fbpx
ม่วนกุ๊บ EP.3 - ความหนาวที่ไม่โรแมนติกในวัดป่าอีสาน

ม่วนกุ๊บ EP.3 – ความหนาวที่ไม่โรแมนติกในวัดป่าอีสาน

คอลัมน์ ‘ม่วนกุ๊บ’ ว่าด้วยเรื่องอีสานม่วนๆ อาหารการกิน ดนตรี เครื่องแต่งกาย สำเนียงสำนวน ผู้คน และวัฒนธรรมที่เลื่อนไหลไปตามความหลากหลายของโลก

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

องศาแสงฤดูหนาวเริ่มแวะมาทักทายตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน และจะค่อยๆ ทวีความหนาวเหน็บไปเรื่อยๆ จนสิ้นสุดที่เดือนกุมภาพันธ์ นี่เป็นเรื่องเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วในจังหวัดชัยภูมิ ช่วงที่ฉันยังเรียนอยู่มัธยมฯ

โรงเรียนของฉันห่างจากอุทยานแห่งชาติประมาณ 10 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยต้นไม้และภูเขา และเพราะอย่างนี้ ความหนาวจึงทารุณเสมอ

ฤดูหนาวเป็นทั้งที่รักและที่ชังของเหล่านักเรียนโรงเรียนประจำแห่งนี้ — ที่รัก เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้สวมเสื้อกันหนาว ‘คูลๆ’ ได้อย่างอิสระ ไม่ต้องสวมเฉพาะเสื้อวอร์มของโรงเรียนเท่านั้น ส่วนที่ชัง เพราะน้ำในถังอาบเย็นเยียบจนถึงกระดูก หลายต่อหลายครั้งฉันให้รางวัลตัวเองด้วยการไม่อาบน้ำตอนเช้า

แสงของฤดูหนาวสวย ต้นไม้ของฤดูหนาวบางครั้งทำให้น้ำตารื้น และลมที่พัดผ่านผิวทำให้เราโอบกอดตัวเองแน่นขึ้น

แต่ในความจริง ฤดูหนาวไม่ได้โรแมนติกตลอดเวลาขนาดนั้น โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องไปเข้าค่ายบนวัดป่ากลางภูเขา ความหนาวทำให้เกิดห้วงเวลาที่เรารักแสงอาทิตย์และเสื้อกันหนาวพอๆ กับรักตัวเอง

เป็นประจำทุกปีที่โรงเรียนของฉันจะพาเด็กๆ ขึ้นไปอยู่บนวัดป่า ปฏิบัติธรรม ฝึกทำผ้ามัดย้อม ใช้ชีวิตกับต้นไม้ และรู้จักการอ่านหนังสือ ทุกครั้งที่อยู่บนเขา สิ่งแรกที่ฉันอยากทำทุกเช้าคือนอนต่อ แต่ภาพที่เกิดขึ้นจริงคือการทำวัตรเช้าพร้อมเสียงไก่ขัน ออกไปเดินดูต้นไม้พร้อมๆ กับแสงแรกของวัน หมอกคลุมไปทั่วผืนผา เสียงไฟไหม้ฟืนดังเบาๆ เพื่อบอกเราว่าความอบอุ่นอยู่ที่นี่ มันทั้งสุขและทุกข์อย่างบอกไม่ถูก

ฉันเคยได้ยินมาว่า นอกจากข้าวเหนียว ส้มตำ และผ้าขาวม้าแล้ว พระวัดป่าก็เป็นหนึ่งในของดีเมืองอีสาน

เรื่องราวพระธุดงค์ที่เดินเท้าเปล่าฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ กินนอนในถ้ำ สยบงูเสือ ไม่เคยกลัวภูตผีปีศาจ ผ่านหูฉันมาไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง และเป็นตำนานที่ฝังอยู่ในความเชื่อของคนอีสานอย่างแนบสนิท

“หนังที่ดีที่สุดคือหนังเท้าพระธุดงค์” พระอาจารย์เคยพูดกับฉันและเพื่อนในเช้าของหน้าหนาว ฉันเหลือบมองเท้าเปล่าของพระอาจารย์ที่ยืนบนผืนดิน — หนังเท้าหนา และเต็มไปด้วยบาดแผล

ในห้วงเวลาที่ฤดูหนาวกรีดผิวแบบนี้ ฉันนึกไม่ออกว่าเท้าเปล่ายืนอยู่ได้อย่างไรบนผิวดินที่เยียบเย็นเช่นนั้น และไม่ใช่แค่เท้า แต่พระอาจารย์ รวมถึงพระหลายรูปในวัดป่า สวมเพียงจีวรและหมวกไหมพรมเพื่อทัดทานความหนาวเท่านั้น ไม่มีใดอื่น

บางตอนของการนั่งสมาธิ พระอาจารย์เคยบอกว่า ความรู้สึกหนาวเหน็บที่ผ่านผิวกายเป็นเรื่องของจิตปรุงแต่ง ฉันค้านหัวชนฝา จิตปรุงแต่งที่ไหนจะสมจริงและทรมานขนาดนี้ พระอาจารย์ยังบอกอีกว่า ความทรมานของการอาบน้ำเย็นก็เป็นเรื่องที่เราคิดเอาเองว่ามันหนาว — คิดเองที่ไหน หนาวสิ หนาวมากด้วย อยากให้ทุกคนได้ลอง

ฉันคิดเอาเองว่าความหนาวจะงดงามก็ต่อเมื่อเราอบอุ่น และฤดูฝนจะโรแมนติกก็ต่อเมื่อเราไม่เปียก — ไม่ใช่อุ่นที่ใจ แต่อุ่นที่กายจริงๆ

คงไม่มีอะไรยืนยันได้เท่าข่าวคนหนาวตายที่มีมาทุกปี พ่อที่สละผ้าห่มให้ลูกทั้งคืน พระวัดป่าที่อยู่กับความหนาวมาสิบวันจนเสียชีวิตในที่สุด ฯลฯ

กุฏิในวัดป่าแยกตัวเป็นหลังๆ ส่วนมากทำด้วยไม้ ในช่วงที่ภัยหนาวบุกเข้ามารุนแรงจริงๆ ลมพัดโกรกจนใจสะท้าน พระต้องต่อสู้กับความหนาวด้วยตัวเอง

ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายที่ทุกวันนี้ฤดูหนาวไม่ยาวนานและทารุณเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีห้วงเวลาที่น่ากลัว

เรายังต้องรับมือกับฤดูหนาวที่แปลงร่างเป็นปีศาจเมื่อเราไร้ที่พักพิง

ความหนาวเป็นเรื่องของจิตปรุงแต่ง ? อาจใช่ในบางที และอาจช่วยเราได้ในยามที่ต้องอาบน้ำเย็นจริงๆ แต่เมื่อใดที่ ‘ความหนาวจริงๆ’ มาเยือน จิตของเราก็คงรับมือไม่ไหว

เมื่อโตขึ้น ทุกครั้งที่ฤดูหนาวมาเยือน ฉันมักจะหวนกลับไปคิดถึงความหนาวในวัดป่าบนภูเขาเสมอ ความเจ็บของปากที่แห้งแตก เสียงฟันกระทบกันกึกๆ เมื่อยามยืนคุยกับเพื่อน เสียงร้องตะโกนลั่นของคนในห้องน้ำ องศาของแสงแบบฤดูหนาวที่อธิบายยาก ฯลฯ ยังแว้บเข้ามาในหัว — ที่กรุงเทพฯ ไม่หนาวแบบนั้น

บันทึกไว้ในฤดูหนาวที่หนาว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save