fbpx
การเมืองกับความสุข

การเมืองกับความสุข

 

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 

เราสร้างประเทศที่มีความสุขที่สุดด้วยกาแฟ

 

ภาพจาก https://worldmapper.org/wp-content/uploads/2018/05/Blog_Grid_HappyPlanetIndex_2016.png

 

worldmapper.org จัดลำดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก หากคุณกางแผนที่ออกมาดู ประเทศสีเขียวคือประเทศที่มีความสุขมากที่สุด ส่วนประเทศสีแดง เป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด จะเห็นว่าประเทศส่วนมากมีสีออกเหลืองๆ ส้มๆ นั่นหมายความว่าไม่ได้มีความสุขในชีวิตมากนัก แต่มีประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกากลางที่มีสีเขียวเข้มอยู่ประเทศเดียวท่ามกลางประเทศที่ไม่ค่อยจะมีความสุขล้อมรอบพวกเขาอยู่ คือประเทศคอสตาริก้า

ทั้งๆ ที่คอสตาริก้า ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย ไม่ได้เป็นประเทศสุดไฮเทคหรือมีนวัตกรรมหวือหวา ตรงกันข้ามคอสตาริก้า เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คืออยู่บนถุงกาแฟ คอสตาริก้าถือเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟชั้นดีของโลก ตั้งแต่ปี 1996 กาแฟได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศนี้และคิดเป็นเกือบ 30% ของ GDP แม้ว่าเมื่อเทียบกับตลาดโลกแล้ว กาแฟจากคอสตาริก้าคิดเป็นแค่ 1 % ของมูลค่ากาแฟทั้งโลกเท่านั้นเอง แต่ก็สามารถสร้างรายได้ได้ไม่น้อยเพราะกาแฟจากที่นี่ถือเป็นกาแฟชั้นดี

กาแฟจากคอสตาริก้าแถบ Tarrazú ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกกาแฟที่ดีที่สุดในโลก  ปี 2012 Tarrazú Geisha ถือเป็นกาแฟที่แพงที่สุดที่สตาร์บัคส์ซื้อไป สตาร์บัคส์จำหน่ายปริมาณครึ่งปอนด์ในราคา 40 ดอลลาร์ หรือหากจะซื้อกินในร้าน ราคาเริ่มต้นที่แก้วละ 7 ดอลลาร์ ซึ่งแพงกว่าราคาที่ขายปกติอีกเท่าตัวและขายเพียง 46 ร้านเท่านั้นในสหรัฐอเมริกา คอสตาริก้ายังมีเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกหลายแห่งทั้งในเขต West Valley  เขต Tres Ríos, Cartag ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นกาแฟราคาแพง

การขายกาแฟราคาแพง เกี่ยวข้องกับการสร้างความสุขของประเทศนี้ไหม ผมคิดว่ามีปัจจัยหลายอย่างมากกว่ากาแฟราคาแพงที่พวกเขาขายได้

The Happy Planet Index (HPI) พัฒนาขึ้นโดย New Economics Foundation จุดประสงค์ก็เพื่อหาว่ากระบวนการอะไรที่ทำให้คนในประเทศนั้นๆ รู้สึกว่าตัวเองมีความสุข โดยเป็นการศึกษาระยะยาว ก่อนหน้านี้เรามักได้ยินเรื่องของประเทศภูฐานที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีดัชนีความสุข (Gross National Happiness) ของคนในประเทศสูงสุดเช่นกัน โดยพบว่าปัจจัยเรื่องความศรัทธาในศาสนา และการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกับพลเมืองในประเทศมากกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

การสำรวจนี้ทำใน 140 ประเทศ โดยวัดความสุขจากปัจจัย 3 อย่างในชีวิต ก็คือการใช้ชีวิตชีวิตในภาพรวม ความสุขในชีวิตประจำวัน และเรื่องของสุขภาพอนามัย ในการสำรวจจะมีคำถามตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ว่า “วันนี้คุณหัวเราะแล้วรึยัง” ไปจนถึงเรื่องของความรู้สึกข้างใน ถามเกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบาก เช่นเรื่องความเจ็บป่วย ความรู้สึกอ้างว้าง ฯลฯ

จากการสำรวจพบว่าคนคอสตาริก้ามีความรู้สึกเชิงบวกในแต่ละวันในการใช้ชีวิตมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก ทั้งๆ ที่รายได้ต่อหัวของประชากรต่อหัวต่อปีนั้นต่ำกว่าสหรัฐอเมริกากว่า 5 เท่า มีประชากรทั้งประเทศน้อยกว่ากรุงเทพฯ เสียด้วยซ้ำ หากวัดกันตามมาตรฐานของตะวันตก เรียกว่าคอสตาริก้า ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย ไม่มีนวัตกรรมล้ำหน้าที่สุด แถมยังเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ดูจะพึ่งพาธรรมชาติอยู่มาก ซึ่งตะวันตกก็จะบอกว่าแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงเพราะควบคุมยาก เสี่ยงต่อภาวะผลผลิตที่ไม่แน่นอน แล้วถ้างั้นอะไรที่ทำให้คอสตาริก้ามีความสุข ?

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เจ้าของไร่กาแฟแห่งนี้มีความสุข ซึ่งน่าสนใจดีครับ

ประการแรก มาจากเรื่องภูมิประเทศ

คอสตาริก้าเป็นประเทศที่มีภูเขาสูงต่ำสลับกันไป พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700-1,300 ฟุต แตกต่างจากประเทศในแถบอเมริกากลางส่วนมากซึ่งเป็นที่ราบ การมีที่ราบกว้างใหญ่เปิดโอกาสให้ประเทศถูกครอบงำจากชนชั้นนายทุน ทหารหรือนักการเมืองที่มีอิทธิพลได้มากกว่า เพราะเข้าถึงง่ายและสามารถทำประโยชน์จากพื้นที่ราบได้มากกว่าที่สูง คอสตาริก้าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับหุบเหว ว่ากันว่าการติดต่อในแต่ละพื้นที่นั้นทำได้ไม่ง่ายนัก ฉะนั้นประชากรก็จะกระจายอยู่ตามที่ราบระหว่างหุบเขาหรือในแอ่งเขา ปัจจัยแบบนี้ทำให้ยากที่ใครสักคนจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลและผูดขาดทุกสิ่งอย่าง

ประการที่สอง มาจากการเลือกผู้นำหลังได้รับเอกราช

หลังจากที่คอสตาริก้าได้รับเอกราชจากสเปนในช่วงกลางศตวรรษที่ 19  ซึ่งกระบวนการการแยกตัวเริ่มมาตั้งแต่ต้นศตวรรษราวปี 1825 แต่เริ่มต้นระบอบประธานาธิบดีจริงๆ ก็ราวปี 1848 ก็คือ โจเซ่ คาสโตร (José María Castro Madriz) ซึ่งมีพื้นฐานจากการเป็นนักปรัชญาและจบปริญญเอกด้านกฎหมาย เขาทำงานในมหาวิทยาลัยทั้งสอนหนังสือและบริหาร ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองและเป็นประธานาธิบดีเมื่ออายุได้เพียง 29 ปีเท่านั้น

การเลือกผู้นำที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นครูของคอสตาริก้า เรียกว่าแทบจะเปลี่ยนแปลงนักธุรกิจหรือทหาร มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่มีสุขภาวะที่ดีพร้อมๆ กับให้การศึกษา ช่วงทศวรรษ 1940 เป็นช่วงเวลาที่บทบาทของกองทัพนั้นหมดไปจากระบอบการเมืองและทำให้คอสตาริก้าสามารถพัฒนาตัวเองผ่านการลงทุนกับเยาวชน และการสร้างสุขอนามัยที่ดี

คอสตาริก้าใช้เวลา 21 ปีหลังจากนั้นในการสร้างระบบสาธารณสุขที่ทำให้เกิดสถานีอนามัยประจำหมู่บ้านแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายไว้บริการประชาชน และสิ่งที่เติบโตมาคู่กับการพัฒนาสาธารณสุขก็คือเรื่องการพัฒนาระบบการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกกาแฟ ตรงนี้เองครับที่กาแฟเริ่มเข้ามามีบทบาทในการยกระดับรายได้ของประเทศ

ต้องขอบคุณ William Le Lacheur กัปตันเรือ The Monarch ของอังกฤษที่เข้ามาค้าขายในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เห็นความเป็นไปได้ของการปลูกกาแฟที่คอสตาริก้า ซึ่งแต่เดิมที่นี่เป็นแค่คลังเก็บเมล็ดกาแฟและบรรจุหีบห่อ ก่อนส่งไปขายยังยุโรป วิลเลียมเข้ามาวางรากฐานการปลูกกาแฟและเป็นคนที่ทำให้กาแฟจากคอสตาริก้าเป็นที่รู้จักในยุโรป และวางรากฐานระบบการค้าขายกาแฟไว้

ความโชคดีอีกอย่างของคอสตาริก้าคือ การที่พื้นที่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเขตเซ็ลทรัล แวลลีย์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ สามารถผลิตกาแฟคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นหุบเขาสูงต่ำล้อสลับกันไปทั้งประเทศ ทำให้ที่นี่เหมาะแก่การปลูกกาแฟโดยธรรมชาติ ไม่นานนักการปลูกกาแฟของคนคอสตาริก้าก็หลั่งไหล แผ่ซ่านออกไปจากส่วนกลางของประเทศสู่ดินแดนอื่นๆ จนกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของคอสตาริก้าในที่สุด

ทว่าการปลูกกาแฟในคอสตาริก้าไม่ได้รสราบรื่นเหมือนกาแฟ พวกเขาเผชิญปัญหาหลากหลายด้านกว่าจะมาถึงจุดคงตัว โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาแรงงาน แต่สิ่งที่ทำให้คอสตาริก้าหลุดพ้นจากวงเวียนของความยากจนก็คือความมั่นคงเรื่องสุขอนามัย และประชาชนส่วนมากมีความพอใจกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาที่ได้มีโอกาสทำงานใกล้ๆ บ้าน มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนและทำการเกษตรกับพืชที่สามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้แบบไม่ให้ลำบากมากนัก

เอาเป็นว่าอย่างน้อย ถ้าเรายังอยู่ในในประเทศที่ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าความสุข ก็เอากาแฟของเขามาช่วยบรรเทาความทุกข์ไปก่อนก็แล้วกัน

หลักการการทำอุตสาหกรรมกาแฟของคอสตาริก้าให้มีความสุขก็คือ พวกเขาไม่ทำมาก แต่ทำให้ดี (เหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาทำมากไม่ได้เพราะพื้นที่ที่เข้าถึงลำบากและการขาดแคลนแรงงาน แรงงานในไร่กาแฟส่วนมากจึงเป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านและเข้ามาทำงานในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต)

แต่การจะทำให้ประเทศๆ หนึ่งมี ‘ความสุข’ ถึงระดับที่ทุกคนรู้สึกว่าดีจังที่ได้เกิดมาในประเทศนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายและคงเป็นไปได้ยากมากหากจะบอกว่ามีบางประเทศที่สามารถสร้างความสุขของคนในประเทศจากการทำธุรกิจกาแฟ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าประเทศนั้นมีอยู่จริง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save