fbpx
ปีแห่งการประท้วง

ปีแห่งการประท้วง

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หลายคนอาจรู้สึกว่า ปีนี้ทั่วโลกเต็มไปด้วยการประท้วงใหญ่ๆ เต็มไปหมด ที่ยืดยาวและใกล้ตัวคนไทยมากที่สุด ก็คือการประท้วงที่ฮ่องกง แต่นอกจากนี้แล้ว หลายคนอาจลืมไปว่า ปีนี้มีการประท้วงอีกมากมายหลายแห่ง ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน

แน่นอน การประท้วงทั้งหมด คือเรื่องราวของ ‘อำนาจ’ และ ‘การขัดขืน’ อำนาจนั้นๆ โดยอำนาจที่ว่า มีตั้งแต่อำนาจใหญ่ๆ เช่น ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อให้ผู้นำรัฐบาลลงจากตำแหน่ง ไปจนถึงเรื่องอำนาจอื่นๆ ที่อาจมองเห็นได้ยากกว่า เช่น ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ การประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ศาสนา ไปจนถึงการประท้วงที่อาจเข้าใจได้ยากอยู่สักหน่อย เช่นการประท้วงเพื่อให้คนไม่ประท้วง เป็นต้น

ลองมากวาดตาดูกันหน่อยไหม ว่าปี 2019 ที่ว่ากันว่าเต็มไปด้วยการประท้วงนั้น มีการประท้วงเรื่องอะไร และที่ไหนบ้าง

เริ่มจากการประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2017 มาจนถึงปัจจุบันในอิหร่านกันก่อน นี่คือการประท้วงการบังคับให้สตรีมุสลิมในอิหร่านต้องสวมผ้าคลุมที่เรียกว่าฮิญาบ โดยเกิดเป็นขบวนการประท้วงที่เรียกว่า Girls of Enghelab Street หรือเด็กสาวแห่งถนนเองเฮแลบ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 27 ธันวาคม 2017 โดยผู้หญิงอิหร่านคนหนึ่งที่นำผ้าฮิญาบของเธอไปผูกไว้กับไม้แล้วโบกเพื่อแสดงการต่อต้านการบังคับสวมผ้านี้ ทำให้เธอถูกจับ และต่อมาก็มีผู้เข้าร่วมประท้วงยืดเยื้อยาวนานเรื่อยมา (แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวในบ้านเราเท่าไหร่)

การสวมผ้าคลุมศีรษะในอิหร่านนั้น ก่อนเกิดการปฏิวัติศาสนาในอิหร่านปี 1979 ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเคร่งครัดเท่าไหร่ เพราะอิหร่านได้รับอิทธิพลจากตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก แต่หลังปฏิวัติแล้ว การสวมผ้าคลุมก็เคร่งครัดมากขึ้นเรื่อย โดยมีบทลงโทษตามกฎของศาสนาถึงขั้นจำคุก และทำให้ผู้หญิงอิหร่านจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาประท้วง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเป็นการประท้วงที่มีสาเหตุผสมปนเปกันระหว่างศาสนาและการปกครอง

การประท้วงอีกแบบหนึ่งที่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ก็คือการประท้วงของนักเรียนนักศึกษา ในเรื่องที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กเหลือเกิน อย่างเช่นการประท้วงการขึ้นค่าเล่าเรียนหรือค่าเทอม

อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นการประท้วงเล็กๆ น้อยๆ นะครับ เพราะที่จริงนี่เป็นปัญหาใหญ่มากของคนรุ่นใหม่ นั่นคือค่าเล่าเรียนสูงมาก จนต้อง ‘กู้เงิน’ มาเรียน ทำให้ต้นทุนชีวิตของคนเหล่านี้อยู่ในระดับ ‘ติดลบ’ ไม่เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นบูมเมอร์ แถมยังต้องออกมาเจอกับสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง โลกที่ถูกคนรุ่นก่อนปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติไป ทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ให้เผชิญ ฯลฯ ดังนั้น ความคับแค้นและน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดมาในช่วงเวลาแบบนี้ จึงทำให้เกิดการประท้วงขึ้นเมื่อมีแนวคิดจะขึ้นค่าเล่าเรียน

การประท้วงใหญ่ในเรื่องนี้เกิดขึ้นหลายประเทศ (ในฮ่องกง เรื่องนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง) แต่ที่เห็นเด่นชัดมากก็คือที่อัลบาเนีย ซึ่งเริ่มประท้วงกันปลายปี 2018 แล้วต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2019

นักเรียนนักศึกษาทั่วทั้งอัลเบเนียลุกฮือขึ้นมาต่อต้านค่าเล่าเรียนที่สูงมาก นั่นเพราะรัฐบาลอัลเบเนียคิดวิธีเรียกเก็บเงินใหม่ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมสำหรับการสอบ ทั้งที่ระบบการศึกษาไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นแต่อย่างใด โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งเมืองทิรานา (Tirana) ก่อน เกิดข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น ต้องให้นักเรียนนักศึกษามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย แล้วขบวนการนี้ก็ลุกลามไปทั่วประเทศ มีนักเรียนนักศึกษาราวสองหมื่นคนเข้าร่วมการประท้วงนี้ และมีการปราบปรามจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน

จะเห็นได้ว่า การประท้วงนี้แม้เริ่มจากค่าเล่าเรียน แต่แท้จริงสะท้อนปัญหาใหญ่กว่านั้น นั่นคือสงครามระหว่างคนอายุมากที่ครองอำนาจ และคนอายุน้อยกว่าที่มีอำนาจน้อยกว่า แต่ถูกจัดการโดยคนที่ไม่เข้าใจตัวเอง จึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ผลสุดท้ายก็ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี และยกเลิกกฎหมายที่จะขึ้นค่าเล่าเรียนเหล่านั้นเสีย

การประท้วงที่คล้ายกัน แต่ส่งผลกระทบใหญ่โตกว่ามาก คือการประท้วงของ ‘นักเรียน’ ที่เรียกว่า School Strike for the Climate ซึ่งมีผู้นำอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก ที่จริงการประท้วงนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2018 แล้ว แต่ก็นั่นแหละ อย่างที่ทุกคนรู้ นี่เป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อยาวนาน คนที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่ครอบครอง status quo อยู่ ย่อมไม่อยากลงมือทำอะไร ทำให้นักเรียนเหล่านี้ต้องลุกขึ้นมาปกป้องโลกที่ตัวเองจะต้องอาศัยอยู่ต่อไป

การประท้วงนี้เริ่มจากสวีเดนก่อน ด้วยวิธีการประท้วงแบบ Student Strike คือไม่เข้าเรียน แล้วลามไปทั่วยุโรป ตั้งแต่เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ ข้ามมหาสมุทรไปยังแคนาดา สหรัฐอเมริกา แล้วเลยไกลไปถึงออสเตรเลีย

จากจุดเริ่มต้นเล็กนิดเดียว เกิดการประท้วงท่ี ‘ใหญ่’ มากๆ ขึ้นถึงสามครั้งในปี 2019 ซึ่งแต่ละครั้งมีนักเรียนเข้าร่วมประท้วงมหาศาล คือ 1.4 ล้านคน 4 ล้านคน และครั้งล่าสุดคือ 2 ล้านคน นับเป็นความร่วมแรงร่วมใจของ ‘คนรุ่นใหม่’ มากมายอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปมากมาย แต่กระนั้นก็ยังเห็นได้ชัดเลยว่า เด็กๆ เหล่านี้ยังต้องต่อสู้กับผู้ใหญ่หัวดื้อกันต่อไป

แน่นอน การประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเด็กๆ แต่ยังมีการประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า Earth Strike ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกอบกู้โลกในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมมากมาย ตั้งแต่สหภาพต่างๆ ทั่วโลก ไปจนถึงนักการเมือง และองค์กรระดับนานาชาติหลายแห่ง เราพอพูดได้ว่า ถ้าเกรตา ธันเบิร์ก เป็นหัวหอกนำการประท้วงในเรื่องนี้ของเด็กๆ สำหรับผู้ใหญ่ก็มีนอม ชอมสกี้ เป็นหัวหอก

นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องสำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือค่าครองชีพทั้งหลาย ปี 2019 เราจะพบว่ามีการประท้วงเรื่องเกี่ยวกับค่าครองชีพมากมายทั่วโลก เช่น การขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในชิลี ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งที่การขึ้นค่าโดยสารเกิดขึ้นกับรถใต้ดินในกรุงซานติเอโกที่เป็นเมืองหลวงก่อน

การประท้วงเริ่มขึ้นด้วยการจัดการรณรงค์ ‘หลบเลี่ยงค่าโดยสาร’ (Fare Evasion) ที่เกิดจากเหล่านักเรียนมัธยมก่อน แล้วตามด้วยการ ‘ยึด’ สถานีรถไฟและเปิดฉากเผชิญหน้ากับกองกำลังของทางการเลย เหตุการณ์นี้รุนแรง ยืดเยื้อ และใหญ่มาก จนปัจจุบันก็ยังประท้วงกันอยู่ โดยคาดว่ามีผู้เข้าร่วมขบวนการนี้มากถึง 3.7 ล้านคน และการปราบปรามทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 26 คน บาดเจ็บมากกว่าหมื่นคน และถูกจับถูกกักตัวไปอีกหลายพันคน

ที่เป็นเรื่องค่าครองชีพคล้ายๆ กันอีกประเทศหนึ่งก็คือเฮติ แต่ไม่ใช่เรื่องของรถใต้ดิน ทว่าเป็นการประท้วงที่เริ่มจากการขึ้นภาษีน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และมีการคอร์รัปชันในรัฐบาล สุดท้ายการประท้วงจึงลุกลามกลายเป็นการขับไล่ผู้นำประเทศ เหตุการณ์ประท้วงนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 187 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ 44 คน และนักข่าว 2 คน แม้จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2018 แต่จนถึงบัดนี้ การประท้วงก็ยังดำเนินต่อไปอยู่ ไม่ได้จบสิ้นหรือหาข้อยุติได้แต่ประการใด

อีกประเทศหนึ่งก็คล้ายกันกับเฮติ เพราะรัฐบาลต้องรัดเข็มขัด จึงเลือกใช้หลายวิธี เช่น ตัดค่าใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภคของประชาชน ขึ้นภาษี เลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน (ทำให้น้ำมันราคาแพงขึ้น) ซึ่งก็แน่นอนว่าการประท้วงลุกลามไปเป็นการขับไล่รัฐบาล การปราบปรามทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บมากกว่าพันคน และถูกจับไปมากกว่าพันคนอีกเช่นกัน และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ยุติ

อีกประเทศหนึ่งที่หลายคนอาจได้ข่าวก็คือฝรั่งเศส เป็นการประท้วงที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี่เอง เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญ ซึ่งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้เสนอขึ้นมาเอง การประท้วงนี้เริ่มต้นจากคนงานของสหภาพแรงงานก่อน แล้วค่อยๆ ใหญ่ขึ้น เชื่อว่ามีผู้ร่วมประท้วงบนท้องถนนของกรุงปารีสหลายแสนคน (ตัวเลขของทางการคือ 65,000 คน แต่ของฝ่ายประท้วงอ้างว่าอยู่ที่ 250,000 คน) แต่ถ้านับรวมทั่วประเทศ จะอยู่ราวแปดแสนถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน และก็แน่นอนว่ายังไม่ได้ข้อยุติอะไร

เรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดการประท้วงในประเทศที่เราอาจรู้สึกว่าสงบอย่างสวิตเซอร์แลนด์ (แต่ที่จริงสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เป็นประเทศที่ผู้คนเห็นพ้องต้องกันไปหมดทุกเรื่องนะครับ นี่คือหนึ่งในประเทศที่มีการทำ ‘ประชามติ’ ในเรื่องต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่มากที่สุดในโลก) โดยมีคนหลายแสนคนออกมาประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในช่วงเดือนมิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นของการประท้วงก็คือการจ่ายค่าแรงระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่เท่าเทียมกันนั่นเอง

เรามักคิดว่า การประท้วงเป็นเรื่องของพวก ‘ฝ่ายซ้าย’ แต่ที่จริงในบางประเทศ พวก ‘ฝ่ายขวา’ ก็ออกมาประท้วงด้วยเหมือนกัน เช่นในเมืองพอร์ตแลนด์ในโอเรกอน ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดการประท้วงที่เรียกว่า End Domestic Terrorism Rally คือการออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการ ‘ก่อการร้ายในบ้าน’

การประท้วงนี้เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านกลุ่ม ‘ฝ่ายซ้าย’ ที่เรียกว่า Antifa หรือ Anti-Fascist ซึ่งถูกมองว่าใช้ความรุนแรงและเป็นการก่อการร้ายภายในประเทศ ทว่ากลับไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ ดังนั้น ขบวนการฝั่ง ‘ขวาจัด’ อย่างกลุ่ม End Domestic Terrorism นี้ จึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้คนอเมริกันลุกขึ้นสนใจปัญหานี้ด้วย แต่ก็ปรากฏว่าเป็นการประท้วงที่ถูกต่อต้านจากชาวเมืองและนักการเมืองท้องถิ่น ผู้ประท้วงมีราวพันกว่าคน ถูกจับไป 13 คน เกิดความวุ่นวายในเมืองขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก

พูดได้ว่าเป็นการประท้วงที่เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวากับซ้าย ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะเป็นฝั่งตรงข้ามของขบวนการชื่อ Sardines Movement ในอิตาลี ที่เป็นขบวนการของฝ่ายซ้าย เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านนโยบายไม่เอาผู้อพยพยของรัฐ รวมไปถึงการก่อตัวขึ้นของแนวคิดแบบฟาสซิสม์ เช่น ขบวนการคล้ายๆ Brexit ที่เรียกว่า Euroscepticism ที่มีเป้าหมายเบื้องต้นในการวิพากษ์การทำงานของอียู แต่เป้าหมายไกลๆ ก็คือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

จะเห็นได้ว่า ในปี 2019 โลกมีการประท้วงมากมายเป็นร้อยๆ ครั้ง ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ที่หยิบยกมาไว้ในที่นี้ถือได้ว่าเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการประท้วงใหญ่ๆ ในอีกหลายแห่ง เฉพาะในสหรัฐอเมริกาก็มีการประท้วงแทบทุกสัปดาห์ ไม่นับรวมการประท้วงที่ไปไกลถึงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เช่นการประท้วงในสเปน หรือเรื่องสิทธิพลเมืองในอินเดีย การประท้วงเรื่องเชื้อชาติในเอธิโอเปีย การประท้วงในเกาหลีใต้ แม้กระทั่งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่เราชอบมองว่าเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ยังมีการประท้วง

ทอดตาดูทั่วโลก ตลอดปี 2019 นี้ น่าจะมีการประท้วงมากที่สุดปีหนึ่ง จนบางคนนำไปเปรียบเทียบกับปี 1968 อันเป็นปีที่มีการประท้วงและความวุ่นวายในโลกขนานใหญ่ และน่าจะมีอยู่น้อยประเทศนักที่ปลอดการประท้วงใหญ่ๆ ได้ตลอดปี

ไม่น่าเชื่อ — ที่หนึ่งในประเทศเหล่านั้น ก็คือประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรานี่เอง

ช่างเป็นประเทศที่โชคดีอะไรเช่นนี้ก็ไม่รู้

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save