fbpx
Growing from the pain : บิลลี่ – วรกร ฤทัยวาณิชกุล

Growing from the pain : บิลลี่ – วรกร ฤทัยวาณิชกุล

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ ภาพ

ฝันสูง มีชีวิตชีวา กล้าคิดกล้าทำ คือคุณสมบัติเด่นที่เรามักพบเห็นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว

ในวัย 27 ปี บิลลี่-วรกร ฤทัยวาณิชกุล มีครบทุกคุณสมบัติที่ว่ามา ทว่าสิ่งที่ต่างออกไป อาจเป็นแรงขับเคลื่อนจากความทุกข์ในวัยเด็ก

 

แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ธุรกิจของครอบครัวมีปัญหา สถานการณ์เปลี่ยนจากหน้าเป็นหลังมือ จากที่เคยเรียนโรงเรียนนานาชาติ เขาต้องย้ายโรงเรียนอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่โรงเรียนเอกชน จนถึงโรงเรียนวัด

หลายปีถัดมา แม่ของเขาพยายามกระโดดตึกเพื่อหนีปัญหาชีวิต โชคดีที่รอดมาได้ แต่ผลจากแรงกระแทก ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินและระบบปัสสาวะ นำไปสู่อาการไตวาย ต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่แรมปี

เขานำเหตุการณ์นี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดีกึ่งฟิคชั่น ชื่อว่า ‘Mother’ เป็นโปรเจ็กต์สุดท้ายก่อนเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง สาขาภาพเคลื่อนไหว และเป็นบันทึกความทรงจำสุดท้ายก่อนที่แม่ของเขาจะลาลับ

ต่อมาหนังเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้ไปฉายใน 6 เทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะของคนทำหนังรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับการแนะนำ ‘Hello Filmmaker’ ให้ใครหลายคนได้รู้จัก

หลังจากคลุกคลีอยู่ในแวดวงภาพยนตร์อิสระมาหลายปี ในหลายบทบาท ตั้งแต่เด็กฝึกงานในกองถ่าย คนตัดต่อ คนเขียนบท ผู้กำกับ ไปจนถึงการเป็นตัวกลางในการติดต่อขอลิขสิทธิ์ภาพยนตร์นอกกระแสจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษ ในหลักสูตร Communication Design ภาคอินเตอร์ (CommDe) ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

ล่าสุด เขากำลังขยับตัวเองสู่บทบาทที่ใหญ่ขึ้น หลังได้รับการโหวตจากผองเพื่อนในทีม Hello Filmmaker ให้เป็นผู้บริหารรุ่นถัดไป ทำหน้าที่ดูแลและกำหนดทิศทางโปรดักชั่นเฮ้าส์แห่งนี้ที่กำลังมาแรง ด้วยผลงานด้านภาพเคลื่อนไหวตั้งแต่มิวสิควิดีโอ โฆษณา ไปจนถึงภาพยนตร์

หลายคนอาจมองว่านี่เป็นภาระที่ใหญ่หลวงเกินวัย แต่เขากลับมองว่า ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ นั้นไม่เกี่ยวกับอายุ

101 ชวนเขามาพูดคุยในฐานะคนทำสื่อรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยไฟฝัน ความทะเยอทะยาน โดยเผาผลาญความเจ็บปวดของชีวิตให้เป็นเชื้อเพลิง

 

ถ้ามองย้อนไปในวัยเด็ก คิดว่าปัจจัยหรือเหตุการณ์ไหนที่หล่อหลอมให้คุณเป็นคนมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน อย่างทุกวันนี้

น่าจะเริ่มจากช่วงมัธยม ด้วยความที่เราอยากไปต่างประเทศมาก เราก็ไปสอบทุน AFS จนกระทั่งผ่านข้อเขียน แต่พอถึงวันสอบสัมภาษณ์ เรากลับเลือกที่จะไม่ไปสอบ เพราะรู้สึกว่าถ้าสอบติดก็ไม่ได้มีทางได้ไปอยู่ดี เพราะที่บ้านเราไม่มีเงิน

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน มีรุ่นพี่อีกคนในโรงเรียน เขาไม่มีเงินเหมือนกัน แต่ว่าสุดท้ายเขาก็หาทางไปจนได้ คือหลังจากเขาสอบสัมภาษณ์ผ่านแล้ว ต้องหาเงินประมาณแสนกว่าบาท ปรากฏว่าเขาก็ไปหางานเสริมทำ ขายแซนวิช ขายของต่างๆ พอพวกอาจารย์เห็นก็ช่วยสมทบทุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง จนกระทั่งเขามีเงินพอที่จะไปได้ ตอนนั้นเราถึงเข้าใจว่าชีวิตมันมีทางเลือกเสมอแหละ ถ้าเราสู้พอ

พอเราเห็นแบบนี้ ก็รู้สึกโกรธตัวเองทันทีเลยว่าตอนนั้นเรายังพยายามไม่ถึงที่สุด หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ที่อะไรเป็นโอกาสเข้ามา เราจะไขว่คว้าไว้ตลอด และจะพยายามเต็มที่กับทุกโอกาสที่เราได้ จากจุดนั้นก็เลยหล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนที่มี goal oriented คือไขว่คว้าหาเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา และเราก็เป็นคนแบบนั้นอยู่เกือบสิบปี ตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย จนจบมหาลัย มาจนถึงช่วงหลังเรียนจบแล้วประมาณ 2-3 ปี

 

แต่การตั้งเป้าหมายไว้สูงๆ อาจหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย  

เราคิดว่าชีวิตเรามันไม่มีอะไรที่ได้ตามหวังร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราหวังสูงไว้ก่อน อย่างน้อยๆ ระหว่างทางที่เราไขว่คว้าหาอะไรมา มันได้อะไรกับตัวเราอยู่แล้ว เราก็เลยเป็นคนไม่กลัวที่จะหวังสูง

พอนึกทบทวนดู เรารู้สึกว่าลึกๆ มันเป็นการไขว่คว้าเพื่อเติมเต็มตัวเราเองเองด้วย เพราะเรามองว่าเราขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอบอุ่นหรืออะไรก็ตาม สมัยที่เจอพิษเศรษฐกิจ พ่อแม่ก็ทะเลาะกัน บางทีก็รุนแรงมาก

บ้านเรามีกันอยู่ 6 คน พ่อแม่ เรา และน้องๆ บางทีทะเลาะกัน โทษกันไปโทษกันมา เหมือนว่าชีวิตความเป็นอยู่มันไม่ดีขึ้นสักที ช่วงนั้นเราจะมีความโกรธเกลียดชีวิตตัวเองมาก รู้สึกว่าชีวิตกูช่างเหี้ยเหลือเกินในการที่ต้องอยู่แบบนี้มาสิบกว่าปี โดยที่ไม่รู้ว่ามันจะดีขึ้นเมื่อไหร่

พอเราเข้ามหาลัย เราก็เริ่มหางานทำตั้งแต่ปีหนึ่งเลย ไปเป็น runner ในกองของรุ่นพี่ที่คณะ เพราะเราอยากหาเงินเองได้ เราจะได้มีชีวิตที่เป็นอิสระจากที่บ้านซะที ไม่อยากขอตังค์พ่อแล้ว อยากเอาตัวเองออกไปจากชีวิตที่ขัดสน อยากทำอะไรก็ไม่ได้ทำ อยากกินไอติมก็ต้องคิดแล้วคิดอีก มันอยู่แบบไม่มีความสุข

มันเหมือนการไขว่คว้าหาแสงปลายอุโมงค์ด้วยมั้ง ในการหาอะไรทำ หาสิ่งที่จะพาเราออกไปจากตรงนั้นได้ ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้น จนทำให้เราได้เข้ามาสู่โลกของวงการภาพยนตร์อิสระที่ทำอยู่ทุกวันนี้

มองย้อนไป ก็ต้องขอบคุณคุณพ่อด้วย ที่ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ตั้งแต่ช่วงมัธยม ทำให้เราได้เปิดโลกการเรียนรู้ ได้ลองใช้โปรแกรมต่างๆ ตั้งแต่ตอนนั้น พอเข้ามหาลัยได้ พ่อก็เอาเงินที่พอจะหาได้ในตอนนั้นมาอัพเกรดคอมพิวเตอร์และซื้อกล้องให้

 

แล้วเริ่มสนใจศาสตร์ของภาพยนตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนแรกเราสนใจงานด้านกราฟิกก่อน ก็เลยสอบเข้าคณะวิจิตรศิลป์ มช. แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ ก็รู้สึกว่าไม่ใช่แนวที่เราสนใจ ปีต่อมาก็เลยซิ่วไปสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง ซึ่งเราต้องเลือกระหว่างสาขาภาพนิ่ง กับภาพเคลื่อนไหว

เรารู้สึกว่าภาพเคลื่อนไหว มันเป็นศาสตร์ที่รวมศิลปะหลายๆ แขนงไว้ด้วยกัน มีทั้งเรื่องของวรรณกรรมที่เอามาใช้ในการเขียนบท มีเรื่องของ staging , lighting , blocking เรื่ององค์ประกอบศิลป์ต่างๆ แล้วก็เรื่องของพื้นที่ เรื่องของเวลา ซึ่งเรารู้สึกว่าในตอนนั้นมันท้าทายสำหรับเรา ก็เลยเลือกสาขานี้

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ช่วงนั้นเราจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ propaganda เยอะมาก ทำให้เริ่มหันมาสนใจพลังของสื่อ ว่าสื่อให้อะไรกับคน สื่อ manipulate คนยังไง เวลาเห็นสื่อที่อัดชุดความคิดบางอย่างใส่หัวมากๆ เราจะพยายามเตือนตัวเองว่าเขากำลังบอกอะไรเราอยู่ หรือพยายามโน้มน้าวให้เราคิดยังไง อาจเรียกว่า media literacy ก็ได้มั้ง ซึ่งเราคิดว่าคนไทยยังขาดสิ่งนี้อยู่พอสมควร เนื่องด้วยระบบการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้เราคิดเป็นตั้งแต่แรก

 

การได้เรียนทั้งโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนวัด ส่งผลกับความคิดของคุณในแง่ไหนบ้าง

หลักๆ คือมันทำให้เราเป็นคนที่ค่อนข้างโอเคกับการเข้าไปเรียนรู้ในสถานที่ใหม่ๆ ในสังคมใหม่ๆ พอมองย้อนไป การที่เราต้องออกจากโรงเรียนนานาชาติมาเรียนโรงเรียนวัด ก็เป็นการเปิดกว้างทางทัศนคติเกี่ยวกับสังคมของเราเหมือนกันนะ เพราะเราได้เห็นคนที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งมิติเรื่องชนชาติ มิติด้านชนชั้น รวมถึงระบบการศึกษาที่ต่างกัน มันเห็นเลยว่าถ้ากูอยู่ในโรงเรียนแบบนี้ แล้วกูจะโตไปเป็นคนแบบไหน

 

หนังเรื่องไหนที่เป็นแรงบันดาลใจ หรือช่วยจุดประกายให้คุณอยากทำหนัง

‘Dancing in the dark’ ของ Lars vons Trier กับเรื่อง ‘Nobody knows’ ของ Kore-eda Hirokazu เป็นหนังที่เปลี่ยนโลกของการดูหนังของเรา จากเดิมที่เคยดูแต่หนังในโรงทั่วๆ ไป เช่น สุริโยไท , Rush Hour 2 อะไรทำนองนี้

ด้วยความที่เราโตมากับชีวิตห่วยๆ พอได้เห็นว่ามันมีหนังที่ถ่ายทอดชีวิตห่วยๆ ออกมาโดนใจเราได้ขนาดนี้ ก็เลยรู้สึกว่า เออ-สื่อนี้อาจจะใช่สำหรับเราก็ได้

ที่สำคัญคือมันเป็นสื่อที่ถ่ายทอดชีวิตคนออกมาได้ดีมากๆ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เอื้อให้เราเล่าชีวิตคนในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้เยอะมาก ทั้งในเชิงของ inner world และ outer world เราสามารถสังเกตเขาได้ บางขณะเราสามารถเข้าไปในจิตใจของคนๆ นั้นได้เลยด้วยซ้ำ

 

สังเกตว่าในหนังเรื่อง ‘Mother’ ที่คุณทำ ก็สะท้อนภาพชีวิตในด้านที่ไม่ได้สวยงามเหมือนกัน 

เรารู้สึกว่าพื้นฐานของมนุษย์ ก็คือด้านที่เป็นความดิบ ด้านที่มันไม่ได้น่าดูสักเท่าไหร่

คนบางคนที่ไม่เคยสัมผัสความดิบแบบนั้น ก็จะไม่มีวันเข้าใจความเป็นมนุษย์ในระดับที่ลึกๆ ได้ แน่นอนว่าถ้าไม่มีบทเรียน มันก็ยากที่จะได้เรียนรู้ ซึ่งบทเรียนของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน สำหรับเรา เราให้คุณค่าของมนุษย์ในด้านที่เป็นความเลวร้ายมากกว่า

เราคิดว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอความผิดหวังในชีวิต ความสิ้นหวังของชีวิต ในจุดใดจุดหนึ่ง อย่างการสูญเสียคนในครอบครัว หรือการผิดหวังในความสัมพันธ์ มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่วันใดวันหนึ่งก็ต้องเจอ ซึ่งคนที่ใช้ชีวิตมาอย่างสมบุกสมบัน ก็อาจรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่า แล้วในแง่ของการทำหนัง มันก็เป็นด้านที่ touch กับตัวเรามากกว่าด้วย

 

สังเกตว่าช่วงหลังคุณเริ่มหันมาสนใจประเด็นด้านสังคม การเมือง ด้วย

ใช่ ในฐานะคนผลิตสื่อ เรารู้สึกว่าทุกวันนี้มันมีชุดความรู้มากพอแล้วที่จะทำให้โลกของเราดีขึ้นได้ แต่มันไม่ practical หมายความว่ายังไม่มีคนที่ลงมือทำจริงๆ ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีคนที่ช่วยสื่อสารไปถึงคนที่มีอำนาจ ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ได้ เรามองว่าในช่วงเวลานี้ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพคือสิ่งที่สำคัญมากๆ และเราอยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการสื่อสารตรงนี้

เราเคยตั้งสเตตัสทำนองว่า ในขณะที่ฝ่ายก้าวหน้าในประเทศไทย import ความคิดเข้ามามากมาย แต่เรากลับรู้สึกว่าสุดท้ายมันไม่สามารถไปถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศได้สักที เหตุผลก็เพราะว่าเขาพูดจากคนละ ground กัน ยังไม่มีการ set ground ใหม่เพื่อให้สื่อสารกันรู้เรื่อง ซึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญที่ต้องก้าวเข้ามามีส่วนร่วม ก็คือคนทำสื่อ นักสื่อสารทั้งหลาย ซึ่งเราคิดว่าเราสามารถเป็นได้ แต่เราก็ต้องไปหาวิธีก่อนว่า เราจะเป็นแบบไหนให้ดีที่สุด นี่คือจุดที่เราอยากทำ

 

ล่าสุดที่ได้เข้ามาเป็นผู้บริหาร Hello Filmmaker แบบเต็มตัว จะสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ด้วยไหม

ใช่ครับ เราอยากทำให้ Hello Filmaker เป็นสตูดิโอที่ผลิตสื่อที่มีทัศนคติที่ดีต่อสังคม ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่าเรามีวิธีการเล่าเรื่องที่เข้าถึงคนหมู่มากได้ สามารถทำออกมาให้สนุกและติดตามได้ง่าย

เราอยากเอาข้อดีของสองโลกนี้มารวมกัน ก็คือโลกของหนังอินดี้ ที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องคนที่เสียเปรียบ คนชายขอบ ประชาชนพวก Third class citizen ทั้งหลาย กับโลกของ commercial ที่สามารถสื่อสารกับคนหมู่มากได้

 

ในฐานะของคนทำสื่อรุ่นใหม่ คิดว่าหัวใจของการทำสื่อทุกวันนี้คืออะไร

เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมาก ก็คือการรักษาระดับของความรู้สึกอิสระของเราไว้ การทำสื่อแบบนี้ต้องมีพื้นที่ที่คล่องตัวพอสมควร แต่เอาจริงๆ การอยู่ในประเทศนี้ เราก็ไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนที่เราต้องไปดีลกับตัวเองในอนาคตเมื่อถึงจุดที่ต้องปะทะกับมัน

แต่ตอนนี้ ยังไม่ใช่จุดที่เราจะเป็นจะตายกับการไม่ได้พูดในสิ่งที่เขาห้ามพูด เพราะเรารู้สึกว่ายังมีเรื่องพื้นฐานกว่านั้นที่ควรจะถูกพูดก่อน ซึ่งถ้าคนในระดับทั่วไป สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นพื้นฐานนี้ได้ เดี๋ยวเขาก็จะมองเห็นเองว่าสิ่งที่คนบางกลุ่มพยายามพูด หรือพยายามต่อสู้กันอยู่ทุกวันนี้ มันคืออะไร

 

เรื่องพื้นฐานที่ว่า คือเรื่องอะไร

เรื่องการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม เคารพความแตกต่างทางความคิดของแต่ละคน เราจะอยู่ร่วมกันยังไงให้ไม่ดูถูกกันก่อน หรือจริงๆ อาจดูถูกอยู่ข้างในก็ได้ แต่อย่าไปก้าวก่ายกัน ซึ่งทุกวันนี้สังคมไทยมันไม่เป็นแบบนั้น

ผมมองว่าถ้าเราเรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน มันจะทำให้เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะถูกโปรแกรมมาด้วยระบบการศึกษาที่ทำให้เราคิดอะไรคล้ายๆ กัน หรือมีทัศนคติบางอย่างเหมือนกัน แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีรายละเอียดชีวิตที่ต่างกัน ถ้าเราสามารถ appreciate ความต่างของชีวิตตรงนี้ได้ การยอมรับความหลากหลายในสังคมก็ไม่ใช่เรื่องยาก

 

แล้วถ้ามองไปยังเด็กรุ่นใหม่ๆ คุณรู้สึกว่ามีความหวังไหม

เรารู้สึกว่าทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะมีชีวิตเป็นของตัวเองกันมากขึ้น อยากกำหนดชีวิตตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นคุณค่าที่มาพร้อมยุคสมัยแหละ แต่อาจทำไม่ได้แบบ 100 % ด้วยระบบการศึกษาของบ้านเราที่ปลูกฝังบางอย่างไว้ เช่น เรื่องของการเชื่อฟังคำสั่ง เคารพผู้อาวุโส ซึ่งเราว่าเป็นภาวะที่กระอักกระอ่วนเหมือนกันนะ ระหว่างการเป็นคนที่พยายามจะเชิดชูชีวิตตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในระบบของสังคมที่กดทับบางอย่างไว้

อีกปัญหาที่มาจากระบบการศึกษาไทยก็คือ มันทำให้หลายๆ คนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อธิบายตัวเองไม่ได้ มีชีวิตอยู่ด้วยการถูกแรงกระทำจากสังคมรอบด้านผลักไปผลักมาในแต่ละวัน นั่นคือชีวิตที่คุ้มค่ารึเปล่า? เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเรา เราคงไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะไปบอกเขาได้หรอกว่า ชีวิตมึงมันช่างไร้ความหมาย แต่เราสนใจในแง่ที่ว่า เขาจะตระหนักบ้างมั้ยนะ ว่าชีวิตเขามี choice อย่างอื่นด้วย

 

แล้วตัวคุณเอง ในวัยนี้ มีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษไหม

เราพยายามจะมีชีวิตอยู่เพื่อจะเห็นตัวเองในวัยสามสิบตลอดเวลา ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้มากๆ แล้ว เราอยากรู้มากว่าตอนที่เราสามสิบ จะมีชีวิตความเป็นอยู่ยังไง จะเป็นคนแบบไหน

ตอนเด็กเราจะเกลียดผู้ใหญ่หลายคนมาก ทำให้รู้สึกว่า เราจะไม่โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เราเกลียด ซึ่งจนถึงตอนนี้ เรายังเป็นคนที่ตัวเองชอบอยู่ และเราอยากเป็นคนที่ตัวเองชอบไปเรื่อยๆ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการมี self-awareness

 

สำหรับคุณ อะไรคือสิ่งที่วัด ‘ความเป็นผู้ใหญ่’

เราคิดว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ จะมีความตัดสินคนอื่นน้อยลง ยอมรับความเป็นไปของโลกได้มากขึ้น แล้วก็ประเมินกำลังตัวเองได้ว่า เราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ มี empathy หรือความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ซึ่งบางคนที่แม้จะอายุสี่สิบหรือห้าสิบแล้ว แต่ไม่มี empathy กับคนอื่น เราก็มองว่าเป็นคนที่ไม่มี maturity อยู่ดี

 

การเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้บริหารด้วยอายุเพียงเท่านี้ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมไหม

เราว่าเป็นช่วงที่กำลังพอดี เรามีความเสี้ยนอยู่ในตัว มีความอยากเป็น leader อยู่แล้ว และเรายอมรับเลยว่าเป็นคนที่ชอบ take credit ไม่ว่าอะไรที่เราลงมือลงแรงไปกับมัน เราอยากได้เครดิตเสมอๆ

ตอนนี้เราคิดว่าเราอยู่ในจุดที่วุฒิภาวะเราได้ วัยวุฒิไม่รู้น้อยไปรึเปล่า แต่เรารู้สึกว่าเราพร้อมที่จะทำงานกับคนจำนวนมาก ดีลกับทัศนคติและนิสัยของคนที่ต่างกันมากๆ แล้วเราสามารถเข้าใจพวกเขาได้โดยที่ไม่ไปตัดสินเค้า ซึ่งเราคิดว่านี่คือจุดสำคัญที่คนเป็นผู้บริหารต้องมี

ตอนนี้เราพร้อมที่จะทำงานกับคนหลายแบบ เรามีความสามารถในการมองคนที่ทำงานด้วยกันแล้วมันจะรอด ซึ่งเป็นความสามารถที่ไม่ได้มีกันทุกคน บางคนก็ไม่สามารถกันคนที่เป็นพิษออกจากชีวิตตัวเองได้ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนไหนที่เป็นพิษกับตัวเอง

 

 

ในฐานะขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ มีอะไรที่ท้าทายเป็นพิเศษไหม

เราคิดว่า ถ้าคุณอยากทำงานกับคนรุ่นใหม่ ก็ต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของเขาด้วย ไม่ใช่ไปฝืนธรรมชาติของเขาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางอย่าง เข้าใจแหละว่าเจตนาของคนเรา บางทีก็ไม่ได้หวังร้ายใส่กันหรอก แต่ด้วยวิธีการที่มันไม่เข้ากับธรรมชาติของคนๆ นั้น ก็อาจทำให้เขาทุกข์ทรมานโดยไม่รู้ตัว

สำหรับเราตอนนี้ ในฐานะที่ต้องทำงานกับคนเยอะมาก โจทย์ของเราคือทำยังไงก็ได้ให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่ healthy พอที่จะทำให้ทุกคนพร้อมที่จะ create ผลงาน มี creativity แล้วก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในพื้นที่ตรงนี้ให้ได้มากที่สุด

 

ถึงตอนนี้ ยังเป็นคนที่มี Goal oriented อยู่เหมือนเดิมไหม

ยังมีอยู่ครับ แต่มันผ่อนคลายลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ

 

เกิดภาวะนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่แม่เราเสียไป เราก็ค่อนข้างเป็นคนที่ปลงมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ที่เราพยายามไขว่คว้านู่นนี่นั่น พยายามทำชีวิตให้ดีขึ้น ก็เพื่อคิดว่าในวันหนึ่ง เราจะทำให้ครอบครัวที่ยังอยู่พร้อมหน้ากัน มีความสุขกันอีกครั้ง อย่างทันเวลา เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าร่างกายแม่เราเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เราก็เลยรีบๆๆ พอไม่ได้ดั่งใจก็โกรธๆๆ มันมีความอัดอั้น มีความไฟลนก้นอยู่ในตอนนั้น

แต่พอแม่เสียไปปุ๊บ เหมือนตรงนี้มันได้ unlock ไปประมาณนึง เป้าหมายที่เคยอยากให้ทัน ก็ไม่ทันแล้ว ตอนนี้ก็เลยเหลือพ่ออยู่คนเดียว ซึ่งเป้าหมายก็ยังเหมือนเดิม คืออยากให้ทุกคนในบ้านสบาย มีชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ให้เราได้ทำตาม passion ของเราเองด้วย

ส่วนอีกเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเหมือนกัน ก็คือการจมน้ำประมาณสองปีที่แล้ว

ตอนนั้นเราไปกระบี่ แล้วไปจมน้ำมา เกือบตาย ช่วงนั้นเป็นหน้ามรสุมพอดี มีเพื่อนมาจากฝรั่งเศส ก็เลยไปเที่ยวทะเลด้วยกัน แล้วมันมีช่วงนึงที่เราออกไปว่ายน้ำในทะเลคนเดียว ไม่ได้เอาแว่นตาออกไปด้วย ทีนี้น้ำมันเข้าตา ลืมตาไม่ได้ เราก็ก้มหน้าว่ายต่อไป ตอนนั้นเป็นช่วงเย็นแล้ว น้ำเริ่มลง มันก็ดูดเราลงไปเรื่อยๆ เราก็ว่ายของเราไปเรื่อยๆ พอลืมตาขึ้นมาอีกที ปรากฏว่าเราอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร

โชคดีที่ช่วงนั้นออกกำลังกาย ก็เลยพยายามตะเกียกตะกายเข้ามา แต่ว่ายเท่าไหร่มันก็ว่ายไม่ถึง เหนื่อยมาก เหนื่อยแบบจะขาดใจ เห็นเชือกที่มันเป็นทุ่นออกมาจากชายหาด เราก็พยายามว่ายไปเกาะเชือกนั้นเพราะมันใกล้กว่า แต่ก็ว่ายไปไม่ถึงอยู่ดี จนเราถอดใจแล้ว เพราะเหนื่อยมาก หมดแรงแล้ว คิดว่าคงขาดใจตายตรงนั้นแหละ

ตอนนั้นมีสองความคิดแวบเข้ามาในหัว หนึ่งคือเรามากับกลุ่มเพื่อนกลุ่มนี้ ถ้าเราตายตอนนี้เพื่อนก็ต้องมาลำบากกันอีก สองคือแม่เราพึ่งเสียไป ถ้ามาตายไปตอนนี้อีก แล้วที่บ้านจะอยู่กันยังไง

ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าในช่วงขณะที่เรา Give up ชีวิตตัวเองไปแล้ว จะยอมตายอยู่แล้ว พอมันมีสองความคิดนี้แวบเข้ามา เราก็เลยลองว่ายต่ออีกรอบ ว่ายเข้าไปหาเชือกทุ่นเส้นนั้นแหละ คราวนี้พอว่ายไปเรื่อยๆ มันเสือกถึงขึ้นมา แล้วเราก็ค่อยๆ สาวเชือกเข้ามาจากกลางทะเล พอตีนแตะทรายนี่แบบ “ไอ้เหี้ย!” อยากร้องออกมาแบบนี้ แต่ร้องไม่ได้ เพราะว่ามันเหนื่อยโคตรๆ ที่ทำได้คือนอนแผ่อยู่บนชายหาด นอนหอบอยู่อย่างนั้นประมาณยี่สิบนาที จนกระทั่งมีเพื่อนเดินมาเจอ มันถามว่าเป็นอะไร เราบอกว่ากูเพิ่งจมน้ำมา

เหตุการณ์นั้นทำให้รู้ซึ้งเลยว่าชีวิตเราเปราะบางกว่าที่คิด แล้วถ้าเรายังใช้ชีวิตในแบบที่กดดันตัวเอง โบยตีตัวเอง เพื่ออดทนไปให้ถึงเป้าหมายวันใดวันหนึ่งในอนาคต เรามองว่าเป็นการกระทำที่เสี่ยงมากเหมือนกันนะ เพราะจริงๆ แล้วเราตายง่ายมากเลย

หลังจากนั้นมา เราเลยกลายเป็นคนที่ผ่อนคลายกับชีวิตมากขึ้น เอ็นจอยชีวิตง่ายขึ้น พยายาม push ตัวเองและคนอื่นน้อยลง คนเราก็คงต้องมีจุดเปลี่ยนอะไรประมาณนี้แหละ มันถึงคิดได้.

 


 

ติดตามผลงานของบิลลี่ และ Hello Filmmaker ได้ที่ :

FB : Vorakorn Ruetaivanichkul

Fanpage : Hello Filmmaker

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022