fbpx

พลเมืองโลกอดทนกันได้แค่ไหน?

แกลลัป (Gallup) คือบริษัทสำรวจความคิดเห็นระดับโลกที่มีข้อมูลน่าสนใจมาแชร์กันเสมอๆ โดยเขาสนใจเรื่องความสุขของผู้คนทั่วโลกมากเป็นพิเศษจนถึงกับก่อตั้งศูนย์กลางความสุขโลก (Global Happiness Center) ขึ้นมาเพื่อศึกษาวิธีวัดความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลกและเพื่อหาว่ามีจุดใดของโลกที่มีความสุขหรือความทุกข์มากที่สุด 

ส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ทำมาตั้งแต่ปี 2005 คือการออกรายงานการสำรวจทั่วโลกที่เรียกว่า Gallup Global Emotions Report (รายงานอารมณ์โลกของแกลลัป) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาว่าในแต่ละปีมีประเทศหรือพื้นที่ใดในโลกที่ผู้คนประสบกับปัญหาความเครียด และประเทศหรือพื้นที่ใดสามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่นจนกลับมามีสภาวะใกล้เคียงปกติได้มากกว่ากัน

รายงาน Gallup Global Emotion 2021 ที่สำรวจในช่วงปี 2020 จนถึงต้นปี 2021 และเผยแพร่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างทีเดียวครับ

ก่อนอื่นคงต้องเล่าวิธีการสำรวจที่เขาทำก่อนนะครับ บริษัทดังกล่าวสำรวจประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 116 ประเทศ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นคนในช่วงอายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,000 คน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ การสำรวจเน้นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก ยกเว้นในบางประเทศที่ใช้การสัมภาษณ์ต่อหน้า ซึ่งก็มีแค่ไม่กี่ประเทศคือ คองโก อินเดีย มาลี ปากีสถาน และเซเนกัล

รายงานระบุว่า มีความแม่นยำในทางสถิติอยู่ที่ 95% และมีช่วงความผิดพลาดอยู่ระหว่าง ±1.1 ถึง ±5.5 แปลเป็นไทยให้เข้าใจง่ายๆ คือเราสามารถเชื่อข้อมูลได้ว่าน่าจะถูกต้องทางสถิตินั่นเองครับ

โดยหลักๆ แล้วรายงานจะนำเสนอประสบการณ์ด้านบวกและด้านลบของคนในแต่ละประเทศ เราลองมาดูตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์กันครับ

สำหรับคำถามประสบการณ์ด้านบวกก็เช่น เมื่อวานนี้คุณรู้สึกเช่นนี้บ้างหรือไม่? – รู้สึกพักผ่อนได้ดี? , ผู้คนปฏิบัติกับคุณด้วยดี? , ได้ยิ้มหรือหัวเราะบ่อยๆ? , ได้เรียนหรือทำบางอย่างที่น่าสนใจ? ฯลฯ 

ส่วนคำถามประสบการณ์ด้านลบก็เช่น เมื่อวานนี้คุณรู้สึกเหล่านี้บ้างหรือไม่? – รู้สึกเจ็บปวดเมื่อยเนื้อตัว? , รู้สึกกังวลใจ? , รู้สึกโศกเศร้า? , รู้สึกเครียด? , รู้สึกโกรธ? ฯลฯ 

ผลการสำรวจน่าสนใจทีเดียวครับ โดยภาพรวมผู้คนต่างรายงานว่ารู้สึกเครียด เศร้า กังวลและโกรธมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงของโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในรอบร้อยปี แต่ที่น่าสนใจคือแนวโน้มของเส้นกราฟค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกือบ 10 ปีที่แล้วโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2014  

ฉะนั้นจึงน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ประชากรโลกเกิดอารมณ์ลบขึ้นมาแน่ๆ ปัจจัยหลักๆ คาดว่าจะเป็นปัจจัยทางการเมืองและ/หรือปัจจัยเศรษฐกิจ โดยสามารถแบ่งปัจจัยย่อยออกมาคร่าวๆ ได้ 4 แบบคือ 1.การเพิ่มขึ้นของความอดอยากทั่วโลก 2.การขาดเสรีภาพมากขึ้น 3.การมีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น และ 4.การมีความไม่เท่าเทียมของรายได้เพิ่มขึ้น 

คนทั่วโลกต่างรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้คนล้มป่วยและต้องสูญเสียคนที่รักเป็นจำนวนมากมายยิ่ง ในขณะที่เศรษฐกิจของแทบทุกประเทศร่วงดิ่งลงเหว คนทำงานราวๆ ครึ่งหนึ่งระบุว่า พวกเขามีรายได้ลดลงจากโควิด-19 และมีถึง 1 ใน 3 ที่ระบุว่าตกงานในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยรวมๆ มีมากถึง 4 ใน 5 ของผู้คนทั่วโลกที่ระบุว่าโดนผลกระทบจากโควิด-19 ในทางใดทางหนึ่ง   

มาดูข้อมูลรายละเอียดการสำรวจและข้อมูลของประเทศไทยกันครับ

ข้อมูลการสำรวจประชากรไทยพบว่า คนไทยมีดัชนีประสบการณ์บวก 2020 (Positive Experience Index in 2020) อยู่ในกลุ่มที่ค่อนข้างสูง (คนไทยเป็นคนสุขง่าย – ปลงเก่ง?) แต่ก็ถือว่ายังไม่ติดอันดับท็อปๆ ของโลกอยู่ดี โดยเรียงลำดับประเทศที่ได้คะแนนในหัวข้อนี้สูงมากที่สุดลดหลั่นลงไป (คะแนนในวงเล็บจากค่าคะแนนเต็ม 100 คะแนน) ได้ดังนี้ เอลซัลวาดอร์ (82) ฟิลิปปินส์ นอร์เวย์ และนิคารากัว (81) ปารากวัย เซเนกัล ไอซ์แลนด์ และโคลอมเบีย (80) นิวซีแลนด์ และฟินแลนด์ (79)  

สำหรับประเทศที่ได้คะแนนในหมวดนี้ต่ำที่สุดได้แก่ อิหร่าน เกาหลีใต้ และจอร์แดน (61) เบนิน (60) ตูนิเซีย บังคลาเทศ และปากีสถาน (58) เนปาล (56) เลบานอน และตุรกี (46)  

ในทางกลับกัน ดัชนีประสบการณ์ลบ 2020 (Negative Experience Index in 2020) คนไทยก็อยู่ในกลุ่มที่มีประสบการณ์ลบมาก (เหมือนว่าคนไทยน่าจะเป็นคนสุขทุกข์ได้สวิงมาก) แต่ก็ยังไม่ติดอันดับท็อปๆ ของโลกอยู่ดี โดยเรียงลำดับประเทศที่มีประสบการณ์ลบมากที่สุดลดหลั่นลงไป (อันนี้ยิ่งได้คะแนนมากยิ่งไม่ดี) ได้ดังนี้ อิรัก (53) เลบานอน และเปรู (51) อียิปต์ (50) ตูนิเซีย (47) คองโก และอิหร่าน (46) อูกันด้า และเอกวาดอร์ (45) และมาลี (43)  

สำหรับกลุ่มประเทศที่ปรับตัวได้ดีและมีค่าดัชนีประสบการณ์ลบ 2020 ต่ำ ได้แก่ ญี่ปุ่น (23) ลิธัวเนีย อิสราเอล และเคอร์กิซสถาน (22) ลัตเวีย (21) รัสเซีย (20) เอสโทเนีย (19) มอริเชียส (17) คาซักสถาน (15) และไต้หวัน (13)   

แต่รายงานส่วนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยคือ บ้านเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการยิ้มและหัวเราะน้อยลง (มีคะแนนลดลงมากกว่า 10 จุด) และอยู่ในกลุ่มประเทศ 21 ประเทศที่มองว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่แย่ที่สุดและเครียดมากที่สุด (มีคะแนนลดลงมากกว่า 10 จุดอีกเช่นกัน) !

แต่หากรู้แค่ว่าคนในประเทศเรายิ้มไม่ค่อยออกและเครียดมากขึ้น ผมว่าคงจะมีประโยชน์น้อยไปหน่อย มีวิธีการอะไรบ้างไหมที่เราจะนำเอาความเครียดเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้บ้าง? 

มีหนึ่งการทดลองในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการทดลองกับคนอเมริกันกว่า 30,000 คน ค้นพบว่าในกลุ่มคนที่มีระดับความเครียดสูงสุดนั้น มีโอกาสมากขึ้น 43% ที่จะตาย (เทียบกันคนที่ไม่เครียด) หากพวกเขาเชื่อว่าความเครียดเป็นเรื่องแย่ต่อสุขภาพ ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความเครียดสูงระดับเดียวกันแต่ไม่ได้มองว่าความเครียดเป็นเรื่องอันตรายกลับมีแนวโน้มจะเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในการศึกษานี้ รวมทั้งกลุ่มที่เครียดน้อยมากด้วย … ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อทีเดียว!

ฉะนั้น หากเราอยู่กับความเครียดได้อย่างสงบสุข ไม่คิดว่ามันจะมาทำร้ายอะไรเรา ก็จะช่วยให้เราสุขภาพดีได้ระดับหนึ่งแล้ว 

อีกการทดลองหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างการทดลองเรื่องผลกระทบของความเครียดกับพนักงานที่ทำงานในภาคการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นพวกที่มีความเครียดและความไม่แน่นอนสูง การทดลองนี้ทำในช่วงปี 2008 ซึ่งตรงกับปีที่เกิดวิกฤตทางการเงิน 

ผู้วิจัยอ้างว่า หลังจากให้คู่มือการจัดการความเครียดแก่พนักงานเหล่านี้ หากพวกเขาทำตามคู่มือจะช่วยให้เกิดความคิดความเชื่อใหม่ว่า ‘ความเครียดเป็นตัวช่วย’ และหลังจากให้พนักงานเรียนเทคนิคจัดการความเครียด 3 ขั้นตอนเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ผู้วิจัยก็ได้มีการตรวจสอบสุขภาพและผลงานที่อาสาสมัครเหล่านี้ทำอีกครั้ง

สิ่งที่พบน่าประหลาดใจมาก เพราะอาสาสมัครกลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพน้อยลง แถมยังทำผลงานได้ดีขึ้นอีกด้วย เรื่องที่สำคัญคือผลดีเหล่านี้ได้มาโดยไม่ต้องไปแก้ไขเรื่องความเครียดที่อาสาสมัครเหล่านี้ต้องเจอในแต่ละวันเลย กล่าวอีกอย่างก็คือ แม้ความเครียดที่ต้องเจอยังไม่ได้ลดลง แต่พวกเขาก็รับมือกับความเครียดเหล่านี้ด้วยวิธีการใหม่เอี่ยม ซึ่งส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย 

การเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความเครียดเรื่องไวรัสโคโรนาก็อาจทำได้ทันที ด้วยวิธีการคล้ายคลึงกันนี้ นักวิจัยอ้างว่าวิธีของพวกเขาใช้การได้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ผู้นำด้านธุรกิจ หรือแม้แต่หน่วยนาวิกโยธินชั้นยอดอย่าง ‘หน่วยซีล’ ก็ตาม 

โดย 3 ขั้นตอนดังกล่าวประกอบด้วย 1.รับรู้ว่าเกิดความเครียดขึ้นแล้ว 2.โอบรับความเครียดเอาไว้ และ 3.เชื่อมโยงความเครียดเข้ากับเป้าหมาย และพยายามเชื่อมต่ออย่างลึกซึ้งให้มากขึ้นกับเรื่องสำคัญต่อชีวิตของเรา

อ่านแล้วอาจจะยังงง เพราะย่อมากๆ แต่คุณผู้อ่านสามารถลองปฏิบัติตามวิธีการที่เขาเปิดให้เข้าถึงกันได้ที่เว็บไซต์นี้ครับ 

ได้ผลอย่างไรมาเล่าให้ฟังด้วยก็ดีครับ 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save