fbpx
พลิกวิกฤต COVID-19 มองอนาคตเศรษฐกิจไทยและโลก

พลิกวิกฤต COVID-19 มองอนาคตเศรษฐกิจไทยและโลก

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

 

 

 

วิกฤตไวรัส COVID-19 จะเดินทางมาถึงจุดจบสักวันหนึ่ง แต่สิ่งที่เราจะต้องอยู่ด้วยต่อไปคือโลกหลังวิกฤตที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

101 ชวนดร. สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist แห่ง Sea Limited ซึ่งมีกิจการในเครืออย่าง AirPay, Shopee และ Garena และผู้เขียนหนังสือ “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต” มองไปข้างหน้าว่าไวรัสโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ความเหลื่อมล้ำ และโลกดิจิทัลให้มีหน้าตาแบบไหน  ในรายการ 101 One-On-One Ep.113 : “เศรษฐกิจโลกและไทยหลัง COVID-19” (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563)

 

หน้าตา “กระสุน” การคลังของรัฐบาลไทย

 

สิ่งสำคัญอันดับแรกที่สุด คือเราต้องปรับทัศนคติก่อนว่าตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติแล้ว หากเป็นในสภาวะปกติผมคงจะไม่แนะนำให้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับ ‘บาซูก้า’ เพราะต้องใช้กระสุนทางการคลังค่อนข้างเยอะ แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตหนักที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อนและมีความซับซ้อนสูงมาก เราจึงต้องเข้าโหมดสงคราม และการที่เราจะสู้สงครามได้ จำเป็นต้องใช้บาซูก้าขนาดใหญ่

เท่าที่ตามจากข่าว ผมเริ่มเห็นรัฐบาลไทยเตรียมบรรจุกระสุน และเปลี่ยนอาวุธจากปืนธรรมดามาเป็นบาซูก้าแล้ว จากเดิมเห็นเพียงแค่ว่าจะเกลี่ยงบประมาณมาใช้ไม่กี่แสนล้าน ตอนนี้รัฐบาลแง้มมาแล้วว่าอาจจะกู้เงินเพิ่ม 10% ของ GDP ส่วนในเชิงเนื้อหา มีการพูดกันว่าจะช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่น ดูแลแรงงานที่กลับถิ่น ฝึกอาชีพทักษะใหม่ ลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่ม

ถ้าจะออกแบบมาตรการให้เอาอยู่ ต้องตั้งต้นให้มนุษยเป็นศูนย์กลางของวิกฤตครั้งนี้ ดังนั้น ทางแก้ต้องเริ่มจากสุขภาพ อันดับแรก งบต้องลงไปที่ระบบสาธารณสุข ต้องครอบคลุมทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการตรวจจับโรค เราต้องเริ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างที่ทำกันในเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นใช้เทคโนโลยี tracing เพื่อสืบประวัติว่าผู้ติดเชื้อรับเชื้อจากใคร มาจากนอกประเทศหรือในประเทศ ถ้าติดจากในประเทศ ก็ต้องหาว่าคนที่ติดเชื้อคนแรก (patient zero) ติดมาจากตรงไหน หรือถ้าค้นพบกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีสถานที่กักตัวรองรับ ไล่ไปจนถึงว่าจะต้องมีเครื่องช่วยหายใจ มีอุปกรณ์ ชุดป้องกัน หน้ากากให้กับแพทย์และพยาบาลอย่างครบถ้วน จนถึงกระบวนการปลายน้ำ เราต้องจัดที่กักตัวให้กับผู้ป่วยที่รักษาหายแต่ยังมีโอกาสแพร่เชื้อ

อีกจุดเฉพาะของวิกฤตครั้งนี้ คือการทำ social distancing ซึ่งเหมือนกับว่าเรากำลังจับเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะเจ้าหญิงนิทราเพื่อจัดการกับโรค เมื่อโรคหายเราค่อยปลุกเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง แต่เมื่อเราเป็นเจ้าหญิงนิทรา ก็จะกินดื่มไม่ได้ ต้องใช้สายยางเลี้ยงไม่ให้ตัวเราตาย นโยบายการคลังคือสายยางในเวลาเศรษฐกิจหยุดเดินเพื่อให้คนอยู่บ้านได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรก คือ ต้องให้เงินแก่คนที่ไม่สามารถทำ social distancing ได้ อย่างคนหาเช้ากินค่ำ เพื่อให้เขาหยุดอยู่บ้าน ไม่เสี่ยงติดเชื้อ ไม่แพร่เชื้อ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ต้นทุนสูง อย่างสิงคโปร์ที่กลายเป็นบาซูก้าการคลัง เพราะยืดเวลาจ่ายเงินช่วยเหลือจาก 2-3 เดือนไปเป็น 9 เดือน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการชดเชยค่าแรงให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สำหรับกลุ่มแรงงานในระบบ เห็นตัวอย่างได้ในหลายประเทศว่ารัฐบาลจ่ายชดเชยค่าแรงแก่บริษัท เพื่อให้จ่ายเงินลูกจ้างได้ อย่างกรณีสิงคโปร์รัฐชดเชย 25% ของค่าแรงแต่ละคน หรืออย่างอังกฤษ ก็ชดเชยให้ถึง 80% ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกระบบอย่างผู้ประกอบการ อาชีพรับจ้างอาจจะช่วยเหลือได้ 2-3 วิธี เช่น แจกเงิน หรือสร้างงานให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ตอนนี้เศรษฐกิจตกต่ำก็จริง แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่ต้องการแรงงานมหาศาล เช่น ช่วยแพทย์พยาบาลวัดไข้  หรือที่สิงคโปร์ตอนนี้ ก็มี care ambassador คอยช่วยดูว่าคนเข้าคิวเว้นระยะห่างกันไหม

 

ส่องอาวุธประเทศอื่นสู้วิกฤตเศรษฐกิจ

 

นอกจากสิงคโปร์ ประเทศอื่นๆ ส่วนมากก็ออกนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน คือใช้บาซูก้าการคลัง พยายามจ่ายเงินแก่บริษัทเพื่อไม่ให้ไล่คนออก จ่ายเงินช่วยเหลือคนที่อยู่นอกระบบ ช่วยเหลือ SMEs นอกจากนี้ ก็มีการใช้มาตรการกึ่งการเงินกึ่งการคลัง เช่น ช่วยการันตี ยืดเวลาจ่ายหนี้ออกไป ยิ่งไปกว่านั้นคือมีนโยบายเพิ่มทักษะเพื่อเตรียมตัวสู่อนาคต เช่น เตรียมพร้อมแรงงานเข้าสู่ digital transformation

อีกแนวคิดที่น่าสนใจคือ กรณีอังกฤษหรือเยอรมนีวางแผนจะใช้นโยบายให้คนที่มีภูมิคุ้มกันกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก่อน โดยเฉพาะภาคส่วนที่สำคัญอย่างสาธารณสุข หรือการศึกษา

คนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจตกต่ำระดับโลกตอนนี้ อย่างน้อยแย่พอๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 แต่วิกฤตครั้งนี้จะกินระยะเวลานานขนาดไหน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง คือปัจจัยทางสาธารณสุข ว่าเราจะสามารถควบคุมไวรัสได้เมื่อไร สอง คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ว่าพิษเศรษฐกิจลามไปที่ภาคส่วนอื่นมากขนาดไหน โดยเฉพาะภาคการเงิน

จะเห็นได้ชัดว่าแบงก์ชาติแต่ละประเทศก็ยิงบาซูก้าฉบับนโยบายการเงินเหมือนกัน อย่างธนาคารกลางสหรัฐ มีการทำ QE แบบไม่จำกัด (Unlimited Quantitative Easing) มีการพิมพ์เงินมหาศาล ปล่อยกู้ตรงให้ภาคเศรษฐกิจจริง ถึงแม้จะมีคนบอกว่านโยบายการเงินช่วยเศรษฐกิจในเวลานี้มากไม่ได้ แต่สาเหตุที่ต้องทำ เพราะกระแสเงินสดเริ่มเหือดแห้งแล้ว  ธนาคารกลางต้องออกนโยบายอัดฉีดเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ไม่ให้พิษลามมาที่ภาคการเงินหลังจากภาคเศรษฐกิจจริงล้มไปแล้ว เพราะถ้าภาคธนาคารล้มด้วย วิกฤตเศรษฐกิจจะกินเวลานานแน่นอน

ในทางกลับกัน ถ้าภาคการเงินไม่ล้ม ยิงบาซูก้าการคลังตรงจุด ช่วยเหลือ SMEs และคนตกงานได้ นักวิเคราะห์ก็มองกันว่าวิกฤตครั้งนี้อาจกินเวลาไม่นานเท่าวิกฤตปี 2008

 

เศรษฐกิจโลกจริงสะเทือน ย่อมสะท้านถึงเศรษฐกิจดิจิทัล

 

เศรษฐกิจโลกจริงผูกอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัล แม้อาจจะไม่ได้ผูกกันอย่างแน่นแฟ้น เข้มข้น จนทำให้ยามปกติแลดูเหมือนมันแยกออกจากกัน ดูเหมือนเศรษฐกิจดิจิทัลโตเร็วกว่าเศรษฐกิจจริง แต่ในยามวิกฤตระดับนี้ ระดับที่เศรษฐกิจมหภาคตกต่ำลงมาก ไม่มีใครหลบผลกระทบได้ แม้กระทั่งภาคดิจิทัลเองก็ตาม ถึงจะไม่ถูกฉุดลงมากนัก เพราะมีกระแสอื่นช่วยต้าน ช่วยสนับสนุนภาคดิจิทัล แต่สุดท้าย กระแสอื่นก็ไม่มีผลสำคัญเท่าเศรษฐกิจมหภาคอยู่ดี

สิ่งที่บริษัทดิจิทัลจะได้ประโยชน์คงเป็นเรื่องในระยะยาว ว่าเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนหันมาใช้เทคโนโลยี มีความคุ้นเคยมากขึ้น มี digital transformation มากขึ้น และเร็วขึ้น

วิกฤตโควิด-19 เร่งให้กระแสปั่นป่วน (disruption) ที่เกิดขึ้นจาก digital transformation เกิดไวยิ่งขึ้น

ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือคนต้องมีทักษะที่ใช้เครื่องมือได้ เพราะบทบาทหน้าที่ของคนทุกคนจะเปลี่ยนไป การปรับโครงสร้างทักษะของแรงงานทั้งหลายจะกลายเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ซึ่งรัฐก็คงยังต้องเป็นตัวละครสำคัญในการขับเคลื่อน แต่ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือกันมากขึ้น

ในบริษัทของผมมี mission เรื่องหนึ่งชื่อว่า 10 in 10 คือต้องการฝึกคนให้มีทักษะดิจิทัล 10 ล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยลดปัญหา digital divide พอมีโควิด-19 เกิดขึ้น เราต้องเร่งทำตามแผนให้เร็วขึ้น เพราะกระแส disruption ต่างๆ จะเกิดเร็วขึ้นกว่าเดิม ทุกอย่างจะเริ่มชี้ไปในทางที่ว่า เราต้องอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น และผมได้ยินเจ้าของโรงงานหลายแห่งคุยกันว่า โรงงานของเขาหยุดชะงัก คนไม่มาทำงานเพราะกลัวติดโรค ถ้าเป็นหุ่นยนต์ตั้งแต่ต้น คงทำงานได้ตามปกติ ดังนั้น กระแสการใช้ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือ automation ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ โควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสดิจิทัลหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น จากเดิม คำว่าโลกาภิวัตน์ที่เรามองในแง่ของการค้า และบอกว่ายุคทองของโลกาภิวัตน์จบลงแล้ว มาวันนี้ เกิดโลกาภิวัตน์ใหม่ขึ้นอีกครั้งอย่างชัดเจน แต่เปลี่ยนจากเรื่องการค้า มาเป็นเรื่องของข้อมูล บทเรียนจากโควิด-19 บ่งบอกว่า ถ้าเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูล แชร์ข้อมูล และใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้เร็วกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศที่ไม่มีการเปิดเผย

ดังนั้น มันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันมาสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ง่ายขึ้น แน่นอนว่าเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ก็ยังสำคัญ แต่เราคงหันมาทบทวนการกำกับดูแลกันใหม่ และเราจะเริ่มเห็นกระแสการสร้าง open data source มากขึ้น เช่น ในสิงคโปร์ มีแอปพลิเคชันช่วยทดสอบคนติดโควิด-19 ก็เปิด open source ให้คนเข้าไปดูกันได้

กระแส open source นี้ไม่เพียงทำให้โลกดิจิทัลที่มีข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว แต่การเห็นความสำคัญของข้อมูลโดยรวมจะทำให้สังคมได้ประโยชน์ด้วย

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ปรับไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล

 

เราสามารถใช้นโยบายช่วงโควิด-19 ให้เป็นผลบวกในระยะยาวกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย และก้าวข้ามปัญหาบางเรื่องได้ ที่ชัดเจนที่สุดคือ วิกฤตนี้บีบให้ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาโลกดิจิทัล ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสีย คือยิ่งปรากฏการณ์คนเข้าสู่โลกดิจิทัลพร้อมกันเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นไว ยิ่งรับมือยาก แต่ข้อดี คือ หากเราปรับตัวได้แล้ว เราจะสามารถอยู่กับมันได้ตลอด เช่น ร้านขายของที่ไม่ได้ใช้ช่องทาง e-commerce เป็นช่องทางหลัก เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์ก็บีบบังคับให้ต้องใช้ช่องทางนี้

อีกโจทย์หนึ่งเป็นโจทย์ที่เชื่อมจาก digital transformation คือโจทย์การศึกษา เราพูดกันมานานว่าอยากให้มีการสอนออนไลน์ อยากให้มีการจัดการศึกษาแบบ flipped classroom ที่ให้นักเรียนฟังเลคเชอร์จากบ้าน แล้วค่อยมาทำโปรเจกต์ที่โรงเรียน มีครูเป็นโค้ชแทนการเลคเชอร์หน้าห้อง เด็กแต่ละคนสามารถปรับการเรียนรู้อย่างที่ตัวเองต้องการได้ เมื่อเกิดวิกฤต นี่ก็เป็นโอกาสที่จะนำวิธีเหล่านี้มาลองใช้

สำหรับเรื่องสาธารณสุข เราเริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีรักษาทางไกล (telemedicine) ทำให้เราปรึกษาหมอได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้กลายเป็นสถานที่ที่อันตรายเพราะอาจมีเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง e-commerce เรื่องการศึกษา หรือสาธารณสุขก็ดี ก่อนหน้านี้ที่ทำไม่สำเร็จไม่ได้เป็นเพราะเราไม่มีเทคโนโลยีหรือไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่เพราะหลายครั้งติดเรื่องกฎกติกา ครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่จะทบทวนและเปลี่ยนกฎกติกาบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

 

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ปฏิรูปรัฐไทย

 

สำหรับผม ปรัชญาการบริหารที่ดีมีอยู่ 3-4 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง คือ การบริหารรัฐแบบ data-driven ใช้ข้อมูลมหาศาลประกอบการออกนโยบายรัฐอย่างไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ เยอรมนี นอร์เวย์ หากมีข้อมูลที่ดีและแม่นยำ เวลาออกนโยบาย ก็จะแก้ไขปัญหาถูกจุด เหมือนหมอที่ตรวจแม่น รู้ว่าเป็นโรคอะไร

ยกตัวอย่างในสิงคโปร์สั่งปิดประเทศรอบใหม่ ปิดสถานที่ต่างๆ เพราะตามข้อมูลได้ว่ามีคนติดโรคโควิด-19 กลับจากอเมริกา ยุโรป และพบปะคนที่อยู่ในประเทศ จนมีคนสิงคโปร์ติดกันเอง เราจะเห็นว่านโยบายตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วมาก

เรื่องที่สองต่อจากเรื่อง data-driven คือต้องมี coordination หรือการประสานงานข้ามกระทรวง ซึ่งยากมาก แต่สำคัญที่สุด กรณีไทย ถ้าจะทำให้เกิดการประสานงานข้ามหน่วยงาน ในยามวิกฤตเช่นนี้เราอาจจะตั้งคณะทำงานพิเศษ (special taskforce) โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ที่มีทั้งคนรู้เรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข และคนที่รู้กฎหมายอยู่ในทีมเดียวกัน

ผมคิดว่าเรื่องระบบการปกครอง เรื่องรัฐรวมศูนย์ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่เท่ากับระบบการบริหาร เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้ารัฐบริหารรวมศูนย์ แต่รับฟังข้อมูลจากคนทั่วไป เปิดเผยข้อมูลให้คนไปคิดต่อ ใช้ประโยชน์ต่อ รับฟัง feedback แล้วปรับตัวตามเร็ว แบบนี้ต่อให้รวมศูนย์ก็ยังไปต่อได้

ต่อเนื่องมายังเรื่องที่สาม คือความไวในการปรับตัว เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่มีใครรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด รัฐต้องรับฟังเสียงจากประชาชน เปรียบได้กับคุณหมอที่เจอโรคใหม่ ต้องปรับยาให้คนไข้ทุกวัน เช็คอาการคนไข้ทุกวันว่าเป็นอย่างไร ถ้าเราช้า ไม่วัดไข้ ไม่ฟังคนไข้บ่น เราจะก็แก้ปัญหาไม่ถูกที่

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมาพร้อมกับความไว คือเราต้องใช้ปรัชญาแบบเติ้งเสี่ยวผิง ที่กล่าวว่าจะแมวดำหรือแมวขาวก็ได้ ขอให้จับหนูได้ก็พอ เราต้อง pragmatic อย่ายึดติดหลักการ ยึดติดหนังสือมากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหา

แน่นอนว่าในยามวิกฤต ความโปร่งใส ตรวจสอบได้นั้นก็สำคัญ ในยามวิกฤตที่รัฐใช้อำนาจพิเศษหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการยิงบาซูก้าหรืออะไรก็ดี สิ่งที่ตามมาจากการใช้อำนาจพิเศษคือ รัฐต้องโปร่งใสเป็นพิเศษ เพื่อให้คนตรวจสอบได้ และความโปร่งใสจะยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกหลังวิกฤต หากเราดูจากประวัติศาสตร์ หลังรัฐผ่านสงครามหรือวิกฤต GDP เงินส่วนที่รัฐใช้จ่ายจะมากขึ้น ไม่มีวันลด คนจึงต้องการความโปร่งใสเพิ่มขึ้นจากเดิม การเปิดข้อมูลให้คนตรวจสอบได้จะเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ความโปร่งใสจะทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการบริหารและการมีบทบาทที่ใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ การสื่อสารเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก อันดับแรก เราอาจต้องปรับวิธีคิด ไม่ควรสื่อสารแค่บางส่วนเพราะกลัวคนจะแตกตื่น หรือกลัวว่าคนจะไม่มีวิจารณญาณพิจารณาข้อมูลด้วยตัวเอง มันเป็นการดูถูกคนเกินไปหน่อย วิธีที่ถูกต้อง คือ ให้ความจริง และแต่ละหน่วยงานต้องสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน

การสื่อสารของผู้นำยิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี หรือ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่คนชื่นชมกัน ต่างก็พูดตรงๆ อะไรที่ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ อะไรที่คิดว่าจะทำแต่ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่าก็บอกไปอย่างนั้น และพูดในมุมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แทนที่จะบอกว่าเรามีกฎแบบนี้ ขอให้ทำแบบนี้ เขาใช้วิธีพูดแบบนี้ว่า เขารู้ว่ามันยาก คุณเคยตื่นทุกเช้า เดินออกไปโรงอาหารที่คุณคุ้น คุณเคยสั่งอาหาร สั่งก๋วยเตี๋ยว คุณเคยทำแบบนี้ แต่ตอนนี้คุณทำไม่ได้ เขาพูดเป็นฉากๆ ทำให้เห็นว่าเขาเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่คือผู้นำที่มีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ซึ่งสำคัญมากในยามวิกฤต

 

COVID-19 : บททดสอบ สาธารณสุข – รัฐ – ประชาชน

 

รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริสนาน (Vivian Balakrishnan) เคยกล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 คือบททดสอบครั้งใหญ่ที่วัด 3 สิ่งของแต่ละประเทศ ได้แก่ บททดสอบด้านสาธารณสุข บททดสอบความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาล และสุดท้ายคือ social capital หรือความสามัคคีของคน การช่วยเหลือกันในสังคม

สำหรับเมืองไทย จุดแข็งคงเป็นเรื่องระบบสาธารณสุขและคนในสังคมของเรา วิกฤตทำให้คนอยากออกมาช่วยเหลือกันและกัน ออกมาแสดงความเห็น อยากทำอะไรเพื่อคนอื่นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และผมคิดว่ามันทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น จากเดิม เรามีช่องว่างของคนต่างรุ่นค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้ คนต่างรุ่นมาเจอกัน คนรุ่นใหม่นำข่าวสารที่คนรุ่นเก่าไม่รู้มาแบ่งปัน ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสประเทศโหมดสงคราม อย่างต้มยำกุ้งหรือแฮมเบอร์เกอร์ เขาก็ต้องฟังจากคนที่ผ่านน้ำร้อนมาก่อน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน จะกลายเป็น collective intelligence รวบรวมปัญญาทั้งหลายมาอยู่ด้วยกันในอนาคต

แต่จุดที่ยังต้องทำการบ้านมากขึ้น คือฝั่งรัฐบาล ซึ่งต่างประเทศก็มีตัวอย่างที่ดี ที่น่าสนใจมากมาย อย่างการใช้สตาร์ทอัป และใช้แพลตฟอร์มข้อมูลที่ดีมากของไต้หวัน และการสื่อสารของผู้นำในสิงคโปร์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมตกใจ คือ ปกติคนสิงคโปร์ไม่ใช่คนที่แสดงความรู้สึกออกมามากนัก โดยเฉพาะคนระดับผู้นำ แต่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องโควิด ร้องไห้ในที่ประชุมครม. เหตุผลที่เขาร้องไห้ไม่ได้เป็นเพราะเหนื่อย รับไม่ไหว แต่เขาร้องเพราะซาบซึ้ง ร้องเพราะขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ปิดทองหลังพระอยู่ในสิงคโปร์  สำหรับผม ความเป็นมนุษย์ตรงนี้บอกอะไรหลายอย่าง ทั้งความเชื่อมั่นในตัวคนทำงาน และสะท้อนมาถึงความเชื่อของคนที่มีต่อรัฐบาล

 

หลัง COVID-19 เป็นต้นไป เอเชียอาจเป็นใหญ่บนเวทีโลก

 

เราเห็นการแบ่งเส้นอย่างชัดเจนในยุควิกฤตโควิด-19 ว่าคนที่รับมือกับปัญหาดี ส่วนใหญ่เป็นประเทศฝั่งเอเชีย

ผมมองว่าปัจจัยพื้นฐานร่วมกันของประเทศอย่างจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี เป็นเรื่องการใช้ข้อมูลรับมืออย่างมหาศาล ถ้าให้เลือกระหว่างความเป็นส่วนตัว (privacy) กับการใช้ข้อมูลเพื่อหยุดโรค ประเทศเอเชียค่อนข้างโอนเอียงไปทางเลือกที่สอง นอกจากนี้ยังมีการประสานงานระหว่างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีการปรับตัวค่อนข้างเร็ว การสื่อสารที่ค่อนข้าง effective รวมถึงมีระบบสาธารณสุขค่อนข้างเข้มแข็งในทุกประเทศ ทำให้สามารถระงับการระบาด และรักษาคนที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว นี่เป็นจุดร่วมกันทั้งที่แต่ละประเทศมีระบบการปกครองแตกต่างกัน

ในทางกลับกัน อเมริกาและยุโรป ได้รับผลกระทบหนักมาก อาจเป็นเพราะตรวจพบโรคช้าไป ประมาทเกินไปในช่วงแรก และเข้าถึงระบบสาธารณสุขลำบากกว่า ทำให้เอเชียดูจะรอดพ้นวิกฤตนี้ได้ดีกว่า

สุดท้ายแล้ว ตามคำกล่าวว่าผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ เอเชียที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ชนะจากสงครามโควิด-19 เพราะได้รับผลกระทบน้อยกว่า จะทำให้ขั้วอำนาจเริ่มหันมาทางเอเชียมากขึ้น มาอยู่ที่จีนมากขึ้น มีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และสิ่งที่น่าสนใจหลังจากวิกฤตนี้ คือ ในเมื่อประเทศที่ชนะวิกฤตครั้งนี้อย่างประเทศเอเชีย ผ่านสงครามโดยที่รัฐบาลเพิ่มบทบาททั้งเรื่องการคลังและการใช้ข้อมูลสอดส่อง บทบาทรัฐจึงอาจเอนเอียงมาทางนี้มากขึ้นในอนาคต เป็นคำถามที่เราต้องคิดต่อไปว่า ในโลกหลังโควิด-19 ภาครัฐยังต้องมีบทบาทมากขนาดนี้ไหม เราจะยอมให้รัฐสอดส่องในระดับที่มากขึ้นหรือไม่

มองปัญหาความเหลื่อมล้ำในยุค COVID-19

 

ความเหลื่อมล้ำในช่วงนี้จะมากขึ้นพอสมควร ถ้าแบ่งผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นถึงกลางและระยะยาว ในระยะแรก คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือคนที่มีสายป่านสั้น หาเช้ากินค่ำ กระแสเงินสดน้อย รายได้น้อย มีหนี้มหาศาล หรือไม่ ก็เป็นคนที่ไม่สามารถเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เต็มที่ ในช่วงที่มี social distancing คนเหล่านี้ไม่สามารถ ‘อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ได้ ขณะเดียวกัน คนมีฐานะอาจจะทำได้ไม่ยากนัก แค่ต้องปรับชีวิตกันหน่อย แฮชแท็ก #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ จึงเป็นการผลักดันที่เหมาะสำหรับคนมีฐานะ คนที่เลือกได้เท่านั้น

แน่นอนว่า SMEs ทั้งหลายที่ไม่ได้มีความสามารถในการชนกับกระแสสงครามตอนนี้ ก็จะถูกกระทบอย่างมหาศาล และนอกจากปัญหาโควิด-19 ไทยยังต้องเผชิญปัญหาอื่น จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ทั้งภัยแล้ง ไฟไหม้ป่าทางภาคเหนือ สิ่งเหล่านี้ก็ตอกย้ำให้เห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำเช่นกัน คือบอกให้เขาอยู่บ้าน แต่บ้านเขามีไฟป่า มีหมอกควัน จะให้อยู่กันอย่างไร

ส่วนในระยะยาว ผลกระทบที่น่ากลัวคือ เรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาคือประตูไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำได้ในอนาคต ถ้าการศึกษาที่ดี จะช่วยหยุดยั้งการส่งต่อความจนข้ามรุ่น กล่าวคือ เกิดมาในรุ่นนี้ มีพ่อแม่รายได้น้อย แต่ต่อไป หากคนได้รับการศึกษาดี รุ่นลูกอาจจะร่ำรวยขึ้นได้ เรียกได้ว่าการศึกษาเป็นบันไดยกระดับชีวิต

แต่บันไดนี้อาจถูกทำลายลงได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพราะไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่สามารถทำบทเรียนออนไลน์ มีแอปพลิเคชันช่วยเรื่องการเรียน มีครูเก่งๆ คอยสอน และไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีพ่อแม่อยู่บ้านสอนลูกแทน สุดท้าย กลุ่มที่เปราะบางที่สุด อย่างโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัดซึ่งมีทรัพยากรไม่มาก ขาดบุคลากรครู อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี กลุ่มเด็กที่มีครอบครัวแหว่งกลาง อยู่กับปู่ย่าตายายแทนพ่อแม่ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเรื่องการศึกษาอย่างมหาศาล

ผมเคยอ่านบทความหนึ่งของ Washington Post เจองานศึกษาที่ระบุว่า แค่หยุดการศึกษาในช่วงฤดูร้อน ความรู้ที่เรียนมามีโอกาสหายไปถึง 10-15% ถ้าคนเหล่านี้ขาดการเรียนไปนาน ความรู้ทั้งหลายคงยิ่งหลุดหายไป แล้วความเหลื่อมล้ำคงไม่จบอยู่ที่คนรุ่นนี้ มันจะลากยาวไปยังรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่ากลัว

ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ในอนาคต คือ อาจมีการเปิดๆ ปิดๆ พื้นที่สาธารณะหลายรอบ อย่างจีนหรือสิงคโปร์ที่เคยควบคุมเชื้อสำเร็จไปแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนี้พอเริ่มพบการติดเชื้ออีกครั้งก็ต้องกลับมาปิด พอเป็นแบบนี้ทั้งโลก ก็เป็นไปได้ที่จะต้องเปิดๆ ปิดๆ ลากยาวไป 6-9 เดือน หรืออาจจะ 1 ปี สถานการณ์เช่นนี้จะจบเมื่อมีวัคซีนหรือคนมีภูมิคุ้มกัน

เราควรลดความเสียหายจากช่วงนี้ให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้นโยบายเยียวยาทั้งหลายกับผู้มีรายได้น้อย เปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงการเรียนรู้แบบดิจิทัลมากที่สุด แม้จะยังไม่มีงานด้านวิชาการยืนยันว่าการเรียนออนไลน์สามารถทดแทนการศึกษาแบบเดิมได้ทั้งหมดก็ตาม

 

นโยบายเยียวยาแบบ UBI กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

การนำนโยบาย UBI หรือ Universal Basic Income มาใช้ ในระยะสั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงต้องเน้นการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว เข้าถึงทุกคน หรืออย่างน้อยก็กระจายให้ได้มากที่สุด มันไม่มีทางเลือกมากนัก

แต่โจทย์ที่น่าคิดหลังจากนี้คือ การใช้ UBI ในระยะยาว ไม่ใช่แค่ยามสงครามแต่รวมถึงยามปกติ จะเป็นการช่วยความเหลื่อมล้ำหรือไม่ นี่เป็นโจทย์ที่ยาก เพราะแค่ใช้ในระยะสั้น มันยังมีต้นทุนที่แพงมาก UBI ที่ควรจะเป็นตามหลักทฤษฎี คือมาทดแทนโครงการสวัสดิการต่างๆ ไม่อย่างนั้นถ้ามีโครงการสวัสดิการด้วย และมี UBI เสริมด้วย มันคงจะแพงเกินไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิด คือถ้าเราใช้นโยบาย UBI อาจเท่ากับเราละทิ้งการทำ targeting หรือการช่วยคนเฉพาะกลุ่ม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ถ้าเงินเยียวยา 5,000 บาทที่รัฐบาลจะให้ ไม่ได้ให้แค่คน 3 ล้านกว่าคนตามที่ตั้งใจไว้ตอนแรก แต่ให้คนทั้งประเทศ 60-70 ล้านคน จากงบประมาณ 45,000 ล้านบาท มาคำนวณจะได้เงินคนละประมาณ 200 บาท ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย และเราคงจะอธิบายไม่ได้ว่าทำไมต้องให้เงินกับคนฐานะดีที่ไม่ได้เดือดร้อนเท่าคนอื่นๆ

ตัวผมเองชอบแนวคิด UBI ตรงที่เป็นการการันตีว่าอย่างน้อย คนทุกคนจะมีรายได้ระดับหนึ่ง แต่การการันตีตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องแจกเงินทุกคนเท่ากันหมด อย่างในอเมริกาก็ยังเลือกใช้นโยบาย Earned Income Tax Credit (EITC) ซึ่งเป็น Negative Income Tax คือให้เฉพาะเจาะจงสำหรับคนที่มีรายได้น้อย แล้วค่อยๆ ลดลงไปเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น

ปัญหาของไทยทุกครั้งที่เศรษฐกิจซบเซา คือรัฐบาลจะแจกเงิน ผมไม่ได้ว่าการแจกเงินผิด แต่เนื่องจากเราไม่เคยเก็บข้อมูล รัฐจึงแจกเงินแบบไม่ทั่วถึงเพราะไม่มีข้อมูลของคนหลายกลุ่ม

ผมคิดว่าเราสามารถใช้วิกฤตโควิด-19  เก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลของคนหลายกลุ่มที่อยู่นอกระบบเศรษฐกิจอย่างกลุ่มอาชีพอิสระ คนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการ SMEs พ่อค้าแม่ขาย ว่าคนกลุ่มเหล่านี้มีพฤติกรรมอย่างไร มีความยากลำบากในชีวิตอย่างไร ความช่วยเหลือแบบไหนเป็นประโยชน์ที่สุด การมีข้อมูลจะช่วยให้เราออกแบบโปรแกรมช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้ดี เช่น conditional cash transfer หรือการแจกเงินอย่างมีเงื่อนไขว่า ลูกคุณต้องไปโรงเรียน คุณต้องตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ตามแต่จะกำหนด

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ข้อมูลวางแผนช่วยเหลือ ทำ targeting แม่นยำขึ้น อย่างก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเองก็มีการศึกษาทำ targeting ที่นอกจากระบุรายได้ของคน ยังดูพื้นที่จังหวัดเพิ่มด้วย เพราะบางจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี อาจต้องการความช่วยเหลือแตกต่างจากจังหวัดที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผลออกมาคือมีความแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม ช่วยเหลือคนได้ทั่วถึงกว่าเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำ targeting ยังคงเป็นแนวทางที่ดีและสามารถพัฒนาได้เรื่อยๆ ด้วยข้อมูลที่ดีขึ้น

 

หลังเจอโรคระบาด เราอาจเจอโลกผูกขาดจากนายทุนใหญ่?

 

เรื่องการผูกขาดจากนายทุนใหญ่เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะสุดท้ายแล้วในช่วงโควิด-19 ธุรกิจขนาดเล็กก็ได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เหลือแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ในตลาด ถ้าพูดกันตามหลักแล้วก็ควรจะมีกฎหมายแข่งขันการค้าออกมาควบคุมเรื่องการผูกขาด

แต่อีกทางหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ คือการหันมาแข่งขันในโลกดิจิทัล เพราะกระแสการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะแรงขึ้น ตลาดดิจิทัลเปิดให้มีการแข่งขันมากกว่า ทั้งยังมีการเปิดตลาดหลากหลายช่องทางมากขึ้น ตัวอย่างเช่นในจีน จากเดิมเราเห็นยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลอย่าง B-A-T Baidu Alibaba Tencent เป็นเจ้าตลาด แต่ในปัจจุบัน มีบริษัทอื่นๆ เปิดแพลตฟอร์มตลาดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ และแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำให้ SMEs เข้าถึงลูกค้า มีโอกาสพัฒนาตนเองกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น นี่อาจจะช่วยลดข้อได้เปรียบบางอย่างของนายทุนใหญ่ในโลกจริง เพราะในโลกดิจิทัล ไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่ขายของได้

เทรนด์การใช้ชีวิตที่มาแรงในช่วง COVID-19 (และอาจมาแรงตลอดไป)

 

เทรนด์เรื่องการซื้อสินค้าในโลกออนไลน์มีความคล้ายกับโลกออฟไลน์ คือคนต้องการสินค้าประเภทเดียวกัน และจับจ่ายซื้อของอย่างตื่นตระหนกตกใจในระดับหนึ่งเหมือนกัน เวลาเราทำงาน จึงต้องพยายามเสนอสินค้าที่จำเป็นหรือสินค้าใหม่อย่างประกันชีวิตโควิด-19 ให้หาง่าย  มีแคมเปญช่วยกันลดราคา

ช่วงนี้สิ่งที่มาแรงอย่างมากในจีน คือการทำสตรีมมิ่ง (streaming) ผ่านแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการขายของ การไปดูพิพิธภัณฑ์ การมีโรงหนังออนไลน์ มีป๊อบคอร์นส่งถึงบ้าน มีความล้ำหลายอย่างมาก

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องทำงาน แอปพลิเคชันที่ช่วยทำงานเป็นทีมทางออนไลน์ต่างๆ เช่น Zoom ก็มาแรง และผมมองว่านี่จะเป็นเทรนด์ทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างถาวรพอสมควร เพราะมันทำให้เรากลับมานั่งคิดใหม่เรื่องการนั่งทำงานในออฟฟิศ หรือเรื่องการเดินทางไปทำงานยังจำเป็นอยู่ไหม พอสิ่งเหล่านี้เปลี่ยน ในอนาคตอาจจะส่งผลถึงเรื่องอสังหาริมทรัพย์ บ้าน คอนโดต่างๆ ว่า ปัจจัยด้านตำแหน่งที่ตั้ง (location) อาจไม่ได้สำคัญมากเท่าเดิมแล้ว

เราจะได้รู้กันว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นเปลือก อะไรที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราจริงๆ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save