fbpx
อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ : เรื่องดีๆ ของกอสซิป

อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ : เรื่องดีๆ ของกอสซิป

จริงอยู่ การนินทาเป็นพฤติกรรมที่ถามใคร ใครก็เบือนหน้าหนี บอกว่าเป็นพฤติกรรมที่แย่เหลือหลาย หลายศาสนาบอกว่าการนินทาหรือพูดจาไม่ดีลับหลังคนอื่นนั้นเป็นบาป ในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 16 และ 17 ใครขี้เมาท์มากเกินเหตุ บางทีถึงขั้นต้องถูกจับใส่ ‘ตะกร้อ’ (เรียกว่า Brank) ซึ่งมีลักษณะเป็นสวมหัวมีเหล็กมาครอบปากทำให้พูดไม่ได้กันเลยทีเดียว

 

แต่ถึงใครจะหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่การนินทาแค่ไหน ก็ถามหน่อยเถอะ-ว่ามีใครบ้าง, ที่ไม่นินทาคนอื่นเลยแม้แต่นิดเดียว

แทบจะไม่มี!

แน่นอน การซุบซิบนินทานั้นส่งผลร้ายอยู่เหมือนกัน เช่น อาจทำให้ข่าวเสียหายเกี่ยวกับคนที่ถูกนินทาแพร่ไปผิดๆ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และอื่นๆ อีกหลายอย่างดังที่เราน่าจะรู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียของมัน คุณอยากรู้ไหมว่า การนินทากาเลเหมือนเทน้ำนั้น มันมี ‘ข้อดี’ ของมันบ้างหรือเปล่า

ถ้าคุณอยากรู้เรื่องนี้-ก็พึงรู้ไว้ว่า คุณอยากรู้เหมือนกับนักวิจัยสังคมจำนวนมากจากหลากหลายสถาบันกันเลยทีเดียว มีงานวิจัยที่พยายามดูว่า การนินทามี ‘ฟังก์ชัน’ ในแง่บวกของมันบ้างหรือเปล่า นอกเหนือไปจากทำให้คนต้องอับอายหรือใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายคนอื่นแล้ว ซึ่งคำตอบก็คือ-มี!

ในงานวิจัยชื่อ The Virtues of Gossip หรือว่า ‘คุณธรรมของการนินทา’ ของแมทธิว ไฟน์เบิร์ก (Matthew Feinberg) และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Review of General Psychology เขาบอกว่าการนินทาเป็นเรื่องสำคัญของสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณเลยทีเดียว

ถ้าคุณสังเกตดูให้ดี ว่าการนินทาไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ แต่ ‘เรื่อง’ ที่จะเอามานินทากันนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง อาทิเช่น เป็นเรื่องที่ ‘สำคัญ’ (Significant) ต่อแวดวงสังคมนั้นๆ โดยการนินทาจะต้องมี ‘มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์’ ซ่อนอยู่ข้างใต้เสมอ งานวิจัยนี้บอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว การทำให้ผู้ถูกนินทาเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น มักจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการนินทา และจำนวนมากก็ถึงขั้นไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ตัวคน’ ด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญคือ ‘เรื่อง’ ที่นินทาต่างหาก

การนินทามักจะเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจาก ‘บรรทัดฐานของสังคม’ (Social Norm) ของสังคมนั้นๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างเดียว ใครทำอะไรกระโดดเด้งดีงาม ก็มักจะเป็นที่พูดถึงด้วย ซึ่งก็คือการนินทาเหมือนกัน แต่เรื่องร้ายๆ ของคนจะฝังลึกเป็นที่จดจำมากกว่า ทำให้คนมักมองว่าการนินทามีแต่เรื่องเสียหาย

การนินทาในแง่นี้จึงมี ‘หน้าที่’ ของมันในฐานะการส่งต่อข้อมูลข่าวสารในกลุ่ม คล้ายๆ กับสัตว์ฝูงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องแหล่งอาหารผ่านฟีโรโมนหรือวิธีการอื่นๆ เพื่อให้ฝูงนั้นอยู่รอดและมีวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อมาได้ แต่สำหรับมนุษย์แล้ว เนื่องจากเรามีวิวัฒนาการทางสมองมากจนสามารถคิดค้น ‘ภาษา’ ขึ้นมาใช้ เราจึงอาศัย ‘ภาษา’ มาทำหน้าที่นี้แทนฟีโรโมนต่างๆ

โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Psychologist) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บอกว่าการซุบซิบนินทาที่ซ่อนอยู่ใน ‘ภาษา’ นี่แหละ คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิด ‘สังคม’ ของมนุษย์อย่างที่มันเป็น

ดันบาร์มีตัวเลขสำคัญอยู่ตัวเลขหนึ่งที่เกิดจากการทำวิจัยต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ตัวเลขนั้นเรียกว่า Dunbar’s Number หรือ ‘ตัวเลขของดันบาร์’ เป็นตัวเลขของ ‘จำนวนคน’ ที่มนุษย์เราแต่ละคนจะสามารถรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้แบบคงที่ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นตัวเลขของเพื่อนและคนรู้จักที่เราคบหาสนิทสนมและรักษาความสัมพันธ์กันไว้สม่ำเสมอ ดันบาร์บอกว่าตัวเลขเฉลี่ยนี้อยู่ที่ 148 คน (ซึ่งบางคนก็มากหรือน้อยกว่านี้) คือพ้นจากวงนี้ไปแล้ว ความสัมพันธ์จะไม่คงที่ (Stable) แล้ว แต่ถามว่า คนในวง 148 คนที่ว่านี้ รักษาสัมพันธ์กันได้อย่างไร คำตอบก็คือ ‘การเมาท์’ นั่นเอง

การเมาท์ไม่ได้เป็นแค่การเรียนรู้ถึงบรรทัดฐานหรือ Norm ต่างๆ ของสังคมเท่านั้น แต่ดันบาร์บอกว่ายังเป็นการเรียนรู้ถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม (Cultural Norm) ของสังคมนั้น รวมไปถึงการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น ได้สร้างการทำงานร่วม (ผ่านการเมาท์นี่แหละ!) และยังทำให้คนแต่ละคนได้ประเมินความสำเร็จของตัวเอง (เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นผ่านการเมาท์) และมองเห็นถึง ‘จุดยืนร่วม’ ของสังคมที่คนคนนั้นสังกัดอยู่อีกด้วย

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเมาท์ก็เปิดโอกาสให้คนบางคนทำตัวเป็น ‘ตำรวจนอร์ม’ (คล้ายๆ ที่เราเรียกคนที่ชอบแก้ไขภาษาของคนอื่นว่า ‘ตำรวจภาษา’) ซึ่งพวกตำรวจนอร์มนี้อาจจะใช้การเมาท์เพื่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียก็ได้ ที่น่าสนใจก็คือ มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของ Sally Farley ที่พูดถึง ‘อำนาจ’ ของการกอสซิป ซึ่งไม่ใช่แค่อำนาจในการควบคุมคนอื่นให้เป็นไปตามนอร์มของสังคมเท่านั้น แต่การกอสซิปยังมีอำนาจในการควบคุมผู้กอสซิป (หรือคนขี้เมาท์) ได้อีกด้วย

งานวิจัยนี้บอกว่า คนที่ขี้เมาท์ (คือเมาท์บ่อยๆ) นั้น จะถูกมองว่าเป็นคนที่มีอำนาจในสังคมน้อยกว่าคนที่เมาท์น้อยๆ (ประเภทไม่ค่อยพูด แต่พูดทีก็แตกฮืออะไรทำนองนั้น) ที่สำคัญ บางคนชอบคิดว่าตัวเองมีข่าวมาเล่าให้เพื่อนฟังโดยเฉพาะข่าวแง่ลบ คือข่าวที่บอกว่าคนโน้นคนนี้ไม่ดีอย่างไรบ้าง (โดยเวลาพูดก็จะชอบลดเสียงให้เบาลง) โดยคิดว่าตัวเองคงเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นเพราะได้ ‘คาบข่าว’ มาบอกคนอื่นให้รู้แต่เนิ่นๆ แต่งานวิจัยนี้บอกว่า เอาเข้าจริง คนที่เมาท์เรื่องในแง่ลบ จะเป็นที่ชื่นชอบน้อยกว่าคนที่ซุบซิบนินทาในแง่บวก (แต่ก็แน่นอนว่าเรื่องแง่ลบจะเป็นที่จดจำได้มากกว่าเรื่องแง่บวกด้วย)

มันจึงเป็นการ ‘คานอำนาจ’ กันระหว่างการเมาท์มากเมาท์น้อยและเมาท์เรื่องดีเมาท์เรื่องแย่

แม้แต่ Fast Company ซึ่งเป็นนิตยสารเชิงธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ ก็ยังเคยมีบทความเขียนถึงการซุบซิบนินทา แต่เขาบอกว่าให้พยายาม ‘ใช้ประโยชน์’ จากมัน โดยแนะนำเอาไว้ 5 อย่าง คือ

  1. เวลาเกิดอยากจะนินทาเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายขึ้นมาละก็ ให้รีบดูทันทีว่าทำไมเราอยากนินทา เพราะการนินทาแปลว่ามันต้องมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแน่ๆ อะไรทำให้เราโกรธเจ้านาย รำคาญเพื่อนร่วมงาน คือถ้าเราเห็น ‘ปัญหา’ ได้ ก็จะรู้ว่าควรเอาเรื่องนี้ไป ‘นินทา’ (หรือปรึกษา) กับใครดี ถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด คือได้ระบายความอัดอั้นด้วย แล้วก็มีคนมาช่วยแก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่เมาท์แตกไปวันๆ จนในที่สุดก็อาจส่งผลร้ายต่อตัวเอง
  1. การนินทาเรื่องเบาๆ เล็กๆ น้อยๆ ในหมู่เพื่อนสนิทหรือเพื่อนร่วมงานที่สนิท ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในกลุ่ม ที่สำคัญคือมันเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการ ‘กำจัด’ คนที่เข้ากันกับกลุ่มนั้นๆ ไม่ได้ออกไปด้วย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นอย่างพอดี ไม่มากเกินไป ก็จะทำให้กลุ่มนั้นๆ ทำงานได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ
  1. นักจิตวิทยาอย่าง Robb Willer บอกว่าการนินทาช่วยลดความเครียดได้ การกระจายข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เรารู้สึกว่าทำผิด Norm บางอย่าง จะช่วยลดความรู้สึกภายในของเราลง ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งผลดีต่อสุขภาพของเราอีกต่างหาก แต่กระนั้นก็พึงระวังถึง ‘ผลลัพธ์’ ที่จะตามมาด้วย
  1. นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกรนินเกน (Groningen) ในเนเธอร์แลนด์ ศึกษาถึงผลบวกและผลลบของการกอสซิป และพบว่าถ้าเรากอสซิปเรื่องดีๆเกี่ยวกับคนอื่น จะส่งผลให้ตัวเราอยากปรับปรุงตัวเองมากขึ้น ในขณะที่การกอสซิปเรื่องแย่ๆแง่ลบ ก็จะช่วยให้เราตอกย้ำข้อมูลนั้นๆ กับตัวเอง ทำให้เราไม่อยาก ‘เสี่ยง’ ที่จะทำผิดพลาดแบบเดียวกันกับเรื่องที่เราเมาท์อยู่
  1. การซุบซิบข้อมูลเรื่อง ‘ส่วนตัว’ ประมาณว่าลับมากนะ-อย่าไปบอกใคร (แต่สุดท้ายก็ปิดกันให้แซ่ด) มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ บอกว่าที่จริงแล้วเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทชิดใกล้ให้คนที่ ‘แชร์’ ข้อมูลเหล่านั้นระหว่างกันด้วยซ้ำ

อันนินทากาเลจึงเหมือนเทน้ำจริงๆ แต่เป็นการ ‘เทน้ำออกจากอก’ ทำให้เกิดความโล่งขึ้นมาได้อย่างประหลาด

มิน่าล่ะ-ถึงได้ขี้เมาท์กันทั้งประเทศแบบนี้!

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ Five Hidden Benefits Of Gossip ของ Stephanie Vozza จาก Fast Company, March 5, 2015

-งานวิจัย The Virtues of Gossip จาก American Psychological Association 2012

-งานวิจัยเกี่ยวกับอำนาจของการนินทา Is gossip power? The inverse relationships between gossip, power, and likability ของ Sally D. Farley จาก Wiley Online Library, June 1, 2011

-บทความเกี่ยวกับการนินทา Have You Heard? Gossip Is Actually Good and Useful ของ Julie Beck ใน The Atlantic, 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save