fbpx

คำถามถึงประเทศไทย จาก ‘Hakamada’ แพะผู้ต้องโทษประหารนานที่สุดในโลก

ปรัชญพล เลิศวิชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จากสถิติของ Amnesty International ในพ.ศ. 2562 ประเทศไทยตัดสินให้นักโทษได้รับโทษประหารชีวิตมากกว่า 16 คน และมีนักโทษประหารสะสมในเรือนจำกว่า 332 ชีวิต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในเพียง 53 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่

แม้สังคมจะมองว่า ‘โทษประหาร’ เป็นหนึ่งในวิธีช่วยลดอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม แต่ก็มีคำถามจากหลายภาคส่วนตามมาว่า จริงหรือที่บทลงโทษนี้จะช่วยลดการเกิดอาชญากรรม และจริงหรือที่การประหารชีวิตจะช่วยให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคม

ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลที่ผ่านมา (10 ต.ค.)  คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ และ Documentary Club จัดฉายภาพยนตร์ Hakamada และการเสวนา โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด เพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบร่วมกันว่า ‘โทษประหารชีวิต’ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคปัจจุบัน

 

Hakamada: แพะผู้ถูกจองจำด้วยโทษประหารกว่า 47 ปี

 

Hakamada

 

‘Hakamada’ เป็นภาพยนตร์สารคดีในปี 2019 จาก Louis Dai ผู้กำกับชาวออสเตรเลียที่ฉายภาพการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของ อิวาโอะ ฮากามาดะ (Iwao Hakamada) ชาวญี่ปุ่นผู้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่มีช่องโหว่ ซึ่งทำให้เขาถูกจองจำด้วยโทษประหารยาวนานกว่า 47 ปี และกลายเป็นนักโทษที่ถูกจองจำในแดนประหารยาวนานที่สุดในโลก จากการใช้ชีวิตในแดนประหารกว่า 33 ปี

ในปี 1966 อิวาโอะ ฮากามาดะ พนักงานในโรงงานมิโซะแห่งหนึ่งในเมืองชิซุโอกะ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลังเกิดเหตุฆาตกรรมผู้จัดการบริษัทดังกล่าวพร้อมภรรยาและลูกสองคนอย่างโหดเหี้ยม แม้ฮากามาดะจะยืนยันความบริสุทธิ์ของตนในช่วงแรกของการสอบสวนโดยตำรวจ แต่หลังจากถูกตำรวจทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ กินเวลายาวนานกว่า 23 วัน วันละกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก และไม่ได้รับอนุญาตให้กินข้าว ดื่มน้ำ หรือแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ ด้วยความกดดันเหล่านี้ทำให้ฮากามาดะตัดสินใจเลือกสารภาพผิดและถูกจองจำในคุกในเวลาต่อมา

นอกจากฮากามาดะจะเป็นเหยื่อจากการถูกไต่สวนอย่างผิดหลักสากลแล้ว เขายังตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่นที่มีช่องโหว่ เช่น การที่ศาลยอมรับหลักฐานจากอัยการเพื่อใช้ในการเอาผิด คือเสื้อเปื้อนเลือดที่ตกในบ่อมิโซะ ทั้งที่เป็นหลักฐานที่พบหลังเหตุเกิดแล้ว 1 ปี และเอกสารคำรับสารภาพปลอมจากตำรวจกว่า 44 ชิ้น ที่ฮากามาดะกล่าวว่าไม่ได้เป็นคำสารภาพที่แท้จริงจากเขา

ด้วยเหตุนี้ ฮิเดโกะ ฮากามาดะ (Hideko Hakamada) น้องสาวของผู้ต้องหา จึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับพี่ชายของเธอที่ถูกจองจำ ภาพยนตร์ฉายให้เห็นความยากลำบากที่เธอต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความยากในการรื้อฟื้นคดี หรือการรับมือจากเสียงติฉินนินทาจากคนรอบข้างว่าพี่ชายของเธอคือฆาตกร

มากไปกว่านั้น ภาพยนตร์ยังตั้งคำถามกับบทลงโทษประหารชีวิตที่ปิดโอกาสการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และฉายภาพความโหดร้ายของการประหารชีวิตในญี่ปุ่นที่นักโทษจะถูกแขวนคอ ปล่อยให้ห้อยลงบนปล่องโล่ง และถูกเชือกรัดจนเสียชีวิต นอกจากจะเป็นความโหดร้ายต่อนักโทษที่โดนประหารแล้ว ยังเป็นวิธีการที่บั่นทอนจิตใจนักโทษที่รอการประหารชีวิตอีกด้วย และ ฮากามาดะ ก็เป็นหนึ่งในนักโทษเหล่านั้นที่สภาพจิตใจถูกบั่นทอนจนแตกสลาย

หลังจากความสำเร็จในการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 40 ปี เพื่อรื้อฟื้นคดี ฮากามาดะก็ได้รับการปล่อยตัว เมื่อมีการพิสูจน์ว่าเลือดบนเสื้อที่ใช้เป็นหลักฐานเอาผิดนั้นไม่ตรงกับดีเอ็นเอของเขา

 

อิวาโอะ ฮากามาดะ และ ฮิเดโกะ ฮากามาดะ
อิวาโอะ ฮากามาดะ และ ฮิเดโกะ ฮากามาดะ ขณะได้รับการปล่อยตัว (ภาพจาก Amnesty International)

 

แม้ว่าภาพฮากามาดะที่ค่อยๆ เดินออกจากเรือนจำจะเป็นภาพที่น่ายินดี แต่ทว่าเมื่อภาพยนตร์ฉายภาพฮากามาดะเดินวนไปวนมาในบ้านพร้อมกับเอ่ยประโยคแปลกประหลาด ก็ทำให้อดเศร้าใจไม่ได้ เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมและความโหดร้ายของโทษประหารได้ทำลายสภาพจิตใจคนคนหนึ่งให้แหลกเหลว จนยากที่จะกู้คืนกลับเป็นฮากามาดะคนเดิม

 

โทษประหาร ยังจำเป็นอยู่ไหมในบริบทประเทศไทย

 

ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง
ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง (ภาพจาก คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย)

 

เมื่อภาพยนตร์ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความโหดร้ายของโทษประหารในประเทศญี่ปุ่นแล้ว หากมองกลับมาประเทศไทยที่มีบริบททางสังคมต่างกัน ‘โทษประหาร’ ยังเป็นบทลงโทษที่จำเป็นอยู่หรือไม่ ในการเสวนา ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสุพรรณบุรีกล่าวว่า ประเทศไทยควรยุติโทษประหาร เพราะกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดการตัดสินที่ผิดพลาดได้ง่าย และโทษประหารก็ทำให้นักโทษที่อาจเป็นผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งหมดโอกาสในการพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน พร้อมกันนี้ยังพูดว่า เมื่อเปรียบเทียบความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทยกับญี่ปุ่นอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ ประเทศไทยมีปัญหาที่รุนแรงกว่ามาก

“ในประเทศญี่ปุ่นเรายังเห็นเขาพยายามช่วยให้คนคนหนึ่งหลุดพ้นจากโทษประหารชีวิต แต่ในประเทศไทย ประสบการณ์ที่ผมเคยเจอคือ ความเลวร้ายไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้เพราะกระบวนการยุติธรรมของเราไม่ได้มาตรฐาน ในยุโรปหรืออเมริกาเมื่อมีการจับกุมจะต้องมีการแจ้งจับ เพื่อให้หน่วยงานอื่นคืออัยการไปตรวจสอบการจับกุม แต่ประเทศไทยจับคนก่อน แจ้งข้อหาก่อน เอาไปขังก่อน แล้วค่อยส่งสำนวนให้อัยการ พอไปขัง คนคนนั้นก็หมดสิทธิในการสู้คดีอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ ดร.น้ำแท้ ยังชี้ให้เห็นช่องโหว่เพิ่มเติมในกระบวนการยุติธรรม เช่น การขาดการถ่วงดุลการตรวจทานพยานหลักฐาน และเมื่อมีกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวแล้ว การใช้โทษประหารชีวิตจึงยิ่งตอกฝาโลงไม่ให้ผู้บริสุทธิ์สามารถพิสูจน์ตนเองได้อีก

“ในประเทศไทย มีทั้งการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อกล่าวหาคนบริสุทธิ์ และมีทั้งทำลายพยานหลักฐานจริงเพื่อช่วยผู้มีอิทธิพล ดังนั้น หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวในปัจจุบัน คือ ความจริงถูกบิดเบือนทำลาย ลองคิดดูว่าในสภาพกระบวนการยุติธรรมแบบที่ง่ายต่อการยัดข้อหาให้คนบริสุทธิ์ เราก็ยิ่งตอกตะปูปิดฝาลงไปอีกด้วยการเอาโทษประหารชีวิตมาใช้ เมื่อเอาโทษประหารชีวิตมาใช้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็แก้ไขอะไรไม่ได้เลย”

แต่ถ้านักโทษมีความบริสุทธิ์จริง ทำไมไม่รื้อฟื้นคดีขึ้นมาตัดสินใหม่?

 

สัณหวรรณ ศรีสด
สัณหวรรณ ศรีสด (ภาพจาก คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย)

 

สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว การขุดคดีมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเลยในกระบวนการยุติธรรมไทย

“ในไทย เราผลักกระบวนการทั้งหมดไปให้ผู้ที่ต้องการรื้อฟื้นคดีใหม่เป็นผู้ต้องขวนขวายพยานหลักฐานใหม่เองทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ศาลต้องการพยานหลักฐานที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญระดับหนึ่งมายืนยัน และคนทั่วไปอย่างเรายากมากที่จะหาใครมาช่วยได้ ดังนั้นน่าจะมีการสังคายนาว่าจะทำอย่างไรให้กลไกนี้มีประสิทธิผล”

พร้อมกันนี้ สัณหวรรณยังเสนอว่า อีกตัวแปรที่ทำให้หลายคนเลือกจะไม่รื้อฟื้นคดีใหม่ คือการมีอีกทางออก อย่าง ‘การอภัยโทษ’ ซึ่งส่งผลให้คนบริสุทธิ์เลือกยอมรับสารภาพแทนการสู้คดี โดยเฉพาะเมื่อปลายทางของคดีอาจเป็นโทษประหารชีวิต

 

พุทธศาสนาเปิดโอกาสให้คนกลับตัว

 

พระเทพปริยัติมุนี
พระเทพปริยัติมุนี (ภาพจาก คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย)

 

พระเทพปริยัติมุนี เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ได้ร่วมเสนอมุมมองของพุทธศาสนาต่อโทษประหารว่า พุทธศาสนาไม่ได้มีแนวคิดเอาคนทำผิดออกจากสังคม แต่ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้คนทำผิดได้กลับใจ และยังยกตัวอย่างถึงบทลงโทษที่รุนแรงในศาสนาพุทธอย่างการตัดพระสงฆ์ออกจากเพศฆราวาสตลอดชีวิต ที่ถึงแม้จะรุนแรงเด็ดขาด แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกในฐานะฆราวาสต่อไปได้

“การที่พระต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุ หมดเงื่อนไขความเป็นพระในชาตินี้ มองผิวเผินก็คือการลงโทษประหารชีวิต แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้ง การลงโทษแบบนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตัดลมหายใจ แต่ตัดความเป็นเพศบรรพชิตและสามารถไปใช้ชีวิตในเพศคฤหัสถ์กลับเนื้อกลับตัวทำความดีอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย ดังนั้นในพุทธศาสนามีการลงโทษเด็ดขาดก็จริง แต่ก็เปิดโอกาสให้ได้สำนึกเช่นกัน”

 

ดอน ลินเดอร์
ดอน ลินเดอร์ (ภาพจาก คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย)

 

ด้าน ดอน ลินเดอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องเพชฌฆาต (The Last Executioner) ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเชาวเรศน์ จารุบุณย์ เพชฌฆาตคนสุดท้ายของประเทศไทย เสนอมุมมองที่เพชฌฆาตคนสุดท้ายมีต่อการทำหน้าที่ประหารชีวิตว่า ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยถามว่าเชาวเรศน์คิดเห็นกับโทษประหารอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้โทษประหาร จากการเดินสายออกกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการเกิดอาชญากรรมภายหลังจากเขาเกษียณราชการแล้ว

 

โทษประหารไม่เกิดประโยชน์กับใครไม่ป้องกันอาชญากรรม

 

“ลองเป็นญาติคุณโดนทำรุนแรงบ้างสิ คุณยังอยากให้ไม่ประหารหรือ” เป็นประโยคที่นักรณรงค์ยุติโทษประหารต้องเจออยู่บ่อยครั้งเมื่อสังคมถามว่าเหยื่ออาชญากรรมรุนแรงจะได้รับความเป็นธรรมอย่างไรหากบทลงโทษประหารชีวิตถูกยุติลง ในประเด็นนี้ ดร.น้ำแท้ ให้ความเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วความตายของอาชญากรก็ไม่ได้มีประโยชน์กับใคร และสังคมควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม แทนที่จะผลักภาระให้กระบวนการยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว

“ถ้าถามว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ผมมองว่าโทษประหารชีวิตเป็นปลายทางว่าเราจะจัดการกับผู้กระทำผิดอย่างไร แต่ต้นทางคือจะทำอย่างไรไม่ให้เขากระทำผิด การป้องกันไม่ให้อาชญากรรมเกิดขึ้น จะโยนภาระทั้งหมดให้กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ เพราะว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต้นทางมาจากทั้งความกดดัน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ล้วนเป็นต้นทางของอาชญากรรมทั้งสิ้น ผมเชื่อว่าความตายของอาชญากรไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร ถึงแม้จะมีโทษประหารชีวิต นักฆ่าก็ไม่ได้มีความสุข นักโทษที่รู้ตัวว่าจะโดนประหารชีวิตก็ไม่มีความสุข แล้วถามว่าถ้าเขาถูกประหารไปแล้ว ครอบครัวของเหยื่อจะมีความสุขจริงๆ ไหม เพราะความรู้สึกสาสมคือความผูกพยาบาท”

“เราไม่ได้อยากให้ใครตายตามใคร เราต้องการสังคมที่สงบสุข แต่เราไปโยนความผิดให้โทษประหารชีวิตว่าคุณต้องรับผิดชอบความไม่สงบสุขของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น อาชญากรตัวจริงที่ทำให้อาชญากรรมไม่ลดลงเลยในประเทศไทยคือกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว”

 

ปิยนุช โคตรสาร
ปิยนุช โคตรสาร (ภาพจาก คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย)

 

พร้อมกันนี้ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังเสนอเพิ่มเติมว่า โทษประหารเป็นการสะท้อนว่าสังคมไม่มั่นใจในความปลอดภัย แต่ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบของการลดอาชญากรรม

“โทษประหารทำให้เห็นว่า สังคมไม่มีความมั่นใจว่าใครจะช่วยปกป้องคุ้มครองได้ เราก็ต้องถามกลับว่า ใครที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยไม่ให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น หรืออะไรเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องเหล่านี้ และขณะเกิดอาชญากรรม ผู้กระทำผิดเขาไม่ได้นึกว่าไม่ทำดีกว่าเดี๋ยวจะโดนโทษประหาร ถ้าเทียบดูจากสถิติหรือการศึกษาเทียบฮ่องกงกับสิงคโปร์ซึ่งมีขนาดประชากรพอๆ กัน ในขณะที่สิงคโปร์มีโทษประหาร ฮ่องกงไม่มี แต่จำนวนอัตราของอาชญากรรมรุนแรงก็มีเท่าๆ กัน วัดไม่ได้ว่าถ้ามีโทษประหารแล้วจะมีจำนวนอาชญากรรมลดลง เราต้องมาตั้งคำถามว่าจะมีกระบวนการอย่างไรไม่ให้เขากลับมาทำผิด ต้องมองให้รอบด้าน”

ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย “ขอยกคำพูดของญาติของครอบครัวหนึ่งที่โดนข่มขืนแล้วฆ่า เขาพูดว่าการแก้แค้นไม่ใช่คำตอบ คำตอบที่แท้จริงคือการลดความรุนแรง ไม่ใช่การก่อให้เกิดการตายมากขึ้น”

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save