fbpx
เมื่อ Handmaid’s Tale ขับเคลื่อนการประท้วงในโลกจริง

เมื่อ Handmaid’s Tale ขับเคลื่อนการประท้วงในโลกจริง

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

Handmaid’s Tale คือนิยายของมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด (Margaret Atwood) ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1985 โน่นแล้ว ด้วยเรื่องราวของโลกยุคดิสโทเปียที่ผู้หญิงถูกลดรูปเหลือเป็นแค่ ‘เครื่องจักร’ เอาไว้ผลิตลูก และต้องเป็นสมบัติของผู้ชายถึงระดับที่ตั้งชื่อกันด้วยคำว่า Of คือเป็นของของใคร

ปีที่แล้ว (2017) เว็บไซต์ amazon.com ประกาศรายชื่อหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดโดยดูจากคินเดิลและออดิเบิลบุ๊คส์ พบว่าในด้านเรื่องแต่งหรือ Fiction นั้น Handmaid’s Tale เป็นหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดของปี

คำถามก็คือ – ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง?

 

แน่นอน แรงขับเคลื่อนของ Handmaid’s Tale น่าจะคือซีรีส์ทาง Hulu ที่มีเอลิซาเบธ มอส (Elisabeth Moss) มานำแสดง และประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ความสำเร็จนี้ไม่ได้อยู่ในแวดวงบันเทิงเท่านั้นนะครับ เพราะพลังแห่งวรรณกรรมและสื่อบันเทิง ได้ขยายขอบเขตเข้าไปสู่พรมแดนของการต่อสู้ในด้านการเมืองและสังคมด้วย

ภาพคุ้นตาที่ปรากฏในซีรีส์เรื่อง Handmaid’s Tale คือภาพผู้หญิงใส่ชุดคลุมสีแดงกับหมวกสีขาว พวกเธออยู่ในเมือง Gilead ที่ผู้หญิงถูกพรากสิทธิอย่างหนึ่งในจากตัว สิทธินั้นก็คือ Reproductive Rights หรือสิทธิในการเลือกมีลูกหรือไม่มีลูกตามใจของตัวเอง

เสื้อผ้าแบบนี้เองที่ถูกนำมาใช้เพื่อประท้วง เรียกร้อง และต่อต้านสิทธิสำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิง

นั่นคือสิทธิเรื่องการทำแท้ง

การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เรียกว่า Abortion-Rights Movements แต่มีอีกชื่อหนึ่งว่า Pro-Choice Movements หรือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะ ‘เลือก’ ได้ด้วยตัวเอง ว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก ซึ่งก็คือจะทำแท้งหรือไม่ทำแท้ง ซึ่งขบวนการ Pro-Choice ถูกโต้กลับโดยขบวนการที่เรียกว่า Pro-Life Movements คือเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้คุณค่ากับชีวิตมากกว่าการเลือก

ที่จริงแล้ว เฟมินิสต์เรียกร้องมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้วนะครับ ว่าการทำแท้งควรเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะผู้หญิงอยู่ในสถานภาพที่ต้อง ‘จำยอม’ มาตลอด แต่การต่อสู้เรื่องนี้กินเวลายาวนานนับสิบนับร้อยปี กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังต้องต่อสู้ถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่ โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีข้อยุติ

ด้วยเหตุนี้ ชุดเสื้อคลุมสีแดงใน Handmaid’s Tale และการถูกพราก Reproduction Rights ไป (ในนิยาย) จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของขบวนการ Pro-Choice แล้วไม่ใช่แค่ในอเมริกานะครับ แต่เกิดขึ้นแทบจะทุกหนทุกแห่งทั่วโลก

ที่แรกที่เสื้อคลุมของ Handmaid ถูกนำไปใช้ น่าจะเป็นในเท็กซัส เมื่อมีการประท้วงต่อต้านกฎหมายจำกัดการทำแท้งในปี 2017 ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮา เพราะ ‘ภาพ’ ที่ออกมาโดดเด่นสะดุดตามาก เนื่องจากชุดคลุมสีแดงนั้นมีนัยไปถึงเลือดและความเจ็บปวดด้วย

มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เอง เคยเขียนถึงขบวนการ Pro-Choice ในเรื่องการทำแท้งเอาไว้ว่า ไม่มีใครชอบการทำแท้งหรอก ต่อให้มันเป็นเรื่องปลอดภัยและถูกกฎหมายก็ตามที แต่กระนั้นก็ไม่มีใครอยากให้ผู้หญิงต้องตกเลือดจนตายอยู่บนพื้นห้องน้ำเนื่องจากการทำแท้งเถื่อนที่ผิดกฎหมายด้วยไม่ใช่หรือ แล้วหากเป็นเช่นนั้น – เราควรจะทำอะไรดี

ขบวนการเสื้อคลุมแดงของสาวรับใช้นี้แพร่ไปทั่วโลก นักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีในหลายแห่ง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการทำแท้ง ต่างนำเสื้อคลุมนี้มาเป็นสัญลักษณ์ ในมิสซูรี บัวโนสไอเรส ในโตรอนโต ในโครเอเชีย ในไอร์แลนด์ ในลอนดอน ในโปแลนด์ และที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่นในอิตาลี (ที่เป็นประเทศคาทอลิก) ซึ่งการทำแท้งถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายถ้าหากว่าอายุครรภ์ยังไม่เกิน 90 วัน แต่กระนั้น ผู้หญิงอิตาลีก็พบว่าแพทย์จำนวนมากปฏิเสธไม่ยอมทำแท้งให้ และจำนวนของการปฏิเสธก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น

เอลิซาเบธ มอส นักแสดงคนสำคัญของ Handmaid’s Tale บอกว่าเสื้อคลุมที่ว่านี้เป็นตัวแทนของเฟมินิสต์และสิทธิของผู้หญิงที่เหมาะสมมาก เพราะเมื่อเห็นปุ๊บก็รู้ได้ในทันทีเลยว่านี่คือการเรียกร้องอะไร และใครยืนอยู่ข้างไหน

คนที่ออกแบบชุดเสื้อคลุมนี้คือ อาน แครบทรี (Ane Crabtree) เธอบอกว่าเมื่อเห็นขบวนการต่อสู้นำชุดที่เธอออกแบบไปใส่แล้วเธอแทบน้ำตาไหล ที่จริงเธอไม่ได้ต่อสู้เพื่อผู้หญิงเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ชายทุกคน ผู้หญิงทุกคน คนทำงานทุกคน ผู้อพยพ คนที่มีสีผิวต่างๆ คนที่มีเพศแตกต่างกันไป มีปูมหลังทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน คนที่ตกเป็นเหยื่อ คนที่ต้องพบเผชิญกับความรุนแรง ถูกกดขี่ ฯลฯ เธอยืนหยัดอยู่ข้างคนเหล่านี้ ดังนั้นเมื่ออ่านหนังสือและออกแบบชุดออกมา ชุดของเธอจึงเข้มข้น เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เต็มไปด้วย Passion ในการทำให้ชุดนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้าน

สำหรับเธอ การนำชุดนี้ไปใช้จึงคือ Pure Human Spirit และไม่ใช่แค่ ‘ชุด’ สำหรับการแสดงเท่านั้น

สอดคล้องกับความเห็นของนักต่อสู้อีกคนหนึ่ง คือเอมิลี มอร์แกน (Emily Morgan) ซึ่งบอกว่าชุดนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ดีมาก เป็น ‘เครื่องมือ’ สำหรับการต่อสู้ที่เป็นประโยชน์ มีน้ำหนักในทางสัญลักษณ์ ที่สำคัญคือ หมวกทรงกว้าง (หรือ Bonnet) ยังช่วยปกปิดใบหน้าของผู้ประท้วงได้ด้วย (เผื่อในกรณีถูกกระทำจากรัฐ) ที่สำคัญก็คือ ชุดคลุมแบบนี้ไม่ได้จำกัดว่าผู้ใส่จะต้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย หรือต้องมีรูปร่างแบบไหน ภายใต้ชุดคลุมสีแดงจึงอาจเป็นใครก็ได้ที่มีเป้าหมายทางความคิดร่วมกัน

 

พูดได้ว่า นี่คือ ‘พลัง’ ทางวรรณกรรมและสื่อที่กลับมามีอำนาจในทางการเมืองอีกครั้ง

น่าสนใจว่า นักเคลื่อนไหวเรื่อง Pro-Choice ในเมืองไทย จะหยิบจับชุดคลุมสีแดงนี้มาใช้เพื่อเคลื่อนไหวบ้างหรือเปล่า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save