fbpx
ม่วนกุ๊บ EP.1 - เพลงอีสานอินดี้ร้อยล้านวิว เนื้อเพลงเว่าฮอดอิหยังแหน่

ม่วนกุ๊บ EP.1 – เพลงอีสานอินดี้ร้อยล้านวิว เนื้อเพลงเว่าฮอดอิหยังแหน่

[box]

คอลัมน์ ‘ม่วนกุ๊บ’ ว่าด้วยเรื่องอีสานม่วนๆ อาหารการกิน ดนตรี เครื่องแต่งกาย สำเนียงสำนวน ผู้คน และวัฒนธรรมที่เลื่อนไหลไปตามความหลากหลายของโลก

[/box]

 

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เสียงเบสจากลำโพงขนาดยักษ์ดัง ‘ดื้ม ดื้ม ดื้ม’ มาในจังหวะที่ก้อยเนื้อกำลังจะหมดจานพอดี ข้าวเหนียวยังติดอยู่ตามนิ้ว ‘เหมือนลูกลาวปลอม’ อย่างที่ญาติๆ เคยหยอกล้อฉันมาตั้งแต่เด็ก หมกฮวกและลวกปลาตั้งอยู่ตรงหน้า ปลานั้นเหลือแต่ก้างแล้ว ส่วนหมกฮวกยังเหลือกว่าครึ่งห่อ เสียงพูดคุยภาษาอีสานเปลี่ยนเป็นเสียงร้องตามเพลงที่ดังขึ้นมาได้จังหวะจะโคน

 

“ห่อหมกฮวกเอาไปฝากป้า ป้าไปนา เลยห้อยไว้หน้าฮั้ว

ขากลับรถเสือกยางฮัว แหกลงแขงฮั้ว รถกะเลยฮ้าง

เบิ่ดแฮงหอบขึ้นฮึบๆ ฟ้าห้องฮึ้มๆ ฝนกะตกฮำ

ฮาดหัวไหลมาฮอดหำ ฝนตกฮำเฮา เปียกฮอดหมกฮวก”

 

แม้แต่คนที่ไม่เข้าใจเนื้อหาเลยสักนิด แต่ถ้าฟังจากท่วงทำนองและภาษาก็น่าจะรู้สึกได้เหมือนกันว่า ‘นี่มันบทกวีชัดๆ’

คำคล้องจองไม่ต้องห่วง เพราะมีทั้งสัมผัสใน สัมผัสนอก แถมมีการเล่นเสียง ฮ.นกฮูก กับ ห.หีบ ได้อย่างเฉียบขาด ยังไม่นับการบรรยายฉากและวิธีเล่าเรื่องที่อยู่ในระดับมาสเตอร์พีซ และนี่คือบทเพลงบรรเลงแกล้มมื้อสายในวันปีใหม่ ที่หมู่บ้านหนองโน จังหวัดขอนแก่น — บรรยากาศที่ฉันเจอมาเกือบ 30 ปี

หากไม่นับว่า จากเหล้าขาวและเหล้าอุ ผู้คนเริ่มหันมากินเบียร์ขวด (โดยเฉพาะยี่ห้อ ‘เสือ’ และ ‘ม้า’) กันมากขึ้น เพลงที่เปิดในงานปีใหม่ งานบวช หรือสงกรานต์ ก็เปลี่ยนน้ำเสียงและท่าทีไปมากเช่นกัน

ย้อนไปสัก 10-20 ปีก่อน ถ้าหาใครมาล้มแชมป์ ไมค์ ภิรมย์พร, จินตหรา พูนลาภ และ แม่นกน้อย อุไรพร ได้ นับว่าเป็นปรากฏการณ์  (มีพี่เบิร์ดแทรกมาได้บ้างบางปี ในช่วง ‘แฟนจ๋า ฉันมาแล้วจ้ะ’ แต่ก็ยังมี จินตหราเข้าไปร่วมม่วนด้วยในเพลง) แต่มาถึงยุคนี้ ก้อง ห้วยไร่, แซ็ค ชุมแพ, ลำไย ไหทองคำ, ลำเพลิน วงศกร, เบิ้ล ปทุมราช ฯลฯ ก็เข้าไปแย่งชิงพื้นที่จากลิสต์เพลงในวันงานได้มากโข

ประเด็นคือเพลงอีสานใหม่ๆ เหล่านี้ ก็เป็นเพลงเดียวกันกับที่ฉันได้ยินในกรุงเทพฯ ทั้งจากร้านขายส้มตำ รายการประกวดร้องเพลง ยูทูบ ออฟฟิศใจกลางกรุง ฯลฯ ในวันที่โลกขยับ เสียงเพลงและวัฒนธรรมเริ่มไม่มีเส้นแบ่ง ไม่ใช่แค่เสียงเพลงที่ดังไกลได้ทุกที่ แต่เนื้อหา ท่วงทำนอง และเครื่องดนตรี ก็ผสมผสานกันจนแทบแยกไม่ออก

ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ‘เพลงอีสาน’ หรือถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ ‘เพลงอีสานอินดี้’ กลายเป็นกระแสที่ดังไกลและกระหึ่มในวงการเพลงไทย ไม่ว่าจะ ผู้สาวขาเลาะ, คู่คอง, คำแพง, ห่อหมกฮวกไปฝากป้า, บักจีเหลิน, บักแตงโม ฯลฯ ทุกเพลงล้วนมียอดฟังในยูทูบเกิน 100 ล้านวิว และมีการทำซ้ำ ดัดแปลง เอาไปร้องในรายการประกวดในเวอร์ชั่นต่างๆ อีกมากมาย

เสียงกรีดกีตาร์ในท่อนโซโล่ แซมด้วยเสียงไวโอลินและเปียโนในท่อนสร้อยจากหลายเพลง ทำให้เพลงอีสานเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างเห็นได้ชัด คือไม่ได้มีแต่เสียงพิณและแคนเป็นพระเอกเท่านั้น และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘เนื้อหา’ ในเพลง มีการวางตัวละคร และมีวิธีคิดต่อโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แม้โดยรวมจะว่าด้วยเรื่องอกหัก เขาไปมีรักใหม่ แอบรักเขา แต่ก็ยังมีอีกหลายเพลงที่พูดถึงวิถีชีวิตแบบอีสานที่ม่วนกุ๊บและไม่ตีอกชกตัว

ถ้าย้อนไปดูเอ็มวีสมัยก่อนของ ไมค์ ภิรมย์พร หรือต่าย อรทัย ตัวละครต้องหอบกระเป๋าจากบ้าน ลงรถที่หมอชิต ยืนเคว้งคว้างท่ามกลางตึกสูงและรถที่ขับฉวัดเฉวียนไปมา งึกงักไม่กล้าข้ามถนน เป็นภาวะงกๆ เงิ่นๆ ของคนบ้านนอกที่จำเป็นต้องมาทำงานหาเลี้ยงชีพในเมืองใหญ่ แต่ตัดมาที่ภาพปัจจุบัน ตัวละครในเพลงลูกทุ่งอีสานที่โด่งดัง มักเป็นวัยรุ่นที่มีวิถีชีวิตอยู่ตามหมู่บ้าน แถมยังมีลีลาการเล่าเรื่องที่ทั้งกวน ม่วน และมัน จิกกัดความลำบากของตัวเองด้วยสายตาที่เป็นจริง และไม่เศร้า

 

ภาพจากมิวสิควิดีโอ ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ตัวละครเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ มีเสียงแม่ดังขึ้นมาในช็อตนี้ว่า “แผนที่นี่ลืมบ่ได้เด้หล่า เดี๋ยวสิไปหลงทางเด้ กรุงเทพฯ มันกว้าง มันบ่คือบ้านเฮา” (แผนที่นี่ลืมไม่ได้เลยนะลูก เดี๋ยวจะหลงทางนะ กรุงเทพฯ มันกว้าง ไม่เหมือนบ้านเรา)

 

เสียงแหบของ ลำไย ไหทองคำ ในเพลง ผู้สาวขาเลาะ เมื่อผสมกับเอ็มวีที่ทั้งเพลงมีแต่ภาพของลำไยกับเพื่อน นั่งเท้าคางอยู่บนมอเตอร์ไซค์ด้วยรอยยิ้มสดใส เป็นภาพแทนของ ‘ผู้สาวไทบ้าน’ ที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา พอรวมกับเนื้อเพลงที่พูดถึงวิถีวัยรุ่น ขับมอ’ไซค์เที่ยวไปนั่นไปนี่ตามหมู่บ้านก็ยิ่งเพิ่มคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนให้กับเพลงมากขึ้น

ในท่อนร้องติดหูที่ว่า “เฮาแค่ผู้สาวขาเลาะ บ่แม่นผู้สาวขาเรียน บ่ได้ขยันหมั่นเพียร ปากกาสิเขียนยังได้ยืมหมู่” (ฉันเป็นแค่ผู้หญิงชอบเที่ยว ไม่ใช่เด็กเรียน ไม่ได้ขยันหมั่นเพียร ขนาดตอนเรียน ยังต้องยืมปากกาเพื่อน)

และ

“ติด ร. ยังพอแก้ได้ แต่ติดใจอ้ายน้องไปบ่เป็น จักเป็นจั่งใด๋ดอกใบปริญญา ฮู้แต่ว่าเอามายากเย็น หลับตาลงยังคงฝันเห็น เป็นเพียงหน้าอ้าย” (ติด ร. ยังพอแก้ได้ แต่ติดใจพี่น้องแก้ไม่เป็น ใบปริญญาเป็นแบบไหนไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าเอามายากเย็น หลับตาลงยังฝันเห็นแค่หน้าพี่)

เนื้อหาสะท้อนถึงชีวิตวัยรุ่นทั่วไป ที่มีความรัก มีความสุขความทุกข์ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้สาวขาเลาะข้ามเส้นแบ่งของความเป็นเพลงอีสานเพื่อคนอีสาน แต่กลายเป็นเพลงของคนที่หลากหลายขึ้นได้

แม้จะมีเสียงค่อนขอดอยู่บ้างว่า ผู้สาวขาเลาะเป็นเพลงที่สนับสนุนให้คนไม่ตั้งใจเรียน แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ตัวละครในเพลงลูกทุ่งอีสานก็ได้เรียนหนังสือแล้ว ไม่ได้จบแค่ ป.4 แล้วมีหนทางเดียวในชีวิตคือการทำงานใช้แรงงาน

หรือในเพลง บักจีเหลิน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ผู้สาวขาเลาะภาคผู้ชาย ว่าด้วยเรื่องของหนุ่มน้อย ม.2 ที่อยากมีแฟน แต่บุคลิกของเขายังดูเด็ก มีเพื่อนเล่นเป็นเด็กประถม จนคนแซวว่ายังฉี่รดที่นอนอยู่เลย ในเพลงนี้เขาจึงออกมาอธิบายตัวเองว่าเป็นหนุ่มแล้ว และอยากจะชวนรุ่นพี่มาเป็นแฟน จากท่อนที่ร้องว่า

“เซาเยี่ยวแล้วครับ เซาเยี่ยวใส่บ่อนแล้วครับ เซาเยี่ยวแล้วครับ เซาใส่แพมเพิร์สแล้วครับ

เอาซั่นเบ๊าะ เอาซั่นเบาะ มาเป็นแฟนกับอ้ายบ่

(เลิกฉี่แล้วครับ เลิกฉี่ใส่ที่นอนแล้วครับ เลิกฉี่แล้วครับ เลิกใส่ผ้าอ้อมแล้วครับ

เอาอย่างนี้มั้ย มาเป็นแฟนกับพี่มั้ย)

ใครจะนึกมาก่อนว่า การประกาศว่าตัวเองเลิกฉี่รดที่นอนแล้วจะกลายเป็นประโยคบอกรักได้ ยังไม่นับในเอ็มวีที่เล่าวิถีชีวิตของเด็กหนุ่ม ไปเรียนหนังสือ เลิกเรียนวิ่งเล่น ในบางเย็นก็กอดคอลูกน้องวัยประถมไปหารุ่นพี่ ม.ปลาย ที่ร้านขายกล้วย เป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่จริงใจและไม่เห็นแววความขวยเขินใดๆ

การเล่าวิถีชีวิตตามต่างจังหวัดผ่านบทเพลงเหล่านี้ เป็นหนึ่งในการอธิบายตัวตนความเป็นอีสานอีกรูปแบบหนึ่งที่ถึงอกถึงใจ และหากใครจะเห็นระหว่างบรรทัดในเนื้อเพลง ก็นับเป็นของแถมจากความม่วนซื่น

 

ภาพจากมิวสิควิดีโอเพลง บักจีเหลิน

 

ในขณะที่อีกหลายเพลงของ ก้อง ห้วยไร่ ก็รวมเอาภาษาอังกฤษและดนตรีป๊อปร็อคเข้ามาใช้กับเพลงลูกทุ่งอีสาน เนื้อหาในหลายเพลงพยายามแสดงความเป็น ‘ลูกอีสาน’ ผ่านการหยิบยืมวัฒนธรรมอื่นๆ มาใช้ เช่น ในเพลง โอ้ละน้อ ที่ก้องร้องร่วมกับปู่จ๋าน ลองไมค์ แรปเปอร์ชาวเหนือ ก็มีความพยายามจะเปรียบเทียบวัฒนธรรม และภาพลักษณ์ที่แตกต่างของหนุ่มอีสานกับหนุ่มเกาหลี โดยการร้องค่อนขอดตัวเองเป็นภาษาอังกฤษว่า

It’s my life man free style จนใครๆ มองเราไม่ดี บ่าวบ้านนอกแต่งโตเกาหลี ฟังเพลงอินดี้ ป๊อปแดนซ์ และบอยแบนด์

ใช้ชีวิตที่มันแตกต่าง กิน นอน นั่ง ก็ก๊อปโคเรีย จนอีพอเพิ่นใจละเหี่ย สุดท้ายจั่งฮู้โตตนเฮาเป็นจั่งใด๋”

เนื้อหาบอกว่า หนุ่มอีสานบ้านนอกอยากจะเป็นแบบหนุ่มเกาหลี ทำอะไรก็ก๊อปเกาหลีทุกอย่าง ทั้งการฟังเพลง การแต่งกาย ทุกอิริยาบถ แต่ท้ายที่สุดก็รู้ว่าตัวตนของตัวเองเป็นคนลาวอีสาน ย้ำชัดในท่อนร้องที่ว่า “คั่นเจาะเลือดเจ้าสิเห็น แต่ลาวอ้อยต้อย” (ถ้าเจาะเลือดออกมา ก็จะเห็นแต่เลือดลาว) และเพิ่มความม่วนงันเข้าไปอีกในท่อนฮุค ที่อธิบายถึงวัฒนธรรมประเพณีอีสานว่า

“เกิดเป็นคนอีสาน เลือดก็คนอีสาน มีบุญมีงาน ก็ต้องมีหมอลำ มีลาบมีก้อย มีจุ๊ซอยจำ ยังจดยังจำ วิถีบ้านเฮา เสียงพิณห่าว เสียงแคนหย่าว หย่าวเจ้าหย่าว หมอลำเจ้าหย่าว ยังเต้นรำวง โตดตีโต่งเกี้ยวสาว บ่ลืมเรื่องราว บุญฮีต 12 และคอง 14”

ก่อนจะตบท้ายเพลงด้วยท่อนแรปของปู่จ๋านที่หยิบเอา ‘ความเป็นไทย’ ที่รวมคนและอัตลักษณ์ของทุกภาคไว้ด้วยกัน ในท่อนร้องที่ว่า

“เพราะอัตลักษณ์มันปักที่ใจ ไปอยู่ที่ใดฉันก็ไม่ลืม แม้นอยู่ในที่แห่งหนใด ขึ้นชื่อว่าไทยนี่แหละที่ยืน

อ้ายเป็นผู้บ่าวไทบ้าน บ่ต้องกลัวต้องย่านว่าอ้ายจะลืม จะสืบจะสานชาติศิลป์ไทย จะบ่มีอันใดที่มาคืน

ยังยืนอยู่บนวิถียังใช้ชีวีเหมือนเดิมทุกวัน จะเหนืออีสานออกตก พวกเราทั้งหมดก็ไทยเหมือนกัน

ต้นไม้ถ้าไม่ลืมราก มันก็เติบโตไปทุกๆ วัน แต่หากต้นไม้นั้นลืมรากเหง้า ก็กลายเป็นเถ้าขี้ผงเหมือนกัน”

จะเห็นว่า แม้จะมีความพยายามแสดงอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอย่างเข้มข้นผ่านเนื้อเพลง แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมน้อมรับเอาความเป็นไทยเข้ามาอยู่ในตัวตนนี้ด้วย เป็นวิถีแบบอีสานใหม่ที่พยายามต่อสู้เรื่องตัวตนและตำแหน่งแห่งหนของตัวเองมาโดยตลอด

 

ภาพวิถีชีวิตหนุ่มสาวในอีสาน จากมิวสิควิดีโอเพลง โอ้ละน้อ

 

กลุ่มศิลปินอีสานวัยหนุ่มสาวเหล่านี้เติบโตมาในอีสานยุคใหม่ ที่มีการพัฒนาทั้งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่เกือบทุกจังหวัด เส้นแบ่งระหว่างความเป็นชนบทกับเมืองพร่าเลือน เพราะการคมนาคมสะดวกสบายขึ้น ทั้งการเข้าถึงยานพาหนะเช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และถนนหนทางที่เชื่อมจากหมู่บ้านเข้าสู่ตัวเมืองเทศบาลได้ง่ายขึ้น ทำให้หนุ่มสาวอีสานที่อยู่ในชนบทสามารถเห็นวิถีชีวิตได้ทั้งสองแบบคือชนบทและเมือง

นอกจากนี้พวกเขายังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ผ่านโทรศัพท์ ทำให้โลกของคนหนุ่มสาวในชนบทยุคโลกาภิวัตน์กว้างกว่าโลกของหนุ่มสาวอีสานยุคก่อน ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้ศิลปินอีสานส่วนมากผลิตเพลง ใช้ชีวิต มีการสลับสับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่หลากหลาย และแปลกแตกต่างไปจากเพลงอีสานแบบเดิม

พี่ชายคนสุรินทร์เคยบอกว่า เราต่างเป็น ‘อีสานศนิกชน’ ฉันอยากเติมไปอีกนิดว่า และเราต่างมีวิธีบอกเล่าความเป็นอีสานในแบบของตัวเอง

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save