fbpx

เปิดบทเรียนโลกาภิบาลในห้วงยามโรคระบาด: กติกาโลกใหม่จะเป็นอย่างไรในยุคโควิด-19?

แต่ไหนแต่ไรมา ระเบียบการเมืองการปกครองดูจะเป็นเรื่องภายในเขตรอบขอบรั้วของชาติหนึ่งๆ เป็นกิจการภายในและความมั่นคงสูงสุดที่ถูกจำกัดไว้ใต้พรมแดนของความเป็นรัฐชาติ ทว่าเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามามีบทบาททำให้พรมแดนของรัฐชาติเริ่มพร่าเลือน พร้อมทั้งสร้างพื้นที่และประเด็นปัญหาข้ามชาติ (transnational) ต่างๆ ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายประเด็นปัญหาจึงมีความทับซ้อนกันมากขึ้น กระทบตัวแสดงอื่นๆ มากขึ้น และอาจหนักหนาเกินกว่าที่รัฐหนึ่งๆ จะรับมือเพียงลำพังได้ การพูดคุยถึงการจัดการประเด็นปัญหาเช่นนี้จึงขยายพื้นที่ไปไกลกว่าขอบเขตของความเป็นรัฐชาติ และกลายเป็นประเด็นที่ต้องการการแก้ไขในระดับโลกหรือโลกาภิบาล (global governance)

ความสำคัญของโลกาภิบาลยิ่งถูกตอกย้ำด้วยโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบขนานใหญ่กับทุกประเทศ ทั้งยังเปิดแผลเก่าให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือความยากจนที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญ หลายประเทศหันหน้าเข้าหากิจการภายในของตนเอง สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของกระแสชาตินิยมและการปกป้องทางการค้า หรือที่หลายคนเรียกว่าเป็นยุค ‘โลกาภิวัตน์แบบย้อนกลับ’

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า โลกจะรับมือและจัดการกับโรคระบาดอย่างไรในยุคที่ต้องเผชิญประเด็นปัญหาข้ามชาติเช่นนี้ โลกาภิบาลจะยังมีบทบาทอย่างไรในยุคที่หลายคนคาดการณ์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและฟื้นฟูได้ช้ากว่าประเทศใหญ่ๆ ขณะที่สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีมีแนวโน้มจะอุบัติขึ้น พร้อมกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน ที่ดูจะชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ชวนหาคำตอบพร้อมกันในบรรทัดถัดจากนี้

โลกาภิบาลและหลักนิติธรรมในยุคโรคระบาด ในทรรศนะของเดวิด เคนเนดี

ภาพโดย คิริเมขล์ บุญรมย์ 

ในทรรศนะของ เดวิด เคนเนดี (David Kennedy) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มองว่าโควิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกสร้างแรงกดดันให้การจัดการโรคระบาดในทุกๆ ระดับ จึงไม่น่าแปลกใจที่เรากำลังอยู่ในช่วงที่โลกมุ่งเน้นและเรียกหาแนวคิดโลกาภิบาลมากขึ้น

ประเด็นน่าสนใจที่เคนเนดีชี้ให้เห็นคือ โควิดเป็นภาพสะท้อนว่า โลกจะสร้างกติกาใหม่ได้หรือไม่ แต่การสร้างระเบียบใหม่ในที่นี้ไม่ใช่การกำกับด้วยสถาบันที่ได้รับการจัดตั้งแล้ว เช่น ในกรณีขององค์การสหประชาชาติ (The United Nations) ที่อาจชวนให้เข้าใจว่าเป็นหนึ่งในการจัดการระดับโลก เพราะองค์การสหประชาชาติมีหน่วยงานย่อยๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายกับกระทรวงในระดับชาติ ทั้งด้านสุขภาพ การคมนาคม หรือวัฒนธรรม แต่เคนเนดีชี้ว่า หน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกำกับดูแล แต่เป็นเหมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลหรือประสานงานความร่วมมือกันมากกว่า ส่วนตัวองค์การสหประชาชาติในภาพใหญ่ก็ไม่ได้มีอำนาจกำหนดมาตรการต่างๆ หรือบังคับให้เกิดการร่วมมือกันอยู่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดก็ยิ่งทำให้แต่ละรัฐอาจจะลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูล หรือทำงานร่วมกันกับผู้อื่นด้วย

และดังที่เรารู้กันดี โลกทั้งใบได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน แต่ใช่ว่าผลกระทบนั้นจะเกิดกับทุกรัฐหรือทุกคนอย่างเท่าเทียม เช่นที่เราเห็นประเทศร่ำรวยหรือประเทศพัฒนาแล้วสามารถสั่งซื้อวัคซีน ยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศได้รวดเร็วกว่าประเทศยากจน

นี่จึงย้อนกลับมาที่คำถามข้างต้นของเคนเนดีอีกครั้งว่า โลกจะสร้างกติกาใหม่ได้หรือไม่ และถ้าพูดให้กว้างขึ้น โลกจะสร้างกติกาใหม่ได้อย่างไร?

“ถ้าเราจะพอมองเห็นช่องทางอะไรจากโควิดบ้าง นั่นคือการที่โควิดบังคับให้เราหันกลับมาพิจารณากติกาโลกอย่างจริงจังอีกครั้ง” 

เคนเนดีเริ่มตั้งต้นที่ ‘การบริหารจัดการระดับชาติ’ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิบาล ในทรรศนะของเขา โรคระบาดทำให้เราเห็นชัดเจนว่า ‘พรมแดน’ เป็นเรื่องสำคัญ มาตรการของชาติหนึ่งจะกระทบกับมาตรการของอีกชาติหนึ่งทั่วโลก ไม่ว่ารัฐจะเลือกตอบสนองแบบไหนก็ล้วนมีผลกระทบในระดับโลกเสมอ

ต่อมาคือ ‘บทบาทของภาคเอกชน’ ซึ่งกลายเป็นว่าบริษัทชั้นนำกลายเป็นผู้ควบคุมระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยเฉพาะในกรณีของรถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือ แต่ในกรณีของชุด PPE ยา หรือวัคซีน กลายเป็นว่าบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งควบคุมและเข้ามาวางกฎระเบียบในเรื่องการพัฒนายาและวัคซีนผ่านทางการทำสัญญากับรัฐบาล

“ผมคาดการณ์ว่าทุกชาติ ทุกบริษัท หรือทุกอุตสาหกรรม มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ การตอบสนองของบางชาติ เช่น สหรัฐฯ กับจีน จะสำคัญกว่าชาติอื่นๆ ขณะที่ชาติอื่นยังดิ้นรนกับการจัดการวิกฤตและผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเมืองในประเทศอยู่เลย”

อีกบทเรียนสำคัญที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับโลกาภิบาลจากโรคระบาดคือ ‘ผู้เชี่ยวชาญและทักษะความรู้’ เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก สำหรับการจัดการสมัยใหม่ เพราะยิ่งมีโรคระบาด ก็ยิ่งแสดงให้เราเห็นความสำคัญของการทำงานข้ามสาขา นำมาซึ่งความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของ ‘การกำกับดูแลทางด้านวัฒนธรรม’ (governance culture) ซึ่งเคนเนดีชี้ให้เห็นคำถามที่น่าสนใจหลายข้อ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์จะทำงานร่วมกับการกำกับดูแลด้านวัฒนธรรมระดับชาติได้อย่างไร หรือรัฐบาลกับพลเมืองจะเชื่อมโยงกันได้ใกล้ชิดขนาดไหน 

ทั้งนี้ ถ้ามองในระดับกว้างที่สุด เคนเนดีชี้ว่า แต่ละรัฐตีความโควิดในรูปแบบแตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดมาตรการรับมือที่แตกต่างกันไปด้วย โดยรูปแบบแรกคือ การมองไวรัสชนิดนี้เป็นภัยคุกคามจากต่างชาติ เป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่ต้องอาศัยการควบคุมเขตแดน ชุด PPE และการแยกกักตัวประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นดั่ง ‘ยาวิเศษ’ (silver bullet) ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นด้วยวัคซีน แต่การจัดการภายในรัฐจะผ่อนคลายและไม่ตึงเครียดนัก

รูปแบบที่สอง และเป็นรูปแบบที่ตรงกันข้ามกับรูปแบบแรกคือ พฤติกรรมของพลเมืองถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องภายใน ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และจำกัดการเดินทางภายในประเทศ รวมถึงมีมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการที่ดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าในช่วงโรคระบาดนี้

เคนเนดียังชี้ให้เห็นว่า โควิดทำให้เราเห็นว่า โรคระบาดไม่ใช่สิ่งที่ลำพังผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือวิทยาศาสตร์จะจัดการได้ โดยเฉพาะในโลกที่มีความเป็นพหุนิยมเช่นนี้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น สิ่งที่จะเด่นชัดขึ้นมาทันทีคือผลประโยชน์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ 

“อย่าลืมว่า การบริหารและการจัดการไม่ได้เริ่มขึ้นพร้อมกับโรคระบาด และสิ้นสุดลงเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ผลกระทบของโรคระบาดครั้งนี้ ครั้งหน้า หรือครั้งต่อไป จะถูกประกอบร่าง (shape) ด้วยมรดกจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องที่ว่าใครคือคนที่จะเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพได้ ระบบสาธารณสุขของคุณแข็งแกร่งแค่ไหน หรือรัฐบาลและผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศมีสายสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นขนาดไหน”

เมื่อขยับมามองในแง่ของกฎหมาย เคนเนดีชี้ว่า มีเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อหาทางปรับปรุงมาตรการรับมือโควิด แต่สำหรับเขาแล้ว กฎหมายไม่ใช่ตัวแปรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องคิดถึงนโยบายการตอบสนองในแง่ของกฎระเบียบด้วย และอย่าลืมว่า แม้ในประเทศจะมีผู้มีอำนาจที่คอยออกกฎระเบียบหรือกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ แต่ในระดับโลกไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร ไม่มีผู้มีอำนาจใดที่จะทำเรื่องแบบนี้ในระดับโลก หรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาคมโลกเหมือนที่เกิดขึ้นในระดับชาติ

“กฎหมายที่มีความสำคัญจึงเป็นกฎหมายที่ใช้กำกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้ เพราะนี่จะเป็นตัวควบคุมการตอบสนองในระดับชาติอีกที พวกเราต้องมองให้ไกลกว่าความคิดเรื่องกฎระเบียบในระดับชาติด้วย” 

นอกจากกฎเกณฑ์หรือระเบียบที่เป็นทางการแล้ว ยังมีการเริ่มพูดถึงกฎแบบไม่เป็นทางการ (Informal) ที่จะถูกนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ทว่ากฎแบบไม่เป็นทางการเช่นนี้อาจจะดูไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่กล่าวถึงความแน่นอน (certainty) และความชัดเจน (predictability) ของกฎหมาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างเคนเนดีได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นว่า ในหลายๆ ที่ทั่วโลก หลักนิติธรรมก็เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน และขณะเดียวกัน ก็มีหลายครั้งที่กฎเกณฑ์แบบไม่เป็นทางการเข้าไปมีบทบาทในสังคมอย่างมหาศาล

“กฎแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการมีปฏิสัมพันธ์กัน (interaction) อยู่ตลอดเวลา ทำให้ยากมากที่จะบอกว่า อะไรที่ชัดเจนหรือแน่นอนมากกว่า ผมจึงอยากจะลองตั้งคำถามใหม่ว่า ความแน่นอนและชัดเจนที่พูดถึงมีไว้สำหรับใครกันแน่ (for whom)”

“ถ้าให้ยกตัวอย่าง สมมติคุณเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศหนึ่งๆ คุณอาจจะบอกได้ว่าตนเองไม่รู้อะไรเกี่ยวกับความเป็นทางการในประเทศนั้นๆ เลย สิ่งเดียวที่ดูจะเป็นความชัดเจนสำหรับคุณคืออะไรที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและดูเป็นทางการ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ความเป็นทางการสำหรับคนในสังคมนั้นอีก หรือถ้าใช่ มันก็อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ในท้องถิ่น ซึ่งก็อาจจะไม่ชัดเจนสำหรับคนในท้องถิ่นอีกเช่นกัน”

เมื่อเป็นเช่นนี้ เคนเนดีจึงเสนอทิ้งท้ายว่า เราควรพยายามเข้าใจหลักนิติธรรมในฐานะของการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกฎที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และปรับใช้กฎทั้งสองแบบในการจัดการกับโควิดด้วย

‘จีน’ กับการจัดการระเบียบโลก – อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เคยมีคนบอกว่า สงครามการค้า (trade war) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะสิ้นสุดลง เมื่อโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามแห่งมวลมนุษยชาติ หนึ่งปีต่อมา เมื่อโลกต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด หลายคนคิดว่านี่แหละคือภัยคุกคามร่วมที่ว่า เราคาดหวังจะเห็นความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาในระดับโลก ทว่าสิ่งที่เราเห็นคือ การแบ่งค่ายที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวนำ พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงการจัดการ ทั้งฝั่งเอเชียและตะวันตกต่างมีรูปแบบไม่เหมือนกัน ฝั่งเอเชียจะเน้นที่คุณค่าด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ดูได้จากการที่จีนควบคุมและล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่นแต่เนิ่นๆ ขณะที่ฝั่งตะวันตกจะเน้นที่ความพยายามรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสุขภาพ ให้คุณค่ากับความได้สัดส่วน (proportionality) และเสรีภาพ ตะวันตกจึงจะไม่ล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดจนกว่าจะถึงเวลาที่จำเป็นจริงๆ

ถ้ามองลึกลงมาในแต่ละประเทศ อาร์มชี้ว่า แม้จะเป็นประเทศแถบเอเชียเหมือนกัน แต่ระดับความเข้มข้นในการควบคุมก็ไม่เท่ากัน และเราจะเห็นชัดเจนว่าประเทศตะวันออกก็มีวิธีการจัดการตามสไตล์ตะวันออก เช่น การใช้การควบคุมเฉพาะและล็อกดาวน์ ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นความพยายามสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ แม้โรคระบาดเหมือนจะเริ่มต้นที่จีนเป็นประเทศแรก แต่ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการระบาด อาร์มมองว่า ชาติตะวันตกไม่ได้คิดว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้อะไรจากจีนได้มากเท่าไหร่ ซึ่งน่าจะมาจากค่านิยมที่ว่าพวกเขาไม่อยากจะเรียนรู้จากชาติที่ตนเองมองว่าเป็นอำนาจนิยม

สำหรับประเด็นที่เป็นเรื่องให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางตอนนี้คือวัคซีนกับการจัดการ เพราะเราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างวัคซีนที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ กับวัคซีนที่ประเทศกำลังพัฒนาใช้ หลายๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐฯ จีน หรือสหภาพยุโรป เริ่มออกกฎจำกัดการท่องเที่ยวและเหมือนเป็นการสร้างความชอบธรรม (legitimised) ให้กับวัคซีนของตนเองไปในตัวด้วย ยังไม่นับเรื่องการทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) ที่กลายเป็นการแข่งขันกันของแต่ละประเทศที่จะจัดหาวัคซีนให้พันธมิตรของตนเอง

เมื่อกลับมาพิจารณาที่จีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีบทบาทมากในการระบาดครั้งนี้ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน อาร์มอธิบายว่า จีนมีแนวคิดว่าทุกคนอยู่ภายใต้ชายคาบ้านเดียวกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงในแง่ของชุมชนความเป็นชาติ แต่เป็นแนวคิดของการมีชะตากรรมที่ผูกพันร่วมกัน ซึ่งการจัดการของจีนก็วางอยู่บนแนวคิดที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้ด้วย

“ประเด็นที่น่าสนใจคือ การจัดการไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับกฎระเบียบที่เป็นทางการนั้น ทว่าเกี่ยวพันกับเรื่องที่ไม่เป็นทางการด้วย โดยเฉพาะในกรณีของจีน ที่ความไม่เป็นทางการมีความสำคัญยิ่งกว่ากฎระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นทางการเสียอีก”

“ทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในการเจรจาแบบทวิภาคีและความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีน เช่นเดียวกับวิธีการของจีนในความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road initiative) ถ้าพูดให้ชัดขึ้น จีนไม่ได้ใช้วิธีการแบบพหุภาคีเหมือนอย่าง COVAX ในการเจรจากับหลายๆ ชาติ แต่จีนจะใช้วิธีเจรจาแบบตัวต่อตัวมากกว่า เราจึงเห็นปัญหาเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลและความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ตะวันตกมักวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างหนัก” 

อย่างไรก็ดี อาร์มทิ้งท้ายว่า จีนเข้าใจว่าตนเองจะต้องเน้นประเด็นเรื่องโลกาภิบาลมากกว่านี้ จึงเกิดเป็นการให้วัคซีนหรือความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขกับชาติเอเชียหรือประเทศกำลังพัฒนาดังที่เราเห็นกันนั่นเอง

อ่านฉากทัศน์เศรษฐกิจโลก เมื่อเรา (อาจ) กำลังมุ่งสู่โลกสองค่าย – กิริฎา เภาพิจิตร 

ภาพจาก TDRI

นอกจากประเด็นเรื่องกฎหมาย การเมือง และนโยบายการจัดการโรคระบาดที่ได้รับการพูดถึงในเวทีโลกขณะนี้แล้ว อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ เศรษฐกิจโลก (global economy) จะเป็นอย่างไรต่อไป หรือเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนในห้วงยามนี้

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอย่าง ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2563 คือเริ่มโตได้ประมาณ 3.5% ขณะที่ในปีนี้ ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะกลับมาโตที่ 5.6% และอย่างที่หลายคนคงคาดการณ์ได้ว่า ประเทศที่เป็นผู้นำการเจริญเติบโตไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาแต่เป็นประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป

“ปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลง 3.5% แต่การคาดการณ์ในปีนี้พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโต 6.8% หมายความว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสูงยิ่งกว่าก่อนยุคโควิดเสียอีก เช่นเดียวกับจีนที่เศรษฐกิจไม่เคยหดตัว แต่เติบโตอยู่ตลอดเวลา มูลค่าของเศรษฐกิจจีนจึงสูงกว่ายุคก่อนโควิดเช่นกัน”

“แต่ถ้าเป็นยุโรป ปีที่แล้วเศรษฐกิจยุโรปหดตัว 6.6% และมีการคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโตเพียง 4.2% หมายความว่าขนาดเศรษฐกิจของยุโรปจะยังไม่กลับมาเท่ากับยุคก่อนโควิด เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา”

กิริฎาชี้ว่า ตัวแปรสำคัญในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือ ‘วัคซีน’ ถ้าพูดให้ชัดขึ้น สหรัฐฯ ฟื้นตัวได้เร็วเพราะมีการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับการกระตุ้นด้านการคลัง (fiscal stimulus) จากรัฐบาล ขณะที่ฝั่งจีนใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป เพราะจีนไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากเหมือนอย่างสหรัฐฯ แต่ใช้มาตรการควบคุมคนในประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และใช้เจลแอลกอฮอล์

กิริฎาอธิบายต่อว่า ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปจะได้รับการฉีดวัคซีนในวงกว้าง โดยเริ่มต้นฉีดวัคซีนเมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดการณ์ต่อได้ว่าประเทศกลุ่มนี้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้ในช่วงสิ้นปีนี้ แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะล่าช้าออกไปเป็นกลางปีหน้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะนำมารับรองการฉีดวัคซีนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และหลังจากโควิด มีแนวโน้มว่าเราจะเห็นการแบ่งแยกมากขึ้นระหว่างประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา

เมื่อเป็นเช่นนี้ กิริฎากล่าวต่อว่า โลกจะได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ หลายประเทศจะยากจนมากขึ้น นำไปสู่การใช้นโยบายการค้าแบบคุ้มกัน (protectionism) และชาตินิยม (nationalism) มากขึ้น พร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์แบบย้อนกลับ (reverse globalisation) ที่อาจจะรุนแรงมากกว่าเดิมด้วย

จากเรื่องชนิดของวัคซีน กิริฎาต่อยอดประเด็นนี้จากอาร์มที่ว่า การแบ่งแยกชนิดของวัคซีนจะกระทบกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะบางประเทศจะรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนบางชนิด โดยเฉพาะวัคซีนของตะวันตก นำไปสู่การจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คนทั่วโลก วัคซีนจึงมีนัยสำคัญในทิศทางการเติบโตของโลกอย่างมาก

อีกประเด็นน่าสนใจคือเรื่องการค้าและเทคโนโลยี ซึ่งการแบ่งค่ายระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก่อให้เกิดสงครามเทคโนโลยีที่จะกระทบกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในอนาคต กล่าวคือถ้าประเทศไหนอยู่ในค่ายใด ประเทศนั้นก็จะพลอยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของประเทศนั้นไปด้วย คำถามสำคัญจึงตกมาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าจะเลือกอยู่ค่ายสหรัฐฯ หรือจีน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องตกที่นั่งลำบากกว่าเดิม

“คำถามคือ สมมติเราผลิตสินค้าให้จีน แล้วสหรัฐฯ จะยอมซื้อผลิตภัณฑ์ของเราหรือไม่ หรือถ้าเราใช้เทคโนโลยีจากจีน สหรัฐฯ จะยังอยากค้าขายกับเราไหม สหรัฐฯ จะคิดหรือไม่ว่าเรากำลังใช้เทคโนโลยีจีนมาสอดแนมเขา หรือมองว่าเราเลือกอยู่กับประเทศที่เป็นอำนาจนิยม” กิริฎากล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า ตอนนี้สงครามเทคโนโลยีกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ และสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่แนวคิดภูมิภาคนิยม (regionalisation) อาจจะกลายเป็นกระแสหลักแทนที่โลกาภิวัตน์

ในตอนท้าย กิริฎาสรุปว่า “ถ้าความร่วมมือของประชาคมโลกยังเป็นไปในทิศทางแบบปัจจุบันนี้ เราจะเห็นโลกที่เหลื่อมล้ำและยากจนมากขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับปัญหาหนี้รวมถึงปัญหาเรื่องสุขภาพ พร้อมกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในด้านการค้า ผลประโยชน์ที่จะได้จากการค้าก็พลอยลดลงไปด้วย”

ทั้งนี้ แม้การร่วมมือกันของประชาคมโลกดูจะเป็นทางออกในวิกฤตนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า แต่ละประเทศมีบทบาทในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่างกัน รวมถึงมีความโปร่งใสในระดับที่ต่างกันด้วย ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลกหรือสหประชาชาติก็ดูจะไม่ได้แสดงบทบาทเท่าที่ควรในวิกฤต

“งานศึกษาพบว่า คลื่นการระบาดลูกใหม่มักจะมาจากกลุ่มประเทศที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่งผลให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น และแม้ประเทศใหญ่จะสามารถจัดการโรคระบาดในประเทศของตนได้ดี แต่อย่าลืมว่า ถ้าส่วนอื่นของโลกยังได้รับผลกระทบอยู่ สุดท้ายแล้วความมั่งคั่ง (wealth) ของโลกก็จะลดลง และส่งผลกระทบกับประเทศใหญ่เช่นกัน” กิริฎาทิ้งท้าย


เก็บความและเรียบเรียงจากการเสวนาในหัวข้อ “Global Governance and COVID-19 Pandemic Response” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 9 (The International Virtual Forum – Resilient Leadership in Practice) จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save