fbpx
รุ่งหรือร่วง? เปรียบเทียบบทบาท 6 ผู้นำโลกจัดการปัญหาโควิด

รุ่งหรือร่วง? เปรียบเทียบบทบาท 6 ผู้นำโลกจัดการปัญหาโควิด

ณัชชาภัทร อมรกุล[1] เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในปัจจุบัน เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายโลกที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ในวันที่ 13 เมษายน 2020 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกถึง 1,847,643 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 113,911 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา 557,796 คน รองลงมาคือ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อประเทศละประมาณแสนกว่าคน ในจำนวนยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด สหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ 21,966 คน และในวันที่ 12 เมษายนวันเดียวมีผู้เสียชีวิตถึง 1,389 คน โรคโควิดนำไปสู่ปัญหาในระบบสุขภาพ คนไข้ล้นโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งอุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์ช่วยชีวิตไม่เพียงพอ

แต่โรคโควิดไม่ได้เป็นปัญหาแค่ระบบสุขภาพเท่านั้น ความพยายามชะลอการระบาดเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ (‘flattening the curve’) ทำให้เกิดหายนะ ยังส่งผลกระทบร้ายแรงทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ผู้คนตกงานหรือออกมาทำงานไม่ได้ เกิดการขาดแคลนอาหาร ระบบการเดินทางและการขนส่งหยุดชะงัก นับได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีความร้ายแรงต่อทุกระบบในโลก กระทบต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ในเวลาแห่งความหายนะนี้ เราได้เรียนรู้ว่าบทบาทของผู้นำมีความสำคัญมาก การตัดสินใจที่เชื่องช้าหรือไม่ถูกต้อง คือการนำพาไปสู่ความตายโดยไม่จำเป็น

มีการคาดการณ์ว่าตรวจพบผู้ป่วยโควิดคนแรกในประเทศจีนช่วงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2020 แต่ในระยะแรกนั้น ยังยากที่จะตระหนักถึงพิษภัยของโรค จนกระทั่งในวันที่ 23 มกราคม 2020 ทางการจีนได้สั่งปิดเมืองอูฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลก มีการระงับบริการขนส่งสาธารณะทั้งหมด รวมถึงปิดช่องทางในการเดินทางเข้าออกผ่านสนามบินและสถานีรถไฟ นี่ก็คือสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ไม่ธรรมดา

สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิดคนแรกในวันที่ 20 และ 21 มกราคม 2020 ทั้งสองประเทศพบคนติดโรคโควิดแทบจะพร้อมกัน แต่จัดการกับปัญหาแตกต่างกันมาก เกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกายังพุ่งไม่หยุด ผู้นำและการตัดสินใจของผู้นำคือปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ เพราะทันทีที่รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อคนแรก เกาหลีใต้ตัดสินใจทำการระดมทดสอบควานหาผู้ติดเชื้ออย่างไม่หยุดหย่อน (mass testing) ควานหาการสัมผัสโรค (contact tracing) และสร้างระยะห่างในกิจกรรมทางสังคม (social distancing)

 

การตัดสินใจที่ผิดพลาด: สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

 

สหรัฐอเมริกา

ในขณะที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับเกาหลีใต้ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตอบสนองกับโรคร้ายนี้ด้วยท่าทีที่แตกต่างออกไป ในระยะแรก เขาแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจการระบาดของไวรัสนี้ เขาส่งสัญญาณออกไปโดยกล่าวว่า “ในที่สุดเจ้าไวรัสนี้ก็จะหายไปเอง เหมือนปาฏิหารย์” “โคโรนาไวรัสเป็นเรื่องหลอกลวง” เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ คือในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทรัมป์เพิ่งเปลี่ยนแนวคิดของเขาหลังจากเห็นกราฟคณิตศาสตร์ที่แสดงว่า คนอเมริกันจะตายถึง 200,000 คนหากรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซง

ไม่เพียงแต่การตัดสินใจอย่างเชื่องช้า ซึ่งใช้เวลาถึง 70 วันกว่าที่จะตัดสินใจเข้าแทรกแซง แต่ทรัมป์ยังได้ตัดสินใจผิดพลาดอีกหลายประการ เช่น แนะนำยาที่ผิดในการต้านไวรัส และไม่ยอมใช้ชุดตรวจจาก WHO แต่ให้หน่วยงานการควบคุมและป้องกันโรค (Center for Disease Control and Prevention -CDC) ผลิตชุดตรวจเอง ซึ่งผลิตออกมาแล้วใช้การไม่ได้ จนในที่สุดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็พุ่งจนไม่อาจจะควบคุมได้

ความหายนะของสหรัฐอเมริกามาจาก 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกาที่มีก่อนหน้านี้แล้ว ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเป็นคนผิวสี ซึ่งมีอัตราส่วนของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพต่ำกว่าคนผิวขาว[2] ประเด็นที่สองคือลักษณะความเป็นผู้นำของทรัมป์ แม้ว่าจะมีการเตือนและส่งข้อมูลไปยังประธานาธิบดีหลายครั้งในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทรัมป์ก็ยังดื้อดึงยืนยันว่ายังควบคุมได้ ทั้งหมดนี้มาจากปัญหาภาวะผู้นำของทรัมป์ 3 ประการ ประการแรก คือทรัมป์มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปแบบหัวชนฝา ประการที่สอง คือทรัมป์ไม่ยอมอยู่กับคนที่มีความคิดแตกต่างกับตัวเอง เขาไล่ที่ปรึกษาที่คิดแตกต่างจากเขาไปทั้งหมด และรับฟังเพียงเฉพาะคนที่พูดในสิ่งที่เขาต้องการได้ยิน และจากทั้งสองประการนี้นำมาสู่ประการที่สามคือ ความผิดพลาดในตัวระบบ ซึ่งเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแตกต่าง[3]

 

สหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีบอรัส จอห์นสัน ผู้นำของสหราชอาณาจักรก็เป็นอีกตัวอย่างของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ตอนแรกจอห์นสันเองก็ไม่ได้จัดการกับปัญหาอย่างทันท่วงที และประกาศว่าโรคนี้เป็นเพียงแค่ภัยคุกคามระดับปานกลาง การคาดการณ์สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่และทำทุกวิถีทางที่จะตรวจผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดในระยะแรกของรัฐบาลในการให้ประชาชนสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ขึ้นมาได้เอง จนทำให้คนในประเทศติดเชื้อไวรัสโควิดอย่างมากมาย

นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังมั่นใจเกินไปว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health System) จะสามารถรับมือกับการระบาดไหว แต่ที่จริงแล้วสหราชอาณาจักรมีศักยภาพในการตรวจเชื้อโควิดได้แค่วันละ 10,000 ราย เปรียบเทียบกับเยอรมนีที่สามารถตรวจได้ถึงสัปดาห์ละ 500,000 คน ในที่สุดเมื่อหายนะมาเยือนในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทำให้นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรต้องปรับนโยบายกะทันหัน และกล่าวออกมาว่า “โควิด คือหายนะทางระบบสุขภาพสาธารณะในยุคนี้

การตัดสินใจอย่างเชื่องช้าและไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ถูกต้อง ทำให้สหราชอาณาจักรตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่ทัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563 มีผู้เสียชีวิต 10,612 คน และมีผู้ติดเชื้อ 84,279 คน

 

ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสก็เป็นอีกประเทศที่จัดการปัญญาอย่างเชื่องช้าเช่นเดียวกับเหมือนกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ไม่มีการตรวจโรคอย่างรวดเร็วและครอบคลุม ฝรั่งเศสเพิ่งตัดสินใจควบคุมชายแดนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดในประเทศเข้าขั้นรุนแรงแล้ว ฝรั่งเศสเลือกตัดสินใจแก้ปัญหาโดยจัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ 11 คนในการจัดการกับภาวะวิกฤตนี้ แต่การจัดการกับปัญหาด้วยวิธีการดั้งเดิมแบบนี้กลับทำให้การตัดสินใจของผู้นำดำเนินออกมาแบบไม่ทันท่วงที

จุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์โควิดในประเทศฝรั่งเศส เกิดจากการละเลยข้อมูลจากสถานดูแลผู้สูงอายุ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนั้น ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลเสียชีวิตในระยะเวลาไล่เลี่ยกันถึง 3,237 ราย ซึ่งแพทย์ชุมชน ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และนักการเมืองท้องถิ่น พยายามรายงานสถานการณ์นี้กับภาครัฐ แต่ไม่มีการรับฟังและการตอบสนองใด ๆ  ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัดสินใจช้าเกินไปในการจัดการกับสถานการณ์นี้

 

การตัดสินใจที่เยี่ยมยอด: สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี

 

สิงคโปร์

สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่พบผู้ติดเชื้อโควิดนอกประเทศจีน (ประเทศแรกที่พบคือประเทศไทย) จากเวลานั้นถึงวันนี้ สิงคโปร์ได้รับการกล่าวขานว่ามีมาตรฐานในการจัดการกับโควิดในระดับมาตรฐานทองคำ (golden standard) จนทำให้สิงคโปร์สามารถควบคุมโควิดได้เป็นอย่างดี

ปัจจัยสามประการที่นำมาสู่ความสำเร็จของสิงคโปร์ คือ 1. การตอบสนองอย่างรวดเร็ว 2. การติดตามการสัมผัสโรค และ 3. ความเชื่อมั่นและความโปร่งใสของรัฐบาล[4]

สิงคโปร์ตอบสนองต่อโควิดอย่างรวดเร็ว เมื่อรู้ว่ามีไวรัสในจีน รัฐบาลก็สั่งปิดงาน event ทุกงาน ปิดบาร์ ไนต์คลับ และโรงหนัง วัดไข้คนทุกคนที่เดินทางมาเข้ามาถึงประเทศ และบังคับให้กักตัวสังเกตอาการ 14 วันไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รวมทั้งสถานที่ราชการและสถานที่สาธารณะต้องมีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ

สำหรับมาตราการรักษาระยะห่างทางสังคมนั้น สิงคโปร์ไม่สั่งปิดห้าง ร้านอาหารหรือศูนย์อาหารแบบ hawker center แต่ให้นั่งเว้นระยะห่างกัน เช่นเดียวกับฟิตเนสที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจัดการระบบเพื่อให้รัฐบาลติดตามการสัมผัสโรคได้ง่าย โดยจัดให้ทุกคนได้ตรวจหาเชื้อโควิดฟรี  มีระบบติดตามผู้ป่วยโควิด โดยให้บุคลากรในกองทัพช่วยทำงานติดตามผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ที่ใกล้ชิดต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับถึง 10,000 เหรียญ ยิ่งไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังพัฒนาแผนที่โควิดเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ติดโควิดได้เดินทางไปที่ไหนมาบ้าง

รัฐบาลสิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสให้กับการบริหารงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ได้ออกมาบอกว่า “เราโปร่งใส ถ้ามีข่าวร้าย เราจะบอกท่าน ถ้ามีอะไรที่ต้องทำ เราก็จะบอกท่าน” ความโปร่งใสมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพราะ “ถ้าคนไม่เชื่อเรา แม้เราจะมีนโยบายที่ดีอย่างไร ก็ทำไม่สำเร็จ

 

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้มักเป็นคู่เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาในเรื่องการจัดการกับปัญหาโควิด เพราะเกาหลีใต้ตรวจพบผู้ติดเชื้อคนแรกแทบจะวันเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา แต่กลับควบคุมการระบาดสำเร็จใน 12 สัปดาห์หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกโดยไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ ธุรกิจบางส่วนในเกาหลีใต้เริ่มกลับมาเปิดทำการแล้ว และมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังผจญกับปัญหาอย่างหนักหน่วง ปัจจุบันนี้จำนวนผู้ป่วยของสหรัฐอเมริกามีจำนวนราว ๆ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก รวมทั้งยังมีผู้ที่หายป่วยต่อผู้ที่เสียชีวิตอยู่ในอัตราส่วน 60:40 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก

ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการจัดการกับโควิดของเกาหลีใต้มี 3 ประการ 1. มีการตอบสนองต่อโรคด้วยความรวดเร็ว 2. มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการกำหนดนโยบาย (policy innovation) และ 3. มีการบูรณาการการจัดการในระดับชาติ

ประการที่หนึ่ง เกาหลีใต้มองว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในการจัดการกับโควิด เมื่อเกาหลีใต้พบกรณีติดเชื้อโควิดกรณีแรก ก็ได้มีการเรียกประชุมข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับบริษัทยา 20 แห่งเพื่อระดมกันสร้างชุดตรวจทันที ทำให้หลังจากนั้นราว 2 สัปดาห์ เกาหลีใต้มีชุดตรวจที่รู้ผลได้ภายใน 6 ชั่วโมง และสามารถทดสอบประชาชนได้มากกว่า 20,000 คน ในปัจจุบันเกาหลีใต้สามารถผลิตชุดตรวจได้วันละ 350,000 ชุด และสามารถเพิ่มเป็น 1,000,000 ชุดต่อวัน นอกจากนี้ ในระยะเวลา 9 วันหลังจากการตรวจพบเชื้อครั้งแรก เกาหลีใต้ยังเปิดโทรศัพท์ call center เบอร์ 1399 เพื่อให้ประชาชนได้โทรเข้ามารายงาน หรือปรึกษาเกี่ยวกับโรคโควิด

สาเหตุที่เกาหลีใต้รีบรุดจัดการกับปัญหาโควิดนั้น เนื่องจากเคยมีบทเรียนจากการระบาดของไวรัส MERs ปี 2015  ในตอนนั้น เกาหลีใต้ตอบสนองต่อการระบาดช้าและไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ประชาชนไม่มีข้อมูล และไม่มีชุดตรวจ จนกลายเป็นประเทศนอกซาอุดิอาระเบียที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่สุด เกาหลีใต้เรียนรู้จากปัญหานี้ และนำมาแก้ไขแนวทางเชิงนโยบายในช่วงโควิดระบาด

ประการที่สอง รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาในการจัดการเชิงนโยบาย เพื่อช่วยเหลือชีวิตคนและชะลอไวรัส เกาหลีใต้ได้พัฒนา application และ cctv เพื่อติดตามผู้ป่วย และพัฒนาการตรวจไวรัสโดยใช้การขับรถผ่าน (drive thru) ได้สำเร็จในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เพื่อลดการสัมผัสโรคระหว่างผู้ป่วยด้วยกันและผู้ตรวจ และทำให้ประชาชนเข้ามาตรวจโควิดได้จำนวนมาก ประเทศเกาหลีใต้มีสถานีตรวจแบบนี้ 70 แห่งและมีห้องทดลองที่สามารถรองรับการตรวจได้ 600 ห้อง นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้จัดระบบตรวจและรักษาโรคสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดโดยเฉพาะ โดยมีคลินิกที่เปิดรับเฉพาะเคสโควิด ซึ่งเป็นการกันคนป่วยออกจากคนไม่ป่วย และยังทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเตรียมการอย่างรัดกุมเพื่อรับมือกับผู้ป่วย

ประการที่สาม เกาหลีใต้จัดการกับโควิดด้วยยุทธศาสตร์การบูรณาการ โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการปัญหาแบบแยกส่วน สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือยุทธศาสตร์เช่นนี้ทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในจัดการกับหน้ากาก ในระยะแรกราคาหน้ากากในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากและยังขาดตลาด แต่ในวันที่ 3 มีนาคม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เหมาซื้อหน้ากากร้อยละ 80 ของที่ผลิตในประเทศ และนำไปแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลก่อน ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้ ต่างกับในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่แต่ละรัฐแย่งกันซื้อหน้ากาก ทำให้บริษัทเอกชนที่ขายหรือผลิตหน้ากากเป็นผู้ได้เปรียบจากการพุ่งสูงขึ้นของความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดระเบียบในการซื้อหน้ากาก โดยให้ประชาชนไปซื้อหน้ากากตามร้านขายยาและไปรษณีย์ หรือสำนักงานสหกรณ์การเกษตรได้ตามเลขตัวสุดท้ายของปีเกิด เพื่อกระจายไม่ให้คนแห่กันเข้าไปซื้อหน้ากากวันเดียวกัน

 

เยอรมนี

เยอรมนีเป็นประเทศที่จัดการกับปัญหาโควิดได้อย่างเยี่ยมยอด แม้ว่าจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แพ้ประเทศใดๆ ในโลก แต่อัตราการเสียชีวิตกลับค่อนข้างต่ำ โดยสัดส่วนประชากรที่หายป่วยเทียบกับประชากรที่เสียชีวิตนั้นอยู่ที่ 95:5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างของระบบสาธารณสุขภาพในประเทศที่มีห้องไอซียูและโรงพยาบาลในจำนวนมาก และอีกส่วนหนึ่งมาจากขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เยอรมนีประสบความสำเร็จในการตรวจหาผู้ที่ติดเชื้อ รวมทั้งนโยบาย social distancing ยังประสบความสำเร็จอย่างมาก

สำหรับการตอบสนองต่อปัญหาในระยะแรกช่วงเดือนมกราคมนั้น เยอรมนียังตอบสนองต่อโควิดอย่างไม่จริงจังเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป คือยังมองไม่เห็นว่าโควิดเป็นโรคอันตราย เพราะคิดว่าป็นโรคติดต่อที่อยู่ห่างไกล แต่ในเดือนกุมภาพันธ์สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง เยอรมนีพบผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับสองในยุโรปรองจากประเทศอิตาลี ทำให้เยอรมนีปรับนโยบายทันทีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เร็วกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ 2 สัปดาห์

หลังจากที่เยอรมนีปรับนโยบาย และยกระดับโควิดให้เป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ก็ออกมาแถลงการณ์ด้วยความนิ่งสงบในวันที่ 11 มีนาคมว่า อาจจะยอมรับว่าร้อยละ 70 ของประชากรจะติดไวรัส นี่ไม่ใช่คำแถลงที่ต้องการให้ประชาชนตื่นตกใจ แต่ให้ประชาชนต้องเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีสาระที่ใกล้เคียงกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ที่เน้นสร้างความเชื่อมั่นและความโปรใส่ คือ รับรองว่า “ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขของเยอรมนีมีเพียงพอ และมีมาตรฐานที่ดี” ที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพได้ เพื่อเป็นการรับประกันกับประชาชนว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาได้ รัฐบาลสัญญาว่ากับประชาชนว่า “สื่อสารกับประชาชนด้วยความโปร่งใส่อย่างสุดกำลัง”  อธิบายความเป็นจริงให้ประชาชนทราบ และจะไม่ทิ้งให้ประชาชนต้องจมอยู่กับความไม่แน่นอนและความหวาดกลัวอย่างแน่นอน รวมทั้งยังแสดงความเข้าอกเข้าใจว่าการปฏิบัติตาม “มาตรการชะลอการระบาดนั้นยากลำบาก” สำหรับวิถีชิวิตตามปกติของประชาชนแค่ไหน แต่ “สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่จริงจัง (serious)” ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามใช้ข้อจำกัดเท่าที่จำเป็น และขอให้ประชาชนมีวินัยและรับมือกับข้อจำกัดทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ว่าวิกฤตไวรัสโควิดจะ “เป็นสถานการณ์ท้าทายที่คุกคามประเทศอย่างร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” สำหรับเยอรมนี แต่ในคำแถลงการณ์ของแมร์เคิล เธอไม่เคยเปรียบเทียบวิกฤตการระบาดว่าเป็น “สงคราม” เหมือนประธานาธิบดีทรัมป์เลย เธอให้คำจำกัดความวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น “ความท้าทาย”

หลังจากแมร์เคิลแถลงเสร็จสิ้นแล้ว เย็นวันนั้นมีคนถ่ายรูปเธอไปเดินช็อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้าน ในรถเข็นของเธอมีกระดาษชำระ อาหาร และไวน์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิ่งและสงบในการดำรงชีวิต แม้ว่าจะต้องบริหารประเทศภายใต้สภาวะวิกฤตของโลกก็ตาม

ปัจจุบัน เยอรมนีมีความสามารถในการตรวจประชาชนจำนวน 500,000 คนต่อสัปดาห์ แม้จะมีคนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก โครงสร้างสาธารณสุขในประเทศยังสามารถรับมือกับปัญหาโควิดได้ และยังเอื้อเฟื้อในการรับคนป่วยจากอิตาลีและฝรั่งเศสเข้ามารักษาในประเทศอีกด้วย

 

เชิงอรรถ

[1] นักวิชาการประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ผู้ชอบแอบมองบทบาทของผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติ

[2] Reis Thebault, Andrew Ba Tran, and Williams Vanessa, “The Coronavirus Is Infecting and Killing Black Americans at an Alarmingly High Rate,” The Washington Post, 2020, https://www.washingtonpost.com/nation/2020/04/07/coronavirus-is-infecting-killing-black-americans-an-alarmingly-high-rate-post-analysis-shows/?arc404=true.

[3] Micah Zenko, “The Coronavirus Is the Worst Intelligence Failure in US History,” The Guardian, 2020, https://www.msn.com/en-us/news/opinion/the-coronavirus-is-the-worst-intelligence-failure-in-us-history/ar-BB11RHoe.

[4] Margie Warrell, “COVID-19 Leadership Lessons From Singapore: Be Ready, Be Bold, Be Decisive,” Forbes, 2020, https://www.forbes.com/sites/margiewarrell/2020/03/30/singapore-sets-gold-standard-against-covid-19-be-ready-be-decisive-be-bold/#680bf69a7a22.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save