fbpx
ไม่ลืม Goodbye, Dragon Inn

ไม่ลืม Goodbye, Dragon Inn

‘นรา’ เรื่อง

 

ในงานเทศกาลหนังไต้หวันเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีหนังเก่า 2 เรื่องสำคัญเข้าร่วมโปรแกรมฉาย นั่นคือ Yi Yi (A One and a Two) ผลงานปี 2000 ของเอ็ดเวิร์ด หยาง และ Goodbye, Dragon Inn หนังปี 2003 ของไฉ้หมิงเลี่ยง

ทั้ง 2 เรื่องเป็นผลงานประเภทว่า นักดูหนังสายเข้มข้นเอาจริงเอาจัง พึงต้องขวนขวายหาโอกาสดูให้ได้สักครั้งในชีวิตเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลแก่ตนเองในทางภาพยนตร์

ผมจับอกจับใจและมีความสุขมากกับการได้มีโอกาสดูหนัง 2 เรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง และตื่นเต้นเร้าใจเป็นพิเศษกับประสบการณ์ดูในโรงหนังจอใหญ่ๆ เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะกับเรื่อง Goodbye, Dragon Inn ซึ่งแสดงฤทธิ์เดชถึงขั้นต้องยกให้เป็น ‘หนังในดวงใจ’ ทันทีหลังจากดูจบ

 

 

ผมแรกเริ่มรู้จักและได้ดูผลงานของไฉ้หมิงเลี่ยงในวาระใกล้เคียงกันกับช่วงเพิ่งพานพบหนังของหว่องกาไว สิ่งที่พ้องพานโดยบังเอิญก็คือ คนทำหนังคู่นี้ต่างขึ้นชื่อลือเลื่องในการถ่ายทอดอารมณ์เหงาได้อย่างเอกอุฉกาจฉกรรจ์ และมีท่วงทีลีลาเฉพาะตนในการทำหนังที่เด่นชัดถนัดถนี่ไม่เหมือนใคร

ต่างแค่ว่า ความเหงาในหนังของหว่องกาไวนั้น ตรงกับนิยาม ‘เดียวดายอย่างโรแมนติก’ ในท่ามรสขมนั้นคละระคนปนด้วยความหวานซึ้งตรึงใจ แต่ความเหงาในหนังของไฉ้หมิงเลี่ยง หม่นเศร้าเจ็บปวด ชวนให้ทุรนทุรายใจ

รวมทั้งมีสรรพคุณเป็นยานอนหลับขนานเอก ไม่ใช่สิครับ เป็นยาสลบชนิดแรงน่าจะถ่องแท้ถูกต้องกว่า

หนังของไฉ้หมิงเลี่ยงสามารถดาลใจให้ดูแล้วรักหรือเกลียดได้โดยง่าย ถ้าผู้ชมต่อติดเข้าถึงตัวหนัง มันคืองานที่เลอเลิศยอดเยี่ยมมาก แต่หากรสนิยมไม่ถูกโฉลก ไม่ต้องตรงกัน มันคืองานที่ดูแล้วชวนให้นึกอยากสบถเสียๆ หายๆ (หรือหนักข้อกว่านั้นคือ หลุดหล่นพ่นถ้อยคำหยาบคาย)

หนังของไฉ้หมิงเลี่ยงมีจังหวะเนือยเนิบและนิ่งสนิท, ตัวละครมีการกระทำหรือแสดงออกอย่างพิลึกพิลั่น ยากจะทำความเข้าใจได้ว่าเนื่องเพราะเหตุผลกลใด, เนื้อเรื่องเบาบางจนแทบจะมีสภาพโปร่งแสง มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้, ฉากหลังส่วนใหญ่ซอมซ่อทรุดโทรม ไม่เจริญตาจรรโลงใจ, ถ่ายทำแบบตั้งกล้องแช่นิ่งยืดยาวหลายนาทีโดยปราศจากการตัดภาพ, บทสนทนามีน้อยนิดเหมือนกลัวว่า หากเอ่ยปากพูดแล้วดอกพิกุลจะร่วง ฯลฯ

Goodbye, Dragon Inn (ชื่อภาษาจีนของหนังคือ 不散  แปลว่า อย่าจากไป) กอปรด้วยคุณสมบัติต่างๆ ข้างต้นครบบริบูรณ์ แต่หนักข้อกว่านั้นคือ ถ้าไฉ้หมิงเลี่ยงได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังแขนง ‘นิยมแสดงออกแต่น้อย’ งานชิ้นนี้ก็ ‘น้อย’ และ ‘มัธยัสถ์’ ไปเสียทั้งหมดทุกสิ่งส่วนยิ่งกว่าหนังเรื่องใดๆ ที่เขาเคยทำมา

มันเป็นหนังความยาวทั้งสิ้น 82 นาที ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือน 2 ชั่วโมงกว่า เปรียบได้ปานนั้น

เรื่องย่อๆ ของหนัง เล่าถึงการฉายหนังเรื่องหนึ่ง ณ โรงหนังแห่งหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่ง เป็นอันจบ

ความน้อยอื่นๆ ต่อมา ได้แก่ หนังจำกัดบริเวณฉากหลังอยู่เพียงแค่ด้านนอกและด้านในของโรงหนัง, เหตุการณ์มีเพียงผู้ชมทั้งที่นั่งดูหนังและไม่ยอมดูหนัง เคียงคู่กับภารกิจของหญิงสาวขาพิการ พนักงานสารพัดตำแหน่ง (ตั้งแต่ขายบัตร, ทำความสะอาด และจิปาถะอื่นๆ), ตัวละครที่มีอยู่ไม่มากคน เกือบทั้งหมดปราศจากชื่อเสียงเรียงนาม, ปราศจากการให้ข้อมูลพื้นเพหนหลังของตัวละคร, บทสนทนาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง นับรวมแล้วไม่น่าจะถึงสิบประโยค (กว่าจะมีการเอ่ยวาจากันประโยคแรก ก็กินเวลาของหนังผ่านไปร่วมๆ ครึ่งเรื่อง), ไม่มีการใช้ดนตรีประกอบ ฯลฯ

ดังนี้แล้ว ความรู้สึกเบื้องต้นของผู้ชมในการดูหนังเรื่อง Goodbye, Dragon Inn จึงทั้งอึดอัด ทรมาน และเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าจะติดตามอะไร ไม่อาจประมวลใจความเนื้อเรื่องเหตุการณ์ได้ว่าเป็นเช่นไร

พูดอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่ไฉ้หมิงเลี่ยงทำผ่านทุกวิถีทางในหนังของเขา คือ การเริ่มต้นละลายพฤติกรรมของผู้ชมซึ่งคุ้นชินกับวิธีเล่าเรื่องตามขนบของหนังปกติทั่วไป ด้วยการลบและล้างทุกสิ่งจนเกลี้ยงเกลาหมดจด ไม่เหลือร่องรอยคราบไคลอันคุ้นตาเจนใจใดๆ อยู่อีกเลย

 

 

รสแปลกเฉพาะไม่เหมือนใครในหนังของไฉ้หมิงเลี่ยงนั้น อย่าว่าแต่จะสรุปประมวลเนื้อเรื่องได้ยาก หรือไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าเรื่องจะนำพาไปสู่บทลงท้ายบั้นปลายอย่างไรเลยนะครับ เพียงแค่ว่าถัดจากภาพที่ปรากฏในปัจจุบันขณะแล้ว ภาพต่อไปของหนังจะเกิดขึ้นเมื่อไร (พูดง่ายๆ คือ อีกนานแค่ไหนกว่าจจะมีการตัดภาพเสียที) หรือจะถัดต่อมาเชื่อมโยงด้วยภาพอะไร เหตุการณ์ใด ก็ยังเหลือวิสัยที่ผู้ชมจะนึกเดาได้ถูก

อารมณ์นี้เทียบเคียงเหมือนขึ้นรถโดยสารแล้วไม่รู้แบบมืดสนิท ว่าคนขับจะพาไปสู่ปลายทางที่ไหนหรือใช้ถนนเส้นทางใด สิ่งที่ผู้ชมทำได้ มีเพียงแค่ตัดสินใจเลือกว่าจะกระโดดลงกลางทาง หรือยินยอมให้หนังฉุดลากถูลู่ถูกังไปต่อจนถึงที่สุด (พร้อมๆ กับอีกสิ่งที่สามารถทำได้ คือ แอบนึกด่าในใจ)

เอาเป็นว่า ถ้าเราท่านในฐานะผู้ชมยอมล่มหัวจมท้ายไปกับหนังจนจบ สิ่งที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ การทิ้งเนิ่นภาพแต่ละภาพ เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ ด้วยเวลาเปลืองนาน—นานจนกระทั่งวิธีคลายทุกข์แก้เบื่อที่ดีที่สุด คือการสำรวจตรวจตราจับจ้องรายละเอียดของภาพที่ปรากฏบนจอหนัง

ถึงตรงนี้แหละที่ยาขมขนานแรงของหนังและฝีมือการกำกับอันยอดเยี่ยมของไฉ้หมิงเลี่ยงจะค่อยๆ แสดงสรรพคุณออกฤทธิ์ นั่นคือ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมค่อยๆ ซึมซับสัมผัสบรรยากาศและรายละเอียดของหนังโดยถี่ถ้วน

ผมคิดว่าการสร้างบรรยากาศและแสดงรายละเอียดในหนังของไฉ้หมิงเลี่ยง เป็นกระบวนท่าเก่งและกล้าหาญอย่างที่ยากจะหาใครเทียบ มันทำหน้าที่เล่าเรื่องแต่เพียงน้อย ทว่ามุ่งหวังผลทำให้ผู้ชมรู้สึกสั่นไหวไปกับสิ่งที่เห็นเสียมากกว่า

ความเนิ่นช้า เยิ่นเย้อ และยืดยาวของแต่ละฉากแต่ละตอน เปิดกว้างให้ผู้ชม (ไม่ว่าจะตั้งใจสังเกตสังกามากน้อยเพียงไร) มีเวลามากเกินพอในการซึมซับและหลุดเข้าสู่โลกพิศวงในหนังของเขา ค่อยๆ กลายเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไปทีละนิด เมื่อติดตามจนจบ ก็บวกรวมเป็นก้อนมวลขนาดใหญ่มหึมา กลายเป็นภาพติดตา เหตุการณ์ตรึงใจ ที่ยากจะสลัดลืมได้โดยง่ายหลังจากดูจบ และเป็นก้อนมวลที่กดทับอารมณ์ความรู้สึก กระทั่งพาให้ก่นแต่เศร้าสาหัสเจียนตาย โดยไม่ต้องโน้มน้าวเร้าอารมณ์กันอย่างตรงไปตรงมาเลยสักนิด

Goodbye, Dragon Inn เป็นดังเช่นว่าทุกประการ ภายใต้เนื้อเรื่องที่เล่าได้บรรทัดเดียวจบ หนังก็คับคั่งอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดและบรรยากาศหลากความรู้สึกที่นำไปสู่บทสรุปเพียงหนึ่งเดียว คือ ชวนให้ประทับใจไม่รู้ลืม

เริ่มจากสภาพรายล้อมในคืนฝนตกหนัก (ตลอดทั้งเรื่อง) โรงหนังเก่าโทรมแห่งหนึ่งฉายหนังกำลังภายในคลาสสิกปี 1967 เรื่อง Dragon Inn ของคิงฮู (หรือหูจวินฉวน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 2 ผู้มีสถานะเป็น ‘บิดาของหนังจีนกำลังภายในยุคใหม่’) จากอดีตที่เคยมีผู้ชมแน่นขนัดหนาตา ภาพปัจจุบันในโรงหนังขนาดใหญ่ เหลือผู้ชมโหรงเหรงไม่ถึงสิบชีวิต ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นหลบฝนเข้ามาในโรง ซึ่งผู้ชมเกือบทั้งหมดแทบไม่มีใครสนใจกับภาพบนจอ บ้างจับกลุ่มนั่งกินอาหารกันอย่างจริงจัง บ้างนั่งเอาเท้าพาดเก้าอี้แถวหน้าเหมือนอยู่ในห้องรับแขกที่บ้าน และใครต่อใครอีกหลายคนผุดลุกผุดนั่ง เดินเข้าเดินออกกันขวักไขว่ เหมือนจะทาบทามจับคู่หาคนที่สนใจตรงกันในกิจกรรมอื่น

 

 

และยังอีกสารพัดกิจกรรมทั้งในห้องน้ำ ซึ่งผู้ชมออกมาปลดทุกข์เบากันอย่างยาวนานเหมือนปราศจากจุดจบ, การป้วนเปี้ยนสวนกันไปมาแบบแฝงนัยยะมุ่งหมายหาคู่, คำบอกกล่าวเกี่ยวกับประวัติหนหลังของโรงหนังว่ามีผีสิง (ซึ่งนำไปสู่ตัวละครสาวลึกลึกนั่งแทะเม็ดแตงในโรงหนัง ผู้มาและหายไปอย่างไร้ร่องรอยเสริมให้เรื่องเล่าลืออาจเป็นความจริง)

ความไม่ไยดีต่อหนังที่กำลังฉายให้อารมณ์ความรู้สึกใหญ่ๆ อยู่  2 ประการ อย่างแรก มันแลดูเหนือจริง จนเกิดอารมณ์ขันเสียดสีประชดประชันต่อพฤติกรรมพิลึกพิลั่นชวนหัว อย่างต่อมา มันสะท้อนถึงมนตร์ขลังอันเสื่อมถอยของโรงหนังและการฉายหนัง ซึ่งล่วงเข้าสู่วันร่วงโรย ไม่ใช่แหล่งสถานมหรสพสำหรับให้ผู้คนมานั่งเสพความบันเทิงกันอีกต่อไป แต่กลายสภาพเป็นถิ่นอโคจรอันเสื่อมโทรมไปเป็นที่เรียบร้อย

ตลอดทั่วตัวหนังทั้งเรื่อง ในบรรดาตัวละครที่เป็นผู้ชมทั้งหมด มีเพียงชายชราและหลาน กับชายวัยกลางคนมาดเข้ม ที่ตั้งอกตั้งใจดูหนังอย่างจริงจัง (และหนังก็เผยคลี่คลายอีกเล็กน้อยในตอนจบ เมื่อทั้งสองฝ่ายรู้จักกัน และพูดคุยทักทายกันเล็กน้อย)

ความลับเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมคิดว่าสามารถเปิดเผยได้ มีอยู่ว่า ทั้งชายชราและหนุ่มใหญ่วัยกลางคน ต่างเป็นนักแสดงในหนังเรื่อง Dragon Inn ที่พากันมาดูหนังรอบสั่งลา (หนังเปิดเผยในบั้นปลายว่า นี่เป็นการฉายหนังรอบสุดท้ายก่อนปิดกิจการ) เพื่อรำลึกอดีตครั้งรุ่งเรือง ทั้งความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนั้น ความเฟื่องฟูของกิจการโรงหนัง และชื่อเสียงที่เคยโด่งดังขจรขจายในฐานะดารา

เป็นการรำลึกรื้อฟื้นอดีต ในปัจจุบันที่พวกเขาถูกลืมและไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังอีกต่อไป

แนบขนานไปกับเรื่องราวในโรงหนัง อีกเหตุการณ์คือ การทำงานของหญิงสาวขาพิการ ตั้งแต่นั่งประจำที่ในห้องขายบัตร, เดินจากหัวจรดท้ายความยาวของโรงหนัง (นานหลายนาที) เพื่อสำรวจตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อย, ทำความสะอาดห้องน้ำ รวมทั้งอีกสิ่งสำคัญ คือ การแบ่งปันซาลาเปา (ซึ่งเธอและเล็มออกมาบิกินเพียงเล็กน้อย) และนำส่วนที่เหลือ ค่อยๆ เดินขึ้นบันไดอย่างยากลำบาก จากชั้นล่างสุดขึ้นไปหลายชั้นยังห้องฉาย เพื่อวางไว้ให้ชายหนุ่มคนฉายหนังที่เธอแอบหลงรัก (ตรงนี้ก็เป็นความยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่องของหนัง ซึ่งแทบจะไม่บอกอะไรกับผู้ชมเลย แต่ทุกคนก็รู้ตระหนักแน่ชัดถึงความสัมพันธ์แอบรักฝ่ายเดียวที่เกิดขึ้น)

ฉากเดินขึ้นบันไดของหญิงสาว เมื่อแรกปรากฏ ยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งช้าและทุลักทุเลบนหนทางที่ยาวไกลกว่าปกติ (จากความพิการของตัวละคร) มิหนำซ้ำฉากลักษณะนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลังจากเดินระหกระเหินนำซาลาเปาไปวางไว้ ครู่ใหญ่ๆ ต่อมา เธอก็เดินขึ้นบันไดเวียนอีกทางหนึ่งไปสู่ห้องฉายหนัง เพื่อแอบดูว่าซาลาเปานั้นถูกกินไปแล้วหรือยัง (และเจ็บเศร้าเหลือแสน เมื่อซาลาเปาถูกวางทิ้งไว้ในสภาพไร้การแตะต้อง และหญิงสาวนั่งจ้องซาลาเปานั้นอีกนานหลายนาที ก่อนจะหยิบติดมือออกไปจากห้อง)

 

 

ฉากต่างๆ ที่สาธยายมานั้น เป็นเช่นเดียวกับทุกๆ ฉากเหตุการณ์ในหนัง Goodbye, Dragon Inn คือ สร้างความอึดอัด ทรมานผู้ชม (รวมทั้งนักแสดง) ซ้ำซากหยุดนิ่งจนน่าเหน็ดหน่าย แต่เมื่อผ่านตาซ้ำๆ บ่อยครั้ง ถึงจุดหนึ่งก็เปลี่ยนอารมณ์ของผู้ชมแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว จนกลายเป็นความโศกสะเทือนสุดจิตสุดใจ

มีตัวอย่างอีกฉากหนึ่ง กินความยาวร่วมๆ 5 นาที เมื่อหนังฉายจบ ผู้ชมออกจากโรงไปจนหมด ไฟโรงหนังเปิดขึ้น เห็นภาพถ่ายจากด้านจอภาพยนตร์ โรงหนังขนาดใหญ่เกินหนึ่งพันที่นั่ง เหลือเพียงเก้าอี้ว่างเปล่า หญิงสาวคนเดิมเดินกะโผลกกะเผลกอย่างยากลำบาก ถือไม้กวาดทำความสะอาดพื้นไปทีละขั้น เสร็จแล้วเธอก็เดินออกไปทางประตูด้านข้าง

ภาพควรจะตัดตรงนี้ได้แล้วนะครับ แต่หนังก็ยังแช่กล้องนิ่ง ให้ผู้ชมนั่งดูโรงหนังว่างๆ อีกราวๆ 2 นาที

เป็นฉากที่ผมจดจำชนิดไม่มีวันลืม ว่าอึดอัดทรมานอย่างถึงที่สุด แต่ที่จำได้แม่นยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อดูไปจนถึงขณะหนึ่ง ภาพดังกล่าวก็ทำให้ผมเศร้าแบบไม่มีใดมาเปรียบ เมื่อคำนึงถึงว่า มันเป็นลมหายใจสุดท้ายอันแผ่วเลือนของโรงหนังที่ทรุดโทรมกระไรปานนั้น

พูดอีกแบบหนึ่ง ผ่านเหตุการณ์ผู้ชมว่อกแว่กเป็นอื่นต่างๆ นานาในโรงหนัง เรื่องราวรักเร้นอันเปลี่ยวเหงาของหญิงสาวกับหนุ่มคนฉายหนัง Goodbye, Dragon Inn ใช้ความเชื่องช้า เสนอภาพผุพังจำนวนมากให้ผู้ชม ได้สัมผัสกับความเสื่อมถอยโรยราของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญคึกคัก ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงเรื่องหนัง, การฉายหนัง หรือโรงหนังในลักษณะเดิมเท่านั้น แต่ยังกินความกว้างไปถึงความเปลี่ยนแปลงปลีกย่อยอื่นๆ ในสังคม จากการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง

ที่น่าประทับใจมากอีกอย่างหนึ่งคือ หนังมีภาพครั้งอดีตอันสวยงามให้เห็นอยู่น้อยนิดในช่วงต้นเรื่อง (ซึ่งไม่ได้เน้นย้ำหรือทำให้สวยหรูดูดีแต่อย่างใด เป็นแค่ภาพเงามืดของผู้ชมจำนวนมากในโรงหนัง) แต่ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ภาพปัจจุบันอันซอมซ่อของโรงหนัง ไม่ว่าจะเป็นผนังเปื้อนเปรอะคราบสกปรก, ฝนที่ตกกระหน่ำตลอดทั้งคืน, ถังน้ำหลายใบที่รองรับฝนจากหลังคารั่ว, ซอกมุมที่เก็บข้าวของสุมแน่นระเกะระกะ ฯลฯ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้หนังเคลือบหุ้มไปด้วยอีกความรู้สึกแรงกล้าอย่างหนึ่งตลอดเวลา นั่นคือ อารมณ์ถวิลหาอดีต

ความรู้สึกนี้สอดคล้องขานรับกับฉากจบทิ้งท้าย ซึ่งเป็นฉากจบที่ผมชอบมากที่สุดอีกฉากหนึ่งตลอดชีวิตการดูหนัง เป็นฉากเหงาบาดใจขั้นเอาตายเลยทีเดียว

เมื่อหนังฉายจบลง ผู้ชมจากลาไปจนหมด หญิงสาวจัดแจงกิจธุระตามความรับผิดชอบของเธอจนแล้วเสร็จทุกสิ่งอัน ผู้ชมได้เห็นการปรากฎตัวของคนฉายหนังยืนสูบบุหรี่ หยอดเหรียญตู้ทำนายโชคชะตา (ตรงนี้เป็นลูกเล่นพิเศษ สำหรับแฟนประจำของไฉ้หมิงเลี่ยง ซึ่งนิยมใช้นักแสดงชุดเดิมในหนังเกือบทุกเรื่อง และคนหนึ่งที่นับได้ว่าเป็น ‘ดาราคู่บุญ’ หรือองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในหนังของเขา คือ หลี่คังเซิง ใน Goodbye, Dragon Inn ไฉ้หมิงเลี่ยงทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวละครและนักแสดงรายนี้ตลอดเวลา และเฝ้าคอยว่าเมื่อไหร่จะเผยโฉม แต่กว่าจะปรากฎตัวจริงๆ ก็ค่อนไปตอนท้ายเรื่อง)

ในฉากจบนี้เป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวตลอดเรื่อง ที่ผู้ชมจะได้เห็นตัวละครทั้งสอง (เกือบ) จะเจอกันซึ่งๆ หน้า หลังจากที่มีแค่ภาพหญิงสาวผู้แอบรักข้างเดียวอยู่ตามลำพังมาตลอด

ในค่ำคืนสุดท้ายของการทำงานที่โรงหนัง หญิงสาวเก็บข้าวของบนโต๊ะทำงานที่ห้องขายบัตรของเธอบรรจุลงกระเป๋าเดินทางจนหมด เหลือเพียงแค่กระติกอุ่นซาลาเปาใบหนึ่ง เธอแอบมองดูเขาเลิกงาน ขณะที่เขากำลังปิดประตูล็อกกุญแจโรงหนัง ก็เหลียวมองเห็นกระติกใส่ซาลาเปาใบนั้น จึงหยิบติดมือขึ้นมอเตอร์ไซค์จากไป

ภาพสุดท้ายของหนัง คือ บริเวณด้านนอกโรงหนังถ่ายในระยะไกล ท่ามกลางความมืด ฝนตกหนัก และป้ายคัทเอาต์หนังเรื่อง Dragon Inn กล้องตั้งนิ่ง ค่อยๆ เห็นหญิงสาวเดินกางร่มมาจากไกลจนใกล้ และค่อยๆ เดินพ้นเฟรมไปในท้ายที่สุด

เมื่อเธอเดินมาจนถึงระยะใกล้ ดนตรีซึ่งไม่เคยมีอยู่ในหนังก็ดังขึ้น เป็นบทเพลงเก่าขับร้องโดยเหยาลี่ ชื่อเพลง 留恋 (หลิวเลี่ยน อาจแปลได้ว่า ถวิลหาอดีต) มีเนื้อร้องสั้นๆ ใจความว่า

คะนึงดวงจันทร์ คะนึงถึงดอกไม้ อดีตมากมายยังอยู่ในใจ กึ่งเศร้า กึ่งหวานซึ้ง ปีแล้วปีเล่าก็ยังหวนรำลึกนึกถึง ไม่อาจลืมเลือนตลอดกาล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save