fbpx
ฟอกเขียว : เมื่อใครๆ ก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (จริงเหรอ?)

ฟอกเขียว : เมื่อใครๆ ก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (จริงเหรอ?)

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

1

มนุษย์เราเสพติดรถยนต์ ซึ่งต้องยอมรับว่าหนึ่งในนั้นก็มีผมอยู่ด้วย

ผมสนใจเรื่องรถยนต์มาตั้งแต่เด็กๆ และชอบวาดรูปรถยนต์ จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ผมเป็นหนึ่งในเด็กที่วาดรูปรถยนต์ได้สวยที่สุดของชั้น อันนี้ไม่ได้พูดเอง แต่ครูยังเอ่ยปากชมว่า “เอกศาสตร์ เธอน่าเธอน่าจะเอาดีทางนี้ได้นะ” แต่เรื่องจริงก็คือ สมองด้านการคำนวนของผมนั้นน่าจะฝ่อตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล การวาดรูปรถยนต์มันเลยไปไม่ไกลไปกว่าวาดรูปเล่น และในประเทศที่การศึกษาบั่นทอนจินตนาการของเด็กวัยเจ็ดขวบ ผมก็แลดูไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไหร่ นอกจากได้ชื่อใหม่ว่าเป็นศิลปินไส้แห้ง

อุตสาหกรรมรถยนต์ตอนนี้ เมื่อเทียบกับสมัยที่เปิดตัวครั้งแรกด้วยฟอร์ดโมเดลที (Ford Model T) เมื่อปี 1908 ร้อยกว่าปีผ่านมา ต้องบอกว่าเรามาไกลมาก รถยนต์รุ่นธรรมดาๆ อย่างอีโคคาร์ก็ยังมีแรงม้ามากกว่าโมเดลทีร้อยเท่าและกินน้ำมันน้อยลงเรื่อยๆ ต้องขอบคุณโอเปค (OPEC) ที่เอาจริงเอาจังกับการขึ้นราคาน้ำมัน

ในช่วงสงครามเย็นระหว่างตะวันออกกลางกับสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1980 ที่ทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นแบบพรวดพราดในชั่วข้ามคืนระดับที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าเดิม 4 เท่าในปี 1973 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจึงต้องหาทางผลิตรถยนต์ที่กินน้ำมันน้อยลงเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน หาเทคโนโลยีที่ทำให้ตัวถังเบาขึ้น เครื่องยนต์เล็กลงแต่ทรงสมรรถนะ ไม่ถึงสิบปีรถยนต์ในช่วง 1980-1990 ก็กินน้ำมันน้อยลงกว่าก่อนเกิดวิกฤตน้ำมันครึ่งหนึ่ง แถมยังแรงกว่าเดิมอีกด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ที่ดีขึ้น ในตอนนั้นไม่มีใครมานั่งคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะมีแต่แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจล้วนๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องดิ้นหาทางเอาตัวรอด

ฟังไม่แตกต่างจากปัจจุบันนะครับ การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายอย่างที่ฟังดูคล้ายกัน มันอาจไม่ใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่มันคือการ ‘ฟอกเขียว’ ทางการตลาดเพื่อให้เกิดผลด้านความรู้สึกกับผู้บริโภคต่างหาก

ไม่กี่ปีมานี้ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะมันเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งสัมพันธ์กับสภาวะเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทรถยนต์น้องใหม่อย่างเทสลาและหลายๆ บริษัทเริ่มเสนอทางเลือกในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อสภาวะเรือนกระจก และอ้างด้วยว่าเทคโนโลยีแบตเตอรีสมัยใหม่ทำให้วิ่งได้ไกล ให้ทั้งความแรง อัตราเร่งและประสบการณ์การขับขี่ที่ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล ฟังดูก็ชนะเห็นๆ น่าสนใจสุดๆ

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? สิ่งนี้เป็นคำถามที่น่าคิดมาก เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลาที่เทสลาพยายามโปรโมตรถยนต์ของตัวเอง แทบไม่มีการพูดถึงเรื่องของการกำจัดแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ หรือการได้มาซึ่งส่วนประกอบต่างๆ ของรถยนต์ว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เทสลา go green มากกว่าจริงไหม

สิ่งที่ย้อนแย้งในโลกนี้คือ การผลิตแบตเตอรีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อย ‘เขียว’ เอาเสียเลย เรียกได้ว่า ซัพพลายเชนของมันเต็มไปด้วยความไม่สวยงาม ไม่เหมือนอย่าง Model S ของเทสลาที่เราเห็น แบตเตอรีนั้นมีแร่ธาตุหลายอย่างที่ต้องใช้ประกอบขึ้นมา นอกเหนือจากลิเธียม (Lithium) ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็ยังมีสารประกอบอื่นๆ อย่าง ทองแดง ตะกั่ว แคดเมียม เทลลูเรียม สังกะสี ฯลฯ แม้ว่าแบตเตอรีลิเธียมสมัยนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปลอดภัยกับผู้ใช้งานและผู้ผลิต เมื่อเทียบกับแบตเตอรีแบบเก่าที่มีส่วนประกอบจากจากตะกั่วหรือแคดเมียม แต่การรีไซเคิลลิเธียมในปัจจุบัน พบว่ามันมีต้นทุนสูงกว่าการขุดทำเหมืองลิเธียม ราคารีไซเคิลลิเธียมต่อหนึ่งกิโลกรัม ต้องใช้เงินราว 3 ดอลลาร์ (ประมาณ 100 บาท) ขณะที่การขุดเหมืองต่อหน่วยโดยรวมถูกกว่า

ตัดภาพมาที่เหมืองในคาซัคสถาน การทำเหมืองแร่ทั่วโลกยังขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจที่สกปรกและอันตรายที่สุด อุตสาหกรรมนี้ยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ค่าจ้างแรงงานราคาถูก มีทั้งความเสี่ยงเรื่องการรับสารพิษโดยไม่ตั้งใจและความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ รวมถึงการทำเหมืองโดยใช้พลังงานจากฟอสซิลก็ยังมีอยู่สูง ที่สำคัญประเทศที่มีสินแร่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย อาร์เจนติน่า คาซัคสถาน ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศร่ำรวยหรือเปล่า – ก็ไม่ ปัญหาคือแม้ว่าคนเราจะใช้สินแร่เหล่านี้มากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศที่ทำเหมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้สักเท่าไหร่ ปัญหานี้เชื่อว่าในอนาคตจะคล้ายๆ กับกรณีของ ไนกี้ แอปเปิล และสินค้าแบรนด์หรูหราที่โดนกล่าวหาเรื่องของการกดขี่แรงงานในประเทศโลกที่สาม

2

ปัญหาเรื่องการรีไซเคิลเริ่มต้นขึ้นแล้วนะครับ เมื่อปี 2017 เป็นปีแรกของโลกที่เรามีรถพลังงานไฟฟ้าวิ่งอยู่บนถนนเกิน 1 ล้านคัน หลังจากนั้น ปริมาณของรถพลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายได้ในโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยเวลา 3 ปีมานี้ พบว่าโลกของเรามีปัญหาเรื่องแบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ถูกนำกลับไปรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้นอีก 250,000 ตัน ซึ่งปัญหานี้จะขยายตัวขึ้นไปไกลกว่านี้ได้ไม่ยากหากดูสัดส่วนของรถยนต์ที่เราใช้กันทั้งโลก ปริมาณรถพลังงานไฟฟ้ายังมีไม่ถึง 5% เสียด้วยซ้ำ จินตนาการภาพต่อจากนี้ว่าหากว่ามีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น โลกเราอาจต้องหาวิธีจัดการให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าตามประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา เรามักสนใจสิ่งสวยงามตรงหน้า มากกว่าเรื่องการจัดการที่วุ่นวายในภายหลัง

การโปรโมตผลิตภัณฑ์ของตัวเองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในแง่เศรษฐกิจนั้นมีข้อดีกับผู้ผลิตหลายอย่าง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2008 รู้จักกันในชื่อว่า ‘Dingell-Boucher Draft’ กฏหมายที่ว่าด้วยการกำหนดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยยึดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก หากบริษัทฯ ไหน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ก็สามารถเอาไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้

และยังมีการจัดตั้งระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า Cap and trade โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (EPA) ประกาศกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ มีการจัดสรรให้กับประเภทอุตสาหกรรมหรือกิจการที่เฉพาะเจาะจง มีการเปิดให้มีการประมูลซื้อขายด้วย

ด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นที่มาของ iPhone แบบไม่แถมที่ชาร์จ รถพลังงานไฟฟ้าของเทสลา สตาร์บัคส์ลงทุนทำตึกใหม่ อะเมซอนและดีเอชแอลเปลี่ยนรถขนส่งเป็นรถไฟฟ้า หรือสายการบินที่เปลี่ยนเครื่องบินขนาดเล็กลง และอีกหลายบริษัทที่เริ่มทยอยหาทางใหม่ๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี แต่เราลืมไปว่าเรื่องราวทั้งหมด ไม่ได้จบอยู่ที่ว่า การซื้อหรือใช้บริการเหล่านี้แล้ว คุณจะช่วยลดโลกร้อนหรือช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

พลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ตามบ้าน ทั้งโลกยังพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิลอยู่ในสัดส่วนที่มากที่สุด ฉะนั้น การเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าบนถนน ไม่ได้หมายถึงว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะหายไปนะครับ ตรงข้าม อาจเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ

บางประเทศอย่างในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสพึ่งพิงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าถ่านหิน แต่สารกัมนันตรังสีจากการสลายตัวของยูเรเนียมก็ยังเป็นประเด็นที่นักสิ่งแวดล้อมยังคงพูดถึง ไหนจะการสร้างเขื่อนในจีน อีนเดีย ลาว เพื่อใช้ในการลิตกระแสไฟฟ้าให้ทันกับความต้องการต่อการเติบโตของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้ามากขึ้น

การสร้างวงจรของพลังงานสะอาด หรือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาเพื่อใช้ในสเกลระดับประเทศ เราคงต้องรอกันอีกหลายปี แม้ว่าในบางประเทศอย่างเยอรมนีหรือนอร์เวย์จะมีความก้าวหน้าไปมาก ทั้งเรื่องของการเอาพลังงานจากลม คลื่นทะเล พลังงานจากสาหร่าย ฯลฯ มาใช้ ทดแทนแหล่งพลังงานเดิม  แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่ทันกับการบริโภคของมนุษย์ที่ยังคงมีโทรศัพท์มือถือใหม่ทุกปี ทุกบริษัทยังคงต้องการตัวเลขผลประกอบการที่สวยหรู การบริโภคที่มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น อย่างไม่มีทีท่าว่า มนุษย์เราจะฉุกคิดได้ว่าเราไม่มีทางชนะไปหมดเสียทุกอย่าง – เราไม่มีทางได้อะไรมา โดยไม่เสียอะไรไปเลย

หากคุณอยากเปลี่ยนรถตอนนี้เสียเหลือเกิน อยากได้รถไฟฟ้า รถไฮบริด แนะนำว่าให้ไตร่ตรองดูอีกนิดว่าการไม่เปลี่ยนอะไรเลยและใช้ของเก่าอย่างคุ้มค่าที่สุด น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าในการช่วยโลกใบนี้ อีโคคาร์ของคุณและไอโฟน 6 ที่ลงแอพคลับเฮาส์ก็ยังไม่ได้ อาจช่วยโลกได้มากกว่าเทสลาและไอโฟนรุ่นล่าสุด

อันนี้พูดจริง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save