fbpx

ชวนคิดเรื่องแผนปฏิรูปภาษีโลก และผลกระทบต่อประเทศไทย

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา 130 ประเทศทั่วโลกบรรลุข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเก็บภาษีระหว่างประเทศ ข้อตกลงนี้ถือเป็นพัฒนาการนโยบายภาษีที่สำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมา การเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เป็นความท้าทายลำดับต้นๆ ของรัฐบาลหลายประเทศ

สำหรับผู้อ่านที่สนใจที่มาและเหตุผลเบื้องต้นของการปฏิรูปภาษีโลกสามารถอ่านบทความเรื่องยกเครื่องปฏิรูประบบภาษีโลก: จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก? ได้เลยนะครับ ส่วนบทความนี้ผมอยากชวนผู้อ่านคิดต่อเกี่ยวกับกฎกติกาใหม่นี้ และแนวโน้มผลกระทบต่อประเทศไทยครับ

การบรรลุสองข้อตกลงสำคัญ

ในกระบวนการเจรจา เราสามารถแบ่งประเทศต่างๆ บนโต๊ะเจรจานี้เป็น 3 ฝ่ายสำคัญ

ฝ่ายแรกได้แก่ ประเทศส่วนใหญ่ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้กังวลต่อปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนภาษีของบริษัทเทคโนโลยี (ซึ่งส่วนมากเป็นของสหรัฐฯ) ส่งผลให้หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรขู่ว่าจะเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านั้นโดยตรง

ฝ่ายที่สองคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งด้านหนึ่งก็มุ่งตอบโต้ทางการค้ากับประเทศอื่นที่เก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีของตน แต่อีกด้านหนึ่งก็กังวลเรื่องความสามารถในการหลบเลี่ยงภาษีจนแทบจะไม่ต้องจ่ายภาษีเลยของบริษัทเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

และฝ่ายสุดท้ายคือกลุ่มประเทศ Tax havens ซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องมือดึงดูดกำไรของบริษัทข้ามชาติ กลุ่มนี้ครอบคลุมตั้งแต่ประเทศเล็กๆ เช่น มอริเชียส และหมู่เกาะเคย์แมน ไปจนถึงประเทศที่มีขนาดกลาง เช่น ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง

ในรายละเอียด ข้อตกลงมี 2 ส่วนสำคัญ ในส่วนแรก รัฐบาลไบเดนถอยหนึ่งก้าว ยอมให้บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ (เงื่อนไขคือ มีรายรับอย่างน้อย 20,000 ล้านยูโร และมีอัตรากำไรอย่างน้อย 10%) ต้องจัดสรรกำไรส่วนหนึ่ง (20-30% ของกำไรในส่วนที่เกิน 10%) เพื่อเสียภาษีให้แก่ประเทศที่ตนขายสินค้าและบริการ ภายใต้ข้อตกลงส่วนแรกนี้ สหรัฐฯ จะเป็นผู้เสียประโยชน์มากที่สุด โดยกว่า 60% ของกำไรที่เข้าข่ายตามเกณฑ์นี้จะมาจากบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ข้อตกลงนี้เป็นการฉีกกฎการเก็บภาษีระหว่างประเทศที่ใช้กันมาร่วม 100 ปีที่อิงกับการมีสถานที่ตั้งเป็นหลัก ซึ่งหลายประเทศมองว่ากฏปัจจุบันนี้ล้าสมัยและไม่ทันกับโมเดลการทำธุรกิจในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา Facebook ไม่เคยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ประเทศไทยเลย เนื่องจาก Facebook ระมัดระวังตัวเองไม่ให้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เช่น หลีกเลี่ยงไม่ให้บริษัทลูกในไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก และให้ดำเนินธุรกิจรองเท่านั้น ภายใต้ข้อตกลงนี้ Facebook จะต้องจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งมาให้รัฐบาลไทยตามสัดส่วนของยอดขายโฆษณาในประเทศไทยต่อยอดขายทั้งหมด

แล้วสหรัฐฯได้อะไร? ในส่วนที่ 2 รัฐบาลต่างๆ ตกลงกันว่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลระดับโลกขั้นต่ำ (Minimum global corporate tax rate) ในอัตรา ‘อย่างน้อย’  15% นั่นหมายความว่า สำหรับบริษัทข้ามชาติที่มีการวางแผนภาษีเป็นอย่างมากจนส่งผลให้มีการจ่ายภาษีไม่ถึง 15% รัฐบาลของประเทศที่บริษัทเหล่านั้นตั้ง Headquarter อยู่ มีสิทธิที่จะเลือกเก็บภาษีเพิ่ม (Top up) ไปจนถึงระดับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงที่ 2 นี้

ส่วนฝ่ายที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มประเทศ Tax havens โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อตกลงเรื่อง Minimum global corporate tax rate ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการดึงดูดบรรษัทข้ามชาติได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วข้อสรุปจะเป็นอย่างไร เพราะถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่สำหรับบาง Tax haven เช่น ไอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ในสหภาพยุโรป การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเรื่องภาษีของสหภาพยุโรปต้องอาศัยการเห็นพ้องแบบเอกฉันท์

แนวโน้มผลกระทบต่อประเทศไทย

ในความเห็นของผม ข้อตกลงปฏิรูปภาษีโลกจะกระทบประเทศไทยอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน ซึ่งมีทั้งประโยชน์และข้อพึงระวังต่อการวางนโยบาย ดังนี้

ประการแรก การผ่อนคลายแรงกดดันการแข่งขันภาษีระหว่างประเทศ แนวโน้มนี้เป็นประเด็นที่ไทยจะได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุด ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศกลุ่มอาเซียนได้มีการแข่งขันกันลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างชัดเจน โดยประเทศไทยได้ลดอัตราภาษีลงเช่นกันในช่วงปี 2012-2013 จาก 30% เป็น 20% และยังมีแรงกดดันเป็นระยะจากเอกชนให้ลดภาษีของไทยลงมาให้เท่ากับสิงคโปร์ที่ 17%

การกำหนด Minimum global corporate tax rate จะลดแรงกดดันจากภาวะ ‘Race to the bottom’ เพราะบริษัทข้ามชาติจะต้องจ่ายภาษีส่วนเพิ่มเติม (Top up) ให้แก่รัฐบาลประเทศแม่ของตน โดยการจ่ายส่วนเพิ่มเติมนี้จะเท่ากับส่วนต่างระหว่าง Minimum global tax rate และ Effective tax rate ที่บริษัทตนจ่าย ดังนั้นภายใต้ข้อตกลงนี้ การลดภาษีของประเทศต่างๆ จึงแทบจะไม่มีประโยชน์ต่อบริษัทข้ามชาติ เป็นเพียงการโยกย้ายภาระภาษีจากประเทศที่ลดภาษีไปที่ประเทศแม่เท่านั้น

ประการที่สอง การลดทอนความรุนแรงของการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด งานวิจัยของดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ร่วมกับผม ชี้ว่า บริษัทข้ามชาติในอาเซียนมีการโยกย้ายการรายงานผลกำไรระหว่างบริษัทในเครือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ โดยพฤติกรรมการโยกย้ายกำไรนี้ค่อนข้างเด่นชัดในกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ในภาพรวม ข้อมูลจาก IMF ชี้ว่าประมาณ 40% ของ FDI ทั่วโลกถูกออกแบบโครงสร้างการลงทุนโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการวางแผนภาษีมากกว่าการลงทุนเพื่อสร้างผลิตภาพอย่างแท้จริง

ประการที่สาม รัฐบาลไทยจะได้ส่วนแบ่งภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่มากขึ้นแต่ไม่สูงมากนัก เงื่อนไขของการจัดสรรกำไรโดยอิงกับสถานที่ขายตามข้อตกลงส่วนแรกจัดว่าเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างยาก งานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ Oxford University ชี้ว่าจะมีประมาณ 80 กลุ่มบริษัทเท่านั้นที่เข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าว หากสมมติว่า Parameter ของข้อตกลงสุดท้ายคือการจัดสรรกำไร 20% โดยกำไรที่จะจัดสรรตามข้อตกลงนี้รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 87,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในปี 2020 และหนึ่งในสามของกำไรก้อนนี้เป็นของ Top 5 บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ (Apple, Microsoft, Alphabet, Intel และ Facebook) ซึ่งหากประเมินแบบไม่หวังสูง (conservative assumption) ให้สัดส่วนของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.5-1% (ตามสัดส่วน GDP ของไทยต่อทั้งโลก) รายได้ภาษีของไทยในส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ล้านบาทต่อปี

ประการสุดท้าย แรงกดดันต่อนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ภาษีผ่าน BOI ของไทยจะสูงขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในเชิงนโยบาย ทั้งนี้หนึ่งในข้อยกเว้นสำคัญของเกณฑ์การพิจารณาเรื่อง Global minimum corporate tax rate คือ การสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible assets) เช่น เครื่องจักร และโรงงานต่างๆ ซึ่งข้อยกเว้นนี้จะทำให้เราต้องระวังมากขึ้นทั้งในด้านของการใช้ Tax holiday ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีทั้งหมด และอาจถูกมองว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับการลงทุนโดยตรง รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่โยงกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น R&D ต่างๆ และอาจไม่เข้าข่ายการยกเว้นนี้

กฎกติกาภาษีโลกแบบใหม่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของทุกประเทศทั่วโลก รัฐบาลไทยจะต้องต้องคิดใหม่ว่าทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะยังคงแข่งขันและรักษาประสิทธิผลของแรงจูงใจภาษีได้ ไปพร้อมๆ กับการเก็บภาษีบรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น โจทย์นี้สำคัญอย่างยิ่งในห้วงเวลาหลังโควิด-19 ที่เราไม่ได้มีกระสุนทางการคลังมากเหมือนเดิมแล้ว

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save