fbpx
Global Inequality

Global Inequality

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

นับแต่ศตวรรษที่ 21 เปิดฉาก รัฐบาลทั้งไทยและเทศ ดูจะให้ความสำคัญกับ “ความเหลื่อมล้ำ” มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรโลกบาลมากอิทธิพลอย่างธนาคารโลกประกาศว่าเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญขององค์กร

การลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ยังถูกระบุทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ในเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 ข้อ ในชุด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ประการ ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติลงนามรับเป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนา ระหว่างปี ค.ศ. 2015-2030

ความเหลื่อมล้ำระดับสูงเป็นปัญหาอย่างไร? กระแสโลกาภิวัตน์เพิ่มหรือลดความเหลื่อมล้ำกันแน่? คำถามาเหล่านี้ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างร้อนแรงทั้งในและนอกวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ เพราะคำตอบมิได้มีเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ได้กับทุกประเทศในทุกเวลา

ในปี ค.ศ. 2013 ธอมัส พิกเก็ตตี้ (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เขียนหนังสือชื่อเรียบแต่เนื้อหาเขย่าโลก “ทุนในศตวรรษที่ 21” (Capital in the Twenty-First Century) มาเสนอว่า ตราบใดที่ทุนให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว ตราบนั้นความมั่งคั่งย่อมกระจุกตัวอยู่ในมือมหาเศรษฐีกลุ่มน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ และความเหลื่อมล้ำระดับสูงนี้จะนำไปสู่ความปั่นป่วนทางสังคม

สามปีผ่านไป ก็ได้เวลาออกโรงของ บรังโค มิลาโนวิช (Branko Milanović) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ผู้เชี่ยวชาญด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก และเจ้าของบล็อกอ่านสนุกชื่อ globalinequality

มิลาโนวิชเคยสร้างความฮือฮาในเวลาไล่เลี่ยกับพิกเก็ตตี้ ด้วยการตีพิมพ์ working paper สมัยยังทำงานอยู่ที่ธนาคารโลก โดยเขียนกราฟแสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จริงในรอบหนึ่งทศวรรษของประชากรทั้งโลก แบ่งตามช่วงชั้นรายได้ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก

กราฟนี้ถูกเรียกชื่อเล่นว่า “กราฟช้าง” เพราะดูประหนึ่งจะแสดงสัดส่วนของช้างตัวใหญ่ชูงวง นักเศรษฐศาสตร์และนักวิจารณ์หลายคนยกย่องว่า นี่คือกราฟที่อธิบายประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัยได้ดีที่สุดกราฟหนึ่ง

ในหนังสือเล่มเล็กแต่ตรงประเด็นและอ่านม้วนเดียวจบชื่อ “ความเหลื่อมล้ำโลก” (Global Inequality) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 มิลาโนวิชอธิบายกราฟสะท้านโลกของเขาอย่างละเอียดว่าทำขึ้นมาอย่างไร และมันบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระดับโลก โลกาภิวัตน์ และแนวโน้มในอนาคต

“กราฟช้าง” ของมิลาโนวิชจัดทำขึ้นอย่างยากลำบาก เริ่มจากการนำข้อมูลรายได้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนกว่า 600 ชุด จาก 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมประชากร 90% และผลผลิตประชาชาติหรือจีดีพี 95% ของทั้งโลก มาปรับเป็นรายได้จริง (หมายถึงรายได้ตัวเงินที่หักลบผลของเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบข้ามประเทศและข้ามเวลาได้) จากนั้น คำนวณการเปลี่ยนแปลงของรายได้จริงระหว่างปี ค.ศ. 1988 ถึง 2008 (ปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบล่าสุด) สำหรับคนแต่ละช่วงชั้นส่วนแบ่งรายได้ (income percentile) เรียงจากคนที่จนสุดในโลก (ด้านซ้ายของแกนนอน) ถึงเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก (ด้านขวาของแกนนอน)

(ในหนังสือมีข้ออภิปรายข้อมูลที่อัพเดทถึงปี 2011 และ 2013 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกราฟ)

กราฟช้างชี้ชัดว่า กลุ่มที่มีรายได้จริงเพิ่มขึ้นมากที่สุดระหว่างปี ค.ศ. 1988-2008 คือ คนที่มีรายได้ปานกลาง (50-60) หรือจุด “A” บนกราฟ และมหาเศรษฐี 1% ที่รวยที่สุดในโลก (จุด “C” บนกราฟ) ส่วนกลุ่มที่สถานการณ์แย่ที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน คือรายได้จริงติดลบหลังจากที่ผ่านไปสิบปี คือคนที่มีช่วงชั้นรายได้ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นไทล์ (จุด “B” บนกราฟ)

ใครคือคนที่อยู่ในจุด A B และ C?

ปรากฏว่า 9 ใน 10 คนที่มีรายได้ปานกลางเมื่อเทียบกับทั้งโลก หรือจุด A มาจากทวีปเอเชีย หลักๆ คือจีนและอินเดีย สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าจีดีพีต่อหัวในจีนเพิ่มสูงถึง 5.6 เท่าในระยะเวลาสิบปีของกราฟมิลาโนวิช ส่วนอินเดียก็เพิ่มถึง 2.3 เท่า

พูดอีกอย่างคือ คนจีนที่เคยมีรายได้ปานกลาง (เมื่อเทียบกับทั้งโลก) ในปี ค.ศ. 1988 จะ ‘กระโดด’ ข้ามคนประมาณ 1.5 พันล้านคน ไปมีรายได้ระดับ 63 เปอร์เซ็นไทล์ ในปี ค.ศ. 2008 และเลย 70 เปอร์เซ็นไทล์ในปี ค.ศ. 2011

มิลาโนวิชบอกว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของรายได้โดยเปรียบเทียบในระยะเวลาสั้นขนาดนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อสองศตวรรษที่แล้ว

แน่นอนว่า คนที่มีรายได้ปานกลางเมื่อเทียบกับทั้งโลกยังดู ‘จน’ เมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวยในยุโรปกับสหรัฐอเมริกา – ‘ชนชั้นกลางโลก’ มีรายได้ครัวเรือนต่อหัวประมาณ 5-15 เหรียญสหรัฐต่อวัน ขณะที่ ‘เส้นความยากจน’ ในประเทศร่ำรวยหลายประเทศอยู่สูงกว่า 15 เหรียญสหรัฐต่อวัน แต่ถึงแม้พวกเขาจะดูเป็น ‘คนจน’ ถ้ามองผ่านแว่นของประเทศรวย พวกเขาก็เป็น ‘ชนชั้นกลาง’ ในประเทศของตัวเองที่มีความหวังกับอนาคต และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่หลายเท่า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมคนจีนและอินเดียจำนวนมากถึงได้นิยมชมชอบทุนนิยมยุคโลกาภิวัตน์

ในขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มที่รายได้พุ่งมหาศาลก็คืออภิมหาเศรษฐีท็อป 1% ของโลก (มีรายได้ระดับ 99-100 เปอร์เซ็นไทล์) คนเหล่านี้มากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว หรือพูดอีกอย่างคือ คนอเมริกันถึง 12 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกของอภิมหาเศรษฐีโลก 1%

แล้วคนที่อยู่จุด B ล่ะ? มิลาโนวิชบอกว่า เจ็ดในสิบของคนที่มีรายได้จริงลดลงในช่วงเวลาสิบปีมาจากประเทศ ‘รวยเก่า’ อย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในประเทศบ้านเกิด พวกเขาถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าปานกลาง เพราะช่วงชั้นรายได้ทั้งหมดของประเทศร่ำรวยนั้นเริ่มต้นที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นไทล์ของช่วงชั้นรายได้โลก กล่าวคือ ต่อให้คนที่จัดว่า ‘ยากจน’ ในประเทศร่ำรวยก็ยังมีรายได้มากกว่าค่าปานกลางของโลกอยู่ดี เพราะคนในประเทศยากจนจนกว่านั้นมาก

กราฟช้างบอกเรากลายๆ ว่า คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากโลกาภิวัตน์คืออภิมหาเศรษฐีและ ‘ชนชั้นกลางใหม่’ โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย ส่วนคนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือ ‘ชนชั้นกลางเก่า’ ในยุโรปและอเมริกา

ความแตกต่างชนิดฟ้ากับเหวระหว่างพวกเขาทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า จุดต่างๆ ในกราฟมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ‘ชนชั้นกลางเก่า’ ในอเมริกาแย่ลงหลักๆ เพราะถูก ‘ชนชั้นกลางใหม่’ ในเอเชีย ‘แย่งงาน’ ไปทำใช่หรือไม่?

มิลาโนวิชไม่พยายามตอบคำถามนี้อย่างละเอียดนักในหนังสือ เขาเพียงแต่ชี้ว่า ปรากฎการณ์นี้ค่อนข้างซับซ้อนและมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย แต่อย่างไรก็ดี การที่ฐานะของคนสามกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน ย่อมทำให้คนอดไม่ได้ที่จะมองหา ‘เรื่องราว’ หนึ่งเดียวหรือ ‘วาทกรรมหลัก’ (the grand narrative) ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างครบถ้วน

ถึงแม้ว่าเขาจะไม่พยายามสร้าง ‘วาทกรรมหลัก’ ใดๆ ขึ้นมาอธิบาย มิลาโนวิชก็ย้ำเตือนเราว่า คนส่วนใหญ่ในโลกสนใจที่จะเปรียบเทียบรายได้กับเพื่อนร่วมชาติ มากกว่าจะเปรียบเทียบกับคนทั้งโลก อธิบายง่ายๆ โดยสามัญสำนึกได้ว่า เรามักจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนที่เห็นคนจนข้นแค้นหรือคนรวยล้นฟ้าในสังคมของเราเอง มากกว่าในประเทศห่างไกล

ด้วยเหตุนี้ แม้แต่ ‘ชนชั้นกลางใหม่’ ชาวจีน ซึ่งรายได้จริงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลกในรอบสิบปี จึงอาจรู้สึกไม่พอใจที่ได้เห็น ‘อภิมหาเศรษฐีใหม่’ ชาวจีน สะสมความมั่งคั่งได้อย่างมากมายมหาศาลกว่าตนหลายเท่าตัว

ทั้งนี้ ยังไม่นับว่า ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าจะก่อปัญหา ไม่ได้มีแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มิลาโนวิชศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น สิทธิ หรือโอกาสในการเข้าถึงระบบยุติธรรม ซึ่งล้วนส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและสร้างผลกระทบจริงๆ ในสังคมได้เช่นกัน

นอกจาก Global Equality จะฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระดับโลกให้เห็นอย่างชัดเจน กระตุ้นให้ฉุกคิด เปิดประเด็นถกเถียง และจุดประกายให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ ในด้านนี้ไปได้อีกนานแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ มิลาโนวิชยังใช้ ‘กราฟช้าง’ ขยับขยายพรมแดนความเข้าใจเรื่องทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ด้วย

กว่าค่อนศตวรรษก่อน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไม่นาน ไซมอน คุซเน็ตส์ (Simon Kuznets) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้คิดค้นคำนวณ “จีดีพี” เป็นคนแรกในโลก เสนอ ‘เส้นโค้งคุซเน็ตส์’ (Kuznets curve) ว่า ขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจ ย้ายน้ำหนักจากภาคเกษตรกรรมไปยังภาคอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเพราะรายได้ในภาคเกษตรต่ำกว่ารายได้ในภาคอุตสาหกรรมมาก แต่เมื่อพัฒนาถึงจุดหนึ่งแล้ว คนจะมีการศึกษามากขึ้น (จากการลงทุนโดยรัฐ) และผู้มีรายได้น้อยจะใช้สิทธิทางการเมืองเรียกร้องให้รัฐออกนโยบายช่วยคนจนและกระจายรายได้มากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

เส้นโค้งคุซเน็ตส์ค่อยๆ เสื่อมความน่าเชื่อถือราวทศวรรษ 1970 เมื่ออธิบายการพุ่งขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ไม่ได้ แต่มิลาโนวิชเสนอว่า ที่จริงเส้นโค้งคุซเน็ตส์อาจไม่ใช่เส้นโค้งเส้นเดียวตายตัวก็ได้ แต่เป็น ‘คลื่น’ หรือ Kuznet waves

มิลาโนวิชบอกว่า แนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นในประเทศร่ำรวยราวทศวรรษ 1970 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เส้นโค้งคุซเน็ตส์เส้นที่สอง’ สำหรับยุคปัจจุบัน คราวนี้ถูกผลักดันด้วยการปฏิวัติเทคโนโลยีและการย้ายแรงงานออกจากภาคอุตสาหกรรม เข้าสู่ภาคบริการ (ที่คนงานมีทักษะได้ค่าจ้างสูงกว่า) ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้ ‘ชนชั้นกลางเก่า’ ในประเทศร่ำรวยเสียประโยชน์ และเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลต่างๆ ลดภาษีที่เก็บจากทุนและแรงงานมีฝีมือ ซึ่งถ้ามองแบบนี้ แน่นอนว่าคำถามคือ ความเหลื่อมล้ำจะขึ้นถึง ‘จุดสูงสุด’ เมื่อไร? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าใกล้จุดนั้นแล้ว?

มิลาโนวิชเขียนด้วยน้ำเสียงท้อแท้ว่า เขายังไม่เห็นวี่แววว่าความเหลื่อมล้ำ (ตามเส้นโค้งคุซเน็ตส์เส้นที่สอง) จะขึ้นถึงจุดสูงสุดเลย แต่ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ไม่ได้มีแต่ ‘ปัจจัยแง่บวก’ เช่น รัฐเพิ่มสวัสดิการ รัฐเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น ฯลฯ เท่านั้นที่ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ ‘ปัจจัยแง่ลบ’ อย่างเช่น สงครามโลก หรือโรคระบาดขนานใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุซเน็ตส์ไม่เคยคำนึงถึง ก็ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลงเช่นกัน แต่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนแพงลิบในแง่ชีวิตคนนับล้าน

ในบทท้ายๆ มิลาโนวิชบอกว่า เขาหวังแต่เพียงว่าเราจะได้เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ โดยลดความเหลื่อมล้ำด้วยปัจจัยแง่บวก หลีกเลี่ยงเส้นทางแห่งการทำลายล้างซึ่งนำไปสู่ความเท่าเทียม – ยากจนอย่างเท่าเทียม และตายอย่างเท่าเทียม.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save