fbpx
Growth Mindset กับการสร้าง ‘วัฒนธรรมเท่าเทียม’ ในโรงเรียน

Growth Mindset กับการสร้าง ‘วัฒนธรรมเท่าเทียม’ ในโรงเรียน

ปรางชณา ภัทรนรากุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

เมื่อเราพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วยมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอาจต้องให้ความสำคัญไปที่ประเด็นเรื่องงบประมาณการศึกษา หรือไม่ก็การยกระดับค่าจ้างและรายได้ของครัวเรือนยากจนให้เป็นธรรมมากขึ้น หากเมื่อพูดด้วยมุมมองด้านจิตวิทยาของนักศึกษาศาสตร์ ทางออกของปัญหาอาจหมายถึงการสร้าง ‘Growth Mindset’ หรือ กรอบความคิดเติบโต ซึ่งเป็นทัศนคติแบบยืดหยุ่นที่เชื่อในศักยภาพของคน ว่าสามารถพัฒนาความคิดให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพ รวมถึงสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้จนนำไปสู่การประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ได้

ในปี 2018 เว็บไซต์เพื่อการศึกษาอย่าง edsurge.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Is Growth Mindset the Missing Piece in the Equity Discussion?โดย Michael Moody อาจารย์ผู้สนใจเรื่องการศึกษาและความเท่าเทียม ผู้ก่อตั้งสถาบัน Insight ADVANCE และ Insight Education Group. ในประเทศอเมริกา ว่าด้วยเรื่องข้อเสนอการนำเอา Growth Mindset นี้มาใช้เพื่อสร้าง ‘ความเท่าเทียม’ ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาผ่านวิธีการที่แสนเรียบง่าย โดยเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ภายในห้องเรียน

ไม่ใช่แค่ Moody เท่านั้น อันที่จริงแนวคิดเรื่อง Growth Mindset กำลังเป็นแนวคิดใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกหลายคนเชื่อว่าจะเขย่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

101 ชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับ Growth Mindset ประโยชน์และแนวทางการประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษา บทบาทของครูผู้สอน มายาคติในสังคมไทยที่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเหลื่อมล้ำ พร้อมข้อเสนอที่จะตอบปัญหาคาใจว่า ที่สุดแล้ว เราจะสร้างวัฒนธรรมความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาได้อย่างไร?

 

ลด ‘ช่องว่างทางความสำเร็จ’ โดยครูผู้สอน

 

ช่องว่างทางความสำเร็จ (Achievement gap) คืออะไร? ในฐานะผู้เรียน การบรรลุเป้าหมายทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนจบมัธยมศึกษา การได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย กระทั่งการมีงานทำและได้ค่าจ้างที่มั่นคง ปัจจัยและบริบทแวดล้อมต่างๆ อันได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติ หรือกระทั่งเพศของผู้เรียน ล้วนส่งผลต่อความยากง่ายและการได้มาซึ่งโอกาสที่จะเข้าสู่เส้นชัยแห่งความสำเร็จ

อีกนัยหนึ่งคือ ปัจจัยติดตัวที่ต่างกันของผู้เรียนดังกล่าว ได้สร้าง ‘ช่องว่าง’ ให้บังเกิดขึ้นในระบบการศึกษา ทำให้บางคนประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายอย่างง่ายดาย ในขณะที่บางคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะเริ่มต้นแข่งขันในสนามเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม บทความของ Moody เสนอว่า การ ‘อุดช่องว่าง’ ของความสำเร็จนั้น ควรเป็นหน้าที่ของ ‘ครูผู้สอน’ ในห้องเรียน เพราะความเท่าเทียมทางการศึกษาจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียนนั้นถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน

เขาเชื่อว่า ‘บริบท’ ในโรงเรียนมีความสำคัญอย่างมากในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากด่านแรกของการสร้างความเท่าเทียม คือ ‘การเรียนรู้ความแตกต่าง’ Moody ยกตัวอย่างว่า นักเรียนผิวขาวสองคนที่มาจากคนละมลรัฐกัน อาจมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การสร้างความเข้าใจต่อความแตกต่างระหว่างผู้เรียนแต่ละคน จะสามารถทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมนั้นได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง

ดังนั้น ก้าวแรกของบรรดาครูบาอาจารย์ คือการสำรวจตัวเอง (self-exploration) ทบทวนประสบการณ์ของตนกับระบบการศึกษาผ่านการตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น ‘ในชีวิตการสอนเราได้เผชิญกับปัญหาใดบ้าง’ หรือ ‘มีอะไรที่เป็นประโยชน์และมีอะไรที่ต้องได้รับการแก้ไขบ้าง’

เมื่อผู้สอนสำรวจตัวเองเรียบร้อยแล้ว ขั้นถัดมาคือตั้งคำถามชุดต่อมาเกี่ยวกับการจัดการการสอนที่สัมพันธ์กับความแตกต่างของผู้เรียนภายในห้อง เช่น ‘เราจะจัดการกับความรู้ที่มีอย่างไร’ ‘เรารับรู้เรื่องอคติอย่างไร’ หรือ ‘อคติของเราในฐานะผู้สอนจะส่งผลต่อผู้เรียนอย่างไร’ ซึ่งการที่ผู้สอนทบทวนตนเองด้วยคำถามเช่นนี้ ส่วนหนึ่งย่อมเท่ากับการสร้างกรอบแนวคิดการเติบโต หรือ Growth Mindset ให้กับตัวเอง โดยเปรียบได้กับการที่ผู้สอนได้ถอดหมวก ‘ความเป็นครู’ ออกไป และสวมหมวกของ ‘ผู้เรียน’ แทนที่ เพื่อทำความเข้าใจ เอาใจใส่ในความแตกต่างและอุปสรรคที่ติดตัวนักเรียนแต่ละคน

การเปิดใจของครูสามารถพัฒนาให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย ตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในระดับภาพกว้างของสังคมจะถูกมองเห็นอย่างเข้าอกเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในแง่นี้ โครงสร้างทางการศึกษาจึงสัมพันธ์กับเสรีภาพในการแสดงออกทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนี้ ในมุมมองของ Moody ระบบการศึกษาต้องมุ่งเน้นการเก็บข้อมูลของนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และศึกษาถึงรากของปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและตรงประเด็น รวมถึงกระบวนการการสนับสนุนหรือผลักดันให้นักเรียนประสบความสำเร็จจะต้องได้รับการพัฒนาให้มากกว่าเดิม

 

Growth Mindset อุดช่องว่างทางความสำเร็จได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ผลลัพธ์ที่น่าสนใจจากงานวิจัยของ Carol Dweck อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford และผู้เขียนบทความเรื่อง Growth mindset interventions yield impressive results” ได้พิสูจน์ว่า Growth mindset นั้นส่งผลต่อผลลัพธ์ทางคะแนนวัดผลของนักเรียน และทำงานได้ดีเป็นอย่างมากในกลุ่มนักเรียนช่วงวัยรุ่น

ในปัจจุบัน What Works Clearinghouse ซึ่งเป็นหน่วยของรัฐที่ทำงานวิจัยด้านการศึกษาได้ชี้ว่า แทบจะไม่มีกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมแบบใดที่มีประสิทธิผลต่อนักเรียนระดับชั้นมัธยมเพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายเลย แม้แต่หนึ่งในโครงการที่ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่าง The Impact of Supplemental Literacy Courses for Struggling Ninth-Grade Readers (2010) ก็ต้องแลกมาด้วยการลงทุนกับนักเรียนเป็นเงินจำนวน 2,000 ดอลลาร์ต่อคน

ในทางตรงกันข้าม กิจกรรมสนับสนุนให้สร้าง Growth mindset นั้นกลับใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง มีต้นทุนต่อนักเรียนหนึ่งคนน้อยกว่า 1 ดอลลาร์ และส่งผลโดยตรงต่อตัวนักเรียน รวมทั้งผู้สอน โดยที่ไม่ต้องเสียงบประมาณไปกับการเปลี่ยนห้องเรียน สื่อการสอน หรือโรงเรียนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม Carol เชื่อว่าการปลูกฝังเรื่อง Growth mindset นั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น โดย ณ ขณะนี้ มหาวิทยาลัย Washington และมหาวิทยาลัย Indiana กำลังสร้างหลักสูตรเพื่อช่วยให้ผู้สอนสามารถนำเอาวิธีคิดแบบ Growth mindset ไปใช้ในทางปฏิบัติได้ ซึ่งหลักสูตรนี้จะสามารถทำให้ผู้สอนได้เข้าใจศักยภาพของแนวคิดนี้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังปราศจากต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับนักเรียนเป็นรายคนอีกด้วย

 

ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม = ภาพฝันกลางวันในระบบการศึกษาไทย?

 

แม้กระบวนการในการสร้างความเท่าเทียมของ Moody อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและสามารถทำตามได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งผลลัพธ์ยังได้รับการการันตีประสิทธิภาพและความคุ้มค่า หากแต่เมื่อเราย้อนมองกลับมาที่ระบบการศึกษาของไทย จะพบว่ามีอุปสรรคใหญ่หลวงจากการมีอยู่ของ ‘ระบบอาวุโส’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่กำหนดโครงสร้างทางการศึกษามาโดยตลอด

กล่าวคือ ภายในพื้นที่โรงเรียนของไทยนั้นมีความแตกต่างเชิงสถานะอย่างชัดเจน เปรียบได้กับภาพปิรามิดที่อาจมีครูอาจารย์อยู่ในชั้นบนสุด และมีนักเรียนอยู่ในระดับล่างสุด บริบทสังคมดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์แบบ ‘เท่าเทียม’ ระหว่างครูอาจารย์กับนักเรียนนั้นเป็นเรื่องยากจะเป็นไปได้จริง รวมถึงยากจะเกิดบทสนทนาแห่งการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ได้ จึงไม่น่าแปลกใจหากฉากสำคัญในซีรีส์สะท้อนการศึกษาอย่าง ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ (พ.ศ.2556) จะมีภาพการใช้ความรุนแรงบันดาลโทสะของผู้สอนด้วยการปาชอล์กเมื่อนักเรียนคนหนึ่งทักท้วงว่าสิ่งที่อาจารย์สอนนั้นผิด และตามมาถ้อยคำผรุสวาทอย่างการสั่งให้นักเรียนคนดังกล่าว ‘เงียบปาก’ ลงเสีย

อาจกล่าวได้ว่า ฉากในซีรีส์ได้ฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนที่เป็นอยู่ในระบบการศึกษาไทย ที่ซึ่งอาจารย์ผูกขาดสถานะผู้ส่งสาร นักเรียนอยู่ในสถานะผู้รับสารแต่เพียงฝ่ายเดียว และเมื่อการทักท้วง การยกมือถาม ถูกมองว่าเป็นเรื่องก้าวร้าวหรือการท้าทายอำนาจ ในแง่นี้ ห้องเรียนในโรงเรียนจึงไม่สามารถกลายเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน อันจะนำไปสู่วัฒนธรรมแห่งความเท่าเทียมได้แต่อย่างใด

 

มายาคติของเด็ก(ไม่)เก่ง

 

ไม่เพียงแต่ปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมของผู้สอนและผู้เรียนเท่านั้น อีกหนึ่งความทุกข์ของผู้เรียนในระบบการศึกษาไทยที่ทุกคนคงคุ้นชินกันดี นั่นคือมายาคติที่ว่า เด็กเก่งต้องเรียนสายวิทย์ เด็กเก่งต้องสอบให้ติดม.ดัง หรือกระทั่งการถูกนำไปเปรียบเทียบกับลูกบ้านนั้นบ้านนี้ที่เรียนได้คะแนนดีกว่าอยู่เสมอ

มายาคตินี้ถูกปลูกฝังผ่านภาพความสำเร็จของระบบการศึกษา ดังที่เราจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ นักเรียนที่ได้รับการยกย่องบนผืนไวนิลรั้วโรงเรียน มีเพียงกลุ่มสอบติดหมอ วิศวะ หรือได้ทุนไปเรียนต่างประเทศเท่านั้น ในขณะที่เด็กศิลป์ภาษา สายวิชาชีพ หรือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา กลับไม่ได้รับคำชื่นชมมากเท่า ทั้งหมดนี้ทำให้นิยาม ‘ความเก่ง’ แลดูคล้ายกับถูกยึดโยงกับศาสตร์ความรู้และเส้นทางอาชีพเฉพาะด้าน จนผู้เรียนที่อยู่นอกเหนือกลุ่มเหล่านั้นอาจถูกมองด้วยอคติ และถูกตัดสินว่า ‘ไม่เก่ง’ หรือ ‘เก่งไม่เท่าเขา’ ไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว เสนอว่า “แท้จริงแล้วเด็กคือผ้าหลากสี เกิดมาต่างกัน และไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนกัน เราต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความถนัดต่างกัน” พร้อมกล่าวแนะนำศิลปะในการเลี้ยงเด็กที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Goodness of fit คือ การไม่เปรียบเทียบเด็ก ให้การสนับสนุนเด็ก ใส่คำชื่นชมเข้าไปและท้าทายต่อ เพื่อพัฒนาเป็นคนที่มีศักยภาพสูงขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และตรงกับคำอธิบายในงานวิชาการเรื่อง Growth Mindset

โดยสรุปแล้ว การประยุกต์ใช้ Growth Mindset กับเด็กในฐานะผู้เรียน ในที่นี้ก็คือการทำความรู้จักว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร และเป้าหมายคือ จะทำอย่างไรให้ศักยภาพบนความถนัดที่แตกต่างหลากหลายนั้นสามารถปรากฏออกมาได้ ดังนั้น การเสริมกำลังทางบวก การก้าวข้ามอคติทางความต่าง รวมถึงไม่มองการตั้งคำถามของผู้เรียนเป็นความก้าวร้าว จึงควรเป็นฐานคิดที่สำคัญของผู้สอน

ยิ่งไปกว่านั้น การบ่มเพาะ Growth Mindset เพื่ออุดช่องว่างทางความสำเร็จและสร้างความเท่าเทียม ต้องไม่ใช่ ‘กิจกรรม’ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว หากแต่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอเป็น ‘กระบวนการ’ เพื่อทำให้ ‘วัฒนธรรมความเท่าเทียมกัน’ เกิดขึ้น ลงหลักปักฐาน และมีอยู่จริงในสังคมโรงเรียน จะได้ไม่เป็นเพียงแค่ภาพฝันแห่งอุดมคติที่เราทุกคนได้แต่เฝ้ารอคอยอยู่เรื่อยมา

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save