fbpx
ตามรอยทิวดอร์ที่แฮมพ์ตันคอร์ท อนุสรณ์แห่งเฮนรี่ที่ 8

ตามรอยทิวดอร์ที่แฮมพ์ตันคอร์ท อนุสรณ์แห่งเฮนรี่ที่ 8

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

Divorced, Beheaded, Died, Divorced, Beheaded, Survived

หย่า, ตัดหัว, ตาย, หย่า, ตัดหัว, รอดสบาย – เป็นคำคล้องจองที่กล่าวขานถึงพระมเหสีทั้ง 6 องค์ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ผู้ยืนยงในประวัติศาสตร์และบทละคร บทภาพยนตร์มายาวนานครึ่งสหัสวรรษ

แม้ว่าพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จะมีชื่อเสียงเลื่องลือฉาวโฉ่จากพระจริยวัตรเกี่ยวกับสตรี แต่ในรัชสมัยของพระองค์ก็เป็นยุคที่สร้างรากฐานของความเป็นชาติอังกฤษขึ้นมา พร้อมกับการแยกตัวออกจากศาสนจักรคาทอลิกที่โรม และความผันผวนทางการเมืองของภาคพื้นยุโรปซึ่งในที่สุดก็นำพาให้อังกฤษกลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

The Family of Henry VIII

ภายหลังสงครามดอกกุหลาบ สงครามกลางเมืองระหว่างวงศ์ยอร์ค กับวงศ์แลงคาสเตอร์ที่ทำให้เหล่าขุนนางแห่งแว่นแคว้นที่ทรงอำนาจภายในเขตแดนอังกฤษต่างล้มตายลงนับไม่ถ้วน จนในที่สุด เฮนรี่แห่งทิวดอร์ อ้างสิทธิในสายเลือดแลงคาสเตอร์ลำดับห่างไกลจากสายมารดา มาร์กาเร็ต โบฟอร์ต และสิทธิในสายเลือดของภรรยา เอลิซาเบธแห่งยอร์ค เข้าแย่งชิงบัลลังก์จากพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 จนสำเร็จ ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ก่อตั้งราชวงศ์ทิวดอร์ปกครองแผ่นดินอังกฤษสิ้นสุดสงครามกลางเมือง

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ประสูติ ณ พระราชวังพลาเซนเทียแห่งกรีนิช ก่อนจะรับสืบทอดตำแหน่งรัชทายาทพร้อมทั้งพระชายา เจ้าหญิงแคธรีนแห่งอารากอนจากพระเชษฐาที่พระวรกายอ่อนแอประชวรสิ้นพระชนม์ไปก่อน และขึ้นครองบัลลังก์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เมื่อ 17 ชันษา ครองแผ่นดินด้วยการดูแลของอำมาตย์ผู้ทรงอำนาจและความสามารถหลายคน โดยเฉพาะพระคาร์ดินัลวูลซีย์ ที่รักษาความมั่นคงของบัลลังก์พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ผู้เยาว์ไปพร้อมกับสร้างความมั่งคั่งของตนเอง วูลซีย์สร้างตำหนักที่พักของตัวเองใหญ่โตอลังการ เกือบจะเทียบเทียมหรือยิ่งกว่าพระราชวังของกษัตริย์ในลอนดอน และใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยในการจัดเลี้ยงต่างๆ

พระราชวังพลาเซนเทียแห่งกรีนิช

เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เจริญพระชันษา ได้รับยกย่องว่าทรงพระปรีชาสามารถทั้งความคิดการปกครองและพระพลานามัย รวมถึงพระอัธยาศัยชื่นชอบสตรี ก็คล้ายกับว่าจะทรงไม่พอพระทัยเหล่าเสนาอำมาตย์ที่เคยว่าราชการแทนพระองค์ต่างพระเนตรพระกรรณเมื่อทรงพระเยาว์เสียแล้ว ด้วยเหล่าอำมาตย์แต่ละคนฉกฉวยเอาผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ทรงถือว่าเป็นของพระองค์ไปมากมาย เมื่อนั้นก็ถึงคราวต้องกำจัดยึดอำนาจและทรัพย์สินกลับมาเป็นของพระองค์

เมื่อพระราชินีแคธรีนแห่งอารากอนไม่สามารถมีพระโอรสให้สมพระทัยได้ และคาร์ดินัลวูลซีย์ก็ไม่สามารถหาทางให้การสมรสเป็นโมฆะตามที่พระองค์ต้องการด้วยการร้องขอไปยังวาติกัน ปีแล้วปีเล่า ความอดทนในพระทัยของเฮนรี่ที่ 8 ก็น้อยลงทุกที และสิ้นสุดที่การจับกุมคาร์ดินัลวูลซีย์ด้วยข้อหากบฏ แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินคดีหรือสั่งประหารชีวิต คาร์ดินัลคู่พระทัยในอดีตก็อสัญกรรมก่อนด้วยโรคประจำตัว และก็เป็นโอกาสที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จะจัดการยึดทรัพย์ของวูลซีย์มาเพื่อสนองพระประสงค์ ทั้งด้านการใช้จ่ายส่วนพระองค์และการสงครามโดยเฉพาะ

พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท
พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท

พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ทอันเลื่องชื่อของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เดิมเป็นตำหนักของพระคาร์ดินัลวูลซีย์ นายกรัฐมนตรีและอาร์คบิชอปแห่งยอร์คผู้ยิ่งใหญ่ต้นรัชสมัย ก่อนที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จะปฏิวัติศาสนา ตัดขาดจากพระสันตะปาปา แยกศาสนจักรมาตั้งเป็นนิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ ยึดทรัพย์สินโบสถ์ทั่วทั้งอาณาจักร แล้วจึงทรงย้ายราชสำนักมาอยู่ที่พระราชวังนี้เนื่องจากกว้างขวางใหญ่โต สวยงามและอากาศดีกว่าในตัวกรุงลอนดอนที่แออัดแล้ว

เมื่อนั่งรถเมล์ออกมาจากกรุงลอนดอนจนถึงแฮมพ์ตันคอร์ท จะพบกับพื้นที่ทุ่งหญ้ากว้างขวางริมแม่น้ำเทมส์เขียวขจี และหอคอยหน้าทรงปราสาทอิฐสีแดงตั้งตระหง่านอยู่ หอคอยของพระราชวังนั้นจารึกแผ่นทองเหลืองไว้ด้วยพระนามของจักรพรรดิโรมันผู้เป็นมหาราชในอดีต เช่น ออกุสตุส ทราจัน เนอร์วา เฮเดรียน เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนความยิ่งใหญ่ของอังกฤษว่าเทียมเท่าโรมัน

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงออกว่าราชการในท้องพระโรงวังแฮมพ์ตันคอร์ท ท้องพระโรงปูพื้นไม้ มีช่องไฟประดับกระจกสีลายตราประจำตระกูล (Heraldic Arm) และรัฐบุรุษของอังกฤษล้อมรอบกระจกสีพระรูปของเฮนรี่ที่ 8 กลางท้องพระโรงเป็นโต๊ะไม้ยาว ประดับผนังสองข้างด้วยผืนผ้าปัก (Tapestry) ลายเรื่องในประวัติศาสตร์อังกฤษและไบเบิล สุดปลายท้องพระโรงเป็นราชบัลลังก์องค์เล็กตั้งคู่กันทั้งของกษัตริย์และราชินี

ท้องพระโรงในสมัยเฮนรี่ที่ 8 ได้รับการบูรณะตกแต่งสมบูรณ์
ท้องพระโรงในสมัยเฮนรี่ที่ 8 ได้รับการบูรณะตกแต่งสมบูรณ์

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ยังให้พระมเหสีมาประทับที่แฮมพ์ตันคอร์ทนี้ และเป็นที่อยู่พำนักของรัชทายาท แต่ชะตากรรมของมเหสีเทวีแต่ละพระองค์ก็จบลงไม่งดงามเสียเท่าไรนัก ทรงหย่ากับแคธรีนแห่งอารากอน ทรงจับกุมและสั่งประหารแอนน์ โบลีนโดยส่งไปกักขังและตัดหัวที่หอคอยลอนดอน เจน ซีย์มัวร์ สิ้นพระชนม์หลังมีประสูติกาลเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แคธรีน โฮเวิร์ด ถูกจับในวังแฮมพ์ตันและส่งไปหอคอยลอนดอนเพื่อประหารอีกคน ทรงประกาศโมฆะการสมรสกับแอนน์แห่งคลีฟ และสิ้นสุดที่แคธรีน พารร์ ที่ได้อยู่เลี้ยงดูพระโอรสธิดาที่เหลือทุกพระองค์ในพระราชวังนี้ จนเป็นคำคล้องจองท่องกันในหมู่ชาวอังกฤษว่า

King Henry VIII,

To six wives he was wedded.

One died, one survived,

Two divorced, two beheaded.

พระเจ้าเฮนรี่ที่แปด

หกมเหสีเสกสมรส

หนึ่งตาย หนึ่งรอดสบาย

สองหย่า สองหัวหาย

ในแฮมพ์ตันคอร์ทส่วนหลัง ยังเป็นที่ตั้งของหอพระหลวง (Chapel Royal) ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา โดยเมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงประกาศแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาธอลิก พระองค์ทรงกลายเป็นประมุขของคริสตจักรอังกฤษและเป็นองค์ผู้พิทักษ์ศรัทธา (Defender of the Faith) ไปพร้อมกัน แม้ว่าพระองค์จะทรงลือชื่อในเรื่องเจ้าชู้และมากอารมณ์ทางเพศ แต่ก็ทรงปฏิบัติกรณียกิจภาวนาทางศาสนาในหอพระหลวงนี้อย่างเคร่งครัดเป็นประจำ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่พระองค์อภิเษกสมรสกับแคธรีน โฮเวิร์ด และปัจจุบันยังเป็นที่เก็บรักษามงกุฎทิวดอร์ อันสร้างขึ้นใหม่จำลองจากภาพวาดในยุคศตวรรษที่ 16 และยังใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาของพระราชวงศ์อังกฤษรวมถึงบุคลากรที่ประจำอยู่ในพระราชวัง

หอพระหลวง ที่ภาวนาของเฮนรี่ที่ 8
หอพระหลวง ที่ภาวนาของเฮนรี่ที่ 8

ด้านซ้ายของอาคารพระราชวัง เป็นที่ตั้งของห้องสูทกรรมหรือครัวหลวง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงครัวโบราณที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษซึ่งหลงเหลือมาจนยุคปัจจุบัน โดยมีพื้นที่กว้างขวางและมีเตาใหญ่หลายประเภท มีประตูสำหรับส่งวัตถุดิบด้านข้างแยกออกจากประตูพระราชวัง ที่พื้นที่อยู่อาศัยของข้ารับใช้หนาแน่น และปัจจุบันก็ได้นำมาปรับปรุงเป็นร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมวัง

ครัวหลวง
ครัวหลวง

หลังจากพ้นยุคทิวดอร์และสจ๊วต รวมถึงการถูกทำลายบางส่วนในยุคสงครามกลางเมืองโดยครอมเวลล์ พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ทกลับมาเป็นที่ตั้งราชสำนักอีกครั้งในยุคพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งออเรนจ์และพระราชินีแมรี่ที่ 2 หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ซึ่งปรับเปลี่ยนวังยุคทิวดอร์ให้เป็นศิลปะแบบบาโรค เพื่อแข่งขันกับวังแวร์ซายส์อันเลื่องลือในยุคเดียวกัน โดยใช้ให้เซอร์ คริสโตเฟอร์ เวรน วิศวกรและสถาปนิกชั้นนำแห่งยุคมาออกแบบก่อสร้างต่อเติมปีกหนึ่งของวังด้านขวา มีการจัดสวนแบบอังกฤษในฝั่งที่ติดกับแม่น้ำเทมส์ สร้างห้องเสวยพระกระยาหารริมน้ำ และจัดทางวงกตไม้ดัดที่เลื่องชื่อมาจนถึงปัจจุบัน แต่ราชสำนักแฮมพ์ตันก็สิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 และพระราชินีชาร์ล็อตต์ทรงย้ายครอบครัวไปประทับยังพระราชวังคิวที่สมถะและอบอุ่นกว่าวังแฮมพ์ตันที่ใหญ่โตหรูหราและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์โชกเลือด

สวนขวาของแฮมพ์ตันคอร์ท ริมแม่น้ำเทมส์
สวนขวาของแฮมพ์ตันคอร์ท ริมแม่น้ำเทมส์

ปัจจุบันพระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท อยู่ในความดูแลขององค์กร Historic Royal Palace Trust ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่ได้รับเงินจากทั้งรัฐบาลหรือราชวงศ์ ดูแลรักษาและปรับปรุงพระราชวังให้อยู่ในสภาพดี รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ ซึ่งมีอาสาสมัครเข้าร่วม และจ้างงานผู้สูงอายุที่รักประวัติศาสตร์มานำนักท่องเที่ยวเข้าชม รวมถึงการเป็นที่แสดงคอนเสิร์ตและงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย โดยแฮมพ์ตันคอร์ทเป็น 1 ใน 6 พระราชวังที่อยู่ในสังกัดขององค์กรแห่งนี้ อันได้แก่ หอคอยแห่งลอนดอน, พระราชวังเคนซิงตัน, พระราชวังคิว, ปราสาทฮิลส์โบโรห์ และแบงเคว็ตติง เฮาส์ อันเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังแห่งไวท์ฮอลล์ โดยค่าเข้าชมเฉพาะพระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ทอยู่ที่ 21.30 ปอนด์ และสามารถสมัครสมาชิกรายปี ซึ่งจะเข้าชมพระราชวังทุกแห่งในสังกัดด้วยราคา 53 ปอนด์

ทุกวันจะมีนักแสดงที่สวมบทบาทบุคคลในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหล่าราชินีของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 คอยเดินพูดคุยกับนักท่องเที่ยวในรูปแบบสมจริงทั้งบทบาท ท่าทาง และความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคทิวดอร์ รวมถึงมีขายของที่ระลึกและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และทิวดอร์หลากหลายน่าซื้อหา (หากเป็นสมาชิก HRP ลด 10%)

นักแสดงเป็นราชินีแคธรีนแห่งอารากอน กำลังสั่งสอนเด็กที่มาเที่ยวชมว่าให้ขยันเรียน อย่าเป็นเหมือนพระสวามีของพระนาง
นักแสดงเป็นราชินีแคธรีนแห่งอารากอน กำลังสั่งสอนเด็กที่มาเที่ยวชมว่าให้ขยันเรียน อย่าเป็นเหมือนพระสวามีของพระนาง

การได้มาเยี่ยมชมพระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท จึงเป็นเหมือนการย้อนสู่สมัยเริ่มต้นแห่งความรุ่งโรจน์ของอังกฤษในยุคทิวดอร์ ราชสำนักที่งดงามแต่อื้อฉาว และเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันนิยายถ่ายทอดมาสู่โลกแห่งความจริง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save