fbpx
Lesson Learnt : ไฮเล เซลาสซี จอมจักรพรรดิกู้ชาติและความล่มสลายของราชวงศ์เอธิโอเปีย

Lesson Learnt : ไฮเล เซลาสซี จอมจักรพรรดิกู้ชาติและความล่มสลายของราชวงศ์เอธิโอเปีย

เอธิโอเปียเป็นประเทศที่มีภาพจำของชาวโลกว่า เป็นประเทศที่แห้งแล้ง อดอยาก มีอีแร้งคอยจ้องจิกกินเด็กผอมพุงโรเหลือแต่กระดูก แต่หากย้อนดูตามประวัติศาสตร์ เอธิโอเปียเคยเป็นชาติที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่ และบัดนี้ก็กำลังกลับมามีบทบาทมากมายอีกครั้ง แต่ภาพจำนั้นมาจากไหน เราอาจศึกษาได้ผ่านพระราชประวัติของไฮเล เซลาสซี จอมจักรพรรดิแห่งเอธิโอเปีย เชื้อสายราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกยิ่งกว่าญี่ปุ่นที่ล่มสลายไป

 

 

ทุกประเทศที่รอดพ้นการเป็นอาณานิคมของตะวันตกในยุคจักรวรรดินิยม จะมีมหาราชผู้ปฏิวัติชาติให้ทันสมัย ไทยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ญี่ปุ่นมีสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ และเอธิโอเปียซึ่งเป็นประเทศเก่าแก่เพียงประเทศเดียวในทวีปแอฟริกา ที่รักษาความเป็นเอกราชมาได้ตลอดยุค ก็มีสมเด็จพระจักรพรรดิไฮเล เซลาสซีที่ 1 แห่งราชวงศ์โซโลมอน

ดินแดนอบิสซีเนีย ได้รับสมญานามว่าเป็นดินแดนแห่งน้ำนมและน้ำผึ้งมาตั้งแต่ครั้งพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ด้วยสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์และต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ในทางโบราณคดีขุดพบซากเผ่าพันธุ์ต้นตระกูลของมนุษย์ คือออสตราโลพิเธคัส แอฟริกานุส “ลูซี” ซึ่งเป็นลิงที่ยืนตัวตรงและใช้เครื่องมือได้ที่ดินแดนแห่งนี้

 

 

ศาสนายิวและคริสต์แผ่ขยายเข้ามาถึงอบิสซีเนีย และกษัตริย์ได้รับคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ ว่ากันว่าที่นครอัคซูม มหาวิหารได้ประดิษฐานหีบพันธสัญญา (Ark of Covenant) อยู่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และราชวงศ์เอธิโอเปียก็ได้สืบทอดการปกครองของราชวงศ์โซโลมอนมาอย่างไม่ขาดสาย แม้จะย้ายเมืองหลวงไปมาหลายครั้ง จากอัคซูม มายังลาลิเบลา มียุคทองหลายครั้งในสมัยของพระเจ้าลาลิเบลา (Lalibela) และพระเจ้าซารายากอบ (Zara Yaqob) จนกระทั่งติดต่อกับทวีปยุโรปได้ในฐานะกษัตริย์คริสเตียนที่เท่าเทียมกัน โดยการช่วยเหลือชาวมุสลิมในยุคที่ชาวมุสลิมถูกไล่ล่าอพยพ ทำให้องค์นบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวไว้ในหะดิษว่า “ห้ามผู้ใดรุกรานข่มเหงดินแดนอบิสซีเนีย เพราะเป็นดินแดนที่ช่วยเหลือผู้ศรัทธาไว้ในยามถูกข่มเหง”

ในศตวรรษที่ 16 เกิดสงครามอบิสซีเนีย-อาดัล กับรัฐสุลต่านอาดัล ทำให้ราชวงศ์โซโลมอนเสื่อมลงอย่างมาก แม้จะไม่พ่ายแพ้แต่ก็ทำให้ชนเผ่าโอโรโมทางใต้ รุกรานดินแดนของอาณาจักรเข้ามา และกองทัพของอบิสซีเนียก็อ่อนแอลง จนต้องย้ายเมืองหลวงมาที่กอนดาร์ สร้างปราสาทเพื่อป้องกันการรุกรานของชนเผ่ารอบข้างและรัฐสุลต่านมุสลิม แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว กลายเป็นอาณาจักรลับแลที่ยากเข้าถึง

เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 เกิดเหตุการณ์ The Scramble for Africa มหาอำนาจยุโรปพากันยกกองทัพมาหั่นแผ่นดินแอฟริกาเป็นเสี่ยงๆ แย่งชิงทรัพยากร สมบัติ และค้าทาส ตั้งอาณานิคมของตนขึ้น เอธิโอเปียเป็นหนึ่งในสองชาติที่ยังดำรงเอกราชไว้ได้ (อีกชาติคือไลบีเรีย ประเทศใหม่ที่อเมริกาส่งทาสซึ่งได้รับอิสรภาพแล้วมาก่อตั้งขึ้น) ฝ่ายอิตาลีที่เพิ่งรวมชาติสำเร็จมองหาดินแดนที่จะแย่งชิงและสร้างความเป็นใหญ่ จึงมองมาที่อบิสซีเนีย ซึ่งอยู่ติดกับเอริเทรียอันเป็นอาณานิคมของอิตาลีเอง

อิตาลีพ่ายศึกครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้าเมเนลิกที่ 2 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในศึกแห่งอัดวา (Battle of Adwa) ในปี 1896 รับประกันเอกราชของอบิสซีเนีย ในชื่อเอธิโอเปียเป็นครั้งแรก

อิตาลีนั้นยังไม่ยอมแพ้ จ้องมองเอธิโอเปียด้วยความแค้นและหวังจะยึดครองให้เป็นของตนเองอยู่ตลอด

ในระหว่างนั้น มหาจักรพรรดิที่จะเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์โซโลมอนก็ถือกำเนิดขึ้น

ตาฟารี มาคอนเนน (Tafari Makonnen) คือพระนามเดิมของพระเจ้าไฮเล เซลาสซี เป็นเชื้อสายของทั้งเผ่าอัมฮารา และเผ่าโอโรโม พระบิดาทรงเป็นข้าหลวงผู้ครองแคว้นฮาราร์ อันเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ของกองทัพเอธิโอเปียในศึกอัดวา เป็นพระนัดดาทางสายมารดาของพระเจ้าเมเนลิกที่ 2 ได้รับการศึกษาจากบาทหลวงนิกายคาปูชิน และแพทย์ชาวฝรั่งเศสจากกัวดาลูป

เมื่อเจริญวัย ตาฟารีได้รับตำแหน่งองครักษ์เดจาซเม็ท (Dejazmet เทียบเท่าเคาท์) และได้เป็นข้าหลวงผู้ครองแคว้นซิดาโมตามลำดับ เมื่อบิดาสิ้นชีวิต ตาฟารีจึงรับสืบทอดตำแหน่งข้าหลวงแห่งฮาราร์แทน ในนาม ราส ตาฟารี (Ras Tafari)

ราส ตาฟารี ได้เข้ามามีบทบาทในราชสำนักเอธิโอเปีย ด้วยความฉลาดเฉลียวและเชี่ยวชาญทั้งในทางบริหารรัฐกิจ และการเมืองภายในราชสำนัก ปี 1916 พระเจ้าอิยาซูที่ 5 (Iyasu V) มีพระทัยเข้าข้างศาสนาอิสลามจนทำให้ชาวเอธิโอเปียคริสเตียนเริ่มไม่พอใจ เหล่าขุนนางซึ่งนำโดยราส ตาฟารี จึงรวมกันลงมติปลดพระเจ้าอิยาซูออกจากราชบัลลังก์ และให้พระนางซิวดิตู (Empress Zewditu) ขึ้นครองตำแหน่งจักรพรรดินีแทน และมีราส ตาฟารี เป็นผู้สำเร็จราชการใหญ่

ปี 1924 ราส ตาฟารี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จักรพรรดินีซิวดิตู ประกาศเลิกทาสเป็นครั้งแรก นำเอธิโอเปียเข้าร่วมสันนิบาตชาติ (League of nations) ออกประพาสดินแดนเลแวนต์ และประเทศต่างๆ ในยุโรป เพื่อเจรจาความเมืองหาหลักประกันการเป็นเอกราชสมบูรณ์ของเอธิโอเปีย เข้าสักการะแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลม เข้าเฝ้าพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และได้รับมหามงกุฏแห่งอบิสซีเนียซึ่งถูกโรเบิร์ต เนเปียร์ นักสำรวจชาวอังกฤษขโมยไปนานกว่า 60 ปีคืน ราส ตาฟารี เป็นที่รู้จักของโลก และเป็นที่นับถือของชาวเอธิโอเปียอย่างยิ่งเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศ

ความนิยมของราส ตาฟารี กดดันความมั่นคงในราชบัลลังก์ของจักรพรรดินีซิวดิตูอย่างยิ่ง ทำให้ในปี 1930 กุกซา เวลเล ข้าหลวงแห่งกอนดาร์ สวามีของพระจักรพรรดินี วางแผนยกทัพมาโค่นล้มราส ตาฟารี ด้วยข้อหาว่าราส ตาฟารี ได้ทรยศต่อชาติด้วยการเจรจาสันติภาพ 20 ปีกับอิตาลีศัตรูเก่า แต่แผนนี้ก็พังทลายลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพ พระจักรพรรดินีซิวดิตูทราบถึงความพ่ายแพ้และการเสียชีวิตของสวามี ก็ตรอมพระทัยสวรรคตลงในปีเดียวกัน

ด้วยมติของขุนนางและมหาชน จึงยกราส ตาฟารี ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเอธิโอเปีย เฉลิมพระนาม ไฮเล เซลาสซี ที่ 1 (Haile Selassie I)

ซึ่งพระนามไฮเล เซลาสซี หมายถึง “ตรีเอกานุภาพ” (Power of Trinity)

 

 

ในรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าไฮเล เซลาสซี ได้ปฏิรูปอุตสาหกรรม สร้างชาติให้ทันสมัย พระราชทานพระราชวังให้เป็นมหาวิทยาลัย ร่างรัฐธรรมนูญแห่งเอธิโอเปีย ให้มีสภาขุนนางและสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อ “ประชาชนพร้อมที่จะเลือกตั้งด้วยตนเอง” ในปี 1931 และควบรวมเอารัฐสุลต่านแห่งจิมมาเข้ามาอยู่ในเอธิโอเปีย

ปี 1932 รัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินี มองหาศัตรูที่จะแก้แค้นและสร้างอำนาจใหม่ให้มั่นคง เป้าหมายหลักคือเอธิโอเปีย ดินแดนที่ดูล้าหลัง แต่กลับทำให้อิตาลีเสียหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์

กองทัพฟาสซิสต์อิตาลี เริ่มบุกแคว้นโอกาเดนของเอธิโอเปียในปี 1934 กองทัพอิตาลีรุกอย่างต่อเนื่อง ด้วยอำนาจทหารและรถถัง เครื่องบินที่เหนือกว่า ฟาสซิสต์อิตาลีทำลายกองทัพเอธิโอเปียจนราบคาบ พระเจ้าไฮเล เซลาสซีที่นำทัพด้วยพระองค์เอง ต้องหนีพ่ายและหลบไปภาวนาต่อโบสถ์หินศักดิ์สิทธิ์แห่งลาลิเบลา ก่อนที่จะลี้ภัยไปยังอังกฤษในปี 1936

พระเจ้าไฮเล เซลาสซีที่เชื่อในการร่วมมือกันของประชาชาติโลก เสด็จเข้าอภิปรายในสภาแห่งสันนิบาตชาติ กล่าวประณามรัฐบาลฟาสซิสต์อิตาลีที่เข้ายึดครองเอธิโอเปียอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้นานาชาติคว่ำบาตรอิตาลี และคืนเอกราชให้เอธิโอเปีย แต่ก็ไม่เป็นผลจนกระทั่งฟาสซิสต์อิตาลีเข้าร่วมกับนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างนั้น พระองค์ทรงออกเดินทางปราศรัยระดมทุนกู้เอกราช และขอความร่วมมือจากองค์กรและชาติต่างๆ ให้ช่วยกอบกู้เอธิโอเปีย

18 มกราคม 1941 พระเจ้าไฮเล เซลาสซี ทรงเล็ดลอดเข้าไปเอธิโอเปียผ่านทางซูดานด้วยพระองค์เอง ชูธงราชสีห์แห่งจูดาห์เรียกระดมทัพกอบกู้แผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความช่วยเหลือด้านอาวุธจากอังกฤษ และเรียกร้องให้ชนเผ่าโอโรโมอันเป็นนักรบผู้กล้า และเป็นญาติทางฝ่ายพระบิดา ร่วมมือกันขับไล่ฟาสซิสต์อิตาลีให้พ้นจากแผ่นดินเอธิโอเปีย

ในเวลา 5 เดือน วันที่ 5 เมษายน 1941 กองทัพผสมที่นำโดยพระจักรพรรดิ กลับเข้ายึดกรุงแอดดิสอาบาบาได้ ขับไล่กองทัพฟาสซิสต์อิตาลีออกพ้นนครหลวง นับเป็นเวลา 5 ปีจากการลี้ภัยของพระองค์

รัชสมัยหลังจากนั้น พระเจ้าไฮเล เซลาสซี ได้สืบต่อการปฏิรูปให้เอธิโอเปียทันสมัย เลิกทาสทั้งหมดเป็นการถาวรและตรากฎหมายลงโทษผู้ค้าทาสอย่างรุนแรง นำเอธิโอเปียร่วมก่อตั้งสหประชาชาติ และวางรากฐานของสหภาพแอฟริกา แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งโดยประชาชนในปี 1955 เข้าก่อตั้งกลุ่มชาติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Align Movement : NAM) และตั้งสหพันธรัฐร่วมกับเอริเทรีย ความนับถือและจงรักภักดีของราษฎรต่อพระองค์ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งในและนอกประเทศ ถึงขั้นที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาในจาไมก้าและเฮติที่ได้รับความช่วยเหลือและแรงบันดาลใจในการกอบกู้เอกราชของพระองค์ ตั้งลัทธิศาสนาราสตาฟาเรียน บูชาพระองค์เป็นเทพเจ้า แม้ว่าพระองค์จะนับถือคริสต์นิกายเอธิโอเปียนออร์โธดอกซ์อย่างเคร่งครัดก็ตาม

แต่ในช่วงเวลาแห่งชราวัย พระองค์ก็ทรงเริ่มเข้าสู่ความพินาศที่จะทำลายราชวงศ์ที่สืบต่อมากว่าสามพันปีให้พังภินท์

ปี 1962 กองกำลังเอริเทรียพยายามประกาศเอกราชออกจากการเป็นสหพันธ์กับเอธิโอเปีย พระองค์ทรงประกาศสงครามกับกองกำลังนั้นและยุบรวมเอริเทรียให้เป็นจังหวัดหนึ่งของเอธิโอเปีย สงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานผลาญทรัพย์สินอาหาร และความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิลงเรื่อยๆ

ความพยายามปฏิรูประบบภาษีไม่เป็นผล เหล่าขุนนางเอธิโอเปียต่อต้านอย่างรุนแรง ทำได้แค่เพียงตั้งภาษีรายได้เท่ากันหมดทุกชนชั้น (Flat rate Tax) ซึ่งทำให้คนจนเดือดร้อนอย่างรุนแรง และลัทธิมาร์กซิสต์ก็แพร่กระจายในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง การคอร์รัปชันในชั้นรัฐบาลก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะพระเนตรพระกรรณของพระจักรพรรดิในวัยชราก็อ่อนแอลงไม่สามารถควบคุมได้

ระหว่างปี 1972-1974 เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วเอธิโอเปีย ประกอบกับวิกฤตราคาน้ำมันที่ทะยานพุ่งสูงขึ้น ทำให้ความนิยมในสมเด็จพระจักรพรรดิลดต่ำลงเรื่อยๆ สงครามเอริเทรียที่ไม่สิ้นสุด ทำให้แม่ทัพนายกองทหารชั้นกุมกำลังพลเริ่มไม่พอใจระบอบการปกครองของจักรพรรดิ พลตรีเมงกิสตู เนเวย์พยายามก่อรัฐประหารขึ้นแต่ก็ถูกจับได้และประหารชีวิต ความล้มเหลวของการรัฐประหารทำให้ทหารชั้นผู้น้อยรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม Dergue ที่นำเอาลัทธิมาร์กซิสต์มาเป็นหลัก และก่อปฏิวัติขึ้นในวันที่ 12 กันยายน 1974

Dergue ประกาศการสิ้นสุดของพระราชวงศ์โซโลมอนที่ยาวนานกว่าสามพันปี ก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเอธิโอเปีย (Socialist Republic of Ethiopia) โดยมีคณะสภารัฐบาลทหารปกครอง ประหารชีวิตพระบรมวงศานุวงศ์จนหมดสิ้น และจับพระจักรพรรดิไฮเล เซลาสซี ขังไว้ในพระราชวังของพระองค์เอง เพราะกลัวว่าหากประหารพระองค์ซึ่งยังได้รับความนับถือจากราษฎรเสมือนเทพเจ้าอยู่ ประชาชนทั่วไปจะลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างรุนแรง

28 สิงหาคม 1975 สื่อของรัฐบาลทหารประกาศการสวรรคตของพระองค์อย่างเงียบๆ ผู้จงรักภักดีจำนวนมากเชื่อว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์

พระราชวังถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีทหาร Dergue ผู้ใดกล้าเข้าใกล้ด้วยกลัวว่าพระวิญญาณของพระองค์จะทรงสาปแช่ง

นับแต่นั้นเอธิโอเปียกลายเป็นประเทศยากจน อดอยาก และทุกข์ทน ตกอยู่ท่ามกลางสงครามกับเอริเทรีย โซมาเลีย และสงครามกลางเมือง เด็กกินดินกินทราย ผู้คนอพยพหนีความแห้งแล้งทรมานไปทั่วโลก ภาพข่าวความอดอยากของเอธิโอเปียระหว่างปี 1983-1985 แม้จะสื่อให้ชาวโลกส่งความช่วยเหลือมามากมายมหาศาลทั้งจากโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาล Dergue ก็คอร์รัปชันไปจนหมดแทบไม่เหลือมาถึงประชาชน กระทั่งในเดือนมกราคมปี 1991 รัฐบาลทหารคอมมิวนิสต์ของ Dergue ล่มสลาย กองทัพปฏิวัติประชาธิปไตยเอธิโอเปียเข้ายึดครองเมืองสำคัญได้ทั้งหมด และเข้ายึดกรุงแอดดิสอาบาบา โค่นล้มเผด็จการ Dergue ที่ปกครองมากว่า 26 ปี

พระศพของพระองค์ที่ถูกทิ้งอยู่ในพระราชวังได้รับการเก็บให้สมบูรณ์อีกครั้งในปี 1992 และในปี 2000 หลังศาลสูงสุดแห่งเอธิโอเปียสรุปเหตุแห่งการสวรรคต คริสตจักรเอธิโอเปียออร์โธดอกซ์ได้นำพระศพกลับมาประกอบพระราชพิธีทางศาสนาให้สมพระเกียรติดุจดังสมเด็จพระจักรพรรดิตามโบราณราชประเพณี แม้ว่ารัฐบาลเอธิโอเปียจะไม่นับว่าเป็นรัฐพิธีก็ตาม

แต่เอธิโอเปียก็กลายเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐแล้ว และราชวงศ์โซโลมอนที่สืบสายมาจากกษัตริย์โซโลมอนและพระนางชีบา 250 รุ่นกว่า 3,000 ปี ก็สิ้นสุดลงอย่างถาวรตลอดกาล โดยมีพระจักรพรรดิไฮเล เซลาสซี เทพเจ้าผู้มีชีวิตเป็นจักรพรรดิพระองค์สุดท้าย

พระศพของพระเจ้าไฮเล เซลาสซีถูกบรรจุไว้ในโลงพระศพด้านลึกสุดของอาสนวิหารตรีเอกานุภาพ (Holy Trinity Cathedral : Kuddis Selassie) อันพระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งเอาชนะอิตาลีกอบกู้เอกราชให้เอธิโอเปียสำเร็จ คู่กับพระศพของพระจักรพรรดินีมเหสี เป็นแหล่งสักการะที่สำคัญที่สุดของชาวเอธิโอเปียและผู้นับถือลัทธิราสตาฟาเรียนจากทั่วโลก กลางกรุงแอดดิสอาบาบา

 

ทุกวันนี้เอธิโอเปีย เป็นศูนย์กลางขององค์กรระหว่างประเทศของแอฟริกา เป็นที่ตั้งของสหประชาชาติ องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกสาขาแอฟริกา และสหภาพแอฟริกา กรุงแอดดิสอาบาบา เป็นเมืองหลวงที่มีอัตราการพัฒนาสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยการเติบโตของ GDP กว่าปีละ 10% แต่ก็ยังมีการประท้วงต่อต้านจากชนเผ่าโอโรโมในเรื่องสภาพเผด็จการของรัฐบาลและการปราบปรามอย่างรุนแรง ธุรกิจสายการบินและโทรคมนาคมถูกผูกขาดโดยรัฐ ความโปร่งใสอยู่ในระดับต่ำและความเหลื่อมล้ำสูง รวมถึงการเข้ามาครอบงำอิทธิพลของสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save