fbpx
ร้องสู้! เพลงชาติจีน vs เพลงสดุดีฮ่องกง

ร้องสู้! เพลงชาติจีน vs เพลงสดุดีฮ่องกง

อิสระ ชูศรี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ฮ่องกงมีเพลงชาติที่เป็นทางการมาแล้วสองเพลง เพลงแรกคือเพลง ‘God Save the Queen’ สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษก่อนปี ค.ศ. 1997 และเพลง ‘มาร์ชทหารอาสา’ (Yìyǒngjūn Jìnxíngqǔ – March of the Volunteers) เพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเพลงชาติของฮ่องกงด้วยหลังจากที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน โดยเนื้อเพลง ‘God Save the Queen’ เป็นภาษาอังกฤษ และ ‘มาร์ชทหารอาสา’ เป็นภาษาจีนแมนดาริน

ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ช่อง CGTN (China Global Television Network) ของรัฐบาลจีน หรือช่อง CCTV-9 เดิม ได้นำเอามิวสิควิดีโอเฉลิมฉลอง 70 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ผลิตโดย Committee of Youth Activities in Hong Kong (เผยแพร่ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2562) ออกมาเผยแพร่ซ้ำทางช่องยูทูบของตน หลังจากที่การประท้วงรัฐบาลโดยประชาชนในฮ่องกงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง

มิวสิควิดีโอนี้ใช้คำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่า China’s national anthem: A melody of unifying power that resonates through HK as violence divides ซึ่งแปลเอาสาระได้ว่า “เพลงชาติจีน: ท่วงทำนองของพลังสามัคคีที่ดังก้องไปทั่วฮ่องกงขณะที่ความรุนแรงสร้างความแตกแยก”

เนื้อเรื่องของมิวสิควิดีโอนี้ทำเป็นแฟลชม็อบของชาวฮ่องกงหลากสาขาอาชีพและหลายเชื้อชาติ ที่ออกมายืนตรงเคารพธงชาติในเวลาเช้า พร้อมๆ กับร้องเพลงชาติไปด้วยกัน ในช่วงต้นมีคุณครูผู้หญิงคุยกับนักเรียนประถมเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง ถามเด็กๆ ว่าร้องเพลงชาติเป็นไหม พวกเด็กๆ ตอบกลับว่าร้องเป็น โดยใช้ภาษาจีนกวางตุ้งอีกเหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือเนื้อหาในช่วงที่เป็นการสนทนาภาษาจีนกวางตุ้งนั้น มีการขึ้นซับไตเติ้ลเป็นตัวอักษรจีนและคำแปลภาษาอังกฤษ ในขณะที่ช่วงร้องเพลงชาตินั้นไม่ปรากฏซับไตเติ้ล

จุดเด่นของมิวสิควิดีโอนี้อยู่ที่ผู้ร่วมแสดง ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำของฮ่องกงในแขนงต่างๆ เช่น ดาราดังอย่างเฉินหลง นักร้องดังอย่างอลัน ทัม นักธุรกิจอย่างอลัน เซอแมน นักกระโดดน้ำโอลิมปิค กวอจิงจิง เป็นต้น แม้ว่าเอ็มวีตัวนี้มีการเผยแพร่อยู่หลายช่องบนยูทูบ แต่ว่าแทบทุกช่องก็มียอดวิวไม่มากนัก ยกตัวอย่างเช่น ยอดการเข้าชมวิดีโอนี้บนช่อง CGTN ณ วันที่ 20 กันยายน 2562 ยังมีเพียงประมาณ 36,000 วิว ทางช่อง CCTV Video News Agency มียอดวิว 8,000 กว่าๆ เท่านั้น สะท้อนว่าเอ็มวีเพลงชาตินี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ผู้สร้างวิดีโอนี้คาดหวัง

ความไม่นิยมเพลงชาติจีนในหมู่ชาวฮ่องกงปรากฏอย่างชัดเจน ในวันที่มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมฮ่องกงและทีมอิหร่าน (10 กันยายน 2562) ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อคัดเลือกทีมที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2565 โดยก่อนการแข่งขันได้เกิดดราม่าขึ้น ในช่วงที่มีการเปิดเพลงชาติจีนก่อนการเขี่ยลูกเริ่มเล่น เนื่องจากผู้ชมชาวฮ่องกงบางส่วนโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ ในรายงานข่าวยังระบุว่าหลังจากนั้นผู้ชมกลุ่มเดียวกันก็ได้ร่วมกันร้องเพลง ‘Glory to Hong Kong’ (ขอฮ่องกงจงรุ่งโรจน์) ซึ่งเป็นเพลงภาษาจีนกวางตุ้งที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงที่กำลังดำเนินอยู่ และเพิ่งเผยแพร่สู่สาธารณะในระยะเวลาไม่ถึงเดือน

พิจารณาเฉพาะการเผยแพร่บนยูทูบ จะพบว่ามีการทำวิดีโอประกอบเพลงหลายเวอร์ชั่น ยกตัวอย่างเช่นเอ็มวีที่เผยแพร่ทางช่อง Black Blorchestra มียอดวิวกว่า 1.6 ล้านวิวหลังจากการเผยแพร่เพียงสัปดาห์เดียว ขณะที่เอ็มวีฉบับออริจินัลโดย dgx dgx มียอดวิวกว่า 2.2 ล้านวิวหลังเผยแพร่เพียงสองสัปดาห์

เพลง ‘Glory to Hong Kong’ นี้ได้รับการขนานนามว่า เป็นเพลงสดุดีการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพของชาวฮ่องกงที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ฝ่ายผู้ประท้วงมีการเผยแพร่วิดีโอของการชุมนุมร้องเพลงนี้ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ โรงพยาบาล ในสนามกีฬา และแม้แต่ตามท้องถนน ในขณะนี้หากนำเอา ‘Glory to Hong Kong’ ไปเป็นคำค้นในเสิร์ชเอนจินต่างๆ จะพบการกล่าวถึงอิทธิพลของเพลงนี้ในสื่อนานาชาติ รวมทั้งบล็อกส่วนตัว ตลอดจนการร้องและเล่นดนตรีคัฟเวอร์เพลงนี้บนยูทูบ

จากการอ่านรายงานข่าวและบทความต่างๆ ผมพบว่าคนฮ่องกงที่ชอบเพลงนี้มักจะกล่าวตรงกันว่า มันให้ความรู้สึกผูกพันเป็นหมู่คณะและความภาคภูมิใจ บางคนบอกว่าเพลงนี้ทำให้เขานึกออกว่าคนชาติอื่นรู้สึกอย่างไรเวลาได้ยินเพลงชาติของตัวเอง ขณะที่เพลง ‘มาร์ชทหารอาสา’ กลับไม่ได้สร้างความรู้สึกนี้ เพราะเขาไม่สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาในเพลงนั้นกับตัวเองได้

เหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงนี้ปรากฏในรายงานข่าวของ South China Morning Post (มีวิดีโอคลิป) ฉบับออนไลน์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 เกี่ยวกับการร้องเพลงชาติสู้กันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง กับฝ่ายที่สนับสนุนการประท้วง ฝ่ายแรกพยายามสู้กับฝ่ายประท้วงที่มักจะนัดกันไปชุมนุมร้องเพลงตามสถานที่ต่างๆ โดยการนัดทำแฟลชม็อบบ้าง ภายในแฟลชม็อบมีการประดับธงชาติจีนและมีการร้องเพลง ‘มาร์ชทหารอาสา’ เป็นภาษาจีนแมนดาริน พร้อมตะโกน “จงกว๋อ เจียโหยว” (เป็นภาษาจีนกลาง จงกว๋อ = ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และ เจียโหยว เป็นคำให้กำลังใจ ซึ่งคนฮ่องกงใช้คำเดียวกันแต่ออกเสียงว่า ก๊าเหยา ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “เติมน้ำมัน”)

เหตุการณ์ผ่านไปได้ไม่นาน ฝ่ายต่อต้านปักกิ่งก็พากันมารวมตัวในห้างสรรพสินค้าเดียวกันและตะโกนร้องเพลง ‘Glory to Hong Kong’ เป็นภาษาจีนกวางตุ้งเพื่อกลบเสียงของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ในช่วงเวลาสั้นๆ เราได้เห็นการปะทะกันของภาษา อัตลักษณ์ชาติ และอัตลักษณ์ท้องถิ่น (ที่พยายามจะผงาดขึ้นมาแข่ง)

ผมลองไปหาเนื้อเพลงของ ‘มาร์ชทหารอาสา’ และ ‘ขอฮ่องกงจงรุ่งโรจน์’ มาอ่านเปรียบเทียบกัน เพื่อดูว่านอกเหนือจากความแตกต่างทางภาษาระหว่างจีนแมนดารินและจีนกวางตุ้งที่มีอยู่มากแล้วนั้น เนื้อหาของทั้งสองเพลงจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันมากหรือน้อยแค่ไหน

เพลง ‘มาร์ชทหารอาสา’ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสู้รบอย่างกล้าหาญของฝ่ายปฏิวัติ คำสำคัญในเนื้อเพลงสะท้อนอุดมการณ์การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างผู้ถูกกดขี่กับผู้กดขี่ มีการเอ่ยถึงผู้คนที่ปฏิเสธความเป็น ‘ทาส’ การสร้าง ‘กำแพงเมืองจีน’ ใหม่จาก ‘เลือดเนื้อ’ ของประชาชน มีการกล่าวถึง ‘ปืนใหญ่’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นบรรยากาศของสงคราม และความสามัคคีของมวลชนที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

 

Arise, Ye who refuse to be slaves!

With our flesh and blood,

let’s build a new Great Wall!

China is now facing its greatest danger,

everyone is forced to let out one last cry.

 

Arise! Arise! Arise!

Millions of hearts together

Brave the enemies‘ gunfire! March on!

Brave the enemies’ fire! March on!

March on! March on! On!

 

ผมลองแปลเนื้อเพลงจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ความว่า “ลุกขึ้น! ประชาชนผู้ปฏิเสธความเป็นทาส / ด้วยเลือดเนื้อของพวกเรา ขอเราจงสร้างกำแพงเมืองจีนใหม่! / จีนกำลังเผชิญอันตรายใหญ่หลวง / ทุกคนถูกบีบคั้นให้เปล่งเสียงเดียวกันเป็นครั้งสุดท้าย / ลุกขึ้น! ลุกขึ้น! ลุกขึ้น! / กล้าเผชิญกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึก! บุกไป! / กล้าเผชิญกระสุนของข้าศึก! บุกไป! / บุกไป! บุกไป! ไป!”

ขณะที่เนื้อร้องของเพลง ‘Glory to Hong Kong’ ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสู้รบด้วยกำลังอาวุธ แต่มีกลิ่นอายของการต่อสู้แบบไม่ใช้อาวุธ และมีคำที่ให้ความรู้สึกเกี่ยวกับ ‘สถานที่’ มากเป็นพิเศษ ความน่าสนใจเกี่ยวกับเพลงนี้คือมีเนื้อร้องภาษาจีนกวางตุ้งเพียงเวอร์ชั่นเดียว ที่มาจากการร่วมกันแต่งแบบ ‘crowdsourcing’ ผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่มีคำแปลภาษาอังกฤษอยู่หลายฉบับตามแต่การตีความของผู้แปล คำแปลที่ยกมาในบทความนี้นำมาจากเนื้อร้องของเพลง Glory to Hong Kong ฉบับภาษาอังกฤษที่แต่งให้เข้ากับทำนอง

 

For the tears that we shed on this soil

For the anguish we had in this turmoil

We keep our heads up, our voices strong

May freedom root in Hong Kong

 

For the fear that looms overhead

For the hope that moves us ahead

We march in blood, our martyrs along

May freedom glow in Hong Kong

 

Deepest night we shall not be in fright

In the mist, a new day breaks with chants and light

Stand with us, with virtuous mind and unbending spines

The pearl we hold will always shine

 

Come children of our motherland

The time has come to wage a revolution

Freedom and liberty belong to this land

May glory be to Hong Kong

 

เมื่อแปลเนื้อร้องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย มีใจความตามตัวอักษรว่า

“ด้วยน้ำตาที่เราหลั่งรดแผ่นดินนี้ / ด้วยความทุกข์ที่เราทนในครั้งนี้ / เราเชิดหัวตั้งตรง เสียงเรายังเข้มแข็ง / ขออิสรภาพจงมีแก่ฮ่องกง / ด้วยความกลัวที่คลุมเหนือหัวเรา / ด้วยความหวังที่พาเราก้าวไป / เราเดินหน้าร่างเปรอะเลือด วีรชนร่วมก้าวไป / ขออิสรภาพจงส่องสว่างแก่ฮ่องกง / ยามดึกมืดมิดขอเราจงอย่าหวั่น / กลางไอหมอก ยามเช้าเริ่มต้นพร้อมเสียงสวดและแสงสว่าง / ขอเรายืนร่วมกัน ด้วยใจคุณธรรมและหลังตั้งตรง / ไข่มุกในมือเราจะส่องสว่างชั่วนิรันดร์ / จงมา ลูกหลานแห่งมาตุภูมิ / ถึงเวลาแห่งการปฏิวัติแล้ว / อิสรภาพและเสรีภาพจงมีแก่ดินแดนนี้ / ขอให้ฮ่องกงจงรุ่งโรจน์

ความเปรียบคู่ระหว่าง ‘ความมืด’ และ ‘แสงสว่าง’ และระหว่าง ‘ยามดึก’ และ ‘ยามเช้า’ ถูกใช้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยสร้างพื้นอารมณ์แบบโรแมนติกเรียกน้ำตาให้กับเพลง ‘Glory to Hong Kong’ ซึ่งเมื่อเทียบกับเพลงที่มีลักษณะปลุกใจแบบเพลงชาติจีนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าคลื่นอารมณ์อยู่กันคนละย่านความถี่ ทำให้บางคนจัดกลุ่มเพลงนี้ว่าอยู่ในจำพวก Cantopop หรือเพลงป๊อปสไตล์ฮ่องกง

ในฐานะคนนอกวัฒนธรรมที่ไม่มีความเข้าใจในภาษากวางตุ้ง ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าทำไมเพลง ‘Glory to Hong Kong’ จึงได้รับความนิยมชนิดที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ มีแฟลชม็อบร้องเพลงนี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน มีการร้องเพลงคัฟเวอร์และการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิดหลากสไตล์เพิ่มขึ้นทุกวันบนยูทูบ ในขณะที่สื่อตะวันตกพากันเรียกเพลงนี้ว่าเพลงชาติแบบไม่เป็นทางการของฮ่องกง

มีนักวิจารณ์ชาวฮ่องกงคนหนึ่ง เขียนบทความลงใน The New York Times โดยใช้ชื่อบทความว่า “I’ve Been Waiting for a Song Like ‘Glory to Hong Kong’ My Whole Life. I just didn’t realize it.” (ฉันเฝ้าคอยเพลงอย่าง Glory to Hong Kong มาชั่วชีวิตโดยที่ฉันไม่รู้ตัว) โดยกล่าวถึงบรรยากาศของการชุมนุมร้องเพลงเพลงนี้ที่ทำให้เธอและคนใกล้ๆ ถึงกับต้องหลั่งน้ำตา และเธอยังกล่าวว่าเพลงนี้ได้ปลุกสำนึกรักแผ่นดินเกิดที่แฝงอยู่ในคนฮ่องกงให้ตื่นขึ้น

ผมได้แต่จับตามองปรากฏการณ์ ‘ร้องเพลงสู้’ นี้ด้วยความรู้สึกหวั่นใจ ในด้านหนึ่ง ความตื่นตัวอย่างกว้างขวางของประชาชนฮ่องกงอาจเปล่งประกายเป็นความงดงาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความตื่นตัวนั้นอาจกำลังส่งเสียงท้าทายให้อำนาจรัฐใช้กำลังเข้าปราบปราม

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save