fbpx
เสรีนิยมที่หายไป-โลกดิจิทัล-ความหวังบนท้องถนน: โจทย์ประชาธิปไตยโลกยุคหลังทรัมป์

เสรีนิยมที่หายไป-โลกดิจิทัล-ความหวังบนท้องถนน: โจทย์ประชาธิปไตยโลกยุคหลังทรัมป์

“เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยโลก?”

หากย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีช่วงหลังสงครามเย็นสิ้นสุด การที่ต้องมานั่งถามคำถามข้างต้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่มีใครจินตนาการออก เพราะการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้เผด็จการอำนาจนิยมค่อยๆ ผุกร่อนและเปิดทางให้ดอกไม้ประชาธิปไตยได้เบ่งบานทั่วโลก จนหลายคนเชื่ออย่างสนิทใจแล้วว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยคือคำตอบสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ

แต่แล้ว 30 ปีให้หลังท่ามกลางมรสุมการเมืองขวาประชานิยมที่โหมกระหน่ำทั่วโลก ไม่มีใครคาดคิดอีกเช่นกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงชัยในศึกทำเนียบขาวจากพรรครีพับลิกันจะได้รับชัยชนะในสหรัฐฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตย และยังไม่นับว่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาประชานิยมอีกหลายพรรคในยุโรปตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นถล่มทลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในขณะที่โลกหมุนไป โลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียก็ค่อยๆ ก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในโลกการเมือง และปั่นการเมืองให้ป่วนจนสังคมหลายแห่งทั่วโลกค่อยๆ แยกออกเป็นสองเสี่ยง

เมื่อประชาธิปไตยโลกเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย เผด็จการอำนาจนิยมเริ่มฟื้นกลับมา ผู้คนมากมายหลั่งไหลลงสู่ท้องถนนด้วยคำถามที่ว่า “เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตย?” และ “จะเรียกร้องประชาธิปไตยกลับมาได้อย่างไร” แต่แน่นอนว่าก็ยังไม่มีหนทางที่ชัดเจน

ในวันที่ประชาธิปไตยโลกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความพลิกผัน 101 ชวนธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ German Institute of Global and Area Studies มองความท้าทายใหม่ของประชาธิปไตยโลกที่ต้องฟื้นจากอาการเอียงขวา เผชิญหน้ากับโลกดิจิทัล และฟังเสียงเรียกร้องบนท้องถนน

ปรากฏการณ์ทรัมป์: อาการป่วยไข้ของเสรีนิยมประชาธิปไตยทั่วโลก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อธิบายว่า ชัยชนะในศึกชิงทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อปี 2016 คือจุดเริ่มต้นที่พาการเมืองเสรีประชาธิปไตยสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อว่าแข็งแกร่งและทนทานที่สุดแห่งหนึ่งในโลกดำดิ่งสู่ความโกลาหลอันยากจะจินตนาการออก ตั้งแต่การพร่ำประกาศคำสั่งฝ่ายบริหารครั้งแล้วครั้งเล่า ออกนโยบายกีดกันและเบียดขับความหลากหลายให้กลายเป็นอื่นในนามของการ ‘ทำให้อเมริกา (ของอเมริกันชนคนขาว) กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง’ นำพาระบบพรรคพวกรุกคืบเข้าบ่อนเซาะสมดุลของระบบยุติธรรม และที่สั่นสะเทือนโลกที่สุดคือการปล่อยข่าวลวง ปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวาไม่ให้ยอมรับความพ่ายแพ้ของตนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 จนนำไปสู่จลาจลบุกยึดรัฐสภาคองเกรสโดยขบวนการภาคประชาชนฝ่ายขวาในวันที่โจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

การก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวของไบเดนอาจเป็นก้าวแรกในการแก้ปมปัญหาประชาธิปไตยที่ทรัมป์ทิ้งไว้ตลอด 4 ปี แต่ที่น่าฉงนคือ เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยอเมริกากันแน่ในวันที่ทรัมป์ครองสหรัฐฯ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ บอกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ภาวะวิกฤตของประชาธิปไตยเสียทีเดียว แต่คือภาวะถดถอยของ ‘เสรีนิยม’ กล่าวอีกอย่าง นี่คืออาการของ ‘ประชาธิปไตยไร้เสรี’ (illiberal democracy) ที่สถาบันทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยค่อยๆ เสื่อมถอย จากการที่ฝ่ายบริหารอาศัยกลไกการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ แล้วทลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อควบคุมอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลให้อยู่ในกำมือของฝ่ายบริหาร

แต่ภาวะที่เสรีนิยมค่อยๆ แยกทางจากประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนก่อนเสียทีเดียว

“ในบทความ Liberalism and Its Discontent ฟรานซิส ฟุคุยามะเขียนไว้ว่า วิกฤตความไม่พอใจต่อเสรีนิยมที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก หรืออดีตประเทศหัวหอกประชาธิปไตยอย่างอินเดีย ตุรกี หรือบราซิล กล่าวคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ไม่ค่อยต่างจากเทรนด์ประชาธิปไตยโลก

“เอาเข้าจริง วิกฤตของเสรีนิยมประชาธิปไตยดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยวัยกระเตาะที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างไทย แต่จุดพีคของภาวะเสรีนิยมประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลกคือช่วงปี 2017”

แน่นอนว่าวิกฤตเสรีนิยมไม่ได้เกิดขึ้นมาในภาวะสุญญากาศ จันจิราอธิบายว่า กระแสโลกหันขวาคือปฏิกิริยาโต้กลับต่อระเบียบโลกเสรีนิยมที่กลายเป็น ‘คำตอบหนึ่งเดียว’ ที่สหรัฐฯ ต้องการให้ทั่วโลกรับไว้หลังสงครามเย็นสิ้นสุด ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางความคิด

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ในทางการเมือง สหรัฐฯ ใช้นโยบายการต่างประเทศแทรกแซงการเมืองภายในประเทศอื่น เข้าไปเปลี่ยนระบอบการเมืองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยให้กลายเป็นประชาธิปไตย และต้องเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมด้วย

และเมื่อรับการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบฉบับสหรัฐฯ แล้ว ในทางเศรษฐกิจ ก็ต้องรับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ควบไปด้วย

ทั้งสองอย่างมาบรรจบกับระบบความคิดความเชื่อและวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมที่ให้คุณค่ากับ ‘ความเป็นมนุษย์’ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือเพศสภาพอย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าเสรีนิยมให้ความสำคัญกับความหลากหลายและคนกลุ่มน้อย

แม้ว่าเสรีนิยมและประชาธิปไตยจะถ่วงดุลกันได้อย่างลงตัว แต่ยุครุ่งเรืองของระเบียบโลกเสรีนิยมจำต้องสิ้นสุดลงในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 หลายคนเริ่มไม่พอใจที่การเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ไม่สามารถให้ชีวิตที่ดีตามที่สัญญาไว้ได้ ซ้ำร้ายกลับสร้างรอยร้าวแห่งความเหลื่อมล้ำทิ้งไว้

ที่สำคัญ ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้เติบโตจากรากฐานสังคมอื่นเหมือนอย่างที่เติบโตมาจากสังคมอเมริกาหรือสังคมยุโรปตะวันตก เมื่อลมเสรีนิยมประชาธิปไตยพัดออกไปนอกสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ถึงจุดหนึ่ง สังคมอื่นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ยูเครน บราซิล หรือไทยเองก็ตามต่างก็รู้สึกว่าเสรีนิยมไม่ตอบโจทย์สังคม

และแล้ว กระแสลมเสรีนิยมก็ตีกลับสู่สหรัฐฯ และยุโรปจนเราได้เห็นปรากฏการณ์ทรัมป์และกระแสขวาประชานิยมในยุโรป

“ความไม่พอใจต่อเสรีนิยมคือรากฐานของวิกฤตที่เรากำลังเผชิญ” จันจิรากล่าว

และฝ่ายที่ฉกฉวยความไม่พอใจไว้ได้คือฝ่ายขวา ทั้งๆ ที่การเมืองแบบซ้ายต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

“ในยุคที่เสรีนิยมที่ค่อยๆ ทลายกำแพงรัฐชาติและกำลังบอกคุณว่าทุกคนคือประชากรโลก คุณไม่จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ชาติ และคุณมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหลได้ แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่สมาทานคุณค่าเช่นนี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มเช่นกันที่ตกใจกับกระแสการเปลี่ยนแปลง เมื่อความรู้สึกช็อกผสานเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ หลายคนอกหักจากการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่และต้องการหาอัตลักษณ์เพื่อยึดเหนี่ยว เมื่อฝ่ายซ้ายพยายามขัดเกลาอารมณ์และอัตลักษณ์ให้ออกไปจากการเมืองแบบซ้ายแล้ว การเมืองอัตลักษณ์แบบฝ่ายขวาที่หยิบยื่นความเป็นชุมชนให้ผู้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากและสัญญาว่าจะร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในนามชุมชนชาติจึงทำให้รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการปกป้อง” จันจิรากล่าว

แม้กระแสลมการเมืองฝ่ายขวาแบบทรัมป์จะเบาบางลงบ้างหลังทรัมป์ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ประชาธิปไตยทั่วโลกยุคหลังทรัมป์จะฟื้นจากอาการป่วยไข้เอียงขวาไร้เสรีได้อย่างไรนั้นก็ยังเป็นอนาคตที่ต้องจับตามอง

โลกดิจิทัล ความท้าทายใหม่ของประชาธิปไตยโลก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกดิจิทัลได้กลายเป็นสนามใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงของการเมืองประชาธิปไตย แต่เรื่องราวที่น่าตกใจคือ เหตุการณ์มวลชนฝ่ายขวาบุกยึดรัฐสภาคองเกรสก็เกิดจากพลังของโซเชียลมีเดียเช่นกัน

ข่าวลวง (fake news) ข้อมูลเท็จ (disinformation) ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ที่ไหลเวียนอยู่ในฟีดอาจกำลังถูกขยายเสียงโดยพระเจ้าโลกโซเชียลมีเดียที่เรียกว่า ‘อัลกอริทึม’ จันจิราเล่าว่า เทคโนโลยี micro-target ที่เลือกและควบคุมข้อความ ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงได้ว่าเราจะรับรู้อะไรได้บ้างถูกนำมาใช้ในการหาเสียงทางการเมืองอย่างเป็นระบบตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 ก่อนที่ทรัมป์จะเข้าสู่สนามการเมือง และค่อยๆ พัฒนาจนทรงพลังมากขึ้นหลังปี 2010

ขบวนการภาคประชาชนฝ่ายขวาสุดโต่งอย่าง QAnon ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่าเครือข่ายชนชั้นนำรัฐพันลึกกำลังบงการให้โลกล่มสลายก็เติบโตจากการ micro-target เจาะกลุ่มผู้รับข้อมูลข่าวสาร โน้มน้าวให้คนที่ไม่ได้เชื่อใน QAnon ให้เชื่อเหมือนกันได้ ซ้ำร้าย การสื่อสารของอีกฝ่ายก็เจาะไม่ถึง

“แต่ละคนตกอยู่ในโลก filter bubble เล็กๆ นี่คือผลกระทบประการหนึ่งจากเทคโนโลยี micro-targeting ฉะนั้น ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักที่สังคมอเมริกาตกอยู่ในสภาวะแบ่งขั้วขนาดนี้”

ส่วนกรณีทรัมป์ปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวาผ่านทวิตเตอร์ จันจิรามองว่าโซเชียลมีเดียถูกใช้อย่างมีเป้าประสงค์ “ทรัมป์พยายามจะใช้มันเป็นอาวุธทางการเมือง” จันจิราแสดงความเห็น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่าว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยและโซเชียลมีเดีย ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการโลกตะวันตกอย่างมาก

“บริษัทที่เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียบนโลกนี้มีอยู่ไม่กี่เจ้า คำถามคือทำไมคนจำนวนหยิบมือเหล่านี้ถึงมีอำนาจมหาศาลในการกำหนดว่าผู้รับสารควรจะรับสารอะไรบ้าง”

“กลายเป็นว่าข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เราบริโภคกันในสังคมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ถูกกำหนดโดยทรราชกลุ่มเล็กๆ แล้วเราจะเรียกสังคมข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยอยู่ได้หรือไม่”

ดังนั้น โจทย์สำคัญที่โลก (และโลกวิชาการ) กำลังเผชิญอยู่คือ เทคโนโลยีจะทำลายสถาบันทางการเมืองหรือไม่ และเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยได้อย่างไร

เมื่อโลกตามหาประชาธิปไตยบนท้องถนน

ท่ามกลางภาวะประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลก ทั้งธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และจันจิรา สมบัติพูนศิริมองว่าปรากฏการณ์ประชาธิปไตยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่วอชิงตัน มอสโก มินกส์ เนปิดอว์ ยันกรุงเทพฯ คือ ‘การลงถนน

“การเรียกร้องทางการเมืองยังทำผ่านกระบวนการรัฐสภาได้ก็จริง แต่มันไม่ตอบโจทย์ของคนบางกลุ่มที่เขารู้สึกว่าเสียงของเขาเป็นเสียงส่วนน้อยไปแล้ว” ธเนศกล่าว

ส่วนจันจิราเสริมว่าเทรนด์การลงถนนทั่วโลกที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสียทีเดียว “นั่นหมายความว่า แม้กระทั่งสถาบันการเมืองอเมริกาที่ค่อนข้างเข้มแข็งก็ไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป และทำให้คนรู้สึว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ นอกจากต้องลงสู่ท้องถนน”

นอกจากความเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันการเมืองแล้ว ธเนศตั้งข้อสังเกตว่าชนวนการลงถนนของมวลชนคนรุ่นใหม่ทั่วโลกยังเกิดจากวัฒนธรรมทางความคิดและคุณค่าที่เปลี่ยนไปจนนำไปสู่การเรียกร้องการทลายวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่า

“ตอนนี้ ทุกคนทั่วโลกกำลังตระหนักรู้ถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเองอย่างรวดเร็วด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมในอดีตที่เชื่อมั่นในความดีงามของผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่กลายเป็นอุปสรรคที่ต้องรื้อทิ้ง”

“กลายเป็นว่าตอนนี้เผด็จการต้องสวมผ้าคลุมประชาธิปไตย เลือกตั้งจริงบ้าง ปลอมบ้างก็แล้วแต่ แม้ว่าฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การประท้วงของแต่ละประเทศจะต่างกัน อย่างในเบลารุส การประท้วงเริ่มจากประธานาธิบดีลูกาเช็งโกประกาศชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่โกง หรืออย่างในไทย ชนวนก็เป็นอย่างที่เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญและ ส.ว. ทำให้การผูกขาดอำนาจเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกร่วมของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก”

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

แต่ใช่ว่าการลงถนนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอไป เพราะการประท้วงที่ประสบความสำเร็จกลับมีไม่มากนัก แม้ประชาชนจะลุกฮือเพิ่มมากขึ้นก็ตาม จันจิรามองว่ามี 2 สาเหตุที่ทำให้ทิศทางการประท้วงทั่วโลกน่าเป็นห่วง

สาเหตุแรก ระบอบการเมืองหลายแห่งทั่วโลกถลำลึกสู่ระบอบที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง มีความเป็นเผด็จการมากขึ้น และยังเป็นเผด็จการที่เข้มแข็ง ปรับตัวเก่งและมีพันธมิตรทางอุดมการณ์ที่ทรงอำนาจอย่างมหาอำนาจจีนและรัสเซีย

“ประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยจะมีเกราะคุ้มกันมากขึ้นจากการจับมือกับพันธมิตรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มีความร่วมมือในการส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยออกนอกประเทศมากขึ้น มีการเรียนรู้เทคนิคการรับมือต่อผู้ชุมนุมมากขึ้น รวมทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีในการควบคุมปราบปรามประชาชนมากขึ้นด้วย”

และหนึ่งในเครื่องมือยอดนิยมของผู้นำทางการเมืองในการปราบปรามและจำกัดพื้นที่การทำงานภาคประชาสังคมก็คือกฎหมาย ไล่เรียงไปตั้งแต่กฎหมายจำกัดการทำงานของเอ็นจีโอต่างชาติในอินเดีย จนไปถึงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง-จีน

สาเหตุที่สอง ฝ่ายขบวนการประท้วงต้องเผชิญจังหวะการเคลื่อนไหวที่ไม่เท่ากันระหว่างการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์และการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

“การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียช่วยให้การระดมมวลชนง่ายขึ้นก็จริง แต่การสื่อสารประเด็นในโลกออนไลน์ถูกจำกัดด้วยอัลกอริทึม เกิด echo chamber กลายเป็นว่าสื่อสารกับคนที่เห็นด้วยกับขบวนการอยู่แล้ว และขบวนการก็ใช้การสื่อสารแบบนี้กับการเคลื่อนไหวบนท้องถนน”

“การประท้วงบนท้องถนนยุคนี้ไม่ค่อยมีความพยายามในการโน้มน้าวคนที่เห็นต่างออกไปมากเท่าไหร่ กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น ในสหรัฐฯ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรรครีพับลิกันก็ไม่ได้สื่อสารไปยังฝ่ายรีพับลิกันเท่าที่ควร รอยร้าวในสังคมก็เพิ่มมากขึ้น”

แต่จันจิรามองว่าขบวนการภาคประชาสังคมยังมีหนทางทะลุกำแพงการเคลื่อนไหวออนไลน์-ออฟไลน์ “ความท้าทายคือว่า จะทำอย่างไรให้คนในขบวนการตระหนักถึงความต่างของการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แม้ว่าทั้งสองโลกจะเชื่อมโยงกันก็จริง แต่การเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์ต้องมีความหลากหลายทางยุทธวิธีมากขึ้น และต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ไปไกลจากคนที่เห็นด้วยอยู่แล้วมากขึ้น”

โลกออนไลน์สร้างความท้าทายใหม่ให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับโลก และอาจเป็นอีกแสงสว่างเล็กๆ ในวันที่มืดมน ในเมื่อผู้นำเผด็จการจับมือผนึกกำลังครองอำนาจได้ ขบวนการภาคประชาชนก็รวมพลังกันเองในภูมิภาคได้เช่นกัน

“ส.ส. ในเยอรมนีรู้สึกมหัศจรรย์ใจกับปรากฏการณ์พันธมิตรชานมที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของรัฐอำนาจนิยมอย่างมาก” จันจิราเล่า

แม้ความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองจะลดลงจนท้องถนนกลายเป็นความหวังทางการเมืองหนึ่งเดียวของประชาชน แต่สุ้มเสียงที่ผู้คนออกมาประกาศก้องบนท้องถนนจะเป็นได้เพียงแค่เสียงที่ไม่ได้รับการฟังหากไร้เงาของรัฐสภา

ธเนศอธิบายว่า หากเป็นรัฐสภาในโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรปตะวันตกที่มีความเข้มแข็ง ก็ยังมีความหวังว่าพลังบนท้องถนนจะสอดประสานเข้ากับเกมการเมืองรัฐสภาได้โดยที่การลงถนนไม่นำไปสู่การนองเลือด อย่างที่ขบวนการ Black Lives Matter ทำได้ แต่ในกรณีประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างไทย ธเนศมองว่าระบบรัฐสภายังไม่เข้มแข็งมากพอที่จะโอบรับเสียงจากท้องถนนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ธเนศเชื่อว่ายังมีพื้นที่ให้ขบวนการเขย่ารัฐสภาอยู่บ้าง “ผมว่าการใช้โซเชียลมีเดียพลิกแพลงการเคลื่อนไหวบนท้องถนนคือการเรียนรู้และสร้างบทเรียนร่วมสำหรับการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการเมือง รัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้งที่ชอบธรรม เท่าเทียม และรองรับคนส่วนมากของสังคม ผมว่ายังมีอนาคตอยู่ มีโอกาสกลับเข้าสู่กระแสฟื้นฟูประชาธิปไตย”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save