fbpx
กู้กงโมเดล: เมื่อพระราชวังต้องห้ามเข้าสู่ยุคสร้างสรรค์

กู้กงโมเดล: เมื่อพระราชวังต้องห้ามเข้าสู่ยุคสร้างสรรค์

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ในประเทศจีนมีนักบริหารชื่อดังมากมายทั้งในภาครัฐและเอกชน คนหนึ่งที่ตอนนี้กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ ตันจี้เผิง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม เพราะภายในเวลาไม่กี่ปี เขาสามารถเข้ามาปฏิรูปพระราชวังต้องห้ามจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่ามีการบริหารจัดการยอดเยี่ยมระดับโลก

ใครเคยไปเที่ยวกรุงปักกิ่ง ย่อมต้องมีโอกาสได้เยือนพระราชวังต้องห้าม หรือ ‘กู้กง’ ซึ่งเคยเป็นพระราชวังที่ประทับของจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีพื้นที่รวมกว่า 720,000 ตารางเมตร จำนวนกว่า 9,000 ห้อง โอบล้อมด้วยคูและกำแพงสูง 11 เมตร ทำให้พระราชวังต้องห้ามมีสภาพเหมือนเป็นเมืองขนาดย่อมๆ เมืองหนึ่งเลยทีเดียว

ตันจี้เผิง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม เปิดวิสัยทัศน์การบริหารจัดการพระราชวังต้องห้ามให้เข้ากับยุคใหม่ด้วย ‘กู้กงโมเดล’ ประกอบด้วยสามแนวคิด ได้แก่ ใส่ใจรายละเอียด ใส่ใจนักท่องเที่ยว และใส่ใจการพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรม

สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศที่รายได้สำคัญมาจากการท่องเที่ยว แนวทางการพลิกโฉมพระราชวังต้องห้ามน่าจะเป็นต้นแบบให้เราได้ขบคิดถึงการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเรา

ใส่ใจรายละเอียด

สถานที่ท่องเที่ยวแท้จริงแล้วก็เป็นงานบริการอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้านนี้ เช่น การปฏิรูประบบขายบัตรเข้าชมพระราชวังต้องห้าม แต่เดิมนักท่องเที่ยวจะต้องต่อแถวซื้อตั๋วโดยใช้เวลาเฉลี่ยครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรผ่านระบบออนไลน์ได้ จากนั้นเพียงสแกนรหัสจากสมาร์ทโฟนก็เดินผ่านเข้าประตูพระราชวังได้เลย นอกจากนั้น บริเวณหน้าพระราชวังยังได้จัดช่องขายบัตรเข้าชมถึง 32 ช่อง ทำให้สามารถรับประกันได้ว่านักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 3 นาที

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ระบบแสงไฟภายในพระราชวัง เนื่องจากพระราชวังสร้างขึ้นด้วยไม้และเต็มไปด้วยโบราณวัตถุ ทำให้โดยหลักแล้วไม่สามารถจะให้แสงไฟส่องเป็นเวลานานได้ เพราะแสงไฟมีความร้อน ในระยะยาวอาจทำให้ตัวโครงสร้างไม้และโบราณวัตถุเสียหาย ดังนั้นในสมัยก่อนภายในพระตำหนักหลักจึงไม่มีการติดตั้งไฟ

ในเรื่องนี้ ทีมงานการปฏิรูปพระราชวังใช้เวลาถึงหนึ่งปีครึ่งในการเลือกและพัฒนาระบบไฟ LED ที่เหมาะสม โดยเป็นระบบไฟที่ให้ความเย็น ไม่ทำให้เกิดความร้อน เมื่อเปิดไฟแล้ว ยังต้องมีเจ้าหน้าที่คอยวัดอุณหภูมิและดูทิศทางไฟ เมื่อวิจัยจนได้ระบบไฟที่เหมาะสมแล้ว ทำให้สามารถติดตั้งไฟภายในพระราชวังได้

ในวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดแสดงแสงสียามค่ำคืนภายในพระราชวังเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงความยิ่งใหญ่ตระการตาไปทั่วโลก โดยใช้เทคโนโลยีแสงสีเสียงระดับสูงและทีมงานมืออาชีพระดับเทพ แสดงให้เห็นถึงพลังการสร้างสรรค์ด้านศิลปะการจัดแสดงของจีนยุคใหม่

การใส่ใจรายละเอียดยังมีตัวอย่างอีกมากมาย เช่น ภายในบริเวณพระราชวังควรจะจัดที่นั่งพักอย่างไรให้นักท่องเที่ยว ทางเดินควรจัดอย่างไรให้เหมาะสม เป็นต้น โดยรายละเอียดเหล่านี้ ทีมงานได้อาศัยการออกแบบของมืออาชีพที่สร้างสรรค์ โดยเน้นทั้งการรักษาบรรยากาศของพระราชวัง และอำนวยความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยว

กู้กงโมเดล: เมื่อพระราชวังต้องห้ามเข้าสู่ยุคสร้างสรรค์

ใส่ใจนักท่องเที่ยว

ข้อสองคือใส่ใจนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวไม่แออัด ตามสถิติแล้วพระราชวังต้องห้ามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2018 มีจำนวนผู้ซื้อบัตรเข้าชมถึง 17.8 ล้านคน และมีนักศึกษาที่เข้าชมฟรีอีก 520,000 คน เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ในปี ค.ศ. 2018 พิพิธภัณฑ์ลูฟร์กลางกรุงปารีสมีผู้เข้าชม 10 ล้านคน ส่วนพิพิธภัณฑ์อังกฤษใจกลางกรุงลอนดอนมีผู้เข้าชม 7 ล้านคน

ไม่เพียงแต่ผู้เข้าชมพระราชวังต้องห้ามจะมีจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ปัญหาที่หนักขึ้นไปอีกก็คือ ผู้เข้าชมเหล่านี้มักจะกระจุกตัวอยู่ในบางฤดูกาลเท่านั้น เช่นในหน้าเทศกาล ช่วงปิดเทอม และช่วงที่ไม่ใช่ฤดูหนาว

หลักคิดในการบริหารจัดการเรื่องนี้ของ ผอ.ตันจี้เผิง ก็คือ พยายามดึงดูดให้คนเข้าชมพระราชวังในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว โดยพยายามจัดแสดงนิทรรศการพิเศษเพื่อดึงดูดคนเข้ามาท่องเที่ยว รวมทั้งจัดกิจกรรมลดราคาค่าบัตรเข้าชม หรือจัดเป็นวันพิเศษสำหรับกลุ่มบุคคลต่างๆ ในช่วงฤดูที่คนเที่ยวน้อย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อกระจายคนให้มาเที่ยวในฤดูที่เดิมคนเข้าชมน้อย

นอกจากนั้น จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ซื้อตัวสามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าได้ 10 วัน ทำให้สามารถประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวล่วงหน้าในแต่ละวันได้ และสามารถจัดระบบและมาตรการรองรับวันที่คนเข้าชมหนาแน่นได้อย่างเหมาะสม

อีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวก็คือ การขยายพื้นที่เปิดให้เข้าชมในพระราชวัง จากเดิมในปี ค.ศ. 2012 เปิดพื้นที่ให้เข้าชมเพียง 30% ของพระราชวังเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 มีพื้นที่ในพระราชวังที่เปิดให้เข้าชมได้สูงกว่า 50% และในปัจจุบันขึ้นมาถึง 80% แล้ว การขยายพื้นที่ที่เปิดให้เข้าชมจำเป็นต้องทำการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารเก่าภายในพระราชวังจำนวนมาก มีการตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ. 2020 จะต้องเสร็จสิ้นการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารทั้งหมด 100% ภายในพระราชวัง

พื้นที่ใหม่ๆ ที่มีการเปิดให้เข้าชม เช่น ด้านตะวันตกของพระราชวัง ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของไทเฮา จึงมีพระวิหารพุทธขนาดเล็กๆ หลายแห่งภายในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาและสำหรับใช้ปฏิบัติธรรม นอกจากนั้น ปัจจุบันยังได้เปิดสวนดอกไม้ทั้งหมดภายในพระราชวังให้เข้าชมได้ รวมทั้งเปิดให้เข้าชมบริเวณกำแพงพระราชวัง ซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่าที่มีสภาพดีที่สุดในจีน

ส่วนการจัดแสดงโบราณวัตถุ ก่อนหน้านี้โบราณวัตถุที่ได้รับการจัดแสดงมีไม่ถึง 1% ของโบราณวัตถุทั้งหมด ปลายปี ค.ศ. 2018 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3% และตั้งเป้าว่าปลายปี ค.ศ.2019 จะเพิ่มเป็น 8%

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใส่ใจนักท่องเที่ยวก็คือ ห้องน้ำ นอกจากเรื่องความสะอาดแล้ว ปัญหาที่ชัดเจนคือ ห้องน้ำหญิงปกติต้องต่อคิวนานมาก ทางผู้บริหารได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเป็นเวลาถึงสองเดือน ก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่าสัดส่วนปริมาณของห้องน้ำหญิงต่อห้องน้ำชายควรจะอยู่ที่ 2.6 ต่อ 1 จากนั้นจึงปรับขยายปริมาณห้องน้ำหญิงให้ได้ตามสัดส่วนดังกล่าว ผลคือ ตอนนี้ห้องน้ำหญิงมีเพียงพอ ไม่ต้องต่อคิวอีกต่อไป

ใส่ใจการพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรม

ข้อสุดท้าย ก็คือการพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรมของพระราชวังต้องห้าม โดยมีหลักคิดในการสร้างสรรค์คือการศึกษาวิถีชีวิตของคนจีนยุคใหม่และพยายามเชื่อมโยงทรัพยากรทางวัฒนธรรมของพระราชวังต้องห้ามเข้ากับวิถีชีวิตของคนจีนยุคใหม่ให้ได้ เพื่อให้ได้สินค้าที่เปี่ยมด้วยรสนิยมและความงามทางศิลปะ ทั้งยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตจริงได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น มีการเลือกสรรกาน้ำชาเครื่องปั้นดินเผาของฮ่องเต้ 5 พระองค์ ทำเป็นชุดมงคลออกจำหน่าย กาน้ำชามีสีสันและรูปแบบสะท้อนบุคลิกของฮ่องเต้ที่แตกต่างกัน และเข้ากับลักษณะของคนจีนยุคใหม่ที่ชอบสินค้าที่สื่อถึงความเป็นตัวของตัวเองและบุคลิกเฉพาะตนได้

ปัจจุบันมีสินค้าหลายอย่างของพระราชวังที่เป็นสินค้าแนวสร้างสรรค์ รูปแบบทันสมัย ใส่ใจการดีไซน์ มีจำนวนมากที่ขายดีจนขึ้นแท่นสินค้ายอดนิยมในโซเชียลมีเดียของจีน ยอดการจัดจำหน่ายสินค้าของพระราชวังในปี ค.ศ. 2017 สูงถึง 1,500 ล้านหยวน และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของพระราชวัง

สรุป : การเปิดพื้นที่ให้กับพลังสร้างสรรค์ของผู้นำองค์กร

การพลิกโฉมการบริหารจัดการพระราชวังต้องห้าม เปลี่ยนจากการบริหารจัดการแบบราชการ เป็นการบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อปรับให้เข้าสู่ยุคสร้างสรรค์และตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ นับเป็นตัวอย่างของการที่รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้นักบริหารในจีนได้ริเริ่มสร้างสรรค์และทดลองโมเดลใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขององค์กรอย่างเต็มที่ เป็นการให้อิสระกับผู้บริหารและสนับสนุนให้ผู้บริหารออกจากกรอบเดิมๆ

เมื่อมองย้อนกลับมา การจะยกระดับภาคการท่องเที่ยวของไทย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย (เช่น การพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรม หรือการจัดแสดงนิทรรศการสร้างสรรค์ต่างๆ) อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอนโยบายจากบนลงล่าง แต่คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้บริหารในแต่ละแหล่งท่องเที่ยวสามารถบริหารจัดการงบประมาณ และดำเนินการพัฒนาและปฏิรูปการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของตนโดย ‘ใส่ใจรายละเอียด ใส่ใจนักท่องเที่ยว และใส่ใจการพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรม’ ดังเช่น ‘โมเดลกู้กง’ ที่เป็นตัวอย่างของการพลิกโฉมสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save