fbpx
วิฬาร์ ยอดนักฟิสิกส์

วิฬาร์ ยอดนักฟิสิกส์

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

วันที่ 1 เมษายน 2014 สมาคมฟิสิกส์แห่งอเมริกา (American Physical Society) ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ กล่าวคือเปเปอร์วิทยาศาสตร์ทุกฉบับของสมาคมที่มี ‘แมว’ เป็นผู้เขียนหรือร่วมเขียน จะเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีสำหรับทุกคน

บางคนอาจจะสะดุดตากับวันที่…ใช่แล้วครับ มันคือ ‘โจ๊กวันโกหกโลก’ !

แต่…ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ไม่ใช่จะไม่มีแมวที่ตีพิมพ์เปเปอร์ฟิสิกส์ซะทีเดียว – ผ่าง!

ใครที่เรียนระดับปริญญาเอกสายวิทยาศาสตร์ คงรู้รสชาติของการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารนานาชาติว่า การจะตีพิมพ์เปเปอร์วิทยาศาสตร์สักฉบับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นงานในสาขาฟิสิกส์ และลงในวารสารชื่อดังก็ยิ่งยากจนแทบจะลืมไปได้เลย

แต่ครั้งหนึ่งในปี 1975 มีเปเปอร์ฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ Physical Review Letters ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน 1975 กลับมี ‘แมว’ ตัวหนึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนเปเปอร์

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์แจ็ก เฮเธอริงตัน (Jack Hetherington) เขียนเล่าไว้หนังสือชื่อ More Random Walks in Science (CRC Press, 1982) ว่า ตอนที่แกอยู่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตตและกำลังจะตีพิมพ์เปเปอร์ชื่อ ‘Two-, Three-, and Four-Atom Exchange Effects in bcc ³He’ นั้น [1]

มีปัญหาไม่ใหญ่แต่สำคัญเกิดขึ้น คือเมื่อส่งเปเปอร์ให้เพื่อนร่วมงานช่วยอ่านเพื่อให้คำแนะนำขณะที่ปรับแก้นั้น แม้ว่าเฮเธอริงตันจะลงชื่อตัวเองไว้คนเดียว แต่จะด้วยความเคยชินหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ มีเพื่อนร่วมงานสังเกตเห็นว่า แกใช้คำว่า ‘เรา’ ในทุกแห่งในเปเปอร์ ซึ่งจะต้องโดนปฏิเสธไม่ให้ตีพิมพ์แหงๆ หากจะยังส่งไปให้ทางวารสารพิจารณาเพื่อตีพิมพ์

แล้วจะทำยังไงล่ะทีนี้

ลองนึกภาพว่ายังอยู่ในยุคที่ต้องใช้พิมพ์ดีดเพื่อพิมพ์งาน และอาจจะยังไม่มี ‘ลิควิด’ เอาไว้ป้ายลบคำผิด จะพิมพ์ใหม่หมดก็…ใช่ที่ (แหะๆ) เสียชื่อนักฟิสิกส์หมด

เขาเล่าไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า “ดังนั้น หลังจากคิดอยู่คืนหนึ่ง ผมก็แค่ขอให้เลขาเปลี่ยนหน้าแรก โดยใส่ชื่อแมวที่บ้านลงไปด้วย”

แต่ครั้นจะใส่ชื่อ ‘เชสเตอร์’ ลงไปแบบนั้น คนที่ภาควิชาต้องสงสัยแน่นอน ก็เลยต้องมีลีลาสักนิดนึง แกเลยให้ใส่ว่า F.D.C. Willard โดย F.D.C. เป็นตัวย่อที่มาจาก Felis Domesticus Chester โดยเลียนแบบมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ของแมวบ้านคือ Felis catus domesticus ผสมกับชื่อตัวคือ ‘เชสเตอร์’ นั่นเอง

ส่วนวิลลาร์ดเป็นชื่อพ่อของเชสเตอร์อีกที

ถึงปัจจุบันก็มีคนอ้างอิงเปเปอร์นี้ไปราว 70 ครั้งแล้ว ถือว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับเปเปอร์แรกของแมวนักฟิสิกส์

ความดังของเชสเตอร์นี่ถึงระดับที่มีคนยกย่องว่า นับเป็นแมวที่ดังที่สุดในวงการฟิสิกส์ จะเป็นรองก็แต่ ‘แมวของชโรดิงเจอร์’ (หรือจะสะกดให้ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตสภาก็ต้องว่า ‘ชเรอดิงเงอร์’) เท่านั้น!

เรื่องการเอาชื่อเชสเตอร์มาเป็น ‘ผู้ร่วมเขียน’ เปเปอร์ไม่ใช่แค่เรื่องทำเอาฮานะครับ ก็มีปัจจัยแวดล้อมยุ่งๆ อยู่ข้างหลังเหมือนกัน คือเงินค่าตอบแทนสำหรับการตีพิมพ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนผู้เขียน และผู้ที่มีชื่อในเปเปอร์ต้องแสดงความรับผิดชอบกับเนื้อหาในนั้น หากมีอะไรผิดพลาดก็จะย่ำแย่ไปด้วยกัน

ก็เลยใช่ว่าจะซี้ซั้วใส่ชื่อใครเข้าไปได้

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสนุกไปกับเรื่องนี้นะครับ บรรณาธิการวารสารฉบับดังกล่าวไม่ขำไปด้วยกับผู้เขียนเท่าไหร่!

หลังจากตีพิมพ์แล้ว ปกติผู้เขียนจะได้รับฉบับรีพรินต์จำนวนหนึ่ง เพื่อไว้ให้เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน หรือนักวิจัยด้วยกันที่เขียนขอฉบับตีพิมพ์จริงมา เฮเธอริงตันแกก็เซ็น แล้วก็จับมือเชสเตอร์ปั๊ม ‘ตีนแมว’ ด้วย ถือเป็นลายเซ็นที่ครบถ้วนของผู้ร่วมเขียนเปเปอร์ทั้งสองคน (ที่จริงคือ หนึ่งคนกับหนึ่งตัว) พวกเพื่อนร่วมงานของเขาก็มองว่าเฮฮาดี เห็นเป็นเรื่องตลกชวนขบขัน

ขนาดหัวหน้าภาคฟิสิกส์ของเขารู้เข้า ยังมองว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร

แต่ก็มีเรื่องมีราวเล็กๆ น้อยๆ ตามมานิดหน่อย คือคราวหนึ่งมีคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการ จะเชิญ F.D.C. Willard ไปพูด เพราะเห็นว่ามีแต่คนเชิญเฮเธอริงตัน แต่ไม่เคยมีใครเชิญวิลลาร์ดไปพูดที่ไหนเลยเกี่ยวกับเปเปอร์นี้ เฮเธอริงตันจึงส่งจดหมายตอบรับ แล้วประทับรอยเท้าของเชสเตอร์ลงตำแหน่งที่ต้องเซ็นชื่อ

ผลคือ…ทั้งเฮเธอริงตันและวิลลาร์ด ไม่มีใครได้รับเชิญไปพูดสักคน!

อีกครั้งหนึ่ง มีคนมาเยี่ยมชมแล้วถามหาตัวเฮเธอริงตัน แต่แกไม่อยู่ตอนนั้น ก็เลยจะขอเจอวิลลาร์ดแทน เลยมีคนในภาควิชาพา ‘วิลลาร์ด’ (ซึ่งเฮเธอริงตันก็พาเชสเตอร์มาที่ภาควิชาตลอด) ออกมาพบแทน เรื่องก็เลยโป๊ะแตก

ทุกคนก็หัวเราะกันครื้นเครงตรงนั้น!

แต่ยังครับ วีรกรรมของแมวเชสเตอร์ยังไม่หมด (เอ่อ…อันที่จริง ต้องบอกว่าวีรกรรมของเจ้าของมันมากกว่านะครับ แหะๆ)

หลายปีต่อมา เฮเธอริงตันเกิดเห็นต่างกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับแนวคิดที่จะนำเสนอในเปเปอร์ฉบับหนึ่ง ตกลงกันไม่ได้ จะโยนทิ้ง ไม่ส่งซะเลย ก็เสียดายอีก สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็เจรจาจนได้ข้อตกลงว่า จะใช้ชื่อวิลลาร์ดเป็นคนเขียนเปเปอร์ (แค่ชื่อเดียว!)

วิลลาร์ดเลยได้ตีพิมพ์งาน (ที่ไม่ได้ทำสักนิด) อีกครั้ง คราวนี้ส่งไปไกลทีเดียว คือไปลงที่วารสารของฝรั่งเศสชื่อ La Recherche [2]

เขียนถึงแฟนเหมียว ไม่พูดถึงแฟนโฮ่งบ้าง เดี๋ยวจะมีน้อยใจ

นักวิทยาภูมิคุ้มกัน (immunologist) ชื่อ พอลลี แมตซิงเกอร์ (Polly Matzinger) ซึ่งคิดค้นแบบจำลองที่ใช้อธิบายการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ‘แบบจำลองอันตราย’ (danger model) รายละเอียดช่างมันละกันนะครับ ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะกล่าวถึง

แต่ประวัติเธอน่าสนใจมากๆ

ปี 2002 เธอเคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารดิสคัฟเวอร์ (Discover) ให้เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงหนึ่งในร้อยคนที่สำคัญที่สุดในปีนั้น [3] เห็นอย่างนี้ นึกว่าจะมาแนว ‘เด็กเรียน’ ปรากฏว่าไม่เลย!

เธอเกิดที่ฝรั่งเศส มีแม่เป็นคนฝรั่งเศส ส่วนพ่อเป็นคนดัตช์ ต่อมาย้ายตามพ่อแม่มาอยู่สหรัฐฯ ก่อนจะเรียนจบมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี เธอทำงานหลากหลายอย่างมาก (สงสัยฐานะครอบครัวไม่ค่อยดี หรือไม่ก็มีนิสัยชอบผจญภัย) เธอเป็นนักดนตรีแจ๊ส โดยเล่นเบส เคยเป็นช่างไม้ เคยเป็นครูฝึกสุนัข เคยเป็นบริกร และเคยเป็นแม้กระทั่งนางกระต่ายเพลย์บอย!

อ่านแล้วนึกถึงสาวแกร่ง ‘แคเธอรีน วิลโลว์’ แห่งซีรีส์ CSI ขึ้นมาเลยทีเดียว

กลับมาที่งานวิจัยวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะหลุดไปไกลกว่านี้ คราวหนึ่งเธอตีพิมพ์เปเปอร์ในวารสาร Journal of Experimental Medicine โดยใช้ชื่อเล่นของสุนัขอัฟกันฮาวด์ของเธอเป็นผู้ร่วมเขียนด้วย คือใช้ชื่อว่า กาลาเดรียล  เมิร์กวูด (Galadriel Mirkwood) [4]

ใครที่เป็นแฟนของมหากาพย์ลอร์ดออฟเดอะริงส์ คงจะคุ้นชื่อนี้ดี … ใช่ครับ เธอเอาชื่อของ ‘เลดี้กาลาเดรียล’ แห่งป่าลอธอเรียนในหนังสือและภาพยนตร์ชุดนี้มาใช้นั่นเอง

แต่กรณีของแมตซิงเกอร์ไม่โชคดีเท่ากับกรณีของเฮเธอริงตัน เพราะทางบรรณาธิการไม่ตลกด้วย (อย่างแรง!) เธอโดนห้ามไม่ให้ตีพิมพ์เปเปอร์ที่มีชื่อของเธอเป็นผู้เขียนหลักในวารสารฉบับดังกล่าวอีก จนกว่า… บรรณาธิการจะเสียชีวิตและมีบรรณาธิการคนใหม่มาทำหน้าที่แทน

เรียกว่าแค้นฝังหุ่น… เกลียดกันจนวันตายทีเดียว!

แต่เรื่องแอบเอาชื่อสัตว์เลี้ยงมาใส่ไว้เป็นชื่อผู้ร่วมเขียนเปเปอร์ ไม่น่าจะหมดไปง่ายๆ น่าจะมีแอบซ่อนอยู่อีกพอสมควร อีกรายหนึ่งที่โด่งดังมาก เพราะผู้ตีพิมพ์เป็นถึงนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2010 (จากงานเกี่ยวกราฟีน) ทีเดียว นั่นก็คือ เอ. เค. ไกอ์ม (A.K. Geim)

ปี 2001 ไกอ์มตีพิมพ์เปเปอร์ลงในวารสารระดับต้นๆ ของวงการคือ Physica B. Condensed Matter [5] โดยมีผู้ร่วมตีพิมพ์คือ เอช.เอ.เอ็ม.เอส. เทอร์ ทิชา (H.A.M.S. ter Tisha) ซึ่งหากสังเกตชื่อให้ดี อาจจะสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่า มาจาก hamster Tisha นั่นเอง บราโว่!

ใช่แล้วครับ ทิชาก็คือแฮมสเตอร์ที่เขาเลี้ยงไว้นั่นเอง

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับไกอ์มอีกเรื่องก็คือ เขาเคยได้รับรางวัลอิ๊กโนเบล (Ig Nobel Prize) หรือโนเบลฉบับฮาในปี 2000 เกี่ยวกับงานวิจัยแม่เหล็กไฟฟ้า เพราะเขาใช้แรงยกจากแม่เหล็กไฟฟ้ายก ‘กบ’ ให้ลอยตัวอยู่ในอากาศได้

นับจนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายรัสเซียที่ทำงานในอังกฤษและได้รับยศท่าน ‘เซอร์’ ด้วยผู้นี้ ก็ยังเป็นคนเดียวที่ได้รับรางวัลระดับโลกทั้งโนเบลและอิ๊กโนเบล!

เอกสารอ้างอิง

[1] Two-, Three-, and Four-Atom Exchange Effects in bcc 3He

[2] Willard, F. D. C. (1980), “L’hélium 3 solide. Un antiferromagnétique nucléaire”, La Recherche, 114

[3] Polly Matzinger 

[4] In a fully H-2 incompatible chimera, T cells of donor origin can respond to minor histocompatibility antigens in association with either donor or host H-2 type

[5] Geim, A. K.; Ter Tisha, H. A. M. S. (2001). “Detection of earth rotation with a diamagnetically levitating gyroscope”. Physica B: Condensed Matter. 294–295: 736–739. Bibcode:2001PhyB..294..736G. doi:10.1016/S0921-4526(00)00753-5. hdl:10498/19331.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save