fbpx
หายนะที่ใกล้มาเยือน

หายนะที่ใกล้มาเยือน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

งานวิจัยของ Climate Central รายงานไว้ในวารสาร Nature Communications ไว้ว่าเพิ่งมีการประมาณการระดับน้ำทะเลใหม่ พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ระดับน้ำทะเลจริงที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 สูงกว่าที่เคยประมาณการเอาไว้ก่อนหน้านี้ราว 3 เท่า

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย!

ถ้าใครได้ดูรายงานข่าวของนิวยอร์คไทม์ส ก็จะเห็นว่า การประมาณใหม่นี้ ทำให้เมืองที่อยู่ริมทะเลอย่างกรุงเทพฯ มีอาการ ‘จมน้ำ’ มากกว่าที่เคยประมาณการเดิมเยอะมากทีเดียว

แต่เดิม เคยคาดกันว่า จะมีคนราว 1% ของไทยเท่านั้น ที่ต้องเจอกับน้ำท่วม (แบบถาวร) แต่การประมาณการใหม่พบว่า พื้นที่ของไทยที่จะจมน้ำ มีมากถึง 10% นั่นคือเพิ่มมากขึ้นถึงราว 10 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำคัญมากด้วย นั่นคือพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการเงินการปกครองนั่นเอง

ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ หรือประเทศไทย แต่ที่อื่นๆ รวมไปถึงเมืองอย่างโฮจิมินห์ ซิตี้ เมืองหลวงของเวียดนาม เมืองใหญ่ของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ หรือกระทั่งประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ รวมไปถึงเมืองในอเมริกาอีกหลายเมือง ต้องประสบภาวะ ‘จมน้ำ’ อย่างน้อยที่สุดก็บางส่วนไปด้วย

หลายคนคิดว่า ถ้ากรุงเทพฯ หรือเมืองหนึ่งๆ จมน้ำ สุดท้ายแค่ย้ายไปอยู่ที่อื่นก็หมดปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่เช่นนั้นขึ้น มักจะเกิดผลพวงเป็นลูกโซ่ตามมามากมายในแบบที่มนุษย์คิดไม่ถึง

ในรายงานปี 2014 ของกระทรวงป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา บอกไว้ว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฝนฟ้าและพายุ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในระดับโลก (Global Instability) ทั้งเรื่องของอาหาร ความหิวโหย ความยากจน และลามเลยไปจนถึงความขัดแย้งใหญ่ๆ

สิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญแน่ๆ ก็คือการขาดน้ำและอาหาร เกิดโรคระบาดแพร่ลาม และความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากร รวมไปถึงการอพยพหนีภัยจะเกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากภัยธรรมชาติหลากแบบเกิดขึ้นมา

พูดแบบนี้ หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออก ว่าความร้ายกาจเหล่านี้จะลุกลามได้มากแค่ไหน

ในหนังสือเกี่ยวกับเมืองเล่มหนึ่ง ได้เล่าถึงสงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งเราน่าจะรู้ว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่เลวร้ายที่สุดในยุคปัจจุบันก็ว่าได้ ส่งผลให้ผู้คนต้องอพยพหนีภัยหลายล้านคน ก่อเกิดปัญหาใหญ่ให้กับทวีปยุโรป และกระเพื่อมเป็นระลอกไปยังที่อื่นๆ

คนจำนวนมากคิดแค่ว่า สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่ไม่ได้โยงความขัดแย้งเหล่านี้ไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ทว่าหนังสือเล่มนี้อธิบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับความเป็นเมือง ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งใหญ่นี้โดยอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงยาวนานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในภูมิภาคแถบนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับซีเรียก็คือ ซีเรียต้องเผชิญความแห้งแล้งติดต่อกันนาน 5 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นในปี 2006 ถือว่าเป็นความแห้งแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี ที่แย่กว่านั้นก็คือ การคอร์รัปชันของรัฐบาลทำให้ระบบปันส่วนน้ำผิดเพี้ยน การกระจายทรัพยากรน้ำไม่ทั่วถึง คนธรรมดาๆ ไม่ได้น้ำใช้ พืชผลและการเกษตรจึงเสียหายหนัก คนไม่มีจะกิน

เมื่อคนไม่มีจะกิน เกษตรกรที่สิ้นหวังก็อพยพเข้าเมืองต่างๆ ของซีเรียกันเป็นจำนวนมากกว่า 1.5 ล้านคน ที่ว่าเข้าเมืองนี้ไม่ใช่แค่เมืองหลวงนะครับ แต่รวมไปถึงเมืองใหญ่ต่างๆ ในประเทศด้วย แต่รัฐบาลอัสซาดก็ไม่สนใจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภัยครั้งนี้มันรุนแรงเสียจนกระทั่งรัฐบาลก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร รวมทั้งตาม ‘ความเป็นเมือง’ ที่จู่ๆ ก็มีคนอพยพเข้ามาอยู่มากมายไม่ทัน ทำให้ไม่มีนโยบายอะไรออกมารองรับ ที่สำคัญก็คือยังคงใช้สำนึกเผด็จการอำนาจนิยมเข้ามาข่มเหงคนด้วยวิธีต่างๆ เหมือนเดิม

ผลลัพธ์ก็คือความขัดแย้งรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาเป็นสงครามกลางเมือง แล้วย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นไอซิสหรืออัลไกด้า แล้วเรื่องหลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เรารู้กันอยู่

เมื่อถึงปี 2015 ชาวซีเรียหลายแสนคนถูกสังหาร 11 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ แล้วหลั่งไหลออกไปสู่ตุรกี เลบานอน จอร์แดน และอิรัก ก่อนจะไปถึงยุโรป ในปีเดียวกันนั้น สหประชาชาติประกาศว่า สงครามกลางเมืองซีเรียคือวิกฤตผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดของยุคปัจจุบัน

ที่น่าสนใจก็คือ หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า การที่เยอรมนีเลือกรับผู้อพยพซีเรียนั้น ก็เกี่ยวกับ ‘ความเป็นเมือง’ ด้วยเหมือนกัน คือการเติบโตประชากรของเยอรมนีกำลังติดลบ (negative population growth) ทำให้ขาดแคลนแรงงานราว 5 ล้านคน ซึ่งเมื่อคนน้อย ก็แปลว่าความเป็นเมืองจะถดถอยลงไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เยอรมนีเปิดประตูรับผู้อพยพ แม้การรับผู้อพยพเข้ามาอยู่ด้วยจะเป็นงานที่ซับซ้อนมากก็ตาม

แล้วที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลรุนแรงต่อประเทศเดียวเท่านั้นนะครับ ถ้ามองในมุมนี้ เราอาจพูดได้ด้วยซ้ำ ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่ความขัดแย้งที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดการก่อการร้ายในระดับโลกขึ้นมา

แล้วถ้าเกิด ‘เรื่องใหญ่’ อย่างเช่นเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองต้องจมอยู่ใต้น้ำเกือบจะพร้อมๆ กันเล่า แรงกระเพื่อมที่ส่งถึงกันจะมหาศาล และทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มากขนาดไหน

ในศตวรรษที่ 21 นี้ เมืองจำนวนมากของโลกจะพบกับวงจรอุบาทว์ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เมืองขาดแคลนทรัพยากร เมืองจึงเปราะบางและขาดความมั่นคง คนที่มากระจุกรวมตัวกันอยู่ จะกลายเป็นเป้าของโรคระบาดและการก่อการร้าย

ภาวะแบบนี้ กองทัพสหรัฐฯ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า VUCA ซึ่งย่อมาจาก Volatility, Uncertainty, Complexity และ Ambiguity ซึ่งก็คือความเปราะบาง ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ซึ่งเมื่อรวมตัวกันทั้งหมด ก็จะก่อให้เกิดผลร้ายมหาศาล

รายงานของ Climate Central ที่ว่าไว้ตั้งแต่ต้น จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่จะกลายเป็นภัยคุกคามมาที่ ‘หัวใจ’ ของประเทศที่เลือกให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ซึ่งสุดท้ายก็จะร่วงหล่นสู่วงจรอุบาทว์ของความเสื่อมและภาวะ VUCA ที่ไม่อาจหวนคืนได้อีก

นั่นคืออนาคตที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งของกรุงเทพฯ

เมืองหลวงของประเทศแห่งนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save