fbpx

เปิดชั้นเรียนสร้างสุข เมื่อปลายทางของการเรียนคือ ‘ความสุข’ ของผู้เรียน

หากพูดถึงช่วงชีวิตในวัยเรียน เราคงคุ้นเคยกันดีกับคำที่ผู้ใหญ่หลายคนพร่ำบอกว่าให้ตั้งใจเรียนเพื่อจะได้คะแนนสอบดีๆ ต่อยอดไปจนถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพ ‘ดีๆ’ ในอนาคต ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อลองมองย้อนดูระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระบบการศึกษาประเทศไทย ก็ดูจะสอดรับกับชุดความคิดดังกล่าวเป็นอย่างดี หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด ชุดความคิดดังกล่าวอาจจะเป็นภาพหนึ่งที่ช่วยสะท้อนสภาพสังคมไทยที่คะแนนสอบคล้ายจะเป็นปลายทางของทุกเรื่อง

ทว่าอย่างที่เราทราบกันดี โลกในช่วงหลังมานี้เข้าสู่ภาวะผันผวน เปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนอย่างรุนแรง ประกอบกับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเข้ามาดิสรัปต์ของเทคโนโลยี และล่าสุดคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกมิติในชีวิตมนุษย์ และทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากห้องเรียน คำถามสำคัญจึงเริ่มเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา กล่าวคือระบบการศึกษาที่เน้นวิชาการมาก่อนยังสอดคล้องกับบริบทของโลกปัจจุบันอยู่หรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่การวัดผลด้วยการสอบและคะแนนสอบต้องเป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนเสมอไป และเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราจะเริ่มสอนและเสริมสร้างทักษะอื่นๆ ให้ผู้เรียนเพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม

หนึ่งในความพยายามเพื่อตอบคำถามข้างต้นคือนวัตกรรมทางการศึกษาที่เรียกว่า ‘หลักสูตรความสุข’ (Happiness Curriculum) จากประเทศอินเดีย ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างรากฐานของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับผู้เรียนทุกคน ยึดความเป็นอยู่ของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผู้เรียนให้พร้อมรับกับความผันผวนของโลกใบนี้ และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและของโลกได้อย่างงดงาม

101 ชวนเปิดชั้นเรียนสร้างสุขที่ปลายทางของการเรียนคือการยึดผู้เรียนและความสุขของผู้เรียนเป็นสำคัญ ไล่เรียงตั้งแต่แนวคิดการออกแบบการเรียนรู้ที่เท่าเทียม ความสำคัญของการมีหลักสูตรความสุข ไปจนถึงแนวทางการปรับใช้หลักสูตรดังกล่าวในบริบทแบบไทยๆ – การเรียนและชั้นเรียนที่ยึดความสุขและผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Happiness Curriculum: Happiness class and how it is implemented (หลักสูตรความสุข: ชั้นเรียนความสุข และกระบวนการสร้างสุข) โดย ดร.ศรีหะริ รวินทรนาถ ในวันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 จัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เปิดบทบาท กสศ. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ 5 หลักการสำคัญเพื่อออกแบบการเรียนที่เท่าเทียม – ดารณี อุทัยรัตนกิจ

ก่อนเข้าสู่ช่วงการเสวนา รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวนำด้วยบทบาทของ กสศ. ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านคุณภาพของสถานศึกษา โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญคือการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน มีการทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพและลดช่องว่างระหว่างสถานศึกษา รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและห้องเรียนผ่านการทำงานกับครูและผู้บริหาร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตัวแบบและส่งต่อให้หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ปฏิรูปคุณภาพการเรียนการสอนต่อไป

“ตอนนี้ กสศ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยพัฒนาครูและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อช่วยนักเรียนผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่เหล่านั้น โดยหวังว่าโรงเรียนในโครงการจะมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ส่งผลให้การศึกษาระดับประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง เน้นคุณภาพการเรียนการสอนและป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

ดารณียังได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบการศึกษาอย่างรุนแรง คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เรียนทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญหลายประการ โดย ประการแรกคือ ภาวะความรู้ถดถอย (learning loss) ซึ่งจากงานวิจัยของหอการค้าไทยที่ศึกษาความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนมีระดับคะแนนความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่ำกว่ากลุ่มที่ได้ไปเรียนตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

“ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เด็กกลุ่มที่ไม่ได้ไปโรงเรียนมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ด้านภาษาประมาณ 5 เดือน ด้านคณิตศาสตร์ประมาณ 4 เดือน และด้านสติปัญญาประมาณ 5 เดือน”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดารณีจึงเน้นย้ำว่าโรงเรียนจำเป็นจะต้องป้องกันไม่ให้ภาวะการเรียนรู้ถดถอยเกิดขึ้นแบบรุนแรงและต่อเนื่อง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ศักยภาพทางการเรียนรู้ของนักเรียนรุ่นนี้จะถดถอยอย่างไม่มีวันเรียกกลับได้

ประการที่สอง คือ ปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม เพราะการปิดโรงเรียนทำให้ผู้เรียนเกิดความกดดันอย่างมากและส่งผลกระทบทั้งด้านอารมณ์และสังคม กล่าวคือเด็กและเยาวชนมีความทุกข์จากการเรียนออนไลน์และมีความเครียดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการแสดงออกถึงความวิตกกังวล กลัว เครียด และไม่แน่ใจ ไปจนถึงการมีภาวะซึมเศร้าและรู้สึกโดดเดี่ยว ที่สำคัญคือภาวะความยากจนที่ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นและการสูญเสียทักษะชีวิตบางด้านตามพัฒนาการของช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

“จากสถานการณ์ข้างต้นที่ว่ามานี้ การส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมเพื่อให้เด็กสามารถจัดการและดูแลสุขภาวะทางอารมณ์และสังคมของตนเองได้จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่” ดารณีกล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ‘ครู’ คือผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กเปราะบางซึ่งไม่มีที่ให้สนับสนุนหรือพึ่งพาได้

“ถ้าเด็กและเยาวชนสามารถจัดการดูแลตนเองและใช้ทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม ก็จะช่วยบรรเทาการเรียนรู้ที่ถดถอยได้ ซึ่งตอนนี้ การสร้างการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมให้กับเด็กเป็นทิศทางที่ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ”

ทั้งนี้ ดารณีชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แต่ก่อนประเทศส่วนใหญ่จะเน้นสอนเรื่องวิชาการเป็นหลัก แต่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เต็มไปด้วยความพลิกผัน ไม่แน่นอน และต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน การสอนเชิงวิชาการอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอจะพัฒนาผู้เรียนให้เติบโต มีศักยภาพ และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและของโลกได้

ดารณีอ้างถึงงานวิจัยจากสหรัฐฯ ที่ระบุว่ามีหลักการสำคัญ 5 ประการที่จำเป็นสำหรับการออกแบบการเรียนที่เท่าเทียมกัน ข้อแรกคือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและหลากหลาย ข้อที่สองคือการพัฒนาทักษะ นิสัย และความคิด ข้อที่สามคือการมีระบบสนับสนุนของโรงเรียนและครอบครัวแบบบูรณาการ ข้อที่สี่คือการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวก และข้อสุดท้ายคือสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งสรุปว่า หลักการเหล่านี้สำคัญมากในการสร้างให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบและเป็นผู้นำตนเองในการเรียนรู้ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ ของตนเอง

ในตอนท้าย ดารณีกล่าวถึง ‘หลักสูตรความสุข’ ซึ่งเป็นหัวข้อสนทนาหลักของวงเสวนาว่า เป็นหลักสูตรที่ใช้ในห้องเรียนกับนักเรียนกว่าแปดแสนคนในกรุงเดลี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง โดยใช้เวลาหนึ่งคาบเรียนในแต่ละวันเพื่อเล่นเกม มีบทสนทนาอย่างไตร่ตรอง มีการเล่าเรื่อง ฝึกสติ (mindfulness) รวมไปถึงการแสดงบทบาทสมมติ โดยทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการจัดการตนเอง ทักษะความสัมพันธ์ การตัดสินใจและคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งล้วนเป็น soft skills ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการเรียนรู้และการทำงาน และยังช่วยเสริมการทำงานของครูในรูปแบบต่างๆ ได้เช่นกัน

เปิด ‘หลักสูตรความสุข’ จากประเทศอินเดีย – ศรีหะริ รวินทรนาถ

“ทุกครั้งที่เราเริ่มพูดถึงหลักสูตรความสุข เราจะเรียกหลักสูตรนี้ว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา แต่คำถามที่ดีคือหลักสูตรนี้คืออะไร แล้วทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องความสุข” ดร.ศรีหะริ รวินทรนาถ รองผู้อำนวยการ Research and Impact จากองค์กร Dream a Dream กล่าวนำ

“ในการพัฒนาหลักสูตรนี้ ถ้าผมเป็นครูในระบบโรงเรียน และถ้าเราอยากจะเข้าใจว่าเราต้องการสร้างอะไรให้เด็กของเรา เราต้องเริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่า เราอยากให้เด็กเรียนรู้อะไรและอยากให้เขาเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้คือเราอยากให้เด็กทุกคนมีความสุขในชีวิต”

อย่างไรก็ดี ศรีหะริชี้ว่า ระบบการศึกษามักจะเน้นเรื่องวิชาการเป็นหลัก แต่กลับไม่ได้มองถึงการเตรียมความพร้อมให้เด็กมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อหาทางรับมือและก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไป เพราะระบบการศึกษามุ่งเน้นแต่เรื่องคะแนนสอบและเหมาเอาเองว่าเด็กทุกคนจะต้องเรียนจบและออกไปทำงาน

“เราจึงเริ่มคุยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กได้ใช้ชีวิตแบบมีความสุขตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่เรียนรู้วิชาการต่างๆ จึงเกิดเป็นการพูดคุยเรื่องการเรียนรู้เชิงสังคมและอารมณ์เป็นหลัก และกลายเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยร่วมมือกับภาครัฐด้วย”

ศรีหะริอธิบายเรื่องหลักสูตรแห่งความสุขว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน มีกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กทำ โดยหวังว่าถ้าเด็กมีความสุขในช่วง 1 ชั่วโมงต่อวันในโรงเรียนก็น่าจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้

“เราพยายามสร้างความตระหนักรู้ ฝึกสติ รวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ เราต้องการให้เด็กสามารถสื่อสารกับคนอื่นโดยไม่มีความกลัวและสามารถแสดงความรู้สึกของตนเองออกมาได้ รวมถึงควรพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน โดยเฉพาะในชีวิตจริง เมื่อเด็กของเราออกจากโรงเรียนและไปเจอกับโลกภายนอกแล้ว เราก็อยากให้พวกเขาสามารถรับมือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นนอกโรงเรียนได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและความท้าทายต่างๆ”

ทั้งนี้ ศรีหะริอธิบายถึงผลลัพธ์ที่ต้องการว่า เป็นเรื่องความสามารถที่จะมีสติ สามารถเพ่งความสนใจ ช่วยให้เด็กคิดเชิงวิพากษ์และสามารถสะท้อนความคิดของตนเอง ต้องการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมของเด็ก รวมถึงสร้างให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองและมีบุคลิกที่ดี ดังนั้นแกนหลักของหลักสูตรจึงอาจถูกปรับไปตามอายุของเด็กเช่นกัน

“แต่เรื่องหลักที่ต้องทำคือการเจริญสติ (mindfulness) เพราะนี่คือพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กสามารถมุ่งความสนใจหรือใส่ใจในทุกอย่างที่เขาต้องการเรียนรู้ และถ้าเด็กมีสติ พวกเขาก็จะสามารถจัดการหรือรับมือกับสถานการณ์ทุกอย่างได้ อีกทั้งเราอาจจะใช้วิธีการเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เด็กฟังเพื่อให้เขาสะท้อนการคิดว่าเกิดอะไรขึ้นในเรื่องเหล่านี้ ใครเป็นคนถูกหรือผิด ปัญหาอยู่ที่ไหนหรือไหนหรือมีปัจจัยอะไร และถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับเพื่อนของเด็กๆ พวกเขาควรจะทำอะไรได้บ้าง”

ด้วยความที่ต้องการให้หลักสูตรความสุขสอดคล้องกับบริบทด้านวัฒนธรรมด้วย ศรีหะริจึงชี้ว่า เรื่องที่จะเล่าเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในชั้นเรียนจำเป็นจะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเน้นกับครูผู้สอนด้วยว่า เรื่องแบบไหนที่สมควรจะนำมาคุยเพื่อให้เกิดการอภิปราย การพัฒนาครูจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

“ผลลัพธ์ที่เราได้จากหลักสูตรความสุขคือ นักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับครูของพวกเขา เพราะหลักสูตรนี้ไม่ได้มีการสอบใดๆ ครูก็จะค่อนข้างผ่อนคลาย มันจึงเป็นชั้นเรียนแบบเปิดและยืดหยุ่น ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน และเมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้น เด็กก็จะกล้าขอความช่วยเหลือและถามครูในเรื่องอื่นๆ ด้วย”

“นอกจากนี้ เรายังเห็นการมีส่วนร่วมของเด็กมากขึ้น เพราะเด็กจะทำและเข้าร่วมกิจกรรมตลอด และไม่ใช่แค่การเข้าร่วมในช่วงชั้นเรียนแห่งความสุข แต่ผลลัพธ์เหล่านั้นจะกระจายและขยายผลไปสู่คาบเรียนอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย เพราะเมื่อเด็กมั่นใจในตนเอง มีทักษะและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น ก็จะช่วยในการเข้าร่วมกิจกรรมและวิชาอื่นๆ และเด็กยังมีสมาธิในห้องเรียนเพิ่มขึ้นด้วย”

สำหรับในฝั่งของครู ศรีหะริชี้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทัศน์ คือครูเริ่มตระหนักแล้วว่าตนเองไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนเพื่อให้เด็กสอบได้คะแนนดีๆ แต่ครูจะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข ทำให้นอกจากเรื่องวิชาการแล้ว ครูจะต้องสนใจปัจจัยอื่นๆ รวมถึงเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ สื่อสาร และทำงานร่วมกันกับนักเรียนและกับเพื่อนครูคนอื่นด้วย

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจมองว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของครูจากการเน้นสอนด้านวิชาการไปเป็นการสอนเพื่อมุ่งเน้นความสุขเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ศรีหะริมองว่า จริงๆ แล้ว ครูทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคืออยากให้เด็กมีความสุข แต่ด้วยระบบการศึกษาทำให้ครูต้องพยายามบีบบังคับจบหลักสูตรเพื่อให้ทันกับการสอบ วิธีแก้ปัญหาจึงอยู่ที่การสร้างหลักสูตรความสุขร่วมกันระหว่างภาครัฐกับครู โดยรัฐบาลต้องรับฟังความเห็นของครู ทำให้ครูรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ และอาจช่วยเปลี่ยนทัศนคติของครูบางส่วนที่ยังยึดติดกับผลการเรียนได้ด้วย

ในตอนท้าย ศรีหะริกล่าวว่า สิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จของหลักสูตรความสุขคือ หลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเดลี เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน และที่สำคัญคือหลักสูตรนี้ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมหลังเลิกเรียน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามานี้เองจะช่วยให้หลักสูตรความสุขประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ในระยะยาว

แนวทางการปรับใช้ ‘หลักสูตรความสุข’ ในบริบทแบบไทยๆ – ทินสิริ ศิริโพธิ์

วิทยากรท่านสุดท้าย ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ Early Childhood Development Officer จากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการนำหลักสูตรความสุขไปใช้ในบริบทของไทย โดยทินสิริชี้ว่า เราต้องพิจารณาใน 3 มิติ ดังนี้:

มิติแรก คือมิติของครู ซึ่งเริ่มจากการที่ครูต้องทำความเข้าใจว่า mindfulness ที่ถูกพูดถึงมีวิธีการที่แตกต่างจากการทำสมาธิแบบศาสนาพุทธ อีกประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาด้วยคือ กรอบสมรรถนะครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คุรุสภาทำร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้นำกรอบดังกล่าวมาปรับใช้ด้วย

“จุดศูนย์กลางในกรอบสมรรถนะดังกล่าวคือการที่ผู้เรียนมีความสุข ซึ่งตรงกับที่ ดร.ศรีหะริ กล่าวว่าต้องทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางและทำให้เด็กมีความสุข ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ครูต้องทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ และต้องรู้จักเด็กของตนเอง รู้ว่าพวกเขามีพฤติกรรมหรือความสามารถอย่างไร ถ้าจะเจาะจงลงไปกว่านั้นคือ ครูสนิทสนมกับเด็กจนรู้จักว่าเด็กแต่ละคนเป็นยังไงเพื่อจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างเต็มที่”

มิติที่สอง คือมิติของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะในช่วง 0-3 ปีซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมากและเป็นพื้นฐานแรกๆ ในชีวิตการเรียนรู้ของเด็ก ทินสิริจึงเสนอว่า ถ้าเราลองปรับและนำหลักสูตรความสุขมาใช้ในช่วง 3 ปีแรกนี้ ก็อาจจะช่วยให้เด็กมีความพร้อมและมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้ครูหรือพี่เลี้ยงด้วย

อย่างไรก็ดี ทินสิริชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า ทำอย่างไรจึงจะเตรียมความพร้อมเด็กได้อย่างมีคุณภาพ เพราะจากการสำรวจที่ UNICEF ทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีเด็กปฐมวัยในไทยเพียง 60% ที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ขณะที่ในระดับวัยรุ่น UNICEF พบว่ามีวัยรุ่น 7-10% ที่มีปัญหาและอาจจะโยงไปถึงเรื่องสมรรถนะการเรียนรู้ได้

“เราต้องมองว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และปลายทางของเราคือต้องทำให้เด็กเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพ ตรงกับยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์หรือเรื่องของทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งการจะทำให้เด็กมีศักยภาพเต็มที่ต้องมาจากการบริหารจัดการเพื่อให้เด็กมีความสุขและเติบโตได้อย่างเต็มที่”

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันคือ ครูจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี (active listener) ซึ่งทาง UNICEF ได้ทำแคมเปญรณรงค์ให้ครูหรือผู้ดูแลเด็กเป็นผู้ฟังที่ดี กล่าวคือต้องเปิดใจ ไม่ใช่แค่ฟังด้วยหู แต่ต้องฟังด้วยตาและฟังด้วยใจควบคู่ไปด้วย จากนั้นจึงทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ตัดสินไปก่อนว่า เรื่องนั้นถูกหรือผิดอย่างไร

และ มิติสุดท้าย คือเรื่องของระบบและการนำหลักสูตรความสุขไปขยายต่อ โดยในภาพรวม เราควรมองเรื่องของภาวะผู้นำ (leadership) ในการนำหลักสูตรนี้มาใช้ ซึ่งอาจจะใช้ได้ตั้งแต่ในระดับกระทรวง หรือในระดับโรงเรียนที่นำมาปรับใช้ในบริบทของแต่ละท้องถิ่นได้ด้วย

“นอกจากนี้ ครูยังสามารถใช้หลักสูตรความสุขเองได้ด้วย เพราะถ้าเราจิตใจนิ่ง สงบ ก็สอนเด็กได้แบบไม่ต้องโมโห มีความอดทน คือเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะถ้าเรายังปรับใช้กับตัวเองไม่ได้ก็คงสอนเด็กไม่ได้ หรือเราอาจจะเริ่มตั้งแต่การนำแนวคิดดังกล่าวไปใส่ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนิสิต/นักศึกษาที่เรียนครูอยู่ เพราะการบรรจุเรื่องนี้ตั้งแต่ในหลักสูตรจะทำให้เกิดความยั่งยืนด้วย” ทินสิริกล่าวทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save