fbpx

ยุทธศาสตร์ ‘พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว’ ของอินเดีย โอกาสการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลก

“อินเดียจะกลายเป็นศูนย์กลางไฮโดรเจนสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราอยากตอบคำถามคนรุ่นหลังด้วยการกระทำของเรา”

– นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

ข้อความข้างต้นคือบางส่วนของสุนทรพจน์นายกรัฐมนตรีอินเดีย ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th UN General Assembly: UNGA76) เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ณ เวทีสหประชาชาติ นายกโมดีได้หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมและนโยบายพลังงานสีเขียวของประเทศขึ้นมากล่าวหลายครั้ง เพื่อเน้นย้ำถึงเป้าหมายที่อินเดียต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญที่ทุกชาติทั่วโลกไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทุกประเทศจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์พลังงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดถือเป็นวาระสำคัญของโลก เพราะภาคส่วนพลังงานคือภาคส่วนที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหลัก ซึ่งปล่อยมลพิษจำนวนมหาศาล แน่นอนว่าอินเดียเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกหันเหไปสู่ความยั่งยืนและและความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อินเดียจำต้องเร่งปรับตัว และกระโดดขึ้นรถไฟขบวนดังกล่าวด้วยเช่นกัน ความท้าทายดังกล่าวนำมาซึ่งยุทธศาสตร์พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวที่ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมบทบาทด้านพลังงานของอินเดียในระดับโลกด้วย ครั้งนี้จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาติดตามกระแสนี้ไปด้วยกัน

สถานการณ์พลังงานในอินเดีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่อินเดียต้องลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ เรื่องพลังงานทางเลือกเป็นผลสำคัญมาจากปัจจัยภายในประเทศ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ทั้งในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนภาคครัวเรือนอันเนื่องมาจากความเป็นเมืองขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อินเดียต้องจะเพิ่มช่องทางการแสวงหาพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังคงเป็นประเทศที่พึ่งพิงพลังงานจากภายนอกอย่างมากจนจำต้องขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำมัน

เมื่อพิจารณาภาคการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันอินเดียพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 75 ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นปริมาณที่เยอะมาก ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ศักยภาพการผลิตถ่านหินภายในประเทศที่ไม่เป็นไปตามความต้องการใช้ภายในประเทศทำให้อินเดียต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2019 อินเดียต้องนำเข้าถ่านหินจากภายนอกมากถึง 235 ล้านตัน ปัจจัยทั้งสองนี้ส่งผลให้สถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานของอินเดียมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง

นอกจากประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานแล้ว ประชากรอินเดียยังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจากการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล เป็นที่ทราบกันดีว่าการเผาผลาญพลังงานจากฟอสซิลปลดปล่อยมลพิษเป็นจำนวนมาก หลายปีมานี้อินเดียเผชิญปัญหาฝุ่นควันพิษติดต่อกันอย่างหนัก โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมืองต่างๆ ของอินเดียกว่า 22 เมืองครองแชมป์ปัญหามลพิษทางอากาศ ที่แย่กว่านั้นคือปัญหานี้คร่าชีวิตคนอินเดียไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ผู้คนที่อาศัยในเขตเมืองไม่พอใจต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลก ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงาน และปัญหาสุขภาพภายในอินเดียรวมกัน รัฐบาลอินเดียจึงไม่อาจนิ่งนอนใจที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ โดยเชื่อว่าการหันเหไปสู่หาพลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียวมากยิ่งขึ้นจะตอบโจทย์ภัยคุกคามที่กำลังกัดกินเศรษฐกิจและสังคมอินเดียอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอินเดียจึงได้ปรับแผนพลังงานชุดใหญ่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานภายในประเทศเกิดขึ้นจริง และหนึ่งในนั้นคือ การผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว

พลังงานไฮโดรเจนเขียว: แหล่งพลังงานใหม่ที่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

ในอดีตพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดมักถูกมองว่าเป็นพลังงานทางเลือก แต่สำหรับโลกอนาคต แหล่งพลังงานเหล่านี้กำลังทวีความสำคัญจนกลายเป็นพลังงานหลักในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นในห้วงหลายปีมา การแข่งขันในภาคพลังงานโลกจึงมุ่งเป้าไปที่การคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ทุกวันนี้สามารถครองความเป็นเจ้าตลาดพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของโลกได้สำเร็จ ความต้องการพลังงานสะอาดทั่วโลกที่ขยายตัวอย่างมากส่งผลให้ตลาดในกลุ่มพลังงานนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว พลังงานสะอาดจึงกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญ เรื่องนี้อาจกลายเป็นเครื่องชี้ชะตาความเป็นมหาอำนาจโลกด้วย

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หลายประเทศทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด มีการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาลเพื่อคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสะอาด อินเดียก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น โดยลงทุนทั้งในภาคพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม แต่ที่โดดเด่นที่สุดและกำลังเป็นกระแสไปทั่วโลกคือ การลงทุนในพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งอินเดียหวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยผลักดันให้อินเดียกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดพลังงานในอนาคต

ถึงแม้มีการระบุว่าพลังงานไฟฟ้าจะเข้ามาทดแทนน้ำมันมากขึ้นในภาคยานพาหนะ แต่นั่นเป็นเพียงสมมติฐานบางส่วนเท่านั้น เพราะการใช้ไฟฟ้าอาจจำกัดอยู่เพียงในกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถยนต์วิ่งระยะสั้นเท่านั้น ส่วนรถยนต์และรถบรรทุกในภาคโลจิสติกส์ยังจำเป็นต้องอาศัยเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่ช่วยให้การเดินทางทำได้ไกลขึ้นและไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงบ่อยจนเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น ระบบไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดในเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศอีกด้วย จุดนี้เองทำให้พลังงานไฮโดรเจนได้เปรียบกว่า ซึ่งถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำคัญที่จะเข้ามาทดแทนพลังงานน้ำมันและฟอสซิลในอนาคต ฉะนั้นการที่อินเดียเข้ามาจับพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวจึงถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคพลังงานไม่เฉพาะในระดับประเทศ แต่ถือเป็นโอกาสของโลกด้วย

เมื่ออินเดียขยับเรื่องไฮโดรเจนสีเขียว ทั้งโลกก็รู้สึกได้ถึงแรงสะเทือน

แน่นอนว่าการผลิตพลังงานไฮโดรเจนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพลังงานชนิดนี้ไม่ได้มีอยู่เองตามธรรมชาติ หากจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการในการผลิต และวิธีหนึ่งที่นิยมอย่างมากคือ การแยกไฮโดรเจนผ่านปฏิกิริยาทางความร้อนและเคมี ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งและมีต้นทุนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ตลอดมาพลังงานไฮโดรเจนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร กระทั่งมีการคิดค้นกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) โดยอาศัยกระแสไฟฟ้าในการแยกไฮโดรเจนจากน้ำ ฉะนั้นหากการได้มาซึ่งไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสะอาด ไม่สร้างมลพิษ ย่อมส่งผลให้การผลิตไฮโดรเจนสะอาดตามไปด้วย จึงก่อเกิดเป็นแนวคิด ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ขึ้น

พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวนี้เองที่อินเดียพยายามผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อเข้ามาทดแทนสัดส่วนพลังงานฟอสซิล นโยบายนี้ได้รับการพูดถึงอย่างเป็นทางการในวันครบรอบการประกาศเอกราชจากอังกฤษปีที่ 75 เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และถูกย้ำอีกครั้งในการประชุมสหประชาชาติสมัยล่าสุด ปัจจุบันอินเดียได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องการส่งเสริมไฮโดรเจนสีเขียวเป็นการเฉพาะ โดยผลักดันให้เกิดการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาเพื่อให้ทำงานร่วมกันในการวิจัยและลงทุนเรื่องนี้

เบื้องต้นอินเดียวางเป้าหมายสำคัญไว้ว่าภายในปี 2030 ราคาไฮโดรเจนสีเขียวของอินเดียต้องปรับตัวมาอยู่ที่ราว 160 รูปีต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันอยู่ที่ราคา 350 รูปี โดยรัฐบาลอินเดียพร้อมส่งเสริมทุกภาคส่วนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในกลุ่มพลังงานนี้ในทุกมิติ ปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติให้มีการนำไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม และแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ในการผลิตพลังงานไฮโดรเจน

เพื่อตอบรับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล กลุ่มธุรกิจอย่าง Reliance ซึ่งมีนาย Mukesh Ambani มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของเอเชียได้ประกาศลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดของบริษัท โดยมีมูลค่าการลงทุนมากถึง 750,000 ล้านรูปี มุ่งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อป้อนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โดยเขาหวังว่าความทะเยอทะยานนี้ของอินเดียจะทำให้ราคาไฮโดรเจนสีเขียวอยู่ที่ประมาณ 75 รูปีต่อกิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าเป้าของรัฐบาลที่ตั้งไว้เสียอีก

หากอินเดียประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อราคาพลังงานโลกอย่างมาก เนื่องจากจะแข่งขันกับราคาพลังงานกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างไม่ต้องสงสัย และความหวังในการเป็นศูนย์กลางพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวของอินเดียก็ไม่ไกลเกินฝันหากทำได้จริง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save