fbpx

เช็คชีพจรหลังห้องขังในวันที่โลกติดไวรัส ผ่านรายงาน Global Prison Trends 2021

ในห้วงยามที่โลกติดโรคระบาดอย่างหนักหน่วง ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 เข้ามาสั่นสะเทือนและส่งผลกระทบกับทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม บีบบังคับให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

หนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงมากที่สุด คือ ‘เรือนจำ’ เพราะแม้เรือนจำจะดูเป็นสถานที่ที่แข็งแกร่งและแน่นหนาแค่ไหน แต่แท้จริงแล้ว เรือนจำกลับมีความเปราะบางมากกว่าที่เราคิด ทั้งด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ ความแออัดยัดเยียด รวมไปถึงสุขอนามัยของผู้ต้องขังที่อาจย่ำแย่อยู่แต่เดิมแล้ว ทำให้เรือนจำกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เสี่ยงที่สุดที่จะเกิดการแพร่ระบาดขึ้นได้ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยก่อนหน้านี้

101 ชวนสำรวจสุขอนามัยหลังม่านลูกกรง เช็คชีพจรหลังห้องขังในวันที่โรคบุกโลกอย่างหนักหน่วง เทรนด์เรือนจำโลกในปี 2021 เป็นอย่างไร และโควิด-19 ส่งผลกระทบกับผู้ต้องขังและคนในเรือนจำมากขนาดไหน

:: คนล้นคุก ::

ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเป็นปัญหาที่เรือนจำทั่วโลกต้องเผชิญมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลกมีกว่า 11 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 8% นับตั้งแต่ปี 2010 นำไปสู่ปัญหาเรือนจำแออัด โดยมีการประมาณการว่า เรือนจำใน 11 ประเทศ ต้องรับภาระเกินกว่าขีดความสามารถของตนเองถึง 250% ขณะที่ในฟิลิปปินส์ เฮติ และคองโก ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงถึง 450-600%

:: ใครบ้างที่อยู่ในเรือนจำ ::

แม้ผู้ต้องขังชายยังถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในเรือนจำ คือคิดเป็น 91% ใน 66 ประเทศ (ปี 2018) แต่จำนวนผู้ต้องขังหญิงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 17% ตั้งแต่ปี 2010 ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกมีประมาณ 741,000 คน ส่วนหนึ่งเนื่องจากการใช้โทษจำคุกมากขึ้น แม้ในคดีเล็กน้อย หรือคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดที่เป็นการครอบครองในปริมาณไม่มาก อีกกลุ่มเปราะบางคือเด็ก สถิติปัจจุบันพบว่า มีเด็กมากกว่า 410,000 คนอยู่ในสถานกักขังทั่วโลก ซึ่งทั้งผู้หญิงและเด็กต่างได้รับผลกระทบจากเรือนจำที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะเท่าที่ควร


อีกประเด็นน่าสนใจคือเรื่องของเชื้อชาติ มีสถิติพบว่า ในสหรัฐฯ คนผิวดำถูกตัดสินให้จำคุกมากกว่าคนขาวถึง 6 เท่า หรือในบราซิลพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นคนดำ


:: ผลของโควิด-19 และการก่ออาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ::

มีหลายประเทศออกมาตรการฉุกเฉินทางกฎหมายเพื่อต้านเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้การกระทำใดๆ ที่ฝ่าฝืนมาตรการเหล่านี้ถือเป็นความผิด และกระทบกับกลุ่มคนยากจนที่สุดของสังคม เช่น ในมาเลเซีย ชายสองคนโดนจับเพราะพวกเขาออกไปตกปลาเพื่อนำมาทำอาหาร แทนที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนด stay at home


ในขณะเดียวกัน งานวิจัยจากสหรัฐฯ เปรู อินเดีย และออสเตรเลีย พบว่า ในระยะสั้น มาตรการ stay at home เพื่อต้านโควิดช่วยลดอัตราอาชญากรรมบางประเภทได้ เช่น การจี้ การปล้น หรือการขโมยของ แต่ในระยะยาว โรคระบาดอาจทำให้อัตราอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เพราะความยากจนและเศรษฐกิจตกต่ำ


:: เมื่อเรือนจำติดไวรัส ::

โควิด-19 คือวิกฤตที่เปิดเผยให้เห็นความล้มเหลวของระบบเรือนจำหลายแห่งที่ไม่สามารถให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังได้ เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่เพราะขาดแคลนเงินทุนและเจ้าหน้าที่ สุขอนามัยที่ไม่ดี และพื้นเพเดิมก่อนจะเข้าเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังต้องเจอความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากสถิติจากเรือนจำทั่วโลกพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกือบ 4,000 คน (ในมากกว่า 47 ประเทศ) และมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 530,000 คน (ในมากกว่า 122 ประเทศ) อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจริงๆ อาจสูงกว่าที่มีรายงานอย่างเป็นทางการ เพราะการขาดแคลนข้อมูล ขาดแคลนทรัพยากรและเจ้าหน้าที่ในการตรวจหาเชื้อ


:: แผนการกระจายวัคซีนให้ผู้ต้องขัง ::

ด้วยสภาพความแออัดของเรือนจำ ทำให้มีข้อเสนอว่ากลุ่มประชากรในเรือนจำควรจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้เรือนจำกลายเป็น ‘แหล่งเพาะพันธุ์’ เชื้อโควิด และเป็นการป้องกันสังคมภายนอกด้วย


จนถึงปัจจุบัน มีรายงานว่าประเทศอย่างน้อย 13 ประเทศมีแผนให้คนในเรือนจำเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน แต่ถ้ามองในระดับโลก เรือนจำยังถูกละเลยและไม่ได้ถูกรวมในแผนวัคซีนระดับชาติ และยังมีแนวโน้มที่คนส่วนหนึ่งจะแคลงใจและตั้งข้อสังเกตกับการที่ผู้ต้องขังได้รับวัคซีนก่อน เพราะพวกเขามองว่าผู้ต้องขังคือคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ควรจะได้รับการปกป้องเท่ากับคนภายนอก


:: มาตรการรับมือโควิด-19 ในเรือนจำ ::

มาตรการปล่อยตัวฉุกเฉิน
หลายประเทศเลือกที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ รวมถึงกระจายผู้ต้องขังที่ยังอยู่ใต้การคุมขัง ขณะที่กลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับการพิจารณาปล่อยตัวก่อนคือ ผู้สูงวัย ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ บุคคลทุพพลภาพ ผู้หญิงตั้งครรภ์ แม่ที่มีลูกเล็ก รวมไปถึงคนที่ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีและคนที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลารับโทษ

การขังเดี่ยว
อีกมาตรการที่ใช้กันแพร่หลายคือ การขังเดี่ยว หรือจำกัดกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ต้องขังทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในเดือนมิถุนายน ปี 2020 ผู้ต้องขังในสหรัฐฯ อย่างน้อย 3 แสนคนถูกขังเดี่ยวเนื่องจากโรคระบาด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 500% อย่างไรก็ดี หลายๆ ประเทศเริ่มทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการขังเดี่ยวอีกครั้ง เช่นในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่เพิ่งออกคำสั่งห้ามขังเดี่ยวมากกว่า 15 วันติดกัน หรือห้ามขังเดี่ยวทั้งหมด 20 วันในระยะเวลา 60 วัน

การห้ามคนนอกเข้าเยี่ยม
การห้ามคนนอกเข้าเยี่ยมในช่วงโรคระบาดเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ส่งผลกระทบกับผู้ต้องขังไม่น้อย เพราะผู้ต้องขังหลายคนต้องพึ่งพาอาหาร เสื้อผ้า หรือยาจากครอบครัวที่อยู่ภายนอก ทำให้หลายประเทศต้องเริ่มปรับตัวและนำวิธีต่างๆ มาใช้ทดแทน เช่น อูกันดา ที่ให้ครอบครัวหรือเพื่อนสามารถส่งสิ่งของจำเป็นให้ผู้ต้องขังที่หน้าประตูเรือนจำ


อีกประเด็นที่ได้รับการพูดถึงมากคือ การห้ามคนนอกเข้าเยี่ยมจะนำไปสู่การจำกัดสิทธิในการพบตัวแทนทางกฎหมายของผู้ต้องขัง ซึ่งหลายครั้งที่การถูกจำกัดสิทธินี้เกิดจากเหตุผลด้านการปฏิบัติด้วย เช่น ค่าโทรศัพท์หรือระยะเวลาในการโทรที่มีจำกัด


:: บทบาทของเทคโนโลยีในช่วงโรคระบาด ::

เรือนจำหลายแห่งทั่วโลกเริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในช่วงโรคระบาด เช่น ประเทศแถบยุโรป ไทย อินโดนีเซีย ให้ผู้ต้องขังใช้ video call กับญาติแทนการเยี่ยมแบบพบหน้ากัน เรือนจำบางแห่งในสหรัฐฯ ใช้หุ่นยนต์ UVC ปล่อยแสงอัลตราไวโอเลตที่มีความเข้มข้นสูงฆ่าเชื้อโรค ขณะที่ในอินเดีย เมียนมา และอัลบาเนีย ใช้ video conference เพื่อให้ศาลอ่านคำพิพากษาเรื่องการประกันตัวผู้ต้องขัง


อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ Global Prison Trends 2021

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save