fbpx

มอง 4 สถานการณ์โลกหลังห้องขัง ในโลก (หลัง) โควิด-19 ผ่านรายงาน Global Prison Trend 2022

มีคนกล่าวไว้ว่า “โลกหมุนไป อะไรๆ ย่อมเปลี่ยนตาม” แต่ประโยคดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นใน ‘เรือนจำ’ เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ปัญหาหลายอย่างยังคงคล้ายถูกกักไว้หลังกำแพงสูง ทำให้เรายังคงได้ยินปัญหาเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาในพื้นที่เหล่านั้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ปัญหาสุขภาพ พร้อมเสริมทับด้วยปัจจัยใหม่ๆ อย่างโควิด-19 ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง ตอกย้ำความเปราะบาง รวมถึงเปิดให้เห็นปัญหาหลายอย่างในเรือนจำที่ถูกซุกซ่อนมานาน

ในปี 2022 ที่โควิด-19 คล้ายจะบรรเทาเบาบางลง ขณะที่ผู้คนในโลกภายนอกกำลังเปลี่ยนผ่านวิถีการดำเนินชีวิตไปสู่ยุคหลังโรคระบาด สถานการณ์ในโลกเรือนจำกำลังเป็นอย่างไร 101 ชวนสำรวจ 4 สถานการณ์จริงหลังห้องขัง ผ่านบางส่วนของรายงาน Global Prison Trend 2022

-1-
อาชญากรรมล้นเกิน ผู้ต้องขังล้นคุก เรือนจำงอกเงย

ยอดผู้ต้องขังทั่วโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

‘นักโทษล้นคุก’ เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังของระบบยุติธรรมทั่วโลกมานานหลายปีและยากที่จะแก้ปัญหาได้ แม้กาลเวลาจะล่วงมาถึงปี 2022 สถานการณ์ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม

World Prison Brief ยังระบุว่า ล่าสุดมีคนมากกว่า 11.5 ล้านคนทั่วโลกต้องอยู่ในเรือนจำ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนสูงสุดที่เคยมีมา โดยเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2000

ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น เกือบครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้อยู่ใน 2 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ กับจีน ขณะที่บางประเทศ เช่น อินเดีย มีจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการจับกุมที่เพิ่มขึ้น และความล่าช้าของการพิจารณาคดี แต่ขณะเดียวกันสวิตเซอร์แลนด์ก็เป็นประเทศที่มีอัตราการคุมขังต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ

เมื่อลงลึกไปถึงสาเหตุของปัญหานักโทษล้นคุก รายงาน Global Prison Trend 2022 ระบุว่า ต้นเหตุหลักมาจาก ‘การคุมขังก่อนการพิจารณาคดี’ (pre-trial detainees) ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ 1 ใน 3 ของประชากรผู้ต้องขังต้องถูกคุมตัวโดยที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินคดีหรือถูกตัดสินกว่ากระทำความผิด โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชีย

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมานานกว่า 2 ปีส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังผันผวนอย่างมาก ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม โดยผลที่เกิดในทางตรงเกิดจากมาตรการอย่างเช่นการปล่อยตัวผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความแออัด ส่วนในทางอ้อมก็อย่างเช่นธรรมชาติของการกระทำผิดที่เปลี่ยนไป หรือความล่าช้าของระบบยุติธรรม

อีกสาเหตุหลักที่ทำให้คนจำนวนมากต้องถูกคุมขังคือ ‘ปัญหายาเสพติด’ โดยมีการประมาณการว่า ประชากรกว่า 2.2 ล้านคนทั่วโลกถูกคุมขังในคดีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยา และถ้ามองให้ลึกกว่านั้น ประชากรร้อยละ 22 (ประมาณ 470,000 คน) ถูกจำคุกในคดีครอบครองยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว

แน่นอน การครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ขัดต่อกฎหมายในประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ประเด็นที่ควรหยิบยกมาพูดถึงคือ นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดที่ใช้อยู่นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ กล่าวคือนโยบายดังกล่าวมุ่งปราบปรามหรือฟื้นฟูเยียวยาสังคมให้กลับมาดีดังเดิมกันแน่ เพราะหากเราไม่พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว นโยบายที่ถูกคิดด้วยเจตนาดีอาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบจนกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าเดิม

ในประเด็นนี้ เมื่อเราลองดูสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบันจะเห็นว่า มีมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการลงโทษทางอาชญากรรมสำหรับการครอบครองยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว อาทิ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ หรือแคนาดา ขณะที่ในประเทศไทย แม้ว่าการครอบครองยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวจะยังถือเป็นการกระทำความผิด แต่ก็มีความพยายามแก้กฎหมายและนำมาตรการที่มิใช่การจำคุกมาใช้แทน ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ

ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ยาเสพติด’ ที่เป็นสาเหตุหลักของนักโทษล้นคุก แต่ในบางประเทศ ‘ความจน’ และ ‘สถานะ’ กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว

แน่นอน เรื่องดังกล่าวฟังดูเหมือนเป็นมุกเสียดสีในละครสะท้อนสังคมสักเรื่อง แต่ไม่ใช่กับ 42 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่การไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง (flexed address) หรือไม่มีปัจจัยการดำรงชีพ (means of subsistence) กลายเป็นอาชญากรรม โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดที่คนไร้บ้านจำนวนมากในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มากกว่าใครๆ

‘งานขายบริการทางเพศ’ (sex worker) เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิด และแม้หลายประเทศจะมีความพยายามลดทอนความเป็นอาชญากรรม (decriminalised) ของงานขายบริการทางเพศ แต่คนกลุ่มนี้ก็ต้องเจอกับความเสี่ยงในการถูกคุมตัว การปฏิบัติที่ไม่ดี และการถูกกระทำด้วยความรุนแรงอยู่

คำถามต่อมาคือ เรามีทางเลือกอื่นอีกไหมนอกจากการจำคุก?

โควิด-19 ไม่ได้ช่วยให้ผู้ต้องขังลดลง

หากพูดกันตามจริง มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ถูกใช้อย่างแพร่หลายได้ในเวลาอันสั้น ทำให้ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการจัดการกับปัญหานักโทษล้นคุกมากเท่าไหร่ เรื่องดังกล่าวก็ยังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีทางออก

อย่างไรก็ดี ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดที่ผ่านมา แวดวงยุติธรรมคล้ายจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง เมื่อผลที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดอาจจะช่วยนำไปสู่ความพยายามระยะยาวในการแก้ลดจำนวนผู้ต้องขัง หลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกอย่างจริงจัง อาทิ บาห์เรน ที่เริ่มหันไปหาการบริการชุมชนหรือการกักตัวในบ้านแทนการคุมขัง พร้อมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการนำมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังมาใช้แทนการลงโทษระยะสั้น เช่นในคูเวต ผู้ที่ถูกตัดสินให้จำคุกน้อยกว่า 3 ปีสามารถเลือกที่จะอยู่ในบ้านของตัวเองได้ภายใต้การตรวจตราด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

แม้ว่านี่จะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการก้าวไปสู่การใช้มาตรการทางเลือกเพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก แต่ทางเลือกดังกล่าวกลับยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ขั้นตอนใดของกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากการขาดความรู้ ความตระหนักรู้ ขาดทรัพยากรที่จำเป็น และขาดการฝึกฝนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงความท้าทายสำคัญคือความคิดของสาธารณชนที่มักจะต่อต้านมาตรการทางเลือกและสนับสนุนมาตรการลงโทษมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทย์ใหญ่ของปัญหาจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่การเปลี่ยนค่านิยมของสาธารณชนให้ตระหนักรู้และเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งจริงอยู่ที่การกระทำความผิดหลายอย่างเป็นอาชญากรรมและสมควรได้รับโทษคุมขัง แต่หากพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้ว ยังมีการกระทำความผิดอีกจำนวนมากที่เป็นความผิดเล็กน้อยและอาจหันไปหามาตรการทางเลือกอื่นๆ แทนได้เพื่อลดปัญหาเรือนจำแออัด

เรือนจำงอกเงย

แม้จะมีผลการศึกษาออกมายืนยันเป็นจำนวนมากว่า การสร้างเรือนจำใหม่ๆ เพิ่มเติมไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นได้อย่างยั่งยืน แถมยังมีต้นทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกลับเลือกที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างเรือนจำแห่งใหม่หรือขยับขยายบูรณะเรือนจำ โดยในปี 2021 เพียงปีเดียว พบว่ามีมากถึง 24 ประเทศที่ประกาศแผนการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ อันจะทำให้มีพื้นที่คุมขังผู้ต้องขังรวมกันเพิ่มขึ้นถึงอย่างน้อย 437,000 คน โดยประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่คุมขังมากที่สุดก็คือตุรกี ซึ่งจะมีพื้นที่จุผู้ต้องขังเพิ่มถึงขึ้นถึง 266,000 คน หรือคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่จะเพิ่มขึ้นทั่วโลกเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังต้องตระหนักด้วยว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง และเป็นเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่าการเข้าถึงตัวเลขเหล่านี้อย่างเป็นทางการเป็นเรื่องยาก จึงคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ อีกทั้งเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมถึงการปรับปรุงหรือขยายพื้นที่เรือนจำด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์การสร้างเรือนจำใหม่เป็นจำนวนมาก ยังนำไปสู่แนวโน้มทางอ้อมอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือแนวโน้มของการมีเรือนจำที่อยู่ห่างไกลจากเมืองมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางต้นทุนและความหนาแน่นของพื้นที่เขตเมืองเป็นตัวบีบให้ต้องสร้างเรือนจำในพื้นที่ห่างไกลนอกเขตเมืองแทน

แม้การตั้งเรือนจำอยู่ในเขตพื้นที่ชนบทห่างไกลที่รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวจะมีข้อดีในเรื่องการเยียวยาฟื้นฟูผู้ต้องขัง ช่วยลดปัญหาความรุนแรง และการทำร้ายตัวเองของผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งยังมีกิจกรรมให้ผู้ต้องขังทำมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมเชิงเกษตรกรรม แต่ก็มีข้อเสียใหญ่คือการทำให้ผู้ต้องขังมีโอกาสติดต่อโลกภายนอกได้น้อยลง รวมทั้งยังเข้าถึงบริการและโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างลำบากขึ้น เช่น การไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ

-2-
เปิดประตูห้องขัง ใครบ้างที่อยู่ในเรือนจำ?

อาจฟังดูไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเราบอกว่าประชากรส่วนใหญ่ของเรือนจำเป็นผู้ชาย (ร้อยละ 83) อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้หญิงในเรือนจำเพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก (ร้อยละ 33) ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงกว่าผู้ชาย (ร้อยละ 25) โดยยุโรปถือเป็นทวีปที่มีอัตราผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นเยอะที่สุด

นอกจากนี้ ผู้หญิงยังต้องเจอกับปัญหายากลำบากหากพวกเธอ ‘ตั้งครรภ์’ อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในเรือนจำที่มิได้เอื้อกับแม่และเด็ก และแม้ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) จะสนับสนุนให้ใช้มาตรการที่มิใช่การจำคุกสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายประเทศทั่วโลกยังคงนิ่งเฉยกับเรื่องนี้

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจที่รายงาน Global Prison Trend 2022 ชี้ให้เราเห็นคือ จำนวนผู้สูงอายุในเรือนจำเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้สูง สาเหตุหลักๆ มาจากการตัดสินลงโทษหนักอย่างโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตที่ทำให้มีระยะเวลาการลงโทษที่ยาวนาน

กลุ่ม LGBTQ+ ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่เปิดรับและไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ยิ่งตกเป็นเป้าหมายและยิ่งถูกเลือกปฏิบัติจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ดังที่เกิดขึ้นในประเทศแคเมอรูน ซึ่งผู้หญิงข้ามเพศ (trans women) 2 คนถูกตัดสินจำคุก 5 ปี จากการที่ทั้งคู่หลับนอนในบ้านหลังเดียวกันและแสดงพฤติกรรมที่สื่อถึงการรักเพศเดียวกัน ขณะที่ภายในเรือนจำ กลุ่ม LGBTQ+ ก็มักเจอกับการถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่จากผู้ถูกคุมขังด้วยกัน

ชนพื้นเมืองและคนกลุ่มน้อยคืออีกกลุ่มหนึ่ง โดยในสหรัฐฯ ผู้ถูกคุมขังจำนวนมากเป็นคนผิวดำและคนลาติน ขณะที่ในหลายประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ และแคนาดา อัตราของกลุ่มคนพื้นเมืองที่ถูกคุมขังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญคือ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะต้องรับโทษนานมาก ทั้งยังมักถูกปฏิเสธการยื่นขอประกันตัวหรือต้องประกันตัวแบบมีเงื่อนไข

นอกจากจำนวนผู้หญิงในเรือนจำที่เพิ่มขึ้นแล้ว ‘เด็ก’ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า มีเด็กทั่วโลกกว่า 261,200 คนที่ถูกคุมขังในปี 2020 โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทวีปอเมริกาเหนือเป็นทวีปที่มีอัตราเด็กถูกคุมขังมากที่สุด ตามมาด้วยลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

นี่นำมาซึ่งการอภิปรายในระดับโลกเพื่อหาทางแก้ปัญหาเด็กถูกคุมขังและการรับประกันว่าเด็กจะได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรและไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) หรือการเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง เป็นต้น

และอย่างที่เราคงพอคาดเดากันได้ เด็กเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเจอกับปัญหาความรุนแรงและการถูกปฏิบัติที่ไม่ดีระหว่างถูกคุมขัง รวมไปถึงได้รับผลกระทบจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น ในอังกฤษ อัตราการทำร้ายร่างกายในเด็กเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งช่วงเวลาที่เด็กควรจะได้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฝึกฝนและการศึกษา ก็ถูกลดทอนลงไปด้วย

อีกหนึ่งกลุ่มที่มีความซับซ้อนอย่างมากคือกลุ่ม ‘วัยรุ่น’ (young adult) ซึ่งแม้ว่าในทางประชากรศาสตร์ วัยรุ่นคือกลุ่มคนที่มีอายุอยู่ในช่วง 18-25 ปี แต่ตัวกระบวนการยุติธรรมเองกลับไม่ได้มีเส้นแบ่งหรือมีนิยามที่ชัดเจนระหว่างกลุ่ม ‘เด็ก’ กับ ‘วัยรุ่น’

เมื่อมองดูสถานการณ์ในระดับโลก รายงานชี้ว่า หลายประเทศในโลกกำหนดให้อายุขั้นต่ำของเด็กที่ต้องรับโทษอยู่ในช่วง 7-16 ปี และเด็กคนนั้นจะถูกปฏิบัติในฐานะผู้ใหญ่เมื่ออายุ 18 ปี อย่างไรก็ดี บางประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กำหนดให้คนอายุ 19 และ 20 ปี (ตามลำดับ) ถูกจัดว่าเป็นเด็ก

ไมใช่แค่เรื่องอายุและการปฏิบัติเท่านั้นที่มีความซับซ้อน แต่เรื่องพัฒนาการทางร่างกายก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ กล่าวคือสมองของมนุษย์จะพัฒนาและเริ่มมีวุฒิภาวะมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงอายุ 20 ปีกลางๆ ทำให้การกระทำผิดของกลุ่มวัยรุ่นกลายเป็นประเด็นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ในเยอรมนี กลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 18-21 ปีที่ทำผิดกฎหมายจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิเศษที่ศาลเยาวชนก่อน โดยผู้พิพากษาจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าใช้กฎหมายแบบใดกับผู้กระทำความผิดที่อยู่ในช่วงอายุดังกล่าว – กฎหมายเยาวชน หรือกฎหมายอาญาแบบผู้ใหญ่แต่บรรเทาโทษลง – ขณะที่ในอิตาลี ผู้ที่มีอายุระหว่าง 14-18 ปีที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษที่มีไว้สำหรับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 21 ปี หลังจากที่พวกเขาถูกย้ายมาจากเรือนจำของผู้ใหญ่ เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ – มีงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ มีแนวโน้มที่จะถูกจำคุกในคดีลหุโทษ เช่นเดียวกับเด็กและวัยรุ่นที่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือถูกละเลย นอกจากนี้ เด็กที่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรงยังมีแนวโน้มที่จะมีประเด็นด้านสุขภาพจิตที่ซับซ้อนอีกด้วย นี่จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่ทั้งการหาทางป้องกันเด็กและวัยรุ่นจากการกระทำความผิด และการหาหนทางฟื้นฟูเยียวยาที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดการกระทำความผิดขึ้นแล้วต่อไป

-3-
โควิด-19 เปิดแผลปัญหาสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วโลก

ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อข้อมูลจากทั่วโลกระบุว่า ‘ผู้ต้องขัง’ คือกลุ่มที่เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ โดยในสหรัฐฯ อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในเรือนจำสูงเกือบ 3 เท่าของอัตราการเสียชีวิตของคนทั่วไป เพราะอย่างที่เราทราบกันดี เรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่มีศักยภาพและทรัพยากรที่เพียงพอในการรับมือกับโรคระบาดเช่นนี้ นอกจากนี้ แม้หลายประเทศจะเริ่มหันมาลดเวลาการกักขังผู้ต้องขังเนื่องมาจากโรคระบาด แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งที่ใช้มาตรการป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ต้องขังอย่างเลี่ยงไม่ได้

โควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขัง หรือผู้คุมในเรือนจำเองก็ตาม เนื่องจากมาตรการคุมเข้มต่างๆ ในเรือนจำช่วงการระบาดส่งผลให้ผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น จากเดิมที่ก็มีปัญหามากอยู่แล้ว เช่น การพบปัญหาเกี่ยวกับการนอนที่เพิ่มขึ้น โรควิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมทำร้ายตัวเองที่มีมากขึ้น อย่างในประเทศอังกฤษ ที่พบว่าผู้ต้องขังทำร้ายตัวเองมากขึ้นถึงร้อยละ 140 ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการการคุมระบาดที่ทำให้ผู้ต้องขังมีโอกาสได้รับการเข้าเยี่ยมจากครอบครัวน้อยลง ขณะที่ในเปอร์โตริโก ก็พบว่ามีความพยายามฆ่าตัวตายในสถานกักกันเยาวชนและเรือนจำหญิงมากขึ้น แต่ท่ามกลางปัญหานี้ เราก็พอได้เห็นเรือนจำบางประเทศที่ให้ความสำคัญในการหาแนวทางรับมือปัญหาสุขภาพจิตผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการฝึกฝนทักษะเจ้าหน้าที่เรือนจำให้สามารถดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังได้ เช่น ในประเทศกรีซ และฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ดี เมื่อการรับมือจากโควิด-19 เปลี่ยนจากการแยกตัว (isolation) เป็นการฉีดวัคซีน (vaccination) แทน กลับกลายเป็นว่าผู้ต้องขังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการที่พวกเขาไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในแผนการฉีดวัคซีนระดับชาติด้วย ถ้าพูดให้ชัดเจนขึ้น ผลการสำรวจพบว่ามี 131 ประเทศที่มีแผนการฉีดวัคซีนระดับชาติ แต่มีเพียง 56 ประเทศที่รวมผู้ต้องขังเข้าไปในแผนการนั้นด้วย (หรือคิดเป็นร้อยละ 43) และมีเพียง 66 ประเทศที่รวมเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ ความลังเลในการฉีดวัคซีน (vaccine hesitancy) ที่หลายคนตั้งคำถามและไม่เชื่อมั่นในระบบสุขภาพของเรือนจำ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ ยิ่งเป็นเหมือนปัจจัยเสริมที่ทำให้เรือนจำเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เปราะบางต่อโรคระบาดที่สุด แม้จะมีวัคซีนป้องกันโรคระบาดแล้วก็ตาม

ไม่ใช่แค่เพียงโควิด-19 เท่านั้นที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ งานวิจัยของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ฉายภาพว่า ไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ใช่โควิด-19 ได้ เนื่องมาจากปัญหาความเข้มงวดและการขาดแคลนทรัพยากรที่สืบเนื่องมาจากโควิด-19 กล่าวคือผู้ต้องขังจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษา การส่งตัวไปที่โรงพยาบาล หรือบริการสุขภาพอื่นๆ ได้ ยังไม่นับรวมวัณโรค เชื้อเอชไอวี หรือโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ของเรือนจำทั่วโลก

แน่นอน ปัญหาสุขภาพในเรือนจำไม่ใช่เรื่องใหม่ ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทั้งสภาพแวดล้อม สุขอนามัย หรือแม้กระทั่งค่านิยมของสังคม หล่อหลอมให้เรือนจำกลายเป็นสถานที่ที่เปราะบางที่สุด นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่สำหรับผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก – เราจะออกแบบเรือนจำอย่างไรให้เหมาะสมและครอบคลุมกับคนทุกคนที่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในนั้น เพื่อให้เรือนจำเป็นสถานที่ที่ตอบรับกับทุกความต้องการเฉพาะ เป็นสถานที่เพื่อฟื้นฟูเยียวยาและมอบโอกาสครั้งใหม่อย่างแท้จริง

-4-
‘เทคโนโลยี’ ในเรือนจำ – ประเด็นบนทางสองแพร่ง

เมื่อพูดถึงทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ‘ทักษะความเข้าใจในด้านดิจิทัล’ (digital literacy) ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทักษะดังกล่าวถูกตระหนักถึงในฐานะปัจจัยสำคัญของการพัฒนาและในฐานะสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2016 เมื่อประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วและผันผวน ทำให้การฝึกฝนทักษะด้านดิจิทัลยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเพื่อพร้อมรับปรับตัวกับโลกภายนอก สนับสนุนการกลับคืนสู่ชุมชน และเพื่อเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งสุขภาพ งาน หรือแม้แต่ประกันชีวิต และอีกปัจจัยที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยคือ โควิด-19 ที่ผลักให้ทุกมิติของชีวิตต้องเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นเรือนจำหลายแห่งทั่วโลกมีโครงการริเริ่มฝึกฝนทักษะความรู้เท่าทันด้านดิจิทัลให้กับผู้ต้องขัง อาทิ เรือนจำในรัฐพิหาร (Bihar) ของอินเดีย ได้ทำแคมเปญฝึกฝนทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ต้องขังมากกว่า 500 คน โดยแคมเปญดังกล่าวสอนการใช้งานคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัลให้กับผู้ต้องขัง เช่นเดียวกับเรือนจำในรัฐแคนซัส (Kansas) ของสหรัฐฯ ที่มีโปรแกรมฝึกฝนด้านดิจิทัลที่ถูกออกแบบมาสำหรับผู้หญิงในเรือนจำ โดยโปรแกรมดังกล่าวสอนทักษะที่จำเป็นกับการหางานเพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นหลังออกจากเรือนจำแล้ว

ไม่เพียงแต่การฝึกสอนทักษะเท่านั้น แต่เทคโนโลยีก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดฟื้นฟู (rehabilitation) การติดต่อกับโลกภายนอก ไปจนถึงเรื่องสุขภาพ เช่น การใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในอังกฤษ หรือการมีระบบบริการตรวจจิตเวชทางไกล (telepsychiatry) ในเรือนจำ 60 แห่ง ในประเทศไทย โดยมีผู้ต้องขังได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าวมากกว่า 3,000 คน

แต่ใช่ว่าจะมีแต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะเรือนจำหลายแห่งในหลายประเทศยังขาดการให้บริการอินเทอร์เน็ตในเรือนจำ โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ หรือแม้แต่ทำการแบนอินเทอร์เน็ตในเรือนจำโดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัย ถึงขั้นที่ว่าเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายว่าการแบนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเรือนจำเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือไม่

ทั้งนี้ ใช่ว่าเรือนจำจะมองเทคโนโลยีในฐานะของการฝึกฝนทักษะชีวิต หรือมองเทคโนโลยีในแง่ของภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของเรือนจำเท่านั้น เพราะเรือนจำบางที่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้สูง เริ่มมีการพูดถึงเรือนจำอัจฉริยะ (smart prison) ที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการต่างๆ เพื่อปรับปรุงความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการเข้าถึงโอกาสในการบำบัดฟื้นฟูเช่นกัน

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น ลองดูตัวอย่างเรือนจำอัจฉริยะในฟินแลนด์ที่เปิดทำการในปี 2021 เป็นเรือนจำที่ทุกห้องขังมีแล็ปท็อป และระบบเพื่อใช้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ผู้ให้บริการสุขภาพ และกลุ่ม NGOs โดยผู้ต้องขังสามารถที่จะวิดีโอคอลหรือใช้อินเทอร์เน็ต (แบบจำกัด) ได้ เช่น การเรียน การซื้อของออนไลน์ หรือจัดการชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ผ่านทางระบบดิจิทัลเหล่านี้ได้

และอย่างที่เราทราบกันดี เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในตัวเอง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นในแง่จริยธรรม มนุษยธรรม และความท้าทายต่างๆ เช่น ข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในแง่ความได้สัดส่วนกับความเป็นส่วนตัว เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีตรวจตราและตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ต้องขัง แต่ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีที่คล้ายจะละเมิดความเป็นส่วนตัวก็สามารถถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ อาทิ เพื่อตรวจตราสุขภาพหรือปรับปรุงด้านความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังเช่นกัน

โจทย์สำคัญต่อจากนี้จึงอยู่ที่ว่า ระบบยุติธรรม หรือถ้าพูดให้ชัดขึ้น ‘เรือนจำ’ ในยุคเทคโนโลยีเขย่าโลก จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างไร เพื่อให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่และเพื่อพัฒนาชีวิตของผู้ต้องขัง โดยที่ยังตั้งอยู่บนฐานของความปลอดภัยและการเคารพสิทธิส่วนบุคคลไปพร้อมๆ กัน

สามารถอ่าน Global Prison Trend 2022 ได้ที่ https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/global-prison-trends-2022#book/


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save