fbpx
กรุงเทพฯ เมืองที่ต้นไม้ไม่เคยสวย

กรุงเทพฯ เมืองที่ต้นไม้ไม่เคยสวย

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

 

 

ข่าวคราวเรื่องการล้อมต้นไม้ 45 ต้นเพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณสนามหลวง สร้างความหงุดหงิดใจไม่น้อยให้กับคนที่ได้เห็นข่าวนี้ แม้กรุงเทพมหานครบอกว่านี่เป็นการล้อมต้นไม้เพื่อย้ายไปอนุบาลชั่วคราว ก่อนนำกลับมาไว้ที่เดิมยามเมื่อโครงการเสร็จสิ้น

แต่หากคุณเป็นคนรักและสนใจเรื่องต้นไม้ เป็นคนเรียน เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในย่านนั้น เห็นต้นมะขามรอบสนามหลวงตั้งแต่วัยรุ่นยันมีลูก คุณก็จะรู้ว่าต้นมะขามเหล่านี้ไม่แข็งแรงพอจะย้ายหรอก เพราะเราดูแลผิดวิธีมาตลอด หลายต้นหากเป็นคน ก็ป่วยและแก่มากแล้ว ลำต้นผุเป็นโพรง กิ่งบิดเบี้ยว ไม่ได้ออกใบให้ร่มได้เหมือนต้นมะขามปกติ เพราะดูแลไม่ถูกวิธีมานาน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าการย้ายต้นไม้แก่และป่วยในฤดูฝนซึ่งถือเป็นฤดูที่ต้นไม้จะกักเก็บอาหารก่อนต้องเจอกับฤดูแล้งที่ยาวนาน ก็เสี่ยงมาก เลยต้องลุ้นกันเอาเองว่าท้ายที่สุดจะเหลือรอดกลับมาได้กี่ต้น

 

กรุงเทพฯ กับการสร้างทัศนะอุจาด

 

การตัดต้นไม้ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกฤดูฝนเราจะเห็นภาพคุ้นตาของพนักงานของกรุงเทพฯ ออกมาตัดลิดกิ่งไม้ตามถนนหนทาง ทั้งสายหลักสายรอง บางเขตก็เล่นลิดกิ่งทอนใบเสียจนโกร๋น ต้นไม้เหลือแต่ตอ บางแห่งก็ตัดให้เว้าแหว่งเพื่อหลบสายไฟระโยงระยาง แต่ทั้งหมดเท่าที่เห็นมา ล้วนเป็นภาพอุจาดสายตา น้อยมากที่จะเห็นต้นไม้ที่ตัดแต่งกิ่งได้สวยงาม ดูแล้วกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ส่วนมากเป็นไปในแบบตัดไม่ให้โตเร็ว เข้าใจว่าอาจไม่อยากมาตัดหลายรอบ  ต้นไม้ของกรุงเทพมหานคร จึงเหมือนโดนหักแข้งหักขา เรียกว่าไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โตแถมอัปลักษณ์อีกต่างหาก

กระนั้น ผมก็ไม่เชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะไม่มีการอบรมพนักงานในการตัดต้นไม้ ไม่มีรุกขกรในการดูแลต้นไม้ กรุงเทพฯ เองก็มีสำนักงานสิ่งแวดล้อมประจำเขต ก็น่าจะมีคำแนะนำ มีมาตรการขั้นตอนต่างๆ ให้กับพนักงาน แต่ทำไมผลออกมาถึงไม่สวยอย่างที่ควรเป็น เวลาปลูกก็เหมือนกัน ต้นไม้บางพันธุ์ก็ดูอยู่ผิดที่ผิดทาง ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมอย่างกรุงเทพฯ

เห็นเรื่องแบบนี้บ่อยจนเริ่มคิดว่า เอ หรือว่าพวกเราผิดเองที่คาดหวังมากไป ต้นไม้อาจไม่ใช่ความภูมิใจของพนักงานกทม. ก็ได้ เขาอาจแค่ทำเพื่อให้มีงานทำ ความภูมิใจในงานตัดแต่งต้นไม้ของเมืองนี้ อาจดูต่ำต้อยเกินกว่าจะทำให้พวกเขารู้สึกถึงคุณค่า แบบที่เราเคยเห็นในเมืองอื่นที่ต้นไม้ถือเป็นของมีค่าเพราะต้นไม้ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น ช่วยฟอกอากาศ สร้างความร่มรื่น บ้านเราคนดูแลเสาไฟฟ้าอาจดูมีภาษีและดูมีความรู้มากกว่า (?)

ความไม่ภูมิใจส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าโจทย์ของการตัดต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เรามักได้ยินจากหน่วยงานของรัฐมาตลอดเวลาก็คือ ต้องตัดเพื่อรักษาความปลอดภัย แทบไม่เคยได้ยินว่า ออกมาตัดแต่งต้นไม้ใหญ่เพื่อความสวย อย่างมากก็ตัดหญ้า แต่งไม้พุ่มเสียเป็นส่วนมาก

สิ่งนี้อาจฟังมีน้ำหนักหากว่ากรุงเทพมหาครแห่งนี้เป็นเมืองที่มีต้นไม้หนาแน่นมากที่สุดของโลก

แต่จริงๆ แล้ว จากข้อมูลของ The Humanitary Data Exchange เรื่องพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ (Green Area Per Capita) ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 กรุงเทพมหานครของเรามีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามเกณฑ์มาตรฐานของเมืองใหญ่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เมืองใหญ่ควรมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 9 ตารางเมตร/คน แต่กรุงเทพฯ มีเพียง 6.6 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ในขณะที่ซิดนีย์ของออสเตรเลียมีพื้นที่สีเขียว 235 ตรม./คน ลอนดอน 32 ตรม./คน เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ก็มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวมากกว่าเรา 10 เท่านั้นคือ 66 ตรม./คน นั่นหมายความว่าเมืองเหล่านั้นน่าจะมีปัญหาเรื่องต้นไม้กับปลอดภัยมากกว่าเราด้วยหรือเปล่า

แล้วเขาจัดการอย่างไร

 

ส่องต้นไม้เพื่อนบ้าน

 

ผมจะพาไปส่องเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ซึ่งชูเรื่องเมืองสีเขียวมานานมากและทำอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์เริ่มแผน ‘Garden City Program’ มาตั้งแต่ปี 1967 จัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองโดยเฉพาะ

ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์คิดเป็น 47% ของพื้นที่ทั้งหมด สิงคโปร์กำหนดวิธีการขออนุญาตสร้างตึกใหม่ๆ ว่าต้องต้องมีพื้นที่สีเขียวด้วย และพันธุ์ไม้ก็ต้องคัดสรรแล้วว่าเหมาะกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

การจัดการต้นไม้ที่มากมายของสิงคโปร์เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ไม้ สิงคโปร์มีฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับภูมิภาคเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ ในภาพใหญ่ ประเทศสิงคโปร์มีหน่วยงานที่เป็นเหมือนรุกขกร คอยดูแลความเรียบร้อยแต่ละเขต มีการกำหนดการปลูกต้นไม้ยืนต้นบางประเภทให้ปลูกอยู่ในย่านเดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษา อีกทั้งยังเป็นการบอกอาณาเขตของแต่ละย่านได้โดยง่าย คนที่ไม่เคยไปก็สามารถสังเกตได้ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังใช้พื้นที่สีเขียวดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างอัตลักษณ์ของเมืองอีกด้วย

เป้าหมายของสิงคโปร์ต่อจากนี้ไม่ใช่เมืองสีเขียวแล้ว แต่ขยับไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นคือ เป็นเมืองที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ (City in Nature) เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ แซมเข้าไปท่ามกลางต้นไม้สีเขียว

เชื่อขนมกินได้ว่า ก็ต้องมีคนยกแขนค้านผมว่า สิงคโปร์ทำได้เพราะเมืองเล็ก รวยกว่า คนน้อยกว่า ก็ไม่ยากที่จะทำได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดผมคิดว่าอยู่ที่ความเอาจริงเอาจังของผู้นำ ที่ไม่ละทิ้งความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาเมืองในด้านอื่น

ไม่ใช่เพียงแค่คนดูแลต้นไม้เท่านั้นที่ภูมิใจและรักในต้นไม้ แต่ประชาชนของสิงคโปร์ต่างให้ความสำคัญอย่างมากต่อพื้นที่สีเขียว การที่คนสิงคโปร์ต้องอยู่ในอพาร์ทเม้นท์แคบๆ สวนสาธารณะเล็กๆ ระหว่างตึกถือเป็นสถานที่พักผ่อนและคลายเครียดให้กับพลเมืองได้เป็นอย่างดี

พาไปดูอีกประเทศหนึ่งอย่างนิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ 30% เป็นเขตอนุรักษ์ และพยายามรักษาสมดุลและสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านพื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ได้อย่างลงตัว

นิวซีแลนด์มีกฎหมายเข้มงวดมากเรื่องการตัดต้นไม้ ซึ่งได้อิทธิพลมาจากอดีตประเทศแม่อย่างอังกฤษ กล่าวคือการตัดต้นไม้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ในพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่สาธารณะ หากต้นไม้ยืนต้นมีอายุที่ถึงกำหนดที่รัฐกำหนดไว้ ต้องขออนุญาตก่อนตัดและการปลูกใหม่ก็ต้องดูความเหมาะสมว่าพืชนั้นเหมาะกับภูมิประเทศและไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศดั้งเดิม

นิวซีแลนด์ตั้งเป้าว่าในปี 2028 จะเป็นประเทศที่มีต้นไม้เกิน 1,000 ล้านต้น พวกเขาทำโครงการที่ชื่อ Right Tree, Right Place, Right Purpose ขึ้นมาและชวนประชาชนให้มาร่วมโครงการ กลยุทธ์ของนิวซีแลนด์คือไม่ใช่แค่เรื่องของจำนวน แต่เป็นเรื่องของการปลูกต้นไม้อย่างเหมาะสมกับธรรมชาติ มีเป้าหมายของการปลูกแต่ละต้นอย่างชัดเจนเหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศเพื่อให้เกิดความสมดุล ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกต้นไม้ไปจนกระทั่งถึงการดูแล โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของทั้งภาคประชาชนและรัฐ

 

ต้นไม้: ของหลวงหรือของเรา

 

คราวนี้หันมาดูในกรุงเทพฯ เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ทุกคนเคยได้ยินเรื่องกรุงเทพฯ เมืองสีเขียว Green Bangkok 2030 โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสวนหย่อมให้มีจุดพื้นที่สีเขียวทุกๆ 400 เมตร ฯลฯ กรุงเทพมหานครยังบอกด้วยว่าหากประชาชนต้องการเข้าร่วมโดยมีพื้นที่รกร้างต้องการให้กรุงเทพมหานครเข้าไปปลูกต้นไม้ก็แจ้งความจำนงค์ไปได้

ผมคิดว่าเรื่องการปลูกและรักษาต้นไม้อย่างจริงจังจะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐยังทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนและชุมชนไม่ได้ร่วมมีสิทธิในการกำหนดต้นไม้ของพวกเขาแต่แรก พูดง่ายๆ คือการทำงานแบบบูรณาการไม่เคยเกิดขึ้นจริงระหว่างหน่วยราชการด้วยกันเองหรือกับประชาชน ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากมากที่เราจะเห็นภาพรวมของการออกแบบเมือง

การจัดการกับต้นไม้ของรัฐจึงเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่รัฐทำกับประชาชน คือยังเป็นการคิดแบบรวมศูนย์ ไม่ได้มองเห็นชุมชนอยู่ในนั้น ซึ่งถือว่าเป็นแก่นของปัญหาเชิงโครงสร้างเกือบทุกมิติในสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องต้นไม้

ต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นของที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง แต่ความที่รัฐเข้ามาควบคุมมากจนเกินไป ทำให้ต้นไม้เหล่านี้มีความเป็น ‘ของหลวง’ มากกว่าของชุมชน และชุมชนเองก็ไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริงๆ พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลเพราะรัฐกันุชมชน หรือกันความเป็น ‘สาธารณะ’ ออกไปตั้งแต่ต้น

คำว่า ‘สาธารณะ’ ในแบบไทยๆ จึงไม่ใช่สิทธิสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ต้นไม้ก็เลยถูกจัดการแบบไม่เข้าใจ จนเกิดทัศนะอุจาดขึ้นในเมืองซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้เท่านั้น แต่ทั้งทางเท้า ตลาดสด รถเข็นหรือการทำรถไฟฟ้าลอยฟ้า ฯลฯ ทัศนะอุจาดทั้งหมดล้วนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างแบบเดียวกัน คือเป็นเรื่องของหลวงไม่ใช่เรื่องของเรา

ผมแค่อยากให้เราเกรงใจสิ่งมีชีวิตที่ให้ออกซิเจนกับเรา อย่าทำเป็นเหมือนต้นไม้มันไม่มีชีวิต

และอย่าลืมว่าใต้ต้นไม้ที่ดูไม่สวยเหล่านั้น ก็มีหัวของประชาชนอยู่ด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save