการเปลี่ยนภาพของสถาบันกษัตริย์ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ตอนที่ในหลวงภูมิพลออกมา แล้วสามารถทำให้เหตุการณ์สงบลงได้ มันทำให้เกิดขั้วตรงข้ามในเชิงภาพลักษณ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับนักการเมือง ในขณะที่นักการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย สถาบันกษัตริย์ก็กลายเป็นที่พึ่งทางการเมืองของประชาชน นั่นทำให้คนในเจเนอเรชั่นก่อนๆ มีความเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์สูงมาก

แต่กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่โตมาในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง มีคนเริ่มตั้งคำถามกับสถาบันต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากนักการเมือง มีการปะทะกันของความคิดต่างๆ นานา มีแหล่งข้อมูลกว้างขวางอย่างอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าจะมีการเซ็นเซอร์ก็ตาม เราว่ามันเป็นการกล่อมเกลาคนละแบบ และเทียบกันไม่ได้กับคนรุ่นก่อน

 

พูดแบบนี้ก็เหมือนว่า ศิลปินรุ่นใหญ่ที่โตมากับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่ได้มีความเข้าใจหรือเชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตยมาตั้งแต่แรก

มีคนที่เขาคิดว่าเขาเชื่อจริงๆ อยู่นะ แต่ว่าสำหรับบางคน สิ่งที่เขาเชื่อไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานบางอย่างของประชาธิปไตย โดยที่เขาอาจจะไม่รู้ตัว หรือไม่ได้คิดว่ามันสำคัญ

สมมติว่าถ้าคุณเชื่อในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิและอำนาจเท่ากัน และตัวคุณเองที่เป็นคนธรรมดาก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองหรือสถาบันของรัฐอื่นๆ ได้ คุณก็ต้องไม่ยินยอมให้เกิดการแทรกแซงในกระบวนการพวกนี้หรอก แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีคนอีกกลุ่มที่เขาอาจไม่สนใจประชาธิปไตยเลยก็ได้ ก็คือคนที่รู้สึกว่ามันไม่สำคัญอะไร และตัวเองก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามปกป้องรักษา

ถามว่าแล้วเราประเมินจากอะไร? ก็ประเมินจากบทบาทที่แต่ละคนมี กับงานที่แต่ละคนทำออกมา เพราะไม่มีใครไปนั่งถามหรอกว่า “จริงๆ แล้ว คุณไม่ได้อยากได้ประชาธิปไตยใช่ไหม” ถึงถามก็ไม่มีใครอยากตอบ เพราะถ้าคุณตอบว่า “ไม่” คุณก็ดูไม่ดี เพียงแต่ว่าสิ่งที่คุณทำ มันสอดคล้องกับสิ่งที่คุณพูดแค่ไหนเท่านั้นเอง แล้วของแบบนี้ต้องดูกันยาวๆ ด้วยว่าแต่ละคนมีความคงเส้นคงวาแค่ไหน

 

“ข้อได้เปรียบของงานทัศนศิลป์ ก็คือมันเป็นภาษาที่ไม่ปกติ คุณสามารถพูดเรื่องที่พูดยากได้โดยการซ่อนมันไว้ หรือบอกเป็นนัย  แต่ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยมีใครกล้าใช้ข้อได้เปรียบนี้เท่าไหร่ กลายเป็นว่าทุกคนกลัวและนอยด์ไปหมด”

ถ้าไล่ดูมาจนถึงตอนนี้ สังเกตว่าศิลปินฝั่งที่พยายามเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ค่อยมีผลงานที่สะท้อนนัยยะทางการเมืองที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่เมื่อเทียบกับอีกฝั่ง อันนี้เป็นความบกพร่องของศิลปินเองหรือเปล่า

ต้องบอกว่าในสถานการณ์แบบนี้ เสรีภาพในการแสดงออกของทั้งสองฝั่งมันไม่เท่ากัน นี่ไม่ใช่สนามที่ฟรีและแฟร์ ในขณะที่ฝั่งหนึ่งทำอะไรขนาดไหนก็ได้ เพราะอยู่ฝั่งเดียวกับสถาบันที่มีอำนาจอยู่ตอนนี้ แต่อีกฝั่งหนึ่ง ถ้าคุณไปตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจที่สามารถจับคุณเข้าคุกได้ คุณก็จะเดือดร้อน หมายความว่ามันมีเพดานของมันอยู่ ซึ่งทำให้คุณทำงานลำบาก

แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าภายใต้เพดานที่มีอยู่นี้ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ก็คือการพยายามจะผลักเพดานให้สูงขึ้น ไม่ใช่การพยายามทำตัวสงบเชื่องอยู่ใต้เพดาน

 

หมายความว่าการแสดงออกทางการเมืองในเนื้องานของศิลปินฝั่งนี้ ยังไปไม่ถึงเพดานที่ควรจะเป็น ?

ใช่ สำหรับเรามันยังไม่อยู่ในระดับที่รู้สึกว่ามีความหวัง มันก็มีคนที่พูดถึงอยู่บ้าง พยายามแตะนิดๆ หน่อยๆ บ้าง ถามว่าแล้วใครจะไปทำอะไรคุณเหรอ ไม่มีใครมาทำอะไรคุณหรอก เพราะอะไร เพราะมันไม่มีทหารที่ไหนไปดูงานศิลปะร่วมสมัยหรอก หรือถ้าเขาไปดู ก็ใช่ว่าเขาจะดูรู้เรื่อง

ข้อได้เปรียบของงานทัศนศิลป์ ก็คือมันเป็นภาษาที่ไม่ปกติ คุณสามารถพูดเรื่องที่พูดยากได้โดยการซ่อนมันไว้ หรือบอกเป็นนัย ไม่เหมือนวรรณกรรม หรืองานวิชาการที่ใช้ภาษาเขียน แต่เท่าที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยมีใครกล้าใช้ข้อได้เปรียบนี้เท่าไหร่ กลายเป็นว่าทุกคนกลัวและนอยด์ไปหมด ซึ่งจริงๆ เราก็โทษเขาไม่ได้หรอกถ้าเขาจะกลัว เพราะไม่มีใครอยากติดคุก

 

แล้วคุณคิดว่าการทำงานของศิลปินฝั่งที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ควรมีทิศทางแบบไหน

เรารู้สึกว่า ถ้าคุณจะทำก็ทำ-จะไม่ทำก็ไม่ต้องทำเลย แต่อย่ามาทำแบบยึกๆ ยักๆ

จะพูดยังไงดีล่ะ เราว่ามันเป็นความสำคัญตัวอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ ว่าถ้าฉันทำงานแบบนี้แล้วเดี๋ยวตำรวจจะมาจับ หรือจะโดนนั่นโดนนี่ อย่างที่บอกไปว่าไม่มีใครสนใจคุณขนาดนั้นหรอก แล้วศิลปะก็ไม่ได้เข้าใจง่ายขนาดนั้น ถ้าคุณไม่ไปยืนอธิบายว่าอะไรเป็นอะไร หรือไม่มีงานเขียนที่มาอธิบายตัวงานศิลปะอีกที คนทั่วไปที่เขาไม่ได้มีประสบการณ์ในการดูงานศิลปะร่วมสมัยมาก่อน ก็อาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำ ข้อได้เปรียบของศิลปะที่สามารถพูดสิ่งที่พูดด้วยวิธีอื่นไม่ได้ จึงเป็นข้อจำกัดในการสื่อความของศิลปะไปพร้อมกัน

อีกข้อที่รู้สึกมาสักระยะแล้วก็คือ การเอางานออกไปแสดงที่ต่างประเทศเลย ซึ่งก็ดีในแง่ที่เป็นการบอกเล่าให้คนภายนอกรับรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่อีกแง่หนึ่ง เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้วถ้าคุณไม่ทำอะไรในประเทศเลย นี่จะถือเป็นการฉวยโอกาสอย่างหนึ่งหรือเปล่า ในการใช้สถานการณ์แบบนี้ออกไปสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเองที่ต่างประเทศ

นี่คือจุดที่ศิลปินต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วย ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นการฉกฉวยโอกาสเพื่อตัวเองแบบชั่วครั้งชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่เราใช้กับตัวเองเวลาเขียนงานภาษาอังกฤษเหมือนกัน

 

การที่งานศิลปะบางชิ้นดูไม่รู้เรื่อง หรือเข้าใจยาก แง่หนึ่งก็เป็นอุปสรรคในการสื่อสารหรือเปล่า เพราะถ้าทำออกมาแล้วไม่มีคนเห็น หรือไม่มีคนเข้าใจ ก็น่าจะไม่มีประโยชน์เหมือนกัน

นั่นขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่คุณทำ มันเป็นงานเชิงกิจกรรมที่ต้องการสื่อสารกับคนวงกว้างหรือเปล่า เช่น ถ้าคุณเป็นนักกิจกรรมที่อยากจัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง เป็นงานรณรงค์ แน่นอนว่าคุณต้องเลือกรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าคุณเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะ เพื่อจัดแสดงในพื้นที่ทางศิลปะสักแห่ง โดยมีเนื้อหาเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการทำงาน ก็ไม่จำเป็นว่าต้องสื่อสารให้เข้าใจง่ายเสมอไป มันคนละวัตถุประสงค์แต่แรก

 

ถ้าอย่างนั้น จุดประสงค์ของงานศิลปะที่ซ่อนนัยทางการเมืองแบบนี้ คืออะไรกันแน่

อันนี้ตอบยากเหมือนกัน เหมือนถามว่าทำงานศิลปะไปทำไม เรามองว่ามันก็เป็นอาชีพหนึ่งนั่นแหละ เป็นการทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด ศิลปินแต่ละคนก็มีเรื่องที่ตัวเองอยากสื่อสารออกไป ซึ่งแง่หนึ่งก็คือการสื่อสารกันเองในหมู่คนในแวดวงศิลปะนี่แหละ อาจมีการสื่อสารกับ public บ้าง ศิลปะอาจมีบทบาทในการสร้างบทสนทนาในสังคม ชวนให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนกันในประเด็นต่างๆ แต่โดยรวมแล้วมันคือการสื่อสารกันเอง เพราะคนที่จะซื้องานคุณ หรือเชิญคุณไปทำงาน ก็คือคนในวงการ ถ้าคุณไม่ขายงานให้คนเหล่านี้แล้วคุณจะไปขายให้ใคร อาจฟังดูแย่ แต่คุณปฏิเสธสภาพแบบนั้นไม่ได้

 

II.

หมุดคณะราษฎร-หมุดหน้าใส : การช่วงชิงประวัติศาสตร์ในวัตถุทางการเมือง

 

‘หมุดคณะราษฎร’ ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ภาพจาก : คมชัดลึก)

 

“… ลานพระบรมรูปทรงม้าที่เป็นจุดสิ้นสุดของถนนราชดำเนิน เป็นทั้งเขตพระราชฐานและทางสาธารณะ … พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากในแง่ของภูมิศาสตร์การเมือง

 

จากกรณีที่มีการรื้อถอนหมุดคณะราษฎร และเปลี่ยนเป็น ‘หมุดหน้าใส’ ในแง่ประวัติศาสตร์ศิลป์ มันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง       

การที่คนหันมารำลึกถึงศิลปะสมัยคณะราษฎรกันในยุคนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะตั้งแต่คณะราษฎรหมดอำนาจไปตั้งแต่ช่วงปี 2490 และถูกดิสเครดิตมาตลอด  คนทั่วๆ ไปก็ไม่มีความทรงจำกับงานศิลปะในยุคนั้น สิ่งก่อสร้างทั้งหลายไม่ได้รับการให้คุณค่ามากนัก เพราะเหมือนว่ามันเป็นมรดกของกลุ่มคนที่เป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ และเมื่อมันไม่ถูกให้คุณค่า คนก็หลงลืมกันเป็นธรรมดา

ถึงแม้ว่าเราจะมองเห็นมันอยู่ทุกวัน นั่งรถผ่านก็เห็นว่าเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่คนจำนวนมากไม่รู้หรอกว่าจริงๆ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร กระทั่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจด้วยซ้ำ จนกระทั่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะสมัยคณะราษฎรขึ้นมา เรื่องนี้ถึงได้รับความสนใจและมีการศึกษาเกี่ยวกับมันมากขึ้น

ส่วนหมุดคณะราษฎร คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้หรอกว่ามันฝังอยู่ตรงนี้ จนกระทั่งมีคนมาจัดกิจกรรมรำลึกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง คนทั่วไปถึงรู้ว่ามันมีอยู่

 

แล้วการที่จู่ๆ คนหันมาให้ความสนใจ หรือรื้อฟื้นเรื่องราวของศิลปกรรมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ คุณมองว่ามีสาเหตุมาจากอะไร

การที่ของพวกนี้ถูกหลงลืมไป แล้วกลับมามีพลังอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าจู่ๆ คนก็นึกถึงคณะราษฎรขึ้นมาเอง หรือจู่ๆ นักวิชาการบางกลุ่มก็อยากจะรื้อฟื้นขึ้นมา แต่ว่ามันมีสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้นำไปสู่การรื้อฟื้นอดีต ก็คือปัญหาการเมืองร่วมสมัยนั่นเอง

การถวิลหาอดีต หรือการรื้อฟื้นอดีตบางช่วงขึ้นมาใหม่ มักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต เมื่อเกิดวิกฤตจึงเกิดการมองย้อนกลับไปหาโมเดลบางอย่างในอดีต เพื่อเชื่อมโยงหรือใช้เป็นแนวทางบางอย่างในการแก้ปัญหา หรือแม้แต่เพียงเป็นการฝันถึง

สำหรับการรื้อฟื้นเรื่องราวคณะราษฎรขึ้นมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ก็สัมพันธ์กับการเมืองร่วมสมัยโดยตรง คณะราษฎรที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ก็คือคณะราษฎรในฐานะของบรรพบุรุษทางอุดมการณ์ของขบวนการต่อต้านรัฐประหาร หรือขบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย นี่คือการขุดเอาอดีตขึ้นมาเพื่อใช้กับปัจจุบัน

อย่างการที่มีคนไปจัดงานรำลึก 24 มิถุนาฯ ที่หมุดคณะราษฎร มันก็คือการย้อนกลับไปหา 24 มิถุนาฯ โดยต้องการบอกว่าจนถึงทุกวันนี้ การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ และคนกลุ่มนี้ที่เป็นเหมือนทายาทเชิงอุดมการณ์ ก็ต้องการที่จะสานต่อ จึงต้องมาสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างคนสองรุ่น ผ่านกิจกรรมรำลึกที่หมุดนี้

ทีนี้ในบรรดาศิลปกรรมของคณะราษฎรเนี่ย หมุดเป็นสิ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด มองเห็นได้ยากที่สุด รถวิ่งทับผ่านตลอดเวลา แต่สำหรับเรา มันเป็นสิ่งที่มีพลังทางการเมืองมากที่สุด

 

ถ้าเทียบกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุณมองว่าหมุดคณะราษฎรมีพลังกว่า ?

เรามองว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีบทบาทที่ประหลาดอยู่เหมือนกัน เพราะปกติอนุสาวรีย์หรือวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึก มันจะรำลึกถึงเหตุการณ์เฉพาะบางอย่าง หรือรำลึกถึงบุคคลที่ทำอะไรสักอย่างที่สำคัญ แปลว่าต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่ารำลึกเรื่องอะไร หรือรำลึกถึงใคร แต่การมีอยู่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่แบบนั้น

ถึงแม้ว่าตัวอนุสาวรีย์ จะมีองค์ประกอบจำนวนมากที่อ้างอิงถึง 24 มิถุนาฯ เป็นต้นว่า มีปีกที่สูง 24 เมตร มีพระขรรค์ 6 อันอยู่บนประตู ซึ่งหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่นัยยะโดยรวมของมันคือการรำลึกถึง ‘อุดมการณ์ประชาธิปไตย’ มากกว่าการรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนาฯ 2475

ฉะนั้นในเมื่อมันเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็สามารถเคลมได้หมด โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องยึดโยงตัวเองเข้ากับคณะราษฎรก็ได้ แค่คุณอ้างถึงอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย คุณก็สามารถไปทำกิจกรรมที่นั่นได้แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ตัวอนุสาวรีย์เองจึงเปิดโอกาสให้ใครเข้ามาเคลมก็ได้ ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาฯ 2535 เสื้อเหลืองเสื้อแดง รวมทั้งการประท้วงอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และไปไกลกว่าความหมายตั้งต้นที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่ในทางกลับกัน เสื้อเหลือง หรือ กปปส. กลับไม่เคยไปทำพิธีในลักษณะนี้ที่หมุดคณะราษฎร เพราะว่าความเชื่อมโยงของคณะราษฎรกับหมุดนั้นชัดเจน ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ไม่ชัด

 

แล้วทำไมคณะราษฎรถึงเลือกที่จะไปฝังหมุดตรงจุดนั้น มีนัยยะอะไรแฝงอยู่

ที่ตรงนั้นเป็นภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการขยายวังจากพระบรมมหาราชวังตรงวัดพระแก้วออกไปบริเวณโดยรอบ มีการสร้างวังใหม่คือพระราชวังดุสิต แล้วเชื่อมสองวังนี้เข้าด้วยกันด้วยถนนราชดำเนิน ซึ่งถนนราชดำเนินก็ไปสิ้นสุดตรงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่มีพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ พื้นที่ตรงนั้นจึงเป็นทั้งเขตพระราชฐาน และเป็นทั้งทางสาธารณะที่คนทั่วไปสัญจรไปมาได้

ดังนั้น การที่คณะราษฎรเลือกจุดนี้เป็นสถานที่ในการประกาศระบอบใหม่ ก็เพราะว่ามันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทำให้การยืนยันชัยชนะนั้นมีความหมายมากขึ้น เป็นการปักหมุดว่าฉันได้ทำการเปลี่ยนแปลงแล้วนะ มันสำเร็จแล้ว และมันเกิดขึ้น ณ ตรงนี้

เมื่อมองในแง่นี้ พื้นที่ตรงนี้จึงมีความทรงจำที่ไม่น่าพึงพอใจสำหรับฝั่งกษัตริย์นิยมอยู่ และหมุดคณะราษฎรก็คือเครื่องหมายยืนยันว่าสิ่งนี้ได้เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พลังอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลดลง ฉะนั้น หมุดที่เป็นเครื่องรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ จึงมีลักษณะเป็นหนามยอกอก พูดง่ายๆ ว่าเป็นรอยมลทินหรือรอยด่างที่ปักอยู่ตรงกลางภูมิทัศน์ที่เป็น royal space

ด้วยเหตุนี้ เราถึงมองว่าหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่มีพลังทางการเมืองมากที่สุดในบรรดาศิลปกรรมทั้งหมดที่สร้างขึ้นในยุคนั้น

 

แล้ว ‘หมุดหน้าใส’ ที่ถูกนำมาใส่แทน บอกอะไรได้บ้าง

มันบอกถึงการจบสิ้นของบางสิ่ง พร้อมกับการเริ่มต้นใหม่ของอีกสิ่งหนึ่ง ก็คือการเปิดศักราชใหม่

ในหมุดคณะราษฎร รูปตรงกลางมันชัดเจนว่าคือ ‘ลายประจำยาม’ ที่ถูกผ่าครึ่งด้วยข้อความ ลายประจำยามคือลายดอกไม้ที่มีสี่กลีบ ซึ่งไม่ว่าจะมีรายละเอียดแตกลายหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม สี่กลีบของดอกไม้จะอยู่ติดกันเสมอ การตัดครึ่งลายประจำยามที่เป็นลายโบราณด้วยข้อความที่บ่งบอกการมาถึงของผู้มาใหม่ จึงสื่อถึงการมาของยุคสมัยใหม่ ซึ่งก็คือยุคของประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

แต่ในหมุดหน้าใส ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ารูปตรงกลางคืออะไร แต่ข้อความที่อยู่ในหมุดนั้นน่าสนใจมาก

เริ่มจากข้อความที่อยู่รอบๆ ตามแนวโค้งของหมุด เป็นข้อความที่เอามาจากเครื่องราชฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนตรงกลางเป็นคำว่า ประชาชนสุขสันต์หน้าใส

คือเวลาเราได้ยินคำว่าหน้าใส คนส่วนใหญ่ก็ต้องนึกไปถึง ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ในสมัยสุโขทัยใช่ไหม แต่ในหมุดนี้ มีการเปลี่ยนคำว่า ‘ไพร่ฟ้า’ ให้เป็น ‘ประชาชน’ ซึ่งดูเป็นความพยายามที่จะทำให้เข้ากับบริบทของปัจจุบัน แต่โดยรวมมันก็ยังคงมีนัยยะที่ยึดโยงกับสมัยสุโขทัย ที่ได้ชื่อว่ามีการปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความรอบๆ ที่บอกว่าคนไทยต้องประกอบด้วยอะไรและอย่างไรบ้าง

แต่ไม่รู้ว่าด้วยความที่เขาคิดไม่รอบคอบ หรืออะไร ถึงได้เอาคำที่อยู่กับเครื่องราชฯ ซึ่งถือกันว่าเป็นของสูง ไปอยู่บนพื้นถนนซึ่งรถจะต้องวิ่งผ่านตลอดเวลา แต่ว่าพอมีคนพูดถึงประเด็นนี้บ่อยเข้า เขาก็เลยเอารั้วไปล้อมแล้วติดป้ายว่า ‘เขตพระราชฐาน’ จะได้ไม่มีใครข้ามหรือเหยียบได้

ส่วนตัวมองว่าการถอนหมุดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการทำให้ความสำคัญของหมุดคณะราษฎรพุ่งสูงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวหมุดจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้วก็ตาม เพราะถึงแม้ว่าองค์ประกอบของหมุดใหม่จะดูงงๆ จากการปะติดปะต่อสิ่งที่มาจากต่างยุคสมัย และยังมีรูปที่อธิบายไม่ได้ แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ความหมายของมันค่อนข้างชัดเจน คือเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองที่บ่งบอกว่ายุคสมัยของประชาธิปไตยที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้นนั้น ได้จบสิ้นลงแล้ว และการประกาศนี้ก็จำเป็นต้องทำที่หมุดคณะราษฎรด้วย เพื่อเป็นการย้อนเกล็ดประวัติศาสตร์ 2475

 

แล้วนอกจากคำอธิบายที่ว่ามา มีข้อสันนิษฐานอื่นๆ อีกไหม

คำอธิบายอีกชุดที่ปรากฏขึ้นมาก็คือเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ ที่มีคนหยิบยกมาอธิบายกันเยอะเหมือนกัน แต่ประเด็นคือมันพิสูจน์ไม่ได้ ถามว่าฟังขึ้นไหม ก็ฟังขึ้นแหละ เพราะว่าในอำนาจแบบไทยๆ ชุดความเชื่อของคนไทย เรื่องโชคลางถือเป็นเรื่องสำคัญและมีบทบาทกับชีวิตจริงๆ เพียงแต่กรณีนี้เราคงไม่อาจฟันธงได้ว่ามันเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน ตราบที่มันยังไม่มีหลักฐานยืนยันหรือพิสูจน์ให้เห็นกันแบบชัดๆ

 

“การจำกับการลืมมันมาคู่กัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คุณจะสถาปนาความทรงจำอะไรบางอย่างได้ คุณก็ต้องทำให้ความทรงจำที่ขัดแย้งหรืออยู่ด้านตรงกันข้ามนั้น ถูกลบหรือลืมไปก่อน

 

ถ้าเรามองกลับไปที่ฝั่งอนุรักษนิยม มีการสร้างศิลปกรรมอะไรทำนองนี้บ้างไหม

มีสิคะ เรามีอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปกษัตริย์อยู่เต็มไปหมดเลยในประเทศนี้

 

แล้วอย่างรูปปั้นพระบรมรูปทรงม้า ที่อยู่ใกล้ๆ กับหมุดเจ้าปัญหา มีที่มาที่ไปอย่างไร

รูปปั้นนี้มาจากช่วงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป แล้วได้ไปเห็นสภาพบ้านเมืองของต่างประเทศ พอเสด็จกลับมาก็อยากให้เมืองไทยมีแบบนั้นบ้าง เมื่อสร้างวังใหม่เสร็จ ก็สร้างถนนราชดำเนินขึ้นมาตามแบบ Avenue ในยุโรป แล้วจึงสร้างพระบรมรูปทรงม้าขึ้นมา ซึ่งพระบรมรูปทรงม้าที่เราเห็นกันอยู่นี้ ถือเป็นอนุสาวรีย์แบบสมัยใหม่อันแรกของสยาม

แต่เดิมคนไทยจะไม่ทำรูปเหมือนของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเรามีความเชื่อว่าเดี๋ยวจะทำให้อายุสั้น แต่ความคิดแบบนั้นเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเราได้ติดต่อกับตะวันตกมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ยอมถ่ายรูป แล้วก็มีรูปเหมือนที่เป็นรูปปั้นกับภาพเขียน ก่อนที่จะกลายเป็นที่แพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5

พระบรมรูปทรงม้าก็เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ จากที่พระองค์ได้ไปเห็นรูปทรงม้าของกษัตริย์ในยุโรป ก็เลยอยากทำบ้าง โดยนัยยะของการสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมา สะท้อนถึงการปกครองระบอบใหม่ที่พระองค์ได้สถาปนา ก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจเต็ม

นี่คือการยืนยันอำนาจของกษัตริย์ผ่านการมีตัวตนในพื้นที่สาธารณะ ในรูปของอนุสาวรีย์ รูปทรงม้าแสดงถึงความเป็นกษัตริย์ ความเป็นผู้นำหรือนักรบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนธรรมดาไม่สามารถมีบทบาทนี้ได้

ในอำนาจแบบเก่า คนธรรมดาจะไปมองหน้ากษัตริย์ตรงๆ ไม่ได้ ถ้ากษัตริย์เสด็จผ่านคุณก็ต้องหมอบคลาน หมายความว่ากษัตริย์ยังเป็นสิ่งที่สูงส่ง ห่างไกล เกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าถึงได้ ต่อมาเมื่อภาพเหมือนกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ก็ถูกนำมาใช้ในการยืนยันอำนาจเหมือนกัน แต่เป็นทางตรงกันข้าม ก็คือกษัตริย์ต้องมองเห็นได้ สัมผัสได้ และจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อไปอยู่ในที่สาธารณะ

ด้วยเหตุนี้ ลานพระบรมรูปทรงม้าที่เป็นจุดสิ้นสุดของถนนราชดำเนิน จึงเป็นทั้งเขตพระราชฐานและเป็นทางสาธารณะไปในตัว เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว คนก็จะมองไม่เห็นว่ารูปตัวแทนของอำนาจที่ดูแลปกปักษ์รักษาประเทศอยู่นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากในแง่ของภูมิศาสตร์การเมือง

 

สามารถสรุปได้ไหมว่า เรื่องราวหรือความทรงจำที่บรรจุอยู่ในวัตถุต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ จะถูกรื้อขึ้นมาก็ต่อเมื่อประเทศเกิดวิกฤต

ใช่ วิกฤตนำไปสู่การหวนหาอดีต แต่อดีตที่ย้อนกลับไปจะเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความคิดแบบไหน เพราะมันจะส่งผลต่อการประเมินอดีตว่า เหตุการณ์ใดหรือยุคใดในอดีตที่จะดีสำหรับคุณ ซึ่งแต่ละฝ่ายเขาก็เลือกมองอดีตกันคนละแบบ

 

สุดท้ายแล้ว วัตถุทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ มันทำหน้าที่อะไรมากกว่ากัน ระหว่างทำให้จำ กับทำให้ลืม

การจำกับการลืมมันมาคู่กัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คุณจะสถาปนาความทรงจำอะไรบางอย่างได้ คุณก็ต้องทำให้ความทรงจำที่ขัดแย้งหรืออยู่ด้านตรงกันข้ามนั้น ถูกลบหรือลืมไปก่อน ผ่านกระบวนการอะไรก็แล้วแต่ ในแง่วัตถุอาจเป็นการรื้อทำลาย ส่วนในแง่ลายลักษณ์อักษร อาจจะเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อลบล้างอันเก่า ซึ่งทั้งสองฝั่งต่างก็ทำกันทั้งคู่ การสร้างและลบความทรงจำจึงมีความเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองในตัว

 

หมายความว่าต่างฝ่ายก็ต้องพยายามต่อสู้ช่วงชิงความหมายกันต่อไปเรื่อยๆ ?

เรื่องความทรงจำ 24 มิถุนาฯ 2475 เรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หรือกระทั่งเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ 2553 ทำไมทุกคนจะต้องมาจัดงานรำลึก ต้องพยายามย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญ เรื่องนี้ต้องพูด ก็เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มันยังไม่เคยถูกบรรจุเข้าไปในประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือมันยังไม่ถูกชำระ และตราบใดที่มันยังไม่ถูกชำระ คนที่รู้สึกว่าเหตุการณ์จะต้องถูกชำระก็จะต้องพูดเรื่องนี้กันอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่ใครจะไปพูดเรื่องแบบนี้ทุกวัน มันจึงต้องมีโอกาส มีวาระที่ทำให้เรื่องเหล่านี้ถูกพูดถึงได้ เพื่อที่จะทำให้ความทรงจำที่ยังไม่ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ได้มีตัวตนขึ้นมา โดยหวังว่าสักวันมันจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บ้าง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save